การดูแลรักษาภาวะไม่ตกไข่ (Management of Anovulation)

การดูแลรักษาภาวะไม่ตกไข่ (Management of Anovulation)

พญ.นนทิกานต์ อโนทัยสถาพร
พญ.อุษณีย์ แสนหมี่


นิยามและความสำคัญ

ภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation) หรือ ภาวะตกไข่ผิดปกติ (Ovulation disorder) คือ การไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่ โดยที่อาจมีหรือไม่มีการเจริญของฟอลลิเคิลในรังไข่ก็ได้ เมื่อไม่มีการตกไข่ก็จะไม่มีการสร้างคอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) ซึ่งมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกกลายเป็นประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนไม่มา หรือในรายที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวมีการหลุดลอกตัวผิดปกติ เกิดภาวะประจำเดือนมามาก หรือเลือดออกกะปริดกะปรอยได้

ภาวะไม่ตกไข่ นอกจากจะทำให้เกิดความผิดปกติของประจำเดือนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติและมะเร็งโพรงมดลูก นอกจากนั้น หากไม่รักษาสาเหตุของการเกิดภาวะไม่ตกไข่ อาจนำไปสู่ความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายอันเกิดจากภาวะแอนโดรเจนเกิน ภาวะดื้ออินซูลิน ภาวะกระดูกบาง และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่สามารถแก้ไขได้ของภาวะมีบุตรยากอีกด้วย ดังนั้น ภาวะไม่ตกไข่จึงไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการแสดงสำคัญของความผิดปกติเชิงระบบ ซึ่งควรได้รับการแก้ไข

กลไกปกติของการตกไข่ (Normal ovulatory cycle)

กระบวนการตกไข่ เป็นกระบวนการที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมอง และรังไข่ โดยรวมเรียกว่า hypothalamic-pituitary-ovarian (HPO) axis โดยเริ่มต้นจากสมองส่วนไฮโปทาลามัสสร้างและหลั่ง GnRH (Gonadotropin-releasing hormone) ไปกระตุ้นตัวรับในต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้สร้างและหลั่งฮอร์โมน gonadotropins ซึ่งประกอบด้วย LH (Luteinizing hormone) และ FSH (Follicle-stimulating hormone) ไปกระตุ้นรังไข่ ให้เกิดการเจริญของฟอลลิเคิล (ovarian follicles) ซึ่งฟอลลิเคิลที่เจริญจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมา ในช่วงกลางรอบเดือน ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดจะมากพอที่จะกระตุ้นต่อมใต้สมองแบบย้อนกลับ (positive feedback) ทำให้ต่อมใต้สมองหลั่ง LH ออกมามากขึ้น ทำให้เกิดระดับ LH ที่สูงมาก เรียกว่า LH surge หลังจากนั้น 16-24 ชั่วโมง รังไข่จะปล่อยไข่ที่เจริญแล้ว (mature oocyte) ออกมา และเกิดเป็นคอร์ปัสลูเตียมขึ้นแทน จะเห็นว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการทำงานอย่างเป็นปกติของหลายอวัยวะ อาศัยการประสานงานของฮอร์โมน ตัวรับ และเอนไซม์หลายชนิด ซึ่งระบบดังกล่าวมีความอ่อนไหว หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือรบกวนโดยปัจจัยต่างๆ แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติและเกิดภาวะไม่ตกไข่ได้

ประเภทของภาวะตกไข่ผิดปกติ (WHO classification of ovulatory disorders 1973)

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ในปี ค.ศ.1973 ได้ทำการจำแนกประเภทของภาวะตกไข่ผิดปกติ โดยพิจารณาจากระดับของฮอร์โมน gonadotropin แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่

  • WHO group 1 : Hypogonadotrophic hypogonadism
  • WHO group 2 : Normogonadotrophic hypogonadism
  • WHO group 3 : Hypergonadotrophic hypogonadism

WHO group 1 : Hypogonadotrophic hypogonadism

เกิดจากความผิดปกติของทาลามัสและต่อมใต้สมอง ซึ่งทำให้หลั่ง GnRH น้อยลงหรือไม่ตอบสนองต่อ GnRH โดยจะตรวจพบระดับ gonadotropin และ estradiol ต่ำ พบได้ประมาณร้อยละ 5-10(1) ส่วนมากไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กลุ่มอาการ Kallmann’s syndrome ซึ่งผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของการได้กลิ่นร่วมด้วย (anosmia) นอกจากนั้นยังอาจเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวน้อยมากหรือออกกำลังกายอย่างหนัก ภาวะฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองตัวอื่นๆ ต่ำ (hypopituitarism) พบได้น้อย

WHO group 2 : Normogonadotrophic hypogonadism

เป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด (1)ร้อยละ 85% หากตรวจระดับฮอร์โมนจะพบว่าระดับ gonadotropins ปกติ และ estradiol ต่ำ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะถุงน้ำรังไข่ (polycystic ovarian syndrome; PCOS)

สรีรวิทยาของภาวะไข่ไม่ตก เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศเปลี่ยนแปลง ทำให้ฟอลลิเคิลโตไม่เต็มที่ ต่อมาคอร์ปัสลูเตียมสร้างไม่สมบูรณ์ จึงมีผลต่อระดับบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่ช่วยส่งเสริมการตั้งครรภ์ ดังนั้นในกลุ่มนี้รอบประจำเดือนจะมีลักษณะรอบประจำเดือนประมาณ 21 ถึง 45 วัน อีกทั้งคนกลุ่มนี้ตอบสนองต่อการ ทดสอบ Progesterone challenge test จะมีประจำเดือนออกมาหลังการทดสอบ

