การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (Teenage pregnancy)

พ.ญ.อุษมา ช้อนนาค
รศ.ดร.นพ. วีรวิทย์ ปิยะมงคล


คำจำกัดความ

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หมายถึง การตั้งครรภ์ในสตรีที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี โดยถืออายุ ณ เวลาที่คลอดบุตร ซึ่งในบางการศึกษาจะแบ่งเป็นช่วงวัยรุ่นตอนต้น คือ อายุ 10-14 ปี และช่วงวัยรุ่น คืออายุ 15-19 ปี (1)

โดยปัจจัยเสี่ยงของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นเกิดจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การคุมกำเนิดที่ไม่เหมาะสม การศึกษาต่ำ การที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์เร็ว การเข้าถึงทางการแพทย์ไม่ดี ความเชื่อทางศาสนา หรือการที่มีประวัติครอบครัวตั้งครรภ์เมื่อวัยรุ่น

อุบัติการณ์

จากการเก็บข้อมูลทั่วโลกในปี พ.ศ.2558-2564 พบว่ามีสตรีวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปีคลอดบุตรอยู่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา (1,2)

สถานการณ์การตั้งครรภ์วัยรุ่นปัจจุบัน ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2563 พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในกลุ่มประชากรวัยเจริญพันธ์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และอัตราการตั้งครรภ์ในกลุ่มประชากรวัยรุ่นนั้นลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งมีอัตราการตั้งครรภ์อยู่ที่ 15.4 ต่อกลุ่มวัยรุ่นที่อายุ 15-19 ปี 1,000 ราย ซึ่งลดลง 8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และลดลง 75 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2534 ที่พบว่ามีอัตราการตั้งครรภ์สูงที่สุดคือ 61.8 โดยพบว่ามีการตั้งครรภ์ซ้ำอย่างน้อยเป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่สองในกลุ่มวัยรุ่นนี้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ (3)

Chart, line chart Description automatically generated

ภาพที่ 1: แสดงอัตราการคลอดบุตรในกลุ่มประชากรวัยเจริญพันธุ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (3)

ภาพที่ 2: แสดงอัตราการคลอดบุตรในกลุ่มประชากรแต่ละช่วงอายุของประเทศสหรัฐอเมริกา (3)

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอายุที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์น้อยลงไป ต่อ 1000 คน ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี

ข้อมูลจากกรมอนามัย ในปี พ.ศ.2563 (4) พบว่าอัตราการคลอดบุตรในกลุ่มตั้งครรภ์วัยรุ่นอยู่ที่ 28.7 ต่อวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีจำนวน 1,000 ราย ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับแนวโน้มของโลก ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่วัยรุ่นมีการคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการสอนเกี่ยวกับเรื่องเพศให้กับวัยรุ่นมากขึ้น โดยข้อมูลในจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2563 พบว่าจำนวนหญิงตั้งครรภ์ในกลุ่มอายุ 15-19 ปี มีอัตราการคลอดอยู่ที่ 28.69 ต่อวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีจำนวน 1,000 ราย ซึ่งมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบจากปี พ.ศ. 2561 และปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 16 และ 7.8 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ซึ่งเป็นสัญชาติไทยจำนวน 52.9% และเป็นสัญชาติอื่นร่วมกับกลุ่มชนเผ่าต่างๆ อีกจำนวน 47.1%

แม้ว่าอัตราการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นจะลดลงเนื่องจาก การศึกษาที่ดีขึ้น การเข้าถึงการแพทย์ที่ดีขึ้น และการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการตั้งครรภ์นั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของวัยรุ่น โดยมีการวัดเป็น การสูญเสียปีสุขภาวะ หรือ Disability-Adjusted Life Years (DALY) ซึ่งเป็นการวัดการสูญเสียสุขภาวะเป็นจํานวนปี ชีวิตที่ปรับด้วยพิการ มีหน่วยเป็น DALY แทนจํานวนราย พบว่าการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นนั้นเป็นสาเหตุ 1 ใน 5 อันดับของการสูญเสียปีสุขภาวะ และการเสียชีวิตของประชากรวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี (2)

ผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ต่อวัยรุ่น

ด้านมารดา

  1. ภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ (Pregnancy induced hypertension)

มีการศึกษาข้อมูลแบบ meta-analysis และ systemic review ขนาดใหญ่ เก็บข้อมูลจำนวน 70 งานวิจัย ผู้เข้าร่วมเป็นประชากรวัยรุ่นทั่วโลก จำนวน 291,247 ราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งจากศึกษาข้อมูลนี้พบว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษขึ้น 6.7% ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐานะที่ยากจน(6) และมีงานวิจัยที่กล่าวถึงโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูง ที่เพิ่มขึ้นในวัยรุ่นเมื่อเทียบกับสตรีตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า โดยมีการพูดถึงสาเหตุที่เกิดจากการเจริญของมดลูกไม่เต็มที่(7) การเจริญของเส้นเลือดและรกที่ไม่ดี ทำให้เพิ่มอัตราการเกิดความดันโลหิตสูงในวัยรุ่นขึ้น 2.29 เท่า(7) แต่อย่างไรก็ตามมีอีกหลายงานวิจัยที่พบว่าไม่ได้แตกต่างกัน (8)

  1. ภาวะโลหิตจาง (Anemia)

ภาวะโลหิตจาง เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้อย่างกว้างขวาง จากการศึกษาแบบ meta-analysis เปรียบเทียบกับสตรีที่อายุมากกว่า 20 ปี พบว่า relative risk เป็น 2.57 (9) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาพบว่ามีอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจางในทั้งสองกลุ่มเท่า ๆ กัน แต่ความรุนแรงต่างกัน โดยส่วนใหญ่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก folic acid การติดเชื้อมาลาเรีย การมีพยาธิในลำไส้ แต่ในประเทศไทยภาวะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ก็เป็นอีกสาเหตุของภาวะซีดซึ่งอุบัติการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค(10)

  1. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexual transmitted disease)

สำหรับในสตรีวัยรุ่นเป็นวัยที่มีพฤติกรรมทางเพศสม่ำเสมอ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น ได้มากขึ้น ทั้งนี้การตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดาและทารก และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม(11)

  1. การเกิดภาวะทุพลภาพและเสียชีวิตของมารดา (morbidity and mortality)

พบภาวะทุพพลภาพและการตายของมารดาในประเทศกำลังพัฒนาได้สูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งพบในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นได้มากกว่า สาเหตุเกิดจากการตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อในมดลูก และหากไม่ได้รับการฝากครรภ์จะพบอุบัติการณ์เหล่านี้ได้มากขึ้น(12) ปัจจัยส่งเสริมอื่นๆได้แก่ การมีเศรษฐสถานะต่ำ ระดับการศึกษา ความพร่องในการรับบริการสุขภาพ และการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย จากอุบัติการณ์พบว่าในกลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์อายุ 15-19 ปี มีการทำแท้งประมาณ 29% และจากการรวบรวมของสาธารณะสุขจังหวัดเชียงใหม่พบว่า การทำแท้งประมาณ 36% ในกลุ่มตั้งครรภ์วัยรุ่น(5)

ด้านทารก

  1. การคลอดก่อนกำหนด (preterm birth)

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพบว่า เกิดการคลอดกำหนดมากขึ้น เปรียบเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 20-30 สัปดาห์ โดยเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเจริญเติบโตที่ไม่เต็มที่ของวัยรุ่น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดูแลในระยะฝากครรภ์ที่น้อยกว่าปกติ และการฝากครรภ์ช้า(11)

  1. ทารกน้ำหนักน้อย (low birth weight)

ภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อย เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากภาวะการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งในกลุ่มที่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พบว่ามีอุบัติการณ์การเกิดทารกกลุ่ม extremely low birth weight (น้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,000 กรัม) มากขึ้น(11)

  1. อัตราตายปริกำเนิด (stillbirth)

อัตราตายปริกำเนิดจะเพิ่มขึ้นในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น จากรายงานส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา มีรายงานพบว่าอัตราการเกิดการตายปริกำเนิด เพิ่มขึ้น 4 เท่า ในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุ 10-14 ปี และอัตราการเกิดการตายปริกำเนิด เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี(12) ซึ่งเป็นผลจากการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย(11)

การดูแลสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น

ระยะก่อนคลอด

ในช่วงระยะก่อนคลอด เป็นช่วงที่สามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งคือการดูแลในช่วงฝากครรภ์ ให้ดี แต่ปัญหาที่พบคือการมาฝากครรภ์ช้าและการไม่มาฝากครรภ์ ซึ่งควรให้การดูแลดังนี้

  • การให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะโภชนาการอย่างเหมาะสม เช่น การได้รับธาตุเหล็กที่เหมาะสม ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 27 มิลลิกรัม เพื่อลดการเกิดภาวะซีดระหว่างการตั้งครรภ์ และในกลุ่มวัยรุ่นควรได้รับแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน (14)
  • การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อที่จะให้การรักษาได้เร็วที่สุดและลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
  • มีการคัดกรองเรื่องการใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น เนื่องจากมีการรายงานว่าในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า (15)
  • ติดตามการเจริญเติบโตของทารกทั้งจากการตรวจร่างกาย และการตรวจอัลตราซาวน์ติดตามน้ำหนัก
  • การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนับลูกดิ้น การสังเกตอาการของการเจ็บครรภ์คลอด
  • การดูแลสภาพจิตใจ ให้กำลังใจและคำปรึกษากับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจระหว่างการตั้งครรภ์

ระยะคลอด

การดูแลสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นในระยะคลอด ไม่แตกต่างจากสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป จากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่า ภาวะแทรกซ้อนในช่วงคลอดของสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นน้อยกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น (8)

มีการรายงานเรื่องช่องทางคลอด(16) พบว่า ในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นมีอัตราการไปผ่าตัดคลอดน้อยกว่าในสตรีตั้งครรภ์ผู้ใหญ่ ซึ่งข้อบ่งชี้ที่ทำให้ต้องไปผ่าตัดคลอดคือ การเกิดภาวะศีรษะของทารกไม่ได้สัดส่วนกับเชิงกรานมารดา (cephalopelvic disproportion) รองลงมาคือ การเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์

ระยะหลังคลอด

  • การให้คำแนะนำ และกระตุ้นให้สตรีวัยรุ่นเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา
  • การประเมินภาวะโภชนาการหลังคลอด เช่น การรับประทานธาตุเหล็กเสริม และการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ เนื่องภาวะซีดยังเป็นปัญหาต่อเนื่องจนถึงช่วงหลังคลอด และการให้นมทารก
  • การสนับสนุนให้สตรีวัยรุ่นกลับไปเข้าสู่ระบบการศึกษา และส่งเสริมให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย
  • การดูแลและประเมินสภาพจิตใจเป็นระยะ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นมีการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้มากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 2 เท่า ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อม การยอมรับของคนในครอบครัวและสังคม การจัดการกับความเครียดที่ไม่เหมาะสม โดยอาการที่จะพบได้คือ มีความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทารก รู้สึกเหนื่อยง่ากว่ายปกติ และรู้สึกไร้ค่า เป็นต้น (17)

การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น(3) พบว่า ประมาณ 85% ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเกิดจากการที่ไม่ได้วางแผน และข้อมูลจากกรมอนามัยประเทศไทย(4) พบว่าประมาณ 7.8% ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นเป็นการตั้งครรภ์ซ้ำเป็นครรภ์ที่สอง เพราะฉะนั้นการคุมกำเนิดจึงเป็นการป้องกันที่สำคัญ

การป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น มีการให้ความช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้กับหญิงตั้งครรภ์กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลการคุมกำเนิด มีการให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาที่เหมาะสม การสนับสนุนให้มีการคุมกำเนิดหลังคลอดหรือหลังแท้งแก่วัยรุ่น โดยการเยี่ยมบ้านหรือนัดตรวจติดตาม เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น

การคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดมีหลากหลายวิธีการ แต่วิธีการที่เหมาะสมในวัยรุ่น ควรต้องใช้ง่าย ไม่ต้องพบแพทย์บ่อย สามารถคุมกำเนิดได้ระยะยาว ราคาถูก และปลอดภัย

ในคำแนะนำของ American College of Obstetrics and Gynecology (ACOG) แนะนำให้การคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร (Long-acting reversible contraception) เช่น การฝังยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น ซึ่งสามารถคุมกำเนิดได้ระยะเวลานาน และควรเริ่มคุมกำเนิดทันทีหลังคลอด ซึ่งวิธีการนี้ไม่มีผลกระทบกับการให้นมบุตร อีกทั้งควรคุมกำเกิดด้วยวิธีการ dual method คือมีการใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย เพื่อช่วยลดการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (18,19)

สำหรับประเทศไทยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สิทธิ์ “วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถเข้ารับบริการคุมกำเนิดและยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” ณ สถานบริการในเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) (20)

สรุป

ปัจจุบันอุบัติการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการสนับสนุนเรื่องของการคุมกำเนิดมากขึ้น และวัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศศึกษาและการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกันอย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมักเป็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และโดยส่วนมากไม่ได้รับการดูแลครรภ์ที่เหมาะสม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6.7% เกิดภาวะซีด มีโอกาสติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเกิดภาวะทุพลภาพและเสียชีวิตของมารดาได้มากกว่าการตั้งครรภ์ในผู้ใหญ่ อีกทั้งพบการเพิ่มของอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนด เพิ่มอัตราการตายปริกำเนิด เพิ่มขึ้นของทารกน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งเป็นความเกี่ยวเนื่องมาจากการคลอดก่อนกำหนด

การดูแลสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นในระยะก่อนคลอดอย่างเหมาะสม จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ เช่น การได้รับการดูแลในเรื่องของโภชนการอย่างเหมาะสม สามารถช่วยลดการเกิดภาวะซีดได้ การคัดกรองเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคัดกรองเรื่องการใช้ยาเสพติด เป็นต้น ในระยะหลังคลอดควรมีการกระตุ้นเรื่องการให้นมบุตร การคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม ซึ่งแนะนำเป็นการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย และประเมินสภาพจิตใจ เนื่องจากมีโอกาสเกิดการภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

