การดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (management of hepatitis B in pregnancy)

พญ.ศิรินาถ ศิริเลิศ
รศ.พญ.พรรณี ศิริวรรธนาภา


บทนำ

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของตับ นำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของสาธารณสุขประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 5 ของประชากร โดยการติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจาก “การแพร่เชื้อจากแม่ไปสู่ลูก” (maternal to child transmission) และมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีถึงร้อยละ 8 ในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นการตรวจคัดกรองและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อจากแม่ไปสู่ลูก จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญหน้าที่หนึ่งของสูติแพทย์

นิยามศัพท์

1. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B viral infection) หมายถึง การมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย โดยแบ่งการดำเนินโรคได้เป็น

  1. การติดเชื้อเฉียบพลัน (acute hepatitis B infection) หมายถึง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในระยะแรก ถือที่การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือน
  2. การติดเชื้อเรื้อรัง (chronic hepatitis B infection) หมายถึง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือน แบ่งได้เป็น
    1. พาหะ (carrier) หมายถึง ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
    2. ตับอักเสบเรื้อรัง(chronic hepatitis) หมายถึง ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย และตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ
  3. ตับแข็งระยะต้น (compensated cirrhosis) หมายถึง ตับแข็งที่ยังไม่แสดงอาการทางคลินิก
  4. ตับแข็งระยะท้าย (decompensated cirrhosis) หมายถึง ตับแข็งที่แสดงอาการทางคลินิก เช่น ท้องมานน้ำ ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น

2. ข้อมูลจากผลการตรวจเลือด

  1. HBsAg : บอกถึง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  2. HBeAg : บอกถึง ความสามารถในการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบบี (Viral replication)
  3.  Anti HBc : เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อไวรัสตับอักเสบบี บอกถึงการเคยติดเชื้อไวรัสบี
    1. Anti HBc-IgM : พบในตับอักเสบเฉียบพลัน
    2.  Anti HBc-IgG : พบได้ทั้งในตับอักเสบเฉียบพลัน, เรื้อรัง หรือแม้แต่ผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว
  4. Anti HBe : จะพบหลังจากตรวจไม่พบ HBeAg ในเลือดแล้ว
  5.  Anti HBs : จะพบหลังจากตรวจไม่พบ HBsAg ในเลือดแล้ว หรือ เป็นภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

 

อุบัติการณ์

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั่วโลกมีประมาณ 2,000 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มติดเชื้อเรื้อรัง 240 ล้านคน ซึ่งมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเสียชีวิตจากโรคตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับรวมประมาณ 600,000 คนต่อปี(1) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีพบมากในกลุ่มประเทศตะวันออก

โดยในประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูง คือ ประมาณร้อยละ 5 หมายถึง ประชากรประมาณ 3 ล้านคน มีการติดเชื้อไวรัสตับอับเสบบี(2)

การดำเนินโรค

การดำเนินโรคในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในระยะเฉียบพลันผู้ป่วยอาจแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ อาการแสดงที่พบได้บ่อย คือ อ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง ไข้ เป็นต้น ในผู้ใหญ่จะแสดงอาการประมาณร้อยละ 35 ของผู้ที่ติดเชื้อในระยะเฉียบพลัน ส่วนการติดเชื้อในทารกแรกเกิดน้อยกว่าร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะแสดงอาการ จากนั้นร้อยละ 5-10 ของผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเท่านั้นที่จะมีการติดเชื้อเรื้อรัง แต่จะติดเชื้อเรื้อรังมากถึงร้อยละ 90 ในทารกแรกเกิด ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั้งในผู้ใหญ่และในทารกแรกเกิดร้อยละ 10-25 จะเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ส่วนอีกร้อยละ 75-90 จะเป็นพาหะแต่ไม่แสดงอาการ ในกลุ่มตับอักเสบเรื้อรังจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นโรคตับแข็งร้อยละ 2-4 ต่อปี และเปลี่ยนแปลงการดำเนินโรคต่อไปเป็นโรคมะเร็งตับอีกร้อยละ 2-5 ต่อปี

