พัฒนาการทางการได้ยิน ภาษาและการพูด

ปกติพัฒนาการทางภาษาของเด็กจะมีการพัฒนาเป็นขั้นตอนตามอายุที่เพิ่มขึ้นโดยจะต้องมีพัฒนาการทั้งทางด้านการรับรู้ภาษาและการพูดไปพร้อม ๆ กัน ในระยะแรกการเรียนรู้ภาษาของเด็กอาศัยพื้นฐานจากสิ่งที่ได้ยินและมองเห็นเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้เด็กสามารถเข้าใจความหมายต่าง ๆ ได้มากขึ้นประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้จะสร้างสมขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับวุฒิภาวะทางร่างกายทำให้การเรียนรู้ภาษาของเด็กพัฒนาขึ้นเป็นลำดับขั้น การสูญเสียการได้ยินในเด็กเป็นสาเหตุหนึ่ง ทำให้เด็กมีพัฒนาการทาง ภาษาและการพูดล่าช้า ไม่เหมาะสมกับวัย เนื่องจากการเรียนรู้ภาษาและการพูดนั้นอาศัยพื้นฐานของการมองและการได้ยิน การตรวจคัดกรองการได้ยินด้วยเครื่องมือเฉพาะสามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพัฒนาการทางภาษาและการพูด การตอบสนองต่อเสียงของเด็กเป็นระยะ โดยใช้อายุของเด็กเป็นข้อกำหนดความสามารถทางภาษาอย่างคร่าว ๆ

สาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้า
1. มีความพิการทางการได้ยิน
2. มีความพิการทางสติปัญญา
3. มีความพิการทางการเรียนรู้
4. มีความพิการทางออทิสติก
5. ขาดการกระตุ้นทางการพูดที่เหมาะสม

พัฒนาการทางภาษาและการพูดในช่วงอายุต่าง ๆ

อายุ 0-3 เดือน
 สะดุ้งตกใจหรือร้องไห้เมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ
 เล่นเสียงอ้อแอ้ในลำคอ
 ยิ้มและจ้องหน้า แสดงอาการนิ่งฟังเสียงพูดของพ่อแม่

อายุ 3-6 เดือน
 หันหาเสียงเรียกหรือเสียงต่าง ๆ ได้
 เล่นเสียงสระผสมพยัญชนะมากกว่า 1 พยางค์ เช่น กากา อากู เป็นต้น

อายุ 6-12 เดือน
 หันหาเสียงไม่ว่าเสียงจะดังหรือเบา หันหาเมื่อเรียกชื่อ
 เล่นเสียงเป็นพยางค์สลับเสียงต่าง ๆ เช่น บาตาบา จายาจายาจา มาแมมา บา
คา
 ทำเสียงโต้ตอบเมื่อมีคนพูดด้วย
 เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ เช่น สวัสดี บ๊ายบาย เป็นต้น

อายุ 12-18 เดือน
 เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้ เช่น หม่ำ ไป แม่
 ตอบตำถาม ใช่/ไม่ใช่ ได้
 ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ 1 ขั้นตอน เช่นชี้อวัยวะ สวัสดี

อายุ 18-24 เดือน
 พูดคำที่มีความมายได้ 50-100 คำ
 พูดวลียาว 2-3 คำ เช่น เอามา กินน้ำ
 ตอบคำถามประเภท ใช่/ไม่ใช่ อะไร ได้
 รู้จักเสียงของสิ่งต่าง ๆ เช่น เสียงโทรศัพท์ กริ่งประตู เป็นต้น

หากพบว่าเด็กมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้ากว่าวัย ผู้ปกครองควรพาเด็กไปปรึกษากับแพทย์ นักแก้ไขการพูด นักแก้ไขการได้ยิน เพื่อหาสาเหตุและได้รับการรักษาฟื้นฟูที่เหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง
1. Lanza J, Flahive L, editors. Guide to communication milestones (2009 edition). East Moline, IL: LinguiSystems; 2008. Available from: https://speechhearing.columbian.gwu.edu/sites/g/files/zaxdzs1996/f/downloads/Milestonesguide.pdf
2. ลินดา ปั้นทอง. พูดช้า. ใน: พิชิต สิทธิไตรย์, สายสวาท ไชยเศรษฐ, สุวิชา แก้วศิริ, ศณัฐธร เชาวน์ศิลป์, บรรณาธิการ. ตำราหู คอ จมูก สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4. เชียงใหม่: บริษัท แลงเกวจ เซ็น เตอร์ แอนด์ แอดเวอร์ทิสเมนท์ จำกัด; 2560. หน้า 513-519.