ภาวะแท้งซ้ำซาก (recurrent pregnancy loss)

ภาวะแท้งซ้ำซาก (recurrent pregnancy loss)

พญ. หรัดปพร ปิยะเวชการ
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ. นพ. โอภาส เศรษฐบุตร


 

คำจำกัดความ(1)

ภาวะแท้งซ้ำ หมายถึง การแท้งบุตรขณะที่อายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 สัปดาห์หรือทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 500 กรัมอย่างน้อยสามครั้งติดต่อกัน โดยไม่รวมถึงการตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์ไข่ปลาอุก และการตรวจพบการตั้งครรภ์จากระดับฮอร์โมนเบต้าเอชซีจีเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามมีคำนิยามที่แตกต่างจากนิยามดังกล่าว เช่น การรวมถึงการตั้งครรภ์อ่อนๆ ที่ล้มเหลวซึ่งวินิจฉัยได้จากการตรวจระดับฮอร์โมนที่มีความไวสูง, มีภาวะแท้งติดต่อกันเพียงสองครั้ง หรือมีภาวะแท้งอย่างน้อยสามครั้งแบบไม่ติดต่อกัน โดยสมาคมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำนิยามไว้ว่าภาวะแท้งซ้ำหมายถึงการแท้งบุตรมากกว่าหรือเท่ากับสองครั้งติดต่อกัน(2) (วินิจฉัยการตั้งครรภ์จากการอัลตราซาวด์หรือการตรวจทางจุลกายวิภาค ) โดยทำการประเมินหาสาเหตุบางส่วนภายหลังการแท้งบุตรแต่ละครั้งและประเมินอย่างละเอียดอีกครั้งภายหลังการแท้งบุตรครั้งที่สองเป็นต้นไป(3) การเริ่มค้นหาสาเหตุอาจพิจารณาเป็นรายๆ ไป ขึ้นกับอายุของหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ที่แท้ง ประวัติโรคประจำตัวและการใช้ยา รวมถึงความกังวลของคู่สามีภรรยา Malpas และ Eastman กล่าวว่าหากมีการแท้งซ้ำติดต่อกัน 3 ครั้ง ครรภ์ต่อไปมีโอกาสแท้งร้อยละ 73-84

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ

1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม

ความผิดปกติทางพันธุกรรมพบได้บ่อยถึงร้อยละ 50 ของการแท้งในช่วงไตรมาสที่ 1 และเป็นร้อยละ 30 ของการแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยส่วนใหญ่สัมพันธ์กับความผิดปกติของโครงสร้างและจำนวนโครโมโซม(1) นอกจากนี้อาจมีความผิดปกติของยีนเดี่ยว, โรคถ่ายทอดทางโครโมโซมเพศ, และความผิดปกติจากหลายปัจจัยด้วย ความผิดปกติที่พบบ่อยคือ autosomal trisomy, monosomy X, triploidy, tetraploidy และ mosaics(4)

ร้อยละ 3-5 ของคู่สามีภรรยาที่มีภาวะแท้งซ้ำ พบว่ามีการเรียงตัวใหม่ของโครโมโซมที่ผิดปกติ ส่วนใหญ่เป็น balance translocation โดยเฉพาะชนิด reciprocal translocation ส่วน inversion พบได้น้อยกว่า การที่ไม่มีประวัติครอบครัวผิดปกติหรือบุตรผิดปกติมาก่อน ไม่สามารถตัดความผิดปกตินี้ออกได้ คู่สมรสที่เป็น balanced translocation อาจจะมีบุตรปกติที่มีโครโมโซมปกติหรือ balanced เหมือนบิดามารดาหรือมีบุตรผิดปกติที่มีโครโมโซม unbalanced หรือแท้งบุตรที่เป็นโครโมโซม unbalanced ก็ได้ balanced translocation พบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย และมักเกิดการแท้งได้มากกว่าหากตัวอ่อนรับยีนมากจากมารดา แต่ทั้งนี้การตรวจพบความผิดปกติของการเรียงตัวของโครโมโซมในพ่อแม่อาจไม่ได้เป็นสาเหตุของภาวะแท้งซ้ำ ดังนั้นยังจำเป็นที่จะต้องค้นหาสาเหตุอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกัน(4)

2. ปัจจัยจากมดลูกและความผิดปกติทางกายวิภาค

ความผิดปกติของมดลูกทั้งชนิดที่เป็นแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังสามารถส่งผลต่อการแท้งซ้ำได้ร้อยละ 10-50

2.1 ความผิดปกติของตัวมดลูก

ส่วนใหญ่เกิดจากความพิการแต่กำเนิด คือเกิดจากความผิดปกติของการสร้าง mullerian duct หรือผิดปกติของการเชื่อมหรือมีการเชื่อมไม่สมบูรณ์ทำให้มดลูกและช่องคลอดมีพัฒนาการที่ผิดปกติไป ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการแท้งในไตรมาสแรกแต่อย่างไรก็ตามสามารถพบการแท้งในไตรมาสอื่นหรือพบการคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน ที่พบว่าเกิดภาวะแท้งซ้ำซากได้บ่อยที่สุดคือ septate uterus สตรีที่มี septate uterus มีโอกาสแท้งสูงถึงร้อยละ 76 ความผิดปกติชนิด unicornuate, didelphys และ bicornuate มีผลเพิ่มอัตราการแท้งเพียงเล็กน้อย ส่วนความผิดปกติชนิด arcuate ไม่มีผลชัดเจนในการเพิ่มอัตราการแท้ง(4)

พังผืดในโพรงมดลูกหรือ asherman syndrome สาเหตุเกิดจากการทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นบริเวณกว้าง เช่น การขูดมดลูกหรือขูดขณะมีการติดเชื้อในโพรงมดลูกซึ่งมีผลเพิ่มอัตราการแท้งได้จากโพรงมดลูกตีบแคบหรือขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณที่มีพังผืด ตัวอ่อนจะฝังตัวได้ไม่ดีหรือทำให้รกเจริญผิดปกติได้(1, 5)

เนื้องอกมดลูก พบได้ในประชากรส่วนใหญ่และเป็นสาเหตุของภาวะแท้งได้โดยเฉพาะถ้าอยู่บริเวณตำแหน่งเกาะตัวของรก เนื้องอกมดลูกชนิด submucous ถ้ามีขนาดใหญ่จะมีผลลดอัตราการตั้งครรภ์คือทำให้โพรงมดลูกตีบแคบหรือขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณเนื้องอกมดลูก ถ้ามีการฝังตัวเกิดขึ้นตัวอ่อนจะเจริญเติบโตได้ไม่ดี(4)

2.2 ความผิดปกติของปากมดลูก

ภาวะปากมดลูกเปิดโดยไม่มีการเจ็บครรภ์(cervical insufficiency) เป็นสาเหตุของการแท้งในช่วงไตรมาสที่สองแต่ไม่ส่งผลในไตรมาสแรก(6)

3. ปัจจัยจากโรคต่อมไร้ท่อ

พบว่าเป็นสาเหตุของภาวะแท้งซ้ำร้อยละ 8-12 แบ่งเป็นสาเหตุต่างๆ คือ

3.1 ความบกพร่องของระยะลูเตียล

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โปรเจสเตอโรนมีส่วนสำคัญในการฝังตัวของตัวอ่อนและช่วยทำให้การตั้งครรภ์ดำรงต่อไปได้ ความบกพร่องของการทำงานของคอร์ปัสลูเตียมทำให้การสร้างโปรเจสเตอโรนลดลงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมกับการฝังตัวและส่งผลต่อการตั้งครรภ์ แต่ยังไม่มีวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยและรักษาภาวะดังกล่าว(7)

3.2 ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ

ทำให้เกิดภาวะแท้งซ้ำซากได้จากภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ มีการศึกษาพบว่าหญิงที่มีระดับ thyroid antibody สูงจะพบอัตราการแท้งบุตรสูงด้วยถึงแม้จะมีการทำงานของต่อมไทรอยด์ปกติก็ตาม(1)

3.3 โรคเบาหวาน

สตรีที่เป็นเบาหวานชนิดดื้อต่ออินซูลินซึ่งควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีและมีค่า HbA1C สูงในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จะพบอัตราการแท้งสูงกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า ยิ่งระดับ HbA1C สูงจะยิ่งเพิ่มอัตราการแท้งและความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก(1, 8)

3.4 ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

พบได้สูงถึงร้อยละ 40 ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะอ้วน มีฮอร์โมนเพศชายและ LH สูงกว่าปกติ มีความผิดปกติในการควบคุมระดับน้ำตาลและภาวะดื้อต่ออินซูลินทำให้เกิดการแท้งซ้ำซากโดยรบกวนการทำงานของ fibrinolysis ซึ่งมีความสำคัญต่อการฝังตัวของตัวอ่อน หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเส้นเลือดแดง uterine ผิดปกติ ในรายที่เบาหวานมีความรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดดำทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ไม่ดี ในรายที่ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรพบว่ามีความสัมพันธ์กับการแท้งซ้ำซากอย่างชัดเจน(1, 4)

4 ปัจจัยจากภูมิคุ้มกัน(1, 4)

4.2 Autoimmunity

พบประมาณร้อยละ 3-15 มีโรคหลายชนิดที่ส่งผลลัพธ์ต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่ดี แต่โรค antiphospholipid syndrome เป็นโรคเดียวที่มีภาวะแท้งซ้ำเป็นหนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยโดยสาเหตุที่ทำให้มีการแท้งเกิดจาก antiphospholipid antibodies เป็นภูมิต้านทานที่สร้างขึ้นและจับกับ phospholipid ทำให้เกิด platelet aggregation เพิ่มขึ้น ทำให้เกิด thrombosis และ vasoconstriction ที่เส้นเลือดของรกทำให้เนื้อรกตาย และพบว่าอาจเกิดจากการลุกล้ำของ endovascular trophoblast เข้าสู่เส้นเลือดในชั้น decidual ที่ผิดปกติร่วมด้วย

สตรีที่เป็น systemic lupus erythematosus(SLE) พบว่าเกิดการแท้งร้อยละ 20 โดยจะพบช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับการตรวจพบ antiphospholipid antibody หากมีการกำเริบหรือเริ่มเป็นโรคตอนช่วงเริ่มตั้งครรภ์หรือมีโรคไตร่วมด้วยจะเพิ่มอัตราเสี่ยงในการแท้งรวมทั้งมีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษและคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นด้วย

4.3 Alloimmunity

ทำให้เกิดการแท้งซ้ำซากได้น้อยกว่าร้อยละ 3 ภาวะแท้งซ้ำเกิดขึ้นได้โดยกลไลเดียวกับการเกิดการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย blastocyst ที่เจริญเติบโตปกติจะถูกปกป้องจากเซลล์ trophoblast แต่หากเจริญเติบโตผิดปกติจะทำให้ร่างกายของมารดาสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้านเกิดกลไกปฏิเสธตัวอ่อนได้ นอกจากนี้มารดาที่มีภาวะแท้งซ้ำอาจมีความบกพร่องของภูมิคุ้มกันในการปกป้องตัวอ่อน ทำให้เกิด maternal-fetal interface ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของ trophoblast และรกได้

5 ปัจจัยด้านการแข็งตัวของเลือด

การตั้งครรภ์เป็นภาวะที่เกิดการแข็งตัวของเลือดได้ง่ายกว่าปกติ การแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกตินี้ทำให้เกิดการแท้งซ้ำซากจากการมีลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดเลือดบริเวณมดลูกและรก ชักนำให้เกิด trophoblast apoptosis มีรายงานพบว่าสตรีที่มี factor V leiden mutation จะเกิดการแท้งซ้ำซากได้สูงขึ้นทั้งในระยะแรกและระยะหลังของการตั้งครรภ์ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแท้งซ้ำซากที่แตกต่างกันคืออุบัติการณ์ของการมี factor V leiden mutation ที่ต่างกันในแต่ละเชื้อชาติทำให้อัตราการเกิดภาวะแท้งซ้ำซากแตกต่างกัน

6 การติดเชื้อที่ระบบอวัยวะสืบพันธุ์

พบได้ร้อยละ 0.5-5 หากมีการติดเชื้อลุกลามเข้าไปในโพรงมดลูกและระบบการไหลเวียนเลือดจะเกิดการแท้งตามมาได้ เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่ cytomegalovirus, herpes simplex virus type I และ type II, coxsackieviruses, parvoviruses, rubella และ measles เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุได้แก่ chlamydia tracomatis, mycoplasma hominis, ureaplasma urealyticum และ bacterial vaginosis

7 อื่นๆ

การได้รับสารพิษ เช่น โลหะหนักกลุ่มตะกั่ว, ปรอท, ตัวทำละลายสารอินทรีย์, ยาเคมีบำบัด, ยาดมสลบ, สารรังสี เป็นต้น ทำให้เกิดการแท้งซ้ำซากได้แต่การศึกษาในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะแท้งซ้ำซากกับสารดังกล่าว

การสูบบุหรี่, การดื่มสุราและการดื่มกาแฟ ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าส่งผลให้เกิดอัตราการแท้งเพิ่มขึ้น

โรคประจำตัวของมารดาโดยเฉพาะที่มีผลต่อเส้นเลือดแดงเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคไต โรคเลือดบางชนิดเช่น factor XII deficiency, thrombocytosis, thrombocytopenia

การประเมินและค้นหาสาเหตุ(1, 9)

สตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซากควรได้รับการสืบค้นสาเหตุอย่างละเอียด โดย RCOG แนะนำให้ส่งตัวไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อสืบค้นหาสาเหตุต่อไป(10) ในปัจจุบันแนะนำให้เริ่มสืบค้นสาเหตุเมื่อมีการแท้งเองเกิดขึ้น 2 ครั้งติดต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป

1. การซักประวัติ: ต้องถามทั้งสามีและภรรยาดังนี้

  • ประวัติการแท้งในครั้งก่อน อายุครรภ์ขณะแท้ง น้ำหนักทารกที่แท้ง อาการนำก่อนแท้ง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลชิ้นเนื้อ หรือภาพรังสีจากครรภ์ก่อน
  • ประวัติโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
  • ประวัติการได้รับสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นผลต่อการเจริญของตัวอ่อนในครรภ์ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา กาแฟ การใช้สารเสพติด ประวัติการใช้ยา
  • ประวัติการติดเชื้อระบบสืบพันธุ์
  • ประวัติการทำหัตถการที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดพังผืดในโพรงมดลูก
  • อาการของ antiphospholipid syndrome และการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น ครรภ์เป็นพิษ เกล็ดเลือดต่ำ ก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือด เป็นต้น
  • ประวัติประจำเดือน รอบประจำเดือน ความสม่ำเสมอ รวมถึงประวัติการมีน้ำนมไหลเพื่อช่วยยืนยันว่าอาจมีการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ผิดปกติ
  • ประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว ความผิดปกติของร่างกายแต่กำเนิดหรือความผิดปกติทางโครโมโซม การแต่งงานในหมู่พี่น้อง การแท้งซ้ำซากในครอบครัว ทารกตายในครรภ์ ทารกพิการแต่กำเนิดของคู่สามีภรรยา
  • มีการตรวจพบตัวอ่อนหรือการทำงานของหัวใจตัวอ่อนหรือไม่ เนื่องจากภาวะแท้งซ้ำที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตรวจพบการทำงานของหัวใจตัวอ่อนบ่งบอกถึงการมีความผิดปกติของโครโมโซม
  • ประวัติการมีบุตรยากและการรักษาเรื่องมีบุตรยากก่อนหน้านี้

2. การตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบ พยายามมองหาลักษณะความบกพร่องของต่อมไร้ท่อและความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ เช่น ภาวะอ้วนหรือผอมผิดปกติ, ภาวะขนดก, ต่อมไทรอยด์และตรวจเต้านมว่ามีน้ำนมไหลหรือไม่ ตรวจภายในเพื่อหาอาการแสดงของการติดเชื้อ ความผิดปกติของช่องคลอด ปากมดลูก ขนาดและรูปร่างของมดลูก และปีกมดลูก ร่องรอยการได้รับบาดเจ็บที่ปากมดลูก

3. การส่งตรวจที่มีประโยชน์(1, 4)

3.1 โครโมโซม

การตรวจโครโมโซมของคู่สามีภรรยา จุดประสงค์เพื่อตรวจหา reciprocal หรือ robertsonian translocation หรือ mosaicism ถึงแม้จะเป็นสาเหตุของภาวะแท้งซ้ำร้อยละ 2-4 แต่แนะนำให้ตรวจโครโมโซมทั้งคู่สามีภรรยาโดยเฉพาะในรายที่ภรรยามีอายุเกิน 35 ปี มีการศึกษาพบว่าครึ่งหนึ่งมีความผิดปกติแบบ balanced reciprocal translocation 1 ใน 4 ส่วนเป็น robertsonian translocation และร้อยละ 12 เป็นความผิดปกติของโครโมโซมเพศหญิงแบบ mosaicism หรือ klinefelter syndrome ซึ่งโครโมโซมผิดปกติเหล่านี้เป็นสาเหตุของการแท้งติดต่อกัน แต่ทั้งนี้ความผิดปกติทางโครโมโซมของบิดามารดาอาจจะบอกถึงความผิดปกติของตัวอ่อนโดยตรงไม่ได้ ดังนั้นจึงมีท่านผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแนะนำให้ตรวจโครโมโซมจากตัวอ่อนที่แท้ง ซึ่งถ้าพบโครโมโซมปกติอาจหมายถึงมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะแท้งซ้ำได้ และหากตรวจพบความผิดปกติของตัวอ่อนที่แท้งแนะนำให้ตรวจโครโมโซมของบิดามารดาด้วย(10)