แนวทางการวินิจฉัยโรค ตาม Rotterdam 2003(2) โดยใช้เกณฑ์ 2 ใน 3 ¬ข้อดังต่อไปนี้

  1. มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
  2. มีอาการแสดงทางคลินิกของภาวะที่มีแอนโดรเจนสูง เช่น หน้ามัน ขนดก หรือสิวขึ้นเยอะ หรือการเจาะเลือดวัดระดับแอนโดรเจน (testosterone, androstenedione หรือ dehydroepiandrosterone sulfate) สูงกว่าปกติ
  3. มีลักษณะของPolycystic ovary ให้เห็นจากการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงมี antral follicle มากกว่า12ฟอง ขนาดประมาณ2 ถึง 9มิลลิเมตร ในรังไข่แต่ละข้าง แต่ทั้งนี้ต้องวินิจฉัยแยกความผิดปกติอย่างอื่น เช่น congenital adrenal hyperplasia (CAH) ,hyperprolactinemia ออกไปก่อน

WHO group 3 : Hypergonadotrophic hypogonadism

เป็นกลุ่มที่เกิดจากภาวะรังไข่ล้มเหลว (ovarian failure) จากการตรวจระดับฮอร์โมนจะพบว่าระดับ gonadotropins สูง และ estradiol ต่ำ พบได้ประมาณร้อยละ5-10 (1) ซึ่งพยาธิสรีระวิทยาของโรคจำแนกได้ 2กลุ่ม คือ

  1. ฟอลลิเคิลทำงานลดลง (Accelerated follicle atresia)
  2. ฮอร์โมนสเตียรอยด์ลดลง โดยที่ปริมาณไข่เท่าเดิม (Decrease steroid production without oocyte loss)

สาเหตุหลักของกลุ่มที่เกิดจากภาวะรังไข่ล้มเหลว มีดังต่อไปนี้

การบกพร่องทางพันธุกรรม เช่น Turner syndrome, Fragile X syndrome, X chromosome deletions and translation

สารพิษต่อรังไข่ เช่น รังสี, ยาเคมีบำบัด, การติดเชื้อ เช่น โรคคางทูม

โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune injury) เช่น Isolated หรือ part of polyglandular autoimmune syndromes

 

ตารางที่ 1 แสดงสาเหตุหลักของกลุ่มที่เกิดจากภาวะรังไข่ล้มเหลว(3)

ฟอลลิเคิลทำงานลดลง (Accelerated follicle atresia)

การบกพร่องทางพันธุกรรม

  • Turner syndrome
  • Fragile X syndrome
  • X chromosome deletions and translation

สารพิษต่อรังไข่

  • รังสี
  • ยาเคมีบำบัด
  • การติดเชื้อ เช่น โรคคางทูม

โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง

  • Isolated หรือ part of polyglandular autoimmune syndromes

ความผิดปกติของการกระตุ้นฟอลลิเคิล

ตัวควบคุมภายในรังไข่

  • BMP 15

ความผิดปกติของเอนไซม์

  • CYP 17 บกพร่อง
  • การผ่าเหล่าของยีน Aromatase

หน่วยรับความรู้สึกของGonadotropin

  • การผ่าเหล่าของหน่วยรับความรู้สึก FSH

 

Hyperprolactinemia

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่จัดอยู่ในการจำแนกตาม WHO ระดับฮอร์โมนโปรแลคติน สูง และ gonadotropin ปกติหรือต่ำได้ TSH อาจจะต่ำได้ ค่าโปรแลคตินที่สูงอย่างมีนัยสำคัญมีค่ามากกว่า 47 ng/ml บ่งบอกถึงพยาธิสภาพของต่อมใต้สมอง โดยแบ่งประเภทของโรคตามขนาดของก้อน โดยก้อนขนาดเล็กกว่า 10 มิลลิเมตร เรียกว่า “microadenoma” หากขนาดใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตร เรียกว่า “macroadenoma” (1, 4)ทั้งสองกลุ่มนี้จะมาแสดงอาการด้วย ประจำเดือนมาปริมาณลดลง และมี galactorrheaถึง 85% ก้อนเหล่านี้จะไปกดส่วนต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ยับยั้งโดปามีน (dopamine) จึงเป็นสาเหตุของโรค

การสืบค้นทางปฏิบัติการ

ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะไข่ไม่ตก เราซักประวัติอย่างละเอียด โดยเน้นประวัติของประจำเดือน การรักษาในอดีตเกี่ยวกับประจำเดือนมาผิดปกติ และขาดประจำเดือน การตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจภายในอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรค

เราควรสืบค้นทางปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย

การสืบค้นทางปฏิบัติการเบื้องต้น ประกอบด้วย Pregnancy test, Thyroid function test, Prolactin

การสืบค้นทางปฏิบัติการอื่นๆ ประกอบด้วย Complete blood count, Electrolytes, Liver function test, renal function test, FSH, LH, Estradiol, Progesterone, testosterone, free androgen index

การตรวจทางรังสี ประกอบด้วย

  1. การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonography) เพื่อประเมินลักษณะรังไข่ และความหนาของผนังมดลูก
  2. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan) หรือ เครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging) ในรายที่สงสัยก้อนเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองส่วนหน้าและไฮโปทาลามัส

การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย ได้แก่

เก็บชิ้นเนื้อผนังมดลูก (endometrial biopsy) แนะนำทำในหญิงทุกรายที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ร่วมกับมีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อีกทั้งหญิงที่ภาวะอ้วน ในกลุ่มนี้มักมีปัญหาเรื่องภาวะไข่ไม่ตก อาจพิจารณาทำการเก็บชิ้นเนื้อผนังมดลูก เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้

