พยาธิใบไม้ตับ

         หมายถึงพยาธิที่ตัวเต็มวัย อาศัยในทางเดินน้ำดีของมนุษย์ มีการผสมพันธุ์สร้างไข่ออกมาและทำให้เกิดพยาธิสภาพของทางเดินน้ำดี

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์คม สุคนธสรรพ์

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์คม สุคนธสรรพ์

ทางเดินน้ำดีคืออะไร

          ทางเดินน้ำดี บางทีเรียกว่าท่อทางเดินน้ำดี (Biliary tract หรือ Biliary tree) คือ ระบบท่อที่นำน้ำดี คือน้ำย่อยอาหารจากตับ สร้างจากเซลล์ตับเข้าสู่ลำไส้เล็กตอนบนที่เรียกว่า ดูโอดีนัม (Duodenum) ทางเดินน้ำดีประกอบด้วย ท่อน้ำดีขนาดเล็กมากมายในตับ (Intrahepatic duct) รวมกันเป็นท่อตับกลีบขวา (Right hepatic duct) และท่อตับกลีบซ้าย (Left hepatic duct) ท่อตับทั้งกลีบซ้ายและกลีบขวารวมกันเป็น ท่อรวมตับ (Common hepatic duct) ท่อรวมตับจะรวมกับ ท่อถุงน้ำดี (Cystic duct) กลายเป็นท่อน้ำดีรวม (Common bile duct) ซึ่งจะเปิดเข้าลำไส้เล็กดูโอดีนัมในตำแหน่งเดียวกับท่อนำน้ำย่อยของตับอ่อน

พยาธิใบไม้ตับในคนมีกี่กลุ่ม

พยาธิใบไม้ตับในคนที่สำคัญมี 3 กลุ่ม

1. พยาธิใบไม้ขนาดเล็ก ได้แก่ พยาธิใบไม้ในวงศ์ Opisthorchiidae คือ Opisthorchis viverrini (รูปที่ 1) และ  Clonorchis sinensis กลุ่มนี้มี ปลาน้ำจืดเกล็ดขาวเป็นโฮสต์สื่อกลางชนิดที่สอง

2. พยาธิใบไม้ขนาดกลาง ได้แก่ พยาธิใบไม้ในวงศ์ Dicrocoeliidae คือ Dicrocoelium dendriticum กลุ่มนี้มี มดดำ เป็นโฮสต์สื่อกลางชนิดที่สอง

3. พยาธิใบไม้ขนาดใหญ่ ได้แก่ พยาธิใบไม้ในวงศ์ Fasciolidae คือ Fasciola gigantica และ Fasciola hepatica กลุ่มนี้มี พืชน้ำ เป็นโฮสต์สื่อกลางชนิดที่สอง

รูปที่ 1 ตัวเต็มวัยพยาธิใบไม้ตับ

Opisthorchis viverrini

รูปที่ 2 ปลาน้ำจืดมีเกล็ดตัวเล็ก

รูปที่ 3 ไข่ของพยาธิชนิดนี้มีขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลืองคล้ายหลอดไฟ 

พยาธิใบไม้ตับที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยคือชนิดใด

          พยาธิใบไม้ตับที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยคือ Opisthorchis viverrini ในบทความนี้จะกล่าวเฉพาะ O. viverrini เพราะเป็นพยาธิที่พบมากในประเทศไทย ประมาณว่าร้อยละ 10 ของคนไทย หรือประมาณ 6 ล้านคน มีพยาธิใบไม้ตับชนิดนี้ พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือของไทย และประเทศลาวในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง

พยาธิใบไม้ตับที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย O. viverrini เข้าสู่คนทางไหน

          พยาธิใบไม้ตับมีตัวอ่อนระยะแรกอยู่ในหอยน้ำจืด จากนั้นพยาธิออกจากหอยและเจริญเป็นระยะตัวอ่อนอยู่ใน ปลาน้ำจืดมีเกล็ดตัวเล็กๆ (รูปที่ 2) เช่น ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว ปลาซิวใบไม้ ปลากระมัง ฯลฯ คนได้รับพยาธิโดยการกินอาหารประเภทน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีตัวอ่อนของพยาธิอยู่ดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อยปลา ปลา ปลาร้า ฯลฯ

พยาธิมีรูปร่างอย่างไร

          พยาธิที่มีรูปร่างแบนคล้ายใบไม้ โดยมีส่วนหัวและส่วนท้ายของลำตัวเรียวมน ขนาดของพยาธิใบไม้ตับมีลำตัวยาว 5-10 มม.กว้าง 1-2 มม.ในลำตัวจะมีระบบสืบพันธุ์ของทั้งเพศผู้และเพศเมีย

