Impact of assisted reproductive technology on gynecological surgery

Impact of assisted reproductive technology on gynecological surgery

พญ. ราชาวดี ตันวิสุทธิ์
ผศ. นพ. โอภาส เศรษฐบุตร


ภาวะมีบุตรยาก (infertility) หมายถึง การที่คู่สมรสไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้ โดยที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันอย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้คุมกำเนิด เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือระยะเวลา 6 เดือน ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงมีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป โดยควรมีการตรวจประเมินสาเหตุเพิ่มเติม ที่ถือระยะเวลา 6 เดือนสำหรับหญิงอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากในตัว ในขณะที่ภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อน (subfertility) หมายถึง การที่คู่สมรสสามารถตั้งครรภ์ได้เอง โดยใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้คุมกำเนิด

Fecundability หมายถึง โอกาสของการตั้งครรภ์ต่อ 1 รอบประจำเดือน โดยโอกาสในคู่สมรสปกติอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 และ Fecundity หมายถึง โอกาสของการตั้งครรภ์ และคลอดบุตรมีชีพต่อ 1 รอบประจำเดือน ซึ่งในคำจำกัดความนี้ Fecundity มีคุณค่ามากกว่า fecundability

ภาวะมีบุตรยากมีสาเหตุได้จากทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง โดยพบว่าร้อยละ 40-55 เป็นสาเหตุจากสตรี และร้อยละ 10-40 เกิดจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยที่สาเหตุส่วนมากของฝ่ายหญิง มักเกิดจากภาวะไม่ตกไข่ ร้อยละ 20-40 ปัญหาจากท่อนำไข่ และอุ้งเชิงกรานร้อยละ 20-40 สาเหตุอื่นๆ ร้อยละ 10-15 และไม่ทราบสาเหตุร้อยละ 10-20

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ (assisted reproductive technology, ART) ประสบความสำเร็จมากขึ้น บทบาทของการผ่าตัดรักษาทางนรีเวชเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มถูกแทนที่เนื่องจากหลายปัจจัย ในที่นี้จะอธิบายแนวทางการรักษาที่เหมาะสมแต่ละสาเหตุ รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึงก่อนการตัดสินใจ เนื่องจากทั้งการผ่าตัด และ ART มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป โดยไม่ได้คำนึงถึงเพียงแต่อัตราการตั้งครรภ์ที่มากขึ้น แต่ยังต้องเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงจากการผ่าตัด ค่าใช้จ่าย ปัญหาจากการกระตุ้นไข่ ภาวะ OHSS ปัญหาสูติกรรมที่สัมพันธ์กับ ART เช่น ความผิดปกติของทารกในครรภ์ ภาวะครรภ์แฝด ทารกโตช้าในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อย นอกจากนี้ ทั้ง ART และการผ่าตัดอาจทำร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งการเลือกแนวทางรักษานั้นควรพิจารณาเป็นรายบุคคลไป

Ovulatory disorder

สาเหตุจากการตกไข่ (ovulatory dysfunction) พบได้ร้อยละ 15 ของคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก และเป็นสาเหตุถึงร้อยละ 40 ของสตรีมีบุตรยาก WHO จัดแบ่งสาเหตุจากภาวะ anovulation เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ Hypogonadotropic hypoestrogenic anovulation, normogonadotropic normoestrogenic, hypergonadotropic hypoestrogenic anovulation และ hyperprolactinemic anovulation

Polycystic ovarian syndrome

สาเหตุของการตกไข่ผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุด โดยทั่วไปควรแนะนำสตรีเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย โดยเฉพาะสตรีที่อ้วน จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีมากขึ้น การรักษาภาวะมีบุตรยากในกลุ่มนี้มักเริ่มจากการกระตุ้นการตกไข่

  • Clomiphene citrate ออกฤทธิ์เป็น competitive estrogen antagonist กระตุ้นการทำงานของ hypothalamus และ pituitary gland ตามลำดับไปกระตุ้นกระบวนการตกไข่ โดยระยะเวลาให้ยา 5 วัน ขนาด 50 mg/day หลังจากนั้นจะมีการตกไข่ภายในวันที่ 5-12 หลังได้ยาครบ โดยพบว่าอัตราการตั้งครรภ์โดยรวม ร้อยละ 55–73 ซึ่งลดลงเมื่อมีอายุและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ภาวะ hyperandrogenic หากไม่มีการตกไข่ อาจต้องเพิ่มขนาดยา 50 à 100 à 150 mg/day
  • hCG เพื่อกระตุ้นการตกไข่ คล้ายการเกิด LH surge ในร่างกาย พบว่าไม่เพิ่มอัตราการฝังตัวของตัวอ่อนในกลุ่มที่ใช้ CC
  • Metformin ถูกนำมาใช้เพื่อลดภาวะดื้ออินซูลิน และเชื่อว่าเพิ่มโอกาสการตกไข่ตามมา จากการศึกษาพบว่าการใช้ metformin เพียงอย่างเดียว อาจมีการตกไข่ตามมาได้เองในเวลาช่วง 3-6 เดือน นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบการให้ metformin ร่วมกับ clomiphene citrate พบว่าโอกาสการตั้งครรภ์ และคลอดบุตรมีชีพไม่ต่างกับการใช้ clomiphene citrate เพียงอย่างเดียว
  • Oral contraceptive pill การใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อแก้ไขภาวะ hyperandrogenic ที่มีอยู่เดิมก่อนเริ่มการกระตุ้นการตกไข่ พบว่าช่วยเพิ่มโอกาสการตกไข่ และโอกาสตั้งครรภ์ในสตรีที่มีภาวะดื้อต่อ clomiphene citrate
  • Aromatase inhibitor เช่น letrozole, anastrazole ลดการเปลี่ยน androgen เป็น estrogen ได้นำมาใช้ในการกระตุ้นการตกไข่ในสตรีที่ไม่ตอบสนองต่อ clomiphene citrate ข้อดีกว่า clomiphene citrate คือกระตุ้นไข่จำนวนน้อยกว่า ลดการเกิดภาวะครรภ์แฝด และผลข้างเคียงต่อเยื่อบุโพรงมดลูกและมูกปากมดลูกน้อยกว่า จากการศึกษาไม่พบความผิดปกติในทารกที่เกิดมา แต่ในระยะยาวยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าปลอดภัย และ FDA ยังไม่รับรองการใช้ยานี้
  • Gonadotropin เป็นทางเลือกในกรณีที่สตรีไม่เกิดการตกไข่ภายหลังการกระตุ้นด้วยยาตัวอื่น พบอัตราการตั้งครรภ์รวมไม่ต่างกับการกระตุ้นด้วย clomiphene citrate แต่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์แฝดเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 36 และการเกิด ovarian hyperstimulation syndrome (OHSS) ร้อยละ 4.6 ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการมี antral follicle เดิมเป็นจำนวนมากจากตัวโรคเอง อาจใช้ร่วมกับ clomiphene citrate เพื่อลดขนาดยาและผลข้างเคียงจาก gonadotropin

ในอดีตบทบาทของการผ่าตัดใน PCOS มีการพิจารณาตัดเนื้อรังไข่บางส่วน หรือ ovarian wedge resection เพื่อลดการสร้าง androgen ที่มากเกินไป นำไปสู่การกระตุ้นการตกไข่ และลดความเสี่ยงจากการเกิดครรภ์แฝด แต่ในปัจจุบันมีเพียงการทำ laparoscopic ovarian drilling เพื่อกระตุ้นการตกไข่ จากการศึกษาแบบสุ่ม พบว่าโอกาสการตั้งครรภ์สะสมของ ovarian drilling ที่ 6-12 เดือน เท่ากับกลุ่มที่กระตุ้นการตกไข่ด้วย gonadotropins ที่ 3-6 รอบประจำเดือน กล่าวคือ ที่ระยะ 12 เดือน มีโอกาสตกไข่ร้อยละ 52 โอกาสการตั้งครรภ์เพิ่มจากร้อยละ 26 เป็น 48 และโอกาสการคลอดบุตรมีชีพจากร้อยละ 13 เป็น 32 แต่พบว่าโอกาสการตั้งครรภ์แฝดลดลงเทียบกับกลุ่มที่ใช้ gonadotropins

ความเสี่ยงทั่วไปของการทำ ovarian drilling ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนทั่วไปจากการผ่าตัด เพิ่มการเกิดพังผืด มีโอกาสเกิดภาวะไม่ตกไข่ซ้ำได้อีก และในทางทฤษฎีอาจสัมพันธ์กับการเกิด ovarian failure ได้ โดยทั่วไป จะแนะนำการทำ ovarian drilling ในสตรีที่มีภาวะดื้อต่อ clomiphene citrate

Preservation of fertility after ovarian destruction

ในสตรีที่มีข้อบ่งชี้สำหรับการรับเคมีบำบัด ฉายแสงหรือการผ่าตัดรังไข่ และต้องการมีบุตรในอนาคต ควรได้รับการแนะนำเรื่องการเก็บรักษาภาวะเจริญพันธุ์ไว้เนื่องจากขั้นตอนการรักษาดังกล่าวมีโอกาสทำลายรังไข่ ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธ์ และการเข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะในสตรีอายุน้อยกว่า 35 ปี ทดสอบ ovarian reserve ปกติ และไม่มี remnant ของ borderline tumor หรือแนวโน้มจะเป็นมะเร็งในอนาคต

Embryo เก็บตัวอ่อนถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการทำ IVF พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ขึ้นกับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอายุของสตรี โดยเฉลี่ยอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 22-35 ในแต่ละครั้งของการย้ายตัวอ่อน ข้อจำกัดของ embryo cryopreservation คือจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการกระตุ้นไข่ ซึ่งอาจส่งผลให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการฉายแสงต้องเลื่อนออกไป และมะเร็งบางชนิดถูกกระตุ้นได้โดย estrogen ซึ่งในขั้นตอนการกระตุ้นไข่นั้นระดับฮอร์โมนจะสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ภายหลังจากการรับยาเคมีบำบัด ไม่แนะนำให้ทำการกระตุ้นไข่เพื่อ IVF ในทันที เนื่องจากเคมีบำบัดอาจส่งผลให้เกิด DNA breakdown ใน oocyte ทั่วไปแนะนำให้รอประมาณ 6 เดือนหลังได้เคมีบำบัดครบ

Mature oocyte Cryopreservation ของ oocyte ASRM แนะนำให้ mature oocyte cryopreservation สำหรับสตรีที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา และต้องการรักษาภาวะเจริญพันธ์ในขณะที่ไม่สามารถเก็บ embryo preservation ได้ ในปัจจุบันมีเด็กที่เกิดจากการเก็บ mature oocyte ก่อนใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ในภายหลัง โดยพบว่า oocyte สามารถเก็บรักษาไว้ได้ร้อยละ 74 และสามารถใช้ผสมได้ร้อยละ 90 ในภายหลัง ในทางทฤษฎีการเก็บ mature oocyte ช่วง metaphase อาจส่งผลต่อความผิดปกติทาง karyotype ได้ แต่ยังไม่มีรายงานเนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมามีน้อย จึงควรให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่สตรี

Immature oocyte การเก็บ immature oocyte หลังจากนั้นเลี้ยงให้เจริญต่อภายนอก (in vitro maturation) ข้อดีคือหลีกเลี่ยงการกระตุ้นไข่โดยการใช้ยา และลดความเสี่ยงจากการได้ estrogen ระดับสูง ในทางทฤษฎีเชื่อว่า immature oocyte จะทนกว่าการเก็บแบบ mature แต่กลับพบว่าอัตราการฝังตัวน้อยกว่าการทำ conventional IVF จากร้อยละ 5.5 เทียบกับ 21.6 และมีอัตราการแท้งสูงกว่า

