ความผิดปกติทางจิตเวชในหญิงตั้งครรภ์

ความผิดปกติทางจิตเวชในหญิงตั้งครรภ์ (Psychiatric Disorders in pregnancy)

พญ. ณัฐนิภา ภารพบ
อาจารย์ที่ปรึกษา อ.พญ. ศิรินาถ ศิริเลิศ
อ.พญ.ณันน์ทพร การเวกปัญญาวงศ์ (ภาควิชาจิตเวชศาสตร์)


การตั้งครรภ์และระยะหลังคลอดเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจและน่ายินดีกับหญิงตั้งครรภ์และครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดในหญิงตั้งครรภ์จนกระตุ้นในเกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจได้ในที่สุด โดยทำให้เกิดได้ทั้งการกลับเป็นซ้ำของโรคเดิมและการดำเนินโรคใหม่ จากการศึกษาพบว่าความผิดปกติทางจิตเวชระหว่างตั้งครรภ์สัมพันธ์กับการดูแลก่อนคลอดที่ไม่เพียงพอ การใช้สารเสพติด ผลลัพธ์ของการคลอดและทารกที่ไม่ดี ส่งผลให้อัตราการเกิดความผิดปกติทางจิตหลังคลอดได้ (1)

การเปลี่ยนแปลงสภาวะจิตใจจากการตั้งครรภ์ (Psychological adjustment to pregnancy)

ปัจจัยทางชีวเคมีและความเครียดมีผลต่อสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์ทั้งช่วงระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด เพิ่มโอกาสการเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorders) ได้ พบว่าความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศและสารสื่อประสาท การเปลี่ยนแปลงของ hypothalamic-pituitary-adrenal axis (HPA axis) การเปลี่ยนแปลงการทำงานของต่อมไทรอยด์ และการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน (2)

พบว่าระดับความเครียดที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในสตรีที่ตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง เช่น ทารกมีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติ สตรีที่เจ็บครรภ์คลอดหรือคลอดก่อนกำหนด และการตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางอายุรศาสตร์ร่วมด้วย

การตอบสนองต่อความเครียดระหว่างตั้งครรภ์สามารถแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ เช่น ความวิตกกังวล ความผิดปกติด้านการนอน ความบกพร่องในการทำงาน (3)

ในช่วงหลังคลอด สตรีตั้งครรภ์มักจะมีความเครียดสูงขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติทางจิตและอารมณ์ได้สูงขึ้น มีการศึกษาพบว่ากว่าร้อยละ15 ของสตรีหลังคลอดเกิดภาวะซึมเศร้าได้ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลังคลอด และบางส่วนเกิดอาการในกลุ่มจิตเภท (Psychotic illness) และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) พบว่าในการตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ ทารกโตช้าในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และความคาดหวังของครอบครัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ (4, 5)

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Maternity Blues or Postpartum Blues)

ช่วงหลังคลอดเป็นช่วงที่สตรีจะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ค่อนข้างมาก กว่าครึ่งของสตรีหลังคลอดจะมีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ซึ่งเกิดขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์หลังคลอด พบว่ามักมีอาการมากที่สุดในวันที่ 4-5 หลังคลอด และกลับเป็นปกติในวันที่ 10 หลังคลอด (6)

สตรีหลังคลอดที่มีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดมักมีอารมณ์ที่อ่อนไหว ไม่คงที่ ทำให้มีอาการผิดปกติได้แก่ นอนไม่หลับ เบื่อหน่าย เหนื่อยล้า ซึมเศร้า วิตกกังวล ขาดสมาธิ หงุดหงิด

ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การดูแลรักษาหลักจึงเป็นเพียงการให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ กับหญิงตั้งครรภ์และครอบครัว แต่ควรมีการติดตามอาการต่อ เพื่อป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางจิตอื่น

การประเมินและคัดกรองภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ (Perinatal evaluation and screening)

ตามคำแนะนำของสมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา(The American College of Obstetricians and Gynecologists : ACOG) ในปีค.ศ.2016 และคณะทำงานพิเศษเพื่อการป้องกันโรคในประเทศสหรัฐอเมริกา(the United States Preventive Services Task Force : USPSTF) แนะนำให้คัดกรองภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลในช่วงตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง (7)

ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ประเมินและคัดกรองภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่

  1. Patient health questionnaire 9 (PHQ-9)

Table Description automatically generated

(ที่มา: https://www.icsi.org/guideline/depression/appendix-a-patient-health-questionnaire-phq-9/)

การแปลผล: ประเมินจากคะแนนรวม

  • 0-4: ไม่มีภาวะซึมเศร้า
  • 5-9: มีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย
  • 10-14: มีภาวะซึมเศร้าปานกลาง
  • 15-19: มีภาวะซึมเศร้ามาก
  • 20-27: มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง

การให้คะแนน:

  • ไม่มีอาการเลย = 0
  • มีอาการเป็นบางวัน (1-7 วัน) = 1
  • มีอาการบ่อย (มากกว่า 7วัน) = 2
  • มีอาการทุกวัน = 3

ในปัจจุบันประเทศไทยได้นำ Patient health questionnaire 9 (PHQ-9) มาใช้ในการคัดกรองภาวะ

ซึมเศร้า และได้ปรับใช้เป็น PHQ-9 Thai โดยมีการศึกษา (8) พบว่ามีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือเพียงพอสำหรับใช้ในการคัดกรองภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมทั้งวันนี้
ท่านมีอาการเหล่านี้บ่อยแค่ไหน
ไม่มีเลย เป็นบางวัน 1-7 วัน เป็นบ่อย
> 7 วัน
เป็นทุกวัน
  1. เบื่อ ไม่สนใจอยากทำอะไร
0 1 2 3
  1. ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้
0 1 2 3
  1. หลับยากหรือหลับๆตื่นๆหรือหลับมากไป
0 1 2 3
  1. เหนื่อยง่ายหรือไม่ค่อยมีแรง
0 1 2 3
  1. เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป
0 1 2 3
  1. รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลวหรือเป็นคนทำให้ตัวเองหรือครอบครัวผิดหวัง
0 1 2 3
  1. สมาธิไม่ดีเวลาทำอะไร เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรืองานที่ต้องใช้ความตั้งใจ
0 1 2 3
  1. พูดช้า ทำอะไรช้าลงจนคนอื่นสังเกตเห็นได้ หรือกระสับกระส่าย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้เหมือนที่เคยเป็น
0 1 2 3
  1. คิดทำร้ายตนเองหรือคิดว่าถ้าตายๆไปเสียคงจะดี
0 1 2 3

การแปลผล: สงสัยภาวะซึมเศร้าหากมีคะแนนรวมตั้งแต่ 9 คะแนนขึ้นไป

Edinburgh postnatal depression scale (EPDS)

A close-up of a document Description automatically generated with medium confidence

(ที่มา : https://www.sadag.org/images/brochures/edinburghscale.pdf)

การให้คะแนน:

  • คำถามที่ 1, 2 และ 4 : คะแนน 0, 1, 2, 3 โดยเรียงจากคำตอบแรกไปยังคำตอบสุดท้าย
  • คำถามที่ 3, และ 5-10 : คะแนน 3, 2, 1, 0 โดยเรียงจากคำตอบแรกไปยังคำตอบสุดท้าย

การแปลผล: สงสัยภาวะซึมเศร้าหากมีคะแนนรวมตั้งแต่ 10 คะแนนขึ้นไป

  1. Table Description automatically generatedCenter for epidemiological studies depression scale (CES-D)

(ที่มา: https://medworksmedia.com/product/center-for-epidemiologic-studies-depression-scale-ces-d-nimh/)