วงจรชีวิตเป็นอย่างไร

          พยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในท่อทางเดินน้ำดีที่อยู่ในตับของคน สุนัขและแมว โดยสุนัขและแมวเป็นโฮสต์กักเก็บโรค (reservoir host) พยาธิตัวเต็มวัยผสมพันธุ์แล้วสร้างไข่จำนวนมาก ไข่ของพยาธิชนิดนี้มีขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลืองคล้ายหลอดไฟ (รูปที่ 3) ปะปนมากับน้ำดี และลงสู่ลำไส้เล็ก จากนั้นออกสู่ภายนอกร่างกายโดยการถ่ายอุจจาระ หากไข่ตกลงสู่น้ำจะถูกหอยน้ำจืดขนาดเล็กที่มีความสามารถเป็นพาหะขั้นที่ 1 กินเข้าไป ตัวอ่อนที่อยู่ในไข่พยาธิจะใช้เวลาเจริญในหอยประมาณ 6-8 สัปดาห์ จึงออกจากหอยและว่ายน้ำไปไชเข้าใต้เกล็ดของปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากะสูบ ปลาแม่สะแด้ง ปลาซิว ปลาแก้มช้ำ ปลาขาวนา แล้วเจริญเป็นพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อในปลา เมื่อคนหรือสุนัขและแมวกินเนื้อปลาที่ปรุงไม่สุกหรือดิบ จะได้รับตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อเข้าไป น้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กย่อยเนื้อปลาและผนังหุ้มตัวอ่อนของพยาธิ ทำให้ตัวอ่อนของพยาธิออกมาคืบคลานเข้าไปในระบบท่อน้ำดี ผ่านทางรูเปิดที่ลำไส้เล็ก เจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัยในท่อน้ำดีต่อไป

พยาธิทำให้เกิดโรคอย่างไร

          พยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดทางเดินน้ำดีอักเสบ การติดเชื้อของท่อทางเดินน้ำดีหรือถุงน้ำดี ท่อน้ำดีอุดตัน เกิดภาวะตัวเหลืองหรือดีซ่าน มีตับโตมาก อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือพยาธิใบไม้ตับที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งของท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) โดยมีสารก่อมะเร็งในอาหารเป็นปัจจัยเสริม ได้แก่ ดินประสิวหรือสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) จาก โปรตีนหมัก หรืออาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม การให้ยาฆ่าพยาธิหลายครั้งก็ทำให้พยาธิตายและมีสารหลายชนิดออกมา ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งท่อน้ำดีมากขึ้น

อาการ

          ผู้ที่เป็นพยาธิใบไม้ตับ มีตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย หรืออาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อเป็นครั้งคราว อาการร้อนท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืดมาก ตับโต และกดเจ็บบริเวณตับหรือบริเวณชายโครงขวา อาการที่รุนแรงมักพบมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงจนมีอาการหนาวสั่น เกิดจากอาการแทรกซ้อน เช่น ท่อทางเดินน้ำดีอุดตันจากตัวพยาธิไปอุด การอักเสบติดเชื้อของท่อทางเดินน้ำดีหรือถุงน้ำดี หรือมะเร็งของท่อน้ำดี

การตรวจวินิจฉัย

          การตรวจอุจจาระและพบไข่พยาธิ ขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลือง รูปร่างคล้ายหลอดไฟฟ้าชนิดกลมมีไส้ (รูปที่ 3)

การรักษา

          ปัจจุบันใช้ยาพราซิควอนเทล (Praziquantel) เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษา ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีมาก โดยอัตราการรักษาหายประมาณร้อยละ 91-95 แต่หากหายแล้วยังกินปลาดิบที่มีตัวอ่อนพยาธิอยู่ ก็กลับมาเป็นโรคได้อีก การรักษาให้หายขาดต้องไม่กินปลาดิบ หรือสุกๆดิบๆด้วย

การป้องกัน

1. ไม่กินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด ดิบๆหรือปรุงไม่สุก

2. ลดอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง อาหารใส่ดินประสิว เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม แหนม ไส้กรอก อาหารประเภทหมักดอง เลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่

3. ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพราะถ้าของเสียลงสู่น้ำจะทำให้ไข่ของพยาธิใบไม้ตับมีโอกาสแพร่กระจายเข้าสู่หอยน้ำจืดซึ่งเป็นพาหะที่ 1ของพยาธิใบไม้ตับได้

เอกสารอ้างอิง

www.tropmedhospital.com/knowledge/liverflukes.html

www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=779

Kamsa-Ard S, Kamsa-Ard S, Luvira V, Suwanrungruang K, Vatanasapt P, Wiangnon S. Risk factors for cholangiocarcinoma in Thailand: A systematic review and meta-analysis. Asian Pacific J Cancer Prev 2018;19:605–14.

https://en.wikipedia.org/wiki/Liver_fluke

Facebook Comments Box
Contact