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ถ่ายทอดจากการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อนี้โดยตรง โดยในกลุ่มผู้ใหญ่มักจะเป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในกลุ่มทารกแรกเกิดส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งระหว่างคลอด จากแม่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยจากการตรวจสารคัดหลั่งในกระเพาะทารกแรกเกิดพบ HBsAg ได้ถึงร้อยละ 95 ของทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักสบบี ดังนั้นการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกถือได้ว่าเป็นวิธีการติดเชื้อที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปริมาณไวรัสสูง หรือมีความสามารถในการแบ่งตัวสูง (HBeAg positive) หากไม่ได้รับการรักษามีโอกาสถึงร้อยละ 40-90 ที่ทารกจะมีการติดเชื้อเรื้อรัง แต่หากไม่มีความสามารถในการแบ่งตัวสูง (HBeAg negative) หากไม่ได้รับการรักษามีโอกาสร้อยละ 10-40 ที่ทารกจะมีการติดเชื้อเรื้อรัง(3) นอกจากนี้ HBeAg ยังสามารถผ่าน placenta ไปทำให้ทารกในครรภ์มีความสามารถในการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ลดลงอีกด้วย

การให้การรักษาในทารกแรกเกิดโดยการให้วัคซีนและอิมมูโนโกลบูลินจะช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ถึงร้อยละ 90-95 ดังนั้นในหญิงตั้งครรภ์ทุกรายจึงควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจึงมุ่งเน้นไปที่การดูแลเพื่อลดการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก โดยการให้วัคซีนและอิมมูโนโกลบูลินหลังทารกคลอด ภายใน 12 ชั่วโมง

ปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่เชื้อจากแม่ไปสู่ลูก

  1. Viral load มีผลต่อการติดเชื้อในช่วงก่อนคลอด โดยเชื่อว่าหาก viral load > 7 log (IU/ml) หรือ >8 log (copies/ml) จะทำให้ทารกมีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจากมีโอกาสที่จะไม่ได้ประโยชน์จาก infant immunoprophylaxis สูง(4) แต่หาก viral load<6 log (copies/ml) และทารกแรกคลอดได้รับ infant immunoprophylaxis เชื่อว่าจะไม่มีโอกาสการติดเชื้อของทารก(5)
  2. HBeAg ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและตรวจพบ HBeAg positive แต่ทารกหลังคลอดไม่ได้รับวัคซีน Hepatitis B Immunoglobulin มีโอกาสการติดเชื้อได้ร้อยละ 40-90 ในขณะที่กลุ่ม HBeAg negative มีโอกาสติดเชื้อเพียงร้อยละ 10-40(6) เนื่องจาก ในกลุ่มที่ HBeAg positive จะมีระดับไวรัสสูงกว่า และ HBeAg สามารถผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกดื้อต่อเชื้อไวรัสตับอีกเสบบี ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้
  3.  infant immunoprophylaxis คือ การที่ทารกแรกคลอดได้รับ HBIG และ hepatitis B vaccine ภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ถึงร้อยละ 90-95 แต่หากทารกได้รับเพียง hepatitis B vaccine จะช่วยป้องกันได้เพียงร้อยละ 75
  4. Threatened preterm labor or threatened abortion ทำให้มีโอกาสเกิด transplacental leakage เกิด maternal-fetal microtransfusion
  5. วิธีการคลอด จากการศึกษาของ Wang J. และคณะในปี ค.ศ. 2002 พบว่า
    1. การคลอดทางช่องคลอดมีโอกาสติดเชื้อร้อยละ 8.1 และติดเชื้อเรื้อรังร้อยละ 7.3
    2. การใช้หัตถการช่วยคลอด เช่น vacuum or forceps extraction มีโอกาสติดเชื้อร้อยละ 7.7 และติดเชื้อเรื้อรังร้อยละ 7.7
    3. การผ่าตัดคลอด มีโอกาสติดเชื้อร้อยละ 9.7 และติดเชื้อเรื้อรังร้อยละ 6.8 ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ(7)
      แต่จากการศึกษาของ Yang J. และคณะ ในปี ค.ศ.2008 พบว่าการคลอดโดยการผ่าตัดคลอดในช่วงก่อนมีอาการเจ็บครรภ์จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(8) โดย การคลอดทางช่องคลอดมีโอกาสติดเชื้อร้อยละ 28 ส่วนการผ่าตัดคลอดมีโอกาสติดเชื้อเพียงร้อยละ 10.5

