เด็กเป็นลม! มีอะไรร้ายแรงหรือไม่?

ควรทำอย่างไรดีหากพบเด็กเป็นลม?

หน้ามืดเป็นลมเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก อาการหน้ามืดหรือเป็นลมหมดสติอย่างกะทันหันเกิดเนื่องจากออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ

อาการเป็นลมหมดสติ เด็กอาจมีมึนศีรษะ ตาลาย เห็นเป็นจุดดำหรือมืดไปเลย การเป็นลมที่ไม่ร้ายแรงนั้น จะมีอาการนำมาก่อน เช่น หูอื้อ คลื่นไส้ เหงื่อแตก ร้อนๆหนาวๆ อาจจะมีใจสั่นหรือหัวใจเต้นช้า หน้าซีด หลังจากนั้นเด็กก็จะไม่รู้สึกตัวและอาจล้มลง

สาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุ ที่พบบ่อยมักจะไม่ร้ายแรงจนถึงขั้นที่บิดามารดาต้องเป็นกังวล แต่ส่วนน้อยนั้นอาจเป็นจากโรคหัวใจหรือเสียชีวิตกระทันหันได้ ผู้ปกครอง ครูที่โรงเรียน หรือแม้แต่ผู้ฝึกกีฬาเด็ก(โคชหรือครูพละ) ควรจะมีความรู้ในการให้การดูแลเบื้องต้นเด็กเหล่านี้ได้ การขาดน้ำหรือรับประทานอาหารน้ำไม่พออาจทำให้ความดันโลหิตลดลง จนเลือดไปสมองไม่พอได้ บางครั้งอาจเกิดจากภาวะตกใจกลัวหรือเจ็บปวด ยืนนานๆ อยู่ในที่แออัดหรือร้อนก็ได้ อาการเป็นลมชนิดนี้เรียกว่า neutrally mediated syncope หรือ vasovagal syncope หากเกิดจากสาเหตุที่กล่าวมานี้ถือว่าไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร การรักษาเพียงให้เด็กนอนราบกับพื้นอยู่ในบริเวณที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากคนมุง อาการก็จะดีขึ้นเอง ต่อจากนั้นแนะนำให้เด็กรับประทานรับประทานอาหารครบทุกมื้อ อาจเพิ่มเกลือ และหลีกเลี่ยงกาแฟ ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์หากอาการเป็นอย่างที่กล่าวมาชัดเจนและไม่ได้เป็นซ้ำอีก

อาการหน้ามืดเป็นลมอาจต้องแยกจากอาการชัก สาเหตุจากจิตใจ ผลข้างเคียงจากยา โรคอื่นๆเช่น ซีด หรือโรคหัวใจ เช่นลิ้นหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจหนา อักเสบหรืออ่อนแรง ความดันเส้นเลือดแดงปอดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ(ventricular tachycardia, supraventricular tachycardia or heart block)

เมื่อไรจะพาเด็กไปพบแพทย์

หากผู้ปกครองสงสัยว่าจะไม่ใช่เป็นลมธรรมดาหรือมีการเป็นลมซ้ำๆควรจะพาเด็กไปพบแพทย์

แพทย์ทั่วไปควรจะซักประวิติ และประวัติครอบครัวและตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุของโรคต่างๆ ในรายที่ไม่เหมือนเป็นลมธรรมดา(neutrally mediated syncope) ควรส่งตรวจเพิ่มเติม รวมถึงคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 lead เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

ควรจะส่งเด็กไปปรึกษากุมารแพทย์โรคหัวใจเมื่อพบหน้ามืดเป็นลมร่วมกับสิ่งเหล่านี้

1.      เกิดขณะกำลังออกกำลังกายอยู่ หรือมีอาการเจ็บอกร่วมด้วย

2.      มีประวัติครอบครัวเสียชีวิตกะทันหันหรือเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ (hypertrophic cardiomyopathy, congenital long QT syndrome, brugada syndrome,และ WPW syndrome เป็นต้น)

3.      อาการเป็นลมที่ไม่อัตรายเช่น vasovagal syncope มักมีอาการนำมาก่อนจะเป็นลม เช่น เหงื่อแตก หูอื้อ คลื่นไส้ แต่หากไม่มีอาการเหล่านี้ควรนึกถึงสาเหตุอื่นซึ่งร้ายแรงกว่า

4.      แพทย์ตรวจร่างกายได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติ เช่น murmur

5.      พบร่วมกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

 


 

 

 

Our Vision

Contact Us

  • ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ 
    คณะแพทยศาสตร์
    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 
     
  • โทรศัพท์  053-935413-15, 053-936473

     
    Facebook for Pediatrics