Medical Ethics in OB-GYN

 พนารัตน์ สิริคุณาลัย


 

บทนำ 

จริยธรรมวิชาชีพแพทย์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้วิชาชีพสามารถดำรงอยู่ในศรัทธาของประชาชนได้ จริยธรรมวิชาชีพแพทย์จึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่สูติ-นรีแพทย์ควรยึดถือเป็นหลักในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาการถูกฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดูแลที่อาจต่ำกว่ามาตรฐานอันเป็นผลจากตัวแพทย์เอง ระบบการให้บริการที่มีข้อจำกัด หรือการประกอบวิชาชีพที่คำนึงถึงการถูกฟ้องร้องมากกว่าจะคำนึงถึงปัญหาทางจริยธรรม ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยแนวปฏิบัติทางด้านจริยธรรมเพราะเป็นเกราะช่วยป้องกันปัญหาการฟ้องร้องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ส่งผลให้ผู้ที่ยึดมั่นในจริยธรรมประกอบวิชาชีพได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพสูงตลอดไป

ความหมาย 

จริยธรรม  หมายถึง  ธรรมที่เป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติ , ศีลธรรม , กฎศีลธรรม(1)  ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “ethic” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า “ethos” ในภาษากรีกซึ่งมีความหมายว่า ข้อกำหนดหรือหลักการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง(2)

วิชาชีพ  ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า  “profession” ซึ่งมีความหมายว่า อาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ(1)  จึงต่างจากอาชีพ (career, occupation) ตรงที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเป็นพิเศษจนมีความรู้ความชำนาญในระดับสูง ดังนั้นบุคคลสามัญทั่วไปที่ประกอบอาชีพปกติจึงไม่นับว่าเป็นวิชาชีพ คำว่า “วิชาชีพ” มีความหมายในตัวว่าต้องใช้ “วิชา” เพื่อเลี้ยงชีพ และต้องมีเกณฑ์พิจารณาอื่น ๆ เช่น  มีความจงรักภักดี  มีความผูกพันต่อวิชาชีพ และมีการอุทิศตนที่จะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม มีการจัดตั้งสมาคม หรือองค์กรแห่งวิชาชีพเพื่อควบคุมดูแลสมาชิกและมีการออกกฎหมายรับรองสถานภาพของวิชาชีพ(3)

จริยธรรมวิชาชีพแพทย์ จึงหมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพกำหนดขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ จริยธรรมเป็นหลักแนวทางปฏิบัติที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายบังคับให้ผู้ถือจริยธรรมนั้นปฏิบัติตาม แต่เป็นสิ่งที่ควบคุมตนเอง เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ต้องผ่านการอบรมฝึกฝนจนมีความรู้ความชำนาญที่สูงเกินกว่าประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ และมีความรู้พอที่จะตรวจสอบได้  ฉะนั้นหากแพทย์ประกอบวิชาชีพผิดจากมาตรฐาน หรือหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากการประกอบอาชีพจนเกิดความเสียหายต่อประชาชน ก็จะเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพ ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างแนวทาง หรือหลักปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1) เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ยึดถือและปฏิบัติตาม

2) เพื่อให้วิชาชีพดำรงไว้ซึ่งการยอมรับนับถือจากสังคม

3) เพื่อผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ(3)

หลักจริยธรรมวิชาชีพแพทย์(4,5)

การดูแลรักษาผู้ป่วยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพในทุกกรณีจะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด   หลักสำคัญของจริยธรรม 6 ประการ มีดังนี้

1) หลักประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย (Beneficence)

2) หลักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย (Non-maleficence)

3) หลักเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย (Autonomy)

4) หลักความเป็นธรรม (Justice)

5) หลักการรักษาความลับของผู้ป่วย (Confidentiality)

6) หลักความซื่อสัตย์ (Fidelity)