3.2 การตรวจความผิดปกติของมดลูกและปากมดลูก

ในรายที่มีการแท้งซ้ำซากในไตรมาสแรกหรือแท้งตั้งแต่ 1 ครั้งเป็นต้นไปในไตรมาสที่ 2 แนะนำให้อัลตราซาวด์ทุกรายเพื่อดูความผิดปกติทางกายวิภาคของมดลูก และหากสงสัยว่ามีความผิดปกติแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องโพรงมดลูกหรือการอัลตราซาวด์แบบ 3 มิติเพื่อยืนยันการวินิจฉัย(10)

  • Sonohysterography: การฉีดน้ำเข้าในโพรงมดลูกและอัลตราซาวด์ทำให้เห็นถึงโครงร่างภายในของโพรงมดลูก และโครงร่างภายนอกรวมทั้งผนังของมดลูกด้วย สามารถประเมินการอุดตันของท่อนำไข่และทำให้เห็นความแตกต่างของมดลูกที่มีรูปร่างผิดปกติ หรือ มีแผ่นกั้นมดลูก
  • Hysterosalpingogram: การฉีดสีและเอกซเรย์ท่อนำไข่และมดลูก สามารถเห็นความผิดปกติได้ใกล้เคียงกับการอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด และสามารถบอกถึงลักษณะทางกายวิภาคและการอุดตันของท่อนำไข้ได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่สามารถบอกถึงรูปร่างภายนอกของมดลูกได้และไม่สามารถเห็นความแตกต่างระหว่าง มดลูกที่มีรูปร่างผิดปกติ หรือ มีแผ่นกั้นมดลูกได้
  • Hysteroscopy: การส่องกล้องโพรงมดลูก เป็นวิธีที่มาตรฐานเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของมดลูกและยังสามารถให้การรักษาความผิดปกติของโพรงมดลูกบางอย่างไปพร้อมกันได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างมดลูกที่มีรูปร่างผิดปกติหรือมีแผ่นกั้นมดลูกได้ และเนื่องจากเป็นหัตถการที่ลุกล้ำและมีค่าใช้จ่ายสูงจึงเอาไว้ใช้สำหรับรายที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นหรือรายที่มีความผิดปกติภายในโพรงมดลูกและต้องการการส่องกล้องโพรงมดลูกร่วม
  • อัลตราซาวด์: การอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดและการอัลตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้องมีประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะมีผนังกั้นมดลูกหรือความผิดปกติของไต ช่วยบอกตำแหน่งหรือขนาดของก้อนเนื้องอกมดลูกได้ รวมทั้งยังช่วยประเมินความยาวของปากมดลูกและประเมินการมีชีวิตอยู่ของตัวอ่อนในครรภ์
  • การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า: จะช่วยแยกระหว่างมดลูกที่มีรูปร่างผิดปกติหรือมีแผ่นกั้นมดลูกได้ เป็นวิธีการที่ไม่ลุกล้ำและมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการส่องกล้อง การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อวินิจฉัยภาวะแผ่นกั้นมดลูกมีความแม่นยำและความไวสูงกว่าการอัลตราซาวด์ 2 มิติ แต่มีประโยชน์ใกล้เคียงกับการอัลตราซาวด์ 3 มิติ(11)

3.3 การตรวจฮอร์โมนและตรวจดูความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ

การตัดชิ้นเนื้อบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อวินิจฉัยความบกพร่องของระยะลูเตียล หากตรวจพบความผิดปกติให้ตรวจระดับ prolactin, 17-hydroxyprogesterone และ androgen ในเลือดเพื่อวินิจฉัยภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบด้วยเสมอ อย่างไรก็ตามพบว่าบทบาทของการตัดชิ้นเนื้อบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อหาสาเหตุของภาวะแท้งซ้ำซากนั้นยังไม่ชัดเจน

การตรวจระดับโปรเจสเตอโรนในเลือดปัจจุบันยังไม่มีวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจเพื่อวินิจฉัยความบกพร่องของระยะลูเตียลเนื่องจากระดับฮอร์โมนในช่วง luteal มีระดับไม่คงที่ตลอดทั้งวันและไม่ได้ช่วยทำนายผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์

การส่งตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ ควรทำในผู้ป่วยที่มีอาการและประวัติของโรคไทรอยด์ การคัดกรองในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด แต่พบว่ามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงต่อการแท้งเพิ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์ต่ำแบบไม่มีอาการ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ปกติแต่มี thyroid peroxidase antibodies(TPO) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งเอง 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มี antibody ดังกล่าวและยังพบว่าการให้ฮอร์โมนไทรอยด์เสริมในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงต่อการแท้งได้(12)

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อหาภาวะเบาหวานแนะนำเฉพาะรายที่มีอาการเท่านั้น ไม่แนะนำให้ตรวจเป็นพื้นฐานทุกรายที่มีภาวะแท้งซ้ำซาก(1)

3.4 การตรวจทางระบบภูมิคุ้มกัน

เพื่อหาภาวะ antiphospholipid syndrome โดยการตรวจ anticardiolipin และ lupus anticoagulant โดยหญิงที่มีการแท้งซ้ำซากในไตรมาสแรกหรือแท้งตั้งแต่ 1 ครั้งเป็นต้นไปในไตรมาสที่ 2 แนะนำให้ตรวจทุกรายก่อนการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป(10) ส่วนตัวอื่นเช่น antinuclear antibody ยังไม่มีข้อมูลที่มากพอจึงยังไม่แนะนำให้ตรวจในผู้ป่วยที่มีภาวะแท้งซ้ำซาก เกณฑ์ในการวินิจฉัย antiphospholipid syndrome ประกอบด้วยอาการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 1 ข้อดังตาราง

ตารางที่ 1: เกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะ antiphospholipid syndrome(4, 13)


 

Clinical criteria

  • Vascular thrombosis – arterial or venous (excluding superficial vein thrombosis)
  • Pregnancy morbidity
    • Unexplained pregnancy loss of a morphologically normal fetus 10 weeks’ gestation premature birth (<34 weeks’ gestation) due to (pre-)eclampsia or other cause of placental insufficiency
    • 3 unexplained consecutive pregnancy losses < 10 weeks’ gestation

Laboratory criteria (ตรวจพบอย่างน้อย 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์)

  • Lupus anticoagulant
  • Anticardiolipin antibody (IgG/IgM)
  • Anti-beta2 glycoprotein-1 antibody (IgG/IgM)

 

3.5 การตรวจการแข็งตัวของเลือด

จากการรวบรวมหลักฐานข้อมูลโดยองค์กร the Royal College of Obstetricians and Gynaecologists (RCOG) และ the American College of Obestetricians and Gynecologists (ACOG) สรุปว่ายังไม่แนะนำให้ตรวจการแข็งตัวของเลือดเป็นพื้นฐานทุกรายที่มีภาวะแท้งซ้ำซาก(10, 14)

3.6 การตรวจการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์

แนะนำให้ตรวจในรายที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีประวัติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไม่แนะนำให้ตรวจเป็นพื้นฐานทุกรายเนื่องจากการตรวจเพื่อแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุทำได้ยากและหากมีการตรวจควรระบุเชื้อที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุ เช่น เพาะเชื้อจากปากมดลูกเพื่อหาเชื้อ mycoplasma, ureaplasma, herpes simplex virus ในรายที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของการแท้งซ้ำซาก เช่น มีประวัติการติดเชื้อในโพรงมดลูก น้ำเดินหรือมารดามีอาการแสดงของการติดเชื้อ

การจัดการและการรักษาภาวะแท้งซ้ำ

ยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอในการรักษาภาวะแท้งซ้ำซาก ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามสาเหตุ อย่างไรก็ตามพยากรณ์การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ดี อัตราคลอดบุตรมีชีวิตสูงถึงร้อยละ 71 และ 77 ในรายที่พบสาเหตุและไม่พบสาเหตุของภาวะแท้งซ้ำซากตามลำดับ(15) นอกจากการรักษาตามสาเหตุแล้วยังต้องให้การรักษาประคับประคองทางด้านจิตใจและให้คำปรึกษาแนะนำที่เหมาะสมแก่คู่สมรสด้วย(16, 17)

1. การรักษาความผิดปกติทางพันธุกรรม

ควรได้รับการให้คำปรึกษาเฉพาะรายจากนักพันธุศาสตร์ โดยคู่สามีภรรยาที่มีโครโมโซมผิดปกติอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด เช่น การเจาะน้ำคร่ำหรือเก็บชิ้นเนื้อรกเพื่อประเมินโครโมโซมของทารกในครรภ์ หากมีความผิดปกติอาจพิจารณาให้ทางเลือกโดยการยุติการตั้งครรภ์ได้ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลในขณะนี้ยกเว้นกรณีของ robertsonian translocation ที่เกิดบนโครโมโซมซึ่งเป็น homologous กัน สามารถใช้ไข่หรือเชื้ออสุจิของคนอื่นมาผสมเทียมได้ ขึ้นอยู่กับว่าความผิดปกติเป็นของฝ่ายใดหรือใช้การวินิจฉัยก่อนฝังตัวของตัวอ่อนและคัดเลือกตัวอ่อนที่ปกติใส่กลับเข้าโพรงมดลูก แต่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดจากความไม่แม่นยำของวิธีการวินิจฉัยก่อนฝังตัวของตัวอ่อน

การทำเด็กหลอดแก้วและการวินิจฉัยก่อนฝังตัวของตัวอ่อนสามารถนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการฝังตัวอ่อนที่มีความผิดปกติและสามารถเพิ่มผลลัพธ์ที่ดีของการตัง้ครรภ์ในสตรีที่มีประวัติภาวะแท้งซ้ำซากได้

การใช้ไข่หรืออสุจิจากการบริจาค, การอุ้มบุญและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมสามารถป้องกันการปฏิสนธิที่ได้ตัวอ่อนผิดปกติได้ แนวทางการเลือกขึ้นอยู่กับความผิดปกติและความต้องการของคู่สามีภรรยา

2. การรักษาความผิดปกติที่กายวิภาคของมดลูกและปากมดลูก

รักษาด้วยการการส่องกล้องผ่าตัดผ่านโพรงมดลูก ในหญิงที่มีความผิดปกติทางกายวิภาคของมดลูกสามารถแก้ปัญหาเรื่องการแท้งได้ เช่น ภาวะแผ่นกั้นมดลูก, พังผืดในโพรงมดลูกหรือก้อนเนื้องอกมดลูกชนิด submucous ยังไม่มีการศึกษาแบบสุ่มเพื่อดูผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์หลังการรักษาโดยการผ่าตัด แต่มีการศึกษาแบบเฝ้าติดตามพบว่าหลังการรักษา bicornuate และ septate uteri ด้วยการผ่าตัดสามารถลดอัตราการแท้งได้จากร้อยละ 84 เหลือเพียงร้อยละ 12(18)

การศึกษาแบบ prospective เรื่องอัตราการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมีชีวิต หลังการรักษาด้วยวิธี hysteroscopic metroplasty โดยการใช้ resectoscope ตัดพังผืดภายในโพรงมดลูก พบว่าสูงกว่าสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากไม่ทราบสาเหตุอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 34.1 และ 18.9 ตามลำดับ)(6) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพื่อดูผลลัพธ์ของการทำ IVF ในสตรีที่มีภาวะแผ่นกั้นมดลูกก่อนและหลังได้รับการรักษาโดย hysteroscopic resection และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการเคลื่อนย้ายตัวอ่อนสองครั้งติดต่อกัน พบว่าสตรีที่มีแผ่นกั้นมดลูกขนาดใหญ่มีอัตราการคลอดบุตรมีชีวิตร้อยละ 2.7 ก่อนผ่าตัด, ร้อยละ 15.6 หลังผ่าตัดและร้อยละ 20.9 ในกลุ่มควบคุม ในขณะที่สตรีที่มีแผ่นกั้นมดลูกขนาดเล็กมีอัตราการคลอดบุตรมีชีวิตร้อยละ 2.8 ก่อนผ่าตัด, ร้อยละ 18.6 หลังผ่าตัดและร้อยละ 21.9 ในกลุ่มควบคุม(6)

ส่วนเรื่องการเย็บผูกปากมดลูกเพื่อป้องกันการแท้งในสตรีที่มีความผิดปกติทางกายวิภาคของมดลูกแต่ไม่เคยมีประวัติแท้งในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ไม่แนะนำให้เย็บผูกปากมดลูกในสตรีที่ไม่มีภาวะปากมดลูกเปิดโดยไม่มีการเจ็บครรภ์ นอกจากผลข้างเคียงจากการทำหัตถการแล้ว การเย็บผูกปากมดลูกอาจทำให้มดลูกเกิดการหดรัดตัวได้ ดังนั้นจึงควรทำเฉพาะในรายที่ได้ประโยชน์จากการทำจริงๆ หากหญิงมีประวัติแท้งในไตรมาสที่2 และสงสัยว่ามีปากมดลูกอ่อนแอโดยที่ไม่เคยมีประวัติที่ต้องได้รับการเย็บผูกปากมดลูกแนะนำให้ตรวจติดตามอัลตราซาวด์เพื่อดูความยาวของปากมดลูก และหากความยาวของปากมดลูกน้อยกว่า 25 มิลลิเมตรแนะนำให้เย็บผูกปากมดลูกก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์(10) ส่วนการอุ้มบุญสามารถใช้เป็นทางเลือกในกรณีที่มดลูกมีความผิดปกติแบบไม่สามารถแก้ไขได้

การรักษาเนื้องอกมดลูก การศึกษาส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่าควรทำในกรณีที่เป็นชนิด submucous หรือชนิด intracavitary โดยการผ่าตัดก้อนเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้อง หากก้อนเนื้องอกมดลูกมีขนาดเล็กและมีก้อนเดียวพบว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะได้ผลดี แต่หากก้อนขนาดใหญ่และมีหลายก้อนจะเพิ่มความเสี่ยงจากการผ่าตัดได้มากกว่าและยังเพิ่มการเกิดพังผืดในโพรงมดลูกด้วย ส่วนกรณีที่ก้อนเนื้องอกมดลูกลึกลงไปถึง myometrium อาจผ่าตัดก้อนเนื้องอกบางส่วนแบบส่องกล้องหรือผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องก็ได้ หากก้อนเนื้องอกไม่ได้ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูกอาจไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดหากผู้ป่วยไม่มีอาการ

3. การรักษาความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ

3.1 ความบกพร่องของระยะลูเตียล

มีการศึกษาแบบสุ่ม 2 การศึกษาเปรียบเทียบการให้ clomiphene กับ progesterone พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ไม่แตกต่างกัน (ร้อยละ 20-30) แต่ clomiphene citrate ไม่สามารถใช้ในรายที่มีการแท้งซ้ำซากได้เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนที่เยื่อบุโพรงมดลูก

มี systemic review 4 การศึกษาพบว่า การให้ hCG ในสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซาก 180 รายสามารถลดอัตราการแท้งได้อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะสตรีที่มีประวัติประจำเดือนมาน้อย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอในการให้ hCG เพื่อป้องกันการเกิดการแท้งซ้ำในสตรีที่มีการแท้งไม่ทราบสาเหตุ(10)

การรักษาที่นิยมมากที่สุดคือการให้โปรเจสเตอโรนแบบสอดทางช่องคลอดเพื่อเป็น luteal support โดยให้เริ่มต้น 3-4 วันหลังตกไข่จนถึงอายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์

จากหลักฐานการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าการรักษาความบกพร่องของระยะลูเตียลไม่ได้ป้องกันการแท้ง แต่มีประโยชน์ช่วยลดการแท้งในสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซากได้

3.2 ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ

ในรายที่มีอาการของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำชัดเจน การให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนจนระดับ TSH อยู่ในเกณฑ์ปกติจะช่วยรักษาภาวะแท้งซ้ำซากได้ แต่ในรายที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำที่ไม่มีอาการยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ อย่างไรก็ตามการรักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำที่ไม่มีอาการแต่พบ antithyroid antibody มีแนวโน้มที่จะมีประโยชน์จากการให้ฮอร์โมนไทรอยด์

สตรีที่มีระดับไทรอยด์ปกติแต่มีระดับ TPO antibody ในเลือดสูง การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในช่วงตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงในการแท้งและการคลอดก่อนกำหนด มีการศึกษาแบบสุ่มเรื่องการให้ levothyroxine ในสตรีตั้งครรภ์ไตรมาสแรกที่มีระดับไทรอยด์ปกติแต่มีระดับ TPO antibody สูงพบว่าสามารถลดอัตราการแท้งได้อย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 13.8 เหลือเพียงร้อยละ 3.5 นอกจากนี้ยังสามารถลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดด้วย(19)

