image

Our starting point

ประวัติความเป็นมาของภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์(มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน ซึ่งรับผิดชอบในการผลิตบัณฑิตแพทย์แต่เพียงแห่งเดียวในอดีต)และกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอให้มีการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ในส่วนภูมิภาคของประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทย ดังนั้นพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2503 ซึ่งเป็นการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่สามของประเทศไทย และเป็นแห่งแรกในส่วนภูมิภาค ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ก็ได้มีการโอนย้าย โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข มาอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ โดยมีหัวหน้าภาควิชาท่านแรก คือ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เมื่อได้รับการแต่งตั้ง ท่านต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการแต่งตั้ง ศ.พญ.ดวงเดือน คงศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทำหน้าที่รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชาไปก่อน (พศ.2504-2507) และมี ศ.นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ ศ.พญ.เพ็ญแข พิทักษ์ไพรวัลย์ และ ศ.พญ.พวงเพ็ญ ริมดุสิต เดินทางมาช่วยปฏิบัติงานด้วย ร่วมกับ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ ซึ่งย้ายมาจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ (สถาบันเซนต์หลุยส์ในขณะนั้น) และน.พ. สิริพงศ์ วินิจฉัยกุล

ในปี พศ.2504 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เริ่มมีแพทย์ประจำบ้าน โดยแพทย์ประจำบ้าน 2 ท่านแรกของภาควิชา คือ รศ.นพ. กำจัด สวัสดิโอ และ ศ.พญ.พวงเพ็ญ ริมดุสิต ซึ่งในปีนั้นโรงพยาบาลมีแพทย์ประจำบ้านทั้งหมดรวม 8 ท่าน แต่ในระยะแรกแพทย์ประจำบ้านของภาควิชาฯ จะได้รับวุฒิบัตรทางด้านสูติ-นรีเวช โดยไม่ต้องมีการสอบ ส่วนการสอบวุฒิบัตร เริ่มมีครั้งแรกในปี พศ.2514 แพทย์ที่สอบรุ่นแรกคือ ผศ.นพ.วิโรจน์ สหพงษ์ และ รศ.พญ.สังวาลย์ รักเผ่า ซึ่งเป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 7

เมื่อ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ กลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พศ.2507 และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าภาควิชา อาจารย์ทั้ง 3 ท่านจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงเดินทางกลับ แต่ภาควิชาฯก็ได้อาจารย์เพิ่มมาใหม ่คือ ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล ซึ่งย้ายมาจากสถาบันเซนต์หลุยส์ และในปี พศ.2507 เดียวกันนี้ รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางภาควิชาก็ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ ส่ง Dr. Zelenik ซึ่งมาทำงานอยู่ที่สถาบันเซนต์หลุยส์ ให้มาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนที่ภาควิชาอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี
ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา จนกระทั่งถึง พศ.2518 หลังจากนั้นจึงลาออกจากราชการ ก่อนถึงเวลาเกษียณอายุ ราชการเพียงเล็กน้อย หัวหน้าภาควิชาท่านต่อมาคือ รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศล ซึ่งเริ่มทำงานที่ภาควิชามาตั้งแต่ปี พศ.2508 และดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชา ในตั้งแต่ปี พศ.2518 จนกระทั่งถึงเกษียณอายุราชการในปี พศ.2528

หลังจากที่ รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ เดินทางกลับมาจากศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พศ.2511 ก็ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่ภาควิชาประมาณ 3-4 ปี แล้วจึงไปช่วยทำงานเกี่ยวกับแพทยศาสตรศึกษารวมทั้ง เป็นรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ในปี พศ.2521-2523 และเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พศ.2524 แล้วจึงกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ระหว่างปี พศ.2528-2536 (และเกษียณอายุราชการในปี พศ. 2539)

หลังจากนั้นหัวหน้าภาควิชาท่านต่อมาคือ ผศ.นพ.วิรัช เจริญเอี่ยม (พศ.2536-2539) แต่ในปี พศ. 2539 ผศ.นพ.วิรัช เจริญเอี่ยม ได้ลาออกจากราชการ ก่อนเกษียณอายุ ตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจึงว่างลง ผศ.นพ.วิโรจน์ สหพงษ์ จึงได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการแทนเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าภาควิชาท่านใหม่ และผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าภาคท่านต่อมา คือ รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล ซึ่งเริ่มรับตำแหน่งตั้งแต่ปี พศ.2536 จนกระทั้งถึงปัจจุบัน

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน มาตั้งแต่ ปี พศ.2504 และ แพทย์ชดใช้ทุน ตั้งแต่ปี พศ.2528 ซึ่งจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้มีแพทย์ประจำบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 41 รุ่น และแพทย์ใช้ทุน 14 รุ่น รวมมีสูติ-นรีแพทย์ ที่ผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว และได้นำวิชาชีพไปทำประโยชน์ต่อสังคมทั้งสิ้นกว่า 200 คน และนอกจากนี้ ภาควิชาฯยังมีส่วนร่วม ในการผลิตบัณฑิตแพทย์ มาแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 36 รุ่น