อาจารย์ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ได้รับรางวัลบูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น ประจำปี 2555
ผลงานเรื่อง “ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูป FilariaDiag”
จากสำนักงานคณะกรรมการระบบราชการ (ก.พ.ร.)

 

ศาสตราจารย์ ดร.เวช ชูโชติ อาจารย์และนักวิจัย สังกัดภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะผู้วิจัยซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย  อาจารย์และนักวิจัยสังกัดภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และนางชูวีวรรณ จิระอมรนิมิต จากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เข้ารับโล่รางวัลบูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น เรื่อง “ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูป FilariaDiag” จากนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ประธานสำนักงานคณะกรรมการระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในพิธีมอบรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติและรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2555 ณ ห้องวายุภักษ์ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556  

 

การทำงานเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาศักยภาพงานวิจัยของประเทศไทยนั้น ทั้งสามหน่วยงานได้ทำงานแบบบูรณาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของการควบคุมและกำจัดโรคเท้าช้างและโรคปรสิต ในแหล่งที่มีการระบาดของโรค โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศไทย ทีมวิจัยได้วางแผนและแบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน โดย ศ.ดร.เวช ชูโชติ รับผิดชอบดำเนินการวิจัยในสัตว์ทดลอง ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการวิจัยในห้องปฏิบัติการ และกรมควบคุมโรค สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้รับผิดชอบงานภาคสนามและการติดต่อประสานงาน ทีมวิจัยได้ดำเนินงานร่วมกันพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้าง โดยการตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อพยาธิเท้าช้างคือ antifilarial IgG4 ซึ่งเป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะสูง โดยจุดเด่นของชุดตรวจนี้ คือ สามารถเจาะเลือดตรวจได้ทุกเวลา ใช้เลือดจำนวนน้อยในการตรวจวินิจฉัย อ่านผลการตรวจได้ด้วยตาเปล่า มีราคาถูก และลดการนำเข้าชุดตรวจสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยในการพัฒนาชุดตรวจนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

การนำชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูปไปใช้ในงานปริการภาครัฐนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นำชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นนี้ไปใช้ในการประเมินผลโครงการควบคุมและกำจัดโรคเท้าช้างในแหล่งระบาดในจังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช และนำไปใช้ในการควบคุมและกำจัดโรคเท้าช้างในแหล่งระบาด จังหวัดนราธิวาส (ชุดตรวจจำนวน 95 กล่อง สำหรับ 8,800 ราย) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยในแหล่งระบาด และเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพของงานวิจัยของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยในขณะนี้

 

Facebook Comments Box
Contact