3.3 ภาวะโปรแลคตินในเลือดสูง

ระดับที่โปรแลคตินที่ปกติในกระแสเลือดมีบทบาทสำคัญในการดำรงอยู่ของการตั้งครรภ์ในระยะแรก ระดับโปรแลคตินที่สูงจะพบมากในสตรีที่มีการแท้ง มีการศึกษาหญิงที่มีภาวะแท้งซ้ำร่วมกับมีภาวะโปรแลคตินในเลือดสูง 64 รายโดยให้ bromocriptine ในการรักษาภาวะโปรแลคตินในเลือดสูงเทียบกับไม่ได้รับการรักษาพบว่าอัตราการตั้งครรภ์สำเร็จเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ(ร้อยละ 86 และ 52 ตามลำดับ) การรักษาทำได้โดยให้ bromocriptine รับประทานจนระดับ prolactin กลับมาปกติ(20)

3.4 โรคเบาหวาน

สตรีที่เป็นเบาหวานควรได้รับการรักษาด้วยยาที่เหมาะสมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีก่อนตั้งครรภ์ รวมทั้ง HbA1C น้อยกว่าร้อยละ 6.5

3.5 ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

สตรีที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบพบว่ามีอัตราการแท้งถึงร้อยละ 20-40 และร้อยละ 40-50 จะพบมีภาวะดื้อต่ออินซูลินร่วมด้วย การรักษาโดยให้ metformin รับประทานจะช่วยลดระดับอินซูลินและแอนโดรเจนในเลือดซึ่งอาจทำให้อัตราการแท้งในช่วงไตรมาสแรกลดลง แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอในการใช้ metformin เพื่อป้องกันการแท้ง(10) ในสตรีที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบและอ้วนการลดความอ้วนจะช่วยลดอัตราการแท้งได้(21)

4. การรักษาความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน

4.1 Antiphospholipid syndrome

การให้ aspirin ร่วมกับ heparin สามารถช่วยทำให้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ในผู้ป่วย antiphospholipid syndrome ที่มีภาวะแท้งซ้ำซากดีขึ้นได้ แต่ไม่ช่วยในรายที่ตรวจไม่พบ antiphospholipid antibody(6) แนะนำให้ร่วมกันทั้ง aspirin และ heparin เนื่องจากประสิทธิภาพดีกว่าการให้ aspirin เพียงอย่างเดียว โดยควรให้หลังจากตรวจพบว่าตั้งครรภ์ไปตลอดการตั้งครรภ์ การรักษาได้ผลประมาณร้อยละ 75 แต่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการคลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ ทารกโตช้าในครรภ์ ทารกตายในครรภ์และครรภ์เป็นพิษ ภาวะแทรกซ้อนที่พบคือเลือดออกจากทางเดินอาหาร กระดูกบาง รกลอกตัวก่อนกำหนด ส่วนการให้ยาสเตียรอยด์หรือ intravenous immunoglobulin นอกจากไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราคลอดบุตรมีชีวิตแล้วยังส่งผลเสียกับมารดาและทารกในครรภ์ด้วย(10)

มีการศึกษาของ Sheng-Long Ye และคณะพบว่าการให้ยาต้านการอักเสบร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีประสิทธิภาพมากกว่ายาต้านการแข็งตัวของเลือดเพียงอย่างเดียว โดยพบอัตราการเกิดการแท้งซ้ำได้น้อยกว่า(22)

4.2 Alloimmunity

การรักษาด้วย Paternal cell immunization, third-party donor leucocytes, trophoblast membranes and intravenous immunoglobulin ไม่ได้เพิ่มอัตราการคลอดบุตรมีชีพ(10) นอกจากไม่พบว่ามีประโยชน์ที่ชัดเจนแล้วบางชนิดยังพบว่าเป็นโทษ(23)

5. การรักษาความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด

การให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอาจมีประโยชน์กับมารดาในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในการป้องกันภาวะแท้งซ้ำซากเนื่องจากยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน โดย RCOG พบว่าการรักษาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติด้วย heparin อาจจะมีประโยชน์ในรายที่มีการแท้งซ้ำซากในไตรมาสที่ 2 แต่ไม่มีประโยชน์สำหรับการแท้งในไตรมาสแรก(10) แต่ ACOG ไม่แนะนำให้รักษาเนื่องจากยังไม่พบว่ามีประโยชน์เพื่อป้องกันการแท้งซ้ำซาก(14)

6. การรักษาการติดเชื้อที่ระบบอวัยวะสืบพันธุ์

ควรให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสตามการตรวจพบเชื้อที่เป็นสาเหตุและตรวจติดตามก่อนการพิจารณาให้ตั้งครรภ์

ในรายที่ไม่พบสาเหตุของภาวะแท้งซ้ำซาก มีทางเลือกในการรักษาดังนี้

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม: หลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษต่างๆ งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุราและกาแฟ รวมทั้งลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายในผู้ป่วยอ้วนด้วย
  2. โปรเจสเตอโรน: ไม่แนะนำการให้ โปรเจสเตอโรนสอดทางช่องคลอดในสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซากเนื่องจากไม่ได้เพิ่มอัตราการคลอดบุตรมีชีวิต(24) มีการศึกษาสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซาก 800 รายเรื่องการให้โปรเจสเตอโรนแบบสอดทางช่องคลอดเทียบกับไม่ให้พบว่า 2 ใน 3 ของสตรีแต่ละกลุ่มคลอดบุตรมีชีวิตหลังอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการดำรงการตั้งครรภ์, การแท้งนอกมดลูก, การแท้งหรือทารกตายคลอดไม่แตกต่างกัน(25)
  3. เด็กหลอดแก้วและการวินิจฉัยก่อนฝังตัวของตัวอ่อน: สตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซากโดยไม่ทราบสาเหตุพบว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซม 13,16,18, 21, 22, X และ Y ได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นเทคโนโลยีการคัดเลือกตัวอ่อนอาจช่วยได้ แต่ยังไม่ได้มีข้อมูลหรือการพิสูจน์ที่ชัดเจน(6, 26)
  4. การรับบริจาคไข่: การที่ไข่ไม่มีคุณภาพพบว่าทำให้เกิดการแท้งได้ร้อยละ 25 การรับบริจาคไข่ช่วยเพิ่มอัตราการคลอดบุตรมีชีวิตเป็นร้อยละ 88 ในสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซาก(27)
  5. การอุ้มบุญ: — แนะนำในสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซากหรือมีความล้มเหลวในการทำเด็กหลอดแก้วซึ่งเกิดจากการที่มีโครโมโซมผิดปกติแบบต่างๆ โดยก่อนเลือกใช้วิธีอุ้มบุญ ควรหาสาเหตุอื่นๆ ของภาวะแท้งซ้ำซากหรือมีความล้มเหลวในการทำเด็กหลอดแก้วก่อน
  6. การให้การรักษาแบบผสมผสาน : ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอว่าการรักษาแบบใดมีประโยชน์ แต่มีการศึกษาแบบติดตามผลเปรียบเทียบหญิงตั้งครรภ์ 50 รายก่อนและระหว่างรักษาด้วย prednisolone(20 mg/day), progesterone (20 mg/day), aspirin (100 mg/day) และ folate (5 mg every second day) เทียบกับหญิงตั้งครรภ์ 52 รายที่ไม่ได้รับการรักษา พบอัตราการแท้งในการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกร้อยละ 19 ในรายที่ได้รับการรักษาและร้อยละ 63 ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา อัตราคลอดบุตรมีชีวิตพบว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 77 ในรายที่ได้รับการรักษาและร้อยละ 35 ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา)(28)

การติดตามหลังการตั้งครรภ์

หากพบมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นควรตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อยืนยันว่าเป็นการตั้งครรภ์ในมดลูกจริงโดยในระยะแรกของการตั้งครรภ์ควรตรวจระดับ B-hCG ตั้งแต่เริ่มขาดประจำเดือนเป็นระยะๆ จนกระทั่งได้ประมาณ 1200-1500 mIU/ml จึงทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทุก 2 สัปดาห์จนถึงช่วงอายุครรภ์ที่เคยแท้ง หากตรวจไม่พบทารกและการเต้นของหัวใจทารกที่ 6-7 สัปดาห์หรือถุงการตั้งครรภ์โตเกิน 15 มิลลิเมตร หรือ crown-rump length เกิน 5 มิลลิเมตรโดยไม่มีหัวใจเต้นถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ล้มเหลว ควรจะยุติการตั้งครรภ์และตรวจโครโมโซมเพื่อหาสาเหตุเสมอ เมื่ออายุครรภ์ 11-12 สัปดาห์ให้ตรวจ nuchal translucency ร่วมกับ serum screening ในช่วง 11-14 สัปดาห์หรือ 15-18 สัปดาห์เพื่อคัดกรอง Down syndrome และ trisomy อื่นๆ อาจจะเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมได้ถ้าอายุครรภ์เกินช่วงที่เคยแท้งมาแล้ว

โอกาสเป็นซ้ำและพยากรณ์โรค

ความเสี่ยงของการแท้งซ้ำ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและจำนวนครั้งของการแท้งก่อนหน้านี้ หากเป็นครรภ์แรกความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรประมาณร้อยละ12 แต่หากครรภ์ก่อนแท้งบุตรแล้ว ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 24 หากเคยแท้งบุตรมาก่อน 2 ครั้ง จะมีความเสี่ยงเพิ่มเป็นร้อยละ 26 แต่หากเคยแท้งบุตรมาก่อน 3 ครั้ง จะมีความเสี่ยงเพิ่มเป็นร้อยละ 32 อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเสี่ยงของการเกิดภาวะแท้งซ้ำ เช่น

  • อายุของมารดาที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้ง ทั้งในตัวอ่อนที่ปกติและผิดปกติ
  • จำนวนการตั้งครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น สัมพันธ์กับการเพิ่มอัตราการแท้งบุตร
  • ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ก่อนสามารถส่งผลดีและผลเสียต่อการตั้งครรภ์ครั้งนี้ได้ ความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรจะเพิ่มสูงขึ้นหากมีประวัติของการแท้งติดต่อกันมาก่อน(29)
  • อายุครรภ์ขณะแท้งบุตร เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเพื่อหาสาเหตุและความเสี่ยงของการเกิดซ้ำ ภาวะแท้งซ้ำมักเกิดในช่วงอายุครรภ์เดียวกันกับครรภ์ก่อน พบว่าความเสี่ยงต่อการแท้งซ้ำเพิ่มสูงขึ้น เมื่ออายุครรภ์ขณะแท้งบุตรเพิ่มขึ้น

มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะแท้งซ้ำหากรักษาสาเหตุแล้วจะสามารถคลอดบุตรมีชีวิตได้หลังการรักษาความผิดปกติทางพันธุกรรมประมาณร้อยละ 20-80 ความผิดปกติทางกายวิภาคประมาณร้อยละ 60-90 ความผิดปกติของฮอร์โมนมากกว่าร้อยละ 90 และประมาณร้อยละ 70-90 ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรค antiphospholipid syndrome ดังนั้นถึงแม้ภาวะแท้งซ้ำ ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะหาสาเหตุไม่ได้ซึ่งคาดว่าอาจมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้องทั้งด้านสามีและภรรยา แต่โอกาสที่จะตั้งครรภ์และคลอดมีชีพสูงกว่าอัตราการแท้งในการตั้งครรภ์ถัดไป(4) โดยแนะนำให้เว้นระยะการตั้งครรภ์ประมาณ 6-9 เดือนหลังจากการแท้งครั้งแรกเพื่อลดความเสี่ยงและดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้(30)

เอกสารอ้างอิง

  1. Fritz MA. Clinical gynecologic endocrinology and infertility. 8, editor. Lippincott williams & wilkins, a wolters kluwer business2011. 1191-221 p.
  2. Medicine PCotASfR. Definition of infertility and recurrent pregnancy loss. FertilSteril. 2008;89:1603.
  3. Medicine PcotASfR. Evaluation and treatment of recurrent pregnancy loss: A committee opinion. FertilSteril. 2012.
  4. ฐิติมา สุนทรสัจ สตพส. การแท้งซ้ำซาก. 3 ed. ตันนิรันดร เอ, editor. กรุงเทพฯ: บริษัทพิมพ์ดี; 2556. 17-36 p.
  5. Ford HB SD. Recurrent pregnancy loss: etiology, diagnosis, and therapy. Rev Obstet Gynecol. 2009;2:76-83.
  6. Management of couples with recurrent pregnancy loss [Internet]. 2017. Available from: http://www.uptodate.com/contents/management-of-couples-with-recurrent-pregnancy-loss.
  7. Regan L RR. Epidemiology and the medical causes of miscarriage. Baillieres Best Pract Res ClinObstetGynaecal. 2000;14:839.
  8. Greene MF HJ, Cloherty JP, et al. First-trimester hemoglobin A1 and risk for major malformation and spontaneous abortion in diabetic pregnancy. Teratology. 1989;39:225.
  9. Evaluation of couples with recurrent pregnancy loss [Internet]. 2017. Available from: http://www.uptodate.com/contents/evaluation-of-couples-with-recurrent-pregnancy-loss.
  10. gynaecologists Rcoo. The investigation and treatment of couples with recurrent first-trimester and second-trimester miscarriage. Green-top guideline. 2011(17).
  11. Pellerito JS MS, Doyle MB, et al. Diagnosis of uterine anomalies: relative accuracy of MRI, endovaginalsonography, and hysterosalpingography. Radiology. 1992;183:795.
  12. Chen L HR. Thyroid autoimmunity and miscarriage: a meta-analysis. ClinEndocrinol (Oxf). 2011;74:513.
  13. Miyskis S LM, Atsumi T, Branch DW, Brey RL, Cervera R, et al. International consensus statement on an update of the classification criteria for definite antiphospholipid syndrome (APS). J Thromb Haemost. 2006;4:295-306.
  14. gynecologists Tacooa. Early pregnancy loss. The american college of obstetricians and gynecologists practice bulletin clinical management guidelines for obsterician-gynecologists. May 2015.
  15. Harger JH AD, Marchese SG, et al. Etiology of recurrent pregnancy losses and outcome of subsequent pregnancies. Obstet Gynecol. 1983;62:574.
  16. Stray-Pedersen B S-PS. Etiologic factors and subsequent reproductive performance in 195 couples with a prior history of habitual abortion. Am J Obstet Gynecol. 1984;148:140.
  17. Liddell HS PN, Zanderigo A. Recurrent miscarriage—outcome after supportive care in early pregnancy. Aust N Z J Obstet Gynaecol. 1991;31:320.
  18. Heinonen PK SS, Pystynen P. Reproductive performance of women with uterine anomalies. An evaluation of 182 cases. Acta Obstet Gynecol Scand. 1982;61:157.
  19. Negro R FG, Mangieri T, et al. Levothyroxine treatment in euthyroid pregnant women with autoimmune thyroid disease: effects on obstetrical complications. J Clin Endocrinol Metab. 2006;91:2587.
  20. Hirahara F AN, Sawal K, et al. Hyperprolactinemic recurrent miscarriage and results of randomized bromocriptine treatment trials. FertilSteril. 1998;70:246.
  21. Glueck CJ WP, Goldenberg N, Seive-Smith L. Pregnancy outcomes among women with polycystic ovary syndrome treated with metformin. Hum Reprod. 2002;17:2858.
  22. Sheng‑Long Ye XKG, Li‑Yuan Tao. Efficacy of Different Treatment Regimens for Antiphospholipid Syndrome‑related Recurrent Spontaneous Abortion. Chinese Medical Journal. 2017;130(12):1395-9.
  23. Christiansen OB LE, Egerup P, et al. Intravenous immunoglobulin treatment for secondary recurrent miscarriage: a randomised, double-blind, placebo-controlled trial. BJOG. 2015;122:500.
  24. Medicine PCotASfR. Current clinical irrelevance of luteal phase deficiency: a committee opinion. FertilSteril. 2015;103:e27.
  25. Coomarasamy A WH, Truchanowicz E, et al. A Randomized Trial of Progesterone in Women with Recurrent Miscarriages. N Engl J Med. 2015;373:2141.
  26. TJ H. A cytogenic study of repeated spontaneous abortions. Am J Hum Genet. 1980;32:723.
  27. Remohi J GE, Levy M, et al. Oocyte donation in women with recurrent pregnancy loss. Hum Reprod. 1996;11:2048.
  28. Tempfer CB KC, Bentz EK, et al. A combination treatment of prednisolone, aspirin, folate, and progesterone in women with idiopathic recurrent miscarriage: a matched-pair study. FertilSteril. 2006;86:145.
  29. K C, R R, L R. Future pregnancy outcome in unexplained recurrent first trimester miscarriage. Hum Reprod. 1997;12(2):387.
  30. Christiane Kling JrH, Dieter Kabelitz. Fertility after recurrent miscarriages: results of an observational cohort study. Arch Gynecol Obstet. 2017.
Read More
GermCell 1

Ovarian Germ Cell Tumors

Ovarian Germ Cell Tumors

พญ. หรัดปพร ปิยะเวชการ
อาจารย์ที่ปรึกษา รศ. พญ. ประภาพร สู่ประเสริฐ


Ovarian germ cell tumors คือ เนื้องอกรังไข่ที่มีต้นกำเนิดมาจาก primitive germ cells ของรังไข่ พบได้ 20-25% ของเนื้องอกรังไข่ทั้งหมด ซึ่งอาจจะเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือมะเร็งก็ได้ มีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นมะเร็ง ในประเทศเอเชียและกลุ่มคนผิวดำพบมะเร็งคิดเป็น 15% ของเนื้องอกรังไข่ทั้งหมด

เนื้องอกชนิดนี้มักพบในช่วงอายุ 20 ปีแรก โดยพบว่า 70% ของเนื้องอกรังไข่ทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจาก germ cell และพบว่าประมาณ 1 ใน 3 เป็นมะเร็ง ในช่วงอายุ 30 ปีก็สามารถพบมะเร็งชนิด germ cell ได้เช่นกันแต่พบได้น้อยมาก(1)

ตารางที่ 1 แสดงการจำแนกชนิดของ germ cell tumor(1)

 

Histologic Typing of Ovarian Germ Cell Tumors

I. Primitive Germ Cell Tumors

                                                

III. Monodermal Teratoma and Somatic-Type Tumors Associated Dermoid Cysts
Dysgerminoma

Yolk sac tumor

Embryonal carcinoma

Polyembryoma

Nongestational choriocarcinoma

Mixed germ cell tumor

Thyroid tumor

  • Struma ovarii

Benign

Malignant

Carcinoid

Neuroectodermal tumor

Carcinoma

Melanocytic

Sarcoma

  • Sebaceous tumor
  • Pituitary-type tumor

Others

 

II. Biphasic or Triphasic Teratoma
Immature teratoma

Mature teratoma

  • Solid
  • Cystic

Dermoid cyst

Fetiform teratoma (homunculus)

 

 

ดัดแปลงจาก: Berek J, Friedlander M, Hacker N. Germ Cell and Nonepithelial Ovarian Cancer. 6 ed. Philadelphia, PA: Lippincott Williams & Wilkins; 2015.

