ความสมบูรณ์ของปอดของทารกในครรภ์ Fetal lung maturity

นพ. หาญณรงศ์ ชูพูล
อาจารย์ รศ.พญ. เกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ


ภาวะกดการหายใจในทารกแรกคลอด (Respiratory distress syndrome : RDS) 1 คือภาวะที่มีการขาดสารลดแรงตึงผิวในทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด ส่งผลให้มีแรงตึงผิวที่มากขึ้นบริเวณ Alveoli เป็นเหตุให้มีการตีบตันของถุงลม (Alveolar collapse) และทำให้การแลกเปลี่ยนแก๊สมีประสิทธิภาพลดลง ในที่สุดทารกก็จะเกิดภาวะขาดออกซิเจน (Neonatal hypoxia) และเกิดความผิดปกติของการทำงานของปอด ซึ่งภาวะนี้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดที่ยังไม่มีพัฒนาการของปอดที่สมบูรณ์ และมีความรุนแรงอยู่ในทารกแรกคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นการทดสอบว่าปอดของทารกในครรภ์มีความสมบูรณ์พร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ สามารถช่วยลดการเกิดและลดระดับความรุนแรงของภาวะกดการหายใจในทารกแรกเกิด (Respiratory distress syndrome : RDS)

พัฒนาการและสรีรวิทยาของระบบทางเดินหายใจ2-5
(Development and physiology of respiratory system)

ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ เริ่มมีการเจริญเติบโตและพัฒนาขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาหลังจากฝังตัวอายุครรภ์ประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งเจริญมาจากส่วนของ foregut endoderm

ตารางที่1 แสดงชั้นเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ 4

ระบบทางเดินหายใจ สามารถแบ่ง 2 ประเภทหลัก คือ

1. แบ่งตามกายวิภาค สามารถแบ่งย่อยเป็น 2 ส่วน คือ

1.1 ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ โพรงจมูก (nasal cavity) ช่องปาก (oral cavity) คอหอย (pharynx) และกล่องเสียง (larynx) เป็นต้น

1.2 ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หลอดลม (trachea) หลอดลมขั้วปอด (bronchi) หลอดลมฝอย (bronchioles) และถุงลม (alveoli)เป็นต้น

2. แบ่งตามหน้าที่ สามารถแบ่งย่อยเป็น 2 ส่วน คือ

2.1 ส่วนที่นำอากาศเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ โพรงจมูก (nasal cavity) คอหอย (pharynx) กล่องเสียง (larynx) หลอดลม (trachea) หลอดลมขั้วปอด (bronchi) และหลอดลมฝอย (bronchioles)

2.2 ส่วนที่เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊ส ได้แก่ หลอดลมฝอยแลกเปลี่ยนแก๊ส (respiratory bronchioles) ท่อลม (alveolar ducts) และถุงลม (alveoli)

ภาพที่1 แสดงพัฒนาการของระบบทางเดินหายใจ 5

พัฒนาการของระบบทางเดินหายใจ

แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่

  1. Embryonic stage

ระยะนี้เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ 3-7 หลังจากการฝังตัว โดยเริ่มมีการพัฒนาของหลอดลม (trachea) และหลอดลมขั้วปอด (bronchus) ซึ่งแตกแขนงจากเยื่อบุทางเดินอาหาร

ความผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นในระยะนี้

  • การเชื่อมต่อกันระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร (Tracheoesophageal fistula) สาเหตุเกิดจากเนื้อเยื่อ epithelial cell จาก Primitive airway ที่แยกส่วนระหว่างหลอดอาหารและหลอดลมไม่สมบูรณ์
  • หลอดอาหารตันโดยกำเนิด (Esophageal atresia) เกิดจากการที่เนื้อเยื่อส่วนที่เจริญของหลอดอาหารไม่สามารถเจริญต่อไปได้
  • หลอดลมตันโดยกำเนิด (Tracheal atresia) เกิดจากการที่เนื้อเยื่อส่วนที่เจริญของหลอดลมไม่สามารถเจริญต่อไปได้
  • Bronchopulmonary sequestration เป็นความพิการโดยกำเนิดของเนื้อปอด พบส่วนของเนื้อเยื่อปอดที่ไม่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ เนื่องจากไม่มีส่วนเชื่อมต่อของทางเดินหายใจของเนื้อเยื่อปอดส่วนนี้กับเนื้อปอดปกติและหล่อเลี้ยงด้วยเส้นเลือดที่ไม่ได้มาจาก bronchial vessels
  1. Pseudoglandular stage

