อาหารอินทรีย์ ! ดีจริงหรือ?

การพิจารณาเลือกซื้ออาหารสำหรับเด็ก

ก่อนอื่นควรทราบว่าอาหารอินทรีย์(organic food) คือพืชผักผลไม้ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนมวัวและเนื้อสัตว์ที่กระบวนการผลิตตั้งแต่ดิน น้ำ ปุ๋ยและสารฆ่าแมลงนั้นไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้สารจากธรรมชาติและการปลูกพืชหมุนเวียนทดแทนแทน ข้อเปรียบเทียบความแตกต่างจากอาหารแบบเดิมในท้องตลาดคือ

 

อาหารชนิดเดิมในท้องตลาด(conventional food)
 
อาหารอินทรีย์ (organic food)
  • ใช้ปุ๋ยเคมี
  •  ฉีดสารเคมีเพื่อฆ่าแมลง
  • ใช้สารเคมีฆ่าวัชพืช
  • เลี้ยงสัตว์โดยใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค และใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต
  • ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก
  • ใช้ยาฆ่าแมลงจากธรรมชาติ ใช้ระบบนิเวศวิทยาช่วย
  • ปลูกพืชหมุนเวียนหรือกำจัดด้วยมือหรือเครื่องยนต์
  • เลี้ยงสัตว์โดยปล่อยให้หาอาหารตามธรรมชาติ

แน่นอนว่าอาหารที่ปราศจากสารตกค้างย่อมดีกว่าอาหารที่อุดมไปด้วยยาฆ่าแมลง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารอินทรีย์นั้นราคาแพงกว่าอาหารรูปแบบเดิมพอสมควร จะคุ้มค่าไหมหากเราซื้ออาหารอินทรีย์มารับประทานเป็นประจำ

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา(American Academy of Pediatrics)ได้มีการประชุม ประกาศและตีพิมพ์เมื่อปี พศ. 2555 ว่าอาหารอินทรีย์ไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารแบบเดิม (วิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ โปรตีน และคุณค่าทางอาหารอื่นๆไม่ต่างกัน) แต่ปลอดภัยมากกว่าหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด และยังไม่มีหลักฐานในระยะยาวว่าการรับประทานอาหารอินทรีย์เป็นประจำจะทำให้สุขภาพดีขึ้นหรือลดความเสี่ยงต่อโรค

ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต(growth hormone)หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนในนมวัวไม่ได้มีผลต่อสุขภาพที่จะต้องกังวล และการหลีกเลี่ยงเอสโตรเจนอาจทำได้โดยดื่มนมที่ปราศจากไขมันเนื่องจากไขมันเป็นสารตั้งต้นในการสร้างเอสโตรเจน (หากเป็นทารกแน่นอนว่านมแม่ดีที่สุด)

ส่วนในเนื้อสัตว์ทั่วไปนั้น มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในสัตว์เหล่านั้นอาจก่อให้เกิดเชื้อโรคที่ดื้อยา การรับประทานเนื้อเหล่านี้อาจทำให้คนได้รับเชื้อดื้อยาสู่ร่างกายได้

ส่วนยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีในผักผลไม้อินทรีย์ย่อมน้อยกว่าอาหารแบบเดิม แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าสารตกค้างเหล่านี้จะก่อให้เกิดอาการทางคลีนิกแตกต่างจากการรับประทานพืชผักอินทรีย์

ข้อจำกัดของอาหารอินทรีย์ก็มีบ้างเช่น เก็บได้ไม่นานเสียง่าย เนื่องจากไม่ได้เคลือบแวกซ์หรือใส่สารกันบูด และรูปร่างหน้าตาสีสันอาจไม่สวยงามเท่าพืชผักที่ฉีดยาฆ่าแมลง

หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงพืชผักแบบเดิมได้ ข้อแนะนำในการเลือกซื้ออาหารและลดปริมาณสารเคมีลงก็คือ

1.      ควรเลือกซื้ออาหารที่มาจากจากหลากหลายแหล่ง และไม่ทานอาหารซ้ำๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาฆ่าแมลงชนิดเดิมนานๆ การสะสมในปริมาณมากจะก่อโรคได้

2.      รับประทานผักและผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งจะมีปริมาณยาฆ่าแมลงน้อยกว่า

3.      อ่านฉลากอย่างละเอียด เนื่องจากบางครั้งคนเราไม่ค่อยชอบอ่าน เห็นฉลากติดว่าเป็นอาหารอินทรีย์ก็รีบซื้อโดยอาจจะมีสิ่งที่แถมมาด้วย เช่น เกลือ น้ำตาล ไขมันและแคลอรี่ในปริมาณสูง

4.      ล้างหรือขัดถูผักผลไม้อย่างถี่ถ้วนโดยผ่านน้ำไหล แน่นอนว่าสารตกค้างไม่สามารถออกได้หมด ดังนั้นหากไม่แน่ใจควรปอกเปลือกผลไม้ออกก่อนรับประทาน แม้จะเป็นที่ทราบดีว่าเปลือกผลไม้บางชนิดมีคุณค่าทางอาหารมากก็ตาม

โดยสรุป หากคุณไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย อาหารอินทรีย์อาจเป็นทางเลือกที่ดี แต่ในรายที่รายได้จำกัด การนำเงินไปซื้ออาหารอินทรีย์และได้อาหารมาจำนวนไม่พอเพียงทำให้เด็กขาดอาหารและมีปัญหาตามมาได้มากกว่า ข้อควรระวังในการเลือกซื้ออาหารและการทำความสะอาดข้างบนอาจช่วยได้บ้าง

 

ในประเทศไทยหน่วยงานราชการและเอกชนที่ตรวจรับรองและให้เครื่องหมายอาหารอินทรีย์เช่น มกอช(สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ  มกท.(สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) มอน.(องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ) เป็นต้น ส่วนหน่วยงานระดับนานาชาติ เช่น IFOAM(สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ) หรือ USDA (U.S Department of Agriculture) ของ เป็นต้น สหรัฐอเมริกาเป็นต้น ดังนั้นในบ้านเรา อาหารที่มีฉลากติดว่าเป็นอาหารอินทรีย์อาจอารต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เสียเงินแพงขึ้นแต่แถมได้สารเคมีตกค้างมาด้วย

USDA.jpg

แปลและเรียบเรียงจาก mayoclinic.com, วารสาร Pediatrics 2012; 130e1406-e1415

โดย รศ.พญ. ยุพดา พงษ์พรต

 

Our Vision

Contact Us

  • ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ 
    คณะแพทยศาสตร์
    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 
     
  • โทรศัพท์  053-935413-15, 053-936473

     
    Facebook for Pediatrics