ลักษณะทางคลินิก(1,2)

อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ ปวดท้องและมีก้อนในช่องท้อง ลักษณะของมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell ที่แตกต่างจากมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวคือก้อนโตเร็ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้องแบบกึ่งเฉียบพลันเนื่องจากเปลือกหุ้มก้อนถูกขยาย เลือดออกในช่องท้องจากการแตกของก้อน หรือมีเนื้อเน่าตาย ส่วนอาการที่เกิดขึ้นเร็วจะสัมพันธ์กับการบิดขั้วหรือการแตกของก้อน นอกจากนี้ก้อนที่โตเร็วอาจทำให้เกิดอาการกดเบียดกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยบางรายอาจมีลักษณะผิดปกติของรอบเดือนได้ ในรายที่เป็นระยะลุกลามผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการอืดแน่นท้องซึ่งเกิดจากน้ำในช่องท้อง

การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม(1,2)

การตรวจอัลตราซาวน์ (ultrasonography):

เพื่อยืนยันการมีก้อนที่รังไข่ และดูลักษณะก้อนว่าเป็นน้ำหรือเนื้อตัน รวมถึงประเมินลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงรังไข่เพื่อช่วยในการแยกว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือมะเร็ง ถ้าผลการตรวจอัลตราซาวน์พบก้อนเนื้อตันหรือพบถุงน้ำเป็นส่วนน้อยก็จะช่วยให้นึกถึงมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell มากยิ่งขึ้น ขนาดของก้อนจะช่วยในการบอกความเสี่ยงของมะเร็งโดยมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell จะมีขนาดใหญ่กว่าชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง นอกจากนี้ควรตรวจหาน้ำในช่องท้อง น้ำในเยื่อหุ้มปอดและอวัยวะโตในช่องท้องด้วย

Tumor marker:

มีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยแยกโรคและใช้ในการตรวจติดตามหลังการรักษาได้ เช่น EST สร้าง AFP, choriocarcinoma สร้าง hCG ในขณะที่ immature teratoma ไม่สร้าง hCG แต่อาจจะสัมพันธ์กับระดับ AFP ที่สูงขึ้นได้ ส่วนในผู้ป่วย dysgerminoma พบว่า alkaline phosphatase(ALP) และ lactate dehydrogenase(LDH) มีปริมาณสูงขึ้นได้ถึง 95% แต่พบระดับ hCG สูงขึ้นได้ 3% และไม่พบระดับ AFP สูงขึ้นเลย
ในผู้ป่วยที่อายุน้อยควรตรวจเลือดดูค่า tumor marker ได้แก่ hCG, AFP, LDH, และ CA 125 เพื่อช่วยในการวินิจฉัยด้วย

GermCell 1

รูปที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell กับค่า tumor marker(1)

ดัดแปลงจาก: Berek J, Friedlander M, Hacker N. Germ Cell and Nonepithelial Ovarian Cancer.
6 ed. Philadelphia, PA: Lippincott Williams & Wilkins; 2015.

Chest X-ray(XR): การทำเอกซเรย์ปอดควรทำทุกรายเนื่องจาก germ cell tumor สามารถแพร่กระจายไปที่ปอดหรือเยื่อกั้นกลางช่องอกได้

Computed tomography (CT) หรือ MRI: จะช่วยประเมินเรื่องการแพร่กระจายภายในช่องท้องและการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองหลังช่องท้อง

Karyotype: ควรทำในเด็กหญิงวัยก่อนมีประจำเดือนทุกรายเนื่องจาก germ cell tumor มักเกิดในผู้ป่วยที่มีการกำเนิดผิดปกติของต่อมบ่งเพศ(gonadal dysgenesis)

ชนิดของ ovarian germ cell neoplasm

1. Dysgerminoma

เป็นมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell ที่พบได้บ่อยที่สุด คิดเป็น 30 – 40 % และพบได้ 5-10% ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยอายุ 10-30 ปี(คิดเป็น 75%) พบได้น้อยในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 10 ปีและมากกว่า 50 ปี โดยที่ 5% ของ dysgerminoma มีลักษณะภายนอกเป็นเพศหญิงที่มีความผิดปกติของต่อมบ่งเพศ dysgerminoma อาจจะสัมพันธ์กับ pure gonadal dysgenesis(46XY, bilateral streak gonads), mixed gonadal dysgenesis (45X/46XY, unilateral streak gonad, contralateral testis) และ androgen insensitivity syndrome(46XY, testicular feminization) ซึ่งหากมี gonadoblastoma(เนื้องอกรังไข่ที่ประกอบด้วย germ cells และ sex cord stroma) ในผู้ป่วยที่เป็น gonadal dysgenesis พบว่ามากกว่า 50% กลายเป็นมะเร็งรังไข่ ดังนั้นหากพบ Y chromosome แนะนำให้ตัดรังไข่ทั้งสองข้างออก

65% ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด dysgerminoma ตอนที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นระยะที่ 1 ส่วนใหญ่พบเป็นที่มะเร็งรังไข่ข้างเดียว(85-90%) โอกาสที่เป็น 2 ข้างประมาณ 10-15% และยังพบร่วมกับการตั้งครรภ์ได้ถึง 20-30%

ในระยะลุกลามส่วนใหญ่จะลุกลามไปทางต่อมน้ำเหลืองโดยเฉพาะ para-aortic nodes นอกจากนี้ยังกระจายไปยังเส้นเลือดหรือแพร่กระจายโดยตรงไปที่เยื่อบุช่องท้อง และพบว่ายังสามารถกระจายไปที่รังไข่อีกข้างได้ ส่วนที่พบได้ไม่บ่อยคือ กระดูก ส่วนการลุกลามไปปอด ตับ และสมองจะพบได้ในรายที่กลับเป็นซ้ำ(1)
ลักษณะที่มองด้วยตาเปล่าจะเป็นก้อนสีเทาอ่อนเนื้อแน่น ผิวด้านนอกเรียบและหน้าตัดจะไม่เรียบ อาจจะมีสีน้ำตาลอ่อน สีครีมหรือสีชมพู ไม่ค่อยพบหย่อมเลือดออกหรือเนื้อเน่าตาย หากพบมีหย่อมเลือดออกหรือเนื้อเน่าตายเป็นบริเวณกว้างให้สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกหรือมะเร็งชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย
ลักษณะทางพยาธิวิทยาที่ช่วยในการวินิจฉัยของ dysgerminoma ได้แก่ การพบเซลล์รูปเหลี่ยมที่มีการเรียงตัวอัดแน่นเป็นกลุ่มเล็กใหญ่หลายขนาด ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะมีลักษณะเหมือน primordial germ cell ทุกประการ โดยแต่ละกลุ่มแยกออกจากกันด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มี lymphocyte แทรกอยู่ เซลล์มะเร็งมีไซโทพลาซึมค่อนข้างใสหรือย้อมติดสีชมพูจางๆ เห็นชัดเจน นิวเคลียสกลม บางครั้งอาจพบ syncytiotrophoblast ทำให้มีการสร้างฮอร์โมน hCG แต่ไม่ใช่ choriocarcinoma เนื่องจากไม่พบ cytotrophoblasts(2,3)

2. Immature teratoma

พบได้บ่อยรองลงมาจาก dysgerminoma ประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อที่พัฒนามาจากเนื้อเยื่อทั้ง 3 ชั้นได้แก่ เนื้อเยื่อชั้นนอก เนื้อเยื่อชั้นกลางและเนื้อเยื่อชั้นใน ส่วนใหญ่เป็นที่รังไข่ข้างเดียว โอกาสที่จะเป็น 2 ข้างพร้อมกันน้อยกว่า 5% อาจพบ mature cystic teratoma ร่วมด้วยในรังไข่ด้านตรงข้ามประมาณ 10% immature teratoma จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามระดับ immaturity ของ neural tissue โดยเกรดของ immature จะเป็นปัจจัยพยากรณ์โรคที่สำคัญประการหนึ่งนอกเหนือไปจากระยะของโรค(2-5)
ลักษณะที่มองด้วยตาเปล่าจะพบก้อนขนาดใหญ่สีเทาหรือน้ำตาล เมื่อผ่าดูด้านในจะพบมีลักษณะเป็นเนื้อปนกับถุงน้ำ ส่วนที่เป็นเนื้ออาจมีลักษณะคล้ายเนื้อสด บางส่วนจะเป็นเนื้อแข็งและสาก ส่วนที่มีสีขาวเทาและผิวมันมันเป็นส่วนของกระดูกอ่อน

ลักษณะทางพยาธิวิทยาที่ใช้ในการวินิจฉัยได้แก่ การพบเนื้อเยื่อที่มาจากเนื้อเยื่อชั้นนอก เนื้อเยื่อชั้นกลางและเนื้อเยื่อชั้นใน โดยส่วนที่เป็น immature ส่วนประกอบส่วนใหญ่จะเป็น neuroectoderm ที่ประกอบด้วย neuroepithelial cell, tubules และ glial tissue

3. Endodermal sinus tumor(EST)

Endodermal sinus tumor มีอีกชื่อหนึ่งคือ yolk sac carcinoma เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจาก primitive yolk sac พบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 3 รองลงมาจาก dysgerminoma และ immature teratoma ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 18 ปี อาการที่พบส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการปวดท้อง(พบได้ 75%) หรืออาจคลำพบก้อนที่หน้าท้อง(พบได้ 10%) ส่วนใหญ่ EST จะหลั่ง AFP ดังนั้น AFP จะช่วยบอกการดำเนินโรคและยังเป็นตัวช่วยในการประเมินการตอบสนองของโรคและการติดตามโรคด้วย(1)

ลักษณะที่มองด้วยตาเปล่าจะพบได้ทั้งที่เป็นก้อนเนื้อตัน อาจจะพบว่าบางส่วนมีลักษณะเป็นถุงน้ำอยู่ภายใน ลักษณะที่แตกต่างไปจากมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell ชนิดอื่น คือ มีโอกาสพบในระยะลุกลามมากกว่า มีการแพร่กระจายเร็วกว่าและมีการลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงได้บ่อยกว่า

เมื่อฝานหน้าตัดดูจะพบเป็นเนื้อสีเทาหรือสีครีมที่มีหย่อมเลือดออกหรือเนื้อเน่าตายเป็นบริเวณกว้าง และมักจะพบถุงน้ำเล็กๆ แพร่กระจายอยู่ทั่วไป ลักษณะทางพยาธิวิทยาที่พบมีหลายแบบ ได้แก่ microcystic, endodermal sinus, solid alveolar-glandular, polyvesicular vitelline, myxomatous, papillary, macrocystic, hepatoid และ primitive endodermal (intestinal) pattern(2,3)

ในบางรายจะพบ schiller-duval bodies หรือ sinuses of duval ซึ่งจะประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่เรียงตัวเป็นลักษณะ papillary ที่คลุมด้วยเยื่อบุผิวของมะเร็งโดยที่แกนกลาง(mesenchymal core) จะมีหลอดเลือดฝอยอยู่ อาจพบ intracellular hyaline bodies ได้โดยการย้อมด้วย periodic-acid-schiff(PAS) เมื่อย้อมพิเศษโดยวิธี immunoperoxidase จะพบ eosinophilic globules ที่มี AFP อยู่ภายในเซลล์(2,5,6)

4. มะเร็งรังไข่ชนิด germ cell ที่พบได้น้อย

4.1 Embryonal carcinoma
พบได้น้อยมาก ต่างกับ choriocarcinoma คือ ไม่มี syncytiotrophoblastic และ cytotrophoblastic cells ช่วงอายุที่พบได้คือ 4-28 ปี embryonal carcinoma สามารถหลั่งเอสโตรเจนได้ ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยและมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดได้ ส่วนอาการอื่นๆ จะเหมือนกับที่พบใน EST tumor marker ที่สัมพันธ์ คือ AFP และ hCG จึงสามารถใช้ตรวจเพื่อติดตามการรักษาได้

4.2 Choriocarcinoma of the ovary(Pure nongestational choriocarcinoma)
พบได้น้อยมาก ลักษณะทางพยาธิวิทยาจะเหมือนกับ gestational choriocarcinoma จะพบในช่วงอายุน้อยกว่า 20 ปี tumor marker ที่ใช้ในการติดตามการรักษาคือ hCG ซึ่งหากมีระดับ hCG สูงจะทำให้เข้าสู่ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยของเพศเดิม(isosexual puberty) ได้ถึง 50% ในผู้ป่วยก่อนมีประจำเดือนการพยากรณ์โรคมักไม่ดี โดยมักจะลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย

4.3 Polyembryoma
ประกอบด้วย embryoid bodies และ early embryonic differentiation พบได้ในอายุน้อย ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการเสมือนเข้าสู่หนุ่มสาว tumor marker ที่ช่วยในการวินิจฉัยและตรวจติดตามคือ AFP และ hCG ในผู้ป่วยที่เป็นที่รังไข่ข้างเดียวสามารถหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดโดยการตรวจดูระดับ AFP, hCG และการตรวจทางรังสี

4.4 Mixed germ cell tumors
ประกอบด้วยมะเร็งรังรังไข่ชนิด germ cell สองชนิดขึ้นไป ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ dysgerminoma(80%) รองลงมาได้แก่ EST(70%), immature teratoma(53%), choriocarcinoma(20%), และ embryonal carcinoma(16%) ที่พบร่วมกันได้บ่อยที่สุดคือ dysgerminoma กับ EST tumor marker ที่หลั่งออกมาอาจเป็น AFP หรือ hCG ขึ้นกับส่วนประกอบ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบอกพยากรณ์โรคคือขนาดก้อนและชนิดของส่วนประกอบ ใน stage IA ซึ่งขนาดก้อนน้อยกว่า 10 เซนติเมตรมีอัตราการมีชีวิตรอด 100% เนื้องอกมีส่วนประกอบของ EST, choriocarcinoma, หรือ grade 3 immature teratoma น้อยกว่า 1 ใน 3 จะมีพยากรณ์โรคดี

การแพร่กระจาย(pattern of spreading)

มะเร็งรังไข่ชนิด germ cell มีการแพร่กระจายได้ 3 ทางคือ(2,7)

  1. การแพร่กระจายภายในช่องท้อง(intraperitoneal หรือ transcoelomic spreading) โดยจะพบการแพร่กระจายไปที่เยื่อบุช่องท้อง ผิวของอวัยวะภายในช่องท้อง บางรายอาจจะพบว่ามีน้ำในช่องท้องได้
  2. การแพร่กระจายไปตามระบบน้ำเหลือง(lymphatic spreading) มะเร็งรังไข่ชนิด germ cell จะมีการแพร่กระจายไปตามระบบน้ำเหลืองได้บ่อยกว่ามะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว โดยเฉพาะ dysgerminoma พบการแพร่กระจายไปที่ para-aortic nodes และ mediastinum nodes ได้บ่อย มีการศึกษาเรื่องการแพร่กระจายตามระบบน้ำเหลืองของมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell พบว่าแตกต่างกันตามลักษณะทางพยาธิวิทยา คือ dysgerminoma พบ 28%, mixed germ cell tumors พบ 16%, และ malignant teratoma พบ 8% นอกจากนี้การแพร่กระจายไประบบน้ำเหลืองยังเป็นตัวบอกพยากรณ์โรคอีกด้วย(hazard ratio of 2.9, 95% CI 1.4-5.7)(8)
  3. การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด(hematogenous spreading) พบการแพร่กระจายไปที่ปอดและตับได้ประมาณ 10%