การตรวจจำเพาะสำหรับภูมิต้านทานในร่างกาย( Antibody) ตรวจในรายที่สงสัยโรคทางภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประกอบด้วย Antinuclear antibodies, Rheumatoid factor, Erythrocyte sedimentation rate, C-reactive protein, Thyroid antibodies

การรักษา

รักษาตามสาเหตุของแต่ละโรค ขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแนวทางการรักษา ประกอบด้วย

  1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย การลดความเครียด (stress reduction) เป็นต้น
  2. การรักษาโดยใช้ยา (medical treatment ) เช่น ยากระตุ้นไข่ (ovulation induction), ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย, ยาขับเลือด เป็นต้น
  3. การผ่าตัดเพื่อการรักษา กรณี PCOSที่รักษาด้วยยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เป็นต้น

การรักษากลุ่ม WHO 1

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (lifestyle modification) ผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักสัมพันธ์กับการขาดประจำเดือนนั้น สามารถกลับมามีประจำเดือนได้ตามปกติ หากทานอาหารให้เหมาะสมเพื่อให้ค่าดัชนีมวลกายกลับมาปกติ ปริมาณไขมันในร่างกายอย่างน้อย 22% ซึ่งไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีรอบประเดือนปกติ ส่วนหญิงกลุ่มที่เป็นนักกีฬามักมีกล้ามเนื้อมากกว่าไขมัน การแก้ไขภาวะนี้ทำได้ง่ายโดยการลดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงขึ้น(1)
  2. ในรายที่มีความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะไข่ไม่ตก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ไขก่อน รอบประจำเดือนถึงจะมาปกติ(1) การใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy) ไม่มีประโยชน์ในกลุ่มนี้ หากต้องการมีบุตร
  3. หากแก้ไขเรื่องน้ำหนักตัวจนกลับมาปกติแล้ว(1) ในบางรายอาจจะต้องรออีกหลายเดือนกว่าประจำเดือนจะกลับมาปกติ ในกลุ่มนี้สามารถให้ GnRHสังเคราะห์เข้าทางเส้นเลือดดำ หรือทางผิวหนัง โดยผ่านทาง pulsatile pump เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหลั่ง FSH และ LH ออกมา อาจให้การรักษาโดยการฉีด gonadotropin (human menopausal gonadotropin (hMG)เลยก็ได้ โดยฉีดทางผิวหนัง วันละครั้ง เป็นเวลา 10 วัน(1)

การรักษากลุ่ม WHO 2

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (lifestyle modification) (1)

ผู้หญิงในกลุ่มนี้ที่เป็น PCOS มักมีภาวะอ้วน โดยมีอัตราส่วนต่อเอวและสะโพกเพิ่มขึ้น ดังนั้นจะมีโอกาสเกิดภาวะไม่ตกไข่ได้มากขึ้น การตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่ในการรักษาภาวะมีบุตรยากไม่ค่อยดี และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้ง เกิดความผิดปกติของทารกแต่กำเนิดได้ เช่น ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (spina bifida) อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ การลดน้ำหนักเพียง5%(1)ของน้ำหนักเดิมก็สามารถทำให้รอบระดูกลับมาปกติได้ โดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ในรายที่ดัชนีมวลกายมากกว่า 44 กิโลกรัม/ตารางเมตร ควรพิจารณาการผ่าตัดรัดกระเพาะอาหาร

2. การรักษาด้วยยา insulin-sensitizing

มีหลักฐานมากมายสนับสนุนว่า การมีระดับอินซูลินสูง เป็นพยาธิสภาพที่ทำให้เกิดความผิดปกติคือ ระดับอินซูลินสูงขึ้นจะไปกระตุ้นการสร้าง เทสโทสเตอโรน จากรังไข่และกดการสร้าง sex hormone binding globulin จากตับ ส่งผลต่อระดับเทสโทสเตอโรนที่สูงขึ้น ยาที่ช่วยเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อส่วนปลายต่ออินซูลิน (insulin-sensitizing agent) เช่น Metformin (กลุ่ม biguanide antihyperglycemic drug) ช่วยให้เนื้อเยื่อตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น ลดการสร้างกลูโคสจากตับ ทำให้ระดับอินซูลินลดลง ทำให้เทสโทสเตอโรนลดลงตามมา อาการขนดกก็จะดีขึ้น และอาจมีการตกไข่ตามมาได้เอง(1, 4) ขนาดยาmetformin คือ 1500-2000มิลลิกรัม/วัน อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน

มีการศึกษาแบบสุ่ม ของ Cochrane review (5)พบว่า metforminช่วยเพิ่มการตกไข่และอัตราตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับclomiphene citrate แต่อัตราการคลอดทารกมีชีวิตไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

3. ผู้ป่วยต้องการมีบุตร อาจพิจารณายากระตุ้นการตกไข่ (Ovulation induction) เช่น

3.1 Clomiphene citrate

เป็นยากลุ่มแรกที่เลือกใช้ การออกฤทธิ์ของยาไปแย่งจับตัวรับเอสโตรเจน บริเวณต่อมใต้สมอง และไฮโปทาลามัส ทำให้เพิ่มการหลั่ง GnRH ปริมาณมากมาที่ต่อมใต้สมอง ขัดขวาง negative feedback ของเอสโตรเจน ทำให้เพิ่มความถี่และamplitude นำไปสู่การกระตุ้นฟอลลิเคิล ให้เจริญใหญ่กว่าฟองอื่นๆ ผนังมดลูกจะบางลงชัดเจนในช่วง 4 วันก่อนตกไข่ รวมถึงมีอาการร้อนวูบวาบ การเปลี่ยนแปลงของมูกบริเวณปากช่องคลอด เกิดขึ้นหลังจากได้ยาไปจนถึง 5 วันหลังได้ยา จึงเป็นเหตุผลที่เลือกให้ Clomiphene citrate 5 วัน นับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือน(1)