การรักษาไวรัสตับอักเสบบี

การรักษาไวรัสตับอักเสบบี มุ่งเน้นเพื่อลดปริมาณไวรัสตับอักเสบบีในเลือด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดระดับไวรัสตับอักเสบบีในตับลงด้วย

การรักษาไวรัสตับอักเสบบีในผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจรักษาที่แผนกอายุรกรรม รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ มีหลักการในการตรวจเพิ่มเติมและการรักษา คือ ในผู้ป่วยที่ตรวจพบ HBsAg positive และได้รับการยืนยันการเป็นการติดเชื้อเรื้อรัง (chronic hepatitis B infection) จะได้รับการตรวจ HBeAg, viral load, liver function โดยกลุ่มที่ต้องได้รับการรักษา คือ กลุ่มที่มี liver enzyme (ALT) สูงขึ้น ร่วมกับ viral load มากกว่า 20,000 ในผู้ป่วยที่ HBeAg positive หรือ viral load มากกว่า 2,000 ในผู้ป่วยที่ HBeAg negative ส่วนในกลุ่มที่อาการรุนแรง (fulminant hepatitis) และกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised) ต้องได้รับการรักษาทันทีโดยไม่ต้องตรวจเพิ่มเติม

ในกลุ่มความสี่ยงสูง คือ กลุ่มที่ viral load มากกว่า 20,000 ในผู้ป่วยที่ HBeAg positive หรือ viral load มากกว่า 2,000 ในผู้ป่วยที่ HBeAg negative แต่ liver enzyme ปกติ และเป็นผู้ป่วยชายที่อายุ มากกว่า 40 ปี ผู้ป่วยหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี หรือมีภาวะ fibrosis ในตับมาก ควรได้รับการตรวจหา viral hepatitis A และ viral hepatitis C ด้วย และพิจารณาทำ liver biopsy เนื่องจากในกลุ่มดังกล่าวหากผล liver biopsy พบ inflammation หรือ METAVIR fibrosis มากกว่าหรือเท่ากับ F2 ควรได้รับการรักษาเช่นกัน

การรักษาทำได้โดย

1. ยารับประทาน เป็นยาในกลุ่ม nucleoside analog reverse transcriptase inhibitor เช่น เป็นต้น โดยยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวเพิ่มของไวรัส จึงต้องทานตลอดชีวิต ข้อดีคือ มีผลข้างเคียงต่ำและราคาถูก ข้อเสียคือ มีโอกาสดื้อยาสูงหากเป็นระยะเวลายาวนาน(14)

Pregnancy category

2. ยาฉีด เป็นยาในกลุ่ม Peg Interferon ออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้เกิดมาทำลายไวรัส ข้อดีคือ มีโอกาสที่สามารถหยุดยาได้ โดย 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้หลังจากใช้ยาไป 1 ปี และไม่มีการดื้อยา ส่วนข้อเสียคือ มีผลข้างเคียงมากกว่า และราคาแพง

ผลข้างเคียงของยากลุ่ม Peg Interferon คือ อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผมร่วง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ เกิดการกำเริบของโรคไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง โรคจิตประสาท โรคซึมเศร้า และมีตับอักเสบระหว่างรักษาได้ประมาณร้อยละ 30

ข้อห้ามใช้ Peg Interferon คือ โรคจิตประสาท โรคซึมเศร้า โรคภูมิคุ้มกันตนเอง เช่น SLE ตับแข็งระยะท้าย และตั้งครรภ์

การติดตามการรักษา ทำได้โดยการตรวจทาง serology คือ หากการรักษาประสบผลสำเร็จ จะพบ viral load ลดลง และเกิด seroconversion จาก HbeAg positive เป็น negative จากนั้น HbsAg positive เป็น negative ตามมา