การแบ่งระยะ(staging)

ตารางที่ 2 การแบ่งระยะของมะเร็งรังไข่ อ้างอิงตาม FIGO’s staging classification 2014(9)

 

Stage I. Tumor confined to ovaries or fallopian tube(s)

T1-N0-M0

IA: Tumor limited to one ovary (capsule intact) or fallopian tube; no tumor on ovarian or fallopian tube surface; no malignant cells in the ascites or peritoneal washing

T1a-N0-M0

IB: Tumor limited to both ovaries (capsule intact) or fallopian tube; no tumor on ovarian or fallopian tube surface; no malignant cells in the ascites or peritoneal washing

T1b-N0-M0

IC: Tumor limited to one or both ovaries or fallopian tubes, with any of the following:

IC1: surgical spill

T1c1-N0-M0

IC2: capsule ruptured before surgery or tumor on ovarian or fallopian tube surface

T1c2-N0-M0

IC3: malignant cells in the ascites or peritoneal washings

T1c3-N0-M0

Stage II. Tumor involves one or both ovaries or fallopian tubes with pelvic extension (below pelvic brim) or primary peritoneal cancer

T2-N0-M0

IIA: extension and/or implants on uterus and/or fallopian tubes and/or ovaries

T2a-N0-M0

IIB: extension to other pelvic intraperitoneal tissues

T2b-N0-M0

Stage III. Tumor involves one or both ovaries or fallopian tubes, or primary peritoneal cancer, with cytologically or histologically confirmed spread to peritoneum outside the pelvis and/or metastasis to the retroperitoneal lymph nodes

T1/T2-N1-M0

IIIA1: positive retroperitoneal lymph nodes only (cytologically or histologically proven):

IIIA1(i) Metastasis up to 10 mm in greatest dimension

IIIA1(ii) Metastasis more than 10 mm in greatest dimension

IIIA2: microscopic extrapelvic(above the pelvic brim) peritoneal involvement with or without positive retroperitoneal lymph nodes

T3a2-N0/N1-M0

IIIB: macroscopic peritoneal metastasis beyond the pelvis up to 2 cm in greatest dimension, with or without metastasis to the retroperitoneal lymph nodes

T3b-N0/N1-M0

IIIC: macroscopic peritoneal metastasis beyond the pelvis more than 2 cm in greatest demension, with or without metastasis to the retroperitoneal lymph nodes(include extension of tumor to capsule of liver and spleen without parenchymal involvement of either organ)

T3c-N0/N1-M0

Stage IV. Distant metastasis excluding peritoneal metastases

IVA: pleural effusion with positive cytology

IVB: parenchymal metastases and metastases to extra-abdominal organs(including inguinal lymph nodes and lymph nodes outside of the abdominal cavity)

Any T, any N, M1

ดัดแปลงจาก: Prat J. FIGO’s staging classification for cancer of the ovary, fallopian tube, and peritoneum: abridged republication. Gynecol Oncol. 2015;26:87-89.

แนวทางการรักษา

การรักษาหลักคือการผ่าตัดและเคมีบำบัด ส่วนรังสีรักษามีที่ใช้บ้างแต่น้อย ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell ควรตรวจ tumor marker ก่อนผ่าตัดเพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาและให้คำปรึกษาโดยเฉพาะผู้ป่วยที่อายุน้อย(2,4)

1. การผ่าตัด

เป็นวิธีการรักษาหลักเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนและเป็นการนำเอาก้อนเนื้องอกออก รวมถึงสามารถบอกระยะของโรคได้ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell ส่วนใหญ่อายุน้อยและเป็นระยะที่ I ตอนที่ได้รับการวินิจฉัย การผ่าตัดแบบธำรงภาวะเจริญพันธุ์(fertility-preserving surgery) ก็เพียงพอ ในกรณีที่พบรอยโรคที่รังไข่ทั้ง 2 ข้างแนะนำให้ตัดปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง(bilateral salpingo-oophorectomy) แล้วเก็บมดลูกไว้เพื่อให้โอกาสผู้ป่วยมีบุตรได้โดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์(10) ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุมากหรือไม่ต้องการมีบุตรหรือโรคได้แพร่กระจายไปมากแล้ว ควรทำการผ่าตัดแบบกำหนดระยะโรค(complete surgical staging) โดยตัดมดลูกและปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง ส่งน้ำในช่องท้องตรวจ ตัดเยื่อแขวนกระเพาะในช่องท้อง(omentum) เลาะต่อมน้ำเหลืองหลังช่องท้องที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติและผ่าตัดเพื่อจำกัดขนาดของเนื้อเยื่อ(cytoreductive surgery) ในกรณีที่มีการแพร่กระจายของโรค
ในผู้ป่วยระยะลุกลาม การผ่าตัดเพื่อจำกัดขนาดของเนื้อเยื่อสัมพันธ์กับผลการรักษาที่ดีโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่dysgerminoma เนื่องจากขนาดของก้อนที่เหลือเป็นปัจจัยพยากรณ์ที่สำคัญในการบอกผลลัพธ์การรักษา(11)

มีการศึกษาของ Slaylon และคณะเพื่อดูการดำเนินโรคหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสูตร VAC(vincristine, dactinomycin, cyclophosphamide) พบว่ามีการดำเนินโรคมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดแบบกำหนดระยะไม่ครบถ้วน(68% vs 28%)(12)

การศึกษาของ Williams ได้ทำการตรวจติดตามผู้ป่วยระยะลุกลามหรือมีการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell 111 คนโดย 89 คนได้ผ่าตัดเพื่อจำกัดขนาดของเนื้อเยื่อ พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ใช่ dysgerminoma และวัดขนาดไม่ได้หลังการผ่าตัด(nonmeasurable disease) มีระยะเวลาที่โรคสงบมากกว่ากลุ่มที่วัดขนาดได้(measurable disease)(65% vs 34%)(13)

2. เคมีบำบัด

นิยมให้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่หลังจากรักษาด้วยการผ่าตัดยกเว้น dysgerminoma ระยะ IA และ immature teratoma ระยะ IA เกรด 1 ที่การรักษาโดยการผ่าตัดอย่างเดียวก็ถือว่าเพียงพอ(1,11,14)

ในอดีตสูตรยาเคมีบำบัดที่ให้คือ VBP(vinblastine, bleomycin, cisplatin), และ VAC(vincristine, actinomycin, cyclophosphamide) แต่ในปัจจุบันไม่นิยมให้แล้ว ที่แนะนำให้ใช้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือ BEP(bleomycin, etoposide, cisplatin)(1,11,14)

มีการศึกษาอัตราการรอดชีวิตระยะยาวในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตร BEP หลังการผ่าตัด พบว่าอัตราการรอดชีวิต 95-100% ในกลุ่มที่ไม่ใช่ dysgerminoma ระยะเริ่มต้น, 75-80% ในระยะลุกลาม(15,16) แม้ในกลุ่ม yolk sac tumor ที่มีการดำเนินโรคที่รุนแรงยังให้ผลการรักษาที่น่าพอใจ(17,18) ส่วนในกลุ่ม dysgerminoma พบว่าตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดดีมาก มีอัตราการรอดชีวิตมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ dysgerminoma โดยไม่ขึ้นกับระยะของโรคตอนที่ได้รับวินิจฉัย(19,20) อย่างไรก็ตามอาจพบผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดได้ เช่น เกิด lung fibrosis จาก bleomycin, เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด myeloid neoplasm จาก etoposide และมีผลกับไตและระบบประสาทจาก cisplatin

  • Non-dysgerminoma แม้การศึกษายังจำกัด แต่มีการศึกษาว่าการให้ adjuvant BEP 3 cycles สามารถป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะเริ่มต้น โดยตรวจติดตามผู้ป่วย 93 รายระยะเวลา 4-90 เดือน พบว่า 91 รายมีชีวิตอยู่และไม่พบการกลับเป็นซ้ำ อย่างไรก็ตามพบว่า 2 รายเป็น hematologic secondary malignancy จากการได้ยาเคมีบำบัด(21)
  • Dysgerminoma ไม่ได้มี RCT ศึกษาเรื่องจำนวน cycles ที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามมีการติดตามผู้ป่วย 26 ราย(มีผู้ป่วยระยะลุกลาม 54%) โดยให้ยาเคมีบำบัดสูตร BEP 3 cycles ในระยะที่ 1 และ 4 cycles ในระยะลุกลาม พบว่า 96% ของผู้ป่วยระยะลุกลามยังคงมีระยะปลอดโรคหลังจากได้ยาเคมีบำบัดอย่างน้อย 3 cycles(22)

3. รังสีรักษา

ปัจจุบันจะใช้รังสีรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ต้องการธำรงภาวะเจริญพันธุ์แล้ว ผู้ป่วยไม่ยอมรับหรือได้รับผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดมาก หรือในรายที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด(2,14,23)
รังสีรักษาพบว่ามีการตอบสนองดีในผู้ป่วย dysgerminoma ขนาดที่ให้คือ 2500-3500 cGy(1) แต่ควรแนะนำให้รับเคมีบำบัดเป็นทางเลือกแรกก่อนเสมอเนื่องจากยาเคมีบำบัดมีผลข้างเคียงระยะยาวน้อยกว่า ส่วนมะเร็งรังไข่ชนิดที่ไม่ใช่ dysgerminoma พบว่ารังสีรักษาไม่มีบทบาทชัดเจนและยังทำให้เกิดการดื้อต่อรังสีรักษาได้อีกด้วย(24,25)

4. การผ่าตัด second-look(2,26)

เป็นการผ่าตัดประเมินผลการรักษาในผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบรอยโรคหลงเหลือจากการประเมินทางคลินิก ปัจจุบันอาจพิจารณาทำเฉพาะในรายที่ยังมีรอยโรคหลงเหลือจากการผ่าตัดครั้งแรกและชิ้นเนื้อมะเร็งมีส่วนของ teratoma อยู่ด้วย

5. การรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อกำหนดระยะไม่ครบถ้วน(incomplete surgical staging/suboptimal surgery)(2,14)

ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากตัวก้อนเช่น มีการแตกรั่ว มีการบิดขั้วของก้อน หรือมีเลือดออกภายในก้อน ทำให้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินซึ่งมักจะเป็นการตัดเฉพาะก้อนที่มีพยาธิสภาพออกไปเท่านั้น เมื่อผลการวินิจฉัยเป็นมะเร็งรังไข่จึงทำให้ขาดข้อมูลที่จะนำไปกำหนดระยะของโรค

  • Dysgerminoma
    ในระยะอย่างน้อย IA ในกรณีที่ได้ทำการผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งและไม่มีมะเร็งเหลืออยู่ แต่ไม่ได้ทำการผ่าตัดเพื่อจัดแบ่งระยะอย่างครบถ้วน แนะนำให้เจาะดู tumor marker และพิจารณาส่ง CT scan ของช่องท้องและอุ้งเชิงกราน หากผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถติดตามผู้ป่วยทุก 3 เดือนได้โดยไม่ต้องให้การรักษาเพิ่มเติม
  • Non-dysgerminoma
    กรณีเป็น immature teratoma ระยะ IA เกรด 1 ให้ทำผ่าตัดซ้ำเพื่อกำหนดระยะให้ครบถ้วน ซึ่งถ้ายืนยันว่าเป็นระยะ IA เกรด 1 ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาเพิ่มเติม แต่หากเป็นมากกว่า immature teratoma เกรด 1 หรือเป็นชนิดที่ไม่ใช่ dysgerminoma กลุ่มอื่นๆ แนะนำให้เจาะ tumor marker และส่ง CT scan ของช่องท้องและอุ้งเชิงกรานเพื่อเป็นการประเมินรอยโรคแล้วให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติม

รูปที่ 2 แนวทางการรักษามะเร็งรังไข่ชนิด germ cell อ้างอิงตาม NCCN Guidelines Ovarian cancer including fallopian tube cancer and primary peritoneal cancer(27)

GermCell 2a

GermCell 2b

ที่มา: NCCN Guidelines Ovarian cancer including fallopian tube cancer and primary peritoneal cancer [Internet]. NCCN. 2017. [cited 2017 Jun 27]. Available from: www.nccn.org/patients

ปัจจัยพยากรณ์โรค

1. ระยะของโรค

Jeong-Yeol Park และคณะได้ทำการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell 171 รายที่ได้รับการผ่าตัดแบบธำรงภาวะเจริญพันธุ์ตามด้วยยาเคมีบำบัดชนิด BEP พบว่ามีผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำ 14.6% และมี 2% เสียชีวิตระหว่างการตรวจติดตามรักษาในระยะเวลา 86 เดือน ระยะเวลาที่ปลอดจากโรคใน 5 ปีโดยรวมเท่ากับ 86% โดยในระยะที่ 1 คิดเป็น 84% และคิดเป็น 89% ในระยะที่ 2-4 ส่วนอัตราการรอดชีวิตโดยรวมใน 5 ปีเท่ากับ 97% โดยในระยะที่ 1 คิดเป็น 99% และคิดเป็น 97% ในระยะที่ 2-4(28)

ในขณะที่การศึกษาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่พบว่าในผู้ป่วย 76 ราย หลังได้รับการรักษามีอัตราการกลับเป็นซ้ำ 15.8% โดยระยะเวลาที่ปลอดจากโรคใน 5 ปีเท่ากับ 81.9% และอัตรารอดชีวิตโดยรวมเท่ากับ 86.2% โดยมีเพียงระยะลุกลามเท่านั้นที่มีผลกับปัจจัยพยากรณ์โรค(29)

2. ชนิดของมะเร็ง

มีการศึกษากล่าวว่า yolk sac tumor จะมีการพยากรณ์โรคไม่ดี(30) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผู้ป่วย 760 ราย พบว่าอัตราการรอดชีวิตโดยรวมของ dysgerminoma, immature teratoma และ yolk sac tumor เท่ากับ 99.5%, 94.3%, 85.4% ตามลำดับ(31)

3. ปัจจัยอื่น ๆ

ความสัมพันธ์ของปริมาณรอยโรคที่เหลือและผลการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell อาจจะไม่ชัดเจน มีการศึกษาพบว่าปริมาณรอยโรคที่เหลือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกับพยากรณ์โรค นอกจากนี้ยังมีการศึกษากล่าวว่าการผ่าตัดแบบกำหนดระยะไม่ครบถ้วนสัมพันธ์กับปัจจัยพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ในขณะที่การผ่าตัดแบบกำหนดระยะโรคจะช่วยลดอัตราการกลับเป็นซ้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ(17)

การตรวจติดตามหลังการรักษา

ประมาณ 75% ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell มีการกลับเป็นซ้ำภายในปีแรกหลังสิ้นสุดการรักษาและ 90% ของการกลับเป็นซ้ำจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี ตำแหน่งที่พบการกลับเป็นซ้ำได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด dysgerminoma คือต่อมน้ำเหลืองหลังเยื่อบุช่องท้อง ส่วนตำแหน่งที่พบการกลับเป็นซ้ำได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิดที่ไม่ใช่ dysgerminoma คือภายในช่องท้อง(2,14)

NCCN clinical practice guidelines in oncology(NCCN guidelines) แนะนำให้ทำการนัดผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell ทุก 2-4 เดือนใน 2 ปีแรกหลังสิ้นสุดการรักษา หากผลปกติให้นัดทุก 1 ปี แนะนำให้ตรวจติดตามอย่างน้อย 5 ปี โดยในแต่ละครั้งจะต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจภายในทุกครั้ง

การตรวจ tumor marker แนะนำให้ทำทุก 2-4 เดือนในช่วง 2 ปีแรก ส่วนการตรวจทางรังสี เช่น CXR, CT chest/abdomen/pelvis, MRI/PET scan ให้ทำเฉพาะในรายที่มีอาการผิดปกติ(กรณีที่ไม่มี tumor marker ผิดปกติ) และหากสงสัยว่ามีการกลับเป็นซ้ำให้ตรวจ tumor marker และตรวจทางรังสีเพิ่มเติม(27)

ตารางที่ 3 การตรวจติดตามมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell และชนิด sex cord-stromal (27)

Years

 

<1

1-2

2-3

3-5

>5

Physical exam

Germ cell tumors

Sex cord-stromal tumors

 

Every 2-4 mo

Every 2-4 mo

 

 

Every 2-4 mo

Every 2-4 mo

 

 

Yearly

Every 6 mo

 

Yearly

Every 6 mo

 

Yearly

Every 6 mo

Serum tumor markers

Germ cell tumors

Sex cord-stromal tumors

 

Every 2-4 mo

Every 2-4 mo

 

 