ขนาดยา Clomiphene citrate 25 มิลลิกรัม ถึง 250 มิลลิกรัม ส่วนใหญ่แล้วขนาดยาที่ใช้ในแต่ละวัน 1เม็ด (50 มิลลิกรัม) ทานติดต่อกัน 5 วัน โดยเริ่มวันที่ 2 หรือ 3 ของรอบประจำเดือน หากยังไม่มีการตกไข่ สามารถเพิ่มขนาดยาเพิ่มขึ้น 1 เม็ดต่อวัน จนถึงสูงสุด 3 เม็ด(150 มิลลิกรัม) ต่อวัน หากยังไม่มีการตอบสนองควรเลือกใช้ยาลำดับที่สองในการรักษา การใช้ Clomiphene citrate ไม่ควรให้เกิน 6 รอบ ตามคำแนะนำจาก ASRM จะได้ประโยชน์สูงสุดในการกระตุ้นการตกไข่ และยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนนัก ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ยา คือ ปวดศีรษะ และการตั้งครรภ์แฝด พบได้ประมาณ 10% (4)

3.2 Tamoxifen เป็นยา selective estrogen receptor modulator ออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับเอสโตรเจนบางตำแหน่ง เช่น เต้านม, ไฮโปทาลามัส, ช่องคลอด, ผนังมดลูก และกระดูก การบริหารยาคล้าย Clomiphene citrate ขนาดยา 20 มิลลิกรัม ถึง 80 มิลลิกรัม มีผลข้างเคียงคือ ร้อนวูบวาบ พบได้ถึง 30% มีการศึกษาเปรียบเทียบ tamoxifen และ clomiphene citrate พบว่าการกระตุ้นการตกไข่ อัตราการตั้งครรภ์ และอัตราการคลอดทารกมีชีวิต ไม่ต่างกัน(6)

3.3 Aromatase inhibitors กลไกการออกฤทธิ์ไปยับยั้งการเปลี่ยนแอนโดรเจน เป็น เอสโตรเจน ทำให้ปริมาณเอสโตรเจนลดลง เกิด negative feedback บริเวณไฮโปธาลามัส และต่อมใต้สมอง ส่งเสริมให้เกิดการหลั่ง FSH ไปเพิ่มการกระตุ้นฟอลลิเคิล ขนาดยา 2.5 มิลลิกรัม ถึง 5 มิลลิกรัม ทานวันที่ 3 ถึง 7 ของรอบประจำเดือน ผลข้างเคียงคือ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และร้อนวูบวาบ

3.4 Gonadotropins ใช้กระตุ้นไข่ในผู้ป่วยที่ได้รับ clomiphene citrate แล้วไม่ได้ผล มีการศึกษา Cochrane review (7)พบว่ากระตุ้นการตกไข่ได้ 72-92%, อัตราการตั้งครรภ์ 11-16% ต่อรอบการกระตุ้นไข่ ขนาดยาที่ปลอดภัยคือการเพิ่มยาทีละน้อย โดยเริ่มขนาด 25-75 IU เป็นเวลา 7 วันและตรวจคลื่นความถี่สูงติดตามการเจริญของไข่จนกว่าจะสุก โดยเพิ่มขนาดยาครั้งละ 25 IU ทุก 8-10 วัน ภาวะแทรกซ้อนคือ โอกาสการแท้งและครรภ์แฝด 4-18% ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป 1-2%(1)

4.Endometrium Protection

Progestin ใช้ในการ induce withdrawal bleeding และ ช่วยป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกจาก hyperplastic transformation โดยใช้ medroxyprogesterone acetate ( Provera®) 10 มิลลิกรัม สำหรับ12-14 วันต่อเดือน และมีอีกแนวทางการให้ progesterone suppositories 50-100 มิลลิกรัมหรือ oral micronized progesterone 200 มิลลิกรัม สำหรับ12-14 วันต่อเดือน(8)

5. การรักษาโดยผ่าตัด Wedge resection ของรังไข่ เนื่องจากพบปัญหาการเกิดพังผืด ปัจจุบันนิยมทำ laparoscopic ovarian drilling (LOD) โดยใช้เลเซอร์ หรือ จี้ไฟฟ้า มากกว่า เนื่องจากแผลเล็ก เจ็บตัวน้อย แต่ได้ผลลัพธ์เรื่องการตกไข่ดี และมีการตกไข่เกิดขึ้นเองในผู้ป่วยส่วนใหญ่ และยังสามารถวินิจฉัยเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และจี้ทำลายไปในเวลาเดียวกันได้ แต่ข้อเสียของ LOD คือ อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบและการผ่าตัด(1)

การรักษากลุ่ม WHO 3

การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งมีเอสโตรเจนต่ำ โดยใช้ยาคุมกำเนิด (Oral contraceptive pill) หรือฮอร์โมนแบบผสมผสาน (conventional combined hormone replacement therapy) ด้วยเอสโตรเจน ร่วมกับ โปรเจสทิน การรักษาด้วยยากระตุ้นไข่จะไม่ได้ผลในกลุ่มนี้ ในสตรีที่ต้องการมีบุตร การใช้ไข่บริจาคเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง(1)