ระยะนี้เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อายุครรภ์ 5-17 สัปดาห์ หลอดลมเริ่มเจริญเป็นท่อที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นสำหรับใช้เป็นทางเดินหายใจ การพัฒนาหลอดลมที่แตกแขนงเหมือนต้นไม้ (bronchial tree) ไปจนกระทั้งถึงระดับของ terminal bronchioles หลอดลมขั้วปอดระดับ Lobar bronchi แบ่งแยกเป็นด้านซ้ายและด้านขวา โดยด้านซ้ายประกอบไปด้วย 2 แขนง และด้านขวาประกอบไปด้วย 3 แขนงของหลอดลมขั้วปอดระดับ Lobar bronchi นอกจากนั้นมีการสร้างเซลล์ของระบบทางเดินหายใจที่มี cilia ปกคลุม สามารถพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ เนื้อเยื่อ Mesoderm มีการพัฒนาเป็น หลอดเลือด (Pulmonary vasculature) กล้ามเนื้อ (Bronchial muscle) กระดูกอ่อน (Cartilage) และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) และเซลล์ปอดเริ่มมีการสร้างมีการสร้างน้ำคร่ำ (Amniotic fluid) ในระยะนี้สามารถเห็นทารกหายใจได้เป็นครั้งแรกผ่านเครื่องอัลตร้าซาวด์ ตั้งแต่อายุครรภ์ 11 สัปดาห์

ภาพที่ 2 แสดงลักษณะเนื้อเยื่อในระยะ Pseudoglandular 5

ความผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นในระยะนี้

  • Bronchial atresia or stenosis
  • Bronchogenic cyst เกิดจากความผิดปกติของการแบ่งตัวเนื้อเยื่อ Foregut ทำให้เกิดลักษณะเป็นถุงที่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับทางเดินหายใจได้
  1. Canalicular stage

ระยะนี้เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อายุครรภ์ 16-26 สัปดาห์ ทางเดินหายใจส่วนต้นมีการสร้างที่สมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทารกที่คลอดในระยะนี้ สามารถมีชีวิตรอดมากขึ้น แต่ต้องอยู่ในการดูแลแบบ Intensive care

ภาพที่ 3 แสดงลักษณะเนื้อเยื่อในระยะ Canalicular 5

3.1 เกิดการพัฒนาจากส่วนที่นำอากาศเข้าสู่ร่างกายเป็นส่วนที่เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊ส

จากระยะ Pseudoglandular ก่อนหน้าที่มีการพัฒนาถึงระดับ terminal bronchioles ระยะนี้ได้เริ่มมีการพัฒนาต่อเป็น respiratory bronchioles ที่มีเหมาะสมในการแลกเปลี่ยนแก๊ส

3.2 การพัฒนาการแลกเปลี่ยนแก๊ส (air-blood carrier)

เริ่มมีการสร้าง alveolar cell เกิดการเชื่อมต่อกันของเนื้อเยื่อหายใจกับหลอดเลือดฝอย ซึ่งหลอดเลือดฝอยบริเวณรอบๆทางเดินหายใจเริ่มปรากฎหนาแน่นและชัดเจนมากขึ้น มีพื้นที่ผิวสัมผัสที่มากขึ้น โดยขนาดของผนังถุงลมมีขนาดที่บางลง เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สที่ดีมากขึ้น

3.3 การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อภายในปอด (Epithelial differentiation)

– Pneumocyte Type 2 มีการสร้างสารลดแรงตึงผิว (Surfactant)

– เซลล์ถุงลมปอด เปลี่ยนแปลงจาก Cuboidal เป็น thin cell

  1. Saccular stage

ระยะนี้เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อายุครรภ์ 24-36 สัปดาห์ ถุงลมฝอยมีการพัฒนาไปจนถึงระดับ terminal sacs และเริ่มมีความสมบูรณ์ในการแลกเปลี่ยนแก๊สมากขึ้น เยื่อบุเซลล์ที่พบในระยะนี้ ประกอบด้วย Pneumocyte type I ที่มีลักษณะบางและ Pneumocyte type II ที่มีความหนา และเป็นลักษณะ cuboidal cells นอกจากนั้นหลอดเลือดฝอยมีการพัฒนาเข้าแนบชิดกับ Pneumocyte type I มากขึ้น เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนแก๊ส โดยมี basement membraneกั้น นั่นเรียกว่า “Blood–air barrier”