Every 2-4 mo

Every 2-4 mo

 

 

Not indicated

Every 6 mo

 

Not indicated

Every 6 mo

 

Not indicated

Every 6 mo

Radiographic imaging

Germ cell tumors

 

 

 

Sex cord-stromal tumors

 

As clinically indicated unless markers normal at initial presentation

Insufficient data to support routine use

 

As clinically indicated unless markers normal at initial presentation

Insufficient data to support routine use

 

As clinically indicated

 

 

Insufficient data to support routine use

 

As clinically indicated

 

 

Insufficient data to support routine use

 

As clinically indicated

 

 

Insufficient data to support routine use

Recurrence suspected

CT scan and tumor markers

CT scan and tumor markers

CT scan and tumor markers

CT scan and tumor markers

CT scan and tumor markers

ดัดแปลงจาก: NCCN Guidelines Ovarian cancer including fallopian tube cancer and primary peritoneal cancer [Internet]. NCCN. 2017. [cited 2017 Jun 27]. Available from: www.nccn.org/patients

ผลระยะยาวต่อผู้ป่วย(long term sequelae)

1. ภาวะเจริญพันธุ์ภายหลังการรักษาแบบธำรงภาวะเจริญพันธุ์

ถึงแม้ว่าผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดต่อรังไข่มีผลทำให้รังไข่ทำงานผิดปกติหรือล้มเหลว แต่จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่ได้รับการผ่าตัดแบบธำรงภาวะเจริญพันธุ์ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ยาเคมีบำบัดสูตร BEP สามารถตั้งครรภ์ได้เป็นส่วนใหญ่และไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าจะเกิดความพิการของทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไป(2)

จากการศึกษาของ Jeong-Yeol Park และคณะซึ่งทำการติดตามผลลัพธ์หลังการผ่าตัดแบบธำรงภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell พบว่า 75% ของผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรสามารถตั้งครรภ์ได้เอง โดย 65% สามารถคลอดทารกที่มีสุขภาพแข็งแรง และ 85.5% มีประจำเดือนมาปกติหลังจากการรักษา(28)

2. การเกิดมะเร็งทุติยภูมิ(secondary malignancy)

มีรายงานการเกิด acute myelomonocytic leukemia ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตร BEP ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับยา etoposide ซึ่งสัมพันธ์กับขนาดยาที่ได้รับ โดยพบการเกิด leukemia < 0.5% กรณีได้ accumulative dose (< 2000 mg/m2) เทียบกับกลุ่มที่ได้มากกว่า 2000 mg/m2(พบการเกิด leukemia 5%)(8,32,33)

สรุป

มะเร็งรังไข่ชนิด germ cell มักพบในผู้ป่วยอายุน้อย ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ dysgerminoma รองลงมาคือ endodermal sinus tumor และ immature teratoma ตามลำดับ อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ อาการปวดท้องและคลำพบก้อนในท้อง การรักษาหลักคือการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งสูตรยาเคมีบำบัดที่แนะนำให้ใช้คือ BEP เนื่องจากมะเร็งรังไข่ชนิดนี้พบในผู้ป่วยอายุน้อยและมีการตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้การรักษาแบบธำรงภาวะเจริญพันธุ์ด้วย การตรวจติดตามแนะนำให้ทำการนัดผู้ป่วยทุก 2-4 เดือนใน 2 ปีแรกหลังสิ้นสุดการรักษา หากผลปกติให้นัดทุก 1 ปี แนะนำให้ตรวจติดตามอย่างน้อย 5 ปี โดยในแต่ละครั้งจะต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจภายในทุกครั้ง การตรวจ tumor marker แนะนำให้ทำทุก 2-4 เดือนในช่วง 2 ปีแรก ส่วนการตรวจทางรังสี เช่น CXR, CT chest/abdomen/pelvis, MRI/PET scan ให้ทำเฉพาะในรายที่มีอาการผิดปกติ(กรณีที่ไม่มี tumor marker ผิดปกติ) และหากสงสัยว่ามีการกลับเป็นซ้ำให้ตรวจ tumor marker และตรวจทางรังสีเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

  1. Berek J, Friedlander M, Hacker N. Germ Cell and Nonepithelial Ovarian Cancer. 6 ed. Philadelphia, PA: Lippincott Williams & Wilkins; 2015.
  2. พิสมัย ยืนยาว. เนื้องอกรังไข่ชนิดเจอร์มเซลล์. ใน: จตุพล ศรีสมบูรณ์, ชำนาญ เกียรติพีรกุล, บรรณาธิการ. มะเร็งนรีเวชวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี; 2554. หน้า 245-61.
  3. Talerman A. Germ cell tumors of the ovary. In: Kruman RJ, editor. Blaustein’s pathology of the female genital tract. 5th ed. Baltimore: Springer-Verlag;2002.p. 967-1033.
  4. Tangjitgamol S, Hanprasertpong J, Manusirivithaya S, Wootipoom V, Thavaramara T, Buhachat R. Malignant ovarian germ cell tumors: clinic-pathological presentation and survival outcomes. Acta Obstet Gynecol Scand. 2010;89:182-9.
  5. Zalouded C. Ovarian neoplasms. In: Gompel C, Silverberg S, editors. Pathology in gynecology and obstetrics. Philadelphia: JB Lippincott;1994:330-402.
  6. Scully R. Sex-cord stromal. Steroid cell. and germ cell tumor. In: Sciarra J, editors. Gynecology and obstetrics. Philadelphia: JB Lippincott;1996:1-24.
  7. Matei DE, Russell AH, Horowitz CL, Gershenson DM, Silva E. Ovarian germ-cell tumors, In: Hoskins W, Perez C, Young R, Barakat R, Markman M, Randall M, editors. Principle and practice of gynecologic oncology. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams&Wilkins; 2005:989-1010.
  8. Kollmannsberger C, Beyer J, Droz JP, Harstrick A, Hartmann JT, Biron P, et al. Secondary leukemia following high cumulative doses of etoposide in patients treated for advanced germ cell tumors. J Clin Oncol 1998;16:3386-91.
  9. Prat J. FIGO’s staging classification for cancer of the ovary, fallopian tube, and peritoneum: abridged republication. Gynecol Oncol. 2015;26:87-89.
  10. Casey AC, Bhodauria S, Shapter A, Neiberg R, Berek JS, Farias-Eisner R. Dysgerminoma: the role of conservative surgery. Gynecol Oncol 1996;63:352-7.
  11. David M Gershenson, MD. Treatment of malignant germ cell tumors of the ovary. UPTODATE [Internet]. 2017. Available from: https://www.uptodate.com/contents/treatment-of-malignant-germ-cell-tumors-of-the ovary?source=search_result&search=germ%20cell%20tumor%20ovary&selectedTitle=2~36
  12. Slayton RE, Park RC, Silverberg SG, et al. Vincristine, dactinomycin, and cyclophosphamide in the treatment of malignant germ cell tumors of the ovary. A Gynecologic Oncology Group Study (a final report). Cancer 1985; 56:243.
  13. Williams SD, Blessing JA, Moore DH, et al. Cisplatin, vinblastine, and bleomycin in advanced and recurrent ovarian germ-cell tumors. A trial of the Gynecologic Oncology Group. Ann Intern Med 1989; 111:22.
  14. สฤกพรรณ วิไลลักษณ์, มานะ โรจนวุฒนนท์. มะเร็งรังไข่ชนิดเจอร์มเซลล์. ใน: สฤกพรรณ วิไลลักษณ์, บรรณาธิการ. มะเร็งรังไข่.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2548.หน้า 54-78.
  15. Murugaesu N, Schmid P, Dancey G, et al. Malignant ovarian germ cell tumors: identification of novel prognostic markers and long-term outcome after multimodality treatment. J Clin Oncol 2006; 24:4862.
  16. Rogers PC, Olson TA, Cullen JW, et al. Treatment of children and adolescents with stage II testicular and stages I and II ovarian malignant germ cell tumors: A Pediatric Intergroup Study–Pediatric Oncology Group 9048 and Children’s Cancer Group 8891. J Clin Oncol 2004; 22:3563.
  17. Cicin I, Saip P, Guney N, Eralp Y, Ayan I, Kebudi R, et al. Yolk sac tumours of the ovary: evaluation of clinicopathological features and prognostic factors. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol 2009;146:210-4.
  18. De La Motte Rouge T, Pautier P, Duvillard P, Rey A, Morice P, Haie-Meder C, et al. Survival and reproductive function of 52 women treated with surgery and bleomycin, etoposide, cisplatin (BEP) chemotherapy for ovarian yolk sac tumor. Ann Oncol 2008;19:1435-41.
  19. Dimopoulos MA, Papadopoulou M, Andreopoulou E, et al. Favorable outcome of ovarian germ cell malignancies treated with cisplatin or carboplatin-based chemotherapy: a Hellenic Cooperative Oncology Group study. Gynecol Oncol 1998; 70:70.
  20. Culine S, Lhomme C, Kattan J, et al. Cisplatin-based chemotherapy in dysgerminoma of the ovary: thirteen-year experience at the Institut Gustave Roussy. Gynecol Oncol 1995; 58:344.
  21. Williams S, Blessing JA, Liao SY, et al. Adjuvant therapy of ovarian germ cell tumors with cisplatin, etoposide, and bleomycin: a trial of the Gynecologic Oncology Group. J Clin Oncol 1994; 12:701.
  22. Brewer M, Gershenson DM, Herzog CE, et al. Outcome and reproductive function after chemotherapy for ovarian dysgerminoma. J Clin Oncol 1999; 17:2670.
  23. Stambaugh MD. Ovary. In: Principles and Practice of Radiation Oncology, 4th, Perez CA, Brady LW, Halperin CA, Schmidt-Ullrich RK (Eds), Lippincott, Williams and Wilkins, Philadelphia 1997. p.1948.
  24. Gershenson DM, Del Junco G, Copeland LJ, Rutledge FN. Mixed germ cell tumors of the ovary. Obstet Gynecol 1984; 64:200.
  25. Gershenson DM, Del Junco G, Herson J, Rutledge FN. Endodermal sinus tumor of the ovary: the M. D. Anderson experience. Obstet Gynecol 1983; 61:194.
  26. Williams SD, Blessing JA, DiSaia PJ, Major FJ, Ball HG, 3rd, Liao SY. Second-look laparotomy in ovarian germ cell tumors: the gynecologic oncology group experience. Gynecol Oncol 1994;52:287-91.
  27. NCCN Guidelines Ovarian cancer including fallopian tube cancer and primary peritoneal cancer [Internet]. NCCN. 2017. [cited 2017 Jun 27]. Available from: www.nccn.org/patients
  28. Park JY, Kim DY, Suh DS, Kim JH, Kim YM, Kim YT, et al. Analysis of outcomes and prognostic factors after fertility-sparing surgery in malignant ovarian germ cell tumors. Gynecol Oncol. 2017;145:513-8.
  29. Neeyalavira V, Suprasert P. Outcomes of Malignant Ovarian Germ-Cell Tumors Treated in Chiang Mai University Hospital over a Nine Year Period. Asian Pac J Cancer Prev. 2014;15):4909-13.
  30. Nawa A, Obata N, Kikkawa F, Kawai M, Nagasaka T, Goto S, et al. Prognostic factors of patients with yolk sac tumors of the ovary. Am J Obstet Gynecol 2001;184:1182-8.
  31. J.K. Chan, K.S. Tewari, S.Waller,M.K. Cheung, J.Y. Shin, K. Osann, et al., The influence of conservative surgical practices for malignant ovarian germ cell tumors, J. Surg. Oncol. 98 (2008) 111–116.
  32. Parkinson CA, Hatcher HM, Earl HM, Ajithkumar TV. Multidisciplinary management of malignant ovarian germ cell tumours. Gynecol Oncol 2011:doi:10.1016/j.ygyno.2010.12.351.
  33. Efstathiou E, Logothetis CJ. Review of late complications of treatment and late relapse in testicular cancer. J Natl Compr Canc Netw 2006;4:1059-70.
Read More
Dermoid1

Mature Cystic Teratoma (Dermoid Cyst): Challenges of Surgical Management

Mature Cystic Teratoma (Dermoid Cyst): Challenges of Surgical Management

พญ.หรัดปพร ปิยะเวชการ
ศ.นพ. จตุพล ศรีสมบูรณ์


บทนำ

เนื้องอกรังไข่ชนิด mature cystic teratoma หรือ dermoid cyst เป็นเนื้องอกรังไข่กลุ่ม germ cell เป็นเนื้องอกรังไข่ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของเนื้องอกรังไข่ทั้งหมด และเป็นเนื้องอกที่พบบ่อยที่สุดถึงร้อยละ 70 ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี และพบได้ 20% ในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่ของก้อนจะประกอบด้วยเนื้อเยื่อของชั้น ectoderm, mesoderm และ/หรือ endoderm ดังนั้นส่วนประกอบของก้อนจึงมักพบว่ามีถุงน้ำหลายอัน มีเส้นผม ไขมัน ที่ข้นและเหนียว บางครั้งมีฟัน กระดูกแข็งและ กระดูกอ่อนร่วมด้วย

ลักษณะก้อน

พบทั้ง 2 ข้างประมาณร้อยละ 10-15 ขนาดก้อนส่วนมากเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 15 ซม. ลักษณะเป็นก้อนกลม ผิวเรียบ เป็นมัน เปลือกหุ้มเนื้องอกชนิดนี้มักหนา บุด้วยเซลล์ squamous ใต้เยื่อบุมีส่วนประกอบของผิวหนัง เช่น ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ ถ้าผ่าก้อนเนื้อจะพบไขมันข้นเหนียวสีเหลือง และมีเส้นผมอยู่ด้วย ที่ผนังด้านในของถุงน้ำอาจพบส่วนยื่นนูนที่เรียกว่า Rokitansky’s nodule ถ้าเนื้องอกชนิดนี้มีฟันหรือกระดูกอยู่ภายในอาจจะตรวจพบด้วยภาพถ่ายทางรังสีหรือ
คลื่นเสียงความถี่สูง

Dermoid1

Dermoid2

ลักษณะทางกล้องจุลทรรศน์

อาจพบกระดูกอ่อน เนื้อเยื่อประสาท ส่วนประกอบของ endoderm เช่นเยื่อบุทางเดินอาหาร ผนังของถุงน้ำอาจจะไม่มีเยื่อบุผิว แต่มีendothelial leukocytes จำนวนมาก (pseudoxanthoma cells) อาจตรวจพบ foreign body giant cells และ cholesterol crystals ถ้ามีเนื้อเยื่อของต่อมธัยรอยด์จะเรียกว่า “struma ovarii” ซึ่งสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมนได้และทำให้มีอาการ hyperthyroidism ได้ นอกจากนี้เนื้องอกอาจจะประกอบด้วยเยื่อบุของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ซึ่งเรียกว่า carcinoid tumor

Dermoid3

Dermoid4

อาการ

  1. อาการอาจเกิดจากก้อนโตกดเบียดอุ้งเชิงกรานหรืออวัยวะข้างเคียง เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น ท้องผูก หรือถ่วงท้องน้อย
  2. อาการปวดท้องเฉียบพลัน เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับก้อนเนื้องอก เช่น การบิดขั้ว และการแตกของก้อน และการติดเชื้อ
  3. มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก พบได้ร้อยละ 15 อาจเกิดร่วมโดยไม่ทราบสาเหตุ
  4. อาการอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร อืดแน่นท้อง
  5. ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ พบได้เป็นส่วนใหญ่ อาจตรวจพบก้อนจากการตรวจภายในหรือจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงของอุ้งเชิงกราน

อาการแสดง

การตรวจร่างกายจะพบก้อนที่ท้องน้อย และ/หรือตรวจพบก้อนที่ปีกมดลูกจากการตรวจภายใน ลักษณะก้อนจะเป็นก้อนถุงน้ำตึงแข็ง ผิวเรียบ จับเคลื่อนไหวได้ ก้อนอาจจะพลิกมาอยู่ทางด้านหน้าของ broad ligament ดันมดลูกไปทางด้านหลังเรียกว่า “Kustner’s sign”

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการขึ้นอยู่กับอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เช่น รายที่มีอาการจากภาวะแทรกซ้อนของก้อนมักจะต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ควรเลือกการตรวจทางห้องปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น ส่วนรายที่ไม่มีอาการหรือมีอาการอื่นๆ ดังที่กล่าวควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคโดยอาศัยจากประวัติ อาการและอาการแสดงของโรค แล้วจึงเลือกการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

  1. Ultrasonography อาจตรวจทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอด สามารถช่วยแยกอวัยวะต้นกำเนิดของก้อนในอุ้งเชิงกราน ขนาด และตรวจดูลักษณะภายในของก้อนเนื้องอกได้
    Dermoid5
  2. Computerized tomography(CT scan) หรือ magnetic resonance image(MRI)
  3. Laparoscopy หรือการส่องกล้องตรวจทางหน้าท้อง ซึ่งจะช่วยให้เห็นลักษณะของก้อนโดยตรงและยังสามารถใช้เพื่อการรักษาโดยผ่าตัดผ่านกล้อง(laparoscopic surgery) ได้ในผู้ป่วยบางรายที่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยอายุน้อย ก้อนขนาดไม่ใหญ่ เป็นต้น
  4. การตรวจอื่นๆ เช่น tumor marker ในกรณีที่สงสัยว่ามีมะเร็งร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของ dermoid cyst ที่พบได้ ได้แก่

