ศ. นพ. อำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์

หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. 2504 – 2518

(ศ. พญ. ดวงเดือน คงศักดิ์ รักษาการแทนช่วง 2504-2507 เนื่องจาก อ. ท่านฯ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ)

Amnor-Svast Svastivatana

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์

พระประวัติ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ มีฐานันดรศักดิ์ระดับเจ้านายชั้นอนุวงศ์ เป็นพระโอรสองค์ 41 ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา, ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์) กับหม่อมเร่ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม: บุนนาค) ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2466 มีพระพี่น้องร่วมหม่อมมารดา 10 องค์ และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เสกสมรสกับหม่อมฉลวย สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม: เอกรัตน์) มีบุตร-ธิดาด้วยกันสองคน

  1. หม่อมราชวงศ์พันธุ์เทพสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
  2. หม่อมราชวงศ์จิตติพัณณา สวัสดิวัตน์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2429 พระชันษาได้ 63 ปี

การศึกษาและการทรงงาน

หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ ทรงเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทรงเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (รุ่นที่ 3 พ.ศ. 2483) ในระดับชั้นอุดมศึกษาทรงศึกษาต่อที่ โรงเรียนเตรียมแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในอีก 2 ปีต่อมา ทรงสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (ขณะนั้น) โดยทรงเป็นแพทย์ศิริราชรุ่นที่ 54 เมื่อสำเร็จการศึกษา ทรงรับราชการแพทย์เป็นเวลา 1 ปี (พ.ศ.2491-2492) ก่อนจะเสด็จไปศึกษาต่อในด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ณ เมืองดับลิน, ไอร์แลนด์ เมื่อสำเร็จการศึกษา ทรงกลับมารับราชการแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ จากนั้นเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในเป็นเวลาประมาณ 2 ปี จึงกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ในปี พ.ศ. 2507 ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2518 ต่อมาทรงลาออกจากราชการ ก่อนถึงเวลาเกษียณอายุราชการเพียงเล็กน้อย

อาจารย์ท่านฯ กับภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ โดยมีหัวหน้าภาควิชาท่านแรก คือ ศ. นพ. หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เมื่อได้รับการแต่งตั้งท่านต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการแต่งตั้ง ศ. พญ. ดวงเดือน คงศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทำหน้าที่รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชาไปก่อน (พ.ศ. 2504-2507) และมี ศ. นพ. วราวุธ สุมาวงศ์ ศ. พญ. เพ็ญแข พิทักษ์ไพรวัลย์ และ ศ. พญ. พวงเพ็ญ ริมดุสิต เดินทางมาช่วยปฏิบัติงานด้วย ร่วมกับ รศ. พญ. สุรีย์ สิมารักษ์ และ นพ. สิริพงศ์ วินิจฉัยกุล

ในปี พ.ศ. 2504 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เริ่มมีแพทย์ประจำบ้าน โดยแพทย์ประจำบ้าน 2 ท่านแรกของภาควิชา คือ รศ.นพ. กำจัด สวัสดิโอ และ ศ. พญ. พวงเพ็ญ ริมดุสิต ซึ่งในปีนั้นโรงพยาบาลมีแพทย์ประจำบ้านทั้งหมดรวม 8 ท่าน แต่ในระยะแรกแพทย์ประจำบ้านของภาควิชาฯ จะได้รับวุฒิบัตรทางด้านสูติ-นรีเวช โดยไม่ต้องมีการสอบ ส่วนการสอบวุฒิบัตร เริ่มมีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 แพทย์ที่สอบรุ่นแรกคือ ผศ.นพ. วิโรจน์ สหพงษ์ และ รศ. พญ.สังวาลย์ รักเผ่า ซึ่งเป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 7

เมื่อ ศ.นพ. หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ กลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2507 และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าภาควิชา อาจารย์ทั้ง 3 ท่านจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงเดินทางกลับ แต่ภาควิชาฯก็ได้อาจารย์เพิ่มมาใหม ่คือ ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล ซึ่งย้ายมาจากสถาบันเซนต์หลุยส์ และในปี พ.ศ. 2507 เดียวกันนี้ รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางภาควิชาก็ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ ส่ง Dr. Zelenik ซึ่งมาทำงานอยู่ที่สถาบันเซนต์หลุยส์ ให้มาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนที่ภาควิชาอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี

สร้างภาคฯสร้างคน

ขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคฯ อ.ท่านฯได้ทรงบุกเบิกก่อร่างสร้างภาควิชาในยุคที่เริ่มต้นจากศูนย์ เป็นจุดต้นกำเนิดให้เติบโตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อ.ท่านฯ เปรียบเสมือนแม่ทัพภาควิชาสูติฯยุคต้น ทำการรวบรวมสรรพกำลังขุนพลสร้างภาคฯให้เป็นปึกแผ่น เช่น อ. วราวุธ สุมาวงศ์ อ. ศุภร ศิลปิศรโกศล อ. สุรีย์ สิมารักษ์ อ. กอสิน อมาตยกุล เป็นต้น เพื่อให้บริการแก่ชุมชน และสร้างคนให้ภาคแข็งแกร่ง เช่น อ. กำจัด อ. สังวาล อ.วิโรจน์ และอีกมากมาย ด้วยความทุ่มเท อุตสาหะ ท่ามกลางความทุรกันดารของภูมิภาค ขีดจำกัดของศักยภาพโรงพยาบาล และทรัพยากรทางการแพทย์ ประวัติศาสตร์หน้านั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับอนุชนในรุ่นต่อมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ประวัติศาสตร์ในวงวิชาการ

