มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการตอบสนองต่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อไปนี้
1. การเตรียมการ

 

– แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมหากเกิดการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระยะที่ 3 ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ 867/2563 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2563 และได้แต่งตั้งคณะทำงาน จำนวน 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานคัดกรองบุคลากรและนักศึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และคณะทำงานปฏิบัติการดูแลนักศึกษาและบุคลากรที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19
– จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบสนองภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operating Center; EOC)
– จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับในภาวะฉุกเฉิน รองรับกรณีมีการสัมผัส/ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรค COVID-19ของมหาวิทยาลัย

2. การตอบสนองในระยะวิกฤติ

2.1 พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง คณะสาธารณสุขศาสตร์ได้พัฒนาแอปพลิเคชันแบบคัดกรองตนเองเบื้องต้น 3 ภาษา เพื่อประเมินความเสี่ยงสำหรับผู้สงสัยที่จะติดเชื้อ COVID-19 พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของแต่ละระดับความเสี่ยง และการให้ความรู้กับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย ผู้บริหารและหน่วยงานภายในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

2.2 ด้านรักษาพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับคัดกรองผู้ป่วย แยกเป็น URI Clinic และพื้นที่เฝ้าสังเกตอาการ PUI จัดเตรียมหอผู้ป่วย COVID-19 และห้องแยกเฉพาะความดันลบ (Negative Pressure Room) จำนวน 11 ห้อง

2.3 ด้านการจัดการศึกษา
– มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้ทุกส่วนงานจัดการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ และให้ผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการวัดประเมินผลทดแทนการสอบในห้องเรียนหรือเลื่อนการสอบออกไปตามความจำเป็น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ของกระบวนวิชา ณ ปัจจุบันนี้ทุกส่วนงานมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์
– มหาวิทยาลัยได้จัดหาโปรแกรมสำหรับการสอนและการประชุมออนไลน์ ได้แก่ โปรแกรม Zoom แบบไม่จำกัดผู้ใช้ (Unlimited Users) และโปรแกรม Microsoft Team สำหรับนักศึกษาและบุคลากรที่บัญชีอีเมล @cmu.ac.th

2.4 ด้านหอพักนักศึกษา ยังคงเปิดให้นักศึกษาสามารถพักอาศัยได้ แต่เพิ่มมาตรการควบคุมเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ เช่น ให้มีทางเข้า – ออกทางเดียว คัดกรองโรคด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าอาคาร  มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดเข้า – ออกหอพักนักศึกษารวมถึงในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง ทำความสะอาดอาคาร รวมถึงอุปกรณ์ภายในตัวอาคารหอพักนักศึกษา เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได สวิตช์ไฟ และปุ่มกดลิฟต์ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุก 2 ชั่วโมง เป็นต้น

2.5 ด้านกิจกรรมนักศึกษา งดและเลื่อนการจัดกิจกรรมนักศึกษา การปิดสนามกีฬากลาง

2.6 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด
– มหาวิทยาลัยได้รับการบริจาคแอลกอฮอล์ 95% จากคุณสมภพ ศักดิ์พันธุ์พนม จำนวน 5,000 ลิตร
ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะอุตสาหกรรมเกษตรนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์เจลและแอลกอฮอล์ชนิดน้ำ 70% เพื่อให้ส่วนงานนำไปใช้
– มหาวิทยาลัยได้จัดหาหน้ากากเพื่อใส่ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งได้มอบให้กับนักศึกษากว่า 20,000 ชิ้น และให้กับบุคลากร
– จัดเตรียมพื้นที่กักตัวสำหรับกลุ่มเสี่ยงปานกลาง (Intermediate Risk) และกลุ่มเสี่ยงสูง (High Risk)
ซึ่งจะมีการตรวจคัดกรองสุขภาพทุกวัน หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ไอ หายใจเหนื่อยหอบจะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์เพื่อดำเนินการรักษาพยาบาลต่อไป

2.7 มาตรการ Social Distancing
– ออกแนวปฏิบัติการประชุมออนไลน์ และใช้กับการประชุม กบม. และการประชุมอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัย
– ออกมาตรการ Work From Home ให้ส่วนงานสามารถนำไปใช้เพื่อลดการเดินทางและการอยู่ร่วมกันของบุคลากร

3. การลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

3.1 จัดให้นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบสามารถขยายระยะเวลาหรือขอผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ตั้งแต่ภาคเรียนฤดูร้อน (2562) นี้เป็นต้นไป ภายใต้โครงการลดผลกระทบสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

3.2 ลดค่าเช่าพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าที่ให้บริการแก่นักศึกษาและบุคลากร

 

แหล่งที่มา ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

 

Facebook Comments Box
Contact