การแปลผล: สงสัยภาวะซึมเศร้าหากมีคะแนนรวมตั้งแต่ 16 คะแนนขึ้นไป

แนะนำให้ใช้ประเมินใช้เครื่องมือเหล่านี้ประเมินภาวะซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์ โดยสามารถใช้ได้ทั้งในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด เนื่องจากการประเมินจากอาการและความเสี่ยงอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ในช่วงหลังคลอด อาจใช้การประเมินด้วยวิธีอื่นร่วม ได้แก่ การเยี่ยมบ้านหลังคลอด การโทรศัพท์พูดคุยให้กำลังใจ การทำจิตบำบัด(psychotherapy)

โรคทางจิตเวช (Psychiatric disorders)

  1. กลุ่มโรคจิตเภท (Schizophrenia spectrum disorders)โรคจิตเภทคือหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่เกิดได้จากความผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติทางความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม และอาจเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน พบว่ายิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วย โอกาสเกิดโรคจะสูงขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการป่วยในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

เกณฑ์การวินิจฉัยตามเกณฑ์ DSM-5 (9)คือ

  1. มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อาการขึ้นไปนานอย่างน้อย 1 เดือน โดยต้องมีอาการในข้อ 1-3 อย่างน้อย 1 อาการ
  2. หลงผิด (delusion)
  3. ประสาทหลอน (hallucination)
  4. พูดอย่างไม่มีระเบียบแบบแผน (disorganized speech)
  5. มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นแบบแผน การเคลื่อนไหวมากหรือน้อยเกินไป (disorganized behaviors)
  6. อาการด้านลบ เช่น อารมณ์เฉยเมย ขาดความสนใจ (negative symptoms)
  7. ระดับความสามารถในด้านต่างๆ เช่น การทำงาน สัมพันธภาพกับผู้อื่น ลดลงอย่างชัดเจน
  8. อาการทั้งหมดรวมช่วง active phase ตามข้อ A และช่วง prodromal หรือ residual phase ต้องมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน

สำหรับโรคจิตเภทต่อการตั้งครรภ์นั้นพบว่าไม่ได้ส่งผลต่อมารดาขณะตั้งครรภ์ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ทารกน้ำหนักตัวน้อย และการคลอดก่อนกำหนดได้ (10)

ภาวะโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) หมายถึงอาการของโรคจิต (psychotic symptoms) ได้แก่ ความคิดหลงผิด ประสาทหลอน พฤติกรรมแปลกไปจากปกติ อารมณ์เรียบเฉย เคลื่อนไหวช้าลง ที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์หรือหลังคลอด โดยอาจเกิดจากโรคจิตเภท หรือโรคความผิดปกติทางอารมณ์เช่น โรคอารมณ์สองขั้ว หรือภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงได้ โดยภาวะโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) ที่เป็นผลจากโรคความผิดปกติทางอารมณ์มักแสดงอาการภายในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีภาวะโรคจิตหลังคลอดจะมีอาการเป็นซ้ำได้ในครรภ์ถัดไป หรืออาจเกิดเป็นโรคอารมณ์สองขั้วต่อไปในอนาคตได้

การดูแลรักษา

ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคจิตเภทเดิม แนะนำให้ใช้ยารักษาต่อเนื่อง เนื่องจากโรคมีโอกาสเป็นซ้ำได้สูงสำหรับยารักษาโรคจิตมีทั้งยารักษาโรคจิตกลุ่มดั้งเดิม (conventional/typical antipsychotic drug) เช่นchlorpromazine, fluphenazine, haloperidol และยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ (atypical antipsychotic drug) เช่น aripiprazole, clozapine, olanzapine, risperidone ซึ่งยาในกลุ่มแรกนั้นไม่มีผลต่อมารดาและทารกในครรภ์ แต่สำหรับในยากลุ่มที่สอง สมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (The American College of Obstetricians and Gynecologists : ACOG) แนะนำให้ใช้อย่างระมัดระวังในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตรเนื่องจากอาจมีผลต่อทารกได้

โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder: MDD)

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย มีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ปัจจัยกระตุ้นเกิดได้จากเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้เกิดความเครียด ความเศร้าโศกเสียใจ ความเจ็บป่วยทางกาย หรือการใช้สารเสพติด

ตัวอย่างอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะซึมเศร้า ได้แก่ นอนไม่หลับ นอนหลับๆตื่นๆ อ่อนเพลีย เบื่อหน่าย เบื่ออาหาร หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ เครียด หงุดหงิดง่าย โดยไม่มีช่วงฟุ้งพล่าน (mania episode)

เกณฑ์การวินิจฉัยตามเกณฑ์ DSM-5 (9) คือ มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 อาการร่วมกันนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยมีอาการอย่างน้อย 1 ข้อของ (1) อารมณ์ซึมเศร้า หรือ (2) เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข

  1. มีอารมณ์ซึมเศร้าเกือบทั้งวัน เกือบทุกวัน
  2. ความสนใจหรือความสุขใจในกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดลดลงอย่างมากเกือบทั้งวัน เกือบทุกวัน
  3. น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้คุมอาหารหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารเกือบทุกวัน
  4. นอนไม่หลับหรือหลับมากไปเกือบทุกวัน
  5. กระวนกระวายหรือเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติเกือบทุกวัน
  6. อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรงเกือบทุกวัน
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสม
  8. สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลง หรือตัดสินใจไม่ได้เกือบทุกวัน
  9. คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ หรือพยายามฆ่าตัวตายหรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน

โดยอาการเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์อย่างมาก ทำให้กิจกรรมด้านสังคม การงาน และอาการไม่ได้

เป็นผลจากโรคทางกายและสารเสพติด

สำหรับการตั้งครรภ์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียด และกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ มีการศึกษาพบว่าสตรีที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนก่อนคลอดในระดับสูงและลดลงอย่างมากหลังคลอด (11)

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) พบได้ร้อยละ10-20 ของสตรีตั้งครรภ์ แต่เป็นภาวะที่มักไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้รับการรักษา ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย มีภาวะซึมเศร้าก่อนคลอด ไม่ได้แต่งงาน สูบบุหรี่ มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกต้องได้รับการดูแลที่หน่วยทารกแรกเกิดวิกฤต และมีความเครียดในช่วงตั้งครรภ์ (12) อาจส่งผลกระทบต่อความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคงระหว่างมารดาและทารก ทำให้เด็กมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมได้เมื่อโตขึ้น ภาวะนี้หากไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 25 จะเกิดโรคซึมเศร้าได้ภายในระยะเวลา 1 ปี

การดูแลรักษา แบ่งตามความรุนแรงของโรค

1. ซึมเศร้าเล็กน้อย ใช้การรักษาด้วยจิตบำบัด (psychological treatment)

2. ซึมเศร้าปานกลางถึงรุนแรง ใช้การรักษาด้วยจิตบำบัด (psychological treatment) ร่วมกับการรักษาด้วยยา โดยยากลุ่มแรกที่เลือกใช้คือกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) โดยในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้าและหยุดยาก่อนตั้งครรภ์ก็ให้ใช้ยากลุ่ม SSRI ทดแทนได้เช่นกัน สำหรับการรักษาด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive therapy) ควรพิจารณาทำให้รายที่อาการเป็นรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเท่านั้น

นอกจากการรักษาแล้ว ควรมีการเฝ้าระวังความคิดในการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายทารก การเกิดอาการทางจิต และการประเมินตอบสนองต่อการรักษาด้วย

โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar I disorder)

ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์คึกครื้น ครื้นเครงมากกว่าปกติ (mania) ร่วมกับมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป มีความคิดเร็ว พูดเร็ว มั่นใจเกินเหตุ กล้าแสดงออกเกินไป รู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยอาจมีหรือไม่มีอารมณ์ซึมเศร้ามาก่อนก็ได้ สาเหตุทางกายที่อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ และจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรค เช่น การใช้สารเสพติด ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และเนื้องอกทางระบบประสาท เป็นต้น