การรักษา Hyperprolactinemia

ก่อนการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan) หรือเครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อประเมินขนาดก้อนก่อน ยากลุ่มdopamine agonist เป็นยากลุ่มแรกที่เลือกใช้ทั้งในกลุ่ม micro และ macroadenoma เพื่อลดโปรแลคตินอย่างรวดเร็ว ยาที่เลือกใช้ในปัจจุบันคือ (1)bromocriptine และ cabergoline ตัวยาออกฤทธิ์ตรงตัวรับของโดปามีน บริเวณต่อมใต้สมอง ¬ขนาดยาbromocriptine เริ่มที่ 0.625 มิลลิกรัม และ 1.25 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้งก่อนนอน และเพิ่มขนาดยาขึ้นเพื่อการรักษาปริมาณระดับยา (maintenance dose) จนถึง 10 มิลลิกรัมต่อวัน ระหว่างการรักษาควรได้รับการตรวจทางปฏิบัติการเพื่อดูปริมาณโปรแลคตินเดือนละครั้ง ผลข้างเคียงของยาคือ คลื่นไส้ ท้องผูก ปวดศีรษะ มึนศีรษะ และคัดจมูก ส่วน cabergoline ออกฤทธิ์เช่นเดียวกัน ขนาดยา เริ่มที่ 0.25 มิลลิกรัม ถึง 0.5 มิลลิกรัม ต่อสัปดาห์ หลังจากนั้นปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นทุก 4 สัปดาห์ เพิ่มทีละ 0.5 มิลลิกรัมถึง 2 มิลลิกรัม จนได้ปริมาณยาที่เหมาะสม มีการศึกษาแบบสุ่ม(9)เปรียบเทียบ cabergoline และ bromocriptine พบว่า cabergoline มีผลทำให้โปรแลคตินลดลงกลับมาปกติได้ดีกว่า สามารถลดระดับโปรแลคตินให้กลับมาปกติได้ใน 83%ของผู้ป่วยเมื่อเทียบกับ bromocriptine อีกทั้งข้อมูลการศึกษาbromocriptineในหญิงตั้งครรภ์มีมากกว่าการใช้ cabergoline ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ bromocriptine ในผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตร

มีคำกล่าวที่ว่า “Anovulation is a not a disease but a sign of a much larger disease process” ดังนั้นเราจึงควรหาสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกให้ได้ และผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง จึงนำไปสู่การแก้ภาวะไข่ไม่ตก

เอกสารอ้างอิง

  1. RJ. R. The management of anovulation (including PCOS). In: G IK, editor. The subfertility handbook: A clinician’s guide: Cambridge: Cambridge University Press; 2011. p. 88-99.
  2. Rotterdam EA-SPcwg. Revised 2003 consensus on diagnostic criteria and long-term health risks related to polycystic ovary syndrome (PCOS). Hum Reprod. 2004;19(1):41-7.
  3. Welt cK. Pathogenesis and cause of spontaneous primary ovarian insufficiency (premature ovarian failure). uptodate2018.
  4. C. T. Treatment of male and female infertility Cambridge: Camnridge University Press; 2013.
  5. Tang T LJ NR, Yasmin E, Balen AH. Insulin-sensitizing drugs (metformin, rosiglitazone, pioglitazone, D-chro-inositol) for women with polycystic ovary syndrome oligoamenorrhea and subfertility. Cochrane Database Sys Rev. 2010.
  6. Steiner AZ, Terplan M, Paulson RJ. Comparison of tamoxifen and clomiphene citrate for ovulation induction: a meta-analysis. Hum Reprod. 2005;20(6):1511-5.
  7. Thessaloniki EA-SPCWG. Consensus on infertility treatment related to polycystic ovary syndrome. Fertil Steril. 2008;89(3):505-22.
  8. Ressegui LJ HJ, Bruen JA, et al. Congenital malformations among offspring exposed in utero to progestin, Olmsted County, Minnesota, 1936-1974. Fertil Steril. 1985;43:514-9.
  9. Klibanski A. Clinical practice. Prolactinomas. N Engl J Med. 2010;362(13):1219-26.
Read More
EFW1

การคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ (Estimate fetal weight)

การคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ (Estimate fetal weight)

นนทิกานต์ อโนทัยสถาพร
อาจารย์ที่ปรึกษา รศ. พญ. เฟื่องลดา ทองประเสริฐ


การประเมินน้ำหนักทารกระหว่างการตั้งครรภ์มีความจำเป็นต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดและหลังคลอดได้ ในทารกรายที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำและสูง

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อน้ำหนักทารก

มีผลทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เช่น

  • อายุครรภ์ ณ เวลาที่คลอด, เพศของทารก
  • เชื้อชาติ,ความสูง,จำนวนการตั้งครรภ์,น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ และกิจกรรมที่ปฏิบัติระหว่างกานตั้งครรภ์, ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง, การสูบบุหรี่, มารดาเป็นโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้, โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ความสูงพ่อและแม่

ความสำคัญในการประเมินน้ำหนัก

ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ(low birth weight) และทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดสูง (macrosomia) จะเพิ่มความเสี่ยงระหว่างการคลอดและการดูแลหลังคลอดได้

โอกาสเกิดความแตกต่างของขนาดศรีษะทารกและอุ้งเชิงกราน ทำให้ทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ (cephalopelvic disproportion) จะเพิ่มอุบัติการณ์มากขึ้น กับ ขนาดทารก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่จะเพิ่มอัตราการผ่าคลอดฉุกเฉินทางหน้าท้องได้ ในทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดสูงเมื่อเทียบกับทารกน้ำหนักแรกคลอดปกติ