1. การบิดขั้ว (torsion)

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบมากที่สุดคือ พบประมาณร้อยละ 16 ของเนื้องอก มักพบในเนื้องอกขนาดเล็กหรือปาน
กลางมากกว่าเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ เมื่อมีการบิดขั้วในระยะแรกจะทำให้เกิดเลือดดำคั่งและเนื้อเยื่อในก้อนเนื้องอกบวมเป็นเหตุให้มีอาการปวด หากการบิดนั้นยังคงอยู่ต่อไปจะทำให้เลือดในหลอดเลือดแดงหยุดไหลเกิดการขาดเลือด อาการปวดอาจจะไม่มากถึงรุนแรงมาก นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นเร็ว มีไข้ กดเจ็บบริเวณท้องน้อยส่วนล่างร่วมกับ guarding, rigidity ตรวจภายในพบก้อนที่ปีกมดลูกและกดเจ็บ ภาวะนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินต้องได้รับการผ่าตัดอย่างรีบด่วนเนื่องจากก้อนเนื้องอกอาจแตกและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

2. การแตกของก้อนเนื้องอก(rupture)

การแตกหรือรั่วของ dermoid cyst พบได้น้อยคือประมาณร้อยละ 1 พบบ่อยขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ถ้าก้อนเนื้องอกแตกของเหลวในเนื้องอกเช่น cholesterol-laden debris จะทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบมาก มี granulomatous reaction และเกิดพังผืดแน่นหนาตามมา อาการที่พบได้แก่ ปวดท้อง บางรายมีอาการซีด หากมีเลือดออกในช่องท้องร่วมด้วย โดยทั่วไปต้องทำผ่าตัดอย่างรีบด่วน เพื่อล้างเอาของเหลวจากเนื้องอกออกให้มากที่สุด

3. การติดเชื้อ (infection)

พบได้น้อยประมาณร้อยละ 1 อาการที่พบได้แก่ มีอาการไข้ร่วมกับปวดท้องน้อยร่วมกับตรวจพบก้อนในอุ้งเชิงกราน เชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียพวก coliform ส่วนเชื้ออื่นๆ ที่อาจพบได้คือ Salmonella เป็นต้น

4. การกลายเป็นมะเร็ง

พบได้ไม่บ่อยนักประมาณร้อยละ 1-23 ของ dermoid cystและร้อยละ 80 ของก้อนที่กลายเป็นมะเร็งนี้เป็นชนิดเซลล์ squamous แต่อาจพบเซลล์มะเร็งประเภทอื่นได้ เช่น sarcoma หรือ malignant melanoma ได้ ถ้าผนังก้อนไม่แตก และไม่มีการลุกลามออกนอกรังไข่ การพยากรณ์โรคจะดีมากมีอัตราการอยู่รอดเกิน 5 ปีถึงร้อยละ 80 โดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษาเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่ถ้ามีการลุกลามออกนอกรังไข่แล้วการพยากรณ์โรคจะไม่ค่อยดี

การรักษา

ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ในกรณีอายุน้อยหรือต้องการมีลูกในอนาคต ควรทำผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะส่วนเนื้องอกออก(cystectomy) เพื่อเก็บเนื้อรังไข่ที่ดีไว้ ในกรณีที่รังไข่อีกข้างดูปกติดีจะไม่แนะนำให้ทำ bivalve หรือ wedge resection เพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาเนื่องจากอาจมีเลือดออกมากและหยุดเลือดยากจนต้องตัดรังไข่ข้างนั้นทิ้ง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดพังผืดรอบๆ รังไข่ตามมาได้ โดยทั่วไปถ้าลักษณะภายนอกรังไข่ปกติ มักไม่พบว่ามีเนื้องอกซ่อนเร้นอยู่
ควรพิจารณาผ่าตัด dermoid cyst ในกรณีต่อไปนี้

  1. ก้อนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง < 5 ซม. และขนาดคงที่หรือเพิ่มขึ้นภายหลังการติดตามเป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์
  2. ลักษณะเนื้องอกเป็นก้อนเนื้อตัน (solid )
  3. ก้อนเนื้องอกรังไข่ที่มีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากผนังของก้อน (papillary vegetation on the cyst wall)
  4. ก้อนเนื้องอกรังไข่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง > 10 ซม.
  5. มีภาวะมานน้ำร่วมด้วย (ascites)
  6. ก้อนเนื้องอกรังไข่ที่พบในผู้ป่วยก่อนมีประจำเดือนหรือวัยหมดประจำเดือน
  7. มีภาวะแทรกซ้อน เช่น การบิดขั้วของก้อน การแตก หรือการติดเชื้อของก้อน เป็นต้น

ความท้าทายของการรักษา Mature Cystic Teratoma ด้วยการผ่าตัด

  1. ปัจจุบันการรักษา ovarian mature cystic teratoma โดยการผ่าตัดมีวิธีที่แตกต่างกัน ดังนี้
  2. วิธีการผ่าตัด : laparoscopy versus laparotomy
  3. หัตถการ : oophorectomy versus cystectomy
  4. การรั่วของ contents ในก้อนและการป้องกัน
  5. วิธีการเก็บรักษาเนื้อรังไข่ (ovarian tissue sparing technique)
  6. การนำก้อนออกจากช่องท้อง : laparoscopic port versus colpotomy
  7. เกณฑ์ในการตรวจติดตามก้อน (expectant management)
  8. การรักษาการบิดขั้วของก้อน

วิธีการผ่าตัด : Laparoscopy versus Laparotomy

การผ่าตัดผ่านกล้อง(laparoscopy) เป็นวิธีที่แนะนำให้ใช้ (method of choice) ในการรักษา ovarian mature cystic teratoma เนื่องจากมีข้อดีคือ เสียเลือดระหว่างการผ่าตัดน้อย, ช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด, ลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล, เกิดพังผืดหลังการผ่าตัดน้อย, และมีผลดีด้านความสวยงาม(cosmetic)
ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาซึ่งทำการทดลองแบบสุ่ม(RCT) 2 ฉบับเปรียบเทียบกันระหว่าง การผ่าตัดผ่านกล้อง(42 ราย) และการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง(42 ราย) มีการศึกษาเปรียบเทียบแบบย้อนหลัง(retrospective comparative study) 9 ฉบับเปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้อง(655 ราย) และการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง(409 ราย) ในการรักษา ovarian mature cystic teratoma พบว่าการผ่าตัดผ่านกล้องได้ผลดีกว่า นอกจากนี้ยังมี systemic review จากการศึกษาแบบสุ่ม 6 การศึกษาเปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดเปิดหน้าท้องในผู้หญิง 324 คน พบว่าการผ่าตัดผ่านช่วยลดการเกิดไข้หลังผ่าตัด ลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยลง นอกจากนี้ยังสามารถจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้เร็วกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดผ่านกล้องสัมพันธ์กับระยะเวลาผ่าตัดที่นานขึ้น และเกิดการรั่วของ contents ในก้อนเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีรายงานว่าพบ 1/3 ของผู้ป่วยที่ผ่าตัดผ่านกล้องโดยสัมพันธ์กับก้อนถุงน้ำขนาดใหญ่และการผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะส่วนเนื้องอกออก(cystectomy) โดยมีการศึกษาของ Laberge and Levesque ที่สนับสนุนว่าการผ่าตัดผ่านกล้องสัมพันธ์กับระยะเวลาผ่าตัดที่นานขึ้น, เกิดการรั่วของ contents ในก้อนเพิ่มมากขึ้นและพบอัตราการเกิดซ้ำหลังการทำการผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออกผ่านกล้องสูงขึ้น

RCOG แนะนำว่าหากต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดผ่านกล้องถือเป็น gold standard ในการรักษาก้อนเนื้องอกรังไข่ทุกชนิด มี cost-effective เนื่องจากสามารถจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลและกลับไปทำงานได้เร็วกว่า ก้อนที่มีขนาดใหญ่และมีส่วนประกอบของเนื้อตันสามารถทำการผ่าตัดทางกล้องได้ ขนาดก้อนที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องยังมีข้อโต้แย้งอยู่ แต่บางแห่งแนะนำให้ทำในก้อนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง > 10 ซม.

นอกจากนี้แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดต้องมีประสบการณ์และมีเครื่องมือที่เพียงพอในการผ่าตัดผ่านกล้อง วิธีการผ่าตัดประกอบด้วยปัจจัยหลายประการขึ้นอยู่กับ ความเหมาะสมและความต้องการของผู้ป่วย ขนาดของก้อน ลักษณะโครงสร้างและส่วนประกอบของก้อน ความพร้อมของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดและอุปกรณ์ การตัดสินใจเลือกวิธีการผ่าตัดควรทำการประเมินและให้ข้อมูลการรักษาเกี่ยวกับปัจจัยดังกล่าวก่อน หากไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่เพียงพอควรส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อสถานที่ที่เหมาะสม

หัตถการ : Oophorectomy versus Cystectomy

ไม่มีการศึกษาที่เพียงพอว่าหัตถการใดดีที่สุด แต่มีการศึกษา case series การผ่าตัดผ่านกล้อง(8 ราย) และการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง(12 ราย) พบว่า fertility status ส่งผลในการเลือกการผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะส่วนเนื้องอกออกหรือการตัดรังไข่ออก(oophorectomy) มีการศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดผ่านกล้อง(20 ราย) กับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง(20 ราย) ในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือน(premenopausal women) ที่มีขนาดก้อน ≤ 10 cm รักษาโดยผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะส่วนเนื้องอกออกไม่พบการกลับเป็นซ้ำหลัง 5 ปีทั้งสองวิธี แต่อย่างไรก็ตาม Laberge and Levesque ได้ทำการศึกษาแบบเปรียบเทียบย้อนหลัง(retrospective comparative study) พบว่าการผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออกผ่านกล้อง(n=95) มีอัตราการรั่วของ contents ในก้อนสูงกว่า(18% versus 1%) และพบการกลับเป็นซ้ำมากกว่า(7.6% versus 0%) เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง(n = 150)

Chapron และคณะได้ทำการศึกษา case series ในผู้ป่วย 56 รายที่ได้รับการผ่าตัดผ่านทางกล้อง (48 รายผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออก) พบว่าไม่มี chemical peritonitis และมี 2 รายที่มีการกลับเป็นซ้ำ นอกจากนี้มีการศึกษา noncomparitive study ในผู้ป่วย 99 ราย ทำการผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออกผ่านกล้อง จากการตรวจติดตามผู้ป่วย 5 ปี พบว่าเป็น mature cystic teratoma สองข้าง อีก 18 รายเป็น teratoma หลายๆ ก้อน ในรังไข่ข้างเดียว10 ราย กลายเป็นมะเร็ง 2 ราย และพบการกลับเป็นซ้ำในรังไข่ข้างที่เคยผ่าตัดนำก้อน teratoma ออก 3 ราย ซึ่งใน 4 ใน 5 รายหลังนี้ เป็น mature cystic teratoma ทั้ง 2 ข้างหรือมี dermoid cyst หลายก้อน ซึ่งผู้ทำการศึกษาได้เสนอแนะว่าผู้ป่วยที่มี bilateral หรือ multiple ovarian mature cystic teratoma มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง และมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งมากขึ้นในอนาคต
RCOG แนะนำว่า การตัดรังไข่ออกควรปรึกษาและอธิบายผู้ป่วยก่อนผ่าตัด โดยอธิบายในส่วนของการตัดรังไข่ ความคาดหวังของผู้ป่วย ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัด การตัดรังไข่ออกควรใช้เป็นมาตรฐานในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือน และในสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือนที่มีก้อนถุงน้ำหลายก้อนในรังไข่ข้างเดียวกัน หรือมี teratoma ขนาดใหญ่ซึ่งไม่สามารถเก็บรักษาเนื้อรังไข่ได้มาก

การรั่วของสารและของเหลวในก้อนและการป้องกัน

ผู้ป่วยที่มี contents ของ ovarian mature cystic teratoma รั่วในช่องท้องพบว่ามี chemical peritonitis เกิดขึ้นได้ไม่มาก(< 0.2%) แต่รักษายาก การรั่วของ contents ในก้อนพบในการผ่าตัดผ่านกล้องมากกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องอย่างมีนัยสำคัญ และจะพบมากที่สุดในการผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออกผ่านกล้อง(บางการศึกษามีรายงานว่าพบ 100%) อย่างไรก็ตามมีผู้ทำการศึกษากล่าวว่าการรั่วของ contents ในก้อนไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น severe chemical peritonitis หรืออาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ถ้ามีการล้างช่องท้องและดูด debris tissue ออกจนหมดหลังการทำหัตถการ ในความเป็นจริงแล้วการล้างช่องท้องสามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าในการผ่าตัดผ่านกล้องเพราะสามารถเห็น pouch of Douglas ชัดเจนและล้างเอา contents ออกได้มากกว่า มีการศึกษาแบบเปรียบเทียบของ Albini และคณะเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดผ่านกล้อง(19 ราย) และการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง(19 ราย) พบว่าไม่มี chemical peritonitis หรืออาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน เมื่อตรวจติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัดผ่านกล้องแม้ว่าจะมีอัตราการรั่วของ contents ในก้อนสูงกว่า เช่นเดียวกับการศึกษาแบบย้อนหลัง 2 การศึกษาเปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้อง(152 ราย) กับการผ่านตัดเปิดหน้าท้อง(107 ราย) แม้ว่าอัตราการรั่วของ contents ในก้อนจะสัมพันธ์กับการผ่าตัดผ่านกล้อง(>50%) แต่ไม่พบว่าเกิด chemical peritonitis เลย
มีวิธีการที่หลากหลายที่ใช้เพื่อลดอัตราการรั่วของ contents ในก้อนและลดการเกิด chemical peritonitis มีงานศึกษาวิจัย 3 ฉบับแนะนำให้ใช้ routine endoscopic retrieval bag ระหว่างการผ่าตัด มีการทดลองแบบสุ่มของ Morelli และคณะพบว่า วิธี mesial-side incision จะเกิดการรั่วของ contents ในก้อนน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ(3%) เทียบกับ antimesial incision (20%). ในขณะที่การศึกษาของ Kruschinski และคณะแนะนำ gasless lift-laparoscopic approach(combines laparoscopy with the standard procedures of laparotomy) พบว่าอาจช่วยลดการเกิดการรั่วของ contents ในก้อน ovarian mature cystic teratoma ในผู้ป่วย 79 รายที่ได้รับการผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออกผ่านกล้องมีเพียง 3 รายที่ก้อนเนื้องอกแตก ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงการรั่วของ contents ในก้อนได้โดยใช้ clamp ปิดรอยรั่วและเลาะก้อนระหว่างทำ lift-laparoscopic operation วิธีการนี้ใช้ abdominal wall retractors ยกผนังหน้าท้องเพื่อเพิ่มพื้นที่ในช่องท้องระหว่างการทำหัตถการ เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับการทำ ผ่าตัดผ่านกล้องและใช้ flexible valve-free trocars เพื่อช่วยให้การใส่ conventional and laparoscopic instruments ได้ง่ายขึ้น วิธีการนี้ไม่นิยมในยุโรปและซีกโลกตะวันตก แต่เป็นวิธีทางเลือกในสถานที่ที่ทรัพยากรไม่เพียงพอ
RCOG แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการรั่วของ contents ในก้อนทั้งก่อนผ่าตัดและระหว่างผ่าตัด ในกรณีที่ยังไม่สามารถแยกเรื่องมะเร็งออกไปได้ มีการแนะนำให้ใช้ tissue bag เพื่อหลีกเลี่ยงการรั่วของ contents จากก้อนเข้าไปในช่องท้อง หากไม่สามารถป้องกันได้ควรทำการล้างช่องท้องโดยใช้ warmed fluid ปริมาณมาก การใช้ cold fluid จะทำให้เกิดhypothermia และทำให้ fat ใน contents จับตัวเป็นก้อน solid contents ทุกชนิดควรนำออกมาจากช่องท้องโดยการใช้ถุงที่เหมาะสม

วิธีการเก็บรักษาเนื้อรังไข่ (Ovarian Tissue-Sparing Technique)