                1. หลักประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย (Beneficence) คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดผลดี  ผู้ประกอบวิชาชีพพึงกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย จะต้องจริงใจต่อผู้ป่วย ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ  ผู้ป่วยไม่ควรถูกสอบถามในเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ไม่ควรได้รับการรักษาที่เกินความจำเป็น จะต้องรักษาความเจ็บป่วยทางกาย จิตใจ สังคมและทำให้เกิดความสุขภาวะของผู้ป่วย   แพทย์ต้องเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องที่คิดว่าตนเองมีความรู้มากกว่าผู้ป่วย

2. หลักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย (Non-maleficence) คือ การลดความเสี่ยง อันตรายต่าง ๆ  สิ่งที่จะดำเนินการจะต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ทั้งทางกายหรือจิตใจ  จะต้องจริงใจต่อผู้ป่วย การโกหกผู้ป่วยหรือบอกความจริงไม่ครบถ้วนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้  การดูแลรักษาด้วยวิธีการใด ๆ จะต้องพิจารณาประโยชน์เปรียบเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย ควรรักษาผู้ป่วยต่อไปก็ต่อเมื่อมีโอกาสสูงที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการอาการดีขึ้น และก่อให้เกิดผลข้างเคียงไม่มากนัก  จะต้องลดผลกระทบต่างๆให้น้อยที่สุด

3. หลักเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย (Autonomy) คือ การยอมรับสิทธิผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งถือเป็นการยืนยันเจตนาของผู้ป่วย  การรักษาจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยเพื่อขอความความยินยอม (informed consent) ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาต่าง ๆ ด้วยตนเอง ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะรับทราบข้อมูลที่จำเป็นและครบถ้วนเพื่อการตัดสินใจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมีหน้าที่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้องเมื่อผู้ป่วยร้องขอ หลักการในข้อนี้ใช้กับการรักษาผู้ป่วยและการเลือกสถานที่ให้การรักษา  และผู้ที่จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วย

4. หลักความเป็นธรรม (Justice) คือ การจัดหาบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันตามความจำเป็นโดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ ชนชั้นทางสังคม ความเชื่อทางศาสนา หรือสีผิว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่าการให้บริการสุขภาพทั่วโลกยังมีปัญหาในเรื่องความเป็นธรรม การรักษาหลายกรณีจำกัดเฉพาะกลุ่มคนรวย หรือผู้ที่มีอำนาจ มีอิทธิพล หรือผู้ที่สามารถเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่าผู้อื่น

5. การรักษาความลับของผู้ป่วย (confidentiality) ในส่วนนี้มีความจำเป็นมาก เพราะผู้ป่วยมอบความไว้วางใจเล่าอาการและประวัติความเป็นมาต่าง ๆ ให้แพทย์ได้ทราบ ดังนั้น แพทย์จึงควรระมัดระวังในการนำข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยไปบอกเล่าให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียมาถึงผู้ป่วย ยกเว้นจะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

6. หลักความซื่อสัตย์ (fidelity) แพทย์จะต้องไม่พูดปดหรือโกหกผู้ป่วย หรือพูดจาให้ผู้ป่วยหลงผิด ไม่ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ยึดมั่นในภาระหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบอย่างเคร่งครัดทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม และไม่ประพฤติปฏิบัติผิดระเบียบหรือข้อบังคับของสังคม ไม่อวดอ้างความสามารถของตนเกินความจริง  ไม่รับความดีความชอบโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำ  และยอมรับความจริงเมื่อผิดพลาดหรือกระทำความผิด

ปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมทางสูติ-นรีเวชในปัจจุบัน(3,4)