การรักษาไวรัสตับอักเสบบีในสตรีตั้งครรภ์

การรักษาไวรัสตับอักเสบบีในสตรีตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการตรวจ และการรักษาของแต่ละสถาบัน โดยการรักษามุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ดังนั้นเป้าหมายของการรักษา คือ อุบัติการณ์ของการติดเชื้อการแม่สู่ลูกน้อยที่สุด

ในประเทศไทย การรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบียังมีน้อย และยังไม่มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน การรักษาจึงยังเป็นเพียงการป้องกันโดยให้ immunoprophylaxis คือ การที่ทารกแรกคลอดได้รับ HBIG และ hepatitis B vaccine ภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด ในทารกที่มารดาตรวจพบ HBsAg positive แต่การได้รับเพียง immunoprophylaxis จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ร้อยละ 90-95 ยังมีอีกร้อยละ 5-10 ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ การลดระดับไวรัสในกระแสเลือด จึงยังมีประโยชน์ในการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกอยู่ โดยเชื่อว่าระดับไวรัสที่น้อยว่า 6 log (copies/ml) ในช่วงก่อนคลอด ร่วมกับทารกได้รับ immunoprophylaxis เชื่อว่าจะไม่มีโอกาสในการติดเชื้อ การรักษาทำได้โดยให้ยารับประทานซึ่งเป็นยาในกลุ่ม nucleoside analog reverse transcriptase inhibitor ดังกล่าวมาข้างต้น แต่การรักษาดังกล่าวจะมีความคุ้มค่า และสามารถทำได้หรือไม่นั้นขึ้นกับความสามารถของแต่ละสถาบัน

ผลกระทบของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่อการตั้งครรภ์

การศึกษาผลกระทบของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่อการตั้งครรภ์ ยังไม่สามารถสรุปเป็นผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะให้การดูแลเช่นเดียวกับหญิงตั้งครรภ์ปกติ เนื่องจากยังมีการศึกษาไม่เพียงพอที่จะบ่งชี้ว่าการตั้งครรภ์ในหญิงที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง แต่การศึกษาสามารถสรุปเกี่ยวกับผลกระทบของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่อการตั้งครรภ์ไว้ได้ดังนี้

ผลต่อมารดา

จากการศึกษาของ Nguyen และคณะ พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีโอกาสเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และความดันโลหิตสูงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (9) ซึ่งเข้าได้กับการศึกษาของ Tse และคณะ ที่พบเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้มากขึ้น และยังพบมีความสัมพันธ์การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดก่อนคลอด(11) นอกจากนี้การศึกษาของ Safir และคณะ ยังยืนยันสาเหตุของการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดก่อนคลอดเกิดจากรกลอกตัวก่อนกำหนดที่พบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบอัตราการชักนำการคลอด และอัตราการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(10)

ผลต่อทารก

ในมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผลต่อทารกที่สำคัญที่สุดคือการติดเชื้อจากมารดาไปสู่ทารก ดังได้กล่าวไปในข้างต้น แต่ผลอื่นที่อาจพบได้ คือ การคลอดก่อนกำหนด โดยจากการศึกษาของ Safir และคณะ พบอัตราการคลอดก่อนกำหนดของกลุ่มทารกที่มารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีร้อยละ 11.5 ในขณะที่กลุ่มที่มารดาไม่ติดเชื้อพบอัตราการคลอดก่อนกำหนดเพียงร้อยละ 7.9 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(10) และจากการศึกษาของ Tse แบ่งการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ และ 37 สัปดาห์ พบว่าอัตราการคลอดก่อนกำหนดที่ทั้งสองอายุครรภ์ในกลุ่มมารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ(11) นอกจากนี้ยังพบการเพิ่มขึ้นของการเกิดน้ำเดินก่อนเจ็บครรภ์คลอด การแท้ง และการตายคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(10)(12)

ในทารกหลังคลอด พบอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น, APGAR score ต่ำ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(12) และอาจเพิ่มอัตราการมีเลือดออกในสมองได้(11)สำหรับเรื่องน้ำหนักของทารกแรกคลอดมีข้อสรุปแตกต่างกันโดยจากการศึกษาของ Lao และคณะ พบทารกแรกเกิดน้ำหนักเกิน (macrosomia)ในกลุ่มมารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(13) แต่จากการศึกษาของ Safir และคณะพบทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย (growth restriction)ในกลุ่มมารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(10)

