ทำไมต้องชันสูตรพลิกศพ

การชันสูตรพลิกศพ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสอบสวนตาม ป.วิ อาญา มาตรา 148 ถึงมาตรา 156 การชันสูตรพลิกศพ หมายถึง การตรวจร่างกายของผู้ตายเพื่อให้ทราบสาเหตุตายที่แท้จริง รวมถึงการตรวจชันสูตรเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายคือใคร
ป.วิ อาญา มาตรา 154 บัญญัติว่า “ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงและพฤติการณ์ ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่ จะทราบได้”

กรณีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
ป.วิ อาญา มาตรา 148 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย”
การตายโดยผิดธรรมชาตินั้นคือ
(1) ฆ่าตัวตาย
(2) ถูกผู้อื่นทำร้ายให้ตาย
(3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(4) ตายโดยอุบัติเหตุ
(5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
จากบัญญัตินี้จะเห็นว่า กรณีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพมี 2 กรณี
(1) ตายโดยผิดธรรมชาติหรือสงสัยว่าตายโดยผิดธรรมชาติ
(2) ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน

ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ
ป.วิ อาญา มาตรา 150 บัญญัติว่า “ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพและในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการ เมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไปตามมาตรา 156
ข้อมูลโดย พ.ต.ท.น.พ. สุรสิทธิ์ โรจนกิจอำนวย
พ.บ., อ.ว. (นิติเวชศาสตร์), น.บ.
นายแพทย์ 8 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

การพิสูจน์ศพหรือชิ้นส่วนของศพว่าเป็นใครหรือของบุคคลใดนั้นเป็นการเปรียบ เทียบข้อมูลของผู้สูญหายกับข้อมูลที่พบจากศพ โดยศพที่พบอาจมาในหลายรูปแบบ เช่น ถ้าได้มาเป็นศพที่ครบถ้วนและยังไม่สลายตัวจากการเน่าการพิสูจน์อาจจะทำได้ ง่ายว่าเป็นใคร  ถ้าได้มาเป็นชิ้นส่วนที่เน่าและไม่ครบถ้วน อาจจะต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็นของคนหรือไม่  โดยการตรวจทางรูปร่างลักษณะของกระดูกชิ้นนั้นๆ หรือการถ่าย x-rays เปรียบเทียบลักษณะกระดูก

ในทางกลับกัน บางครั้งสิ่งที่พบเป็นคราบเลือดหรือสารคัดหลั่งอื่นเช่นน้ำอสุจิฯลฯ และต้องการตรวจว่าเป็นของใคร การตรวจจะเริ่มจากการตรวจว่าเป็นของคนหรือไม่ซึ่งอาจจะทำได้ไม่ยากด้วยการ ให้ทำปฏิกิริยากับน้ำยาที่ทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อของมนุษย์ จากนั้นจึงทำการตรวจต่อไปว่าเป็นของใครด้วยกรรมวิธีทางห้องปฏิบัติการต่อไป

การเปรียบเทียบสารพันธุกรรม(DNA identification)

สาร DNA (deoxyribose nucleic acid) เป็นสารประกอบที่ประกอบด้วยอณูของนิวคลีโอไทด์ (nucleotide) หลายๆอณูมาต่อกัน  นิวคลีโอไทด์ประกอบขึ้นจากน้ำตาล     ริโบส (deoxyribose sugar) อณูของโปรตีน(purine and pyridine) ยึดต่อกันเป็นเส้นยาวด้วยอณูของฟอสฟอรัส เป็นสายยาวเป็นร้อยเป็นพันล้านตัว       

สายนิวคลีโอไทด์สองเส้นจะต่อกันด้วยอณูของเพียวรีน (purine) และไพริดีน (pyridine)  เป็นสายคู่ยาวเรียกว่าโครโมโซม (chromosome) การเรียงตัวของ DNA ในแต่ละเส้นนิวคลีโอไทด์ในแต่ละคนจะไม่มีซ้ำกันยกเว้นในฝาแฝดที่เกิดจากไข่ ใบเดียวกัน

การเปรียบเทียบ DNA อาจจะใช้เทคนิค ที่ใช้สารบางอย่างตัดเส้นนิวคลีโอไทด์ออกเป็นท่อนๆ ส่วนของ DNA ที่เรียงตัวเหมือนกันบนเส้น นิวคลีโอไทด์จะถูกตัดออก ทำให้ได้เส้นนิวคลีโอไทด์หลายๆเส้นที่มีขนาดต่างๆกัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับเส้น นิวคลีโอไทด์ในคนๆเดียวกัน การถูกตัดก็จะถูกตัดที่เดียวกัน จำนวนท่อนของ DNA ที่ได้ก็จะเหมือนกันด้วย และสามารถเปรียบเทียบกันได้

หรือใช้เทคนิคของการตรวจหากลุ่มของDNAในส่วนต่างๆของโครโมโซมที่แสดงลักษณะ ของความซ้ำกันเป็นช่วงๆ (Short Tandem Repeated) ซึ่งจะถ่ายทอดทางกรรมพันธ์เช่นกัน ตัวอย่างเช่นตำแหน่ง DNAที่โครโมโซมคู่ที่หนึ่งที่เรียกว่า D1S80 ซึ่งมีกลุ่ม DNA ซ้ำกันหลายลักษณะ ทำให้เทื่อสามารถหาจำนวนที่ซ้ำกันของ DNA  ที่จุดนี้แล้ว     ก็สามารถบอกความแตกต่างในแต่ละคนได้ และสามารถใช้ในการพิสูจน์ตัวบุคคลได้เป็นอย่างดี

นอกจากจะใช้ DNAในการพิสูจน์บุคคลแล้วก็ยังอาจใช้ในการพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูกโดยการ เปรียบเทียบลักษณะของ DNA เพราะ DNAในลูกต้องรับจากพ่อแม่มาคนละครึ่ง ในทางกลับกันการได้ DNAจากศพ ก็อาจจะนำไปเปรียบเทียบกับDNAของพ่อแม่ หรือบุตรภรรยาของผู้สูญหาย ว่าศพรายนี้เป็นบุตรหรือสามีของครอบครัวนี้หรือไม่ ซึ่งสถาบันนิติเวชใช้วิธีนี้ในการตรวจผู้สูญหายกรณีไฟไหม้ที่โรงแรม โรยัลจอมเทียน พัทยา เมื่อปี2540จำนวน6ราย และตรวจพิสูจน์บุคคลกรณีการบินไทยเที่ยวบินที่ TG261 ตกที่สุราษฏร์ธานี เมื่อปี 2541 จำนวน13ราย อย่างได้ผลดีมาแล้ว

วิทยาการก้าวหน้าในปัจจุบันเอื้อให้สามารถตรวจหาDNAได้จากส่วนต่างๆของ ร่างกายได้มากขึ้น เช่นคราบเลือด คราบอสุจิ กระดูก ฯลฯ ทำให้การพิสูจน์บุคคล สามารถได้แน่นอนมากขึ้น แม้นศพที่พบจะเหลือแต่กระดูกก็ตาม

ข้อมูล โดย พลตำรวจตรี เลี้ยง  หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์)
ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