                1. ปัญหาเกี่ยวกับค่าตอบแทนและสินบน

ในปัจจุบันสังคมมีความรู้สึกว่าค่าตอบแทนทางการแพทย์สูงเกินสมควร ถึงแม้ว่าไม่มีการเรียกร้องเงินโดยตรง แต่ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนไม่มีทางเลือกโดยที่ถ้าไม่จ่ายเงินก็อาจไม่ได้รับบริการที่ดี แพทย์ในปัจจุบันมักได้ประโยชน์จากบริษัทเวชภัณฑ์หรือยา อาจเป็นรูปของของขวัญเล็กน้อย การสนับสนุนให้เข้าร่วมประชุมหรือฝึกอบรมทางวิชาการ หรือบางทีอาจได้รับเงินเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาเวชภัณฑ์ที่สั่งมาใช้ในโรงพยาบาล เป็นที่ยอมรับกันว่าบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ดังกล่าวก็จะผลักภาระมาให้ประชาชนต้องซื้อยาที่แพงขึ้น เสียค่าตรวจรักษาที่แพงขึ้นเนื่องจากเครื่องมือแพทย์มีราคาแพง ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าของขวัญและผลประโยชน์เหล่านี้แพทย์รับได้หรือไม่ ถ้ารับได้จะต้องมีเงื่อนไขอย่างไร ถ้ารับไม่ได้เลยจะมีผลทำให้ราคาถูกลงหรือไม่ ในสภาพความเป็นจริงคงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ โดยดูจากเจตนาทั้งของผู้ให้และผู้รับและดูว่าเกิดผลกระทบที่เกิดกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพหรือไม่

2. ปัญหาสิทธิผู้ป่วยและการให้ความยินยอม

สิทธิของผู้ป่วยเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่อาจถูกเพิกถอนได้ แต่ปัญหาคือผู้ป่วยอาจไม่ตระหนักหรือไม่ทราบถึงสิทธิของตนเอง ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะรับหรือไม่รับการดูแลรักษาจากแพทย์คนหนึ่ง ๆ ได้มีสิทธิที่จะรู้และได้รับการอธิบายให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคของตนเองและแนวทางการรักษา มีสิทธิที่จะรักษาความลับเรื่องการเจ็บป่วยของตนเอง รวมทั้งมีสิทธิที่จะเลือกวิธีการรักษารวมทั้งเลือกที่จะร่วมหรือไม่ร่วมในโครงการวิจัยต่าง ๆ ได้ ในปัจจุบันในการที่จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแพทย์จะให้ผู้ป่วยเซ็นใบยินยอม (informed consent) ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยต้องได้รับคำอธิบายพอเพียงจนเข้าใจขึ้นตอนต่าง ๆ ประโยชน์และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรักษา ตลอดจนแผนการรักษาหากว่าเป็นโรคเรื้อรัง และถ้าหากว่าจะต้องรับการผ่าตัดก็ต้องได้รับการอธิบายถึงรายละเอียดของการผ่าตัดตลอดจนผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

3. ปัญหาเกี่ยวกับโรคเอดส์

โรคเอดส์เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ และได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคเอดส์อยู่เสมอจนเกิดเป็นปัญหาทางจริยธรรมขึ้นหลายประเด็นเช่น แพทย์อาจเปลี่ยนแผนการรักษาหากทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ อาจมีการยกเลิกการผ่าตัด หรือมีการปฏิเสธการรักษา  การรักษาความลับของผู้ป่วยในบางกรณีผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่ต้องการให้แพทย์บอกความจริงแก่คู่สมรส  ในกรณีนี้แพทย์จะต้องตัดสินใจว่าจะเคารพสิทธิของผู้ป่วยโดยการไม่บอกความจริง  แต่ถ้าทำเช่นนี้ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิของคู่สมรสของผู้ป่วย  ซึ่งก็มีสิทธิที่จะรับรู้ความจริงเนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