เนื่องจากการตั้งครรภ์เป็นปัญหาระดับประเทศ ดังนั้นการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Ganchimeg T, Ota E, Morisaki N, et al: Pregnancy and childbirth outcomes among adolescent mothers: a World Health Organization multicountry study. BJOG. 2014, 121 Suppl 1:40-8.
  2. UNICEF: Earlychild bearing. (2021). Acessed: May 10,2022
  3. Osterman, M. J. K., Hamilton, B. E., Martin, J. A., Driscoll, A. K., & Valenzuela, C.P. (2022). Births: Final data for 2020 (National Vital Statistics Reports Volume 70, Number 17). Centers for Disease Control and Prevention.
  4. ข้อมูลหญิงคลอด อายุ 15-19 ปี และข้อมูลประชากรกลางปี พ.ศ. 2553-2563 กองยุทธศาสตร์ และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย
  5. ข้อมูลจากรายงานงานอนามัยแม่และเด็ก (ก1ก2) ปี 2564 สำนักงานสาธารณะสุข จังหวัดเชียงใหม่
  6. Macedo, T. C. Prevalence of Preeclampsia and Eclampsia in Adolescent Pregnancy: A Systematic Review and Meta-Analysis of 291,247 Adolescents Worldwide since 1969.
  7. Brosens I, Muter J, Ewington L, Puttermans P, Petraglia F, Brosens JJ, Benagiano G: Adolescent preeclampsia: pathological drivers and clinical prevention. Reprod Sci. 2019, 26:159-71
  8. Zhang T, Wang H, Wang X, et al. The adverse maternal and perinatal outcomes of adolescent pregnancy: a cross sectional study in Hebei, China. BMC Pregnancy Childbirth. 2020;20(1):339.
  9. Scholl TO, Hediger ML, Belsky DH. Prenatal care and maternal health during adolescent pregnancy: a review and meta-analysis. J Adolesc Health 1994 Sep;15(6):444-56.
  10. Sekhar DL, Murray-Kolb LE, Kunselman AR, Weisman CS, Paul IM: Differences in risk factors for anemia between adolescent and adult women. J Womens Health (Larchmt). 2016, 25:505-13.
  11. Marvin-Dowle K, Kilner K, Burley VJ, Soltani H. Impact of adolescent age on maternal and neonatal outcomes in the Born in Bradford cohort. BMJ Open. 2018, 8:e016258.
  12. Conde-Agudelo A, Belizán JM, Lammers C. Maternal-perinatal morbidity and mortality associated with adolescent pregnancy in Latin America: cross-sectional study. Am J Obstet Gynecol. 2005, 192:342-9.
  13. Wilson RE, Alio AP, Kirby RS, Salihu HM. Young maternal age and risk of intrapartum stillbirth. Arch Gynecol Obstet. 2008, 278:231-6.
  14. Institute of Medicine (U.S.).Panel on Micronutrients IoMUSFaNB. Dietary reference intakes for vitamin A, vitamin K, arsenic, boron, chromium, copper, iodine, iron, manganese, molybdenum, nickel, silicon, vanadium, and Zinc. Washington DC: National Academy Press; 2000.
  15. Australian institute of health and welfare. Teenage mothers in Australia 2015. Cat. No. PER 93. Canberra: AIHW, 2018
  16. Uzunov A, Bohiltea R, Munteanu O, Nemescu D, Cirstoiu M. A retrospective study regarding the method of delivery of adolescents in a Romanian Hospital. Exp Ther Med. Published online June 4, 2020.
  17. Goossens G, Kadji C, Delvenne V: Teenage pregnancy: a psychopathological risk for mothers and babies?. Psychiatr Danub. 2015, 27 Suppl 1:S499-503.
  18. Adolescent Pregnancy, Contraception, and Sexual Activity. Committee opinion number 699. ACOG. 2017 May; 129:e142-9
  19. Adolescent Pregnancy, Contraception, and Sexual Activity. Committee opinion number 710. ACOG. 2017 Aug; 130:e74-80
  20. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย

 

 

Read More

การตรวจทางพันธุกรรมสำหรับทารกระหว่างการตั้งครรภ์ (Prenatal Genetic Test )

การตรวจทางพันธุกรรมสำหรับทารกระหว่างการตั้งครรภ์ (Prenatal Genetic Test )

พญ. พันธุ์ชิตา พงศ์ศุภสมิทธิ์
รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล


ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับทางเลือกในการตรวจสารทางพันธุกรรมของทารกเพื่อตรวจคัดกรองภาวะโครโมโซมมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ (Aneuploidy) และการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมก่อนคลอด (1) โดยการตรวจทางสารพันธุกรรมนั้นจะแบ่งเป็น การตรวจเพื่อคัดกรอง (Prenatal genetic screening) และ การตรวจเพื่อวินิจฉัย (Prenatal genetic diagnosis) ในปัจจุบันวิธีการตรวจเพื่อคัดกรองได้แก่ การตรวจ Cell free fetal DNA ซึ่งในเป็นวิธีที่นิยมใช้เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือมาก และลดการทำหัตถการรุกล้ำแก่ทารกในครรภ์ ในส่วนการตรวจสารทางพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัยที่นิยมใช้ได้แก่ การตรวจ Cytogenetic analysis หรือ karyotyping (Classical cytogenetics/chromosome banding technique), การตรวจ Fluorescence In Situ Hybridization (Molecular cytogenetic), การตรวจ Quantitative fluorescence polymerase chain reaction (QF-PCR), การตรวจ Chromosomal microarray analysis และ การตรวจ Whole genome sequencing หรือ whole exome sequencing โดยการตรวจวิธีนี้จะถูกเลือกทำในบางกรณีเท่านั้น และ ไม่แนะนำให้ใช้เป็นวิธีการตรวจเป็นประจำ สิ่งส่งตรวจนั้นสามารถนำมาจากน้ำคร่ำหรือชิ้นเนื้อรก และทำการเพิ่มจำนวนสารทางพันธุกรรม(DNA) จากสิ่งส่งตรวจโดยใช้วิธีการ Polymerase chain reaction (PCR) (2)

สำหรับการเลือกใช้เทคนิคการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการตรวจหาอะไร ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะสามารถแบ่งการทดสอบเป็นสามอย่าง คือการตรวจหายีนส์กลายพันธุ์ (mutation detection), การตรวจหาโครโมโซมที่ผิดปกติ cytogenetic studies และ การตรวจ Genotyping method ซึ่งในที่นี่จะขอกล่าวถึงการตรวจที่มีการนำมาใช้กับการตรวจทางพันธุกรรมในทารกระหว่างตั้งครรภ์ (3)

เทคนิคการตรวจทางพันธุศาสตร์

การตรวจ Standard cytogenetic analysis หรือ Karyotype analysis

เป็นการตรวจที่ใช้บ่อยในการหาโครโมโซมที่ผิดปกติ โดยความผิดปกติ หรือการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซมที่สามารถตรวจได้จากวิธีนี้มักจะต้องมีขนาดใหญ่ เช่น Translocation, Large deletion หรือ Aneuploidy โดยการทำ Karyotyping นั้นจะสามารถตรวจหาจำนวนโครโมโซมที่ผิดปกติ เช่น กลุ่มโรค Aneuploidy และสามารถตรวจหา Balanced หรือ Unbalanced structural rearrangement ของโครโมโซมที่มีขนาดอย่างน้อย 5-10 Mega base ขึ้นไป(1, 2) โดยความน่าเชื่อถืออยู่ที่ร้อยละ 99 โดยการตรวจควรจะใช้เนื้อเยื่อใดที่มีเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้ หรือเซลล์ที่สามารถถูกกระตุ้นให้แบ่งเซลล์ได้ (2)

เซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้จะถูกสารเคมีทำให้หยุดค้างอยู่ที่ระยะ metaphase ซึ่งเป็นระยะที่โครโมโซมถูกทำให้หดตัวและหนาแน่น และสามารถมองเห็นลักษณะแถบของโครโมนโซมได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งแต่ละโครโมโซมจะมีลักษณะแถบที่เป็นเอกลักษณ์จำเพาะของตัวเองทำให้สามารถแบ่งแยกโครโมโซมแต่ละคู่ได้ และ โครโมโซมที่ถูกย้อมจะเห็นเป็นลักษณะแถบสีสว่างและแถบสีเข้ม โดยเทคนิคการย้อมที่ใช้จะเป็นการย้อมโดย Giemsa staining ซึ่งจะทำให้เห็นเป็นลักษณะ G band และสามารถตรวจหาส่วนที่ขาดหายไป ส่วนที่เกิน หรือ ส่วนที่มีการสลับเรียงตัวใหม่ได้ ความน่าเชื่อของการตรวจ Cytogenetic analysis จะเพิ่มตามจำนวนแถบสีเข้มสว่าง (Bands) ที่ย้อมติด แถบสีเข้มสว่างที่มีความละเอียดสูงในช่วงระยะเมตาเฟส (High resolution metaphase banding) โดยปกติจะมีแถบให้เห็นได้ประมาณ 450-550 แถบต่อโครโมโซมชุดเดี่ยว (Haploid) 1 ชุด (2)

No description available.

รูปที่ 1 แสดงการตรวจ Standard Karyotype ที่พบว่ามีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง ในภาวะ Trisomy 21(2)

เนื่องจากเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้เท่านั้นที่จะสามารถนำมาทดสอบได้ (Metaphase analysis of cultured cell)ดังนั้นความเร็วของผลตรวจจะขึ้นกับความเร็วในการเติบโตของเซลล์ที่นำเพาะเลี้ยง ในน้ำคร่ำจะประกอบไปด้วยเซลล์เยื่อบุ เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร และ Amniocyte โดยผลตรวจจากเซลล์ดังกล่าวจะได้ภายใน 7-10 วัน ส่วนเซลล์เม็ดเลือดทารก อาจะให้ผลเร็วถึง 36-48 ชั่วโมงแต่ไม่ค่อยนำมาใช้ในทางคลินิก ส่วนในกรณีทารกหลังเสียชีวิต จะทำการตรวจจาก skin fibroblast ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2-3 สัปดาห์เนื่องจากการกระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัวนั้นทำได้ยาก(2)

การตรวจ Fluorescence In Situ Hybridization (FISH)

เทคนิคนี้เป็นวิธีที่เร็วในการใช้เพื่อระบุความผิดปกติของโครโมโซมที่มีลักษณะจำเพาะ (Specific chromosome abnormality) และเพื่อยืนยัน Microdeletion หรือ Duplication ที่สงสัย เช่น ภาวะ 22q11.2 microdeletion (DiGorge syndrome) เนื่องจากการตรวจจะใช้เวลาในการทดสอบ 1-2 วัน จึงมักถูกเลือกใช้ในกรณีที่ผลการทดสอบจะเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาในการตั้งครรภ์ (1, 2)

ในการตรวจ Fluorescence In Situ Hybridization หรือ FISH เซลล์จะถูกตรึงบนสไลด์แก้ว และ DNA probe ที่ถูกติดฉลากสีเรืองแสง (Fluorescent labeled DNA probe) จะไปจับกับโครโมโซมที่ถูก fixed ไว้ โดยที่แต่ละ DNA probe จะมีลำดับ DNA ที่เป็นคู่สมกับลำดับ DNA ของยีนที่สนใจบนโครโมนโซมที่ถูกนำมาทดสอบ หากบนโครโมโซมนั้นมีลำดับ DNAของยีนที่สนใจ probe ก็จะสามารถเข้าจับได้ และสามารถเห็นสีเรืองแสงได้จากกล้อง microscopy ซึ่งจำนวนของสีที่เห็นยังสามารถใช้ประโยชน์ในการเป็นตัวบอกจำนวนโครโมโซม หรือ จำนวนยีน ในเซลล์หนึ่งเซลล์ที่เอามาทดสอบ ว่ามีเกิน หรือ ขาด หรือไม่ โดยที่การตรวจนี้จะไม่ได้ให้ข้อมูลของยีนทั้งโครโมโซมแต่บอกแค่ข้อมูลของส่วนของโครโมโซม หรือยีนที่สนใจเท่านั้น (1-3)

บทบาทในการนำมาใช้ด้าน Prenatal genetic test ของ FISH นั้นคือ การตรวจโครโมโซมในระยะอินเตอร์เฟส(Interphase) ซึ่งเป็นระยะที่มีการสร้างส่วนประกอบต่าง ๆ ของเซลล์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแบ่งเซลล์ โดยใช้ลำดับดีเอ็นเอ (DNA sequenced) ที่จำเพาะกับโครโมโซมคู่ที่ 21 , 18, 13, X และ Y เพื่อตรวจจำนวนโครโมโซมเหล่านี้ว่ามีขาด หรือเกินหรือไม่ (2)

Graphical user interface Description automatically generated

รูปที่ 2 ภาพแสดง Interphase Fluorescence In Situ Hybridization (FISH) โดยการใช้ alpha satellite probe สำหรับ โครโมโซมคู่ที่ 18 (สีฟ้า) , X(สีเขียว) และ Y (สีแดง) ซึ่งในเคสนี้พบสีเขียวสองจุด และสีฟ้าสามจุดในหนึ่งเซลล์ ซึ่งหมายถึงการมีโครโมโซมคู่ที่ 18 เกิน และเป็นทารกเพศหญิง (2)

จากการทดสอบมากกว่า 45,000 ตัวอย่าง พบว่าผลของ FISH และ Standard cytogenetic karyotyping ตรงกันถึง ร้อยละ 99.8 (2) ACOG 2016 ไม่แนะนำให้ใช้ FISH เพียงอย่างเดียวในการวินิจฉัยหากพบผลตรวจผิดปกติ ควรใช้ข้อมูลจาก FISH ร่วมกับการตรวจอย่างน้อยข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ การตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรม Karyotyping หรือ การตรวจ Chromosomal microarray หรือ ข้อมูลทางคลินิกที่ช่วยส่งเสริม เช่น การตรวจคัดกรองภาวะ Aneuploidy ที่ผิดปกติ หรือ ภาพถ่ายอัลตราซาวด์ (1)

การตรวจ Quantitative fluorescence polymerase chain reaction (QF-PCR)

เป็นการทดสอบ Polymerase chain reaction ที่มีการสร้าง Amplicon หรือชิ้นส่วน DNA ที่มีลำดับทางพันธุกรรมแบบทำซ้ำโดยตรง (หัวต่อหาง) หรือการทำซ้ำแบบกลับหัว (แบบตัวต่อตัวหรือแบบหางถึงหาง) ซึ่งชิ้นส่วนนี้จะถูกติดฉลากเรืองเเสงไว้ และมีส่วนที่หางที่เป็นจุดสิ้นสุดของการสร้าง DNA และสามารถตรวจหาชิ้นส่วนเหล่านี้โดยใช้ Capillary electrophoresis เทคนิคที่มีการใช้อย่างมากในการทำ QF-PCR คือ การเพิ่มจำนวน Short tandem repeats (STRs) หรือส่วนของ DNA ที่มีลำดับนิวคลีโอไทด์ที่สั้นและที่มีความจำเพาะต่อโครโมโซมซึ่งลำดับนี้จะเป็นชุดซ้ำๆกัน และโดยปกติจะประกอบไปด้วย 2-5 คู่เบสต่อชุด (4)