เกณฑ์การวินิจฉัย manic episode ตามเกณฑ์ DSM-5 (9) คือ

  1. มีอารมณ์สนุกสนานรื่นเริงผิดปกติ หรือมีอารมณ์หงุดหงิดโกรธง่ายผิดปกติอย่างต่อเนื่อง เกือบทั้งวัน เกือบทุกวัน อย่างน้อย 1 สัปดาห์
  2. ช่วงที่มีอารมณ์สนุกสนานรื่นเริงผิดปกติต้องมีอาการอย่างน้อย 3 อาการของอาการต่อไปนี้ หรือ ช่วงที่มีอารมณ์หงุดหงิดโกรธง่ายผิดปกติต้องมีอาการอย่างน้อย 4 อาการของอาการต่อไปนี้ และอาการเป็นรุนแรงอย่างมีความสำคัญและแตกต่างจากพฤติกรรมปกติ
  3. มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นหรือคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ (grandiosity)
  4. ความต้องการนอนลดลง
  5. พูดคุยมากกว่าปกติ หรือต้องการพูดอย่างไม่หยุด
  6. ความคิดแล่นเร็ว (flight of idea)
  7. ถูกดึงความสนใจได้ง่ายแม้สิ่งเร้าภายนอกจะไม่สำคัญ
  8. มีกิจกรรมซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพิ่มขึ้นมาก (goal-directed activity) หรือกระสับกระส่ายมาก (psychomotor agitation)
  9. ทำกิจกรรมที่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมามากเกินไป

โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้มีความบกพร่องต่องาน กิจกรรมทางสังคมหรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น

และอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย ยา หรือสารเสพติด

หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วมักได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่บางรายอาจมีอาการครั้งแรกในช่วงหลังคลอดหรือระหว่างตั้งครรภ์ได้ การคัดกรองโรคอารมณ์สองขั้วในช่วงตั้งครรภ์นั้นทำได้ยาก เนื่องจากอาการแสดงครั้งแรกอาจเป็นช่วงครื้นเครง (mania episode) หรือช่วงซึมเศร้า (major depressive episode) ก็ได้ โดยสตรีตั้งครรภ์ที่มีประวัติเป็นโรคอารมณ์สองขั้วมาก่อนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคจิตหลังคลอดเพิ่มขึ้น

สำหรับผลของโรคต่อการตั้งครรภ์นั้นพบว่าสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด (13) และในสตรีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเกิดการกำเริบของโรคได้ โดยอาจเกิดการกำเริบของโรคได้เร็วในช่วงหลังคลอด

การดูแลรักษา

รักษาด้วยยาในกลุ่มที่ใช้รักษาระดับอารมณ์ (mood stabilizers) ได้แก่ lithium, valproic acid และ carbamazepine ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต (antipsychotic drug) แต่ในหญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวังในการใช้และดูแลรักษาร่วมกับจิตแพทย์เนื่องจากยาที่ใช้รักษาระดับอารมณ์บางตัวมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีภาวะโรคจิตหลังคลอดในครรภ์ก่อนหน้า แนะนำให้ยา lithium ทันทีหลังคลอด เพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ (14)

Timeline Description automatically generated

แนวทางการดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยภาวะความผิดปกติด้านอารมณ์(15)

โรควิตกกังวล (anxiety disorder)

โรควิตกกังวลเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป อาการที่พบได้ ได้แก่ รู้สึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผล เครียด กังวล ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการทางกาย เช่น ตัวสั่น ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ

มีการศึกษาพบว่าอัตราการเกิดโรควิตกกังวลในหญิงตั้งครรภ์ไม่ต่างจากประชากรทั่วไป และพบว่าอาการความรุนแรงของโรคจะลดลงในช่วงตั้งครรภ์ สำหรับผลต่อการตั้งครรภ์นั้น มีทั้งการศึกษาที่พบว่าส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกโตช้าในครรภ์ พัฒนาการทางร่างกายและระบบประสาทที่ไม่ดี (4) และการศึกษาที่พบว่าไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ ยกเว้นเพิ่มความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (16)

การดูแลรักษา

รักษาได้ด้วยการทำจิตบำบัด (psychotherapy), การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) และการรักษาด้วยยา

ยาที่มักใช้ในหญิงตั้งครรภ์คือยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) สำหรับยากลุ่ม benzodiazepine ที่ใช้บรรเทาอาการควรพิจารณาใช้เท่าที่จำเป็น แม้มีบางการศึกษาพบว่า benzodiazepine เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ แต่จากการศึกษา meta-analysis พบว่าไม่มีผลทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด (17) เพียงแต่อาจเกิด withdrawal syndrome ในทารกหลังคลอดได้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด โดยเฉพาะในรายที่มารดาได้รับยาช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์

โรคการกินผิดปกติ (eating disorders)

เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีการรับรู้ ความรู้สึก ความคิดต่อรูปร่างของตนที่ผิดปกติ โดยจะพยายามลดน้ำหนักอย่างเข้มงวดด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้มีรูปร่างตามต้องการ แบ่งเป็นความผิดปกติ 2 ประเภท คือ

    1. Anorexia nervosa คือ มีความกังวล หมกมุ่นเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนักตัว พยายามจำกัดปริมาณพลังงานอาหารและลดน้ำหนักอย่างเข้มงวด โดยมีความเชื่ออย่างมากว่าตนเองอ้วนทั้งที่น้ำหนักต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามวัย
    2. Bulimia nervosa คือ มีความกังวล หมกมุ่นเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนักตัว แต่กินอาหารปริมาณมากกว่าคนทั่วไป และจากนั้นจะพยายามกำจัดอาหารที่กินอย่างมากออกจากร่างกาย

พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคการกินผิดปกติ มีความเสี่ยงจะทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย แผลผ่าคลอดหายช้า ให้นมบุตรลำบาก และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อการตั้งครรภ์ในระยะแรกได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็น Bulimia nervosa คือจะมีอัตราการแท้งที่สูงขึ้น (18)

การดูแลรักษา

ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีประวัติเป็นโรคการกินผิดปกติ ควรติดตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด และดูแลผู้ป่วยโดยทีมสหวิชาชีพซึ่งประกอบด้วย สูติแพทย์ จิตแพทย์ และนักโภชนาการ นอกจากนี้อาจใช้การรักษาด้วยจิตบำบัดคือ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) ร่วมด้วย

ช่วงหลังคลอดผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality disorders)

เป็นลักษณะรูปแบบพฤติกรรมแสดงออกของแต่ละบุคคลที่เบี่ยงเบนไปจากวัฒนธรรมทั่วไป โดยไม่มีการยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับตัวได้ สาเหตุของความผิดปกติทางบุคลิกภาพเกิดได้จากทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (The American psychiatric association 2013) ได้แบ่งความผิดปกติทางบุคลิกภาพเป็น 3 กลุ่ม คือ

1) บุคลิกภาพในกลุ่ม A (cluster A personality) ได้แก่ บุคลิกภาพแบบหวาดระแวง (paranoid), เก็บตัว (schizoid) และจิตเภท (schizotypal)

2) บุคลิกภาพในกลุ่ม B (cluster B personality) ได้แก่ บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (antisocial), ก้ำกึ่ง (borderline), ฮีสทีเรีย (histrionic) และหลงตัวเอง (narcissistic)

3) บุคลิกภาพในกลุ่ม C (cluster C personality) ได้แก่ บุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง (avoidant), พึ่งพา (dependent), ย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive)

พบว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของตัวโรค และตัวโรคไม่ได้ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ แต่ในรายที่มีบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง พึ่งพาและย้ำคิดย้ำทำ มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้สูงขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเลี้ยงดูบุตรลดลง (19)

การดูแลรักษา

ใช้การรักษาด้วยการทำจิตบำบัด (psychotherapy) แต่โดยมากแล้วผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ มักจะไม่คิดว่าตนเองมีความผิดปกติ

ยาที่ใช้รักษาอาการทางจิตระหว่างการตั้งครรภ์ (Pharmacologic treatment during pregnancy) (15)

ข้อบ่งชี้ ตัวอย่าง Pregnancy category Teratogenic effect
ยาต้านอาการเศร้า(antidepressants)
  • SSRI
sertraline, fluoxetine, citalopram C ไม่มีผล

ยกเว้น paroxetine

เพิ่มความเสี่ยงการเกิด cardiac defect
โดยเฉพาะ VSD

  • TCA
amitriptyline, nortriptyline C ไม่มีผล
  • อื่นๆ
bupropion, duloxetine, venlafaxine B, C, C ไม่มีผล
ยาต้านอาการทางจิต(antipsychotics)
  • Typical
chlorpromazine, fluphenazine, haloperidol C ไม่มีผล
  • Atypical
aripiprazole, clozapine, olanzapine, risperidone C, B, C, C ไม่มีผล
ยารักษาอารมณ์สองขั้ว

(bipolar disorders)

  • Lithium
Lithium carbonate D Cardiac defect (Ebstein anomaly)
  • Valproic acid
D Neural tube defect
  • Carbamazepine
D Hydantoin syndrome

ภาวะแทรกซ้อนในทารก (Neonatal complications)

นอกจากผลของยาทางจิตเวชต่อการพัฒนาเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยาที่ใช้รักษาอาการทางจิตเวชหลายชนิดอาจส่งผลให้ทารกมีอาการผิดปกติหลังคลอดได้ ความผิดปกติที่พบได้ ได้แก่

  • SSRI และ TCA ทำให้ทารกมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น jitteriness, irritability และชักได้ นอกจากนี้ในรายที่มารดาได้รับ TCA จะทำให้ทารกมีอาการที่เป็นผลจาก anticholinergic effect ได้ เช่น functional bowel obstruction, urinary retention (20)
  • ยาต้านอาการทางจิต (antipsychotic drug) ทำให้ทารกมีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ผิดปกติได้ (extrapyramidal symptoms) เช่น hypertonicity, motor restlessness, tremor และอาจมีผลต่อการกินอาหารของทารกได้ (21)
  • Lithium ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ความผิดปกติด้านการหายใจ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ การทำงานของตับและไตผิดปกติได้ (22)

อาการดังกล่าวข้างต้นมักเกิดขึ้นและหายได้ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์หลังคลอด ในปัจจุบันยังไม่มี

รายงานผลของยาต่อเด็กในระยะยาว

การดูแลหลังคลอด (Postpartum prevention)

เนื่องจากโรคทางจิตเวชมักเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นจึงควรมีการเฝ้าระวังและป้องกันการกลับมีอาการซ้ำ หรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเสมอ โดยเป้าหมายเพื่อลดโอกาสการเกิดเป็นซ้ำในช่วงคลอด

หญิงตั้งครรภ์ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) สามารถป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและการกลับเป็นซ้ำของโรคได้โดยการเยี่ยมบ้าน ให้กำลังใจพูดคุยทางโทรศัพท์ และการทำจิตบำบัด (psychotherapy)

หญิงตั้งครรภ์ที่เคยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคจิตหลังคลอด (postpartum psychosis) สูงขึ้น การศึกษาพบว่าการรักษาโรคอารมณ์สองขั้วด้วยยาช่วยลดการกำเริบของโรคระหว่างตั้งครรภ์ได้ (23) แต่ในช่วงหลังคลอดเป็นช่วงที่พบการกำเริบของโรคได้มาก แม้จะได้รับยาในช่วงตั้งครรภ์ สำหรับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติเป็นโรคจิตหลังคลอด (postpartum psychosis) มักมีอาการคงที่ในช่วงการตั้งครรภ์และสามารถป้องกันการเป็นซ้ำได้ในครรภ์ต่อไปด้วยการให้ lithium หลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

1. Frieder A, Dunlop AL, Culpepper L, Bernstein PS. The clinical content of preconception care: women with psychiatric conditions. American journal of obstetrics and gynecology. 2008;199(6):S328-S32.

2. Yonkers KA, Vigod S, Ross LE. Diagnosis, pathophysiology, and management of mood disorders in pregnant and postpartum women. Focus. 2012;10(1):51-66.

3. Unger CA, Puri K, Famuyide AO, Erwin PJ, Stewart EA, Laughlin-Tommaso SK, et al. A role for sleep disorders in pregnancy complications: challenges and opportunities Roberto Romero, M. Safwan Badr Am J Obstet Gynecol. 2014 Jan; 210 (1): 3-11. Am J Obstet Gynecol. 2014;210(1):16-26.

4. Ross LE, McLean LM, Psych C. Anxiety disorders during pregnancy and the postpartum period: a systematic review. Depression. 2006;6(9):1-14.

5. Alder J, Fink N, Bitzer J, Hösli I, Holzgreve W. Depression and anxiety during pregnancy: a risk factor for obstetric, fetal and neonatal outcome? A critical review of the literature. The Journal of Maternal-Fetal & Neonatal Medicine. 2007;20(3):189-209.

6. O’keane V, Lightman S, Patrick K, Marsh M, Papadopoulos A, Pawlby S, et al. Changes in the maternal hypothalamic‐pituitary‐adrenal axis during the early puerperium may be related to the postpartum ‘blues’. Journal of neuroendocrinology. 2011;23(11):1149-55.

7. Siu AL, Bibbins-Domingo K, Grossman DC, Baumann LC, Davidson KW, Ebell M, et al. Screening for depression in adults: US Preventive Services Task Force recommendation statement. Jama. 2016;315(4):380-7.

8. Lotrakul M, Sumrithe S, Saipanish R. Reliability and validity of the Thai version of the PHQ-9. BMC Psychiatry. 2008;8(1):46.

9. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorders (DSM-5®): American Psychiatric Pub; 2013.

10. Bennedsen B, Mortensen PB, Olesen AV, Henriksen TB. Preterm birth and intra-uterine growth retardation among children of women with schizophrenia. The British Journal of Psychiatry. 1999;175(3):239-45.

11. Ahokas A, Kaukoranta J, Aito M. Effect of oestradiol on postpartum depression. Psychopharmacology. 1999;146(1):108-10.

12. Ko JY, Rockhill KM, Tong VT, Morrow B, Farr SL. Trends in postpartum depressive symptoms—27 states, 2004, 2008, and 2012. MMWR Morbidity and mortality weekly report. 2017;66(6):153.

13. Mei-Dan E, Ray JG, Vigod SN. Perinatal outcomes among women with bipolar disorder: a population-based cohort study. American journal of obstetrics and gynecology. 2015;212(3):367. e1-. e8.

14. Bergink V, Bouvy PF, Vervoort JS, Koorengevel KM, Steegers EA, Kushner SA. Prevention of postpartum psychosis and mania in women at high risk. American Journal of Psychiatry. 2012;169(6):609-15.

15. FG C. Williams obstetrics. 25th edition ed. New York: McGraw-Hill; 2018.

16. Littleton HL, Breitkopf CR, Berenson AB. Correlates of anxiety symptoms during pregnancy and association with perinatal outcomes: a meta-analysis. American journal of obstetrics and gynecology. 2007;196(5):424-32.

17. Enato E, Moretti M, Koren G. Motherisk rounds: the fetal safety of benzodiazepines: an updated meta-analysis. Journal of obstetrics and gynaecology Canada. 2011;33(1):46-8.

18. Andersen AE, Ryan GL. Eating disorders in the obstetric and gynecologic patient population. Obstetrics & Gynecology. 2009;114(6):1353-67.

19. Akman C, Uguz F, Kaya N. Postpartum-onset major depression is associated with personality disorders. Comprehensive psychiatry. 2007;48(4):343-7.

20. Grigoriadis S, VonderPorten EH, Mamisashvili L, Eady A, Tomlinson G, Dennis C-L, et al. The effect of prenatal antidepressant exposure on neonatal adaptation: a systematic review and meta-analysis. The Journal of clinical psychiatry. 2013;74(4):0-.

21. Trixler M, Gati A, Fekete S, Tényi T. Use of antipsychotics in the management of schizophrenia during pregnancy. Drugs. 2005;65(9):1193-206.

22. Moore JA, Committee ES. An assessment of boric acid and borax using the IEHR evaluative process for assessing human developmental and reproductive toxicity of agents. Reproductive Toxicology. 1997;11(1):123-60.

23. Stewart D, Klompenhouwer J, Kendell R, Van Hulst A. Prophylactic lithium in puerperal psychosis: the experience of three centres. The British Journal of Psychiatry. 1991;158(3):393-7.

 

Read More
FGR1

Fetal growth restriction ภาวะทารกโตช้าในครรภ์

Fetal growth restriction
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์

แพทย์หญิงปิ่นนภา เตอะอ้าย
อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์แพทย์หญิงศิรินาถ ศิริเลิศ


ทารกโตช้าในครรภ์ หรือ fetal growth restriction (FGR) เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของการตั้งครรภ์ พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของการตั้งครรภ์ (1) โดยภาวะดังกล่าวส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต การทำงานของระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบประสาท และเพิ่มอัตราการตายปริกำเนิดขึ้นเป็น 2 เท่าหรือเสียชีวิตร้อยละ 1.5 หากทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 หากทารกน้ำหนักน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 ของอายุครรภ์นั้น ๆ (2) นอกจากนี้ในระยะยาวจะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคทางเมตาบอลิก เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี และโรคหลอดเลือดสมอง (1)

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ประเมินได้จากขนาดของทารกเทียบกับอายุครรภ์ โดยจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) มาช่วยในการประเมินว่าขนาดและน้ำหนักของทารก (estimated fetal weight) เป็นไปตามเกณฑ์ปกติของอายุครรภ์หรือไม่ โดยใช้การวัดพารามิเตอร์ของทารก (biometric parameters) ได้แก่ ความกว้างของศีรษะ (BPD; biparietal diameter) เส้นรอบวงของศีรษะ (HC; head circumference) เส้นรอบวงของท้อง (AC; abdominal circumference) และความยาวของกระดูกต้นขา (FL; femur length) โดยสมาคมเวชศาสตร์มารดาและทารก (SMFM: The Society for Maternal-Fetal Medicine) แนะนำการใช้ข้อมูลอ้างอิงขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ตามกลุ่มประชากร (population-based fetal growth references ) ในการประเมินเปรียบเทียบ (3)

การวินิจฉัยภาวะทารกโตช้าในครรภ์ เบื้องต้นจะวินิจฉัยจากน้ำหนักของทารก ซึ่งคำนวณจากการวัดพารามิเตอร์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ได้ค่าน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 ของอายุครรภ์นั้น ๆ เมื่อตรวจพบน้ำหนักของทารกน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 สิ่งแรกที่ต้องจำแนก คือน้ำหนักตัวหรือขนาดที่น้อยของทารกเป็นภาวะโตช้าในครรภ์จริง หรือเป็นเพียงทารกตัวเล็ก (small for gestational age; SGA) เนื่องจากหากเป็นเพียงทารกตัวเล็กจะไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตและไม่เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในครรภ์ รวมถึงไม่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาของทารกหลังคลอด โดยเกณฑ์การวินิจฉัยมีดังนี้

เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะทารกตัวเล็กและภาวะทารกโตช้าในครรภ์จาก The American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) (2)

  • ทารกตัวเล็ก (SGA) คือ ทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอด (birth weight) น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 สำหรับอายุครรภ์นั้น ๆ
  • ทารกโตช้าในครรภ์ (FGR) คือ ทารกที่มีน้ำหนัก หรือเส้นรอบวงของท้องน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 สำหรับอายุครรภ์นั้น ๆ

เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะทารกตัวเล็กและภาวะทารกโตช้าในครรภ์จาก The International Society of Ultrasound in Obstetrics and Gynecology (ISUOG) (1)

  • ทารกตัวเล็ก (SGA) คือ ทารกที่มีน้ำหนัก หรือเส้นรอบวงของท้องน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 สำหรับอายุครรภ์นั้น ๆ โดยไม่เพิ่มอัตราการตายปริกำเนิด
  • ทารกโตช้าในครรภ์ (FGR) คือทารกที่มีน้ำหนักน้อยและเพิ่มอัตราการตายปริกำเนิด ดังนั้นการวินิจฉัยสำหรับภาวะนี้ทาง ISUOG กล่าวว่าไม่สามารถใช้น้ำหนักของทารกเพียงอย่างเดียวมาใช้ในการวินิจฉัย โดยแนะนำการวัดค่าดอปเพลอร์ (Doppler velocimetry) ที่ใช้สำหรับประเมินการไหลเวียนของเลือดจากรกมายังทารก (uteroplacental or fetoplacental circulation) มาช่วยในการวินิจฉัยเพื่อจำแนกภาวะทารกตัวเล็กและภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะทารกตัวเล็กและภาวะทารกโตช้าในครรภ์จาก ISUOG (1)

SGA

Early FGR

อายุครรภ์ < 32 สัปดาห์ และไม่มีความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก

(congenital anomalies)

Late FGR

อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ และไม่มีความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก

AC หรือ EFW < 10th centile

 

AC หรือ EFW < 3rd centile หรือ UA-AEDF

หรือ

1. AC หรือ EFW < 10th centile ร่วมกับ

2. UtA-PI > 95th centile และ/หรือ

3. UA-PI > 95th centile

AC หรือ EFW < 3rd centile

หรือ อย่างน้อย 2 ใน 3 ของข้อต่อไปนี้

1. AC หรือ EFW < 10th centile

2. AC หรือ EFW crossing centiles > 2 quartiles on growth centiles

3. CPR < 5th centile หรือ UA-PI > 95th centile

AEDF: (absent end-diastolic flow); CPR: (cerebroplacental ratio); EFW: (estimated fetal weight); PI: (pulsatility index); UA: (umbilical artery); UtA: (uterine artery)

สาเหตุของการเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ สาเหตุจากมารดา สาเหตุจากทารก และสาเหตุจากรกและสายสะดือ โดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเกิดทารกโตช้าในครรภ์จากสาเหตุใดจะส่งผลให้เข้าสู่กลไกร่วมคือทำให้การไหลเวียนเลือดจากแม่ไปสู่ลูกไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทารกในครรภ์ได้รับเลือดและสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต (2) โดยสาเหตุหลักมีดังนี้

• สาเหตุจากมารดา (maternal disorder) (2)

  • โรคประจำตัวของมารดา เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคแพ้ภูมิตัวเอง (systemic lupus erythematosus) โรคหัวใจชนิดเขียว เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อความผิดปกติของเส้นเลือด
  • โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (pregnancy induced hypertension)
  • กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (antiphospholipid syndrome) และการแข็งตัวของเลือดมากผิดปกติ เช่น acquired immune meditated thrombophilia แต่กลุ่ม hereditary thrombophilia ไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับภาวะทารกโตช้าในครรภ์
  • ภาวะขาดสารอาหารในมารดา (malnutrition) โดยเฉพาะหากได้รับแคลอรี <600-900 kcal/day
  • การใช้สารเสพติด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ โคเคน หรือยากลุ่มระงับปวด โดยมีรายงานว่าการสูบบุหรี่ในสตรีตั้งครรภ์เพิ่มการเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ได้ถึง 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่สูบบุหรี่

• สาเหตุจากทารก (fetal disorder) (2)

o ครรภ์แฝด (multiple pregnancy) โดยครรภ์แฝดสอง (twin) จะมีโอกาสเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ประมาณร้อยละ 25 สำหรับครรภ์แฝดสาม (triplet) และครรภ์แฝดสี่ (quadruplet) จะมีโอกาสเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์สูงถึงร้อยละ 60

  • การได้รับสารก่อวิรูป (teratogen) เช่น cyclophosphamide, valproic acid, warfarin เป็นต้น ทั้งนี้ความสัมพันธ์ของสารดังกล่าวกับการเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการก่อวิรูป (teratogenicity) ของสารแต่ละชนิด ระยะเวลาที่สตรีตั้งครรภ์สัมผัสสาร รวมถึงอัตราการเผาผลาญสารต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล
  • โรคติดเชื้อ เช่น malaria, cytomegalovirus, rubella, toxoplasmosis หรือ syphilis
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น trisomy 13, trisomy 18, confined placental mosaicism
  • ความผิดปกติทางโครงสร้าง เช่น congenital heart disease หรือ gastroschisis

• สาเหตุจากรกและสายสะดือ (placental disorders and umbilical cord abnormalities) (2)

  • ระบบการไหลเวียนของเลือดของรกผิดปกติ (placental insufficiency) ถือเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด
  • ความผิดปกติของรก เช่น abruption, infarction, circumvallate shape, hemangioma, และ chorioangioma
  • ความผิดปกติของสายสะดือ เช่น velamentous หรือ marginal cord insertion

ภาพที่ 1 แสดง circumvallate placenta (4)

FGR1

ภาพที่ 2 แสดง marginal and velamentous cord insertion (5)

FGR2

การประเมินภาวะทารกโตช้าในครรภ์

• ซักประวัติตรวจร่างกาย

สำหรับการซักประวัติมารดาที่พบภาวะทารกโตช้าในครรภ์ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ อายุครรภ์ว่าถูกต้องหรือไม่ ลักษณะตัวเล็กของทารกเป็นภาวะปกติตามพันธุกรรมหรือเชื้อชาติหรือไม่ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตช้าของทารกอะไรบ้าง เช่น พฤติกรรมการสูบบุรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด หรือการได้รับสารพวกก่อวิรูป รวมถึงประวัติการติดเชื้อในช่วงการตั้งครรภ์ของมารดา เพื่อนำมาช่วยในการวินิจฉัยและวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นไปได้

สำหรับการตรวจร่างกาย ACOG 2021 (2) แนะนำใช้การวัดความสูงของยอดมดลูก (fundal height) เป็นตัวคัดกรองภาวะโตช้าในครรภ์ของทารก ซึ่งหากความสูงของยอดมดลูกกับอายุครรภ์ต่างกันมากกว่า 3 เซนติเมตร ควรสงสัยภาวะโตช้าในครรภ์และตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง โดยจากรายงานพบว่าการวัดความสูงของยอดมดลูกในช่วงอายุครรภ์ 24-38 สัปดาห์ มีความไว (sensitivity) ร้อยละ 65-85 และความจำเพาะ (specificity) ร้อยละ 96 สำหรับการคัดกรองดังกล่าว แต่ในมารดาที่มีภาวะอ้วน ครรภ์แฝด หรือมีเนื้องอกมดลูก (leiomyoma) จะลดความน่าเชื่อถือและความแม่นยำของการวัดความสูงของยอดมดลูกนั้น แนะนำใช้การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงมาช่วยในการประเมินและคัดกรองเพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น

• การประเมินด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound)

o การวัด biometric parameters ของทารก

  • ความกว้างของศีรษะ (BPD; biparietal diameter)
  • เส้นรอบวงของศีรษะ (HC; head circumference)
  • เส้นรอบวงของท้อง (AC; abdominal circumference)
  • ความยาวของกระดูกต้นขา (FL; femur length)

เพื่อประเมินขนาดและน้ำหนักของทารกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติตามอายุครรภ์หรือไม่ รวมถึงใช้ติดตามอัตราการเจริญเติบโตของทารก

สิ่งที่แนะนำให้ประเมินร่วมด้วย มีดังนี้

  • การประเมินน้ำคร่ำ (amniotic fluid assessment)
  • การประเมินความผิดปกติทางกายภาพของทารก (fetal structural abnormality)
  • การประเมินสุขภาพทารก (BPP; biophysical profile)
  • การประเมิน Doppler velocity

 Umbilical artery

เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินและติดตามสุขภาพของทารก (fetal surveillance) ที่มีภาวะโตช้าในครรภ์ โดยการประเมิน umbilical artery Doppler velocity ถือว่าเป็นการตรวจเดียวที่มีรายงานจากการศึกษาของ PORTO (9) ว่าสามารถช่วยลดผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ในทารก (adverse perinatal outcome) จากภาวะโตช้าในครรภ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเลือดออกในสมอง (intraventricular hemorrhage) ภาวะสมองขาดออกซิเจน (hypoxic ischemic encephalopathy) ภาวะลำไส้เน่าตาย (necrotizing enterocolitis) โรคปอดเรื้อรัง (bronchopulmonary dysplasia) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) และการเสียชีวิตของทารก เป็นต้น

ความผิดปกติของ umbilical artery Doppler velocity ที่ตรวจพบได้แก่ pulsatility index (PI) >95th centile, absent end-diastolic flow (AEDV) และ reversed end-diastolic flow (REDV) ซึ่งแสดงถึงการมีแรงต้านในรก (placental resistance) หรือมีแรงต้านในเส้นเลือด umbilical artery (umbilical artery resistance) จากภาวะ placental insufficiency ที่เป็นสาเหตุของทารกโตช้าในครรภ์

ภาพที่ 3 แสดงความผิดปกติของ umbilical artery doppler velocity ในภาวะ placental insufficiency (10)

FGR3

 Ductus venosus

Ductus venosus เป็นตัวบอกสภาวะการไหลเวียนเลือดของทารก (hemodynamic status) ในภาวะปกติระบบไหลเวียนเลือดดำของทารก จะไหลไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว โดย ductus venosus จะนำเลือดที่มีออกซิเจนและสารอาหารมายังหัวใจทารก แต่เมื่อมีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ร่วมกับมี umbilical artery pressure ที่สูงมากกว่าปกติ ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดผ่านหัวใจทารกแย่ลง central venous pressure จึงเพิ่มขึ้น ทำให้ ductus venosus มีความดันภายในที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน แสดงให้เห็นในรูปแบบ absent หรือ reversed ductus venous a-wave ซึ่งความผิดปกติที่พบมักจะพบในช่วงท้ายก่อนทารกจะเสียชีวิต นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าการพบลักษณะดังกล่าวสัมพันธ์กับภาวะขาดออกซิเจน และเลือดเป็นกรดของทารก รวมถึงเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของทารก (stillbirth) ร้อยละ 46 (3) ตามคำแนะนำของ ISUOG ใช้การวัดค่าดอปเพลอร์ของ ductus venosus ตรวจติดตามในรายที่มีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ (early FGR) และใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาการคลอด พบว่าสามารถลดความผิดปกติของการพัฒนาทางระบบประสาทของทารกที่อายุ 2 ปีได้ เมื่อเทียบกับการติดตามทารกด้วยเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจทารก (CTG) เพียงอย่างเดียว

ภาพที่ 4 แสดง ductus venosus Doppler (10)

FGR4

 Middle cerebral artery

การประเมิน middle cerebral artery Doppler สามารถบอกถึงสภาวะการไหลเวียนเลือดของทารกได้ กล่าวคือในภาวะปกติการไหลเวียนเลือดใน middle cerebral arteryของทารกจะมีแรงต้านในหลอดเลือดที่สูงกว่า umbilical artery แต่เมื่อมีภาวะโตช้าในครรภ์และภาวะขาดออกซิเจน จะเกิดการขยายตัวของหลอดเลือดสมอง (cerebral vasodilation) เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดมายังสมองมากขึ้นชดเชยภาวะขาดออกซิเจน เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “brain sparing effect” (3) ซึ่งจะทำให้แรงต้านใน middle cerebral artery ต่ำกว่า umbilical artery

การประเมินจะดูจาก peak systolic to end diastolic blood flow velocity ratio (S/D), resistance index และ pulsatility index แต่ยังไม่มีรายงานว่าสามารถใช้ middle cerebral artery Doppler ในการตัดสินใจเรื่องกำหนดเวลาการคลอดของทารกโตช้าในครรภ์ เพียงนำมาช่วยประกอบการประเมินภาวะขาดออกซิเจนและผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของทารกร่วมกับการประเมิน umbilical artery Doppler เท่านั้น

ภาพที่ 5 แสดง middle cerebral artery Doppler ในทารกปกติ และในภาวะ placental insufficiency (10)

FGR5

 Cerebroplacental ratio (CPR)

คำนวณมาจากสัดส่วนของ pulsatility index ของ middle cerebral artery เทียบกับ umbilical artery (MCA-PI / UA-PI) เป็นค่าที่บ่งบอกว่ามีภาวะ fetal blood flow redistribution หรือเกิด brain sparing effect โดยจากการศึกษาของ PORTO (9) พบว่า CPR < 1 สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของทารก และพบว่ามีการพัฒนาของระบบประสาทและพัฒนาการที่แย่กว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีค่า CPR สูง

 Uterine artery (3)

ใช้ประเมินการไหลเวียนเลือดเข้าสู่มดลูก เป็นสิ่งที่ใช่ประเมินการ remodelling ของ spiral artery ซึ่งในภาวะปกติการไหลเวียนเลือดในเส้นเลือดนี้จะมีอัตราเร็วที่สูง และไหลอย่างต่อเนื่องไปด้านหน้า (continuous forward flow) หากมีความผิดปกติจะพบความต้านทานที่สูงขึ้น ค่า pulsatility index (PI) >95th percentile หรือพบลักษณะ diastolic notch ซึ่งสัมพันธ์กับผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ

• การส่งตรวจเพิ่มเติม

o Genetic counselling and prenatal diagnostic test

ให้แนะนำเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม และความคุ้มค่าของการตรวจสารพันธุกรรมของทารก โดย karyotyping และ chromosomal microarray analysis ซึ่งควรพิจารณาตรวจในกรณีดังต่อไปนี้

  • วินิจฉัยภาวะทารกโตช้าในครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ (early FGR)
  • วินิจฉัยภาวะทารกโตช้าในครรภ์ร่วมกับตรวจพบภาวะน้ำคร่ำเยอะผิดปกติ (polyhydramnios)
  • วินิจฉัยภาวะทารกโตช้าในครรภ์ร่วมกับตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้างของทารก

o Screening of infection

  • แนะนำตรวจ PCR สำหรับหาการติดเชื้อ CMV ในกรณีที่ไม่สามารถอธิบายการเกิดทารกโตช้าในครรภ์ได้ โดยจะแนะนำตรวจจาก amniocentesis เนื่องจากการตรวจทาง serology สำหรับ CMV ยังมีการใช้ที่จำกัด
  • ไม่แนะนำตรวจคัดกรองการติดเชื้อ toxoplasmosis, rubella, หรือ herpes ในมารดาที่ไม่มีประวัติปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อและไม่พบความผิดปกติทางกายภาพของทารกจากการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง

การดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะทารกโตช้าในช่วงก่อนคลอด (Antepartum care)

• การป้องกันการเกิดภาวะโตช้าในครรภ์

จากข้อมูลในปัจจุบัน ยังไม่มีการดูแลที่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถป้องกันการเกิดทารกโตช้าในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการนอนพัก (bed rest) จำกัดการทำกิจกรรมต่างๆ หรือการเพิ่มสารอาหาร (nutritional and dietary supplement) สำหรับการใช้ยากลุ่ม low dose aspirin, low molecular weight heparin (LMWH) และ sildenafil ก็ยังไม่พบหลักฐานว่าสามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดของรก ดังนั้น SMFM 2020 จึงไม่แนะนำการใช้ยาเหล่านี้ในมารดาที่มีภาวะทารกโตช้าในครรภ์(3)

• การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

การตรวจคัดกรองภาวะทารกโตช้าในครรภ์สามารถทำได้โดยการวัดความสูงของยอดมดลูก หากพบว่าความสูงของยอดมดลูกน้อยกว่าอายุครรภ์มากกว่า 3 เซนติเมตร ควรได้รับการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของขนาดมดลูกที่เล็กกว่าอายุครรภ์ เช่น น้ำคร่ำน้อย ทารกโตช้าในครรภ์ หากพบมีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ควรตรวจดูปริมาณน้ำคร่ำแล Doppler เพื่อนำมาช่วยในการดูแลและวางแผนการคลอดของทารก นอกจากนั้นหากวินิจฉัยก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ควรตรวจดูความผิดปกติทางกายภาพของทารกโดยละเอียด เนื่องจากพบว่าภาวะนี้สัมพันธ์กับความผิดปกติทางกายภาพของทารกและสารพันธุกรรม

• การตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารก (follow up growth)

แนะนำตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงอย่างน้อยทุก 3-4 สัปดาห์ แต่หากพบว่ามีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ที่รุนแรงมากหรือพบว่ามีความผิดปกติของ umbilical artery Doppler สามารถเพิ่มความถี่ในการตรวจได้ทุก 2 สัปดาห์

• การตรวจประเมินสุขภาพทารก (fetal monitor and surveillance)

ในปัจจุบันพบว่าการประเมินสุขภาพทารกด้วยการตรวจ cardiotocography (CTG) และการตรวจ umbilical artery Doppler สามารถช่วยลดผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และลดความผิดปกติของการพัฒนาระบบประสาทและการเจริญเติบโตของทารกหลังคลอดที่อายุ 2 ปี (6) ดังนั้น SMFM 2020 จึงแนะนำดังนี้

  • กรณีพบการลดลงของ end-diastolic velocity ใน umbilical artery Doppler ที่มากกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 หรือพบทารกโตช้าที่รุนแรง (น้ำหนักน้อยกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 3) ควร ตรวจ CTG 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมิน umbilical artery Doppler ทุกสัปดาห์
  • กรณีพบ AEDV ใน umbilical artery Doppler ควรตรวจ CTG 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมิน umbilical artery Doppler 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • กรณีพบ REDV ใน umbilical artery Doppler แนะนำนอนโรงพยาบาล ควรตรวจ CTG 1-2 ครั้งต่อวัน และพิจารณาการคลอดของทารก

การประเมินสุขภาพทารกด้วย biophysical profile (BPP) หากพบความผิดปกติ มักจะเป็นอาการที่แสดงออกมาในช่วงท้ายของโรค โดยจะพบความผิดปกตินี้ประมาณ 48-72 ชั่วโมงหลังพบความผิดปกติของ ductus venosus Doppler และจากรายงานของ Cochrane review ยังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนการนำ BPP มาใช้ในการตรวจติดตามสุขภาพทารกแบบ routine เนื่องจากพบ false positive และ false negative ค่อนข้างมาก แต่มักใช้ร่วมประเมินทารกเมื่อพบความผิดปกติของ CTG หรือ umbilical artery Doppler หรือใช้ในกรณีที่บางสถานพยาบาลไม่มีเครื่อง CTG

