/data/content/26747/cms/e_bdeqrtxyz123.jpg

         ความผิดปกติของการนอนที่พบบ่อยที่สุดคือ “การนอนไม่หลับ” ซึ่งพบถึง 1/3 ของประชากร ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 2 ต่อ 1 และพบบ่อยขึ้นตามอายุ

ท่านที่เคยนอนไม่หลับ คงทราบถึงความทุกข์ทรมานของภาวะดังกล่าวเป็นอย่างดี ถ้าเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นสัญญาณอันตรายที่บอกถึงภาวะจิตใจ ว่ามีแนวโน้มเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเจอภาวะอย่างนี้ก็ควรจะรีบแก้ไข อย่าปล่อยให้เรื้อรัง เพราะจะเกิดผลเสียทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง

          ผลเสียของการนอนไม่หลับ

          คนที่นอนไม่หลับจะเกิดความเจ็บป่วย ไม่สบายทางร่างกายมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคต่อไปนี้ เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด ความดันโลหิตสูง เพราะต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยกว่าปกติ จึงมีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น ตึงเครียด กังวล โศกเศร้า มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายสูง นอกจากนี้ การนอนไม่หลับยังส่งผลต่อการงาน ความสามารถทั่วไป ทำให้ขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ต้องหันไปพึ่งสุราและยาเสพติด

 /data/content/26747/cms/e_bfiklouvy259.jpg         การนอนไม่หลับมีหลายแบบ ดังนี้

          o หลับยาก : กว่าจะหลับได้ ต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมง

          o หลับไม่ทน : อาจพอหลับได้ตอนหัวค่ำแต่ไม่นานก็จะตื่น บางคนอาจไม่หลับอีกเลยตลอดคืน

          o หลับๆ ตื่นๆ : จะมีความรู้สึกเหมือนไม่ได้หลับเลยทั้งคืน เพียงแต่เคลิ้มๆ ไปเป็นพักๆ

          สาเหตุของการนอนไม่หลับ

          o ความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ ซึ่งมักพบได้บ่อย

          o อาการเจ็บปวด หรือไม่สบายกายจากโรคที่เป็น

          o สิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อม เช่น แสงสว่าง เสียงดัง กลิ่นเหม็น เป็นต้น

          o ความไม่คุ้นเคยในสถานที่

          o อาชีพที่ทำให้เกิดนิสัยการนอนที่ไม่แน่นอน เช่น อาชีพ พยาบาล ตำรวจ ยาม ซึ่งต้องสลับเวรไปมา

          o สาเหตุจากความแปรปรวนของจิตใจที่ซ่อนอยู่ลึกๆ

          o ผลจากการติดยาหรือสิ่งเสพติดบางประเภท เช่น สุรา ยาบ้า

          o ผลจากยาแก้โรคบางอย่างที่ต้องกินประจำ เช่น ยาแก้ปวดบางประเภท ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น

          o ผลจากการถูกฝึกเรื่องการนอนอย่างไม่เหมาะสม

          ความผิดปกติที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ จากอาการเล็กน้อยก็อาจจะค่อยๆ สะสมเรื้อรังจนทำลายสุขภาพตนเองและคนรอบข้าง สำหรับแนวทางการรักษา และบำบัดอาการนอนไม่หลับโดยไม่ต้องใช้ยาจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามคอลัมน์ศุกร์สุขภาพได้ในตอนต่อไป

          ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี