หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อวุฒิบัตรฯ

หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อวุฒิบัตร แสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขานิติเวชศาสตร์ แพทยสภา

(Training Program for Advanced Diploma in Proficiency in Forensic Medicine, Thai Medical Council)

พันธกิจด้านการให้การฝึกอบรมแพทย์ใช้ ทุนแพทย์ประจําบ้าน

ผลิตแพทย์ผู้มีความรู้ความชํานาญทางด้านนิติเวชศาสตร์ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามมาตรฐานของแพทยสภา ที่สามารถนําความรู้และทักษะทางการแพทย์ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทย ให้คําแนะนําและการสนับสนุนทางด้านนิติเวชศาสตร์แก่แพทย์ทั่วไปและทํางานในรูปแบบสหวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคู่ความและสังคม

 

ผลสัมฤทธิ์ของแผนงานฝึกอบรม

ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดผลสัมฤทธิ์ของแผนงานฝึกอบรม เป็นสมรรถนะหลัก 6 ด้าน ตามผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตรที่ระบุไว้ใน หลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาวิชานิติเวชศาสตร์ ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. 2561 (มคว.1 นิติเวชศาสตร์) ดังนี้

  1. ด้านการดูแลผู้ป่วยและทักษะทางหัตถการ (Patient care and procedural skill)

1.1 มีทักษะในการตรวจผู้ป่วยนิติเวชคลินิก และบันทึกหลักฐานทางการแพทย์ ตลอดจนสามารถเขียนรายงานการตรวจ การให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้ป่วยคดีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม สำหรับกรณีที่มีความซับซ้อนเกินความรู้ความสามารถของตนก็สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอื่นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

1.2 มีทักษะในการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนได้ทุกกรณี พร้อมทั้งจัดทำบันทึกแนบท้ายการชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่เกิดเหตุได้ และสามารถทำการผ่าศพที่ตายหรือสงสัยว่าตายโดยผิดธรรมชาติ เพื่อตรวจวินิจฉัยทางนิติเวชศาสตร์ ทั้งโดยวิธีตรวจด้วยตาเปล่า และวิธีตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ ร่วมกับวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น ที่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุการตาย ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร ได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถเขียนรายงานการตรวจต่างๆ ดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และสมบูรณ์

1.3 มีทักษะในการเก็บหลักฐานทางคดีและตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และเข้าใจการตรวจวิเคราะห์ รวมทั้งแปลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง

1.4 ให้คำปรึกษาทางนิติเวชศาสตร์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

1.5 สามารถทำหัตถการทางนิติเวชศาสตร์ (Procedural skill) ได้แก่ การตรวจศพ และการตรวจชิ้นเนื้อ ได้อย่างถูกต้อง

1.6 สามารถให้ข้อมูลทางนิติเวชศาสตร์ต่อพนักงานสอบสวน และเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้อย่างถูกต้อง

  1. ด้านความรู้ (Medical knowledge)

2.1 มีความรู้ความสามารถรอบด้านทั้งทางนิติเวชศาสตร์ ความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ทางนิติวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์ วิทยาการระบาด พฤติกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกฎหมาย และนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการยุติธรรม

2.2 มีความรู้พยาธิกำเนิด พยาธิสรีรวิทยา เทคนิคการตรวจวินิจฉัยและบอกปัจจัยที่มีผลต่อสาเหตุการตาย

2.3 มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสิ่งส่งตรวจทั้งระยะก่อนวิเคราะห์ ระยะวิเคราะห์ และระยะหลังวิเคราะห์

2.4 มีความรู้ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์ และการแปลผล

2.5 มีความรู้และสามารถวิเคราะห์ปัญหาสาธารณสุขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยชนิดต่างๆ รวมทั้งอาชญากรรมเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อร่างกายและชีวิตประเภทต่างๆ ตลอดจนปัญหาของอุบัติการณ์อัตวินิบาตกรรมด้วย

  1. ด้านการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการพัฒนาตนเอง (Practice-based learning & improvement)

3.1 เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ

3.2 ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้

3.3 วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางนิติเวชศาสตร์ได้

3.4 มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

  1. ด้านทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)

4.1 นำเสนอข้อมูลผู้ป่วยคดี/ผู้ตาย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

4.2 ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งพนักงานสอบสวน และนักกฎหมาย

4.3 สื่อสารให้ข้อมูลแก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตา เคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

4.4 มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ

4.5 เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำด้านนิติเวชศาสตร์แก่แพทย์และบุคลากรอื่น

  1. ด้านความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)

5.1 มีเจตคติ คุณธรรม และมนุษยสัมพันธ์อันดีต่อผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ญาติผู้ตาย และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงผู้ร่วมงานทุกคน

5.2 มีทักษะด้านที่ไม่ใช่เทคนิค (Non-technical skills) และสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสม

5.3 มีความสนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Continuous professional development)

5.4 มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย

5.5 คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

  1. ด้านการปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)

6.1 สามารถอธิบายขอบเขตการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์ทุกประเภท ในการที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับปัญหาสาธารณสุขของชุมชน

6.2 เข้าใจโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมของประเทศและสามารถอธิบายบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อผดุงความยุติธรรมในสังคม

6.3 ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและเหมาะสม และสามารถปฏิบัติงานนิติเวชศาสตร์ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพเพื่อให้เข้ากับระบบกฎหมาย

6.4 มีความรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์

6.5 มีส่วนร่วมในการตรวจสอบความผิดพลาดของระบบงาน และร่วมหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน


โครงสร้างหลักสูตรและเนื้อหาที่ฝึกอบรม
1 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข, วิชาชีพแพทย์ และการชันสูตรพลิกศพ
2 พยาธิวิทยาพื้นฐาน
3 พิษวิทยาพื้นฐาน
4 การชันสูตรพลิกศพ
5 การตรวจผู้ป่วยคดี
6 การทำวิจัยทางคลินิก และการวิเคราะห์ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้ว