QF-PCF จะทำโดยการสกัด DNA ออกมาจากน้ำคร่ำ หรือจากชิ้นเนื้อรก โดย DNA จากสิ่งส่งตรวจจะถูกเพิ่มจำนวนโดยใช้ Primer ที่ติดฉลากเรืองแสงไว้ โดย Primer ที่ใช้จะมีหลายตัวซึ่งออกมาแบบมาจำเพาะต่อตำแหน่งบนโครโมโซมคู่ที่ 13, 18, และ 21 โดยเลือกใช้ประมาณ 3-4 ตำแหน่งบนโครโมโซม 1 แท่ง เพื่อช่วยในการยืนยันผลหากพบโครโมโซมแท่งนั้นเกิน จากนั้นชิ้นส่วน DNA ที่ได้จากการสังเคราะห์จะถูกนำมาวิเคราะห์โดย Capillary electrophoresis ซึ่งจะทำการคัดแยกชิ้นส่วนเหล่านี้ตามขนาด โดยชิ้นส่วนขนาดเล็กจะผ่านไปได้ก่อน และขนาดเท่ากันจะผ่านไปพร้อมๆกัน และสามารถบอกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนมาจากโครโมโซมคู่ใดจากฉลากเรืองแสงที่ติดไว้ ดังนั้นจะสามารถบอกขนาดและปริมาณของชิ้นส่วนนั้นๆ จากนั้นข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปวิเคราะห์เชิงปริมาณต่อ (Quantitative analysis) และแสดงผลออกมาในรูปแบบกราฟ (4)

การใช้ QF-PCR ในบทบาทการตรวจหา Aneuploidy จะให้ผลค่อนข้างเร็วภายใน 1-2 วัน เนื่องจากเซลล์ของทารกไม่จำเป็นต้องนำมาเพาะเลี้ยง อย่างไรการแปลผลนั้นจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และจำเป็นต้องมีการลงทุนทั้งทางด้านอุปกรณ์ และบุคลากรที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้ว จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการตรวจนี้มีความน่าเชื่อถือร้อยละ 100 และไม่มีผลลบลวง (False negative) (5) จากการเปรียบเทียระหว่าง Karyotype กับ การทำ QF-PCR พบว่า ผลไปในทิศทางเดียวกัน ร้อยละ 98.75 และ พบว่า Karyotypeที่ผิดปกตินั้นไม่สามารถตรวจพบได้อีกร้อยละ 0.05 ดังนั้น QF-PCR จำสามารถให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ทางคลินิก และลดขั้นตอนการทำงานของห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงให้ผลที่เร็วกว่าสำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้ดูแล (6)

ข้อเสียหลักๆของ QF-PCR คือ มีจุดอ่อนในการตรวจความผิดปกติของ Sex chromosome นั่นคือเมื่อ STRs ที่จำเพาะกับ Chromosome X ถูกใช้ QF-PCR อาจเเสดงผลออกมาเป็นลักษณะ Homozygous ของโครโมโซมเพศหญิงปกติ (XX) ซึ่งแยกไม่ได้กับลักษณะ Single X chromosome หรือ Monosomy X (XO) (5) อย่างไรก็ตามจุดอ่อนนี้สามารถแก้ไขโดยการใช้ Highly polymorphic marker ซึ่งมีความจำเพาะต่อ X แต่ละตัวแทนในการทดสอบ

การตรวจ Chromosomal microarray analysis หรือ CMA

การตรวจนี้มีความไวในการตรวจ (Sensitivity) มากกว่าการตรวจ Standard karyotyping ถึง 100 เท่า สามารถตรวจหา Microdeletion และ Microduplication ได้เล็กถึง 50-100 กิโลเบส การตรวจ Direct CMA ใช้เวลาออกผลประมาณ 3-5 วัน แต่ถ้าหากจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงเซลล์เพิ่มอาจใช้เวลา 10-14 วัน(1) เทคนิคการตรวจ Microarray สามารถใช้ได้ทั้งวิธี Comparative genomic hybridization (CGH) platform และ วิธี Single nucleotide polymorphism (SNP) platform หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน (2)

CGH microarray platform เป็นการเปรียบเทียบ DNA จากสิ่งส่งตรวจ กับ DNA ควบคุมที่เป็นปกติ โดยจะมีส่วนของชิป (CGH chip) ที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนของลำดับ DNA ที่เป็นคู่สมกับ DNA ที่สนใจ (Oligonucleotide) โดยที่ดีเอ็นเอของทารก (Fetal DNA) จากน้ำคร่ำหรือชิ้นส่วนของเนื้อรก (Chorionic villi sampling) จะถูกติดฉลากโดยสีเรืองแสง (Fluorescent) และจับเข้ากับ DNA ที่เป็นคู่สมที่อยู่บนชิป ส่วน DNA ควบคุมที่เป็นปกติจะถูกติดฉลากสีเรืองแสงอีกสี และก็จะเข้าจับกับ DNA ที่เป็นคู่สมบนชิปเช่นเดียวกัน จากนั้นความเข้มของสีเรืองแสง (Intensity of fluorescent signal) ที่ติดฉลากกับ DNA ของสิ่งส่งตรวจ และ ที่ติดฉลาดกับ DNA ควบคุมจะถูกเปรียบเทียบกัน ซึ่งปกติควรจะมีความเข้มแสงเท่ากัน หากความเข้มแสงของสิ่งส่งตรวจมีมากกว่า นั่นหมายความว่าโครโมโซมจากสิ่งส่งตรวจน่าจะมีชิ้นส่วนของโครโมโซมที่สนใจเกิน หากน้อยกว่า หรือไม่มี นั้นหมายถึงการขาดหายไปของชิ้นส่วนโครโมโซมที่สนใจ(2)

No description available. รูปที่ 3 ภาพแสดง Chromosomal microarray analysis
ภาพ A แสดงขนาดชิป
ภาพ B แสดงช่อง หรือที่เรียกว่าเซลล์ที่อยู่บนชิป
ภาพ C และ D แสดงภาพแต่ละช่อง ซึ่งภายในช่องจะมี Oligonucleotides นับพันที่เป็นคู่สมกับ DNA ที่สนใจที่หน้าตาเหมือนๆกันเคลือบอยู่บนผิว E แสดง DNA จากสิ่งส่งตรวจตัวอย่างที่ถูกติดฉลากและเข้าไปจับกับ DNA คู่สมบนชิป F เกิดการจับคู่กันจะเห็นสีที่ถูกติดฉลาก(2)

SNP array platform ในชิปจะประกอบไปด้วยลำดับ DNA ที่แตกต่างกัน โดยที่ปกติภายในสาย DNA ของสิ่งมีชีวิตสปีชีย์เดียวกันจะมีลำดับเบสบน DNA เหมือนกัน ยกเว้นเพียงตำแหน่ง SNP (Single nucleotide polymorphism)ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เป็นตัวบอกอัตลักษณ์บุคคล โดยเมื่อ DNA ของทารกที่จับกับ DNA คู่สมบนชิป นิวคลีโอไทด์ที่ติดฉลากสีเรืองแสงจะเข้ามาจับกับตำแหน่ง DNA ทารกที่เป็นคู่สมกันตรงตำแหน่ง SNP ทำให้ทราบชนิดของ nucleotide ที่ตำแหน่ง SNP ของตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ และความเข้มของสัญญาณสีเรืองแสงจะเป็นตัวบ่งบอกจำนวนชุดของความแตกต่าง (7, 8)

Diagram Description automatically generated

รูปที่ 4 แสดงชิปของ SNP microarray platform (ภาพ A) แสดงในหนึ่ง DNA typing chip จะประกอบไปด้วย 12 ส่วน เพื่อที่สามารตรวจได้ 12 ตัวอย่างพร้อมกัน ซึ่งแต่ละส่วนจะประกอบไปด้วยช่องเล็กๆ ที่ภายในหนึ่งช่องจะมีเม็ดบีด (Bead) หลายแสนตัว ซึ่งผิวของแต่ละเม็ดบีดจะห่อหุ้มด้วย DNA Probe ซึ่งจะมีลำดับ DNA ที่เป็นคู่สมกับ DNA ที่สนใจ โดยลำดับเบสที่อยู่บนผิวเม็ดบีดนั้นจะถึงแค่ตำแหน่งก่อนที่จะเป็นตำแหน่ง SNP โดยที่หากอยู่ในช่องเดียวกัน DNA probe ก็จะเป็นลำดับเบสเดียวกัน แต่ต่างกันไปในแต่ละช่อง จึงทำให้สามารถตรวจยีนได้หลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน (ภาพ B) ชิ้นส่วน DNA จากสิ่งส่งตรวจจะถูกผสมเข้าไปในช่องละจับกับ DNA probe ที่เป็นคู่สม  (ภาพ C) ผสมนิวคลีโอไทด์ที่ติดฉลากสารเรืองแสงไว้เข้าไป โดย นิวคลีโอไทด์ที่เป็นคู่สมกับตำแหน่ง SNP จะเข้าไปจับกับตำแหน่ง SNP โดยมีเอนไซม์ DNA polymerase มาช่วยต่อเข้าไปในสาย (ภาพ D) จากบุคคลที่หนึ่งมี Genotype ที่ตำแหน่ง SNP เป็น heterozygous A/G ดังนั้น นิวคลีโอไทด์ที่เข้าไปจับจะมีสองส่วน และเห็นสีเรืองแสงสองสี ในขณะที่บุคคลที่สอง มีตำแหน่ง SNP เป็น homozygous A/A ดังนั้นก็จะแสดงสีเพียงแค่สีเขียว โดยที่ความเข้มของแสงจากแต่ละ bead จะแปลผลโดย high resolution scanning laser ดังนั้น เมื่อแปลผลทั้งชิป ซึ่งจะมีลำดับเบสที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่อง จะสามารถรู้ลำดับเบสบน DNA ทั้งหมดของเกือบทุกโครโมโซมของสิ่งส่งตรวจ จึงสามารถบอกได้ว่ามีส่วนใดหายไป หรือส่วนใดเกิน โดยลำดับเบสที่จะทราบนั้นซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบชิปของบริษัทที่ผลิตชิปว่าใส่ DNA probe ครอบคลุมลำดับเบสมากแค่ไหน ซึ่งในปัจจุบันลำดับเบสที่สามารถผลิตออกมาได้มีความครอบคลุมตำแหน่งที่สำคัญของทุกโครโมโซม (7)

ซึ่งทั้งสองเทคนิคสามารถตรวจหา Aneuploidy, Unbalanced translocations, Microdeletion และ Microduplication ได้ แต่ทั้งสองแบบจะไม่สามารถตรวจหา Balanced chromosomal rearrangement ได้ ด้วยเหตุผลนี้คู่แต่งงานที่มีปัญหาแท้งซ้ำซาก (Recurrent pregnancy loss) ควรได้รับการตรวจ Karyotype เป็นอันดับแรกก่อน (First line test) (2, 9)

นอกจากนี้ SNP array สามารถตรวจหาภาวะ Triploidy และ ภาวะ Absence of heterogenous ที่เกิดในกรณี Uniparental disomy ซึ่งคือการที่ทั้งสองแท่งของโครโมโซมคู่ใดคู่หนึ่งได้รับมาจากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น เป็นภาวะที่มักขึ้นในภาวะ Trisomy rescue (2, 10)

การทำ Array อาจตรวจดูยีนโดยรวม (Genome-wide array) หรือการตรวจเพื่อพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มโรคที่สงสัย (Targeted to known genetic syndrome) ก็ได้ ซึ่งการตรวจ Genome wide array มักใช้ในการศึกษาวิจัยมากกว่า ส่วนการตรวจ Targeted arrays จะมีบทบาทในการตรวจทารกในครรภ์ (Prenatal genetic test)(2, 11)

การประยุกต์ใช้ในทางคลินิก

ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิด Autosomal trisomy จากการตรวจคัดกรองโครโมโซมที่ผิดปกติ (Aneuploidy screening) ควรได้รับการตรวจ Karyotyping หรือ การตรวจ FISH ร่วมกันกับ Karyotyping หากพบว่าทารกมีความผิดปกติ (Fetal abnormalities) แล้วทำการตรวจ Karyotyping ผลออกมาเป็นปกติ พบว่า Chromosomal microarray สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ถึงร้อยละ 6.5 และ ร้อยละ 1-2 หากทารกไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน (12) ดังนั้น ACOG และ SMFM จึงแนะนำให้สามารถพิจารณาทำการตรวจ CMA เป็นการตรวจแรก (First tier test ) ถ้าหากพบว่าทารกมีความผิดปกติทางโครงสร้าง (fetal structural abnormalities) แทนการตรวจ Karyotyping แต่ถ้าหากความผิดปกติที่พบค่อนข้างจำเพาะกับกลุ่มโรค Aneuploidy ชัดเจน เช่น การพบ Endocardial defect ที่พบในกลุ่มโรค Trisomy 21 หรือการมี Alobar holoprosencephaly ที่พบใน Trisomy 13 การตรวจขั้นต้นก็ควรทำเป็น Karyotyping และ หรือร่วมกับ FISH (1, 13) โดยจำเป็นต้องให้ข้อมูลข้อดีและข้อจำกัดในการตรวจแต่ละชนิดเพื่อให้มารดาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือก CMA อาจสามารถช่วยในการระบุโรคทางพันธุกรรมที่เป็นยีนส์เด่น (Autosomal dominant genetic disorders) แต่ยังไม่แสดงอาการในรุ่นพ่อแม่ที่มียีนส์ดังกล่าว และยังสามารถบ่งชี้ในกรณีที่โรคไม่ได้ถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่สู่ลูก (2)

สำหรับการตรวจทารกที่มีภาวะตายคลอด (Stillbirth) การตรวจ CMA มักถูกใช้เป็นการตรวจมาตราฐานมากกว่าการตรวจ Standard karyotyping หนึ่งในเหตุผลคือการตรวจ CMA ไม่จำเป็นต้องใช้เซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้ จากข้อมูล The Stillbirth Collaborative Research Network พบว่าประมาณร้อยละ 6 ของเคสที่การตรวจ Karyotyping ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ การตรวจ CMA สามารถระบุได้ว่าเป็น Aneuploidy หรือมี Pathologic copy number variant โดยที่โดยรวมแล้วการตรวจ CMA สามารถให้ผลได้มากกว่าการตรวจ Karyotyping เพียงอย่างเดียวถึงร้อยละ 25 (1, 13, 14)

การตรวจ CMA สามารถตรวจหาชิ้นส่วนของ DNA ที่มีการเพิ่มเติมหรือขาดหายที่มีขนาดเล็กได้ถึงอย่างน้อย 1000 คู่เบส ซึ่งชิ้นส่วนขนาดเล็กเหล่านี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม หรือขาดหายไปจากตัวอย่างปกติจะถูกเรียกว่า Copy number variants ซึ่งชิ้นส่วนนี้อาจมีนัยยะสำคัญทางคลินิกซึ่งสัมพันธ์กับภาวะปกติ (Benign copy number variants ) หรือ ภาวะผิดปกติ (Pathologic Copy number variants) ที่สัมพันธ์กับโรคทางพันธุกรรมซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 15 (15) แต่ก็ยังมีส่วนของ Copy number variants เหล่านี้ที่ปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามีนัยยะสำคัญทางคลินิกหรือไม่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลของตำแหน่งลำดับเบสเหล่านั้นว่าสัมพันธ์กับการแสดงออกทางพันธุกรรม (Phenotype) แบบใด ซึ่งจะถูกเรียกว่า Copy number variants of uncertain significance หรือ Variants of uncertain clinical significant (11)

การตรวจ CMA ยังสามารถระบุความผิดปกติของสารพันธุกรรมที่เป็นโรคที่เกิดในวัยผู้ใหญ่ (Adult onset disorder) เช่น โรค Charcot-Marie-Tooth disease ซึ่งเกิดจาก Duplication ที่อาจส่งต่อมาจากบิดา หรือ มารดาที่ไม่มีอาการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอธิบายภาวะเหล่านี้ให้ผู้ป่วยรับทราบก่อนการส่งตรวจ (11)