Ovarian tissue การเก็บรักษา ovarian tissue ก่อนนำมาปลูกถ่ายให้กับสตรีที่อวัยวะอื่น (heterotopic implantation) หรือบริเวณเดิม/ภายในเยื่อบุช่องท้อง (orthotopic implantation) เหมาะกับสตรีที่ยังไม่เข้าสู่วัย puberty หรือสตรีที่ต้องได้รับการรักษาโรคหลักในทันที ข้อดีคือสามารถเก็บ immature oocyte แยกได้ ร่วมกับยังมีการสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ได้ ปัจจุบันมีเด็กคลอดภายหลังจากการรทำ ovarian reimplantation อย่างน้อย 47 ราย

Whole ovary and pedicle ในปัจจุบันยังไม่มีเทคนิคที่ดีพอในการเก็บรังไข่ และเส้นเลือดต่างๆ ไว้

Ovarian transposition (oophoropexy) เหมาะกับสตรีที่จะรับการรักษาด้วยการฉายรังสี สามารถทำได้ทั้ง laparotomy และ laparoscopy ควรทำก่อนเริ่มการฉายรังสีไม่นาน เนื่องจากมีโอกาสที่รังไข่จะเคลื่อนกับมาบริเวณเดิมได้ ภาวะแทรกซ้อนได้แก่ อันตรายต่อเส้นเลือดต่างๆ ส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ เกิดท่อนำไข่ขาดเลือดตามมา

Tubal factor

เหตุจากความผิดปกติของท่อนำไข่เป็นสาเหตุที่พบได้ร้อยละ 25-35 ของภาวะมีบุตรยาก โดยพบว่าส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ พบได้ ร้อยละ 8, 19.5 และ 40 ภายหลังการเกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบ 1, 2 และ 3 ครั้งตามลำดับ นอกจากนั้นประวัติการท้องนอกมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน การวินิจฉัยสาเหตุจากท่อนำไข่ได้ถูกต้องจำเป็นต้องอาศัยหลายการตรวจร่วมกัน โดยทั่วไปเริ่มจากการฉีดสีโพรงมดลูกและท่อนำไข่ (hysterosalpingography, HSG) ถึงแม้ว่าการส่องกล้องตรวจอุ้งเชิงกรานร่วมกับการฉีดสี (laparoscopy and chromotubation with methylene blue or indigo carmine) จะให้ผลการตรวจที่น่าเชื่อถือได้มากกว่า แต่บางการศึกษาพบว่าในสตรีที่มีท่อนำไข่อุดตันจากการส่องกล้องตรวจ ร้อยละ 3 มีการตั้งครรภ์ตามมาได้เอง

สาเหตุจากท่อนำไข่ รวมถึงการผ่าตัดแก้หมันนั้นสามารถเลือกได้ทั้งการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ และการใช้ IVF โดยมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง 2 วิธีนี้ คือ ที่ผ่านมาพบการศึกษาผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์จาก IVF เป็นอัตราการตั้งครรภ์ต่อรอบของการย้ายตัวอ่อน ในขณะที่ภายหลังการผ่าตัดมักศึกษาเป็นอัตราการตั้งครรภ์ต่อคน ซึ่งไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง อีกทั้งในการศึกษาต่างๆ การผ่าตัดนั้นทำโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ ไม่อาจจะสรุปได้ว่าอัตราการตั้งครรภ์ที่แท้จริงภายหลังการผ่าตัดเป็นเท่าใดเนื่องจากมีหลายปัจจัยร่วม

การผ่าตัด microsurgery เริ่มนำมาใช้ปี 1970 โดยหวังเพื่อลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ กระบวนการอักเสบ และพังผืดที่จะเกิดตามมา เมื่อร่วมกับ laparoscopy ข้อดีของการผ่าตัดแก้ไข คือหากประสบความสำเร็จ มีโอกาสตั้งครรภ์ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมารับการตรวจติดตามต่อเนื่อง อีกทั้งในปัจจุบันการผ่าตัดความเสี่ยงลดลง ระยะเวลานอนโรงพยาบาลน้อย และบางกรณีสามารถผ่าตัดเป็นแบบผู้ป่วยนอกได้ ในขณะที่มีข้อจำกัดอยู่ที่พยาธิสภาพเดิมของท่อนำไข่ หากมีความผิดปกติมาก การผ่าตัดอาจจะแก้ไขด้าน anatomic ได้ แต่การทำงานอาจไม่ดีเหมือนปกติ นอกจากนี้จำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด และความเสี่ยงทั่วไป เช่น เสียเลือด ติดเชื้อ หรือมีการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงขณะผ่าตัด นอกจากนี้พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดท้องนอกมดลูก (ectopic pregnancy) ได้สูงกว่า

ในขณะที่ IVF เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้นช่วงปี 1990 บทบาทของการผ่าตัดจึงเริ่มน้อยลง ข้อดีของการเลือกใช้ IVF คือมีโอกาสตั้งครรภ์ต่อรอบประจำเดือนสูง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการผ่าตัด ในขณะที่ข้อเสียคือราคาค่อนข้างสูง ต้องมารับการตรวจติดตาม รับยาต่อเนื่อง มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์แฝดมากกว่า และภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาต่างๆ รวมถึงภาวะ OHSS นอกจากนี้การทำ IVF เองพบความเสี่ยงต่อทารกได้มากกว่าทั้งการคลอดก่อนกำเนิด น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ทารกโตช้าในครรภ์และความผิดปกติของทารก

Proximal tubal obstruction

พบได้ร้อยละ 10-25 ของสาเหตุจากท่อนำไข่ ซึ่งอาจเกิดจากการมี mucus หรือ debris อุดตันบริเวณท่อนำไข่ การบีบตัวมากเกินของ uterotubal ostium  หรือการอุดตันจากพังผืดจาก salpingitis isthmica nodosa (SIN) อุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

การวินิจฉัยท่อนำไข่ส่วนต้นอุดตันจาก HSG นั้นมีผลบวกลวงสูง บางการศึกษาพบว่าหากทำการตรวจ HSG ซ้ำใน 1 เดือนหลังจากการวินิจฉัยกลับไม่พบการอุดตันได้ถึงร้อยละ 60

Tubal cannulation หรือการใส่สายสวนผ่านทางท่อนำไข่ เพื่อทดสอบการอุดตัน มักทำร่วมกับการใช้ fluoroscopy หรือ hysteroscopy with laparoscopy ในกรณีที่พบว่ามีการอุดตัน อาจลองทำการใส่ catheter ร่วมกับ guide wire ผ่านทาง cervix เพื่อไปขยายบริเวณ utertotubal ostium และบริเวณท่อนำไข่ พบว่าหากมีการอุดตันจาก spasm, stromal edema สารคัดหลั่ง หรือ debris จะให้ผลที่ดีกว่า โดยการศึกษาพบว่าร้อยละ 85 ประสบความสำเร็จจากการใส่ catheter และร้อยละ 50 จะมีการตั้งครรภ์ได้เองในเวลาต่อมา ในขณะที่การอุดตันซ้ำเกิดขึ้นได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วย มักสัมพันธ์กับการอุดตันที่เกิดจาก SIN, ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง หรือพังผืด

นอกจากนี้การเลือกระหว่าง hysteroscopy with laparoscopy หรือ fluoroscopy พบว่า hysteroscopy with laparoscopy มีอัตราการตั้งครรภ์มากกว่า เนื่องจาก การตรวจด้วย laparoscopy สามารถแก้ไขสาเหตุอื่นร่วมด้วยได้ อาทิเช่น การเลาะพังผืดในอุ้งเชิงกราน รวมถึงการส่องกล้องเห็นท่อนำไข่ขณะทำการใส่ catheter พบมีอันตรายต่อท่อนำไข่น้อยกว่า

พบภาวะแทรกซ้อน tubal perforation ได้ร้อยละ 3-11 หากระหว่างการทำหัตถการใส่ catheter แล้วรู้สึกถึงแรงต้าน หรือไม่ได้ใส่สายสวนโดยง่าย ควรหยุดหัตถการ และแนะนำให้ทำ IVF แทนจะให้ผลที่ดีกว่า รวมถึงในกลุ่มที่มีการอุดตันซ้ำภายหลังการตรวจ

ในอดีต มีการผ่าตัดเพื่อทำ tubal implantation แต่ไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อย และมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มดลูกบริเวณส่วนคอร์นูแตกในขณะตั้งครรภ์ได้ ปัจจุบันการผ่าตัด tubocornual anastomosis คือ การตัดท่อส่วนที่อุดตันออก ฉีดสีทดสอบ แล้วเชื่อมต่อท่อนำไข่ส่วนที่ดีเข้ากับมดลูกบริเวณคอร์นู อาจให้เป็นทางเลือกในกรณีที่คู่สมรสไม่สามารถทำ IVF ได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่มากพอในการสรุปผล พบอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 30-60  อาจเทียบเท่ากับการทำ IVF แต่พบการเกิดครรภ์นอกมดลูกได้ ร้อยละ 20 เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ยาก อาศัยความชำนาญของแพทย์สูง ในปัจจุบันแนะนำการทำ IVF แทนมากกว่า ยกเว้นในสตรีไม่สามารถทำ IVF ได้ และมีแพทย์ผู้ชำนาญเพียงพอ

Distal tubal disease

พบได้ร้อยละ 85 ของภาวะมีบุตรยากจากท่อนำไข่ โดยมากเกิดตามหลังการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อน

Laparoscopic with microsurgery มักให้ผลลัพธ์ดีในกรณีที่ไม่มีสาเหตุอื่นร่วมด้วยและสามารถใช้เพื่อยืนยันการอุดตันของท่อนำไข่ การศึกษาเปรียบเทียบอัตราการตั้งครรภ์ก่อนและหลังการผ่าตัด พบว่าสูงขึ้น ใน adhesiolysis ร้อยละ 32 เป็น 42.2, fimbrioplasty ร้อยละ 54.6 เป็น 60, salpingostomy ร้อยละ 30 เป็น 34.6 และการต่อเชื่อมท่อ anastomosis ร้อยละ 30 เป็น 55.9 ลักษณะที่ดีสำหรับการผ่าตัด ได้แก่ พังผืดบางเล็กน้อย ท่อนำไข่บวมไม่เกิน 3 ซม. ผนังท่อบาง และมี  endosalpinx ที่ปกติ

IVF เลือกแนะนำในกรณีสตรีอายุมาก มี ovarian reserve น้อย มีปัญหาทั้งท่อนำไข่ส่วนต้นและส่วนปลาย ท่อนำไข่ผิดรูปมาก หรือมีหลายสาเหตุอื่นร่วมกัน

Hydrosalpinges

ภาวะที่มีการอุดตัน ทำให้มีการคั่งสะสมของสารน้ำต่างๆ บริเวณท่อนำไข่ ทำให้เกิดการบวมขึ้น ซึ่งสารเหล่านี้เป็น embryotoxic substance ส่งผลต่อการเจริญของตัวเอง และสารน้ำที่สะสมอยู่ยังยับยั้งการฝังตัว พบว่า hydrosalpinges ลดทั้งอัตราการฝังตัว การตั้งครรภ์และคลอดบุตรมีชีพ และเพิ่มอัตราการแท้งบุตรถึง

