การใช้กับดักแสง นับเป็นหนึ่งในวิธีการจับยุงพาหะนำโรค ซึ่งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นตัวล่อสำคัญที่นิยมใช้ร่วมกับกับดัก สำหรับจับยุงหรือแมลงพาหะที่กินเลือดเป็นอาหาร โดยทั่วไปน้ำแข็งแห้ง (Dry ice) มักถูกใช้เป็นตัวผลิต CO2 เนื่องจากใช้งานง่ายและผลิต CO2 ปริมาณมากอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน แต่ในพื้นที่ห่างไกลในป่าหรือชนบท ไม่สามารถหาน้ำแข็งแห้งได้ และหากใส่กระติกน้ำแข็งไป ก็ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเนื่องจากการระเหิด ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยพยายามหาวิธีผลิต CO2 ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ใช้น้ำตาลผสมกับยีสต์ หรือใช้กรดอ่อนทำปฏิกิริยากับสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนท แต่ CO2 ที่ได้มีปริมาณน้อยหรือหมดไปอย่างรวดเร็ว บางคนเลือกที่จะใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงเพื่อที่จะควบคุมปริมาณกรดให้ไหลอย่างต่อเนื่อง

          รศ.ดร. ปรัชญา สมบูรณ์ อ.ดร. เจษฎา ไทรงามสุข อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา และนางสาวสุธาสินี มาแดง นักศึกษาระดับปริญญาโท ได้พัฒนาระบบผลิต CO2 แบบง่าย มีต้นทุนต่ำและนำพาไปได้ง่าย โดยใช้ปฏิกิริยาเคมีระหว่างกรดไฮโดรคลอริกกับผงหินปูน ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและมีราคาถูก ส่วนการควบคุมการไหลของกรดให้ได้ตลอดทั้งคืน ใช้หลักการเดียวกับการหยดให้น้ำเกลือผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยนำเอาชุดให้น้ำเกลือ (Infusion set) ที่ใช้แล้ว มาประยุกต์ใช้เป็นตัวควบคุมอัตราการปล่อยกรดสู่หินปูน ซึ่งหลักแนวคิดนี้ยังไม่เคยมีการรายงานมาก่อน

          จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า กรดไฮโดรคลอริก 12% (w/w) ที่ไหลในอัตรา 30 หยด/นาที (ประมาณ 1.6 มล./นาที) ลงบนผงหินปูน 800 กรัม ให้ CO2 เฉลี่ย 55 มล./นาที (เทียบเท่ากับ CO2 จากลมหายใจของไก่ 2 ตัวและมากกว่า CO2 ที่ได้จากการใช้น้ำตาลกับยีสต์เท่าตัว) นานต่อเนื่อง 12 ชั่วโมง และเมื่อนำไปทดสอบภาคสนามพบว่า สามารถจับยุงได้จำนวนและชนิดมากกว่ากับดักแสงที่ไม่มี CO2

          แม้ว่าวิธีนี้จะจับยุงได้จำนวนตัวน้อยกว่ากับดักแสงที่มีน้ำแข็งแห้ง แต่จำนวนชนิดยุงพาหะนำโรคที่สำคัญต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้างใกล้เคียงกัน จึงสรุปได้ว่า ระบบการผลิต CO2 ที่พัฒนาขึ้นมานี้เป็นอีกทางเลือกที่ดีอันหนึ่งในกรณีที่ไม่มีน้ำแข็งแห้ง สามารถเพิ่มปริมาณ CO2 ได้โดยเพิ่มจำนวนชุดกรดและหินปูนหรือปรับความเข้มข้นหรือปริมาณการไหลของกรด โดยเปลี่ยนขนาดภาชนะที่ใช้ให้เหมาะสม สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการจับยุงพาหะ เช่น ยุงลายบ้าน ยุงลายเสือ และยุงรำคาญ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยชิ้นนี้มีประโยชน์ในการศึกษาประชากรยุงพาหะ เพื่อประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคที่แพร่โดยยุง หรือประเมินประสิทธิภาพการควบคุมประชากรยุง รวมถึงศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของยุงในแต่ละพื้นที่ด้วย ผลงานดังกล่าวสามารถจะนำไปใช้ต่อยอดกับแมลงพาหะชนิดอื่นที่กินเลือดเป็นอาหาร เช่น เห็บ ไร ตัวเรือด และแมลงริ้นดำได้

       ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับการคัดเลือกให้นำไปแสดงที่งาน มหกรรมงานวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2565 (CMU High Impact Research & Innovation Expo 2022)

Facebook Comments Box
Contact