เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
How do we get to this point?

รศ. ดร. นพ. วีรวิทย์ ปิยะมงคล


ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นภาควิชาหลักที่ก่อตั้งมาพร้อมกันกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ.2501 นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกมีจำนวน 65 คน เรียนเตรียมแพทย์ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แล้วจึงย้ายมาเรียนที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ.2504 เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2507 คณะแพทยศาสตร์ได้โอนย้ายจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2508

ที่ตั้งภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาเดิมอยู่ด้านทิศตะวันออกของคณะแพทยศาสตร์ บริเวณติดกับภาควิชาจิตเวชในปัจจุบัน เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ปัจจุบันใช้งานเป็นหอพักพยาบาล หลังจากนั้นจึงย้ายมายังชั้น 3 อาคาร 7 ชั้น (อาคารบุญสม มาร์ติน) ที่อยู่ในปัจจุบัน ในวันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางมาทำพิธีลงเสาเข็มตึกคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ กำลังทำผ่าตัด caesarean section ผู้ป่วย abdominal pregnancy ที่ตั้งครรภ์มานานหลายเดือน induction เท่าไรก็ไม่คลอดเสียที

คณาจารย์รุ่นแรกที่ร่วมก่อตั้งภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้แก่ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์, ศ.พญ.ดวงเดือน คงศักดิ์, ศ.นพ.วรวุธ สุมาวงศ์ ต่อมาก็มี รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศล และ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ โดย ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯคนแรก ภาควิชาฯได้มีความเจริญพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันตามลำดับ ดังนี้ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ คนแรก พ.ศ.2504-2518, ศ.พญ.ดวงเดือน คงศักดิ์ รักษาการหัวหน้าภาควิชาฯ ระหว่างที่ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ศึกษาต่อต่างประเทศ พ.ศ.2504-2507 (ก่อนที่จะย้ายไป รพ.ศิริราช และ รพ.รามาธิบดี), รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศร พ.ศ.2518-2528, รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ พ.ศ.2528-2536, ผศ.นพ.วิรัช เจริญเอี่ยม พ.ศ.2536-2539, รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล พ.ศ.2539-2547, ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์ พ.ศ.2547-2551, รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ พ.ศ.2551-2555, รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล พ.ศ.2555-ปัจจุบัน

แพทย์ประจำบ้านรุ่นแรกได้แก่ รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ และพญ.พวงเพ็ญ ริมดุสิต เริ่มฝึกอบรมในปี พ.ศ.2503 ในปีเดียวกันนั้น รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศล ซึ่งปฎิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำอยู่แล้ว กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ขณะนั้นรศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ ได้จบการฝึกอบรมจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ และสมัครเป็นอาจารย์ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ แต่ตำแหน่งเต็ม อ.นพ.วิกุล ที่ รพ.ศิริราช ได้ชวนมาเป็นอาจารย์ประจำที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2503 จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในปี พ.ศ.2506 ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล กลับมาจาก Edinburgh มาเป็นอาจารย์ประจำ ในปี พ.ศ.2507

ในสมัยแรก ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ มีกฎว่าหัวหน้าภาควิชาฯ จะต้องเป็นคนตรวจภายในก่อนผ่าตัดแต่เพียงผู้เดียว และมีการประชุม in service meeting ร่วมกับฝ่ายพยาบาล ซึ่งมี อ.ปราณีต สวัสดิรักษา เป็นหัวหน้าพยาบาลหน่วยสูติกรรม ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ในการผ่าตัด vesico-vaginal fistula (V-V Fistula) อย่างมาก ซึ่งถ่ายทอดให้กับรศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล ในรุ่นต่อมา นอกจากนี้ ท่านยังมีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด radical hysterectomy และ radical vulvectomy และเป็นคนแรกที่รายงานกรณีผู้ป่วย amoebic vaginitis

ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการหมุนทารกท่าก้นให้กลับมาเป็นท่าหัว การทำหัตถการ embryotomy ในกรณีที่เกิดการคลอดติดขัด (obstructed labor) ของทารกที่อยู่ท่าขวางและเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดโดยเทคนิคผ่าตัด Marshall-Marchetti-Krantz (MMK) เป็นผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของบัณฑิตวิทยาลัยที่ดูแลการเรียนการสอนของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกของทั้งมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการ reproductive endocrinology และริเริ่มการใช้เทคนิค radioimmunology assay