ปัจจุบันแนะนำให้ผ่าตัดรักษา hydrosalpinges ได้แก่ การทำ salpingostomy และ fimbrioplasty พบว่าอัตราการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นภายหลังการผ่าตัด และสัมพันธ์กับความรุนแรงของรอยโรคที่ท่อนำไข่ ในกรณี mild hydrosalpinges พบอัตราตั้งครรภ์ ร้อยละ 58 เป็น 77 และในกรณี severe hydrosalpinges อัตราการตั้งครรภ์จากร้อยละ 0 เป็น 22 ในขณะเดียวกันพบครรภ์นอกมดลูกสูงขึ้นจากร้อยละ 2 เป็น 8 และหากเป็น severe hydrosalpinges สูงถึงร้อยละ 17

ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้อื่นให้ทำ IVF ภาวะ hydrosalpinges ลดการฝังตัวและการตั้งครรภ์จาก IVF ร้อยละ 50 และเพิ่มอัตราการแท้ง 2 เท่า ดังนั้นในกรณีที่เป็น mild hydrosalpinges แนะนำให้ทำ salpingostomy ก่อน พบว่าเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติและจาก IVF กรณีของ severe hydrosalpinges หรือ poor prognosis hydrosalpinges ได้แก่ มีพังผืดรอบท่อนำไข่หนา ท่อนำไข่บวมและมี fibrous แน่น เยื่อบุท่อนำไข่ผิดปกติ แนะนำให้ทำ salpingectomy ก่อน IVF การศึกษาพบว่าแม้จะมี severe unilateral hydrosalpinges การทำ salpingectomy เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ทั้งโดยธรรมชาติ และจาก IVF

การรักษาด้วย transvaginal needle aspiration ยังไม่มีการศึกษายืนยันผลที่ดี พบการเกิดเป็นซ้ำได้เร็วภายหลังการรักษา

Sterilization reversal

ภายหลังการผ่าตัดทำหมัน สตรีร้อยละ 1-5 ต้องการผ่าตัดแก้หมัน สาเหตุโดยส่วนมากเกินจากการมีครอบครัวใหม่ แนวทางการรักษาในกรณีที่สตรีเคยผ่าตัดทำหมันมาก่อน ทั้งการผ่าตัดแก้หมัน และใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์นั้นสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง 2 วิธี ซึ่งควรให้คู่สมรสเป็นผู้ตัดสินใจ โดยแนะนำให้ทราบถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี

การผ่าตัดแก้หมันคือ ต่อเชื่อมท่อนำไข่ส่วนต้น และปลายเข้าด้วยกัน สามารถทำได้ทั้ง minilaparotomy และ laparoscopy อัตราการตั้งครรภ์หลังการผ่าตัดแก้หมันร้อยละ 55-81 ในกรณีที่สตรีอายุน้อยกว่า 35 ปี การผ่าตัดเชื่อมบริเวณ isthmic-isthmic หรือ ampulo-ampullar ท่อนำไข่หลังการผ่าตัดเชื่อมมากกว่า 4 ซม. และขั้นตอนการทำหมันไม่ได้ทำลายท่อนำไข่ เช่น การใช้ rings หรือ clips ลักษณะดังกล่าวจะให้ผลลัพธ์ที่ดีในการผ่าตัดแก้หมัน ช่วงระยะเวลาระหว่างทำหมันถึงการผ่าตัดแก้หมันไม่ได้มีผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ นอกจากนี้พบครรภ์นอกมดลูกภายหลังการผ่าตัดแก้หมันได้ร้อยละ 2-10

ในกรณีที่สตรีอายุมาก หรือคาดว่าท่อนำไข่ภายหลังการผ่าตัดแก้หมันจะยาวน้อยกว่า 4 ซม. มีพังผืดบริเวณปีกมดลูก หรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ระดับ 3-4 หรือมีสาเหตุอื่นของภาวะมีบุตรยากร่วม เช่น สาเหตุจากฝ่ายชาย ควรแนะนำให้ผู้ป่วยเลือกใช้ IVF มากกว่าการผ่าตัดแก้หมัน จาก Retrospective study พบว่าในสตรีอายุมากกว่า 37 ปี การผ่าตัดแก้หมันเองไม่ได้เพิ่มจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับการใช้ IVF ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มอายุน้อยกว่า 37 ปี อีกปัจจัยคือ ค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบแล้วค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแก้หมันน้อยกว่าการทำ IVF ประมาณครึ่งหนึ่ง

Uterine factor

สาเหตุจากความผิดปกติของมดลูก ทั้งในด้าน anatomy และการทำงานพบได้น้อย แต่เป็นสาเหตุที่ควรวินิจฉัยให้ได้ การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (hysteroscopy) ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยความผิดปกติในโพรงมดลูก แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายและมีความเสี่ยงจากการตรวจสูงกว่าการตรวจชนิดอื่น โดยทั่วไปจะวินิจฉัยจากการตรวจ ultrasound หรือ MRI การส่งตรวจ HSG พบมี sensitivity (ร้อยละ 50) และ PPV (ร้อยละ 30) น้อยในการวินิจฉัยติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก

Congenital anomalies of uterus

พบได้ร้อยละ 3-4 ในสตรีทั่วไป สูงขึ้นเป็นร้อยละ 5-10 ของสตรีที่มีปัญหาแท้งในไตรมาสแรก และร้อยละ 25 ของการแท้งในช่วงไตรมาสที่สองและสาม congenital anomalies นั้นมักสัมพันธ์กับการแท้ง และภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์มากกว่าภาวะมีบุตรยาก คือพบ congenital anomalies ได้ทั้งในสตรีทั่วไป และสตรีที่มีบุตรยากในอัตราที่ไม่แตกต่างกัน (ยกเว้นกรณีของ mullerian agenesis)

การผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของมดลูกต่ออัตราการตั้งครรภ์ยังไม่มีการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียที่มากพอ ในบางกรณีที่แนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขก่อน เช่น rudimentary horn ควรจะผ่าตัดออกเมื่อวินิจฉัย ในกรณีของ arcuate uterus ถือความความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมีชีพต่ำเท่ามดลูกปกติ

Uterine fibroid

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกพบได้สูง ร้อยละ 25-45 ของสตรีวัยเจริญพันธ์ พบได้ร้อยละ 5-10 ในสตรีที่มีบุตรยาก ผลต่อภาวะมีบุตรยากยังอธิบายได้ไม่ชัดเจน อาจเกิดจากเนื้องอกส่งผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก กดเบียดโพรงมดลูก รวมถึงรบกวนการฝังตัว อัตราการตั้งครรภ์ในสตรีกลุ่มนี้สัมพันธ์กับตำแหน่งของเนื้องอก ชนิด subserosal ไม่มีผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ ในขณะที่ intramural และ submucosal จะมีอัตราการฝังตัว การตั้งครรภ์ และคลอดบุตรมีชีพที่ต่ำกว่าสตรีทั่วไป โดยที่ขนาดของเนื้องอกไม่ได้สัมพันธ์กับอัตราการตั้งครรภ์ การศึกษาพบอัตราการฝังตัวและคลอดบุตรในกลุ่มเนื้องอกชนิด intramural และ submucosal ร้อยละ 16.4 เทียบกับ 27.7 และ ร้อยละ 31.2 เทียบกับ 40.9 ในสตรีทั่วไปตามลำดับ

ในกรณีไม่พบสาเหตุอื่นนอกจากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก พบว่าอัตราการตั้งครรภ์เองภายหลังผ่าตัด myomectomy ในสตรีอายุน้อยกว่า 30 ปีประมาณร้อยละ 76 จึงแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขก่อนหากไม่พบสาเหตุอื่นร่วม

ไม่แนะนำการทำ uterine artery embolization หรือ uterine fibroid embolization ในสตรีที่ต้องการมีบุตร พบว่าเพิ่มอัตราการแท้งคลอดก่อนกำหนด การผ่าตัดคลอด และตกเลือดหลังคลอด โดยพบลักษณะเยื่อบุโพรงมดลูกขาดเลือด พังผืดในโพรงมดลูก และ fistula ระหว่างเนื้องอกเข้าโพรงมดลูกได้

ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ เดิมพบว่าการผ่าตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกก่อนจะเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในกลุ่ม submucosal และ intramural ที่ขนาดมากกว่า 5 ซม. แต่ในระยะหลังพบว่าแม้ก้อนขนาดเล็กกว่า 5 ซม. อัตราการคลอดบุตรมีชีพจาก IVF ลดลงร้อยละ 45 การศึกษาเทียบผลอัตราการตั้งครรภ์ด้วย IVF ต่ออัตราการฝังตัว ร้อยละ 18 เทียบกับร้อยละ 26.5 ในสตรีทั่วไป ในอีกการศึกษาพบอัตราการตั้งครรภ์จาก IVF เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกก่อนจากร้อยละ 15 เป็น 33 หรือเทียบเท่าสตรีปกติในบางการศึกษา

การรักษาด้วย GnRH agonist ก่อนทำการผ่าตัดมีข้อดีสำหรับเนื้องอกขนาดใหญ่ 5-6 ซม. ช่วยลดขนาดของก้อนให้สามารถทำการผ่าตัดผ่าน hysteroscopy ได้ รวมถึงลดการเสียเลือดและภาวะซีดภายหลังผ่าตัด

ข้อเสียของการผ่าตัด myomectomy รักษาภาวะมีบุตรยาก หรือก่อนใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ได้แก่ อันตรายต่ออวัยวะข้างเคียงหากเป็น laparotomy หรือ laparoscopy รวมถึงการเสียเลือด และมีความเสี่ยงต่อมดลูกแตกทะลุในช่วงตั้งครรภ์ในกรณีที่ผ่าตัดเข้าโพรงมดลูก และ transmyometrial

สำหรับการรักษาด้วย MRI-guided focused ultrasound surgery ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ภายหลังการรักษา

Endometrial polyps

ติ่งเนื้อโพรงมดลูกที่ไม่มีอาการพบได้สูงถึงร้อยละ 6-32 ของสตรีที่มีภาวะมีบุตรยาก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน การตัดติ่งเนื้อ polypectomy สามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ทั้งในกลุ่มมีบุตรยาก และ subfertility

Peritoneal factor

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือพังผืดในอุ้งเชิงกราน ควรนึกถึงเสมอกรณีที่ยังหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากไม่พบ การส่องกล้องตรวจ (laparoscopy with direct visual examination) ถือเป็นการตรวจที่สามารถใช้วินิจฉัยภาวะนี้ได้ดีที่สุด ASRM แนะนำให้ส่งตรวจในสตรีที่มีประวัติ ความเสี่ยง หรือตรวจ HSG, ultrasound พบความผิดปกติ

Endometriosis

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในอุ้งเชิงกราน พบได้ร้อยละ 6-10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ แต่พบสูงขึ้นในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากได้ถึงร้อยละ 25-50 พบว่าในกลุ่มนี้มีโอกาสการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 2-10 ต่อรอบประจำเดือน และอัตราการตั้งครรภ์จาก IVF ลดลงร้อยละ 50 เทียบกับสาเหตุอื่น

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากในกลุ่มนี้เกิดได้จากการมีพังผืดทำให้โครงสร้างเดิมของระบบสืบพันธุ์เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการมีกระบวนการอักเสบเกิดขึ้น ซึ่งอาจมีสารที่เป็นพิษต่อเซลล์สืบพันธุ์ ตัวอ่อน ท่อนำไข่ และเยื่อบุโพรงมดลูกเอง การวินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้แก่การส่องกล้องเพื่อตรวจดูรอยโรคในอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะทำให้ได้การวินิจฉัย และสามารถรักษารอยโรคบางส่วนได้ โดยแบ่งความรุนแรงเป็น 4 ระดับ คือ Stage I minimal, II mild, III moderate และ IV severe

จากการศึกษาพบว่าภาวะมีบุตรยากจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ บทบาทของการผ่าตัดรักษาสาเหตุยังไม่ชัดเจน เพราะการผ่าตัดเพื่อจี้ทำลายรอยโรคเอง ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เนื่องจากมีรอยโรคบางส่วนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าหรือแม้แต่การส่องกล้องตรวจก็ตาม การศึกษาพบว่าภายหลังผ่าตัดรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แล้วการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 3.2 ซึ่งน้อยกว่าในสตรีปกติ ในขณะที่บาง meta-analysis พบการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นภายหลัง laparoscopic treatment ในกลุ่มที่ความรุนแรง minimal-mild

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ความรุนแรงระดับ moderate-severe การมี endometrioma บริเวณรังไข่อาจมีการทำลายเนื้อรังไข่บางส่วนจากกระบวนการอักเสบ ส่งผลต่อ ovarian response, คุณภาพของ oocyte quality และ embryo และอัตราการฝังตัวในการทำ IVF การศึกษาบทบาทของการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ออกก่อนที่จะเริ่ม IVF ยังขัดแย้ง พบว่ามีอัตราการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นและลดลงในแต่ละงานวิจัย พบสตรีร้อยละ 13 ที่ภายหลังผ่าตัดมีการทำงานของรังไข่ลดลง และร้อยละ 40 มีอัตราการเป็นซ้ำ โดยมากไม่แนะนำให้ผ่าตัดในกรณีที่ก้อนขนาดเล็ก 2-3 ซม.