ข้อบ่งชี้ในการประเมินน้ำหนักทารก

  • มีประวัติเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ที่ควบคุมได้ไม่ดี
  • มารดาตัวเตี้ย
  • น้ำหนักมารดาเพิ่มระหว่างการตั้งครรภ์มากกว่าปกติ
  • มารดาอ้วน (BMI>25kg/m2)
  • ตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง
  • มีประวัติคลอดก่อนกำหนด
  • มีประวัติคลอดหลังกำหนด
  • มารดามีประวัติโรคความดันโลหิตสูง
  • มารดาสูบบุหรี่

ตารางที่ 1 ความเสี่ยงของมารดาและทารกแรกคลอดที่มีน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม

Complication

Relative risk

Attributable Risk(%)

Shoulder dystocia

2.0-38

2-18

Brachial plexus palsy

16-216

0.2-8

Bony injury/fracture

1.4-97

0.2-6

Prolonged labor

2.2-3.2

2-7

Birth asphyxia/low Apgar scores

1.7-5.6

0.6-6

Forceps/vacuum extraction

1.5-3.6

8-14

Birth canal/perineal laceration

1.6-5.1

3-7

Postpartum hemorrhage

1.6-5.2

2-5

Cephalopelvic disproportion

1.9-2.2

4-5

Cesarean delivery

1.2-2.9

4-14

*Data complication from 15 study that investigated both the relative risk of complication associated with the birth of macrosomia fetuses.

เส้นมาตรฐานการเจริญเติบโตของทารก ( Standard Fetal Growth Curves)(1)

สำหรับประเมินช่วงน้ำหนักของทารกในแต่ละอายุครรภ์

EFW1

รูปที่1 แสดงเส้นมาตรฐานการเจริญเติบโตของทารก

ช่วงน้ำหนักปกติของทารกแรกคลอด

ค่าความคลาดเคลื่อนของน้ำหนักทารก (Deviation in fetal weight)

การวินิจฉัยค่าความคลาดเคลื่อนของน้ำหนักทารก อ้างอิงจากช่วงน้ำหนักในแต่ละอายุครรภ์ที่ถูกยอมรับ อายุครรภ์ที่ทารกเกิดมานั้นจะต้องมีน้ำหนักของการเกิด ที่ชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้มีความสำคัญ เพราะว่า น้ำหนักทารกจะเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์

ค่าความแตกต่างของน้ำหนักทารก (Variation in fetal weight)

ค่าอ้างอิงช่วงอายุครรภ์สำหรับการคลอดธรรมชาติ (spontaneous delivery)ที่280วัน (40สัปดาห์)จากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย เนื่องจากน้อยกว่า 3%ของการเกิดที่แม่นยำ ที่อายุครรภ์40สัปดาห์ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสำหรับอายุครรภ์ครบกำหนด คือ 1สัปดาห์ ดังนั้นค่าปกติของน้ำหนักทารกคลอดครบกำหนดอ้างอิงจากการคลอดในช่วงอายุครรภ์ 38-42สัปดาห์ ค่าเฉลี่ยน้ำหนักทารกที่เพิ่มขึ้นประมาณ 12.74กรัมต่อวัน ขึ้นกับน้ำหนักของมากดาที่เพิ่มขึ้นและเชื้อชาติของมารดา

คำจำกัดความของการเจริญเติบโตของทารก

ประเภทของน้ำหนักทารก แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. ค่าน้ำหนักปกติ (between 10th and 90th percentile)
  2. ภาวะทารกตัวเล็ก (Small for gestational age (<10th percentile))
  3. ภาวะทารกตัวโต (Large for gestational age(>90th percentile))

ภาวะแทรกซ้อนของทารก

น้ำหนักแรกเกิดต่ำ(low birth weight)

  • การคลอดก่อนกำหนด
  • เกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (IUGR)

ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดสูง (macrosomia)

  • การคลอดติดไหล่(dystocia) ,
  • การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทบริเวณคอ (brachial plexus injury),
  • การบาดเจ็บต่อกระดูก
  • ขณะคลอดอาจทำให้เกิดภาวะขาดอากาศ (asphyxia)
  • ความเสี่ยงของมารดาขณะคลอด ประกอบด้วย การบาดเจ็บต่อช่องคลอด และเชิงกราน อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดอีกด้วย

การประเมินน้ำหนักทารก

เทคนิคสำหรับการประเมินน้ำหนักทารก

1. ขนาดตัวทารก (Tactile assessment of fetal size) เป็นวิธีเก่าแก่ที่ใช้ประเมินน้ำหนัก โดยด้วยการคาดคะเนน้ำหนักด้วยมือของสูติแพทย์ จากการตรวจร่างกาย Leopold maneuvers เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสะดวก และไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่วิธีนี้อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้มาก(2, 3)

2. การประเมินน้ำหนักโดยมารดา (Maternal Self-Estimation) ใช้ในการประเมินน้ำหนักในครรภ์หลังๆ และประเมินน้ำหนักทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนด

3. การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง(Ultrasonography) เป็นการวัดสัดส่วนทารกในครรภ์ โดยการวัดความยาวของทารก (CRL), การวัดความกว้างของศีรษะทารก (BPD),การวัดเส้นรอบวงศีรษะ(HC),การวัดเส้นรอบท้อง(AC),การวัดความยาวกระดูกต้นขา(FL)

ตาราง แสดงการศึกษาการความแม่นยำในการทำนายน้ำหนักแรกคลอดในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ มากกว่า 37 สัปดาห์ โดยการคลำทางหน้าท้อง,การตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงและ ผู้ป่วยประเมินด้วยตนเอง

