About Us

♦          ปี พ.ศ. 2566 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้งระบบการพัฒนาคณาจารย์ของคณะแพทย์ ฯ ในด้านแพทยศาสตรศึกษา ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า METS ซึ่งย่อมาจาก Medical Education Training System

♦          เป้าหมายสูงสุดของ METS คือผลิตคณาจารย์ของคณะแพทย์ ฯ ที่มีความรู้ความชำนาญและทัศนคติที่ดีต่อการเรียนการสอนอย่างยั่งยืนและเป็นที่ไว้วางใจ (Sustainable Trustworthy Educator in Medicine: STEM) ซึ่งสอดคล้องตามวิสัยทัศน์หลักของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ หรือ trustworthy medical school

♦          เมื่อคณาจารย์ได้ผ่านระบบของ METS แล้ว ผลสัมฤทธิ์ที่ได้จะนำไปสู่คุณสมบัติของคณาจารย์ในการเป็น STEM ดังนั้นอาจเปรียบได้ว่าทั้ง METS และ STEM คือภาพสะท้อนของกันและกันเป็นเช่นกระจกเงา ดังที่ได้เห็นในสัญลักษณ์ข้างต้น

VISION

♦          วิสัยทัศน์ของ METS (Medical Educator Training System) คือ การทำให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ (trustworthy medical school) ผ่านการขับเคลื่อนโดยคณาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญและทัศนคติที่ดีต่อการเรียนการสอนอย่างยั่งยืนและเป็นที่ไว้วางใจได้ (Sustainable Trustworthy Educator in Medicine: STEM) โดยพันธกิจของ METS แบ่งเป็น 4 ด้านหลักๆ ดังนี้

  • สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคณาจารย์ในคณะแพทย์ ฯ
  • พัฒนาและปรับปรุงทัศนคติ และแนวคิดของการทำให้โรงเรียนแพทย์เป็นพื้นที่ปลอดภัย ตามนโยบาย SAFE medical school อันประกอบด้วย Say no to sexual harassment, Avoid bullying, Feedback appropriately และ Encourage equity
  • ปรับปรุงทักษะการวิจัย รวมทั้งให้การสนับสนุนการทำวิจัยของคณาจารย์ผู้สนใจงานวิจัยด้านแพทยศาสตรศึกษา เพื่อให้พัฒนาสู่ความเป็นนักวิชาการด้านแพทยศาสตรศึกษา
  • พัฒนาและปรับปรุงความรู้และทักษะด้านแพทยศาสตรศึกษาของคณาจารย์ในคณะแพทย์ ฯ

♦          คุณลักษณะของ STEM ที่ต้องการ เพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของคณะแพทย์ ฯ ในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ ประกอบด้วย

  • มีความรู้และทักษะด้านการเรียนการสอน
  • สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยรวมทั้งนวัตกรรมทางการศึกษาได้
  • มีทัศนคติและแนวคิดของการทำให้โรงเรียนแพทย์เป็นตามแนวทางของ SAFE medical school
  • สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านการศึกษาอย่างยั่งยืน

♦          กรอบมาตรฐานของการอบรมตามระบบ METS ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก เรียกว่า ACSF framework ซึ่งได้แก่

  1. A: All faculty members (คณาจารย์ทุกคนในคณะฯ)

หมายถึงคณาจารย์ทุกคนจะต้องได้รับการอบรมแพทยศาสตรศึกษาระดับพื้นฐานตามเกณฑ์ของคณะฯ ที่ได้กำหนดไว้ และมีการอบรมแยกกลุ่มเฉพาะอาจารย์ใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร associated instructor learning program (AILP)

  1. C: Curriculum responsible persons (คณาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร)

ซึ่งในกรอบมาตรฐานนี้ สามารถแบ่งประเภทของคณาจารย์ได้เป็น 4 ลำดับขั้น โดยในแต่ละลำดับขั้น มีเนื้อหาหรือความซับซ้อนของการอบรมแตกต่างกันไป ขึ้นกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับ กล่าวคือ

  • 2.1 course committee เช่น คณาจารย์ผู้รับผิดชอบเป็นกรรมการในกระบวนวิชา, คณะกรรมการวัดและประเมินผล, คณะกรรมการตัดเกรดทางคลินิก, คณะกรรมการดูแลนักศึกษาระดับชั้นคลินิก เป็นต้น
  • 2.2 course manager / director เช่น ประธานกระบวนวิชา, ประธานกลุ่มคณาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาแต่ละชั้นปีระดับคลินิกของแต่ละภาควิชา เป็นต้น
  • 2.3 curriculum committee เช่น คณะกรรมการบริหารหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านแพทยศาสตรศึกษา หรือ METS committee, ผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาด้านแพทยศาสตรศึกษาของคณะฯ, ผู้ที่วางแผนในการเป็นผู้บริหารที่เกี่ยวกับด้านการศึกษาของคณะฯในอนาคต เป็นต้น
  1. S: Medical education scholars (ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทยศาสตรศึกษา หรือผู้มีความสนใจด้านแพทยศาสตรศึกษาเป็นพิเศษ)