ในยุคเริ่มต้นของภาควิชา นอกจากงานบริการทางสูติกรรม และการเรียนการสอนนักศึกษาที่เป็นงานหลัก เช่นเดียวกับทุกภาควิชาฯ แล้ว อ.ท่านฯ ทรงศึกษาค้นคว้าปัญหาเฉพาะถิ่นในยุคนั้นด้วยการรายงานผู้ป่วยน่าสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาอย่างยิ่ง amoebic vaginitis ซึ่งพบได้บ่อยในถิ่นแถบนี้

ในสมัยนั้น การคลอดส่วนมากทำโดยหมอตำแย และมีส่วนหนึ่งที่มีปัญหาการคลอดยาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ได้รับการดูแลล่าช้า การคลอดติดขัดหรือ prolonged labor มีอุบัติการณ์สูง ผลที่ตามมาพบว่ามี V-V fistula ตามหลังการคลอดสูง อ.ท่านฯ ได้ทำการผ่าตัดซ่อม V-V fistula จำนวนมาก ทั้งชนเผ่า และชาวพม่า หลายรายมีรูรั่วขนาดใหญ่มากจนต้องเย็บซ่อมแล้วซ่อมอีกหลายครั้งให้ขนาดเล็กลง ซึ่งทำการเย็บซ่อมในท่าผู้ป่วยนอนคว่ำ มีรายหนึ่งที่ต้องผ่าตัดเย็บซ่อมถึง 11 ครั้ง ถึงจะปิดสนิท ซึ่งการเย็บซ่อม VV fistula ถือเป็นหัตการที่มีชื่อเสียงมากของอ.ท่านฯ โดยมีอ.ชัยรัตน์ทำการสืบทอดการทำหัตถการนี้จากอ.ท่านฯสู่ชนรุ่นต่อมา

การคลอดอย่างยากเป็นประสบการณ์ของอาจารย์แพทย์ยุคก่อนที่พบเห็นได้บ่อยมาก ประวัติศาสตร์ของเราได้จดจำถึงอ.ท่านฯ ในการทำคลอดด้วยคีมนานาชนิด การหมุนกลับท่าเด็กที่เป็นท่าขวางให้เป็นท่าหัว หมุนกลับในมดลูก (internal podalic version) ภาพการคลอดท่าขวางที่แขนโผล่ออกมานอกช่องคลอดและอ.ท่านฯได้ทำการหมุนกลับภายในให้คลอดได้อย่างปลอดภัย ยังคงเป็นภาพติดตาที่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานโดยไม่จำเป็นต้องมีภาพบันทึกใด ๆ

อ.ท่านฯ ถือเป็นต้นตำรับของ difficult vaginal operative births เช่น การทำหัตถการทำลายเด็กที่เสียชีวิตแล้วซึ่งเกิดจากการคลอดติดขัดเป็นเวลานานที่ถูกส่งตัวมาล่าช้า การใช้ cephalotribe บีบ Simpson’s perforator เจาะ หรือการทำ decapitation ซึ่งไม่ได้เห็นกันแล้วในปัจจุบัน แต่คือทางรอดที่ปลอดภัยด้วยทักษะระดับสูง เพื่อแก้ไขปัญหาการคลอดที่เลวร้ายแบบไม่มีทางเลือกในสมัยนั้น

อีกหนึ่งความทรงจำของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์เป็นหนึ่งในคณะที่เป็นปึกแผ่น ก้าวหน้า อย่างรวดเร็วในยุคต้น อ.ท่าน นับเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของคณะมาตั้งแต่เริ่มต้น ทรงมีความตั้งใจจริงและทรงปฏิบัติงานอย่างเอาจริงเอาจัง ทรงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยามาตั้งแต่เริ่มแรก ไม่เพียงแต่ความเป็นครู และแพทย์ที่ดีเยี่ยมของชาวสวนดอกเท่านั้น ท่านยังทรงเป็นผู้ที่ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รู้จักดี โดยที่ท่านได้ทรงเป็นหัวหน้าฝ่ายพิธีการในงานรับพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีของมหาวิทยาลัยตั้งแต่แรก และได้ทรงทำหน้าที่ติดต่อกันมาหลายปี ท่านทรงรับหน้าที่ในการจัดฝึกซ้อมบัณฑิต กำหนดพิธีการต่าง ๆ ตลอดจนทรงทำหน้าที่เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาบัตรต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพระราชทานต่อบัณฑิต บัณฑิตทุกรุ่นในยุคโน้นจะจำท่านได้ดี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • 5 ธันวาคม 2498 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
  • 5 ธันวาคม 2500 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
  • 5 ธันวาคม 2510 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
  • 5 ธันวาคม 2512 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
  • 5 ธันวาคม 2518 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
  • 5 ธันวาคม 2521 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย, เหรียญจักรพรรดิมาลา
  • 5 ธันวาคม 2524 ประถมาภรณ์ช้างเผือก

ที่มาของข้อมูล

ม.ร.ว. จิตติพัณณา สวัสดิวัตน์
งานบริการงานบุคคล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คำบอกเล่าจากภาพความทรงจำของอาจารย์อาวุโส และเอกสารเก่า ๆ ในภาควิชาฯ