Whole Genome sequencing และ whole exome sequencing [next generation sequencing]

โดยส่วนมากทารกในครรภ์ที่มีความผิดปกติทางโครงสร้าง (Structural abnormalities) มักมีผล Karyotype หรือ CMA ที่ปกติ การตรวจ Whole Genome sequencing เป็นเทคนิคการตรวจ genome ทั้งหมด ส่วน Whole exome sequencing เป็นการตรวจเฉพาะส่วนของ genome ที่จะแปลเป็น DNA ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1 ของ genome ทั้งหมด (2, 11) โดยจากการศึกษาพบว่าสามารถระบุความผิดปกติของสารพันธุกรรมในรายที่ทารกมีภาวะผิดปกติหลายส่วน (Multiple anomalies) ซึ่งไม่พบความผิดปกติจากการตรวจมาตรฐาน เช่น Karyotype , Microarray หรือทั้งสองอย่างได้ถึงร้อยละ 20-30 (16)

การใช้สองเทคนิคนี้มีการใช้มากขึ้นกับในการตรวจหลังคลอด เพื่อประเมินในกรณีสงสัยโรคทางพันธุกรรม(Genetic syndrome) หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ (Intellectual disability) ในปัจจุบันมีการแนะนำให้ใช้ในกรณีที่ทารกในครรภ์สงสัยภาวะโรคทางพันธุกรรมชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจ CMA ACOG แนะนำให้เลือกทำเป็นกรณีไป เช่น ในกรณีที่เด็กทารกมีลักษณะผิดปกติที่ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ หรือมีภาวะความผิดปกติที่ซ้ำกับทารกในครรภ์ก่อนหน้า (Lethal or recurrent anomalies) ที่การตรวจอื่นไม่สามารถให้ข้อมูลหรือวินิจฉัยได้(11) ข้อจำกัดของการตรวจเทคนิคนี้คือเวลาการตรวจที่อาจใช้เวลานาน ดังนั้น จึงยังไม่ได้มีการนำมาใช้ในส่วนของ Prenatal test มากนัก (2, 11)

อย่างไรก็ตามเนื่องจากผลการตรวจ CMA อาจพบผลที่เป็น Copy number variants of uncertain significance หรือ Variants of uncertain clinical significant ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแปลผล และผลนี้อาจทำให้เกิดความกังวลใจกับผู้ป่วยได้ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการอธิบายรายละเอียดรวมถึงผลที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยก่อนทำการส่งตรวจ (11)

Fetal DNA in maternal circulation

เซลล์ของทารก (Fetal cells) จะอยู่ในเลือดมารดาในอัตราส่วนความเข้มข้นที่ค่อนข้างต่ำ ประมาณ 2-6 เซลล์/มิลลิลิตรของเลือดมารดา ซึ่งบางครั้งเซลล์เหล่านี้อาจอยู่ในเลือดแม่ค้างนานกว่าสิบปีหลังคลอด โดยที่เซลล์ที่ยังคงค้างอยู่นั้นอาจการแฝงเข้าไปในเซลล์มารดา (Engraft) และทำให้เกิดภาวะ Microchimerism ซี่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคภูมิคุ้มกันต่อตนของมารดา (Maternal autoimmune disease) เช่น Scleroderma, SLE และHashimoto thyroiditis ในเวลาต่อมา สำหรับการตรวจเพื่อวินิจฉัยจากเซลล์ทารกในเลือดมารดานั้นถูกจำกัดโดยความเข้มข้นของปริมาณเซลล์ที่น้อย เซลล์จากการตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้ และความยากในการแยกเซลล์ทารกกับเซลล์มารดา แต่ Cell free DNA นั้นสามารถ ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดเหล่านี้ได้(2)

Cell free DNA คือ ชิ้นส่วนของ DNA นี้ได้จากเซลล์ของมารดา (maternal cell) และ เซลล์รกที่มีการตาย (Apoptotic placental trophoblastic cell) ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็น DNA ของทารก โดย Cell free DNA จะมีความน่าเชื่อถือเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 9-10 สัปดาห์ สัดส่วนของ cell free DNA ซึ่งมาจากรกนั้น ถูกเรียกว่า Fetal fraction โดยถือเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ10 ของ Cell free DNA ทั้งหมดในพลาสมาของมารดา

Cell free DNA ต่างกันกับ Intact fetal cell ตรงที่สามารถล้างออกมาจากเลือดของมารดาโดยใช้เวลาภายในไม่กี่นาที สำหรับการศึกษาวิจัย Cell free DNA สามารถใช้เพื่อตรวจหา Single gene disorder ได้หลากหลายโรค ซึ่งส่งผ่านมาทาง Alleles ของพ่อ หรือ แม่ ได้แก่ Myotonic dystrophy, Achondroplasia, Huntington disease, Congenital adrenal hyperplasia, Cystic fibrosis และ alpha thalassemia(9) การนำไปใช้ในทางคลินิกของ cell-free DNA ได้แก่ การตรวจคัดกรอง Aneuploidy, การบอกเพศทารก และการบอกหมู่เลือด Rh (Rh D genotyping) (2)

การคัดกรอง Aneuploidy

มี 2-3 วิธีที่แตกต่างในการตรวจคัดกรองเด็กทารก Trisomy และ Sex chromosomal aneuploidies โดยใช้ cell free fetal DNA ได้แก่ วิธีการ Sanger sequencing, Whole genome sequencing ที่มักถูกเรียกว่า Massive parallel หรือ Short gun sequencing วิธีการเลือกดูเฉพาะโครโมโซม (Chromosome selective) หรือ Targeted sequencing และ วิธี SNPs analysis (Allele analysis)โดยสามารถรู้สัดส่วนของชิ้นส่วนโครโมโซมแต่ละคู่ว่าสูงเกินที่ควรจะเป็นหรือไม่ ดังนั้น มารดาที่มีทารกในครรภ์เป็นโรคดาว์ซินโดรมจะมีสัดส่วนของ DNA จากโครโมโซมคู่ที่ 21 มากกว่าปกติ

การตรวจคัดกรองจาก Cell free DNA นั้นจาก 37 การศึกษาพบว่ามีความไว (Sensitivity) ในการตรวจพบ Down syndrome อยู่ที่ร้อยละ 99 และการตรวจหา trisomy 18 และ 13 อยู่ที่ ร้อยละ 96 และ 91 และ ความจำเพาะ (Specificity) อยู่ที่ ร้อยละ 99.9 ผลบวกลวง (False positive) ของการตรวจคัดกรอง Aneuploidy อยู่ที่น้อยกว่าร้อยละ 1 โดยในปัจจุบัน การตรวจ Cell free DNA เพื่อคัดกรอง ถูกแนะนำให้เป็นทางเลือกในมารดาที่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่ทารกจะเป็น Fetal autosomal trisomy (2, 9)

ในบางครั้ง cell free DNA screen อาจไม่สามารถบอกผลได้ ในเคสร้อยละ 4-8 ซึ่งอาจจะเกิดจากความล้มเหลวของ assay, high assay variance หรือ low fetal fraction

การบอกเพศของเด็กทารก

ในมุมมองโรคทางพันธุกรรม การบอกเพศของเด็กทารกนั้นอาจมีประโยชน์หากทารกนั้นมีความเสี่ยงในการเกิดโรค X-linked disorder และ ยังมีประโยชน์หากทารกมีความเสี่ยงในการเป็น Congenital adrenal hyperplasia เนื่องจาก การให้ Corticosteroid ในแม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะให้หากทารกนั้นเป็นเพศชาย ในการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 6,000 คน ความไว (Sensitivity) ในการบอกเพศจาก Cell free fetal DNA อยู่ที่ ร้อยละ 95 โดยตรวจช่วงอายุครรภ์ 7-12 สัปดาห์ และมากถึงร้อยละ 99 หากตรวจหลัง 20 สัปดาห์ ดังนั้นจึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้แทนการตรวจรุกล้ำ (Invasive testing ) (2)

การบอกหมู่เลือด Rh D Genotype

ในกลุ่มประชากรผิวขาวเกือบร้อยละ 40 ของเด็กทารกที่มารดาเป็น Rh D negative จะมีหมู่เลือดเป็น Rh D negative เช่นเดียวกัน การตรวจโดยใช้ cell free DNA สามารถทำได้โดยการใช้ real time PCR ต่อ exons ของ
RHD gene ซึ่งมักจะอยู่ที่ exon 4, 5 และ 7 ซึ่งการตรวจพบว่าทารกนั้นเป็น Rh D negative เช่นเดียวกันตั้งแต่ต้นจะช่วยหลีกเลี่ยงการตรวจ Middle cerebral artery doppler และการเจาะน้ำคร่ำที่ไม่จำเป็น และช่วยลดค่าใช่จ่ายรวมถึงความเสี่ยงจากการทำหัตถการ (2)

การตรวจหมู่เลือด Rh ด้วยวิธีการ Cell free DNA จะถูกทำเป็นปกติในประเทศเดนมาร์คและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจะคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ พบว่าผลลบลวง (False negative) อยู่ที่ร้อยละ 0.03 และ ผลบวกลวง (False positive) อยู่ที่น้อยกว่าร้อยละ 1 (2)

ตารางสรุปเปรียบเทียบเทคนิคการตรวจทางพันธุศาสตร์ของทารกในครรภ์แต่ละชนิด(1)

การทดสอบ เวลาที่ใช้ ภาวะที่ตรวจพบได้ หมายเหตุ
Conventional karyotype (Cultured cell – metaphase analysis) 7-14 วัน โครโมโซมที่ผิดปกติที่ขนาดมากว่า 5-10 เมกะเบส
FISH

-Direct preparation (Interphase) ไม่ต้องเพาะเลี้ยงเซลล์

24-48 ชั่วโมง การตรวจที่เร็วสำหรับ ภาวะ Aneuploidy หลัก ๆ เช่น โครโมโซม 13, 18, 21 , X และ Y การตรวจ FISH จากโดยวิธีไม่เพาะเลี้ยงเซลล์จากการเจาะชิ้นเนื้อรกมีความแม่นยำน้อยกว่าจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่ได้จากชิ้นเนื้อรก หรือน้ำคร่ำ ดังนั้นหากพบความผิดปกติควรได้รับการยืนยันจาการทำ FISH จากเซลล์ที่เพาะเลี้ยงซ้ำ
FISH

-Cultured cells (Metaphase)

7-14 วัน Microdeletion และ duplication ใช้ในภาวะผิดปกติที่จำเพาะ (specific abnormalities) เมื่อมีข้อมูลทางคลินิกที่สงสัย
QF-PCR 1-2 วัน การตรวจที่เร็วสำหรับ ภาวะ Aneuploidy หลัก ๆ เช่น โครโมโซม 13, 18, 21 , X และ Y
Chromosomal microarrays 3-5 วัน (ไม่เพาะเลี้ยงเซลล์)

10-14 วัน (เพาะเลี้ยงเซลล์)

ชิ้นส่วนของDNA ที่เพิ่มขึ้น หรือ หายไป (copy number of variants) ที่มีขนาดมากกว่า 50-200 กิโลเบส เป็นการตรวจทั้งจีโนม เพื่อหา copy of variants โดยที่จะไม่สามารถตรวจหา Balanced rearrangement และ Triploidies การตรวจจะมีความหลากหลายเนื่องจาก microarray platform ที่ออกแบบมาต่างกัน
Molecular DNA testing 3-14 วัน เร็วกว่าหากไม่ได้มีการเพาะเลี้ยงเซลล์ ตรวจหา Genetic mutation ที่รู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว หรือเคยมีการแสดงออกมาแล้วในครอบครัว หรือสงสัยจากการตรวจภาพอัลตราซาวด์ หรือจากสิ่งตรวจพบอื่นของทารกในครรภ์ Targeted test focusing on specific disorder ซึ่งส่วนใหญ่จะได้หลักฐานข้อมูลจากประวัติครอบครัว หรือลักษณะของทารกจาก
อัลตราซาวด์

ในปัจจุบันเทคนิคการตรวจเพื่อคัดกรองทางพันธุศาสตร์ซึ่งเป็นที่นิยมใช้คือ Cell free fetal DNA เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะในการตรวจค่อนข้างสูงรวมถึงหลีกเลี่ยงการทำหัตการลุกล้ำโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามหากพบความผิดปกติจากการส่งตรวจข้างต้นก็จำเป็นที่จะต้องส่งตรวจทางพันธุศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัย โดย ACOG แนะนำให้ทำการตรวจ CMA เป็นการตรวจแรกถ้าหากพบว่าทารกมีความผิดปกติทางโครงสร้างแทนการตรวจ Karyotyping เนื่องจากสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ถึงร้อยละ 6.5 ในกรณีที่ทารกมีความผิดปกติทางโครงสร้างและตรวจ Karyotype ให้ผลปกติ แต่ถ้าหากความผิดปกติที่พบค่อนข้างจำเพาะกับกลุ่มโรค Aneuploidy ชัดเจนการตรวจขั้นต้นก็ควรทำเป็น Karyotyping และ หรือร่วมกับ FISH แต่ไม่แนะนำให้ทำการวินิจฉัยจากผลการตรวจ FISH เพียงอย่างเดียว การตัดสินใจควรมีองค์ประกอบของผลตรวจ FISH ร่วมกับการตรวจอย่างน้อยข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ การตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรม Karyotyping หรือ การตรวจ Chromosomal microarray หรือ ข้อมูลทางคลินิกที่ช่วยส่งเสริม เช่น การตรวจคัดกรองภาวะ Aneuploidy ที่ผิดปกติ หรือ ภาพถ่ายอัลตราซาวด์ เทคนิค QF-PCR ก็ถือเป็นอีกวิธีที่สามารถให้ผลที่มีความน่าเชื่อถือในกรณีสงสัยภาวะ Aneuploidy ของโครโมโซม 13,18,21 ซึ่งสามารถให้ผลตรวจที่เร็วภายใน 1-2 วัน แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการแปลผล ส่วน Whole Genome sequencing และ whole exome sequencing [Next generation sequencing] ACOG แนะนำให้เลือกทำเป็นกรณีไป เช่น ในกรณีที่เด็กทารกมีลักษณะผิดปกติที่ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ หรือมีภาวะความผิดปกติที่ซ้ำกับทารกในครรภ์ก่อนหน้า (Lethal or recurrent anomalies) ที่การตรวจมาตรฐานอื่น เช่น Karyotype , CMA หรือทั้งสองอย่างไม่สามารถให้ข้อมูลหรือวินิจฉัยได้ และก่อนการส่งตรวจไม่ว่าจะเป็นการส่งตรวจใดทุกครั้งควรมีการให้คำอธิบายถึงวิธี ผลการตรวจที่อาจเกิดขึ้นได้ ข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดของแต่ละวิธีให้กับผู้ป่วยทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง

1. American College of Obstetricians, Gynecologists. Practice bulletin no. 162: Prenatal diagnostic testing for genetic disorders. Obstetrics and gynecology. 2016;127(5):e108-e22.