ในปัจจุบัน laparoscopic อาจใช้เพียงเพื่อประเมิน prognosis โดย Endometriosis Fertility Index ใช้เพื่อประเมินโอกาสการตั้งครรภ์โดยประเมินจากการทำงานของท่อนำไข่ และรังไข่ ร่วมกับประวัติอายุของสตรี ระยะเวลาที่มีบุตรยาก เคยมีการตั้งครรภ์มาก่อน โดยหากประเมินแล้วพบว่าโอกาสการตั้งครรภ์ได้เองน้อย ควรแนะนำให้สตรีเลือก IVF

โดยสรุปคือ ภาวะมีบุตรยากจากสาเหตเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติในอุ้งเชิงกราน การรักษาหลักคือการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ ได้แก่ in vitro fertilization (IVF) เข้ามาช่วย โดยพบว่ามีการตั้งครรภ์ในกลุ่มที่ใช้ IVF ช่วยได้ถึง ร้อยละ 22.3 ของสตรีที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ร้อยละ 25.3 ในกลุ่มที่มีภาวะ endometrioma ร่วมด้วย บทบาทของ laparoscopic กล่าวคือ นอกจากประเมิน prognosis แล้ว ในกรณีที่ไม่สามารถตั้งครรภ์จากกระบวนการ IVF การผ่าตัดรักษา laparoscopic treatment ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง

Adhesion

พังผืดในอุ้งเชิงกราน มักสัมพันธ์กับประวัติการผ่าตัด ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พบว่าในรายที่มีพังผืดไม่มาก การทำ laparoscopic salpingo-ovariolysis หรือการส่องกล้องเพื่อเลาะพังผืด เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้ถึงร้อยละ 70 ในขณะที่สตรีที่มีพังผืดมาก มีโอกาสเกิดซ้ำหลังการผ่าตัดได้ถึงร้อยละ 90 และสัมพันธ์กับอัตราการตั้งครรภ์ที่ลดลง

การใส่ adhesion barrier หรืออุปกรณ์ช่วยป้องกันการเกิดพังผืดภายหลังผ่าตัด พบว่าไม่ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์

เอกสารอ้างอิง

  1. Mira Aubuchon ROB, Danny J. Schust, Mylene W.M. Yao. Berek and Novak’s Gynecology. 15 ed. USA2012. 57 p.
  2. สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์. ความก้าวหน้าทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์2012 August 2012.
  3. Medicine ASoR. Role of tubal surgery in the era of assisted reproductive technology: a committee opinion. Fertility and Sterility. 2015;103:7.
  4. Medicine ASfR. Diagnostic evaluation of the infertile female: a committee opinion. Fertility and Sterility. 2015;103(6):7.
  5. Howard W. Jones J. Te Linde’s Operative Gynecology. 10 ed2008. 82 p.
  6. Farquhar C BJ, Marjoribanks J. Laparoscopic drilling by diathermy or laser for ovulation induction in anovulatory polycystic ovary syndrome (Review). Cochrane Database of Systematic Reviews. 2012(6).
  7. Bulletti C. DZD, Levi Setti P., Cicinelli E., Polli V., Stefanetti M. Myomas, pregnancy outcome, and in vitro fertilization. Annals of the New York Academy of Sciences. 2004;1034:84-92.
  8. Benecke C KT, Siebert TI, Van der Merwe JP, Steyn DW. Effect of fibroids on fertility in patients undergoing assisted reproduction. A structured literature review. Gynecologic and Obstetric Investigation. 2005;59(4).
  9. E. Slager BF, H. van Geijn, H. Brölmann and H. Vervest. WHO-classification of anovulation: background, evidence and problems. Gynaecology, Obstetrics, and Reproductive Medicine in Daily Practice, Proceedings of the 15th Congress of Gynaecology, Obstetrics and Reproductive Medicine. 2005;1279:1-446.
  10. Marcoux S MR, Berube S. Laparoscopic surgery in infertile women with minimal or mild endometriosis. The New England Journal of Medicine. 1997;337(4):217-22.
  11. Gianaroli L GS, D’Angelo A, Magli MC, Brosens I, Cetera C, Campo R, Ferraretti AP. Effect of inner myometrium fibroid on reproductive outcome after IVF. Reproductive BioMedicine Online. 2005;10(4):473-7.
  12. Surrey ES SW. Laparoscopic management of hydrosalpinges before in vitro fertilization-embryo transfer: salpingectomy versus proximal tubal occlusion. Fertility and Sterility. 2001;75(3):612-7.
  13. Geoffrey David Adamson. The Modern Role of Reproductive Surgery. Clinical Obstetrics and Gynecology. 2011;54(4):710-719.
  14. Burney and Nezhat. Infertility treatment: the viability of the laparoscopic view. Fertility and Sterility. 2008;89(2):461-464.
  15. Victor Gomel. Reconstructive tubal microsurgery and assisted reproductive technology. Fertility and Sterility. 2016;105(4):887-890.
  16. Xiaoxiao Catherine Guo, B.S. James H. Segars. The Impact and Management of Fibroids for Fertility: an evidence-based approach. Obstetrics and Gynecology Clinics of North America. 2012;39(4):521-533.
  17.  Practice Committee of the American Society for Reproductive Medicine. Use of clomiphene citrate in infertile women: a committee opinion Fertility and Sterility. 2013;100(2):341-348.

 

Read More
PMB1

ภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรีวัยหมดระดู Postmenopausal bleeding

ภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรีวัยหมดระดู Postmenopausal bleeding

พญ. ราชาวดี ตันวิสุทธิ์
ผศ. นพ. ฉลอง ชีวเกรียงไกร


ภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรีวัยหมดระดู (Postmenopausal bleeding, PMB) หมายถึง ภาวะเลือดออกจากระบบสืบพันธุ์หลังการขาดประจำเดือนไปอย่างน้อย 12 เดือนในกลุ่มสตรีวัยหมดระดูที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทน หรือการมีเลือดออกไม่สัมพันธ์กับรอบฮอร์โมนในกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน หรือเลือดออกผิดปกติภายหลังการทานฮอร์โมนเสริมแบบต่อเนื่อง 6 เดือน
PMB เป็นอาการสำคัญที่พาผู้ป่วยมาตรวจได้ถึง 5% ในห้องตรวจนรีเวช และถือเป็นภาวะที่ต้องได้รับการสืบค้นหาสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการมีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยหรือออกปริมาณมากก็ตาม เพื่อแยกสาเหตุจากมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial carcinoma) ให้ได้ก่อน

สาเหตุของภาวะเลือดออกหลังวัยหมดระดู

สาเหตุของ PMB มีหลากหลาย การซักประวัติ ตรวจร่างกายและส่งตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมจึงจำเป็นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และรวดเร็ว โดยแบ่งสาเหตุ ได้ ดังนี้

ระบบอวัยวะข้างเคียง Non genital bleeding เมื่อผู้ป่วยมาตรวจด้วยอาการเลือดออกบริเวณช่องคลอด ควรได้รับการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อแยกจากสาเหตุจากระบบอื่น เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินอาหาร ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดได้ หรือใช้การส่งตรวจเพิ่มเติมเช่น Urine examination, stool occult blood test

ระบบสืบพันธุ์ Genital bleeding

  • สาเหตุภายนอกมดลูก (Extra uterine bleeding) โดยมากวินิจฉัยได้จากประวัติและการตรวจภายใน เลือดออกจากบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ภายนอก ช่องคลอด หรือปากมดลูก เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น การอักเสบติดเชื้อ ภาวะ atrophic vagina การมีเนื้องอก หรือมะเร็ง โดยพบว่า 15% ของ PMB มีสาเหตุจากภาวะ atrophic vagina แต่ที่สำคัญคือควรแยกจากสาเหตุภายในโพรงมดลูกให้ได้ก่อนเสมอ
  • สาเหตุจากภายในมดลูก (Uterine bleeding)
    • Benign condition
      • Endometrial atrophy ถึงแม้ว่าสาเหตุส่วนมากของ PMB จากโพรงมดลูกสัมพันธ์กับภาวะ atrophy ในช่วงวัยหมดระดู มักพบในผู้ที่หมดระดูมาแล้วมากกว่า 10 ปี การตรวจเพิ่มเติมเช่น endometrial biopsy มักจะไม่ได้ชิ้นเนื้อ หรืออาจได้เพียงเลือดหรือมูก
      • Polyps การวินิจฉัยภาวะติ่งเนื้อในโพรงมดลูกอาจต้องใช้การสืบค้นเพิ่มเติมมาช่วย ยกเว้นในกรณีที่ตรวจร่างกายพบก้อนยื่นมาชัดเจน อาทิเช่น transvaginal ultrasound, hysteroscopy ติ่งเนื้อในโพรงมดลูกที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องอาจนำไปสู่อาการเลือดออกซ้ำ และนำไปสู่การตัดมดลูกโดยไม่จำเป็นได้
      • Estrogen replacement therapy การรักษาด้วย estrogen เช่น ในรักษาอาการวัยทอง เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ (endometrial hyperplasia) และ endometrial carcinoma โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ได้รับ progesterone ร่วม เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น endometrial carcinoma 4-8 เท่า โดยสัมพันธ์กับระยะเวลา และปริมาณที่ได้รับ
      • Endometrial hyperplasia พบเป็นสาเหตุได้ 5-10% โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ estrogen เป็นระยะเวลานาน และปริมาณมาก อาทิเช่น ภาวะอ้วน เนื้องอกรังไข่ที่สร้างเอสโตรเจน หรือไม่ได้ progesterone ร่วมไปด้วย (estrogen replacement therapy alone)
    • Cause of PMB intrauterine bleeding
      • Endometrial atrophy 60-80%
      • Estrogen replacement therapy 15-25%
      • Endometrial polyp 2-12%
      • Endometrial hyperplasia 5-10%
      • Endometrial carcinoma 10%
    •  Malignant condition เป็นสาเหตุสำคัญที่ควรได้รับการวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วย PMB ถึงแม้ในกลุ่ม PMB จะพบ endometrial carcinoma เป็นสาเหตุเพียง 1-14% แต่ 90% ของ endometrial carcinoma มักมาด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีตกขาวผิดปกตินำมาก่อน เพียงแค่น้อยกว่า 5% เท่านั้นที่จะไม่มีอาการ การตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสม จะนำไปสู่การวินิจฉัย และรักษาโรคได้เร็ว ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วย
    • Risk factors of endometrial carcinoma
      • Nulliparous  Relative Risk (RR) : 2-3
      • Late menopause RR : 2.4
      • Obesity, Overweight  9.5-22 kg RR :3Obesity, 
      • Overweight > 22 kg   RR : 10
      • Diabetes mellitus RR: 2.8
      • Unopposed estrogen therapy  RR: 4-8
      • Tamoxifen exposed RR: 2-3
      • Atypical endometrial hyperplasia RR: 8-29
      • Lynch II syndrome (Hereditary nonpolyposis colorectal cancer syndrome) RR: 20

