โรคพยาธิใบไม้ปอด คืออะไร?

          พยาธิใบไม้ปอดคือ พยาธิที่มีรูปร่างคล้ายใบไม้ ลำตัวแบนด้านท้อง อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อในปอดของคนและสัตว์ เช่น สุนัข แมว และเสือ พยาธิตัวเต็มวัยมีลำตัวหนา รูปร่างคล้ายเม็ดกาแฟ เมื่อดูสด ๆ มีสีชมพู (รูปที่ 1) พยาธิเข้าสู่ร่างกายโดยการกินปูน้ำจืดและกุ้งที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อแบบดิบ ๆ หรือปรุงไม่สุก เช่น ส้มตำปู พล่าปู หรือกุ้งเต้น เป็นต้น

Doungrat

รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงรัตน์ ริยอง

          โรคพยาธิใบไม้ปอดในประเทศไทย มักจะพบมากทาง ภาคเหนือ, ภาคอีสาน และภาคกลาง โดยมีรายงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมามี รายงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น จังหวัดสระบุรี, เชียงราย, เชียงใหม่และอีกหลายจังหวัด

รูปที่ 1 พยาธิใบไม้ปอดตัวเต็มวัยรูปร่างคล้ายเม็ดกาแฟ อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปอดของคนและสัตว์

(https://w1.med.cmu.ac.th/parasite/trematodes01/2031/)

(https://www.powershow.com/view/3b23cc-NmRiZ/Paragonimus_spp_powerpoint_ppt_presentation)

คนเป็นพยาธิใบไม้ปอด ได้อย่างไร?

          สาเหตุหลักเกิดจากการกินปูน้ำจืดหรือกุ้ง เช่น ปูน้ำตก ปูลำห้วย กุ้งฝอย แบบกึ่งสุกกึ่งดิบที่มีระยะติดต่อเมตาเซอร์คาเรียอยู่ในเนื้อ เหงือก และอวัยวะภายใน พยาธิที่อยู่ในถุงซีสต์จะถูกย่อยในกระเพาะอาหารและออกมาบริเวณลำไส้เล็ก พยาธิไชทะลุลำไส้เข้าสู่ช่องท้อง ทำให้มีอาการปวดท้อง และท้องเสีย ในท้ายที่สุดจะไชเข้าสู่เนื้อปอดเจริญเป็นตัวเต็มวัย ถ้ามีพยาธิจำนวนมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการไอเรื้อรัง ไอแบบมีเสมหะมาก ในบางรายอาจมีอาการไอเป็นเลือด ซึ่งหากเป็นเรื้อรังเสมหะมักเป็นสีสนิมเหล็ก (Rusty brown) (รูปที่ 2) ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเจ็บหน้าอกเวลาไอเนื่องจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ มีไข้ต่ำและหนาวสั่น หรือบางรายมีอาการหอบ เหนื่อยง่ายและวิงเวียนศีรษะ

รูปที่ 2 ปูน้ำตก และเสมหะเป็นเลือดหรือสีสนิมเหล็ก (Rusty brown)

(https://www.tropmedhospital.com/knowledge/lungflukes.html)

(https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0001706X06000118)

มีอาการสำคัญ อย่างไร?

          พยาธิระยะติดต่อจะไชเข้าผนังลำไส้และทะลุออกสู่ช่องท้อง ทำให้มีอาการปวดท้อง และท้องเสีย บางครั้งสามารถคลำพบก้อนในท้อง อาจตรวจพบตัวพยาธิในตับและตับอ่อน อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตและอักเสบ ต่อมาพยาธิจะไชเข้าสู่เนื้อปอดเพื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัย การที่พยาธิอาศัยอยู่ทำให้เนื้อปอดบริเวณนั้นตาย มีเลือดออก มีการอักเสบ และร่างกายจะสร้างพังผืดล้อมรอบตัวพยาธิกลายเป็นถุงหุ้มตัวพยาธิ ทำให้มีลักษณะเป็นก้อน ภายในจะพบพยาธิอาศัยอยู่เป็นคู่ หรือมากกว่า เมื่อพยาธิออกไข่ถุงหุ้มตัวพยาธิจะแตกออกปล่อยไข่และสารต่างๆ ออกทางหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยไอ มีเสมหะ มีการอักเสบของหลอดลม ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ปอดอักเสบ ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง บางครั้งมีเลือดปนออกมากับเสมหะมีสีสนิมเหล็ก (Rusty brown)

          นอกจากนั้นพยาธิตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาจไซเคลื่อนที่หลงทางจากปอดไปยังอวัยวะอื่นได้ เช่น พบที่นัยน์ตา กล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง ตับ ไต ลำไส้ และที่พบบ่อยคือสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการลมบ้าหมู มีไข้ ปวดหัว อาเจียน ตาพร่า มีอัมพาตที่หน้า อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตครึ่งล่าง ซัก และไม่รู้สึกตัว

จะรู้ได้อย่างไร ว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ปอด?

          โดยการเอกซเรย์ปอดอาจพบรอยโรคที่เนื้อปอดและเยื่อหุ้มปอด ตรวจเสมหะ น้ำจากช่องปอด น้ำไขสันหลัง และส่งตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิใบไม้ในปอด (รูปที่ 3) การซักประวัติการกินอาหารที่ปรุงด้วยปูน้ำตกและกุ้งดิบหรือปรุงไม่สุก เมื่อมีผลตรวจยืนยันแล้วแพทย์จะได้ให้การรักษาต่อไป

จะทำการป้องกัน ได้อย่างไร?

–  ควรรับประทานที่ปรุงสุกดีแล้ว โดยเฉพาะกุ้งและปูน้ำจืด

–  ดื่มน้ำที่สะอาด

–  ไม่บ้วนเสมหะหรือถ่ายอุจจาระลงในแหล่งน้ำหรือทุ่งนา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

–  ไม่ให้อาหารจำพวกปูหรือกุ้งดิบ ๆ แก่สัตว์เลี้ยง เช่นสุนัขและแมว เพราะจะทำให้เป็น

     แหล่งแพร่โรคได้

–  มีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี

รูปที่ 3 ไข่พยาธิใบไม้ปอดตรวจพบได้ในอุจจาระ

(https://medinfo.psu.ac.th/pr/MedBoard/readboard.php?id=719)

เอกสารอ้างอิง

–  นิมิตร มรกต, คม สุคนธสรรพ์, บรรณาธิการ. ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ II. หนอนพยาธิ. พิมพ์ครั้งที่ 3. โครงการตำรา เชียงใหม่:

    คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554.

–  ดวงรัตน์ ริยอง, อนุลักษณ์ จันทร์คำ, บรรณาธิการ พยาธิใบไม้. พิมพ์ครั้งที่ 3. โครงการตำรา เชียงใหม่: คณะแพทยศาสตร์

    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2563.

–  https://w1.med.cmu.ac.th/parasite/trematodes01/2031/

–  https://www.powershow.com/view/3b23cc-NmRiZ/Paragonimus_spp_powerpoint_ppt_presentation

–  https://www.tropmedhospital.com/knowledge/lungflukes.html

–  https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0001706X06000118

–  https://medinfo.psu.ac.th/pr/MedBoard/readboard.php?id=719

Facebook Comments Box
Contact