Author(year)

Best Birth Weight Estimation

Clinical palpation Sonographic Fetal Biometry Parous Patients’ Self-Estimates

MA% Error

BW%

MA% Error

BW%

MA% Error

BW%

Watson(1988)

7.9

67

8.2

66

 

 

Chauhan (1992)

9.0

66

15.6

42

8.7

70

Chauhan (1993)

9.1

65

10.7

56

 

 

Chauhan (1995)

7.5

65

 

 

9.2

67

Chauhan (1995)

9.9

54

11.4

51

 

 

Sheman(1998)

7.2

73

8.1

69

 

 

Chauhan (1998)

10.3

61

10.0

60

 

 

Herrero(1999)

9.5

61

 

 

9.5

62

Hendrix(2000)

10.6

58

16.5

32

 

 

Range 7.2-10.6 54-73 8.1-16.5 32-69 8.7-9.5 62-70

MA % error : Mean absolute percent error in fetal weight predictions
BW% : Percent of weights predicted to within > 10% of actual birth weight

ความแตกต่างของการคาดคะเนน้ำหนักทารกในแต่ละวิธี

ขนาดทารก (Tactile assessment of fetal size)

  • การประเมินน้ำหนักทารกในแต่ละอายุครรภ์ จะต้องนำมาเปรียบเทียบกับตารางค่าน้ำหนักของทารกในอายุครรภ์ต่างๆ
  • การประเมินน้ำหนักในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 อาจทำให้ความแม่นยำลดลง
  • มีการศึกษาจากการวัดระดับของยอดมดลูก ได้40เซนติเมตร ประเมินน้ำหนักทารกได้มากกว่า4,000 กรัม มีความไว 82% และความจำเพาะเจาะจง 80% จากการศึกษานี้ จึงใช้ ค่าระดับยอดมดลูกที่ 40(3)
  • น้ำหนักที่เหมาะสมอยู่ในช่วงเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 10 และ 90 ในอายุครรภ์นั้นๆ
  • หากน้ำหนักของทารกน้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 10 อาจจะความผิดปกติของขนาดทารก ซึ่งอาจเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ได้ (FGR) เมื่อทารกเกิดมามีน้ำหนักน้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 10 จะเรียกว่า ภาวะทารกตัวเล็ก (Small for gestational age) และหากมากกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 90 เรียกว่า ทารกน้ำหนักตัวมาก (Large for gestrational age)

EFW2

การประเมินน้ำหนักด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonography)

  • ได้มีการศึกษาพบว่าการประเมินน้ำหนักด้วยคลื่นความถี่สูง มีความเที่ยงมากกว่าการประเมินโดยการคลำหน้าท้อง(4)
  • น้ำหนักทารกที่ประเมินได้จากคลื่นความถี่สูง ได้มาจากการประเมินจากสูตรมากมายที่ถูกพัฒนาเพื่อให้มีความเที่ยงมากที่สุด มีหลายการศึกษาที่ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบค่าน้ำหนักที่ได้จากสูตรกับน้ำหนักทารกแรกคลอด(5, 6)
  • สูตรการคำนวณมีการวัดสัดส่วนของทารกส่วนหัว ท้อง และกระดูกต้นขา มีค่าความแปรปรวน 15% โดยแต่ละสูตรนั้นใช้อย่างน้อย 3 สัดส่วนของร่างกาย
  • บางการศึกษาได้กล่าวถึงการวัดเส้นรอบวงของกระดูกต้นขา หรือ ความหนาของเนื้อเยื่อบริเวณกระดูกต้นขา หรือ ใช้เพียงแค่ 3 สัดส่วนในการประเมินน้ำหนัก จะไม่มีความเที่ยงตรง
  • มีการศึกษาทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systemic review) เกี่ยวกับการใช้สูตรต่างๆในการประเมินน้ำหนักทารก เปรียบเทียบกัน พบว่า ความเที่ยงของแต่ละสูตรไม่มีความแตกต่างกัน(7)
  • สูตรที่ใช้ในการคำนวณน้ำหนัก ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ประเมินครรภ์เดี่ยว สามารถใช้ประเมินครรภ์แฝดได้ เพราะสูตรถูกพัฒนาเฉพาะสำหรับครรภ์แฝด ดังนั้น จะทำให้ไม่มีความเที่ยงตรงของทารก
  • การประเมินน้ำหนักทารกมีความเที่ยงลดลงในมารดาที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เมื่อเทียบกับ มารดาที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน และความเที่ยงลดลงเมื่อทารกมีน้ำหนักน้อยมาก (น้อยกว่า 1000 กรัม)
  • การประเมินน้ำหนักโดยผู้ตรวจคนเดียวหลายครั้ง (intraobserver) และ ตรวจโดยหลายคน (interobserver) ทำให้เกิดค่าความแปรปรวนที่ต่างกันมาก ดังนั้นการตรวจที่มีคุณภาพนั้นจะต้องใช้เทคนิคการวัด และได้ภาพที่คมชัด เช่น ขอบเขตกายวิภาค จะทำให้ได้ค่าที่เที่ยงตรง แม่นยำ
  • การใช้คลื่นความถี่สูงประเมินน้ำหนักทารกในช่วงอายุครรภ์30-40สัปดาห์ น้ำหนักทารกเพิ่มขึ้นประมาณ 220 กรัมต่อสัปดาห์ และหลังจากอายุครรภ์มากกว่า40 สัปดาห์น้ำหนักจะค่อยลดลง
  • สูตรที่ใช้ในการประเมินน้ำหนักใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ถูกตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1985 โดย Hadlock and colleahues