2. Cunningham FG, Leveno KJ, bloom SL, Dashe JS, Hoffman BL, Casey BM, et al. Williams Obstetrics. 25 ed: McGraw-Hill Education; 2018.

3. Schrijver I, Zehnder JL. Tools for genetics and genomics: Cytogenetics and molecular genetics.

4. Hixson L, Goel S, Schuber P, Faltas V, Lee J, Narayakkadan A, et al. An overview on prenatal screening for chromosomal aberrations. Journal of Laboratory Automation. 2015;20(5):562-73.

5. Brown L, Abigania M, Warburton D, Brown S. Validation of QF‐PCR for prenatal aneuploidy screening in the United States. Prenatal Diagnosis: 2006;26(11):1068-74.

6. Badenas C, Rodríguez-Revenga L, Morales C, Mediano C, Plaja A, Pérez-Iribarne MM, et al. Assessment of QF-PCR as the first approach in prenatal diagnosis. The Journal of Molecular Diagnostics. 2010;12(6):828-34.

7. Kim S, Misra A. SNP Genotyping: Technologies and Biomedical Applications. Annu Rev Biomed Eng. 2007;9:289-320.

8. He C, Holme J, Anthony J. SNP genotyping: the KASP Assay. Crop Breeding: Springer; 2014. p. 75-86.

9. Rose NC, Kaimal AJ, Dugoff L, Norton ME, American College of Obstetricians, Gynecologists. Screening for fetal chromosomal abnormalities: ACOG practice bulletin, number 226. Obstetrics & Gynecology. 2020;136(4):e48-e69.

10. Chau MHK, Choy KW. The role of chromosomal microarray and exome sequencing in prenatal diagnosis. Current Opinion in Obstetrics and Gynecology. 2021;33(2):148-55.

11. Obstetricians ACo, Gynecologists. Microarrays and next-generation sequencing technology: the use of advanced genetic diagnostic tools in obstetrics and gynecology. ACOG Committee opinion no. 682. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol. 2016;128:e262-e8.

12. Callaway JL, Shaffer LG, Chitty LS, Rosenfeld JA, Crolla JA. The clinical utility of microarray technologies applied to prenatal cytogenetics in the presence of a normal conventional karyotype: a review of the literature. Prenatal Diagnosis. 2013;33(12):1119-23.

13. Hay SB, Sahoo T, Travis MK, Hovanes K, Dzidic N, Doherty C, et al. ACOG and SMFM guidelines for prenatal diagnosis: Is karyotyping really sufficient? Prenatal diagnosis. 2018;38(3):184-9.

14. Levy B, Wapner R. Prenatal diagnosis by chromosomal microarray analysis. Fertility and Sterility. 2018;109(2):201-12.

15. Vissers LE, Veltman JA, van Kessel AG, Brunner HG. Identification of disease genes by whole genome CGH arrays. Human Molecular Genetics. 2005;14(suppl_2):R215-R23.

16. Drury S, Williams H, Trump N, Boustred C, GOSGene, Lench N, et al. Exome sequencing for prenatal diagnosis of fetuses with sonographic abnormalities. Prenatal Diagnosis. 2015;35(10):1010-7.

 

Read More
CCA01

Common Chromosome Abnormalities

Common Chromosome Abnormalities

พญ.กฤตยา ภิรมย์
อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล


 

ความผิดปกติของโครโมโซม เป็นโรคทางพันธุกรรมที่สำคัญ เนื่องจากทำให้เกิดภาวะแท้งได้ถึง 50 % การตายคลอด 5 % และ สามารถเกิดมามีชีวิตได้ 0.5 % เด็กที่เกิดมาจะพบความผิดปกติ ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว การตรวจพบตั้งแต่เบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบางภาวะสามารถรักษาได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

การแบ่งกลุ่มความผิดปกติของโครโมโซม

  1. Numerical abnormalities การผิดปกติที่จำนวนโครโมโซม ซึ่งแบ่งเป็น Polyploidy (จำนวนโครโมโซมเพิ่มขึ้นทั้งชุด) และ Aneuploidy (จํานวนโครโมโซมเพิ่มหรือลดทั้งโครโมโซม)
  2. Structural abnormalities ได้แก่ Deletions (การหลุดแยกของโครมาทิด), Insertion (การแทรกของโครมาทิด), Inversion (การหมุนสลับตำแหน่งของโครโมโซม), Ring chromosome (โครโมโซมที่มีรูปร่างเหมือนวงแหวน) , Isochromosome (การสลับที่กันของโครโมโซม) และ Translocations(การสับเปลี่ยนชิ้นสวนของโครโมโซม) ซึ่งแบ่งเป็น Reciprocal translocation (Translocation ที่เกิดระหว่างโครโมโซมที่ไม่ใช่ Acrocentric chromosomes 2 โครโมโซม) และ Robertsonian translocation (Translocation ที่เกิดระหว่าง Acrocentric chromosomes 2 โครโมโซม)

Abnormalities of Chromosome Number

Aneuploidy โรคที่มีจํานวนโครโมโซมเพิ่มหรือลดทั้งโครโมโซม ซึ่งในคนปกติมีโครโมโซม 2 ชุด จำนวน 46 แท่ง อาจมีเกินเป็น 47, 48 หรือขาดไปเป็น 44, 45 Trisomy คือโรคที่มีจํานวนโครโมโซมเพิ่มขึ้น 1 โครโมโซม ส่วน Monosomy คือโรคที่มีจํานวนโครโมโซมลดลง 1 โครโมโซม

Autosomal trisomies

Trisomy คือการที่มีโครโมโซมเพิ่มขึ้น 1 โครโมโซม โดยพบประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของโครโมโซม สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่โครโมโซมไม่แยกออกจากกัน หรือ Nondisjunction ซึ่งควรจะแยกออกจากกันในตอนที่มีการแบ่งเซลล์ อาจผิดปกติระยะที่โครโมโซมไม่มาเข้าคู่ หรือการแยกก่อนกำหนด หรือไม่แยก ความเสี่ยงของโรคนี้ขึ้นกับอายุของมารดา (ภาพที่ 1) กล่าวคือมากกว่า 35 ปี และขึ้นกับประวัติการมีลูกเป็น Trisomy โดยโอกาสเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์หน้าแล้วมี Trisomy เท่ากับ 1% ดังนั้นจึงควรจะได้รับคำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดโดยการตรวจโครโมโซมและให้ทางเลือก (1)

CCA01

 Trisomy 21- Down syndrome

ในปี คศ 1866 กุมารแพทย์ชาวอังกฤษ John Langdon Down ได้ศึกษา กลุ่มเด็กที่บกพร่องด้านสติปัญญา ที่มีลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นและได้อธิบายอาการของดาวน์ไว้ ต่อมาในปี คศ 1959 กุมารแพทย์ชาวฝรั่งเศส Jerome Lejeune อธิบายสาเหตุของโรคว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง (ภาพที่ 2) (2)

CCA02

ภาพที่ 2 แสดงkaryotype ของ Down syndrome (47, xy, +21)

สาเหตุ

  1. เกิดจาก Trisomy 21 คือโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง พบได้ 95% ซึ่งมีสาเหตุจาก Nondisjunction เกิดระหว่าง Meiosis I 75% และ Meiosis II 25%
  2. เกิดจาก Robertsonian translocation คือมีโครโมโซมย้ายตำแหน่ง พบได้ 3-4 %
  3. เกิดจาก Isochromosome หรือ Mosaicism คือมีโครโมโซมทั้ง 46 และ 47 แท่ง พบได้ 1 – 2 %

อุบัติการณ์

ดาวน์ซินโดรม เป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้มากที่สุดในกลุ่มโรคโครโมโซมเกิน พบได้ 1 ต่อ 500 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งรวมถึงการแท้ง การตายคลอด การเกิดมีชีพ 30 % ของทารกในครรภ์เสียชีวิตตั้งแต่อายุครรภ์ 12 ถึง 40 สัปดาห์ และ 20 % ของทารกในครรภ์เสียชีวิตตั้งแต่อายุครรภ์ 16 ถึง 40 สัปดาห์ ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบ โรคดาวน์ซินโดรม 1 ต่อ 740 ของการเกิดมีชีพ หรือ 13.5 ต่อ 10,000 ของการเกิดมีชีพ (3) อุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นตามอายุของมารดา หญิงที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรม สามารถมีบุตรได้ และมีโอกาสที่บุตรจะเป็นโรคดาวน์ซินโดรม 1 ใน 3 ส่วนชายที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรม จะมีบุตรยากเนื่องจากมีความผิดปกติของการสร้างอสุจิทำให้สร้างได้ปริมาณน้อยมาก (4)

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

ประมาณ 25-30% จะพบความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์ โดยการอัลตราซาวน์ที่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ความผิดปกติของหัวใจ พบได้ประมาณ 40% ของทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรม มักเป็นชนิด Endocardial cushion defects และ Ventricular septal defects ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร พบได้ 7% ได้แก่ ลำไส้ส่วนดูโอดินัมตีบตัน (Duodenal atresia) หลอดอาหารตีบตัน (Esophageal atresia) ลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Hirschsprung disease)

CCA03

ภาพที่ 3 แสดง A. ลักษณะของดาวน์ซินโดรม  B. ผิวที่คอยืด  C. เส้นลายมือมักมีเส้นตัดขวางเส้นเดียว

ลักษณะที่พบบ่อย ได้แก่ หัวแบน (Brachycephaly) หัวคิ้วด้านใกล้จมูกทั้ง 2 ข้างมีการหนาตัวขึ้น (Epicanthal folds) มีดวงตาทั้ง 2 ข้างที่เฉียงขึ้นเล็กน้อย (Up-slanting palpebral fissures) ม่านตามีจุดสีขาวที่เรียกว่า Brushfield spots สันจมูกแบน (Flat nasal bridge) กล้ามเนื้อมีความตึงตัวต่ำ (Hypotonia) ทารกมักมีผิวที่คอยืด (Loose skin at the nape of the neck) นิ้วมือสั้น (Short fingers) เส้นลายมือมักมีเส้นตัดขวางเส้นเดียว แทนที่จะแบ่งเป็น 2 เส้น (Single palmar crease) นิ้วก้อยเอียงเข้าหานิ้วนาง (Hypoplasia of the middle phalanx of the fifth finger) มีง่ามนิ้วระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ของเท้ากว้างกว่าปกติ (Sandal-toe gap) (ภาพที่ 3)
ลักษณะของดาวน์ซินโดรมที่กล่าวมาบางอย่างสามารถพบได้จากการอัลตราซาวน์ ดังตารางต่อไปนี้ (1)

CCAt1

ปัญหาทางสุขภาพที่พบได้ ความผิดปกติทางการได้ยินลดลง 75% มีความผิดปกติทางสายตาส้นหรือยาว 50% ต้อกระจกตั้งแต่แรกเกิด 15% โรคไทรอยด์ 15% มีโอกาสการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น ระดับของสติปัญญาจะอยู่ในขั้นปัญญาอ่อนเล็กน้อยถึงปานกลาง คือมีไอคิว อยู่ที่ระดับ 35-70 เด็กกลุ่มนี้สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ดี โดยการเข้าสังคมดีกว่าระดับไอคิว (5)

การพยากรณ์โรค

ทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรม สามารถอยู่รอดได้ในปีแรกถึง 95 % อัตรารอดชีวิตใน 10 ปี อย่างน้อย 90% และ 99% ในกลุ่มที่ไม่มีความผิดปกติรุนแรง (6)

Trisomy 18- Edwards syndrome

ในปี คศ 1960 โรคนี้ได้ถูกค้นพบโดย นักพันธุศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ John Edwards ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีโครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 แท่ง (1)

อุบัติการณ์

โรคนี้พบได้ 1 ต่อ 2,000 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งรวมถึงการแท้ง การตายคลอด การเกิดมีชีพ และ 1 ต่อ 6,600 ของการเกิดมีชีพ โรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่ง 85%จะตายระหว่างอายุคนรรภ์ 10 สัปดาห์ จนถึงกำหนดคลอด มากกว่าครึ่งจะเสียชีวิตในสัปดาห์แรกหลังคลอด อัตราการรอดชีวิตในปี ประมาณ 2% โรคนี้พบในเพศหญิงบ่อยกว่าชาย สามในสี่ของโรคนี้เป็นเพศหญิง (3)

สาเหตุ

โรคนี้เกิดจาก Trisomy 18 คือมีโครโมโซม 18 เกินมา 1 แท่ง

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

ความผิดปกติของหัวใจพบได้บ่อยถึง 95% โดยเฉพาะภาวะผนังห้องกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว(Ventricular septal defects) ความผิดปกติของสมอง ได้แก่ Cerebellar vermian agenesis, Enlarged cisterna magna, Myelomeningocele ความผิดปกติของช่องท้อง ได้แก่ ไส้เลื่อนกระบังลม (Diaphragmatic hernia) ความผิดปกติของผนังหน้าท้องชนิด Omphalocele การไม่มีรูทวาร (Imperforate anus) ความผิดปกติของไต เช่น Horseshoe kidney

ความผิดปกติของใบหน้าและกระดูก ได้แก่ ส่วนท้ายทอยนูน (Prominent occiput) ใบหูเล็ก (Posteriorly rotated and malformed ears) คางเล็ก (Micrognathia) ปากเล็ก (Small mouth) นิ้วเหลื่อมกัน (Clenched hands with overlapping digits) ไม่มีกระดูกแขน (Radial aplasia) เล็บมีขนาดเล็ก (Hypoplastic nails) เท้ามีลักษณะโค้งคล้ายท้องเรือ (Rocker-bottom feet) โรคเท้าปุก (Clubbed feet) (ภาพที่ 4)

อัลตราซาวน์จะเห็นลักษณะ “Strawberry-shaped” cranium และ Choroid plexus cysts ในการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงของ Trisomy 18 จะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อพบ Choroid plexus cyst ร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ การที่พบแค่ Cyst สามารถเป็น ความแตกต่างที่พบ ได้ในคนทั่วไป (ภาพที่ 4)

CCA04

การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สาม มักจะมีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ น้ำหนักแรกคลอดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 กรัม ส่วนวิธีการคลอดควรจะวางแผนไว้ก่อนเพราะระหว่างคลอดมักจะมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ สมัยก่อน มากกว่าครึ่งคลอดโดยการผ่าคลอดเนื่องจากทารกอยู่ในภาวะเครียด (Fetal distress) (7)

Trisomy 13 – Patau syndrome

ในปี คศ 1960 นักพันธุศาสตร์ชาวอเมริกัน Klaus Patau และคณะ ได้ รายงานลักษณะความผิดปกติของโรคนี้ไว้และอธิบายว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมทีมีโครโมโซมคู่ที่ 13 เกินมา 1 แท่ง (1)

อุบัติการณ์

โรคนี้พบได้ 1 ต่อ 12,000 ของการเกิดมีชีพ และ 1 ต่อ 5,000 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งรวมถึงการแท้งและการตายคลอด โรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะตายระหว่างอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ จนถึงกำหนดคลอด (3)

