พยาธิปากขอ คืออะไร?

          พยาธิปากขอคือ หนอนพยาธิตัวกลม ที่มีขนาดเล็ก ตัวอ่อนระยะติดต่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมในดิน ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์ เช่น สุนัข แมว พยาธิที่โตเต็มวัยทั้งตัวผู้และตัวเมียจะใช้ปากกัด เพื่อเกาะติดผนังลำไส้และดูดเลือดเป็นอาหาร (รูปที่ 1) ทำให้ผนังสำไส้มีบาดแผลฉีกขาด และมีเลือดไหลซึมออกมาจากแผล ถ้ามีพยาธิจำนวนมากในลำไส้ ผู้ป่วยจะสูญเสียเลือดจากการที่พยาธิดูดเลือดเพื่อกินเป็นอาหารซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคโลหิตจางแบบขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)

Doungrat

รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงรัตน์ ริยอง

รูปที่ 1 พยาธิปากขอตัวเต็มวัยใช้ปากกัดเพื่อเกาะผนังลำไส้และดูดเลือดเป็นอาหาร

(https://en.wikipedia.org/wiki/Hookworm#/media/File:Hookworms.JPG)

คนเป็นพยาธิปากขอ ได้อย่างไร?

          พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ทางผิวหนังโดยการไซของตัวอ่อนระยะติดต่อโดยผ่านทางดิน เด็กเล็กวัยก่อนเข้าเรียนและกลุ่มเกษตรกรในวัยทำงานจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงจากพยาธิตัวอ่อนไชเข้าผิวหนังมากที่สุด เพราะมีการสัมผัสดินที่มีการปนเปื้อนพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ โดยบริเวณที่พบได้บ่อย เช่น น่อง ง่ามเท้า และหลังเท้าทำให้เกิดรอยคดเคี้ยวของพยาธิไชใต้ผิวหนัง มีอาการคัน ผื่นแดง และเกิดการอักเสบดังรูป (รูปที่ 2)

รูปที่ 2 พยาธิตัวอ่อนไซเข้าผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน มีร่องรอยนูนแดงคดเคี้ยว

(https://www.sciencelearn.org.nz/videos/52-hookworm)

มีอาการสำคัญ อย่างไร?

          ผิวหนังบริเวณที่พยาธิไชเกิดอาการคัน และพบรอยนูนคดเคี้ยวมีสีแดงจาง ๆ เนื่องจากพยาธิเคลื่อนที่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง หลังจากนั้นตัวอ่อนจะไชเข้ากระแสเลือด ไปที่หัวใจและปอด ลอกคราบไว้ที่ปอด ผู้ป่วยอาจมีไข้และไอเนื่องจากปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หลังจากนั้นพยาธิจะไซออกจากถุงลมปอดเดินทางเข้าสู่ลำไส้เล็ก เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยตัวผู้และตัวเมีย จากนั้นจะใช้ปากกัดเพื่อเกาะติดกับผนังลำไส้ และดูดเลือดจากผู้ป่วยทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื่อบุผนังลำไส้และเกิดแผล ในกรณีที่มีพยาธิจำนวนมากผู้ป่วยจะสูญเสียเลือดจากการที่พยาธิดูดเลือดเพื่อกินเป็นอาหาร และการไหลซึมของเลือดจากแผลที่เกิดขึ้นเมื่อพยาธิเปลี่ยนตำแหน่งเกาะ ทำให้ผู้ป่วยซีดเกิดภาวะโรคโลหิตจางแบบขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) นอกจากนั้นยังไปรบกวนระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ในผู้ใหญ่ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลง ส่วนในเด็กเล็กการเรียนรู้และการเจริญเติบโตจะช้าลง

จะรู้ได้อย่างไร ว่าเป็นโรคพยาธิปากขอ?

          อาการสำคัญคือทำให้ผู้ป่วยซีดเนื่องจากสูญเสียเลือดทำให้เกิดโรคโลหิตจางแบบขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ดังนั้นควรมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์และทำการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการตรวจเลือดเพื่อดูภาวะซีดและส่งตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิปากขอ (รูปที่ 3) เมื่อมีผลตรวจยืนยันแล้ว แพทย์จะได้ทำการรักษาต่อไป

จะทำการป้องกัน ได้อย่างไร?

– รับประทานอาหารที่สุกและดื่มน้ำสะอาด

– ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร

– สวมใส่รองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน

– ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

– ไม่ใช้อุจจาระเป็นปุ๋ยรดผัก

– มีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี

รูปที่ 3 ไข่พยาธิปากขอตรวจพบได้ในอุจจาระ

(https://www.cdc.gov/dpdx/hookworm/index.html)

เอกสารอ้างอิง

– นิมิตร มรกต, คม สุคนธสรรพ์, บรรณาธิการ. ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ II. หนอนพยาธิ. พิมพ์ครั้งที่ 3. โครงการตำรา

   เชียงใหม่: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554.

– https://en.wikipedia.org/wiki/Hookworm#/media/File:Hookworms.JPG

– https://www.sciencelearn.org.nz/videos/52-hookworm

– https://www.cdc.gov/dpdx/hookworm/index.html

Facebook Comments Box
Contact