ผลกระทบของการตั้งครรภ์ต่อการดำเนินโรคในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในระหว่างตั้งครรภ์จะมีระดับไวรัสตับอักเสบบีสูงขึ้น แต่ค่าเอนไซม์ตับลดลง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดอาการกำเริบ (hepatitis flare) และตับวาย (hepatitis failure) ได้มากขึ้นโดยเฉพาะช่วงใกล้คลอดถึงหลังคลอด (9) แต่โดยทั่วไปในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการมาก่อน มักไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์

การดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีอุบัติการณ์สูง การตรวจคัดกรองในสตรีตั้งครรภ์และให้การดูแลอย่างเหมาะสมจะช่วยเป็นการลดอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีลงได้ จึงนับได้ว่าเป็นการคุ้มค่า การดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่เหมาะสม จึงขึ้นกับแต่ละสถาบัน เนื่องจากความแตกต่างด้านอุบัติการณ์ ความสามารถในการให้การรักษา โดยการตรวจคัดกรองและดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีดังนี้

ในการฝากครรภ์ครั้งแรก หญิงตั้งครรภ์ทุกรายตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) หากผลการตรวจผิดปกติ จะได้รับการตรวจ HBeAg และ liver function test และส่งปรึกษาอายุรกรรมทุกราย

Reference

  1. Rani M, Yang B, Nesbit R. Hepatitis B control by 2012 in the WHO Western Pacific Region: rationale and implications. Bull World Health Organ 2009 Sep;87(9):707-13.
  2. ชมรมโรคตับแห่งประเทศไทย. โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B). 2008.
  3. Degli ES, Shah D. Hepatitis B in pregnancy: challenges and treatment. Gastroenterol Clin North Am 2011 Jun;40(2):355-72, viii.
  4. Singh AE, Plitt SS, Osiowy C et al. factor assiciated with vaccine failure and vertical transmission of hepatitis B among a cohort of Canadian mothers and infant. J Viral Hepat. 2011; 18:468-473.
  5.  Zou H, Chen Y, Daun Z, Zhang H, Pan C. Virologic factor associated with failure to passive active immunoprophylaxis in infants born to HBsAg positive mother. J Viral Hepat. 2012;19(2):e18-e25.
  6. Degli Esposti S, et al. Hepatitis B in pregnancy : challenges and treatment. Gastroenterol clin North Am. 2011 Jun;40(2):355-72.
  7. Wang Jianshe. Effect of delivery mode on maternal-infant transmission of Hepatitis B virus by immunoprophylaxis. Chinese Medical Journal 2002 vol.115 No.10:1510-1512.
  8. Yang J et al.Elective caesarean section versus vaginal delivery for preventing mother to child transmission of Hepatitis B virus –a systematic review. Virol J 2008 Aug 28;5:100.
  9. Maternal fetal medicine : Annual report ; Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Chiang Mai University, Thailand. 2012.
  10. Safir A, Levy A, Sikuler E, Sheiner E. Maternal hepatitis B virus or hepatitis C virus carrier status as an independent risk factor for adverse perinatal outcome. Liver Int 2010 May;30(5):765-70.
  11. Medhat A, el-Sharkawy MM, Shaaban MM, Makhlouf MM, Ghaneima SE. Acute viral hepatitis in pregnancy. Int J Gynaecol Obstet 1993 Jan;40(1):25-31.
  12. Lobstein S, Faber R, Tillmann HL. Prevalence of hepatitis B among pregnant women and its impact on pregnancy and newborn complications at a tertiary hospital in the eastern part of Germany. Digestion 2011;83(1-2):76-82.
  13. Tse KY, Ho LF, Lao T. The impact of maternal HBsAg carrier status on pregnancy outcomes: a case-control study. J Hepatol 2005 Nov;43(5):771-5.
  14. Europian Association for the study of Liver. EASL clinical practice guidelines :management of chronic hepatitis B virus infection. J Hepatol.2012;57(1):167-185