สาเหตุ

  1. เกิดจาก Trisomy 13 คือมีโครโมโซมเกินมา 1 แท่ง พบได้ 80%
  2. เกิดจาก Robertsonian translocation พบได้ 20% คือมีโครโมโซมย้ายตำแหน่ง ได้แก่ chromosome 13 และ 14, der(13,14)(q10,q10) ซึ่งเป็น Structural chromosome rearrangement ที่พบมากที่สุด (8)

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

ความผิดปกติของสมอง Holoprosencephaly คือการที่สมองส่วนหน้าไม่แยกตัวออกจากกัน พบได้ 2 ใน 3 ของผู้ป่วย และสามารถพบร่วมกับ ภาวะหัวเล็ก (Microcephaly) ภาวะที่ระยะห่างระหว่างเบ้าตาทั้งสองข้างสั้นเข้า (Hypotelorism) และ ความผิดปกติของจมูก คือ มีโพรงจมูกเดียว (Single nostril) และงวง (Proboscis) ความผิดปกติของหัวใจ พบได้ประมาณ 90%ของผู้ป่วย ความผิดปกติของ Neural tube โดยเฉพาะ ภาวะเนื้อสมองหรือเยื่อหุ้มสมองยื่นออกมาจากกะโหลกศีรษะสู่ภายนอก (Cephalocele) ตาเล็ก (Microphthalmia) ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft lip palate) ความผิดปกติของผนังหน้าท้องชนิด Omphalocele ภาวะถุงน้ำในไต (Cystic renal dysplasia) นิ้วเกิน (Polydactyly) เท้ามีลักษณะโค้งคล้ายท้องเรือ (Rocker-bottom feet) และไม่มีผิวหนัง (Skin aplasia)
ในเด็กที่มี Cephalocele cystic kidneys และ Polydactyly นอกจากจะนึกถึง trisomy 13 แล้ว ยังต้องนึกถึงโรค Meckel-Gruber syndrome ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ชนิด Autosomal recessive ที่ทำให้เสียชีวิตได้ (9)

การพยากรณ์โรค

อายุขัยของเด็กที่เป็น Patau ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการมีชีวิต ในสัปดาห์แรกหลังคลอด เท่ากับ 40% และอัตราการมีชีวิตรอดที่ 1 ปี เท่ากับ 3% (10)
มารดาที่ตั้งครรภ์บุตรที่เป็นโรคนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ 50% เนื่องจากบนโครโมโซม 13 มียีนส์ Soluble forms-like tyrosine kinase-1 หรือ sFlt-1 ซึ่งเป็น Antiangiogenic protein ที่เกี่ยวกับภาวะครรภ์เป็นพิษ (10)

Trisomy 16

โรคนี้เกิดจาก Trisomy 16 เป็น Trisomy ที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ พบว่ามีการแท้งมากที่สุดในไตรมาสที่ 1 พบมากถึง 16 %

สาเหตุ

  1. Full trisomy16 เกิดจาก มีโครโมโซม 16 เกินมา 1 แท่ง
  2. Mosaic trisomy 16 เกิดจาก มีโครโมโซม 2 แบบ ทั้งโครโมโซมที่ปกติ และ โครโมโซม 16 เกินมา 1 แท่ง

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

  1. Full trisomy16 แท้งตั้งแต่ไตรมาสแรก
  2. Mosaic trisomy 16 มารดามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด ความผิดปกติของหัวใจ เช่น ventricular septal defect, atrial septal defect ปอดเล็ก ความผิดปกติของกระดูกแลกล้ามเนื้อ ระดับของสติปัญญาต่ำกว่าปกติ

Sex chromosome abnormalities

45, X – Turner syndrome

เทอร์เนอร์เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิด Monosomy โรคเดียวที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และเป็นโรคที่พบอัตราการแท้งมากสุดในกลุ่ม Aneuploidy โดย 20% จะแท้งในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (1)

อุบัติการณ์

โรคนี้พบในเพศหญิง โดยพบได้ 1 ต่อ 5,000 การเกิดมีชีพ หรือ 1 ต่อ 2,500 ของเด็กผู้หญิง (3)

สาเหตุ

เกิดจากการหายไปของโครโมโซม ซึ่ง 80% จากบิดา (11)

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

ลักษณะที่แสดงออกของโรค แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก 98% แท้งในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
กลุ่มที่สอง ช่วงไตรมาสที่1-2 อัลตราซาวน์จะพบก้อนบริเวณคอทารกขนาดใหญ่ (Large cystic hygromas) และ ภาวะทารกบวมน้ำ (Hydrop) ซึ่งทำให้ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ (ภาพที่ 5)

CCA05

ภาพที่ 5 แสดงถึง Cystic hygroma  A. Cyctic hygroma was later found to have Noonan syndrome (1)
B. Massive multiseptated hygroma in hydrops fetalis C. Hydropic, marcerated stillborn infant with large placenta

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่พบน้อยที่สุดและสามารถมีชีวิตอยู่รอด ทารกจะอัลตราซาวน์พบก้อนบริเวณคอขนาดเล็กในไตรมาสที่1-2 และไม่พบภาวะทารกบวมน้ำ ทารกมักพบความผิดปกติที่รุนแรงอื่นๆ
สาเหตุที่พบลักษณะที่แตกต่างกัน เนื่องจาก กลุ่มที่ทารกเกิดมีชีพ จำนวน 1 ใน 2 เป็นชนิด Monosomy และจำนวน 1 ใน 4 เป็น Mosaicism เช่น 45,X/46,XX หรือ 45,X/46,XY ส่วนอีก 15% เป็น Isochromosome X, คือ 46,X,i(Xq) (8)

ลักษณะความผิดปกติอื่นที่พบ ได้แก่ ความผิดปกติของหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดแดงใหญ่คอด (Coarctation of the aorta) ลิ้นหัวใจพิการชนิด bicuspid aortic valve พบได้ 30-50% ความผิดปกติของไต โดยเฉพาะ ไตเป็นรูปเกือกม้า (Horseshoe kidney) ภาวะไทรอยด์ต่ำ ตัวเตี้ย (Short stature) ดังนั้น ในวัยเด็ก มักให้ฮอรโมนการเจริญเติบโต (Growth hormone) เพื่อช่วยเรื่องความสูง หน้าอกกว้าง หัวนมอยู่ห่างกันกว่าปกติ (Broad chest with widely spaced nipples) ภาวะบวมน้ำเหลืองตั้งแต่เกิด (Congenital lymphedema) แผ่นที่คอ (Webbed posterior neck) จาก Cystic hygroma ความผิดปกติของกระดูกและกระดูกอ่อน ระดับของสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจมีปัญหาความสามารถในการเชื่อมโยงภาพที่เห็นในมิติต่างๆ การใช้ภาษาบกพร่อง การแก้ปัญหาและแปลความหมาย ความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ 90% มีปัญหารังไข่เจริญน้อย (Ovarian dysgenesis) ทำให้ฮอรโมนเอสโตรเจนต่ำ จึงต้องได้รับฮอรโมนเอสโตรเจนทดแทนก่อนที่จะเข้าวัยรุ่น ในกลุ่มที่เกิดจาก Mosaicism ที่มี โครโมโซมY จะมีความเสี่ยงต่อ ก้อนเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ต้นกำเนิด (Germ cell neoplasm) ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในการป้องกันโดยการผ่าตัดต่อมเพศออก (Prophylactic bilateral gonadectomy) (12)

47, XXX – Triple X Syndrome

เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครโมโซมทางเพศ ซึ่งเกิดจากโครโมโซม X เกินมา 1 ตัว

อุบัติการณ์

โรคนี้จะเกิดในผู้หญิง พบได้ประมาณ 1 ในทารกเพศหญิง 1,000 คน โครโมโซม X ที่เกินมา 90% มาจากแม่ (13)

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

โรคนี้ไม่ได้พบความผิดปกติชนิดรุนแรง พัฒนาการในวัยรุ่นและการสืบพันธุ์มักปกติ แต่เคยมีรายงานว่ามีภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด เป็นหมัน ความสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ลักษณะที่อาจพบได้ ได้แก่ หัวคิ้วด้านใกล้จมูกทั้ง 2 ข้างมีการหนาตัวขึ้น (Epicanthal folds) นิ้วมือคด (Clinodactyly) กล้ามเนื้อมีความตึงตัวต่ำ (Hypotonia) ไตทำงานผิดปกติ โรคชัก ระดับของสติปัญญาต่ำกว่าปกติ มีสมาธิสั้น พัฒนาการทางภาษาและทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อช้า (14)

47, XXY- Klinefelter syndrome

เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครโมโซมทางเพศ ซึ่งเกิดจากโครโมโซม X เกินมา 1 ตัว โดยโครโมโซม X ที่เกินมา มาจากแม่และพ่อเท่ากัน

อุบัติการณ์

เป็นโรคที่พบบ่อยสุดในกลุ่มที่มีความผิดปกติทางด้านโครโมโซมเพศ โรคนี้จะเกิดในผู้ชาย ซึ่งพบได้ 1 ในทารกเพศชาย 600 คน โรคนี้สัมพันธ์กับอายุของแม่และพ่อที่เพิ่มมากขึ้น (13)

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

ทารกมีลักษณะเหมือนทารกปกติ และส่วนใหญ่ไม่พบความผิดปกติ ในวัยเด็กมีพัฒนาการปกติ แต่ในวัยรุ่นต่อมเพศจะไม่เจริญ (Gonadal dysgenesis) เป็นหมัน และไม่มีลักษณะแบบเพศชาย คือ ไม่มีหนวดเครา ไม่มีขน อาจมีเต้านม ดังนั้นจึงต้องให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมตั้งแต่เริ่มเข้าวัยรุ่น ระดับของสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจจะต่ำกว่าพี่น้องเดียวกัน การพูด การอ่านและการใช้กล้ามเนื้ออยู่ในเกณฑ์ปกติ (15)

47, XYY

เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครโมโซมทางเพศ ซึ่งเกิดจากโครโมโซม Y เกินมา 1 ตัว

อุบัติการณ์

โรคนี้จะเกิดในผู้ชาย พบได้ 1 ในทารกเพศชาย 1,000 คน โรคนี้ไม่สัมพันธ์กับอายุของพ่อที่เพิ่มมากขึ้น

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

ลักษณะที่แสดงออกมาภายนอกปกติ และไม่มีความผิดปกติ ผู้ชายที่เป็นโรคนี้มักจะสูง วัยรุ่นมีพัฒนาการปกติและสืบพันธ์ได้ ระดับของสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านภาษาทั้งการเขียนและการอ่าน (16)

Abonormalities of chromosome structure

Cri du chat syndrome

เป็นโรคพันธุกรรมชนิดหนึ่งเกิดจากการหลุดหายของส่วนหนึ่งของยีนส์บนแขนข้างสั้นของโครโมโซมคู่ที่ 5 ตำแหน่ง del5p15.2–15.3

อุบัติการณ์

เป็นโรคที่พบบ่อยสุดในกลุ่มที่มีความผิดปกติทางด้าน deletion ซึ่งพบได้ 1 ในทารก 15,000 คน

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

มีกล่องเสียงผิดปกติทำให้มีเสียงร้องคล้ายแมว (Cat-like cry) ที่เกิดกับทารกแรกเกิด ศีรษะเล็ก (Microcephaly) หน้ากลม (Round face) จมูกกว้าง (Large nasal bridge) เบ้าตาห่าง (Hypertelorism) หัวคิ้วด้านใกล้จมูกทั้ง 2 ข้างมีการหนาตัวขึ้น (Epicanthal fold) หูเกาะต่ำ (Low-set ears), คางเล็ก (Micrognathia) กล้ามเนื้อมีความตึงตัวต่ำ (Hypotonia) ภาวะสติปัญญาบกพร่อง (17)

Prader willi

เป็นโรคพันธุกรรมชนิดหนึ่งเกิดจากการหลุดหายของส่วนหนึ่งของยีนส์บนแขนข้างยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 ที่ได้รับมาจากพ่อ บนตำแหน่ง 15q11.2–q13 (Paternal genes)

อุบัติการณ์

เป็นโรคที่พบได้ 1 ในทารก 10,000 -30,000 คน

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

รูปร่างอ้วน กินจุ เป็นเบาหวาน ตัวเตี้ย ตาเป็นรูปอัลมอนด์ มือเท้าเล็ก กล้ามเนื้อมีความตึงตัวต่ำ (Hypotonia) ภาวะฮอรโมนเพศต่ำ (Hypogonadotropic hypogonadism) หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) พัฒนาการช้า ระดับของสติปัญญาจะอยู่ในขั้นปัญญาอ่อน (18,19)

Angelman

เป็นโรคพันธุกรรมชนิดหนึ่งเกิดจากการหลุดหายของส่วนหนึ่งของยีนส์บนแขนข้างยาวของโครโมโซมคู่ที่ 15 ที่ได้รับมาจากแม่ บนตำแหน่ง 15q11.2–q13 (Maternal genes)

อุบัติการณ์

เป็นโรคที่พบได้ 1 ในทารก 12,000 -20,000 คน

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

กลุ่มอาการหุ่นกระบอกที่มีความสุข (“Happy puppet” appearance) ไม่พูด ยิ้มง่าย หัวเราะเก่ง อารมณ์ดี ตื่นเต้นง่าย ชอบปรบมือ ระดับของสติปัญญาจะอยู่ในขั้นปัญญาอ่อน มีการเดินผิดปกติ (ataxia) กล้ามเนื้อมีความตึงตัวต่ำ (Hypotonia) มีอาการชัก (19)

Digeorge syndrome

เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการหลุดหายของส่วนหนึ่งของยีนส์บนแขนข้างยาวของโครโมโซมคู่ที่ 22 ตำแหน่ง 22q11.2

อุบัติการณ์

เป็นโรคที่พบได้ 1 ในทารก 2,000 -7,000 คน (1)

ลักษณะความผิดปกติที่พบได้บ่อย

ความผิดปกติของหัวใจ ได้แก่ Conotruncal cardiac defects ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft palate) การเกิดภาวะความบกพร่องของเพดานอ่อนและผนังคอหอย (Velopharyngeal incompetence) ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ (Thymic and parathyroid abnormailites) มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (Learning disability) (20)

สรุป

ความผิดปกติของโครโมโซม เกิดจาก 2 สาเหตุ คือ การผิดปกติที่จำนวนโครโมโซม และ การผิดปกติที่รูปร่างโครโมโซม Trisomy ที่พบการแท้งได้มากที่สุดคือ Trisomy 16 และที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้มากที่สุดคือ Trisomy 21 ส่วน Turner syndrome เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิด Monosomy โรคเดียวที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และเป็นโรคที่พบอัตราการแท้งมากสุดในกลุ่ม Aneuploidy อีกทั้ง Cri du chat syndromeเป็นโรคที่พบบ่อยสุดในกลุ่มที่มีความผิดปกติทางด้าน deletion