มีการศึกษาถึงวิธีการเก็บรักษาเนื้อรังไข่ให้มากที่สุดในการผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะส่วนเนื้องอกออกใน mature cystic teratoma
Zupi และคณะ กล่าวว่า การผ่าตัดโดยการส่องกล้องโดยใช้ hydro-dissection ร่วมกับ blunt dissection สามารถนำก้อนขนาดใหญ่ออกได้โดยก้อนไม่แตกและสามารถเก็บรักษาเนื้อรังไข่ที่ปกติ ได้ ถ้าก้อนไม่ล้อมรอบ ovarian cortex ซึ่งสามารถเห็นได้จาก transvaginal ultrasound(TVS) จากการตรวจติดตามผู้ป่วยหลังการผ่าตัด 1 ปีโดยการทำ TVS พบว่าผู้ป่วย 24 รายไม่พบ ovarian residual cortex ในขณะที่ 56 รายพบ residual tissue volume มากกว่า 3 ซม3 อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังขาดความน่าเชื่อถือเนื่องจากขนาดก้อนที่แตกต่างกัน(range 2.1-15 cm) และไม่มีกลุ่มควบคุมเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการปอกเปลือก(stripping )การปอกเปลือกยังเป็นที่ถกเถียงเนื่องจากเป็นการนำ ovarian tissue ออกมากเกินไป ทำให้มีการสูญเสีย follicles และเป็นการเพิ่มอัตราการเกิดการรั่วของ contents ในก้อน
มีการศึกษา RCT เรื่อง mesial-side ovarian incision ในการผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออกผ่านกล้องเพื่อ preserve ovarian tissue(mesial side คือ hilar margin ที่อยู่ทางด้านหน้าของรังไข่บริเวณที่ fimbriae ต่อกับ tubal pole ของรังไข่) ผู้เข้าร่วมวิจัยถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ mesial incision group (n=33, cyst size=75 mm) และ antimesial incision (n=34, cyst size=81 mm) โดยผู้เข้าร่วมวิจัยทั้ง 2 กลุ่มมีลักษณะที่เหมือนกันคือ อายุ ขนาดก้อน และ basal hormone level พบว่า mesial-side incision technique สามารถ reserve ovarian tissue ได้อย่างมีนัยสำคัญ เกิดการรั่วของ contents ในก้อนน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ(3% versus 20%) โดยอาจเป็นเพราะ ovarian cortex บริเวณ mesial side หนาทำให้สามารถ ตรวจหาขอบหรือรอยต่อระหว่างเนื้อรังไข่ปกติกับ ก้อนเนื้องอกได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัด ตรวจหาขอบได้เร็วขึ้น เลาะก้อนออกได้ง่ายขึ้น และเลือดออกน้อยลง
Candiani และคณะได้ทำการศึกษาเรื่องการทำการผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออกผ่านกล้องพบว่า ovarian volume ลดลงหลังการผ่าตัด 33% สาเหตุเกิดจากสูญเสีย ovarian stromal tissue ในขณะที่ Li และคณะได้ทำการศึกษาแบบไปข้างหน้า(prospective study) ในผู้ป่วย 191 รายพบว่า ovarian reserve ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยระดับ mean FSH l สูงขึ้นและ antral follicle count ลดลงจากการถูกทำลายโดยการใช้ electrocoagulation ซึ่งมีการใช้เป็นมาตรฐานในการผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออกผ่านกล้อง

การนำก้อนออกจากช่องท้อง : Laparoscopic Port versus Colpotomy

มีวิธีการที่หลากหลายในการนำ ovarian mature cystic teratoma ออกจากช่องท้องภายหลังการผ่าตัดผ่านกล้อง ก่อนหน้านี้ทำโดย colpotomy ซึ่งให้ผลลัพธ์ไม่ค่อยดี มีการศึกษา prospective comparative study (n= 31 ) พบว่าการทำ colpotomy เป็นการเพิ่มระยะเวลาการผ่าตัดและเพิ่มการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามพบว่ามีการรั่วของก้อนใน laparoscopic port (44%) มากกว่า colpotomy(19%) แต่ในทางกลับกันมีการศึกษา retrospective comparative study (n = 44 ) พบว่าการรั่วของ contents ในก้อน(43% versus 79%) และระยะเวลาการผ่าตัดเมื่อนำก้อนออกจากช่องท้องโดย colpotomy ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ laparoscopic technique แต่อย่างไรก็ตามการเสียเลือดระหว่างผ่าตัดใน colpotomy(89 mL) ก็ยังมากกว่า laparoscopic port(65mL) นอกจากนี้ใน colpotomy ยังแนะนำให้ใช้ antibiotic prophylaxis
วิธีมาตรฐานในการนำก้อนออกจากช่องท้องคือผ่านทาง umbilical port โดยนำก้อนผ่านออกมาทาง umbilical incision โดยใส่ retrieval bag ซึ่งควรจะ suction นำ contents ออกจากก้อนก่อนเพื่อให้สามารถนำออกมาได้โดยง่าย
RCOG แนะนำว่าการเอาก้อน teratoma ออกจากช่องท้องควรนำออกผ่านทาง umbilical port เนื่องจากสามารถช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และระยะเวลา การนำก้อนออกจากช่องท้องน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ lateral ports ในตำแหน่งเดียวกัน หลีกเลี่ยงการขยาย ports เนื่องจากจะมีผลเรื่องเพิ่มความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด เพิ่มการเกิด incisional hernia และ epigastric vessel injury ด้วย

เกณฑ์ในการตรวจติดตามก้อน (Expectant Management)

Ovarian mature cystic teratomas ยิ่งโตมากยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการปวดและภาวะแทรกซ้อนจากก้อน ดังนั้นการผ่าตัดจึงเป็นการรักษาที่เหมาะสม ยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอเรื่องขนาดของก้อนที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัด อาจตรวจติดตามก้อนได้ในกรณีขนาดก้อน ≤ 5-6 ซม. ความเสี่ยงในการเกิดการบิดขั้วจะเพิ่มขึ้นในก้อนที่มีขนาดใหญ่ มีการศึกษาแบบไปข้างหน้าของ Caspi และคณะซึ่งติดตามขนาดก้อนเป็นระยะเวลา 3-5 ปีพบว่าขนาดก้อนเพิ่มขึ้นปีละ 1.5–1.7 ซม. และจะโตช้าในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ขนาดก้อน < 6 cm ดังนั้นจึงแนะนำให้ serial TVS ถ้าหากขนาดก้อนโตเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 ซม. ต่อปี
ถึงแม้ว่าลักษณะที่พบทาง TVS ของ immature teratomas จะไม่จำเพาะแต่เนื้องอกจะมีลักษณะ heterogeneous with scattered coarse calcifications และมี irregular solid components การตรวจติดตามไม่แนะนำให้ทำในกรณีเหล่านี้
American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ไม่ได้มีการกำหนดความถี่และระยะเวลาในการตรวจติดตามก้อนที่แน่นอน โดย guideline แนะนำให้ทำ TVS ซ้ำกรณีที่ลักษณะของก้อนสงสัยเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง และ/หรือมีปัจจัยที่ต้องหลีกเลี่ยงการผ่าตัด เช่น มีความเสี่ยงในการเกิด morbid and mortality ระหว่างการผ่าตัด
ในการตรวจติดตามระหว่างตั้งครรภ์ มีการศึกษา case series ในหญิงตั้งครรภ์ 127,177 คนที่คลอดในช่วง 13 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วย 63 ราย(0.05%) ที่มีก้อนที่ท้องน้อย ≥5 cm ได้รับการผ่าตัดก่อนคลอด 17 ราย(29%) มีผู้ป่วย 13 รายสงสัยว่าเป็นมะเร็งจากการทำ ultrasound และมี 4 รายเกิดการบิดขั้วของก้อน มีเพียง 4 รายที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ส่วนที่เหลือได้รับการผ่าตัดหลังคลอดหรือระหว่างการผ่าคลอด ซึ่งลักษณะก้อนที่พบส่วนใหญ่เป็น ovarian mature cystic teratomas(42%)
ACOG guidelines แนะนำว่าเนื้องอกรังไข่ที่พบระหว่างการตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นมะเร็งและเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ดังนั้นอาจจะสามารถรักษาแบบประคับประคองได้ การผ่าตัดพิจารณาทำเฉพาะในรายที่มีอาการปวดท้องแบบเฉียบพลัน อายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้นอาจพิจารณาทำ TAS เพิ่มขึ้นจาก TVS เนื่องจากอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รังไข่อยู่นอกเชิงกราน นอกจากนี้การทำ MRI อาจเป็น modality of choice เนื่องจากไม่ต้องสัมผัสสารรังสี

การรักษาการบิดขั้วของก้อน (Management of Torsion)

Ovarian mature cystic teratomas ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีเพียง 3-4% จะมีอาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการบิดขั้วของก้อน การรักษาต้องได้รับการผ่าตัดอย่างรีบด่วนไม่สามารถรักษาแบบประคับประคองตามอาการได้ การบิดขั้วของก้อนเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดใน ovarian mature cystic teratoma เพราะมีก้านยาวเนื่องจากก้อนมีน้ำหนักมากกว่าก้อนถุงน้ำรังไข่ทั่วไป ก้อนที่เกิดการบิดขั้วมักมีขนาดมากกว่า 5-6 ซม. โดยยังไม่มีอาการมาก่อน ลักษณะทางรังสีวิทยาไม่สามารถวินิจฉัยแยกการบิดขั้วของก้อนได้ รวมทั้งการทำ ultrasound doppler ก็ไม่สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้เช่นกัน การรักษาแนะนำให้ผ่าตัดผ่านกล้องแบบฉุกเฉินเพื่อคลายเกลียวก้อน ยกเว้นสตรีวัยหลังหมดประจำเดือนที่แนะนำให้ตัดรังไข่ออกที่สำคัญประการหนึ่งคือการที่ก้อน dermoid cyst ยังมีสีดำหลังจากการคลายเกลียวของก้อนไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการตัดรังไข่ออก เนื่องจากอาจยังสามารถมี functional recovery ได้ การทำ ovariopexy ไม่แนะนำให้ทำเป็น routine ภายในหลังการคลายเกลียวของก้อน
การคลายเกลียวของก้อนที่ปีกมดลูกที่ขาดเลือดแนะนำให้ทำในกรณีที่ก้อนเกิดการบิดขั้วโดยเฉพาะในเด็กและสตรีวัยเจริญพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่รังไข่จะสามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ตามปกติ (complete recovery of ovarian function) แต่อย่างไรก็ตามถ้ารังไข่ขาดเลือดอย่างสมบูรณ์แล้วก็ควรจะได้รับการผ่าตัดรังไข่ออก

สรุปวิธีการรักษา Ovarian Mature Cystic Teratoma

  1. การผ่าตัดผ่านกล้อง โดยทั่วไปพิจารณาให้เป็น gold standard ในการรักษา [II-2,A]
    1. หากไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องและไม่มีอุปกรณ์ที่เพียงพอ แนะนำให้ส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อในสถานที่ที่มีความพร้อม [II-3,C]
    2. ขนาดของก้อนที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง(laparotomy) ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน [II-3,C]
  2. การตัดรังไข่ออก(oophorectomy) ควรใช้เป็นมาตรฐานในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือนและในสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือนที่มีก้อนถุงน้ำหลายก้อนในรังไข่ข้างเดียวกัน หรือมี teratoma ขนาดใหญ่ซึ่งไม่สามารถเก็บรักษาเนื้อรังไข่ได้มาก [II-2,B]
    1. การผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะส่วนเนื้องอกออก(ovarian cystectomy) อาจแนะนำให้ทำในผู้ป่วยอายุน้อย [III,C]
    2. การตัดรังไข่ควรปรึกษาและอธิบายผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด [III-C]
  3. ควรหลีกเลี่ยงการรั่วของ contents ในก้อนทั้งก่อนผ่าตัดและระหว่างผ่าตัดกรณีที่ยังไม่สามารถแยกเรื่องมะเร็งออกไปได้ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการเกิด chemical peritonitis [II-2,C]
    1. พิจารณาให้ใช้ถุงเก็บชิ้นเนื้อหรือ retrieval bag [I,A]
    2. หากเกิดการรั่วของ contents ในก้อนควรทำการล้างช่องท้องด้วย warmed fluid ปริมาณมาก [I,A]
  4. Ovarian tissue preservation technique ขณะผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนเนื้องอกออก) ยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอ ที่มีรายงานคือ
    1. วิธี combined hydrodissection and blunt dissection แนะนำให้ทำมากกว่าการปอกเปลือกหรือ stripping [II-2,C]
    2. การผ่าตัดเข้าไปเลาะถุงน้ำแนะนำให้เข้าทางด้าน mesial (mesial-side ovarian incision) [II-A]
  5. การนำก้อน teratoma ออกจากช่องท้องควรนำออกผ่านทาง umbilical port มากกว่า lateral ports ในตำแหน่งเดียวกัน [II-2,B]
    1. ไม่ควรเปิดแผล umbilical port เพิ่มเพื่อนำเอาก้อนออก [II-2,B]
  6. ไม่มีการศึกษาที่เพียงพอในเรื่องขนาดของก้อนที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัด อาจตรวจติดตามก้อนได้ในกรณี
    1. ขนาดก้อน ≤ 5-6 ซม. [II-2,C]
    2. มีปัจจัยที่ต้องหลีกเลี่ยงการผ่าตัด เช่น มีความเสี่ยงในการเกิด morbidity and mortality ระหว่างการผ่าตัด [II-2]
    3. การตรวจด้วย ultrasound ไม่พบลักษณะที่สงสัยมะเร็ง [II-2,A]
      การทำ transvaginal ultrasound เพื่อตรวจติดตามก้อนยังไม่มีการกำหนดความถี่และระยะเวลาที่แน่นอน [II-2,B]
      ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์น้อยมาก จึงแนะนำให้ expectant management ข้อ
      บ่งชี้ในการผ่าตัดมีเฉพาะกรณีปวดท้องเฉียบพลัน [III,C]
  7. เมื่อมีการบิดขั้วของก้อนต้องได้รับการผ่าตัด ไม่ควรตรวจติดตาม การคลายเกลียวของก้อน (adnexal untwisting)เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยอายุน้อยเนื่องจากรังไข่ยังสามารถกลับมาทำงานได้ การทำ ovariopexy ไม่แนะนำให้ทำเป็น routine ภายในหลังคลายเกลียวของก้อน [II-2,B]

บทสรุป

การผ่าตัดผ่านกล้องโดยทั่วไปพิจารณาให้เป็น gold standard ในการรักษา mature cystic teratoma ยกเว้นก้อนมีขนาดใหญ่มาก การตัดรังไข่ออกใช้เป็นมาตรฐานในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือนและในสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน ที่มีก้อนถุงน้ำหลายก้อนในรังไข่ข้างเดียวกัน หรือมี teratoma ขนาดใหญ่ซึ่งไม่สามารถเก็บรักษาเนื้อรังไข่ได้มาก ความเสี่ยงในการเกิด chemical peritonitis หลังการรั่วของ contents ในก้อนพบได้น้อยมาก และสามารถป้องกันได้โดยการล้างช่องท้องด้วย warmed fluid วิธีการเก็บรักษาเนื้อรังไข่ยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอ การนำก้อนออกจากช่องท้องควรใส่ถุงเก็บ หากเป็นไปได้ควรนำออกผ่านทาง umbilical port หากก้อนมีขนาด ≤ 5-6 ซม. หรือในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัดสามารถตรวจติดตามการดำเนินโรคของก้อนได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับความถี่และระยะเวลาในการตรวจติดตาม ในรายที่มีการบิดขั้วของก้อน การคลายเกลียวของก้อนเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโดยเฉพาะในเด็กและในสตรีวัยเจริญพันธุ์เนื่องจากรังไข่ยังสามารถกลับมาทำงานได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Abha Sinha and Ayman A. A. Ewies, “Ovarian mature cystic teratoma: challenges of surgical management,” Obstet Gynecol Inter 2016, Article ID 2390178.
  2. Paula J, Hillard A. Benign disease of the female reproductive tract .In: Berek and Novak’s gynecology.15th ed. Philadelphia: Lippincott Williams and Wilkins; 2012 :374-437.
  3. ธีระ, ท., นรีเวชวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 4. มะเร็งรังไข่ (ovarian carcinoma). 2559, กรุงเทพฯ: พี.บี.ฟอเรน บุ๊ค เซนเตอร์. หน้า 439-68.
  4. American College of Obstetricians and Gynecologists, “ACOG Practice Bulletin. Management of adnexal masses,” Obstet Gynecol 2007 ;110(1) :201–14.
  5. Royal College of Obstetricians and Gynaecologists (RCOG), Management of Adnexal Masses in Premenopausal Women, Green Top Guidelines (62), Royal College of Obstetricians and Gynaecologists (RCOG), London, UK, 2011.
  6. Scott D McMeekin. The Adnexal mass. In: DiSaia PJ. Clinical gynecology oncology. 8th. Philadelphia: Elsevier Inc;2012. 266-73.
  7. Andrea R. Hagemann. Pelvic malignancies In:Samantha M. Pfeifer. NMG Obstetrics and Gynecology. 7th ed: Lippincott Williams & Wilkins; 2012. p.461-82.
  8. พงษ์เกษม วรเศรษฐสิน. เนื้องอกและมะเร็งของตัวมดลูก. ใน: สมชัย นิรุตติศาสน์, นเรศร สุขเจริญ, สุรางค์ ตรีรัตนชาติ, วิชัย เติมรุ่งเรื่องเลิศ, วิสันต์ เสรีภาพงศ์, บรรณาธิการ. นรีเวชวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2547. หน้า 206-219.
Read More