การแต่งตั้งและแนวทางดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Research Promotion Committee, Faculty of Medicine, Chiang Mai University)

เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันจะทำให้การอุดหนุนทุนวิจัยเป็นไปอย่างสอดคล้องกับทิศทางวิจัย เป้าหมายและวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์
คณะกรรมการส่งเสริมวิจัย ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2549 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 จึงมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการส่งเสริมวิจัย และการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมวิจัย ไว้ดังต่อไปนี้

1. คณะกรรมการส่งเสริมวิจัย เป็นคณะกรรมการที่จะดูแลให้การวิจัยในคณะแพทยศาสตร์เป็นไปอย่างมีคุณภาพ

2. กรอบหน้าที่หลักของคณะกรรมการส่งเสริมวิจัย คือ

(1) พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการวิจัยที่ขอรับทุนอุดหนุนวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์

(2) เสนอแนวทางพัฒนาการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยในคณะแพทยศาสตร์ต่อคณบดี

(3) ให้คำปรึกษาแก่คณบดีเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย

3. คณะกรรมการส่งเสริมวิจัยมีอำนาจให้ความเห็นต่อคณบดีว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบโครงการวิจัยใด ๆ ที่ขอรับทุนอุดหนุนวิจัยของคณะแพทยศาสตร์และดำเนินการโดยบุคลากรในคณะ ทั้งนี้คณบดีเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติทุน

4. สมาชิกภาพกรรมการของคณะกรรมการส่งเสริมวิจัย

4.1 รองคณบดีผู้รับผิดชอบด้านงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ เป็นผู้เสนอรายชื่อคณะกรรมการส่งเสริมวิจัย ต่อคณบดีเพื่อแต่งตั้ง
4.2 รองคณบดีฯ ในข้อ 4.1 เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิจัยโดยตำแหน่ง
4.3 คณะกรรมการควรมีไม่น้อยกว่า 5 คน มีทั้งเพศหญิงและชาย โดย มาจากกลุ่มต่อไปนี้

(ก) อาจารย์ในภาควิชาปรีคลินิก อย่างน้อย 2 คน
(ข) อาจารย์ในภาควิชาคลินิก อย่างน้อย 2 คน
(ค) หัวหน้างานวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ให้อาจารย์ในข้อ (ก) หรือ (ข) อย่างน้อย 1 คนควรมีคุณวุฒิสาขาระบาดวิทยา

4.4 ให้สมาชิกของคณะกรรมการส่งเสริมวิจัยเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรเป็นสมาชิกเพิ่มเติม หรือทดแทนกรรมการที่ลาออก ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องสอดคล้องกับข้อ 4.3 และบุคคลนั้นจะต้องได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการอย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีผู้คัดค้านคุณสมบัติ
4.5 คณะแพทยศาสตร์จะเป็นผู้ทาบทามบุคคลที่เห็นควรดำรงตำแหน่งกรรมการส่งเสริมวิจัยเพิ่มเติมหรือทดแทน และจะแต่งตั้งเมื่อบุคคลนั้นยอมรับที่จะเป็นกรรมการ
4.6 ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการส่งเสริมวิจัยจะต้องพิจารณาโครงการศึกษาวิจัยอย่างเที่ยงธรรมโดยไม่นำผลประโยชน์ใด ๆ ในโครงการศึกษาวิจัยที่เสนอโดยตนเองหรือ ผู้อื่น (conflict of interest) มาเป็นเหตุ


5. วาระการดำรงตำแหน่ง

5.1 คณะกรรมการส่งเสริมวิจัยมีวาระ 2 ปี
5.2 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกควรยื่นใบลาออกต่อประธานกรรมการพร้อมชี้แจงเหตุผล ประธานฯ นำเสนอต่อคณบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
5.3 การแต่งตั้งทดแทนผู้ที่ลาออกกระทำตามข้อ 4.4-4.5

6. องค์ประชุมและการประชุม

6.1 คณะกรรมการจะดำเนินการประชุมได้ต่อเมื่อมีจำนวนกรรมการที่เข้าประชุมไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง นับรวมประธานฯ และเลขานุการ
6.2 กรรมการผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้หากมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการวิจัยสามารถส่งบันทึกแสดงความเห็นต่อประธานกรรมการล่วงหน้า ก่อนดำเนินการประชุม และประธานฯ ต้องนำเสนอความเห็นนั้น
6.3 คณะกรรมการควรประชุมอย่างน้อยไม่เกิน 8 สัปดาห์ต่อครั้ง
6.4 ในบางกรณี คณะกรรมการส่งเสริมวิจัย อาจเชิญผู้เสนอโครงการวิจัยมาชี้แจง
6.5 กรรมการที่มีชื่อในโครงการวิจัยที่เข้าวาระการพิจารณาต้องออกจากที่ประชุมขณะพิจารณาโครงการนั้น หากการออกจากที่ประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบให้ถือว่าไม่สามารถประชุมต่อไปได้