4. ปัญหาการทำแท้ง

การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ทารกมีความผิดปกติ หรือพิการอย่างรุนแรงก็เป็นประเด็นทางจริยธรรมที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คำจำกัดความของความผิดปกติที่รุนแรงได้แก่  ทารกมักไม่รอดชีวิตหลังคลอด และถึงแม้ได้รับการรักษาก็ยังมีความพิการทางกายหรือทางจิตอย่างรุนแรง  หากวินิจฉัยได้ก่อนคลอดก็จะนำไปสู่การทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง  ซึ่งทำได้ในประเทศที่กฎหมายรับรอง  จริยธรรมในเรื่องนี้คือมุมมองของบิดาและมารดา  ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมในสังคม กรอบของจริยธรรม  และสถานะทางจริยธรรมที่เป็นพื้นฐานของคู่สมรส  การให้คำปรึกษาก่อนการคัดกรองเป็นหัวใจสำคัญ  บทบาทของสูติแพทย์คือการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน  อันได้แก่  คุณภาพชีวิตและโอกาสที่ทารกจะมีชีวิตยืนยาว  ผลกระทบต่อมารดาและครอบครัว  ผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาหากทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง  และการดูแลทารกที่เกิดมาในระยะยาว  ทั้งหมดนี้ต้องทำโดยปราศจากอคติ  และจะถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมอย่างยิ่งที่จะกดดันให้คู่สมรสยอมรับที่จะทำตามข้อเสนอของแพทย์  หากเกิดความขัดแย้งบิดาและมารดา  จะถือการตัดสินใจของมารดาเป็นหลัก  หากจะทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม  หลีกเลี่ยงการเผชิญกับสถานการณ์ทารกพิการ  ไม่ครบกำหนด  แต่ยังมีชีวิตอยู่  หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสูติแพทย์คือยืนยัน  และบันทึกความผิดปกติของทารกหลังคลอด  เพื่อใช้ในการให้ข้อมูลแก่คู่สมรสหลังการตั้งครรภ์สิ้นสุดลง

การทำแท้งโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นประเด็นจริยธรรมทั้งในระดับชาติและระดับบุคคล  แต่ความเป็นจริงก็คือ  การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นสาเหตุการตายของมารดาที่สำคัญ  ซึ่งมักเกิดขึ้นในประเทศที่เข้มงวดกับการทำแท้ง  หรือในประเทศที่การสาธารณสุขยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่  ในประเทศที่อนุญาตให้มีการทำแท้งด้วยข้อบ่งชี้ที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์  จะให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของมารดาเป็นหลัก  แต่ต้องไม่ทำเป็นธุรกิจและต้องไม่ใช่เป็นการคุมกำเนิด

5. ปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ความก้าวหน้าในด้านการปฏิสนธินอกร่างกายและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ ทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น  การใช้ donor สำหรับ sperm และ ovum ตลอดจนการใช้ surrogate mother ซึ่งทำให้มีปัญหาการฟ้องร้องเพื่อให้ได้สิทธิพ่อแม่เด็ก  ปัญหาสิทธิของทายาท ตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้ถ้าสามีภรรยาที่เป็นพ่อแม่เสียชีวิต  ตัวอ่อนนั้นจะมีสิทธิเป็นทายาทรับมรดกได้หรือไม่  หรือปัญหาการทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์  ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาล อาจมีนักธุรกิจดำเนินการคัดเลือกนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีรูปร่างหน้าตาดีไว้เพื่อทำหน้าที่เป็น donor ของ sperm หรือ ovum ตาม order ของลูกค้า

6. ปัญหาเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

การดูแลการตั้งครรภ์ที่มีแนวโน้มคลอดก่อนกำหนด ก็เป็นประเด็นความขัดแย้งทางจริยธรรมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง  ทารกอายุครรภ์ระหว่าง 22-28  สัปดาห์มีความก้ำกึ่งที่จะมีชีวิตรอด  ทารกเหล่านี้มีโอกาสเสียชีวิตสูง  หรือมิฉะนั้นก็จะมีความพิการรุนแรงเหลืออยู่  ทีมผู้รักษาและบิดามารดาจึงควรหารือกัน  เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมกับทารกในครรภ์  เช่นวิธีการคลอด  การดูแลหลังคลอด  สูติแพทย์มีหน้าที่ประคับประคองจิตใจของบิดามารดาเพื่อลดความเครียด  หรือความรู้สึกผิดที่อาจเกิดขึ้น  ทารกที่เปราะบางควรได้รับความเคารพ  ได้รับการดูแลอย่างทะนุถนอม  และดำรงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  โดยเฉพาะเมื่อจะหยุดการรักษาเพื่อยื้อชีวิต

