แผนงานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขา เวชศาสตร์ฟื้นฟู ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๖

พันธกิจของแผนงานฝึกอบรม
“ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่มีคุณภาพ คุณธรรม เป็นสากล”
ภาควิชาฯ จัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน (แผน ก) และแพทย์ใช้ทุน (แผน ข)* เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อสร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่

มีคุณภาพ: มีขีดความสามารถตามมาตรฐานผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีความสามารถในการทำงานแบบมืออาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูของประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบนและประเทศไทย มีความเป็นผู้นำในการนำทีม และสามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพได้ ให้การบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยและคนพิการด้วยความเชี่ยวชาญ ทันสมัย สามารถพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง และ สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาตอบสนองความต้องการของสังคม มีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต

มีคุณธรรม: จริยธรรม เจตคติ และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่น ๆ รวมถึงผู้ป่วยและญาติ

เป็นสากล: มีความสามารถในการบูรณาการและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ มาตรฐานการดำเนินงานระดับสากล มาพัฒนางานเวชศาสตร์ฟื้นฟูในความรับผิดชอบของตน สามารถสร้างสรรค์พร้อมสื่อสารผลงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูร่วมกับสหวิชาชีพ ทั้งภายใน และ ต่างประเทศได้

ผลสัมฤทธิ์ของแผนงานฝึกอบรม
เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรม แพทย์ที่สำเร็จการฝึกอบรมจะต้องมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ และความรู้ ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้านที่ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทยกำหนด (ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่าราชวิทยาลัยฯ) ดังนี้

๕.๑ การบริบาลผู้ป่วย (patient care)

๕.๑.๑ สามารถใช้ทักษะการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การวินิจฉัยแยกโรค การแปลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการและภาพถ่ายรังสี เพื่อให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องเหมาะสม ตามมาตรฐานวิชาชีพแพทย์
๕.๑.๒ สามารถประยุกต์ใช้วิทยาการด้านการแพทย์ สังคมวิทยาและจิตวิทยา เพื่อวางแผนการบำบัดรักษาได้อย่างเหมาะสมปลอดภัย อีกทั้งให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายจิตใจพร้อมปราศจากภาวะแทรกซ้อน ที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพ

๕.๒ ความรู้และทักษะหัตถการเวชกรรม (medical knowledge & procedural skills)

๕.๒.๑ มีความรู้และมีทักษะเฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ทันสมัย
๕.๒.๒ มีความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้บัญชีการจำแนกความบกพร่อง ความพิการ และสุขภาวะขององค์กรอนามัยโลก (International Classification of Functioning, Disability and Health;
ICF) เพื่อจำแนกปัญหาและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง กำหนดเป้าหมาย วางแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพ และแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยและคนพิการได้อย่างเหมาะสม เป็นองค์รวม เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และได้ประสิทธิผล
๕.๒.๓ มีทักษะการเป็นผู้นำทีมเวชกรรมฟื้นฟู การทำงานแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary approach) การให้คำแนะนำ การประเมินเพื่อติดตามผลลัพธ์ตามมาตรฐานวิชาชีพ

๕.๓ ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (interpersonal and communication skills)

๕.๓.๑ สามารถรับฟัง สรุปปัญหา ให้ข้อมูล และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วย คนพิการ และครอบครัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม แสดงถึงความเมตตา การเคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยและคนพิการตระหนักในสมรรถนะของตนเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต
๕.๓.๒ สามารถนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และให้คำปรึกษาแก่แพทย์ บุคลากรในทีมเวชกรรมฟื้นฟู นักศึกษา และบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถอภิปรายปัญหาอย่างถูกต้อง สมเหตุสมผล
๕.๓.๓ สามารถบันทึกเวชระเบียนได้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และเขียนบทความวิชาการได้
๕.๓.๔ สามารถใช้สื่อโซเชียลหรือสื่อสาธารณะได้อย่างเหมาะสม มีจริยธรรม และถูกกฎหมาย

๕.๔ การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (practice-based learning and improvement)

๕.๔.๑ สามารถเพิ่มพูนความรู้ด้านการแพทย์และเวชศาสตร์ฟื้นฟูได้ด้วยตนเอง เพิ่มประสบการณ์จากการปฏิบัติทางคลินิก และวิเคราะห์ข้อบกพร่องและข้อควรพัฒนาด้านความรู้ ทักษะและทัศนคติของตนเองได้
๕.๔.๒ สามารถประยุกต์ใช้หลักฐานจากงานวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยและคนพิการได้
๕.๔.๓ สามารถออกแบบและดำเนินงานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสร้างองค์ความรู้ หรือนวัตกรรมทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยคนพิการหรือเพื่อพัฒนาระบบบริการเวชกรรมฟื้นฟู

๕.๕ ความสามารถในการทำงานตามหลักวิชาชีพนิยม (professionalism)

๕.๕.๑ มีคุณธรรม จริยธรรม และทัศคติอันดีต่อผู้ป่วย คนพิการ ครอบครัว ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน
๕.๕.๒ มีความสนใจใฝ่รู้เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (continuous professional development) และเพื่อคงไว้ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพ
๕.๕.๓ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและความต้องการของชุมชน และประเทศชาติ

๕.๖. การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (systems-based practice)

๕.๖.๑ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับระบบและยุทธศาสตร์สาธารณสุขของประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานเวชกรรมฟื้นฟู และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์
๕.๖.๒ สามารถร่วมพัฒนาคุณภาพการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพรวมทั้งสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยและคนพิการ
๕.๖.๓ สามารถปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