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Spong CY, Dashe JS, Hoffman BL, et al. Williams obstetrics. 24th edition. McGraw-Hill: New York; 2014. p.260-269.
  2. Kazemi M, Salehi M, Kheirollahi M. Down Syndrome: Current Status, Challenges and Future Perspectives. International Journal of Molecular and Cellular Medicine. 2016;5(3):125-133.
  3. Dolk H, Loane M, Garne E: The prevalence of congenital anomalies in Europe. Adv Exp Med Biol 686:349, 2010
  4. Scharrer S, Stengel-Rutkowski S, Rodewald-Rudescu A, et al: Reproduction in a female patient with Down’s syndrome. Case report of a 46,XY child showing slight phenotypical anomalies born to a 47,XX, +21 mother. Humangenetik 26(3):207, 1975
  5. American Academy of Pediatrics: Health supervision for childen with Down syndromw. Pediatrics 107(2):442, 2001
  6. Rankin J, Tennant PWG, Bythell M, et al: Predictors of survival in children born with Down syndrome: a registry-based study. Pediatrics 129(6):e1373,2012
  7. Lin HY, Chen YJ, Hung HY, et al: Clinical characteristics and survival of trisomy 18 in a medical center in Taipei, 1988-2004. Am J Med Genet 140(9):945, 2006
  8. Nussbaum RL, McInnes RR, Willard HF (eds): Clinical cytogenetics: disorders of the autosomes and sex chromosomes. In Thompson & Thompson Genetics in Medicine, 7th ed. Elsevier-Saunders, 2007, p89
  9. Lin HY, Lin SP,Chen YJ, et al: Clinical characteristics and survival of trisomy 13 in a medical center in Taiwan, 1985-2004. Pediatr Int 49(3):380, 2007
  10.  Vendola C, Canfield M, Daiger SP, et al: Survival of Texas infants born with trisomies 21, 18, and 13. Am J Med Genet A 152A(2):360, 2010
  11. Cockwell A, MacKenzie M, Youing S, et al: A cytogenetic and molecular study of a series of 45,X fetuses and their parents. J Med Genet 28(3):151, 1991
  12. Jones KL: Smith’s Recognizable Patterns of Human Malformation, 6th ed. Philadelphia, Elsevier Saunders, 2006
  13. Milunsky A, Milunsky JM: Genetic counseling: preconception, prenatal, and perinatal. In Milunsky A (ed): Genetic Disorders of the fetus: diagnosis, Prevention, and Treatment, 5th ed. Baltimore, Johns Hopkins University Press, 2004
  14. Tartaglia NR, Howell S, Sutherland A, et al: A review of trisomy X (47,XXX). Orphanet J Rare Dis 5:8, 2010
  15. Girardin CM. Vliet GV: Counseling of a couple faced with a prenatal diagnosis of Klinefelter syndrome. Acta Pediatr 100(6):917, 2011
  16. Ross JL, Zeger MP, Kushner H, et al: An extra X or Y chromosome: contrasting the cognitive and motor phenotypes in childhood in boys with 47, XYY syndrome or 47,XXY Klienfelter syndrome. Dev Disabil Res Rev 15(4):309,2009
  17. Cerruti Mainardi P. Cri du Chat syndrome. Orphanet Journal of Rare Diseases. 2006;1:33. doi:10.1186/1750-1172-1-33.
  18. Bittel DC, Butler MG. Prader-Willi syndrome: clinical genetics, cytogenetics and molecular biology. Expert Rev Mol Med. 2005 Jul 25;7(14):1-20.
  19. Buiting K. Prader-Willi syndrome and Angelman syndrome. Am J Med Genet C Semin Med Genet. 2010 Aug 15;154C(3):365-76
  20. Antshel KM, Kates WR, Roizen N, Fremont W, Shprintzen RJ. 22q11.2 deletion syndrome: genetics, neuroanatomy and cognitive/behavioral features keywords. Child Neuropsychol. 2005 Feb;11(1):5-19
Read More
GBS1

การป้องกันการติดเชื้อสเตร๊บโตคอคคัสกรุ๊ปบีในทารกแรกเกิด

การป้องกันการติดเชื้อสเตร๊บโตคอคคัสกรุ๊ปบีในทารกแรกเกิด
(Prevention of Perinatal Group B Streptococcal Disease)

จิตรลดา คำจริง
ร.ศ. นพ. ดร. วีรวิทย์ ปิยะมงคล


เชื้อก่อโรค

เชื้อ Group B Streptococcus (GBS)หรือ Streptococcus agalactiaeเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่จัดอยู่ในกลุ่มStreptococci ตาม Lancefield group B ที่มีลักษณะกลม ติดสีกรัมบวกอยู่เป็นคู่ สามารถเจริญเติบโตบนอาหารเลี้ยงเชื้อได้หลายชนิด เมื่อเพาะเลี้ยงบน sheep blood agarเชื้อจะเจริญเป็นนิคมขนาดเล็ก 3-4 มิลลิเมตร เป็นนิคมสีขาวเทาแบนราบมีเมือกหุ้ม ล้อมรอบด้วยพื้นที่แคบๆ ที่เป็น beta-hemolysis (1-3)เชื้อ GBSแบ่งเป็น 10 ซีโรทัยพ์ ตาม capsular polysaccharides (Ia, Ib, II, III, IV, V, VI, VII, VIII , provisional IX)(4-6)โดยพบว่าซีโรทัยพ์Ia, Ib, II, III, V ก่อให้เกิดการติดเชื้อของทารกแรกคลอดแบบ Early onset ได้มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์และแบบ Late onset มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยซีโรทัยพ์III มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบในทารกแรกคลอดในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด (7) ซึ่งเชื้อ GBS นั้นสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงได้ในประชากร 3 กลุ่ม ดังนี้

1.  ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี (8-10)ซึ่งมีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเกิดเนื่องมาจากโรคประจำตัวที่มีอยู่ เช่น โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง, โรคตับ/ไตทำงานบกพร่อง, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อเฮชไอวี (8,11-13) ซึ่งมักทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดแบบไม่เฉพาะเจาะจง , อาการติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด , การติดเชื้อของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งอาการติดเชื้อเหล่านี้สัมพันธ์กับอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตตามมาได้สูงแม้จะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมแล้วก็ตาม(14-16) ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียดในบทความนี้

2. หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด พบว่าเชื้อ GBS เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้เกิดการมีแบคทีเรียในปัสสาวะแบบไม่ปรากฏอาการ, การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ, การติดเชื้อของระบบสืบพันธ์ส่วนบน ( เช่น การอักเสบติดเชื้อของถุงน้ำคร่ำ) , เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบหลังคลอด (8 เปอร์เซ็นต์), ปอดอักเสบติดเชื้อ (2 เปอร์เซ็นต์), การติดเชื้อในกระแสเลือดหลังคลอด (2 เปอร์เซ็นต์) และการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดแบบไม่เฉพาะเจาะจง (31 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามอวัยวะต่างๆอีก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, เยื่อบุหัวใจอักเสบได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก (17-19) และการติดเชื้อ GBS แบบรุนแรงในมารดาขณะตั้งครรภ์ (invasive infection)ยังพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดการแท้งบุตรและการคลอดก่อนกำหนดได้(17,20)

จากการศึกษาและเก็บข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ในปี 1999-2005 พบว่ามีอัตราการติดเชื้อGBS แบบรุนแรง (นิยามคือมีการแยกเชื้อ GBS จากเลือด หรือบริเวณที่ปลอดเชื้ออื่นๆของร่างกายยกเว้นปัสสาวะ )ในมารดาขณะตั้งครรภ์ คือ อัตรา 0.12 ต่อ 1,000 การคลอดมีชีพ (17) ซึ่งพบเป็นการติดเชื้อของระบบสืบพันธ์ส่วนบนเป็นครึ่งหนึ่งของการติดเชื้อทั้งหมด และพบการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดประมาณ 1 ใน 3 ของอัตราการติดเชื้อ และพบว่าสามารถแยกเชื้อ GBS ได้จากเลือดของมารดาประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งในกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์ที่ทราบผลของการตั้งครรภ์พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของมารดาที่มีการติดเชื้อ GBS ทำให้เกิดการเสียชีวิตของทารกในครรภ์, การติดเชื้อของทารกแรกเกิด, การเสียชีวิตของทารกแรกเกิด หรือการแท้งตามมาได้

Colonization คือการที่มารดามีเชื้อ GBS โดยไม่มีอาการ ซึ่งพบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดการติดเชื้อ GBS ของทารกแรกเกิด ซึ่งจะอธิบายเรื่องการป้องกันการติดเชื้อGBSในทารกแรกเกิดต่อไป

3.  ทารกแรกเกิด การติดเชื้อ GBS ของทารกแรกเกิดแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ตามอายุที่เกิดอาการของโรค(21) คือ

  • Early-onset GBS กลุ่มนี้โดยทั่วไปจะเกิดอาการภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด แต่ยังสามารถเกิดได้ภายใน 6 วันหลังการเกิดมีชีพโดยโรคที่มักจะพบได้คือ
    • ติดเชื้อในกระแสเลือดแบบแพร่กระจาย(80-85 เปอร์เซ็นต์) โดยอาการที่นำมามักไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ซึมลง กระสับกระส่าย มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ(เช่น หายใจเร็ว หายใจมีเสียงดัง ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ) อุณหภูมิร่างกายผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ
    • ปอดอักเสบติดเชื้อ(10 เปอร์เซ็นต์) โดยอาการนำ คือ หายใจเร็ว หายใจมีเสียงดัง ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ มีการใช้กล้ามเนื้อช่วยในการหายใจเพิ่มขึ้น
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ(7 เปอร์เซ็นต์) มักพบอาการนำคืออาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจเร็วหรือหยุดหายใจ ซึ่งส่วนน้อยที่จะมีอาการทางระบบประสาทเป็นอาการนำ
  • โดยพบว่ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะพบอาการของโรคได้ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด (9)
  • Late-onset GBSมักเกิดอาการใน 4-5 สัปดาห์หลังคลอด (อายุระหว่าง 7-89 วัน) โดยโรคที่มักจะพบได้ในระยะนี้คือ
    • การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (65 เปอร์เซ็นต์) โดยมักมีอาการนำมาด้วยมีไข้มากกว่า/เท่ากับ 38 องศาเซลเซียส ซึ่งมักพบว่ามีประวัติการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน อาการอื่นๆที่พบได้คือ ซึมลง กระสับกระส่าย ทานได้น้อย หายใจเร็ว หายใจมีเสียงดัง และหยุดหายใจเป็นบางครั้ง
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (25-30 เปอร์เซ็นต์)(22)มักมีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อนประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ (23-25)และอาการ Classic sign ของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น กระหม่อมโป่ง คอแข็ง และการตรวจพบความผิดปกติของระบบประสาทซึ่งมักพบได้ในเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบ Late-onset GBS มากกว่า Early-onset GBS(26)
    • การติดเชื้อเฉพาะที่ มักมาด้วยอาการปอดอักเสบติดเชื้อ ข้อติดเชื้อ การอักเสบติดเชื้อของกระดูก เนื้อเยื่อผิวหนังอักเสบ และต่อมน้ำเหลืองอักเสบ(27) ส่วนที่พบได้ไม่บ่อยคือ เยื่อบุหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กรวยไตอักเสบ การติดเชื้อภายในลูกตา ฝีหนองในสมอง เป็นต้น(22)
  • Late,late-onset GBS (หรือ very-late-onset GBS หรือ GBS beyond early infancy)เกิดในทารกที่มีอายุมากกว่า 3 เดือน มักพบในทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (28-29) โดยอาการที่มักพบคือ การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดแบบไม่เฉพาะเจาะจง หรือการติดเชื้อเฉพาะที่ของระบบประสาท เนื้อเยื่อ กระดูกและข้อ หรือวัสดุสายสวนหลอดเลือด(9,22,28)

ปัจจัยของการเกิดการติดเชื้อ GBS แบบ Early onsetในทารกแรกเกิด

การมีเชื้อ GBS colonization อยู่บริเวณช่องคลอดและทวารหนักของมารดาในช่วงintrapartum ถือเป็นปัจจัยหลักของการเกิดการติดเชื้อ GBS แบบ Early onset ในทารกโดยเป็นการติดเชื้อแบบ vertical transmission ในช่วงที่มีการเจ็บครรภ์หรือช่วงที่มีการคลอด จากการศึกษาวิจัยแบบ prospective cohort study ที่เก็บข้อมูลในช่วงปี 1980-1989 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มี GBS colonizationมีความเสี่ยงมากกว่าถึง 25 เท่าในการเกิดการติดเชื้อ GBS แบบ Early onset ในทารกเมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีเชื้อ GBS colonization อยู่ (30) ซึ่งในช่วงที่ยังไม่มีการให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS จากมารดาสู่ทารกนั้นพบว่า 1-2 เปอร์เซ็นต์ของทารกที่มารดามี GBS colonization ในช่วง intrapartum มีการติดเชื้อ GBS แบบ Early onset(30-32) โดยพบว่า 10-30 เปอร์เซ็นต์ของหญิงตั้งครรภ์มีเชื้อ GBS colonization อยู่บริเวณช่องคลอดและทวารหนัก(33-35)ซึ่งการพบ GBS colonization นั้น อาจพบได้ทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวรก็ได้แต่อย่างไรก็ตามพบว่าไม่สัมพันธ์กับการ colonization ในครรภ์ถัดไป

ปัจจัยอื่นๆที่สัมพันธ์กับการเกิดการติดเชื้อ GBS แบบ Early onset ในทารกประกอบด้วย การคลอดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์, ความยาวนานของการแตกของถุงน้ำคร่ำ, การอักเสบติดเชื้อภายในถุงน้ำคร่ำ, มารดาที่อายุน้อย, หญิงผิวดำ และมารดาที่มี GBS-specific anticapsular antibody ต่ำ (36-43)ซึ่งยังพบอีกว่าการคลอดทารกที่มีการติดเชื้อ GBS แบบรุนแรงในครรภ์ก่อนเป็นปัจจัยในการเกิดการติดเชื้อ GBS แบบ Early onset ของทารกในครรภ์ถัดไปได้ หรือการมี GBS colonization ปริมาณมาก เช่น  GBS bacteriuria ก็เพิ่มปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อเช่นกัน (44-47) จากการศึกษาในปี 1985 พบว่าการคลอดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์, ความยาวนานของการแตกของถุงน้ำคร่ำมากกว่า 12 ชั่วโมง หรืออุณหภูมิร่างกายขณะคลอดมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส มีความเสียงเพิ่มขึ้น 6.5 เท่าในการเกิดการติดเชื้อแบบ Early-onset GBS เมื่อเทียบกับไม่มีปัจจัยดังกล่าว(30)

ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมาหลังจากได้มีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS สู่ทารก(Intrapartum antibiotic prophylaxis)พบว่ามีการลดลงของอุบัติการณ์การเกิด Early-onset GBS sepsis ถึง 80 เปอร์เซ็นต์(จาก 1.7 ลดลงเหลือ 0.4 เคสต่อ 1,000 การคลอดมีชีพ)