7. ปัญหาการผ่าตัดคลอด

อัตราการผ่าท้องคลอดเพิ่มสูงขึ้น  เนื่องจากความเชื่อที่ผิดของสตรีตั้งครรภ์  และหลักการที่ไม่ถูกต้องของสูติแพทย์  การดูแลผู้ป่วยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก  และการทำหัตถการใด ๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าจะมีประโยชน์อย่างชัดเจน  เช่นการผ่าท้องคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์  ก็ควรจะหลีกเลี่ยง  สูติแพทย์ควรชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจในประเด็นนี้  ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์การคลอดทางช่องคลอดแม่และเด็กจะมีความปลอดภัยมากกว่าการผ่าท้องคลอด  ดังนั้นในกรณีนี้หลักการของความปลอดภัยของผู้ป่วยจะมีความสำคัญมากกว่าความประสงค์ของผู้ป่วยที่มาจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง  และยิ่งจะเป็นการผิดจริยธรรมยิ่งขึ้นหากมีเรื่องผลประโยชน์ค่าตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

8. ปัญหาการดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังอาจแสดงความจำนงที่จะไม่รับการช่วยชีวิตใด ๆ รวมทั้งปฏิเสธการใช้เครื่องมือยืดชีวิต  ในกรณีนี้หากแพทย์ปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วยจะถือเป็นการผิดจริยธรรมหรือไม่  ในกรณีผู้ป่วยสมองตายและมีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจ  ถ้าญาติต้องการให้แพทย์ถอดเครื่องมือยืดชีวิตออก  แพทย์จะทำได้หรือไม่  และถ้าผู้ป่วยใกล้ตายขอให้แพทย์ยุติชีวิตของตนเพื่อจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานแพทย์จะทำได้หรือไม่  ในประเทศสหรัฐอเมริกา  ในบางรัฐมีการให้ผู้ป่วยใกล้ตายแสดงเจตนาได้ว่าจะไม่ยอมรับการช่วยชีวิตหรือเครื่องมือยืดชีวิต  เรียกว่า passive euthanasia  แต่การช่วยให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตายหรือ active euthanasia  นั้นยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่

สรุป

เนื่องจากสภาพสังคมวัตถุนิยมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้แพทย์มีแนวโน้มที่จะประกอบวิชาชีพโดยมุ่งแสวงหาทรัพย์สินเงินทองจนบางคนอาจขาดจริยธรรม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย  และหากแพทย์จำนวนมากละทิ้งจริยธรรมแห่งวิชาชีพ  ประกอบวิชาชีพตามอำเภอใจไร้มาตรฐาน ประชาชนก็จะเคลือบแคลงสงสัยในการประกอบวิชาชีพของแพทย์ ก่อให้เกิดการฟ้องร้องกันอย่างมากมาย ในที่สุดวิชาชีพแพทย์จะเสื่อมไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีอีกต่อไป

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 เอกสารอ้างอิง

  1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด; 2525. 217;754.
  2. The Advanced Learner’s Dictionary of Current English. London: Oxford University Press; 1968. 336;773.
  3. สัญญา ภัทราชัย. จริยธรรมวิชาชีพแพทย์. ใน: เสวก วีระเกียรติ. ตำรานรีเวชวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี; 2551. 64-74.
  4. สายบัว ชี้เจริญ. จริยธรรมในเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์. ใน: เยื้อน ตันนิรันดร. เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์. กรุงเทพมหานคร: ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย; 2551. 518-27.
  5. ศุภชัย คณารัตนพฤกษ์. สิทธิผู้ป่วย. ใน: สุขิต เผ่าสวัสดิ์, เยื้อน ตันนิรันดร, ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์, เฮ็นรี่ ไวลด์. จริยธรรมในเวชปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2543. 24-33.