หากมารดาได้รับยาสเตียรอยด์ในระยะนี้ ยาชนิดนี้สามารถเพิ่มการสร้างสารลดแรงตึงผิวมากขึ้นได้ (surfactant synthesis)

ภาพที่4 แสดงลักษณะเนื้อเยื่อในระยะ Saccular 5

  1. Alveolar stage

ระยะนี้เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ ไปจนถึง 8 ปี ทางเดินอาหารส่วนปลายจะขยายกว้างขึ้น โดย Terminal sacs และหลอดเลือดฝอยจะใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยถุงลมปอด (alveoli) ขณะคลอด จะมีจำนวนประมาณ 50-100 ล้าน ต่อมาที่อายุ 8 ปี จะมีจำนวนถุงลมปอด (alveoli) ประมาณ 300 ล้าน และผู้ใหญ่จะมีจำนวนถุงลมปอด (alveoli) ประมาณ 500 ล้าน

ภาพที่ 5 แสดงลักษณะเนื้อเยื่อในระยะ Alveolar 5

ภาพที่ 6 แสดงตารางสรุปพัฒนาการของระบบทางเดินหายใจ 2

การปรับตัวต่อการหายใจของทารกหลังคลอด

เมื่อแรกคลอดในปอดของทารกจะบรรจุสารน้ำอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำคร่ำ พลาสมา โปรตีนและสารอื่นๆที่หลังจากเนื้อเยื่อปอด ในช่วงที่ทารกคลอดขณะที่ทรวงอกผ่านช่องคลอดของมารดาจะมีแรงกดจากมดลูก ผนังช่องคลอดและแรงดันในช่องท้องมารดา ทำให้เกิดแรงดันในทรวงอกทารกประมาณ 60-100 cm H2O ทำให้สารน้ำไหลจากส่วนบนของทางเดินหายใจออกมาทางปากและจมูกประมาณ 5-10 ml /น้ำหนักตัว 1 kg ขณะที่ลำตัวทารกคลอดออกมาแล้วทรวงอกที่เคยถูกกดก็จะขยายกลับสู่ปกติและมีแรงยืดหยุ่นดึงเอาอากาศเข้ามาแทนที่สารน้ำ

การหายใจครั้งแรกจะดึงเอาอากาศเข้าไปในทางเดินหายใจประมาณ 50-80 มิลลิลิตร การหายใจครั้งแรกที่ตามด้วยการร้องขณะหายใจออก จะทำให้มีการปิดของช่องสายเสียง (Glottis) บางส่วน ทำให้ความดันภายในทรวงอกเพิ่มขึ้น 10 cm H2O และภายในไม่กี่นาทีความจุของลมที่เหลืออยู่ในถุงลม (Functional residual capacity) จะมีค่าประมาณ 20-30 ml การที่มีสารลดแรงตึงผิวจะช่วยลดแรงตึงผิวในถุงลม ภายหลังการหายใจออกจะช่วยให้ถุงลมคงรูปอยู่ได้โดยไม่แฟบ ดังนั้นสารนี้จึงมีความสำคัญในการหายใจของทารก

การทดสอบภาวะความสมบูรณ์ของปอดทารกในครรภ์ 2, 3, 6
(Fetal lung maturity tests)

สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) หน้าที่ในการลดแรงตึงผิว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดถุงลมแฟบขณะหายใจออก สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ถูกสร้างจาก Pneumocyte type II หลังจากนั้นจะถูกนำไปสะสมที่ lamellar bodies โดยส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) พบว่าเป็น ไขมัน ชนิด Glycerophospholipids ประมาณ 80-90 เปอร์เซนต์ โดยมี Phosphatidylcholine (lecithin) เป็นส่วนประกอบหลัก ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และโปรตีน ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

ภาพที่ 7 แสดงส่วนประกอบของสารลดแรงตีงผิว (Surfactant) 2

การทดสอบภาวะความสมบูรณ์ของปอดทารกในครรภ์ (Fetal lung maturity tests)

แบ่งเป็น 2 ประเภท

1. การทดสอบปฏิกิริยาชีวเคมี (Biochemical tests) คือการตรวจหาความเข้มข้นของส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิว (Concentration of particular components of pulmonary surfactant)

– การวัดอัตราส่วนของ Lecithin ต่อ sphingomyelin

– การตรวจหาสาร Phosphatidylglycerol

– การตรวจหาปริมาณ Lamellar body count

2. การทดสอบชีวกายภาพ (Biophysical tests) คือ การตรวจหาส่วนประกอบของสารลดแรง ตึงผิวฟอสโฟไลปิด (surface-active effects of these phospholipids)

