ประธานราชวิทยาลัยฯ

อ.วิบูลพรรณ ประธานราชวิทยาลัยสูติฯคนใหม่

ประธานราชวิทยาลัยฯผลการนับคะแนนเลือกตั้งคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย วาระ พ.ศ. 2556-2558 ตำแหน่งประธานได้แก่ ศ.คลินิก พ.ญ. วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ผู้รั้งตำแหน่งประธานฯ ศ.น.พ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ สำหรับกรรมการกลางราชวิทยาลัย จำนวน 14 ท่าน นั้น จากเชียงใหม่ของเรา ได้แก่ ศ.น.พ. จตุพล ศรีสมบูรณ์ ซึ่งได้รับเสียงสูงสุดในการลงคะแนนครั้งนี้คือ 661 เสียง (รองลงมาเป็น ร.ศ. น.พ. วิทยา ถิฐาพันธ์ จากศิริราช 552 เสียง) เป็นที่น่าสังเกตว่า อ.จตุพล ได้รับคะแนนสูงสุดมาสองครั้งติดกันแล้ว

Read More

กรี๊ด…great!!! หนังสือใหม่ของภาควิชา

ขอแสดงความชื่นชมหนังสือใหม่ของภาควิชาโดยอ.แป้ง หนังสือเรื่อง ทารกบวมน้ำ (hydrops fetalis) ของอาจารย์แป้งออกแล้ว พิมพ์อย่างดีสวยงามมาก เหมาะมากสำหรับ fellow MFM ได้รวบรวมองค์ความรู้ตามแนว hydrops แห่งโลกตะวันออกไว้อย่างครบถ้วน กลั่นจากความรู้ทั่วโลกและการศึกษาของเรามากมาย พร้อม CD ที่มีวิดีโอ hydrops ประกอบมากมาย

คำนำจากหัวหน้าภาค

ทารกบวมนํ้าเป็นปัญหาสำคัญทางสูติกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบวมที่เกิดจากโรคฮีโมโกลบินบาร์ท ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งบางภูมิภาค อาจพบได้สูงถึงร้อยละ 14 ของประชากร และเป็นสาเหตุของภาวะทารกบวมนํ้าที่บ่อยที่สุด คือร้อยละ 80-90 ของทารกบวมนํ้าทั้งหมด การตั้งครรภ์ที่มีภาวะทารกบวมนํ้าจากฮีโมโกลบินบาร์ทนั้นเป็นการตั้งครรภ์ที่สูญเปล่า อันนับเป็นโศกนาฎกรรมทางสูติศาสตร์ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างแถบภาคเหนือ เนื่องจากการตั้งครรภ์เหล่านี้นอกจากไม่ได้บุตรที่มีชีวิตรอดแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในมารดาด้วย เช่น 1) ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ (preeclampsia) ซึ่งมักจะเกิดเร็วและรุนแรงกว่ากว่าทั่วไป เชื่อว่าถ้าปล่อยให้อายุครรภ์มากขึ้นจะเกิดภาวะนี้ทุกราย 2) คลอดยาก เนื่องจากทารกตัวโตจากการบวมนํ้า ทำให้เพิ่มหัตถการในการช่วยคลอดอย่างยาก เช่น การช่วยคลอดด้วยคีมอย่างยาก ผ่าตัดทำคลอดทางหน้าท้องทั้ง ๆ ที่ทารกไม่ได้เลี้ยง 3) เพิ่มอุบัติการณ์การตกเลือดหลังคลอด (ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการตายของมารดา) เนื่องจากรกมีขนาดใหญ่มาก และประการสำคัญที่สุดคือผลเสียต่อสุขภาพจิตของมารดาและบิดาที่ต้องรอคอยการตั้งครรภ์ที่สูญเปล่า และยังคงมีความเสี่ยงในครรภ์ต่อไปอีก อย่างไรก็ตามยังมีภาวะบวมนํ้าจากอีกหลายสาเหตุบางอย่างก็สามารถมีชีวิตรอดได้อย่างสมบูรณ์หากได้รับการดูแลที่เหมาะสม

ปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ทารกบวมนํ้าจากฮีโมโกลบินบาร์ทไม่ได้รับการวินิจฉัยก่อนคลอดด้วยวิธีการตรวจเลือดทารก หรือวิธีการอื่น ๆ รวมทั้งไม่ได้รับการวินิจฉัยแม้แต่ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในระยะแรก ๆ ทั้งที่ปัจจุบันนี้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงมีใช้แพร่หลายในประเทศไทย แต่ประสบการณ์ในการวินิจฉัยภาวะทารกบวมนํ้าด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงนับว่ายังมีขีดจำกัดมาก จากเหตุผลสำคัญคือคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถวินิจฉัยภาวะทารกบวมนํ้าได้เร็วกว่าที่เคยเข้าใจกันมาในอดีต เป็นเทคนิคการวินิจฉัยที่ไม่เจ็บตัว (non-invasive) ไม่เพิ่มความเสี่ยงใด ๆ แก่ทารกและมารดา และเป็นเทคนิคราคาถูกที่มีใช้ทั่วไป จึงนับว่าการเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะของผู้ตรวจจะช่วยให้ภาวะทารกบวมนํ้าจากฮีโมโกลบินบาร์ทได้รับการวินิจฉัยเร็วขึ้น เป็นที่น่าชื่นชมและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อาจารย์แพทย์หญิงเกษมศรี ได้ทำการทบทวนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งในการศึกษาทั่วโลกเกี่ยวกับทารกบวมนํ้า และนำมาเสนอในรูปแบบที่ประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับเวชปฏิบัติในประเทศไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตำราเล่มนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ที่มีทารกบวมนํ้า

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชเนนทร์ วนาภิรักษ์
หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
20 เมษายน 2555

Read More