ภาวะเลือดออกหลังวัยหมดระดูในกลุ่มสตรีที่ใช้ฮอร์โมนเสริม (Hormonal replacement therapy, HRT)

สตรีวัยหมดระดูบางกลุ่มมีข้อบ่งชี้ในการใช้ HRT อาทิเช่น มีปัญหากระดูกพรุน หรือมีอาการวัยทอง โดยทั่วไปแนะนำว่าควรใช้ปริมาณต่ำที่สุด ในระยะเวลาน้อยที่สุดที่สามารถควบคุมอาการได้
การใช้ estrogen โดยไม่ใช้ progesterone ร่วมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด endometrial hyperplasia และ carcinoma โดยแนะนำให้สตรีที่ยังมีมดลูกอยู่ ควรได้ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน และสตรีที่ตัดมดลูกไปแล้ว ได้เพียง estrogen ก็เพียงพอ
การให้ HRT มีแบบ continuous (combined estrogen และ progesterone daily), sequential (estrogen daily ร่วมกับ cyclic progesterone 12-14 วัน/รอบ) การให้ฮอร์โมนเป็นรอบ จะทำให้มีเลือดออกตามรอบ สามารถคาดเดาลักษณะ และวันที่เลือดจะออกได้ ในขณะที่การให้แบบต่อเนื่อง อาจจะมีปัญหาเรื่องเลือดออกกะปริดกะปรอยได้มากกว่า แต่ในเวลาต่อมาสตรีส่วนมากจะขาดประจำเดือนไปเลย คล้ายกับในผู้ที่ได้รับ progesterone ในการคุมกำเนิด (progestin only contraception)
ในสตรีที่ได้รับ HRT มีลักษณะของเลือดที่ออกได้ 2 แบบคือ

  • Scheduled bleeding คือลักษณะเลือดที่ออกตามรอบ โดยสัมพันธ์กับ estrogen หรือ progesterone withdrawal bleeding ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะของเยื่อบุโพรงมดลูกในขณะนั้นเป็น estrogen หรือ progesterone predominate ซึ่งลักษณะคล้ายกับเลือดออกตามรอบประจำเดือน หรือตามรอบยาคุม เพียงแต่จะมีปริมาณน้อยกว่า (เฉลี่ย 16-26 ml เทียบกับเลือดประจำเดือน 30-35 ml) ซึ่งเลือดที่ออกลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการส่งตรวจเพิ่มเติม หากเลือดออกปริมาณไม่มากแนะนำให้สังเกตอาการ หรืออาจให้ hormonal therapy เพื่อหยุดเลือด
  • Unscheduled bleeding หรือ breakthrough bleeding คือเลือดที่ออกไม่สัมพันธ์กับรอบฮอร์โมน รวมถึงเลือดที่ออกในกลุ่มที่ได้รับ continuous HRT ไปแล้วพึ่งมีอาการเลือดออกภายหลัง 6 เดือน สามารถเกิดได้ทั้งในกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนแบบ continuous และ sequential สาเหตุเกิดจาก
    • รับประทานฮอร์โมนไม่สม่ำเสมอ
    • พยาธิสภาพในโพรงมดลูกต่างๆ เช่นเดียวกับกลุ่มที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเสริม
    • สตรีกลุ่มที่เข้าใกล้วัยหมดระดู คือ ยังขาดประจำเดือนไปไม่ถึง 1 ปี มีโอกาสที่จะเกิดเลือดออกกระปริบกระปรอยได้มากกว่ากลุ่มที่เข้าสู่วัยหมดระดูแล้ว สาเหตุเนื่องจากกลุ่มนี้ยังมีการทำงานของรังไข่บ้างบางส่วน ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนเองได้
    • มีการสร้าง estrogen ภายในร่างกายมาก เช่น ภาวะอ้วน เนื่องจากเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู estrogen มักมาจากการเปลี่ยนแปลงแบบ peripheral conversion ของ androgen ที่เนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ไขมัน
    • มีปัญหาด้านการดูดซึมฮอร์โมน หรือ metabolism เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคตับ
    • รับประทานยาอื่นร่วม ที่มีผลกับระดับฮอร์โมน

ซึ่งในกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมเช่นเดียวกับกลุ่มที่ไม่ได้รับฮอร์โมน รวมถึงในกรณีที่ผลการตรวจออกมาไม่พบความผิดปกติ ต้องมีการแนะนำผู้ป่วยให้สังเกตอาการ และมาพบแพทย์เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงของลักษณะเลือดที่ออกซ้ำในภายหลัง

การสืบค้นเพิ่มเติม

การตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อหาสาเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับ systemic disease คล้ายกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดออกผิดปกติทั่วไป และตรวจภายในเพื่อหารอยโรคต่างๆ ซึ่งอาจแยกสาเหตุจาก non-genital cause และ extra-uterine cause ได้บางส่วน ก่อนพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป

• Office endometrial biopsy

การสุ่มเก็บเยื่อบุโพรงมดลูก หรือ endometrial biopsy ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็น Gold standard ในการวินิจฉัยภาวะเลือดออกผิดปกติหลังวัยหมดระดู
ข้อดีของ endometrial biopsy คือ ไม่จำเป็นต้องทำการขยายปากมดลูก เนื่องจากอุปกรณ์ขนาดเล็ก และสามารถสอดแทรกในโพรงมดลูกได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด หรืออาจใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ก็เพียงพอ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า
จากข้อมูล meta-analysis เปรียบเทียบผลของ endometrial biopsy เทียบผลกับ D&C, hysteroscopy และ hysterectomy พบว่า

  • Pipelle เป็นอุปกรณ์ที่มี sensitivity ในการเก็บชิ้นเนื้อมากกว่าชนิดอื่น โดยความไวในการตรวจพบ endometrial carcinoma ร้อยละ 99.6 ในกลุ่มวัยหมดระดู และร้อยละ 81 ในการตรวจพบเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ ในขณะที่ Wallach Endocell endometrial sampler มี sensitivity ร้อยละ 60, specificity ร้อยละ 99.46 ในการวินิจฉัย endometrial carcinoma
  • Specificity ของผลการตรวจสูงถึงร้อยละ 98-100 ในการวินิจฉัย endometrial carcinoma
  • Endometrial biopsy นั้นอาจสุ่มเก็บได้เพียงร้อยละ 4 ของเยื่อบุโพรงมดลูกทั้งหมด ซึ่งการตรวจไม่ได้ชิ้นเนื้อ หรือชิ้นเนื้อไม่เพียงพอในการวินิจฉัย พบได้ร้อยละ 5-15

Endometrial biopsy จะเหมาะสำหรับกรณีที่พยาธิสภาพนั้นพบอยู่ทั่วๆ ไปในโพรงมดลูก มากกว่าเป็นเฉพาะจุด เช่น polyp หรือมีก้อนเนื้องอกในบางตำแหน่ง โดยมีการศึกษาพบว่า เมื่อนำผู้ป่วย endometrial cancer มาตรวจด้วยendometrial biopsy จะได้ผลที่น่าเชื่อถือ เมื่อมีพยาธิสภาพมากกว่าร้อยละ 75 ของโพรงมดลูก
Society of OB-GYN of Canada แนะนำว่า ในกรณีที่เก็บแล้วไม่ได้เนื้อเยื่อมากพอในการตรวจวินิจฉัย ควรประเมินผู้ป่วยซ้ำอีกครั้งว่ามีความเสี่ยงมากหรือน้อยที่จะเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หากความเสี่ยงต่ำ และสงสัยลักษณะของ atrophic endometrium มากกว่า ควรทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (TVUS) เพื่อช่วยประเมินลักษณะและความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก แต่หากสตรีมีความเสี่ยงสูงในการเกิด endometrial cancer ควรได้รับการขูดมดลูก หรือส่องกล้องโพรงมดลูกเพื่อได้ชิ้นเนื้อมาตรวจเพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อนจาก endometrial biopsy พบได้น้อย มีโอกาสมดลูกแตกทะลุได้ร้อยละ 0.001-0.002

ในบางกรณีอาจทำร่วมกับ endocervical curettage หากสงสัยพยาธิสภาพบริเวณปากมดลูก

ในกรณีที่มีปัญหาปากมดลูกตีบ อาจใช้การทำ para cervical block ช่วยลดความเจ็บปวดก่อนขยายปากมดลูก ร่วมกับการใช้ antiprostaglandin ในการลดความเจ็บปวด

PMB1

นอกจากนี้สตรีที่ได้รับ tamoxifen ร่วมกับมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ควรได้รับการตรวจด้วยการสุ่มเก็บเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากสตรีที่ได้รับ tamoxifen มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า จากการศึกษาแบบ meta-analysis เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ ความเสี่ยงของ endometrial carcinoma เพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อได้รับยาต่อเนื่องเป็นเวลาเกิน 4 ปี และความเสี่ยงจะลดลง หากมีการหยุดใช้ยา tamoxifen การทำ TVUS ในกรณีของสตรีที่ได้รับยา tamoxifen จะประเมินได้ยากเนื่องจากมีการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกแบบทั่วๆ (diffuse subendometrial cystic change) ทำให้อาจมีการแปลผลได้ยาก

ในกรณีสตรีที่ได้รับยา tamoxifen ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเลือดออกผิดปกติ ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วย endometrial biopsy จากการศึกษาพบว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย การทำหัตถการที่ไม่จำเป็น เช่นขูดมดลูก รวมถึงโอกาสที่จะต้องผ่าตัดมดลูกโดยไม่จำเป็น

• Transvaginal ultrasound (TVUS)

การตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อประเมินความหนาและลักษณะของเยื่อบุโพรงมดลูกได้ถูกนำมาใช้มาก ควบคู่ไปกับ endometrial biopsy โดยการวัดความหนาจะวัดในแนว AP ในขณะที่มดลูกอยู่ใน mid sagittal plane วัด endometrial thickness (ET) หรือ endometrial echo complex (EEC) โดยวัดด้วยวิธี conventional double layer technique ในกรณีที่มีลักษณะของ collection อยู่ในโพรงมดลูก ให้หักลบความหนาของ collection ออกก่อนเพื่อที่จะได้ค่า ET ที่แท้จริง
ในกรณีที่ตรวจแล้วพบว่า ET มากกว่า 4 มิลลิเมตร แนะนำให้ทำการเก็บชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อหาสาเหตุ โดยจะมีค่า NPV ร้อยละ 99.4-100 ในการวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก นอกจากนี้ ลักษณะของ ET ที่มีก้อน ติ่งเนื้อ หรือมีของเหลวสะสมในโพรงมดลูกก็ควรได้ชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติม
ในกรณีที่ตรวจ TVUS แล้วพบว่า ET หนามากกว่า 4 มิลลิเมตร ในสตรีวัยหมดระดูที่ไม่ได้มีปัญหาเลือดออกผิดปกติ ควรประเมินจากปัจจัยเสี่ยงว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติม แนะนำให้สังเกตอาการ ในบางการศึกษาพบว่า ET บางน้อยกว่าเท่ากับ 6 มิลลิเมตรจะมีค่า NPV ร้อยละ 99.94 ในการแยกโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
การตรวจด้วย TVUS มี Negative predictive value สูง ACOG และ Society of Radiologists in Ultrasound (SRU) แนะนำว่าว่าทั้ง TVUS เพื่อประเมิน endometrial thickness (ET) และ endometrial sampling สามารถใช้หาสาเหตุของเลือดออกหลังวัยหมดระดูได้มีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน และ TVUS มีประโยชน์ในการประเมินเพิ่มเติมหากตรวจด้วย endometrial sampling แล้วไม่ชิ้นเนื้อ
ข้อจำกัดของการตรวจ TVUS ได้แก่ น้ำหนักมาก myoma หรือเคยผ่าตัดมดลูก การมีพังผืดทำให้มดลูกอยู่ทิศทางที่อาจยากต่อการทำอัลตราซาวด์

• Dilatation and curettage, D&C

การขูดมดลูกเพื่อเก็บเยื่อบุโพรงมดลูกตรวจพยาธิวิทยา ถือเป็นการตรวจมาตรฐานในการวินิจฉัยความผิดปกติแต่ในปัจจุบันไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการส่งตรวจ เหมาะสำหรับกรณีที่มีปัญหาปากมดลูกตีบ ไม่สามารถใส่เครื่องมือสุ่มเก็บเยื่อบุโพรงมดลูกได้ หรือหลังการตรวจเบื้องต้นด้วยendometrial biopsy แล้วไม่ได้วินิจฉัย หรือมีปัญหาเลือดออกซ้ำซ้อน เนื่องจากการตรวจด้วยการขูดมดลูกมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า ได้แก่ มดลูกทะลุ พบได้ 2.6% ในการขูดมดลูกเพื่อวินิจฉัย PMB การบาดเจ็บบริเวณปากมดลูก โดยเฉพาะในรายที่ใช้ dilator หรือ tenaculum ร่วม ปัญหาเลือดออกมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยานอนหลับ ยาแก้ปวด

• Hysteroscopy with biopsy

การส่องกล้องโพรงมดลูก มีข้อดีในกรณีที่พยาธิสภาพนั้นเกิดขึ้นเพียงบางส่วนของโพรงมดลูก เช่น endometrial polyp หรือ submucous myoma ซึ่งหากตรวจด้วยการทำ endometrial biopsy หรือ D&C นั้นอาจจะไม่ได้ชิ้นเนื้อไปตรวจ นอกจากนี้ยังมีข้อบ่งชี้ในกรณีต่างๆ เช่น

  • ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ endometrial biopsy อาจเนื่องจากความปวด หรือวิตกกังวล
  • ไม่สามารถทำการตรวจด้วย endometrial biopsy ได้เนื่องจากปากมดลูกตีบ
  • ผลจากการตรวจด้วย endometrial biopsy ได้ชิ้นเนื้อไม่เพียงพอ หรืออ่านผลปกติในกลุ่มคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อ endometrial cancer
  • ต้องการทำหัตถการควบคู่ไปด้วย เช่น polypectomy, myomectomy

Society of Gynecologic Oncologists Clinical Practice Committee แนะนำว่าในกลุ่มสตรีที่มีความเสี่ยงสูงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแนะนำให้ตรวจด้วยการใช้กล้องส่องโพรงมดลูก ควบคู่ไปกับการสุ่มตัดชิ้นเนื้อทั่วๆ (visualization and biopsy)
มีการตีพิมพ์เกี่ยวกับการกระจายของ endometrial cancer ภายหลังการตรวจด้วย hysteroscopy เนื่องจากมีการฉีดน้ำล้างขณะทำการตรวจร่วมด้วย แต่ในการศึกษาแบบ retrospective case-controlled แสดงให้เห็นว่า hysteroscopy ไม่เพิ่มการกลับเป็นซ้ำในกลุ่ม endometrial cancer ที่มีพยาธิสภาพจำกัดอยู่ในมดลูก

• Saline infusion sonography

การตรวจ TVUS ร่วมไปกับการเติมน้ำเข้าสู่โพรงมดลูก หรือ contrast อื่นๆ เพื่อประเมินรอยโรคภายในโพรงมดลูกสามารถเห็นพยาธิภาพในโพรงมดลูกได้ดีกว่า TVUS เพียงอย่างเดียว ข้อเสียคือ ไม่ได้ชิ้นเนื้อในการวินิจฉัยโรค

PMB2

• Pap smear

การเก็บเซลล์จากบริเวณปากมดลูกมักไม่ค่อยใช้ในการวินิจฉัย endometrial carcinoma การใช้ Ayre spatula หรือ Cervibrush เก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกมี sensitivity ในการวินิจฉัย endometrial carcinoma เพียงร้อยละ 39.5 และ 38.5 ตามลำดับ
Endopap endometrial sampler ใช้ตรวจเซลล์จากในเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อตรวจ cytology การศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง Endopap และ Pipelle ในการวินิจฉัย endometrial carcinoma พบว่า Endopap มี sensitivity ร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับ Pipelle ร้อยละ 100 และในการวินิจฉัยความผิดปกติอื่นๆ ในโพรงมดลูก คือ ร้อยละ 56 เทียบกับ Pipelle ร้อยละ 51 ข้อดีคือสามารถใช้ง่าย และราคาไม่แพง แต่อาจมีอาการปวดได้ขณะตรวจ
แนวทางการรักษาภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูกหลังวัยหมดระดู (RTCOG)

PMB3

Conclusion

  • PMB เป็นอาการสำคัญหนึ่งที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ การซักประวัติแยกโรคและตรวจร่างกาย ร่วมกับการส่งตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมจะทำให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง สาเหตุสำคัญที่ต้องนึกถึงคือ endometrial carcinoma การซักประวัติถึงปัจจัยเสี่ยงจะช่วยเป็นแนวทางในการส่งตรวจเพิ่มเติม
  • การแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปริมาณเลือดที่ออกมากหรือน้อย ไม่ได้สัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเป็น endometrial cancer
  • ในกลุ่มผู้ที่ใช้ HRT จำเป็นต้องแยกให้ได้ว่าเป็นลักษณะของ scheduled หรือ unscheduled bleeding
  • สามารถเลือกใช้ TVUS เพื่อประเมิน ET หรือ office endometrial biopsy ในการประเมินเบื้องต้นก็ได้ แนะนำให้ประเมินจาก TVUS ค่ามากกว่า 4 มิลลิเมตร ควรได้รับการส่งตรวจทางชิ้นเนื้อเพิ่มเติม เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงของ endometrial carcinoma อาจเลือกเก็บชิ้นเนื้อในการประเมินเลยก็ได้
  • ในผู้ป่วยที่ได้ตรวจ endometrial biopsy ไปแล้วผลเป็น benign แต่ยังมีปัญหาเรื่อง persistent bleeding อยู่ตลอด หรือมีความเสี่ยงต่อ endometrial carcinoma สูง ควรพิจารณาส่งตรวจ TVUS เพิ่มเติม หรือพิจารณา hysteroscopy with biopsy เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่ชัด
  • TVUS ไม่เหมาะสมที่จะใช้ประเมินในผู้ป่วยที่ได้รับยา tamoxifen อยู่

เอกสารอ้างอิง

  1. Dubinsky T.J. PHRaMN. The role of transvaginal sonography and endometrial biopsy in the evaluation of peri- and postmenopausal bleeding. American Journal of Roentgenology. 1997;169:145-9.
  2. Clark T.J. VD, Gupta J.K., Hyde C., Song F. and Khan K.S. . Accuracy of hysteroscopy in the diagnosis of endometrial cancer and hyperplasia: a systematic quantitative review. Journal of the American Medical Association. 2002(288):1610-21.
  3. Clark T.J. MCH, Shah N., Khan K.S., Song F. and Gupta J.K. . Accuracy of outpatient endometrial biopsy in the diagnosis of endometrial hyperplasia. Acta Obstetricia et Gynecologica Scandinavica. 2001;80:784-93.
  4. Van den Bosch T VA, Wranz PA, and Lombard CJ. Endopap-versus Pipelle-sampling in the diagnosis of postmenopausal endometrial disease. European Journal of Obstetrics & Gynecology and Reproductive Biology. 1996(64):91-4.
  5. Smith-Bindman R. KK, Feldstein V.A., Subak L., Scheidler J., Segal M., Brand R. and Grady D. Endovaginal ultrasound to exclude endometrial cancer and other endometrial abnormalities. Journal of the American Medical Association. 1998;280:1510-7.
  6. Alison Brand M, Josée Dubuc-Lissoir, MD, Thomas G. Ehlen, MD and Marie Plante, MD. Diagnosis of Endometrial cancer in women with abnormal vaginal bleeding. In: (SOGC) TSoOaGoC, editor. SOGC Clinical Pracetice Guidelines2000.
  7. Anna M. Thomas MHaISF. Disturbances of endometrial bleeding with hormone replacement therapy. Human Reproduction. 2000;15:7-17.
  8. Carolyn D. Runowicz M. Gynecologic Surveillance of Women on Tamoxifen: First Do No Harm. Journal of Clinical Oncology. 2000;18: 3457-8.
  9. Guido RS K-SA, Rulin MC and Christopherson WA. Pipelle endometrial sampling. Sensitivity in the detection of endometrial cancer. Journal or Reproductive medicine. 1995;40:553-5.
  10. Kunaviktikul K SP, Khunamornpong S, Settakorn J, and Natpratan A. Accuracy of the Wallach Endocell endometrial cell sampler in diagnosing endometrial carcinoma and hyperplasia. Journal of Obstetrics and Gynaecology Research. 2011;37:433-8.
  11. Dijkhuizen FP, Mol BW, Mrolmann HA and Heintz AP. The accuracy of endometrial sampling in the diagnosis of patients with endometrial carcinoma and hyperplasia: a meta-analysis. Cancer. 2000(89): 1765-72.
  12. Trimble CL, Method M, Leitao M, Lu K, Loffe O, Hampton M, Higgins R, Zaino R and Mutter GL. Management of edometrial precancers. Society of Gynecologic Oncology Clinical Practice Committee. 2012(120):1160-75.