– Optical density at 650 nm

– การทดสอบ Foam stability index

– การวัดอัตราส่วนของ Surfactant ต่อ albumin (TDx-FLM II)

  • การตรวจหาปริมาณ Lamellar body count

สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ถูกสร้างขึ้นโดย pneumocytes type-II และถูกเก็บสะสมไว้ใน Lamellar body ในการทดสอบการตรวจหาปริมาณ Lamellar body count โดยทั่วไปขนาดของ Lamellar body จะมีขนาดเท่ากับเกล็ดเลือด (Platelet) จึงสามารถใช้เครื่องตรวจนับปริมาณเกล็ดเลือดได้

การทดสอบวิธีนี้เป็นการทดสอบเบื้องต้น ซึ่งต้องพิจารณาทำการทดสอบการวัดอัตราส่วนของ Lecithin ต่อ sphingomyelin ร่วมด้วย หากค่าปริมาณ Lamellar body มากกว่าหรือเท่ากับ 50,000 ต่อมิลลิลิตร แสดงว่ามีความสมบูรณ์ของปอดของทารกในครรภ์ ช้อดีของการทดสอบวิธีนี้ ค่อนข้างเร็ว ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย ราคาประหยัด ข้อเสีย หากมีการปนเปื้อนของเลือด จะส่งผลทำให้เกิดผลลวงของความสมบูรณ์ของปอดได้ ขณะเดียวกัน ขี้เทา (Meconium) ไม่ได้มีผลต่อการทดสอบวิธีนี้

  • การตรวจหาสาร Phosphatidylglycerol

Phosphatidylglycerol เป็นส่วนประกอบที่พบในสารลดแรงตึงผิว (surfactant) พบปริมาณเพียงเล็กน้อย ประมาณ 8 เปอร์เซนต์ โดย Phosphatidylglycerol จะเป็นตัวช่วยสาร Phospholipid ให้กระจายไปยังถุงลมฝอยได้เร็วขึ้น ปริมาณของ Phosphatidylglycerol จะค่อยๆเพิ่มปริมาณมากขึ้นในน้ำคร่ำหลังอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งหากตรวจพบสาร Phosphatidylglycerol แสดงว่าเป็นช่วงที่มีความสมบูรณ์ของปอดทารกในครรภ์

ในการทดสอบวิธีนี้ ใช้การตรวจหาสาร Phosphatidylglycerol ด้วยเทคนิค Thin-layer chromatography ซึ่งหากค่ามากกว่า 2 เปอร์เซนต์ แสดงว่ามีความสมบูรณ์ของปอดของทารกในครรภ์ ปัจจุบันมีการพัฒนามาใช้เทคนิค Slide agglutination (Amniostat-FLM) โดยใช้ antisera เป็นตัวจับซึ่งมีความจำเพาะต่อ Phosphatidylglycerol ทำให้ได้ผลเร็ว และไม่ถูกรบกวนจากการปนเปื้อนของเลือดและน้ำคร่ำ

  • การวัดอัตราส่วนของ Lecithin ต่อ sphingomyelin

Phosphatidylcholine หรือ Lecithin เป็นส่วนประกอบหลักของ Phospholipid ที่พบในสารลดแรงตึงผิว (surfactant) อายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้นจะแปรผันตรงกับปริมาณ Lecithin โดยปริมาณ Lecithin จะเท่ากับ sphingomyelin ในน้ำคร่ำตอนอายุครรภ์ประมาณ 32-33 สัปดาห์ หลังจากนั้น Lecithin จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ส่วน sphingomyelin จะคงที่และค่อยๆลดปริมาณลง

ในการทดสอบวิธีนี้ ใช้ด้วยเทคนิค Thin-layer chromatography โดยค่าอัตราส่วนของ Lecithin ต่อ sphingomyelin ที่มากกว่า 2 ถือว่ามีความสมบูรณ์ของปอดของทารกในครรภ์ วิธีนี้มีข้อจำกัด เช่น ราคาแพง ใช้เวลาในการทดสอบค่อนข้างนาน ต้องทำด้วยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และถูกรบกวนจากการปนเปื้อนของเลือดและน้ำคร่ำ