ในยุคสมัยนั้น อัตราตายของมารดาและทารกสูงมาก สตรีตั้งครรภ์มักเข้ามาในโรงพยาบาลพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนสูง ในช่วงที่ รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ได้มอบหมายให้ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ แก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ก่อตั้ง high-risk clinic ริเริ่มปรับปรุงการดูแลสตรีตั้งครรภ์ ควบคุมระบบระเบียบการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน มีระบบ first call, second call medical staffing วางแผนการดูแลผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษอย่างเป็นระบบ ในสมัยนั้นพบโรค cardiac beriberi บ่อย ให้การรักษาโดยการฉีดวิตามินบีให้อาการก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาวะมดลูกแตกก็พบมากมาย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อพยายามคลอดเองที่บ้านไม่สำเร็จ ซึ่งส่วนมากจะพยายามกันอยู่หลายวัน นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มให้มีการแบ่งการดูแลออกเป็นหน่วยต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1) หน่วย Perinatology โดยมี รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ เป็นหัวหน้าหน่วย 2) หน่วย Infertile and family planning โดยมี ผศ.นพ.ธวัชชัย ตัณสถิตย์ เป็นหัวหน้าหน่วย และ 3) หน่วย Gynaecologic oncology โดยมี ผศ.นพ.วิรัช เจริญเอี่ยม เป็นหัวหน้าหน่วย

คณาจารย์ในภาควิชาฯ ทุกท่านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีความเป็นผู้บุกเบิกและมีชื่อเสียงในทางวิชาการทั้งด้านการเรียนการสอนและการทำหัตถการเวชปฏิบัติต่าง ๆ ทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ที่สำคัญ ได้แก่ ผศ.นพ.ธวัชชัย ตัณสถิตย์ ริเริ่มการทำ laparoscopic examination และ epidural anesthesia สำหรับ painless labor ผศ.นพ.วิโรจน์ สหพงษ์ ริเริ่มการทำหมันผ่านทางช่องคลอด ผศ.นพ.ประโยชน์ จงอยู่สุข ริเริ่มการทำหมันโดยใช้ laprocator และ falope ring ผศ.นพ.จำนง อุตวิชัย และรศ.พญ.พรรณี ศิริวัฒนาภา ริเริ่มการตรวจอัลตราซาวน์ทารกในครรภ์ รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล หลังกลับจากการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัย Heidelberg ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ริเริ่มการเจาะตรวจน้ำคร่ำ (amniocentesis) โดยในยุคแรกของห้องปฎิบัติการ ศ.นพ.ต่อพงษ์ สงวนเสริมศรี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ พยายามเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อตรวจโครโมโซมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ยุคต่อมา รศ.ดร.อำนาจ มีเวที ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ พยายามเลี้ยงเซลล์แต่ไม่ประสบความสำเร็จอีก จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล จึงประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก และรศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล ยังเป็นผู้ริเริ่มการเจาะตรวจเนื้อรก (chorionic villus sampling, CVS) การเจาะตรวจเลือดสายสะดือทารกในครรภ์ (cordocentesis และ fetal blood sampling, FBS) ในการตรวจวินิจฉัยและการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งคลินิกให้คำปรึกษาก่อนสมรส (premarital counseling clinic)

ด้านการเรียนการสอน ผศ.นพ.สมพงษ์ คุณเลิศกิจ หลังจากจบการศึกษาต่อด้านแพทยศาสตรศึกษาจากมหาวิทยาลัย Dundee สหราชอาณาจักร ที่มีชื่อเสียงด้านแพทยศาสตร์ศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นผู้ที่ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอน จัดการหมุนเวียนเป็น 2 สายที่ประกอบด้วย อาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน และนักศึกษาแพทย์ ดูแลจุดบริการ 8 จุด ได้แก่ หอผู้ป่วยสูติกรรม (OB1และ OB2) หอผู้ป่วยนรีเวช ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องตรวจ OPD3, OPD4, และ OPD5 โดยผลัดเปลี่ยนกันทุก 3 เดือน การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จะต้องมีการสอบเพื่อวุฒิบัตรของแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งแต่เดิมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ บันทึกรายงานผู้ป่วย 20 ราย การสอบการตรวจร่างกาย และการสอบความรู้ทางพยาธิวิทยา รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล เป็นผู้ที่ริเริ่มให้มีการติวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบบอร์ดขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำคัญบางส่วนที่แสดงถึงความเป็นมาของภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นเลิศ ทั้งด้านการเรียนการสอนระดับก่อนและหลังปริญญา การรักษาพยาบาล ตลอดจนงานวิจัย โดยรวบรวมเรียบเรียงจากหนังสือครบรอบ 25 ปี และ 40 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการบอกเล่าของคณาจารย์อาวุโสที่มาพบปะสังสรรค์รับประทานอาหารกลางวันที่ภาควิชาฯ กันสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีกหลายท่านที่มีส่วนในการร่วมสร้างภาควิชาฯ ให้พัฒนาก้าวหน้ามาตราบจนปัจจุบัน และอาจยังมิได้อ้างอิงในที่นี้ หากพบข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ผู้เขียนใคร่ขออภัยมา ณ โอกาสนี้

บรรณานุกรม

1. นิมิตร มรกต. 4 ทศวรรษ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2542

2. วัฒนา นาวาเจริญ. 50 ปี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2552