อาจารย์ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2555
ผลงานเรื่อง “การพัฒนาและประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อใช้ตรวจหาแอนติบอดีชนิด antifilarial IgG4 เพื่อการวินิจฉัยโรคเท้าช้าง”
จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

ศาสตราจารย์ ดร.เวช ชูโชติ อาจารย์และนักวิจัย สังกัดภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2555 ผลงานเรื่อง “การพัฒนาและประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจสำเร็จรูป เพื่อใช้ตรวจหาแอนติบอดีชนิด antifilarial IgG4 เพื่อการวินิจฉัยโรคเท้าช้าง” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเข้ารับรางวัลจากพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ห้อง ฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

 

ศาสตราจารย์ ดร.เวช ชูโชติ ได้ร่วมทำวิจัยกับรองศาสตราจารย์ ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย  อาจารย์และนักวิจัยสังกัดภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมมือกับทีมวิจัยจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และนางชูวีวรรณ จิระอมรนิมิต) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยร่วมกันพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ชุดตรวจนี้มีชื่อว่า “Filaria DIAG”

 

 

 

ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูป

 

ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูปนี้ สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่ติดเชื้อหนอนพยาธิฟิลาเรียได้ทั้งสองชนิด คือ Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูปที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้มีข้อดี คือ ใช้งานง่าย ได้ผลดี รู้ผลเร็ว และราคาถูกกว่าชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 2-3 เท่า โดยสามารถตรวจหาเเอนติบอดีชนิดไอจีจีโฟต่อหนอนพยาธิฟิลาเรียในกระแสเลือดได้อย่างแม่นยำแม้จะมีการติดเชื้อหนอนพยาธิฟิลาเรียในปริมาณน้อย นอกจากนี้ วิธีการตรวจยังใช้เลือดจำนวนเพียงเล็กน้อยจากปลายนิ้ว และที่สำคัญ คือ สามารถเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคได้ในเวลากลางวันโดยไม่จำเป็นต้องออกไปเจาะเลือดในแหล่งระบาดของโรคในเวลากลางคืนและสะดวกกว่าวิธีการย้อมฟิล์มเลือดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ในขณะนี้ทีมวิจัยได้มีการนำชุดตรวจดังกล่าวไปใช้ในการค้นหาผู้ติดเชื้อใน จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเท้าช้างมากที่สุดและมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีการนำไปใช้ในการประเมินผลประสิทธิภาพของโครงการกำจัดโรคเท้าช้างในแหล่งระบาดในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย

 

Facebook Comments Box
Contact