ซึ่งกรอบมาตรฐานนี้จะมุ่งเน้นเกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับแพทยศาสตรศึกษาอย่างลึกซึ้ง เน้นทำวิจัยด้านแพทยศาสตรศึกษา การสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษา และสนับสนุนให้มีการนำเสนอผลงานด้านแพทยศาสตรศึกษาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

  1. F: Faculty developer (ผู้บริหารด้านการศึกษา)

กรอบมาตรฐานระดับสูงสุดของ METS เกี่ยวข้องกับผู้บริหารด้านการศึกษาของคณะฯ เช่น คณบดี รองคณบดี และผู้ช่วยคณบดี ด้านวิชาการ ซึ่งควรได้รับการอบรมในทุกหัวข้อและทุกระดับขั้นของ METS ที่ผ่านมา

♦          ในภาพรวมของกรอบมาตรฐาน ACSF ใน METS ทั้ง 6 ระดับนี้ ในบางระดับ สามารถมีการข้ามขั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามกรอบ A C S F ตัวอย่างเช่น สำหรับคณาจารย์ที่ไม่ได้รับผิดชอบด้านการบริหารหลักสูตร แต่มีความสนใจในการทำวิจัยหรือนวัตกรรมด้านการศึกษาเป็นพิเศษ สามารถเลือกเข้าสู่กรอบมาตรฐานในระดับ S (METS module 5) ได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกรอบมาตรฐานระดับ C ครบทุก module

♦          องค์ประกอบและแนวคิดของ METS สามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักดังนี้
1. Technical skills in medical education: เป็นเนื้อหาหลักหรือประเด็นสำคัญด้านวิชาการที่เกี่ยวกับแพทยศาสตรศึกษา ซึ่งแบ่งเป็น 7 module และมีความจำเพาะต่อคณาจารย์แต่ละประเภทในคณะฯ
2. Non-technical skills in medical education: ประกอบด้วยการอบรมที่เน้นเรื่องคุณสมบัติด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นในการเป็นอาจารย์ รวมทั้งเน้นในประเด็นที่สอดคล้องกับการทำให้โรงเรียนแพทย์เป็นพื้นที่ปลอดภัย ตามแนว SAFE medical school ซึ่งมีการอบรมหลายรูปแบบ รวมทั้งการอบรมที่จัดขึ้นโดยงานบริหารทรัพยากรบุคคล (human resource: HR) และศูนย์ MeDhri (Med CMU human resource institute)
3. ส่งเสริมการมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของคณาจารย์ ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เสวนาประสาครูแพทย์สวนดอก (AcadeMED Talk) หรือการจัด Medical Education CMU KM day ประจำปี รวมทั้งระบบการให้คำปรึกษาแก่คณาจารย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับแพทยศาสตรศึกษาในทุกแง่มุม

♦          หลักการของระบบ METS เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการเป็น STEM เริ่มจากการสังเกตคณาจารย์ในคณะฯ ที่มีคุณสมบัติหรือความสนใจเป็นพิเศษในแง่มุมต่าง ๆ ของแพทยศาสตรศึกษา เช่น สนใจด้านการวัดและประเมินผล การออกแบบหลักสูตร การวิจัยหรือนวัตกรรมด้านแพทยศาสตรศึกษา หรือการเป็นผู้บริหารคณะฯด้านวิชาการ เป็นต้น ซึ่งในบางกรณีนอกจากลักษณะเฉพาะบุคคลแล้ว อาจต้องการคุณสมบัติจำเพาะหรือเกณฑ์ขั้นต่ำบางประการร่วมด้วย การพัฒนาคณาจารย์ไปสู่ METS ในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปได้ทั้งกรณีที่อาจารย์ท่านนั้น ๆ มีความสนใจพิเศษเป็นการส่วนตัว หรือเกิดจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานดังกล่าว เช่น ทำงานด้านการวัดและประเมินผลอยู่แล้วมาเป็นเวลานาน โดย METS จะจัดการอบรมหรือเสริมศักยภาพของคณาจารย์ ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ ความสามารถ และทัศนคติ ซึ่งเมื่อผ่านการฝึกอบรมจาก METS แล้ว คณาจารย์จะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย (on boarding phase) และได้รับการดูแลหรือให้คำปรึกษาจากคณาจารย์ผู้มีประสบการณ์หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ จนเกิดเป็นความรู้ความชำนาญ (competency) ตามที่คาดหวัง และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ (performance) ตามความเป็น STEM ในที่สุด ซึ่งตลอดกระบวนการของการพัฒนาคณาจารย์นี้ จะมีการประเมินผลเป็นระยะว่าเมื่อเข้าสู่ระบบ METS แล้ว สามารถได้เรียนรู้ทักษะและมีความรู้ความชำนาญจริงตามที่คาดหวังหรือไม่