ภาพที่ 8 แสดงส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) 1

  • Optical density at 650 nm

การวัด Optical density at 650 nm เป็นการวัดปริมาณ Lamellar bodies ทางอ้อม โดยใช้เทคนิค Spectrophotometric reading ใช้ความยาวของคลื่นแสงขนาด 650 นาโนเมตร ส่องผ่านน้ำคร่ำ โดยค่าที่วัดได้มากกว่า 0.15 ถือว่ามีความสมบูรณ์ของปอดของทารกในครรภ์ ข้อจำกัด หากมีการปนเปื้อนของเลือดและน้ำคร่ำทำให้ค่าไม่สามารถแปลผลได้

  • การทดสอบ Foam stability index

Foam stability index หรือ shake test เป็นวิธีการวัดความสามารถของสารลดแรงตึงผิว (surfactant) ในน้ำคร่ำ โดยใช้ Ethanol ซึ่ง Ethanol จะทำหน้าที่เป็นตัวที่ทำปฏิกิริยาในการแย่งจับกับสาร Surfactant เพื่อไม่ให้เกิดฟองอากาศเกิดขึ้น โดย Ethanol จะไปกำจัดส่วนประกอบต่าง ๆ ในการเกิดฟองอากาศของน้ำคร่ำ เช่น Protein Bile salts Salt of free fatty acid เป็นต้น ซึ่งถ้าหากมีสาร Surfactant ไม่เพียงพอในการแย่งจับกับสาร Ethanol เมื่อทดสอบด้วยวิธีนี้ก็จะไม่สามารถคงสภาพของฟองอากาศได้

พบว่า ถ้าสามารถคงสภาพของฟองอากาศในหลอดทดลองที่มีความเข้มข้นของ Ethanol 47 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ามีค่า Foam Stability Index (FSI) เท่ากับ 47 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบ่งบอกว่ามีความสมบูรณ์ของปอดของทารกในครรภ์และสัมพันธ์กับภาวะ Respiratory distress syndrome น้อย ข้อดีของวิธีนี้ ทำได้ง่าย รวดเร็ว สามารถใช้เป็นวิธีคัดกรองได้ (Screening test) ข้อจำกัด หากมีการปนเปื้อนของเลือดและน้ำคร่ำ ทำให้ค่าแปรปรวนได้

  • การวัดอัตราส่วนของ Surfactant ต่อ albumin (TDx-FLM II)

การวัดอัตราส่วนของ Surfactant ต่อ albumin (TDx-FLM II) ใช้เทคนิค Fluorescence polarization ที่ใช้หัว Probe แบบ TDx-FLM II ในการทดสอบตัวอย่าง อาศัยหลักการของการแย่งจับ Probe ระหว่าง surfactant กับ albumin โดย Albumin จะแสดงค่า Polarization values ว่าสูง แต่หากถูกแย่งจับได้ด้วย Surfactant จะแสดงค่า Polarization values ว่าต่ำ เทคนิคนี้เป็นการทดสอบที่ง่าย รวดเร็ว อ่านผลอัตโนมัติ และเป็นการทดสอบการวัดความเข้มข้นของสารลดแรงตึงผิวโดยตรง

การแปลผลค่าที่ออกมาได้ของวิธีนี้

– ปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 55mg Surfactant ต่อ 1 gm Albumin แปลว่า ปอดมีความสมบูรณ์

– ปริมาณ 40 – 54 mg Surfactant ต่อ 1 gm Albumin แปลว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าปอดมีความสมบูรณ์หรือไม่

– ปริมาณที่น้อยกว่า 40 mg Surfactant ต่อ 1 gm Albumin แปลว่า ปอดยังไม่มีความสมบูรณ์

ตารางที่ 2 แสดงการทดสอบภาวะความสมบูรณ์ของปอดทารกในครรภ์ (Fetal lung maturity tests) 3

Test Technique Threshold Predictive value(%) Blood contamination affects results Meconium contamination affects results Vaginal pool sample
Mature Immature
Negative predictive value Positive Predictive Value
Lamellar body counts Counts using commercial hematology counter 30,000-40,000 97-98 29-35 Yes No Not available
Phosphatidylglycerol -Thin-layer chromatography

-Slide agglutination

>2%

> 0.5

95-100

95-100

23-53

23-53

No

No

No

No

Yes

Yes

Lecithin/

sphingomyelin ratio

> 2 95-100 33-50 Yes Yes No
Optical density at 650 nm Spectrophotometric reading ≥ 0.15 98 13 Not available Not available Not available
Foam stability index Ethanol added, shaken, ≥ 47 95 51 Yes Yes No
Surfactant/albumin ratio Fluorescence polarization with TDx-FLM II ≥ 55 mg/g albumin 96-100 47-61 Yes Yes Yes