อายุครรภ์ที่แนะนำให้คลอดสำหรับสตรีตั้งครรภ์ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (timing of delivery)

การดูแลทารกโตช้าในครรภ์ควรได้รับการดูแลในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในระดับตติยภูมิ (tertiary care) ต้องมีความพร้อมของสูติแพทย์ กุมารแพทย์ มีห้องอภิบาลทารกแรกเกิด (NICU; neonatal intensive care unit) สำหรับการพิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการคลอดของทารกโตช้าในครรภ์ SMFM และ ACOG มีคำแนะนำดังนี้ (2,3)

  • อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ หรือน้ำหนักทารก 500 กรัม สำหรับ severe early-onset FGR แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องพิจารณาความพร้อมของทีมรักษา และต้องผ่านการพูดคุยถึงผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับมารดา เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการดูแล
  • อายุครรภ์ 38-39 สัปดาห์ สำหรับทารกที่มีน้ำหนักอยู่ในช่วงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 3-10 โดยที่ไม่พบความผิดปกติของ umbilical artery Doppler
  • อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ สำหรับทารกที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 3 หรือ ทารกโตช้าที่ตรวจพบความผิดปกติ umbilical artery S/D ratio มากกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95
  • อายุครรภ์ 33-34 สัปดาห์ สำหรับทารกที่ตรวจพบ AEDV ใน umbilical artery Doppler
  • อายุครรภ์ 30-32 สัปดาห์ สำหรับทารกที่ตรวจพบ REDV ใน umbilical artery Doppler
  • อายุครรภ์ 34-37 6/7 สัปดาห์ สำหรับทารกที่ตรวจพบภาวะน้ำคร่ำน้อย (oligohydramnios) หรือโรคร่วมของมารดา เช่น ครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงเป็นต้น

คำแนะนำจากองค์กรต่างๆ ในการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ยังมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะส่วนของการตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์และอายุครรภ์ที่แนะนำให้คลอด ดังแสดงในตารางที่ 2 ดังนั้นการนำไปใช้จึงควรปรับให้เข้ากับบริบทอย่างเหมาะสม

ตารางที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบการตรวจติดตามและการพิจารณาคลอดของภาวะทารกโตช้าในครรภ์ตามคำแนะนำของ ISUOG และ ACOG & SMFM (1,2,3)

FGR6

การดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะทารกโตช้าในช่วงระยะคลอด (Intrapartum care)

  • ควรได้รับการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพได้แก่ สูติแพทย์ สูติแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารก กุมารแพทย์เฉพาะทางสาขาทารกแรกเกิด
  • ควรได้รับการติดตามดูลักษณะการเต้นของหัวใจทารกอย่างต่อเนื่อง (continuous fetal monitor) เพื่อเฝ้าระวังภาวะเครียดของทารก (fetal distress)
  • การให้ antenatal corticosteroid (2)
    มีประโยชน์และควรให้ในกรณีที่จะคลอดก่อนอายุครรภ์ 33 6/7 สัปดาห์ สำหรับในช่วงอายุครรภ์ 34 0/7 สัปดาห์ถึง 36 6/7 สัปดาห์ กรณีที่มีความเสี่ยงจะคลอดใน 7 วัน และไม่เคยได้รับ corticosteroid มาก่อน พิจารณาให้ได้หากประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับยา
  • การให้ magnesium sulfate (2)
    พิจารณาให้ในกรณีที่จะคลอดก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ เพื่อหวังผลการป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (neuroprotection) ในทารก
  • ช่องทางการคลอด (route of delivery)
    ปัจจุบันข้อมูลยังมีจำกัดสำหรับการแนะนำช่องทางการคลอดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารกโตช้าในครรภ์ การพิจารณาอาศัยสุขภาพทารกระหว่างเข้าสู่กระบวนการคลอดร่วมด้วย ซึ่งอาจพบการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติที่แสดงถึงการขาดออกซิเจนในช่วงระยะคลอด และตามมาด้วยการผ่าตัดคลอด โดยเฉพาะในรายที่ตรวจพบความผิดปกติแบบ AEDV หรือ REDV ใน umbilical artery Doppler โดยทาง SMFM 2020 (3) ได้แนะนำให้การผ่าตัดคลอดในกรณีทารกโตช้าในครรภ์ที่พบความผิดปกติของ umbilical artery Doppler โดยพิจารณาร่วมกับบริบทอื่น ๆ ณ ขณะนั้น

ภาวะทารกโตช้าในครรภ์สามารถคลอดทางช่องคลอดได้และไม่เป็นข้อบ่งห้ามในการชักนำการคลอด จากการศึกษาของ DIGITAT (7) ที่ศึกษาการชักนำการคลอดของทารกที่โตช้าในครรภ์อายุครรภ์ 36 -41สัปดาห์ พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสการผ่าตัดคลอดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ชักนำคลอด (expectant group) และสามารถคลอดทางช่องคลอดได้สำเร็จถึงร้อยละ 85 ทั้งกลุ่มที่ได้รับการชักนำคลอดและไม่ได้รับการชักนำคลอด ดังนั้นในการกำหนดช่องทางการคลอดที่เหมาะสมควรได้รับการพิจารณาเป็นราย ๆ ตามบริบทของมารดาและทารกในครรภ์

ภาพที่ 6 แสดงแผนผังแนวทางการวินิจฉัยและการดูแลทารกโตช้าในครรภ์ (3)

FGR7

ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ที่ เพิ่มโอกาสเสียชีวิตและพัฒนาการที่ผิดปกติในช่วงหลังคลอด เพิ่มโอกาสเกิดโรคเรื้องรังในวัยผู้ใหญ่ การดูแลรักษาภาวะนี้ จึงมุ่งเน้นการวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็ว (early diagnosis) การติดตามสุขภาพทารกที่มีประสิทธิภาพ และการกำหนดเวลาการคลอดที่เหมาะสม เพื่อผลลัพธ์ที่ดี

เอกสารอ้างอิง

  1. ISUOG Practice Guidelines: diagnosis and management of small-for-gestational-age fetus and fetal growth restriction. Ultrasound Obstet Gynecol 2020; 56: 298–312
  2. Fetal Growth Restriction. ACOG Practice Bulletin Number 227. the American College of Obstetricians and Gynecologists. vol. 137, no. 2, February 2021
  3. Juliana Gevaerd Martins, MD. Society for Maternal-Fetal Medicine Consult Series #52: Diagnosis and management of fetal growth restriction. Society for Maternal-Fetal Medicine (SMFM), October 2020
  4. Shaimaa Fadl, MD. Placental Imaging: Normal Appearance with Review of Pathologic Findings. radiographics.rsna.org. May-June, 2017
  5. Fox H, Sebire NJ. Pathology of the placenta. 3rd ed. Philadelphia, PA: W.B. Saunders; 2007
  6. G. H. A. VISSER. Fetal monitoring indications for delivery and 2-year outcome in 310 infants with fetal growth restriction delivered before 32 weeks’ gestation in the TRUFFLE study. Ultrasound Obstet Gynecol 2017; 50: 347–352
  7. Kim E Boers. Disproportionate Intrauterine Growth Intervention Trial At Term: DIGITAT. BMC Pregnancy and Childbirth 2007, 7:12
  8. Dawn-Marie Walker. The Growth Restriction Intervention Trial: long-term outcomes in a randomized trial of timing of delivery in fetal growth restriction. American Journal of Obstetrics & Gynecology; JANUARY 2011, 34e1-9
  9. Julia Unterscheider. Optimizing the definition of intrauterine growth restriction: the multicenter prospective PORTO Study. Am J Obstet Gynecol 2013;208:290.e1-6.
  10. Ahmet A. Baschat. Examination of the fetal cardiovascular system. Seminars in Fetal & Neonatal Medicine 16;2011, 2e12

 

Read More