 

Read More

Nutrition in menopause

Nutrition in menopause

พญ. ราชาวดี ตันวิสุทธิ์
ศ. พญ. สายพิณ พงษธา
ผศ. พญ. ศุภวรรณ บูรณพิร


Geriatric nutrition หรือโภชนาการในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปนับเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งจะรวมถึงกลุ่มสตรีวัยหมดระดู ปัจจุบันประชากรมีแนวโน้มอายุมากขึ้น อีกทั้งโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวัยสูงอายุ อาทิเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง พบมากขึ้น และกลุ่มโรคเหล่านี้ส่วนหนึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอาหาร

เมื่ออายุมากขึ้น น้ำหนักตัวที่คงเดิม (total body weight) จะมีสัดส่วนของกล้ามเนื้อลดลง (lean body mass) และสัดส่วนของไขมันเพิ่มขึ้น(sarcopenia) ดังแสดงในแผนภูมิต่อไปนี้

Nutrition1

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือการใช้พลังงานลดลงลดความไวต่อการออกฤทธิ์ของ insulin และสมรรถภาพในการดำรงชีวิตต่างๆ ลดลง มีแนวโน้มที่จะต้องใช้ไม้ค้ำยัน ไม้ช่วยพยุงมีโอกาสหกล้มได้สูงขึ้นกิจวัตรประจำวันต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสมรรถภาพทางกายไม่เอื้ออำนวย อาทิเช่น การไปซื้อของจ่ายตลาด เตรียมอาหาร รวมถึงการหาอาหารเพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเองด้วยซึ่งท้ายสุดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะทุพลภาพต่างๆ

ภาวะวัยหมดระดู หรือ Menopause มีการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญและภาวะเมตาโบลิกต่างๆ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงของโรคกลุ่ม cardio-metabolic เนื่องจากหลายสาเหตุได้แก่

  • ภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance)ลดการนำ glucose ไปใช้ และขณะเดียวกันการมีน้ำตาลในเลือดสูงเอง นำไปสู่การสร้าง insulin ที่มากขึ้นไปอีก ภาวะเหล่านี้นำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานนอกจากนี้การมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเอง ร่วมกับการใช้พลังงานลดลง ก็นำไปสู่ภาวะดื้อ insulin ได้เช่นกัน
  •  ภาวะอ้วนลงพุง เนื่องจากมีการลดลงของ estrogen ซึ่งสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ androgen ทำให้สตรีวัยหมดระดูมีปัญหาอ้วนลงพุง มีน้ำหนักตัวมากขึ้น
  • ไขมันผิดปกติ ระดับ estrogen ที่ลดลงส่งผลทำให้ LDL สูงขึ้น และ HDL ลดลง
  • ความดันโลหิตสูง สืบเนื่องมาจากภาวะดื้อ insulin ทำให้ไตดูดซึม sodium กลับได้มากขึ้น และกระตุ้น sympathetic nervous system ทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้นตามมา
  •  Pro-inflammatory cytokines, coagulation-fibrinolysis system และ cytokines ต่างๆ ได้แก่ IL-1, IL-6, IL-18, factor VII, fibrinogen และ PAI-1 มีปริมาณเพิ่มขึ้น
  • การลดลงของ adiponectin ที่สร้างจาก adipocyte ซึ่งมีผลต่อการออกฤทธิ์ของ insulin, anti-inflammatory และลดการสร้าง glucose จากตับ

Macronutrients

กลุ่มสารอาหารให้พลังงาน โดยการควบคุมปริมาณอาหารและพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันเป็นปัจจัยหลักสำคัญของโภชนาการที่ดี โดยทั่วไปแล้ว ในสตรีวัยหมดระดูเองก็ยังต้องการพลังงานไปใช้ในการดำรงชีวิต และกิจวัตรประจำวันต่างๆ หลักการคำนวณพลังงาน(EER, estimated energy requirement) อาศัยจากอายุ เพศ น้ำหนัก และกิจกรรมที่ทำ โดยคำนวณจากสูตร

EER = 354.1 – [(6.91*age (yr)] + [PAC * (9.36*Wt. (kg)] + [726*Ht. (m)]

โดยที่ PAC (Physical Activity Coefficient)

  • Sedentary 1.0
  • Low activity 1.12
  • Active 1.27
  • Very active 1.45

 

สารอาหารที่ให้พลังงานหลักประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยควรเลือกรับประทานให้เป็นสัดส่วน

Nutrition2

 

Protein

โปรตีนเป็นสารที่ให้พลังงานประมาณ4 kcal/gโดยควรรับประทานโปรตีน ให้เป็นสัดส่วน 15% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน ซึ่งในแต่ละช่วงอายุ ปริมาณโปรตีนที่แนะนำแตกต่างกันไป ดังแสดงในตาราง

Nutrition3

การรับประทานโปรตีนไม่พอเพียงเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะ sarcopenia ที่พบในผู้สูงอายุได้มากขึ้น มีงานวิจัยในสตรีวัยหมดระดูเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรตีนพอเพียง เทียบกับไม่พอเพียงเป็นเวลา 6 สัปดาห์พบว่าสัดส่วนของ lean body mass ลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มที่ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ และพบว่ามากกว่า 10% ของผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาบริโภคโปรตีนไม่เพียงพอกับที่ RDA แนะนำ

โปรตีนสามารถได้จากเนื้อสัตว์ ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเช่น เต้าหู้ น้ำนมถั่วเหลือง หรือไข่ซึ่งเป็นอาหารทางเลือกที่ให้โปรตีนคุณภาพสูง และในกรณีที่สตรีไม่สามารถรับประทานอาหารได้พอเพียง อาจพิจารณาเสริมโปรตีนในรูปแบบอื่นๆ เช่น นมผง Whey protein ไข่ขาว หรือเต้าหู้

Carbohydrate

คาร์โบไฮเดรตให้พลังงาน 4 kcal/g เช่นเดียวกับโปรตีน โดยสัดส่วนของพลังงานที่ควรได้รับจากคาร์โบไฮเดรตควรจะเป็น 50-60%ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน ถือเป็นแหล่งพลังงานหลักในชีวิตประจำวัน โดยสารอาหารกลุ่มนี้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

หลักในการเลือกคือ แนะนำให้บริโภคอาหารที่มี low glycemic index และเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrate) โดย glycemic index (GI) คือ ดัชนีที่ใช้ตรวจวัดคุณภาพของอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เท่ากันโดยภายหลังการบริโภค 2-3 ชั่วโมง จะสามารถเพิ่มระดับกลูโคสในเลือดได้มากหรือน้อย โดยมีค่า GIตั้งแต่ 0 ถึง 100 เปรียบเทียบกับสารมาตรฐานคือ น้ำตาลกลูโคสหรือขนมปังขาวซึ่งมีค่า Gl เท่ากับ 100โดยจัดเป็น Low GI (≤ 55), Medium GI (56–69) และ High GI(≥ 70)

อาหารที่มีค่า Gl ต่ำ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 55 หรือ น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน ในขณะที่สารที่มีค่า GI สูง จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดมากซึ่งเมื่อนำไปใช้จริง พบว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิด และปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารเพียงอย่างเดียว แต่สัมพันธ์กับปริมาณด้วย ปัญหาของ Glycemic index คืออาหารแต่ละอย่างมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตไม่เท่ากัน การจะเปรียบเทียบกันจึงต้องใช้ glycemic load เข้ามาช่วย

Glycemic load = GI * Carbohydrate content in food (g)/100

แบ่งเป็น Low GL(≤ 10), Medium GL (11-19) และ High GL(≥ 20) เทียบกับระดับน้ำตาลจากการรับประทานขนมปังขาว 1 g โดยทั่วไป อาหารที่มี fiber มาก จะมีค่าglycemic load ต่ำ

 

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_blue_green.css]}

GL 10

GL 11 – 19

GL 20

          เนื้อสัตว์

          ถั่วเหลือง ถั่วดำ

          ผลไม้ที่มีใยอาหารมากเช่นแครอต, ถั่วเขียว, แอปเปิ้ล, แตงโม และส้มโอ

          ธัญพืชเม็ดมะม่วงหิมพานต์และถั่วลิสง

          ขนมปังธัญพืช

          น้ำมะเขือเทศ

          นม

          Pastaและขนมปังธัญพืช

          Oatmeal

          น้ำผลไม้สดที่ไม่ได้ใส่น้ำตาล

          ข้าวกล้อง

          มันฝรั่งหวาน

          Graham crackers

         เครื่องดื่มที่มีรสหวาน

         ลูกอม

         น้ำผลไม้ที่ใส่น้ำตาล

         ข้าวสวย

         White pasta

         มันฝรั่งทอดและมันบด

         Low-fiber cereals (high in added sugar)

         Macaroni และcheese

         ลูกเกดและอินทผารัม

  Fat

ไขมันเป็นสารที่ให้พลังงานมาก โดยให้พลังงานถึง 9 kcal/g โดยควรรับประทานให้ได้ 25-35% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน ลักษณะของไขมันที่รับประทานนั้นถือได้ว่ามีความสำคัญมากพอๆ กับปริมาณ โดยไขมันมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัว

  • ไขมันอิ่มตัวมักพบในน้ำมันจากสัตว์และพืชบางชนิด ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์มส่งผลต่อการเพิ่มระดับ total cholesterol เพิ่มระดับ LDL แต่ไม่ส่งผลต่อระดับ HDL
  • ไขมันไม่อิ่มตัว ส่วนมากพบในน้ำมันที่ได้จากพืช แบ่งย่อยเป็น
    • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว พบในน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า เป็นไขมันลักษณะดีที่ช่วยลด LDL triglyceride และไม่ส่งผลต่อระดับ HDLในประเทศแถบเมดิเตอเรเนียนที่มีการบริโภคน้ำมันมะกอกมาก และในผู้ป่วยเบาหวานพบว่าการบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวช่วยลดภาวะ insulin resistance ได้ จึงแนะนำให้ใช้ไขมันชนิดนี้ทดแทนไขมันอิ่มตัว
    • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ประกอบด้วยโดยกรดไขมันจำเป็น เช่น linoleic acid, omega-3 พบในน้ำมันดอกทานตะวันน้ำมันดอกคำฝอยน้ำมันปลา หรือปลาบางชนิด ได้แก่Salmon, Mackerel, Anchovies, Sardines, Herringการบริโภคน้ำมันเหล่านี้ลดระดับของtriglycerideซึ่งส่งผลให้ลดระดับ LDL ด้วยแต่มีผลลด HDL จึงจำกัดการใช้ไขมันชนิดนี้ด้วย
  • ในปัจจุบันมีไขมันอีกลักษณะที่เป็นอันตราย คือ Trans fat โดยมากพบในผลิตภัณฑ์เช่น มาการีนหรือเนยขาว ซึ่งได้มาจาก hydrogenation ของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ส่งผลต่อการเพิ่มระดับของ LDL ได้เล็กน้อย แต่กลับลดระดับ HDL อย่างมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัวจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยง

ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ ต่างก็มีองค์ประกอบของกรดไขมันทั้ง 2 ชนิด เพียงแต่สัดส่วนจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของพืชหรือสัตว์ที่นำมาเป็นน้ำมัน Dietary Guidelines for Americans ปี 2010 แนะนำเกี่ยวกับการบริโภคไขมันว่า ควรบริโภคไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน ควรเลือกเป็นไขมันไม่อิ่มตัวแทน บริโภค cholesterol น้อยกว่า 300 mg/day และเลือกบริโภค Trans fat ให้น้อยที่สุด หรือน้อยกว่า 1% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน

โดนสรุป National heart lung and blood institute (NHBLI) แนะนำการรับประทานอาหารเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังตาราง

Nutrition4

Micronutrientand supplementations

Water

ในสภาวะปกติ ควรได้รับน้ำโดยขั้นต่ำ 1,600 ml ต่อวัน เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย และถูกขับออกไปทางปัสสาวะ อุจจาระ การหายใจ และผิวหนัง โดยปริมาณน้ำที่ได้รับไม่ได้มาจากการดื่มน้ำเพียงอย่างเดียว มาจากน้ำดื่มโดยประมาณ500 mlน้ำในรูปของอาหารต่างๆ 800 ml และจาก carbohydrateoxidation ในร่างกาย 300 ml

ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำหวาน หรือน้ำที่ปรุงแต่งรสต่างๆ เนื่องจากมีโอกาสได้รับน้ำตาลในปริมาณสูงซึ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ

Sodium

ปัจจุบันพบว่าคนส่วนมากรับประทาน sodium โดยเฉลี่ย 3,300 mg/day ซึ่งมากเกินความจำเป็น และอาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ Dietary Guidelines for Americans ปี 2010 แนะนำให้รับประทาน sodium ไม่เกิน 2,300 mg/day (100 meq/day) และในผู้ที่อายุมากกว่า 51 ปี มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นหรือมีภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต ควรลดปริมาณ sodium ไม่เกิน 1,500 mg/day

