รศ.ดร.อนุลักษณ์ จันทร์คำ อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทีมวิจัยและนักศึกษาปริญญาโท-เอกของภาควิชาฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องยุงพาหะนำโรคและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรในการควบคุมและป้องกันยุงพาหะนำโรคมาโดยตลอด ในงานวิจัยครั้งนี้ได้ค้นพบประสิทธิภาพและสามารถยืดระยะเวลาในการไล่ยุงของสารสกัดเฮกเซนจากส่วนเหง้าของโกฐหัวบัว (Ligusticum sinense) จากนั้นนำมาพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ในตำรับที่มีรูปแบบในการใช้งานง่าย โดยเตรียมผลิตภัณฑ์จากสารสกัดเหง้าโกฐหัวบัวให้อยู่ในรูปแบบของนาโนอิมัลชั่นเจล และทดสอบฤทธิ์ไล่ยุงโดยใช้วิธี arm-in-cage ในห้องปฎิบัติการตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กับยุงพาหะนำโรค 3 ชนิด ได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ยุงก้นปล่อง (Anopheles minimus) และ ยุงรำคาญ (Culex quinquefasciatus)

          จากการศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์นาโนอิมัลชั่นเจลจากสารสกัดเหง้าโกฐหัวบัวที่ได้พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงพาหะทั้ง 3 ชนิด โดยมีระยะเวลาป้องกันยุงลายบ้านกัดเท่ากับ 5.5 ชั่วโมง ยุงก้นปล่องเท่ากับ 11.25 ชั่วโมงและ ยุงรำคาญเท่ากับ 11.5 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับนาโนอิมัลชั่นเจลที่เตรียมจากสารเคมีไล่ยุงมาตรฐาน (N,N-diethyl-3-methylbenzamide: DEET) โดยมีระยะเวลาป้องกันยุงลายบ้านกัดเท่ากับ 8.5 ชั่วโมง ยุงก้นปล่องเท่ากับ 12.5 ชั่วโมง และยุงรำคาญเท่ากับ 12.0 ชั่วโมง และนอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาฤทธิ์ก่อความระคายเคืองต่อผิวหนังของผลิตภัณฑ์นาโนอิมัลชั่นเจลจากสารสกัดเหง้าโกฐหัวบัวในอาสาสมัครพบว่าสารดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองใดๆ ต่อผิวหนังของอาสาสมัคร

         “เหง้าโกฐหัวบัว” ซึ่งส่วนที่ใช้ทำยาส่วนใหญ่จะใช้เหง้า มีสีน้ำตาล กลิ่นหอมฉุน รสมัน ปกติแล้วจะใช้ขับลม หรือใช้ร่วมกับส่วนผสมของยาสตรีบำรุงร่างกาย โกฐหัวบัวเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดยาไทยที่เรียก “โกฐทั้งห้า โกฐทั้งเจ็ดและโกฐทั้งเก้า” และยังเป็นตัวยาสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 1,352 ทะเบียน

          ดังนั้นจากการที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันยุงกัด และไม่ระคายเคืองต่อผิวหนังของผู้ใช้ จึงถือว่าผลิตภัณฑ์ขับไล่ยุงจากสารสกัดเหง้าโกฐหัวบัวนี้ มีศักยภาพสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขับไล่ยุงจากธรรมชาติชนิดใหม่ โดยอาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่นำมาทดแทนสารเคมีไล่ยุง (DEET) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้และปัจจุบันคณะผู้วิจัยอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์นาโนอิมัลชั่นเจลจากสารสกัดเหง้าโกฐหัวบัวที่ได้นี้

          ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในผลงานวิจัยฉบับเต็ม “Ligusticum sinense Nanoemulsion Gel as Potential Repellent against Aedes aegypti, Anopheles minimus, and Culex quinquefasciatus (Diptera: Culicidae)” ได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Insects ปี ค.ศ. 2021 Vol. 12(7) หน้า 596.

Facebook Comments Box
Contact