ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

 

ประเภทของวีซ่า

คนต่างชาติ ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย จะต้องขอรับการตรวจลงตรา หรือขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ของไทย ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศที่คนต่างชาติดังกล่าวมีถิ่นพำนัก ในการขอวีซ่านั้น คนต่างชาติจะต้องขอรับการตรวจลงตราให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเข้ามาในประเทศไทย ดังนี้

  • Non-Immigrant (ED) สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อการศึกษา ดูงาน และฝึกอบรมต่างๆ สามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 90 วัน
  • Non-Immigrant (B) สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อการทำงาน (อาจารย์/ผู้เชี่ยวชาญภาษา/นักวิจัย) สามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 90 วัน ทั้งนี้ ชาวต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ดังนั้น ชาวต่างชาติจะต้องขอรับการตรวจลงตราประเภท Non-Immigrant (B) ก่อน เพื่อที่จะสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้
  • Tourist Visa สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยวสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 60 วัน ชาวต่างชาติที่ถือครองวีซ่าประเภทนี้อยู่ จำเป็นต้องเปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็นวีซ่าประเภท Non-Immigrant (ED) หรือ (B) ภายใน 15 วันก่อนวีซ่าจะหมดอายุ หลังจากนั้นชาวต่างชาติจึงจะสามารถต่อวีซ่า หรือขอรับใบอนุญาตทำงาน เพื่อพำนักอยู่ประเทศไทยเพื่อการศึกษาหรือการทำงานต่อได้
  • ประเภทยกเว้นการตรวจลงตรา ผ.30, ผผ.30 และ ผผ.90 คนต่างชาติบางสัญชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า ชาวต่างชาติที่ถือครองวีซ่าประเภทนี้อยู่ จำเป็นต้องขอรับการตรวจลงตราเป็นวีซ่าประเภท Non-Immigrant (ED) หรือ (B) ภายใน 15 วันก่อนวีซ่าจะหมดอายุ หลังจากนั้นชาวต่างชาติจึงจะสามารถต่อวีซ่า หรือขอรับใบอนุญาตทำงาน เพื่อพำนักอยู่ประเทศไทยเพื่อการศึกษาหรือการทำงานต่อได้
  • Visa on Arrival (TR15) สำหรับคนต่างชาติบางสัญชาติที่ต้องขอรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทยเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย

ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยและถือครองวีซ่าประเภทต่อไปนี้ จะต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อทำการขอวีซ่า Non-Immigrant (ED) หรือ (B) จากสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยเท่านั้น ไม่สามารถขอเปลี่ยน/ขอรับการตรวจลงตราในประเทศไทยได้

– Visa on Arrival (TR15)
– วีซ่าราชการ (Official Visa)
– Non-Immigrant (F) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ
– Non-Immigrant (O) เพื่อทำงานในมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล, เพื่อรับการรักษาพยาบาล, เพื่อเยี่ยมญาติ, เพื่อใช้ชีวิตในฐานะผู้สูงอายุ, เพื่อเป็นผู้ฝึกสอนกีฬา
– Non-Immigrant (R) เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจ

 

ใบอนุญาตทำงาน

ชาวต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ดังนั้น ชาวต่างชาติจะต้องขอรับการตรวจลงตราประเภท Non-Immigrant (B) ก่อน เพื่อที่จะสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้ บุคลากรชาวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภท Non-Immigrant (B) มาแล้ว จะมีเวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 90 วัน ให้ชาวต่างชาติรีบดำเนินการขอออกใบอนุญาตทำงานก่อนวีซ่า 90 วันจะหมดอายุ เมื่อได้รับใบอนุญาติทำงานแล้วจึงจะสามารถขอต่อวีซ่าเพื่อขยายเวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยได้

 

การต่อวีซ่า

นักศึกษาและบุคลากรชาวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภท Non-Immigrant (ED) หรือ (B) มาแล้ว จะมีเวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 90 วัน หากมีความจำเป็นต้องอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว คนต่างชาติต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อ หรือทำการต่อวีซ่า ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อขยายเวลาพำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งในการยื่นขอต่อวีซ่าแต่ละครั้งจะสามารถพำนักอยู่ได้เป็นเวลาสูงสุด 1 ปี หรือ 365 วัน โดยชาวต่างชาติสามารถยื่นขอต่อวีซ่าได้ ล่วงหน้าไม่เกิน 45 วัน ก่อนวีซ่าจะหมดอายุ และในการต่อวีซ่าแต่ละครั้ง ชาวต่างชาติจะต้องไปดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น
หากชาวต่างชาติพำนักในประเทศจนเกินวันหมดอายุของวีซ่า (Overstay) หรือดำเนินการต่อวีซ่าล่าช้า จะต้องเสียค่าปรับวันละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งคณะฯ จะไม่รับผิดชอบในค่าปรับที่เกิดขึ้นกรณีพำนักเกินวันหมดอายุของวีซ่า (Overstay)

 

การรายงานตัว 90 วัน

ชาวต่างชาติซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแล้ว และพำนักในประเทศไทยเกิน 90 วัน
มีหน้าที่ต้องรายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ทุก 90 วัน โดยสามารถแจ้งที่พักอาศัยได้ก่อน 15 วันหรือหลัง 7 วัน นับจากวันครบกำหนด (ไม่มีค่าธรรมเนียมในการรายงานตัว)

วิธีการแจ้ง
1. คนต่างด้าวแจ้งด้วยตนเอง
2. คนต่างด้าวมอบหมายให้ผู้อื่นนำหนังสือไปแจ้ง
3. คนต่างด้าวอาจมีหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
4. คนต่างด้าวแจ้งผ่านระบบออนไลน์

เอกสารประกอบการรายงานตัว 90 วัน มีดังนี้
1. หนังสือเดินทาง (Passport)
2. บัตร ตม.6 ขาออก (TM.6) (ถ้ามี)
3. ใบนัด หรือ ใบรับแจ้งการอยู่เกิน 90 วัน (กรณีที่เคยแจ้งอยู่เกิน 90 วันมาแล้ว)
4. กรอกรายละเอียดใน แบบฟอร์ม ตม. 47 พร้อมลงลายมือชื่อให้เรียบร้อย

หมายเหตุ: การรายงานตัว 90 วัน มิใช่ เป็นการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร คนต่างด้าวผู้ใดอยู่เกินกว่า 90 วัน และไม่แจ้งที่พักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือแจ้งช้ากว่าที่กำหนด ต้องมารายงานตัวด้วยตนเองและเสียค่าปรับ จำนวน 2,000 บาท หรือคนต่างด้าวถูกจับกุมตัวมาไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องเสียค่าปรับ จำนวน 5,000 บาท หากคนต่างด้าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เมื่อเดินทางกลับมาให้เริ่มนับเวลา 90 วันใหม่ทุกกรณี