ตาราง แสดงการประเมินน้ำหนักทารก

Body Parts Images Formula Used for Weight Estimate
Head, abdomen and femur  
OFD measureable สูตรที่1, using corrected BPD in place of BPD
OFD not measurable สูตรที่1
Head and abdomen  
OFD measurable สูตรที่2, using corrected BPD in place of BPD
OFD not measurable สูตรที่2
Abdomen and femur สูตรที่3

 

สูตรที่1

EFW3 = 1.4787 – 0.003343 AC x FL + 0.001837 BPD2 + 0.0458 AC + 0.1694 BPD

สูตรที่ 2

EFW3 = 1.1134 + 0.5845 AC – 0.000604 AC2 – 0.007365 BPD2 + 0.00595 BPD x AC + 0.1694BPD

สูตรที่ 3

EFW3 = 1.3598 + 0.051AC + 0.1844FL – 0.0037 AC x FL

  • การวัดความกว้างของศีรษะทารก (BPD) หน่วยเซนติเมตร
  • การวัดเส้นรอบวงศีรษะ(HC) หน่วยเซนติเมตร
  • การวัดเส้นรอบท้อง(AC) หน่วยเซนติเมตร
  • การวัดความยาวกระดูกต้นขา(FL) หน่วยเซนติเมตร

ข้อมูลจาก Hadlock FP, Harrist RB, Carpenter RJ, et al: Sonographic estimation of fetal weight: the value of femur length in addition to head and abdomen measurements. Radiology 150:535-

การเปรียบเทียบการผลจากการคาดคะเนน้ำหนักทารดด้วยวิธีคลำทางหน้าท้อง และใช้คลื่นความถี่สูง

 

วิธีการประเมินน้ำหนัก

Correlation Coefficient With Actual Birth Weight

Mean Absolute Error(g)

Mean Absolute Error,(%)

Within 15% of actual Birth Weight (%)

คาดคะเนน้ำหนักจากลักษณะของมารดา

0.55

312

9.8

86

การตรวจร่างกายโดยวิธี Leopold

0.60

336

9.9

83

มารดคาดคะเนน้ำหนักจากการคลำหน้าท้อง

0.45

402

11.5

67

การใช้คลื่นความถี่สูง

Hadlock equation1

0.61

292

8.4

88

Combs equation

0.60

285

8.3

82

Hadlock equation3

0.60

325

9.4

83

Hadlock equation2

0.58

328

9.4

78

Campbell equation

0.42

368

10.3

79

Warsof equation 2

0.63

370

10.3

61

Warsof equation 1

0.40

359

10.9

72

Shepard

0.52

402

11.4

63

  • จากการศึกษาวิธีทั้งหมดที่ใช้ในการประเมินน้ำหนักที่ผ่านมาพบว่า จะความคลาดเคลื่อน อยู่ในช่วง 288-560 กรัม
  • วิธีที่ใช้มากที่สุกที่ประเมินน้ำหนักทารกก่อนคลอดคือการคลำทางหน้าท้อง เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่าย และ ไม่ได้ทำให้เกิดการบาดเจ็บ
  • มีการศึกษาได้ศึกษาการใช้สูตร Hadlock AC+ FL มีความเที่ยงไม่ต่างกันกับการวัดเส้นรอบท้อง

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าการคาดคะเนน้ำหนักทารกมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ ขณะคลอด และ หลังคลอด ได้อย่างถูกต้อง

ทุกปัจจัยที่ส่งผลต่อน้ำหนักทารดโดยตรง ประกอบด้วย :เชื้อชาติมารดา, เพศทารก,ความสูงของมารดา,ความสูงของลูกคนที่ผ่านมา,มารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ควบคุมไม่ได้, น้ำหนักมารดาที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป, ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง, อายุครรภ์ที่คลอด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อน้ำหนักทารก รวมถึงในรายที่คาดคะเนน้ำหนักทารกแล้วมากกว่า4,000 กรัม จะได้มีการวางแผนดูแลผู้ป่วยขณะคลอดได้และลดภาวะแทรกซ้อน และความเสี่ยงอื่นๆที่เกิดตามมาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Benson CB, Doubilet PM. Fetal Biometry and Growth.
  2. Khani S, Ahmad-Shirvani M, Mohseni-Bandpei MA, Mohammadpour-Tahmtan RA. Comparison of abdominal palpation, Johnson’s technique and ultrasound in the estimation of fetal weight in Northern Iran. Midwifery. 2011;27(1):99-103.
  3. Buchmann E, Tlale K. A simple clinical formula for predicting fetal weight in labour at term–derivation and validation. S Afr Med J. 2009;99(6):457-60.
  4. Eze CU, Abonyi LC, Njoku J, Okorie U, Owonifari O. Correlation of ultrasonographic estimated fetal weight with actual birth weight in a tertiary hospital in Lagos, Nigeria. Afr Health Sci. 2015;15(4):1112-22.
  5. Kalantari M, Negahdari A, Roknsharifi S, Qorbani M. A new formula for estimating fetal weight: The impression of biparietal diameter, abdominal circumference, mid-thigh soft tissue thickness and femoral length on birth weight. Iran J Reprod Med. 2013;11(11):933-8.
  6. Dudley NJ. A systematic review of the ultrasound estimation of fetal weight. Ultrasound Obstet Gynecol. 2005;25(1):80-9.
  7. Tongsong T, Piyamongkol W, Sreshthaputra O. Accuracy of ultrasonic fetal weight estimation: a comparison of three equations employed for estimating fetal weight. J Med Assoc Thai. 1994;77(7):373-7.
Read More