ตารางแสดงปริมาณ sodium ในอาหารแต่ละชนิด โดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย

อาหาร (1 ช้อนโต๊ะ)

ปริมาณ sodium

ซีอิ๊วขาว

ซอสหอยนางรม

กะปิ

เกลือ

ผงชูรส (1 ช้อนชา)

น้ำพริกเผา

น้ำพริกตาแดง

1160-1490

420-490

1430-1490

2000

492

410

560

Vitamin B12

พบการขาด Vitamin B12 ได้มากขึ้น โดยประมาณ10-20% ในกลุ่มผู้สูงอายุนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง รวมถึงอาจมีความผิดปกติของระบบประสาทได้ สาเหตที่พบ Vitamin B12 deficiency ได้มากขึ้น สัมพันธ์กับการขาด intrinsic factor, ภาวะ atrophic gastritis, gastric achlorhydria ซึ่งนำไปสู่การดูดซึม vitamin B12 ที่แย่ลง

ในบางที่แนะนำให้ตรวจคัดกรองระดับ vitamin B12 ในเลือด โดยอาศัยการแปลผลว่า ค่า Plasma B12 level ในระดับปกติ คือ >300 pg/mL และค่า <200 pg/mLให้สงสัยว่ามีภาวะขาด vitamin B12 ในขณะนี้ถ้าช่วงอยู่ในค่าก้ำกึ่ง ควรได้รับการตรวจ MMA level (methylmalonic acid)หากพบค่าสูง นึกถึงว่าน่าจะมีภาวะขาด vitamin B12 จริง หรืออาจส่งเสริมให้ผู้ที่อายุ >51 ปีทุกรายได้รับ vitamin B12 10-15 mcg/day โดยอาจมาจากการรับประทานอาทิเช่น ผักใบเขียว ผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ หรือในรูปแบบ supplement แต่ในผู้ที่มีภาวะ food cobalamin malabsorption-induced B12 deficiency แนะนำให้ได้รับเสริม 1,000 mcg/day

Vitamin D

RDA ของ vitamin D ในช่วงก่อนอายุ 70 ปีคือ 600 IU/day และเมื่ออายุมากขึ้น จะเพิ่มเป็น 800 IU/day โดยส่วนใหญ่ของ vitamin D ในร่างกายได้จากการเปลี่ยน pre-vitamin D3เป็น D3 form ที่ผิวหนังโดยการกระตุ้นด้วย UV อาหารที่มี vitamin D พบได้น้อย เช่น ตับปลา Cod ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น นม ธัญพืชบางชนิดมีการเสริม vitamin D

การขาด vitamin D สัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่ กลุ่มที่อยู่แต่กับบ้าน ไม่ได้เผชิญแสงแดด หรือผู้ที่อาศัยแถบขั้วโลก คนอ้วน ผิวสีเข้ม มีภาวะกระดูกพรุน มีปัญหาทางด้านการดูดซึม โรคไต แม้ในผู้สูงอายุที่แข็งแรงอาจมีปัญหาได้ เนื่องจากประสิทธิภาพในการเปลี่ยนรูป pre-vitamin D3 ที่ผิวหนังลดลง

แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วย 25-OHD level ในกลุ่มมีความเสี่ยง โดยหาก ≥30 ng/ml ถือว่าปกติอาการของการขาด vitamin D อาจทำให้มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึมเศร้า และปัญหาสำคัญคือการเกิดปัญหาเรื่องของ relative hypocalcemia และ parathyroid hormone สูง ซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหา กระดูกพรุนและหักตามมา

Calcium

พบว่าการดูดซึม calcium ลดลงอย่างชัดเจนหลังอายุ 60 ปี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าการขาด calcium สัมพันธ์กับภาวะกระดูกพรุนตามมาโดยพบว่าภาวะ hypoestrogenic state สัมพันธ์กับภาวะกระดูกพรุน โดยเฉพาะ 5 ปีแรกหลังหมดระดูจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว

Adequate intake (AI) ของ calcium ในผู้อายุ >51 ปี คือ 800-1200 mg/dayโดยอาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มี calcium สูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ปลาที่ทานพร้อมกระดูกได้ เต้าหู้

Multivitamin supplementation

แนะนำให้ในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร เช่น อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่แนะนำให้เป็น routine supplementationเนื่องจากพบว่าในบางรายอาจมีปัญหาจากการได้รับ niacin, folic acid, vitamin A ในปริมาณที่มากเกินไป

Appetite stimulants

ยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจน ยาบางตัวที่ใช้ เช่นmegestrol acetate หรือ progestational agent มีการนำมาใช้เพื่อเพิ่มความอยากอาหารในกลุ่มผู้ป่วย anorexia/cachexia และพบว่าสามารถเพิ่มน้ำหนัก และเพิ่มคุณภาพชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งได้ ผลข้างเคียงที่สำคัญของ megestrol acetate คือบวม และอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดภาวะ adrenal insufficiency ได้

Alcohol drinking

โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในปัจจุบันพบว่าการดื่ม 1 standard drink/dayคือไวน์ 150 มล. วิสกี้ 45 มล. หรือ เบียร 360 มล. ในสตรีช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงเดิม อาทิเช่น เพศ อายุ หรือโรคประจำตัวอื่น ดังนั้นในผู้ที่ไม่ได้ดื่มเป็นประจำไม่แนะนำให้เริ่มดื่มเพื่อลดความเสี่ยงนั้น

Nutrition problems in geriatrics

ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางโภชนาการอยู่แล้ว ทั้ง mal/overnutrition ซึ่งสัมพันธ์กับหลายปัจจัย ทั้งปัญหาด้านสุขภาพ โรคประจำตัว การเข้านอนโรงพยาบาล หรือปัญหาทางด้านเศรษฐานะ ที่ทำให้การเข้าถึงโภชนาการต่างๆ เป็นเรื่องยาก ซึ่งอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

Malnutrition

การศึกษาถึงความชุกของภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ พบถึง 22.8% โดยพบมากในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บ้านพักคนชรา ในโรงพยาบาล และมีบ้านพักส่วนตัว คิดเป็น 17-65%, 15-40% และ 3-11% ตามลำดับ

ในกรณีที่สตรีวัยหมดระดูมาตรวจ แล้วพบว่ามีน้ำหนักลดลง โดยถือว่าน้ำหนักที่ลดอย่างมีนัยสำคัญคือ มากกว่า 10% ใน 6 เดือน หรือ7.5% ใน 3 เดือน หรือ 5% ใน 1 เดือน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่ต้องคิดถึง ได้แก่ 1. ปัญหาจากการเข้าถึงอาหาร คนดูแล ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเบื่ออาหาร หรือภาวะซึมเศร้า 2. การที่กล้ามเนื้อฝ่อจากการไม่ได้ใช้งาน (Disuse or muscle atrophy) 3. Inflammatory effects of disease หรือโรคทางอายุรกรรมอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น Hyperthyroidism, DM, COPD, renal disease, การติดเชื้อบางอย่าง เช่น TB 4. Malignancy โดยพบได้ถึง 9% ของผู้ป่วยที่มาตรวจด้วยน้ำหนักลด และ 5. ปัญหาทางการกลืนหรือการดูดซึมของลำไส้

เมื่อพบผู้ป่วยมาปรึกษาด้วยเรื่องน้ำหนักลด สิ่งที่ควรทำคือ การซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุต่างๆ รวมถึงด้านPsychosocial ส่วนของ Laboratory investigation อาจพิจารณาส่ง CBC, BUN, Cr, electrolytes, TFT, CRP และในกรณีที่ผลการตรวจเบื้องต้นปกติ การพิจารณา CT chest, abdomen ควรพิจารณาบางราย พิจารณาส่ง GI endoscopy ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้าน GI symptoms เช่น อิ่มเร็ว ทานได้น้อย หรือประวัติ Bowel habit change

Over nutrition

ถือว่า overweight เมื่อ BMI ≥ 25 kg/m2 และอ้วนเมื่อ BMI ≥30 kg/m2พบว่าโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาทาง cardio-metabolic ต่างๆ มากมาย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาทางเดินหายใจ obstructive sleep apnea และระบบอื่นๆ แต่ในปัจจุบันงานวิจัยหลังๆ แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักมาก เพิ่ม mortality เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับภาวะ malnutrition

สรุป

  • หลักในการรับประทานอาหารของหญิงวัยหมดระดูควรเน้นความพอดี ทั้งพลังงานรวมที่จะได้รับ และสัดส่วนของอาหารแต่ละชนิด เพื่อสุขภาพที่ดี โดยประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนในสัดส่วน 50%, 35%, 15% ตามลำดับ และควรเลือกประเภทของสารอาหารแต่ละชนิดดังที่กล่าวไป
  • รับประทานน้ำอย่างน้อย 1,600 ml/day
  • ควบคุมปริมาณของ sodium ในอาหาร ไม่ให้เกิน 2,300 mg/day
  • อาหารเสริมที่แนะนำในสตรีวัยหมดระดูที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนโดยรวม คือ Calcium800-1200 mg/day, Vitamin D 600-800 IU/day
  • ปัญหาต่างๆ ที่พบในผู้สูงอายุ อาทิเช่น กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ภาวะทุพลลภาพ ควรได้รับการสังเกต และติดตามเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจตามมาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Dietary and nutritional assessment in adults [Internet]. Aug 20, 2015 [cited Oct, 2015]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/dietary-and-nutritional-assessment-in-adults?source=search_result&search=nutrition&selectedTitle=3%7E150.
  2.  Dietary fat [Internet]. Uptodate. 2015 [cited Oct, 2015]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/dietary-fat?source=search_result&search=fat+diet&selectedTitle=1%7E150.
  3. Salt intake, salt restriction and primary (essential) hypertension [Internet]. Uptodate. 2015 [cited Oct, 2015]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/salt-intake-salt-restriction-and-primary-essential-hypertension?source=search_result&search=salt+diet&selectedTitle=4%7E150.
  4. Healthy diet in adults [Internet]. Uptodate. 2015 [cited Oct 2015]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/healthy-diet-in-adults?source=related_link.
  5. Geriatric nutrition: Nutritional issues in older adults [Internet]. 2015 [cited Oct, 2015]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/geriatric-nutrition-nutritional-issues-in-older-adults?source=search_result&search=Geriatric+nutrition%3A+Nutritional+issues+in+older+adults&selectedTitle=1%7E150.
  6. Dietary carbohydrate [Internet]. Uptodate. 2014 [cited Oct, 2015]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/dietary-carbohydrates?source=search_result&search=carbohydrate+dietary&selectedTitle=1%7E77.
  7. จุลวิจิตรพงษ์ รนส. ความก้าวหน้าทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์. 1 ed: คณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย; 2012.
  8. Jan L. Shifren IS. Berek &Novak’s Gynecology. 15 ed: Department of Obstetrics and Gynecology, Stanford University School of Medicine; 2012.
  9. Overview of the management of osteoporosis in postmenopausal women [Internet]. Uptodate. 2015 [cited Oct, 2015]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/overview-of-the-management-of-osteoporosis-in-postmenopausal-women?source=search_result&search=osteoporosis&selectedTitle=1%7E150.
  10. Marilyn S. Edwards P, RD/LD, FACN Associate Professor. Nutritional and Preventive Medicine Handbook. The Albert Einstein College of Medicine Of Yeshiva University 2001.
Read More