ปัจจัยที่มีผลต่อการแปลผลต่อการทดสอบภาวะความสมบูรณ์ของปอดทารกในครรภ์ 3

  • อายุครรภ์ อายุครรภ์ที่มากขึ้น การแปลผลจะเกิด positive predictive value มากขึ้น
  • การปนเปื้อนของเลือดและน้ำคร่ำ
  • ปริมาณน้ำคร่ำที่น้อย (Oligohydramnios) และ ปริมาณน้ำคร่ำที่มาก (Polyhydramnios) จากวิธี Lamellar body count Lecithin/Sphingomyelin ratios และ Phosphatidylglycerol ทำให้มีผลต่อการแปลผลได้
  • การได้รับยาสเตียรอยด์
  • ตัวอย่างที่ได้จาก vaginal pool อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ทำให้การแปลผลบวกลวงได้
  • มารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ครรภ์แฝด ยังไม่มีข้อสรุปในการใช้ cut off สำหรับการทดสอบวิธีต่างๆเห็นเดียวกับครรภ์เดียว

คำแนะนำในการทดสอบภาวะความสมบูรณ์ปอดของทารกในครรภ์ 3

1. อายุครรภ์ที่น้อยกว่า 32 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องทดสอบภาวะความสมบูรณ์ปอดของทารกในครรภ์ เนื่องจากความชุกของความไม่สมบูรณ์ของปอดมาก และค่าการทำนายค่อนข้างต่ำ

2. ไม่แนะนำให้ทดสอบ ในอายุครรภ์ที่มากกว่า 39 สัปดาห์

3. Suboptimal gestational age ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการทดสอบความสมบูรณ์ปอดของทารกในครรภ์ ACOG ไม่แนะนำให้เจาะน้ำคร่ำเพื่อทดสอบความสมบูรณ์ของปอดในมารดา ในกรณี suboptimally dated pregnancies ในการกำหนดระยะเวลาคลอด 7

4. ไม่แนะนำให้ทดสอบความสมบูรณ์ปอดของทารกในครรภ์ในกรณีที่วางแผนจะผ่าตัดคลอด การกระตุ้นคลอด ในหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 37-38 สัปดาห์

บทสรุป

การทดสอบภาวะความสมบูรณ์ปอดของทารกในครรภ์ (Fetal lung maturity) ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากตามคำแนะนำไม่แนะนำให้ใช้การทดสอบภาวะความสมบูรณ์ปอดของทารกในครรภ์เพื่อเป็นเหตุผลประกอบการการตัดสินใจในการให้คลอด โดยการทดสอบภาวะความสมบูรณ์ปอดของทารกในครรภ์ มีหลายวิธี แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักคือ การทดสอบปฏิกิริยาชีวเคมี (Biochemical tests) และการทดสอบชีวกายภาพ (Biophysical tests) ในการเลือกใช้วิธีการทดสอบภาวะความสมบูรณ์ปอดของทารกในครรภ์ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ความพร้อมของโรงพยาบาล และการปนเปื้อนในน้ำคร่ำ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunningham FG, Leveno KJ, Dashe JS. and et al. Chapter 34 The Preterm Newborn, Respiratory distress syndrome. William Obstertrics 25th ed. NewYork. McGraw Hill; 2018. p. 363-8
  2. Robert Resnik, Charles J. Lockwood, Thomas R. Moore and et al. Chapter 16 Fetal Lung Development and Surfactant. Creasy & Resnik’s Maternal-Fetal Medicine 8th ed; 2019. p. 223-34
  3. Gillen-Goldstein J, MacKenzie AP, Funai EF. Assessment of fetal lung maturity. UpToDate. Waltham, MA: UpToDate Inc. [Available from: https://www.uptodate.com. (Accessed on October 1, 2022.)
  4. Module 18 Respiratory tract The universities of Fribourg, Lausanne and Bern Switzerland [Available from: https://www.embryology.ch. (Accessed on October 1, 2022.)
  5. Development of the respiratory system [Available from: https://app.lecturio.com. (Accessed on October 1, 2022.)
  6. Nabhan AF. Asessment of Fetal lung maturity [Available from: https://studylib.net/doc. (Accessed on October 1, 2022.)
  7. Committee Opinion No. 688. Management of suboptimally dated pregnancies. 2017;129(3):29-32. (Accessed on October 1, 2022.)