7. คณะกรรมการส่งเสริมวิจัยอาจส่งโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุนกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเห็น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการรักษาความลับและความสำคัญของความรู้และทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจเกิดขึ้น

8. การยื่นเสนอโครงการเพื่อขอรับการพิจารณาให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด

9. การพิจารณาตัดสินให้คณะกรรมการส่งเสริมวิจัย พิจารณาประเด็นต่าง ๆ โดยมีกรอบแสดงแนวทางประกอบการตัดสิน การตัดสินให้อาศัยความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) เป็นหลัก

10. การพิจารณาโครงการเร่งด่วน โครงการศึกษาวิจัยที่ยื่นขอความเห็นชอบกรณีเร่งด่วนให้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการฯ แต่ ประธานฯ อาจมอบหมายให้กรรมการอย่างน้อย 2 คน เป็นผู้พิจารณาโครงการฯ แล้วเสนอความเห็นต่อประธาน และนำผลการพิจารณาแจ้งในที่ประชุม และกรรมการคนอื่นสามารถให้ความเห็นเพิ่มเติมได้ การพิจารณาแบบเร่งด่วน อาจทำกับ

โครงการวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์นักศึกษาปริญญาโทและเอก
โครงการวิจัยที่ที่ประชุมมีมติให้แก้ไขปรับปรุง


11. การแจ้งผลการพิจารณา

11.1 คณะกรรมการส่งเสริมวิจัย จะมีบันทึกแจ้งผลการพิจารณาแก่ผู้เสนอโครงการวิจัยลงนามโดยประธานกรรมการหรือเลขานุการ
11.2 ผลการพิจารณา แบ่งได้เป็น

11.2.1 เห็นชอบ
11.2.2 เห็นชอบหลังจากผู้วิจัยปรับปรุงโครงการวิจัยตามคณะกรรมการเสนอแนะ
11.2.3 ยังไม่พิจารณาตัดสินเนื่องจากต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและนำเข้าประชุมครั้งต่อไป
11.2.4 ไม่เห็นชอบตามเหตุผลที่ชี้แจงประกอบ

ผลการพิจารณาโครงการฯ ถือเป็นอันสิ้นสุด


11.3 ในกรณีที่เห็นชอบ งานวิจัยและวิเทศสัมพันธ์จะส่งหนังสือข้อตกลงให้ผู้เสนอขอรับทุนลงนามและเสนอคณบดีออกประกาศให้ทุนต่อไป
11.4 ในกรณีข้อ 11.2.2 งานวิจัยและวิเทศสัมพันธ์จะทำบันทึกแจ้งความเห็นของคณะกรรมการฯ ให้กับผู้ขอรับทุน หลังจากผู้ขอรับทุนแก้ไขปรับปรุงตามความเห็นของคณะกรรมการฯ แล้ว อาจดำเนินการตามข้อ 11.3 ต่อไป
11.5 ในกรณีข้อ 11.2.3 งานวิจัยและวิเทศสัมพันธ์จะทำบันทึกแจ้งความเห็นของคณะกรรมการฯ ให้กับผู้ขอรับทุน หลังจากผู้ขอรับทุนแก้ไขปรับปรุงหรือให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการฯ แล้ว โครงการวิจัยจะถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมต่อไป


12. โครงการวิจัยที่ใช้สัตว์หรือเกี่ยวข้องกับมนุษย์ งานวิจัยและวิเทศสัมพันธ์จะไม่เสนอคณะฯ ออกประกาศให้ทุนจนกว่าผู้ขอรับทุนแสดงหนังสืออนุมัติจากกรรมการการใช้สัตว์ทดลองหรือกรรมการจริยธรรมการวิจัย

13. ให้คณะกรรมการฯ ติดตามผลการดำเนินโครงการวิจัยที่อนุมัติแล้วอย่างน้อยปีละครั้ง

14. ให้คณะกรรมการฯ จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการพิจารณาโครงการวิจัยเพื่อเสนอคณบดี