Candidates for Intrapartum antibiotic prophylaxis

The CDC guideline 2010 (48) ได้ให้คำแนะนำถึงการทำการเพาะเชื้อ GBS บริเวณช่องคลอดและทวารหนักของหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่อายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์เพื่อประเมินหาผู้ที่ควรได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS ในช่วง intrapartumโดยจะเก็บโดยใช้ไม้พันสำลีปราศจากเชื้อป้ายเก็บที่บริเวณช่องคลอด(ด้านนอก) และทวารหนัก(ผ่านหูรูดทวารหนัก) แล้วนำเก็บใน transport media (selective broth ที่เหมาะแก่การเก็บส่งเชื้อ เช่น Stuart หรือ Amies media) แล้วจึงนำไปเพาะเชื้อต่อไป โดยหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่มีผลการเพาะเชื้อ GBS เป็นผลบวกจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS ในช่วง intrapartum(Intrapartum antibiotic prophylaxis) ยกเว้นในรายที่มีการผ่าตัดคลอดก่อนที่จะมีการเจ็บครรภ์และถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก

การทำการเพาะเชื้อ GBS บริเวณช่องคลอดและทวารหนักของหญิงตั้งครรภ์จะยกเว้นไม่ต้องทำในรายที่มีการติดเชื้อ GBS ในปัสสาวะ(GBS bacteriuria) ในครรภ์ปัจจุบัน หรือในรายที่มีประวัติให้กำเนิดทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อ Early-onset GBS ในครรภ์ก่อน เพราะในสองกรณีดังกล่าว มารดาควรได้รับ intrapartum antibiotic prophylaxis อยู่แล้ว และหากตรวจพบ GBS bacteriuria ในช่วงใดก็ตามของการตั้งครรภ์ควรได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาด้วย

เนื่องจากในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติ GBS colonization ในครรภ์ก่อนมักจะไม่สัมพันธ์กับการมี GBS colonization ในครรภ์ถัดไป ดังนั้นจึงควรได้รับการเพาะเชื้อเหมือนหญิงตั้งครรภ์ปกติ และไม่จำเป็นต้องได้รับ intrapartum antibiotic prophylaxis ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ในการให้ในครรภ์ปัจจุบัน

Indication และ Nonindication ในการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS ในช่วง intrapartum(48)

Indications

  1. ทารกคนก่อนมีการติดเชื้อ GBSแบบรุนแรง
  2. ตรวจพบ GBS bacteriuria ในไตรมาสใดก็ตามของการตั้งครรภ์ปัจจุบัน
  3. ผลการเพาะเชื้อ GBS บริเวณช่องคลอดและทวารหนักในระยะท้ายของการตั้งครรภ์(ระยะเวลาที่เหมาะสมคือช่วงอายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์)ให้ผลเป็นบวกในครรภ์ปัจจุบัน
  4. ไม่ทราบสถานะของการพบเชื้อ GBS ในช่วงเจ็บครรภ์คลอด (ไม่เคยทำการเพาะเชื้อ, ทำการเพาะเชื้อไม่สมบูรณ์ หรือ ไม่ทราบผลของการเพาะเชื้อ) และมีลักษณะใดๆดังต่อไปนี้
    1.  คลอดบุตรที่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์
    2. ถุงน้ำคร่ำแตกมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ชั่วโมง
    3. มีอุณหภูมิกายในช่วง intrapartumมากกว่าหรือเท่ากับ 38.0 องศาเซลเซียสหรือ100.4 องศาฟาเรนไฮต์ (หากสงสัยว่าเกิดถุงน้ำคร่ำอักเสบติดเชื้อ ควรให้ยาปฏิชีวนะชนิด broad-spectrum ที่ครอบคลุมเชื้อ GBS แทน)
    4. ผลการทดสอบ nucleic acid amplification test (NAAT) สำหรับเชื้อ GBS ให้ผลบวกในช่วง intrapartum (การทดสอบ NAAT สำหรับเชื้อ GBSเป็นทางเลือก และอาจไม่มีใช้ในบางสถานที่ และถ้าหากผลทดสอบ intrapartum NAAT ให้ผลลบแต่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆในข้อ a., b. หรือ c. ก็จะถือว่ามีข้อบ่งชี้ในการให้ intrapartum antibiotic prophylaxis )

Nonindications

  1. มี GBS colonization ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน (ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ในครรภ์ปัจจุบัน)
  2. มี GBS bacteriuria ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน(ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ในครรภ์ปัจจุบัน)
  3. มีการผ่าตัดคลอดก่อนที่จะมีการเจ็บครรภ์และถุงน้ำคร่ำยังไม่แตกโดยไม่คำนึกถึงผล GBS colonization หรือ อายุครรภ์
  4. ผลการเพาะเชื้อ GBS บริเวณช่องคลอดและทวารหนักในระยะท้ายของการตั้งครรภ์(ระยะเวลาที่เหมาะสมคือช่วงอายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์)ให้ผลเป็นลบในครรภ์ปัจจุบัน โดยไม่คำนึกถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆในช่วง intrapartum

Intrapartum antibiotic prophylactic agents (48)

ยาที่เหมาะสมที่สุดยังคงเป็น Penicillin โดยอาจใช้ Ampicillin เป็นทางเลือกรองได้ และ Cefazolinยังคงเป็นยาที่เหมาะสมที่สุดในผู้ป่วยที่แพ้ Penicillin แบบไม่รุนแรง [ไม่มีปฏิกิริยาแพ้อย่างเฉียบพลัน(anaphylaxis), ผื่นลมพิษของเยื่อบุผิว(angioedema), หายใจลำบาก(respiratory distress) หรือผื่นลมพิษเฉียบพลัน(urticaria)] และCDC guideline 2010 ไม่แนะนำให้ใช้ยา Erythromycin แล้ว เนื่องจากมีการดื้อยาสูง

รูปที่ 1 แนวทางการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS ในช่วง intrapartum(48)

GBS1

Ref: Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Prevention of perinatal group B streptococcal disease–revised guidelines, 2010.(48)

Intrapartum antibiotic prophylaxis

ประโยชน์ในการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS ในเด็กแรกเกิดนั้นยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของมารดาและทารกจากอาการแพ้ยาในช่วงระยะคลอดด้วย ซึ่งอัตราการแพ้ยาเกิดขึ้นโดยประมาณ 0.7-4 เปอร์เซ็นต์ของการรักษาด้วยยา Penicillin ทั้งหมด โดยมีความเสี่ยงต่อการเกิด anaphylaxis ประมาณ 4/10,000 – 4/100,000 ราย

ซึ่ง American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG)(49)และ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) (48) ได้ให้คำแนะนำว่าแต่ละพื้นที่สุขภาพควรมีการเก็บอุบัติการณ์การเกิดการติดเชื้อ GBS ในทารกแรกเกิด, การเกิดการติดเชื้อเฉียบพลันในมารดาและทารกที่เกิดจากเชื้อที่ดื้อยา และรวมถึงผลแทรกซ้อนอื่นๆที่เกิดจากการให้ยาปฏิชีวนะแก่มารดา เช่น อาการแพ้รุนแรง เป็นต้น นอกจากนี้ ACOG นั้นไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการให้ intrapartum GBS prophylaxis ในรายที่มีน้ำเดินมากกว่า 18 ชั่วโมงแต่ผลการเพาะเชื้อ GBS ในช่วงอายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์เป็นลบ ยกเว้นจะให้ยาเฉพาะในรายที่ไม่ทราบผลการเพาะเชื้อเท่านั้น และในรายที่มีอาการของถุงน้ำคร่ำอักเสบติดเชื้อหรืออาการติดเชื้ออื่นๆเช่นกรวยไตอักเสบเท่านั้นจึงจะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะในช่วง intrapartum

การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และการมีถุงน้ำคร่ำแตกที่อายุครรภ์ก่อนกำหนด(Preterm labor and Preterm premature rupture of membranes)

CDC guildline 2010 ได้ปรับปรุงแนวทางการรักษาเพิ่มเติม ดังนี้

รูปที่ 2 การให้ยาป้องกันการติดเชื้อ GBS ในช่วง Intrapartum ในกรณีเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด(48)

GBS2

Ref: Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Prevention of perinatal group B streptococcal disease–revised guidelines, 2010.(48)

หมายเหตุ :

  1. หากเคยได้รับการเพาะเชื้อบริเวณช่องคลอดและทวารหนักเพื่อตรวจหาเชื้อ GBS ภายใน 5 สัปดาห์ ผลของการเพาะเชื้อจะใช้เป็นแนวทางในการรักษา ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะในรายที่ผลเพาะเชื้อเป็นลบภายใน 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  2. ควรเฝ้าติดตามการเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอดจริงเป็นระยะและหยุดการให้ยาหากไม่ใช่เจ็บครรภ์คลอดจริง
  3. หากทราบผลการเพาะเชื้อ GBS ว่าให้ผลเป็นลบก่อนคลอด ให้หยุดยาปฏิชีวนะได้
  4. ยกเว้นหากผลการเพาะเชื้อหลังจากนั้นให้ผลเป็นบวก
  5. ผลลบจากการเพาะเชื้อ GBS จะใช้ได้ 5 สัปดาห์ หากนานกว่านั้นให้เพาะเชื้อซ้ำและให้แนวทางการรักษาตามผลการเพาะเชื้อล่าสุด

รูปที่ 3 การให้ยาป้องกันการติดเชื้อGBS ในช่วงIntrapartum กรณีถุงน้ำคร่ำแตกอายุครรภ์ก่อนกำหนด (48)

 GBS3

Ref: Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Prevention of perinatal group B streptococcal disease–revised guidelines, 2010.(48)

หมายเหตุ :

  1. หากเคยได้รับการเพาะเชื้อบริเวณช่องคลอดและทวารหนักเพื่อตรวจหาเชื้อ GBS ภายใน 5 สัปดาห์ ผลของการเพาะเชื้อจะใช้เป็นแนวทางในการรักษา ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะในรายที่ผลเพาะเชื้อเป็นลบภายใน 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  2. ยาปฏิชีวนะเพื่อยืดอายุครรภ์ในรายที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด คือ Ampicillin 2 กรัม ทางหลอดเลือดดำ ตามด้วย 1 กรัม ทุก 6 ชั่วโมง อย่างน้อย 48 ชั่วโมงจึงจะเพียงพอในการป้องกันเชื้อ GBS
  3. การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกัน GBS ในรายที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนดที่ไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดจะให้เพียง 48 ชั่วโมง หากผลการเพาะเชื้อ GBS ขณะที่รักษาพบว่าเป็นลบภายในช่วง 48 ชั่วโมงที่ได้ยาอยู่ สามารถหยุดยาได้
  4. ยกเว้นหากผลการเพาะเชื้อหลังจากนั้นให้ผลเป็นบวก
  5. ผลลบจากการเพาะเชื้อ GBS จะใช้ได้ 5 สัปดาห์ หากนานกว่านั้นให้เพาะเชื้อซ้ำและให้แนวทางการรักษาตามผลการเพาะเชื้อล่าสุด

นอกจากนี้ทาง ACOG 2011(49)และ CDC 2010(48)มีความเห็นตรงกันว่า ไม่แนะนำให้มีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีการวางแผนการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดและไม่มีถุงน้ำคร่ำแตกโดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์ถึงแม้ว่าผลการเพาะเชื้อ GBS จะเป็นผลบวกก็ตาม และทุกรายที่มีการวางแผนการผ่าตัดคลอดควรได้รับยาปฏิชีวนะก่อนทำการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดแผลติดเชื้อหลังผ่าตัด โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็ควรได้รับการทำการเพาะหาเชื้อ GBS ที่อายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์เนื่องจากอาจมีการเกิดการเจ็บครรภ์คลอดหรือน้ำเดินก่อนกำหนดการผ่าตัดได้

การดูแลรักษาด้านสูติศาสตร์อื่นๆ (48)

จาก CDC 2010 Guidelineพบว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการแนะนำในมารดากลุ่มที่มี GBS colonization ว่ามีผลแตกต่างในการทำหัตถการเพื่อติดตามสุขภาพของทารกในครรภ์, การกระตุ้นปากมดลูกเพื่อเร่งการคลอดหรือการชักนำการคลอดอย่างไรบ้าง ทั้งนี้การทำหัตถการดังกล่าวควรทำตามข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมและทำได้ไม่เปลี่ยนแปลงในกลุ่มมารดาที่มี GBScolonizationและนอกจากนี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในเรื่องของระยะเวลาในการทำหัตถการที่สัมพันธ์กับการดำเนินการคลอดเช่นการเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อเร่งคลอดในมารดากลุ่มที่มี GBScolonization โดยพบว่าการให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS ในทารกแรกเกิดนั้นจะเพียงพอเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนคลอด ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงระยะเวลาในการทำหัตถการเร่งคลอดดังกล่าวหากเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรให้หัตถการใดๆที่จำเป็นต้องล่าช้าเพื่อรอระยะเวลา 4 ชั่วโมงก่อนคลอดดังกล่าวเช่นกัน

การเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อตรวจหาเชื้อ GBS (48)

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการเก็บสิ่งส่งตรวจจะเก็บโดยใช้ไม้พันสำลีปราศจากเชื้อป้ายเก็บที่บริเวณช่องคลอด(ด้านนอก) และทวารหนัก(ผ่านหูรูดทวารหนัก) แล้วนำเก็บใน transport media แล้วจึงนำไปเพาะเชื้อต่อไปนั้น ทาง CDC 2010 ได้มีการแนะนำการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติตามเพิ่มเติมในการระบุหาเชื้อ GBS โดยการใช้ pigmented broth หรือ DNA probe ที่เรียกว่า Latex agglutination หรือ Nucleic acid amplification test (NAAT) โดยตรวจหลังจาก incubation ประมาณ 18-24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามการส่งตรวจ NAAT เพื่อหาเชื้อ GBS โดยตรงจากช่องคลอดและทวารหนัก(โดยไม่รอ incubation 18-24 ชั่วโมง)นั้น ยังมีบทบาทน้อยในการใช้ทดสอบอยู่ โดยในบางที่ที่มีการทดสอบ NAAT ใช้ได้นั้นมักจะทำการทดสอบในช่วง intrapartum กรณีที่ไม่ทราบผลการเพาะเชื้อ GBS และในขณะนั้นไม่มีความเสี่ยงอื่นๆ(เช่น อุณหภูมิกายมากกว่าหรือเท่ากับ 38.0 องศาเซลเซียส หรือ มีน้ำเดินนานกว่าหรือเท่ากับ 18 ชั่วโมง)ในช่วงเวลาที่ทำการทดสอบNAATในรายที่เป็นการตั้งครรภ์ครบกำหนด

ในรายที่ผลการทดสอบ NAAT ต่อเชื้อ GBS ให้ผลเป็นบวก ควรได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันเชื้อ GBS ในช่วง intrapartum โดยหากในรายใดมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ GBS ดังที่กล่าวข้างต้นเกิดตามมาหลังจากการทำการทดสอบ NAAT แล้วก็ควรได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันเชื้อ GBS ในช่วง intrapartumด้วยโดยไม่ต้องสนใจผลของการตรวจ NAAT

แนวทางการรักษาทารกแรกเกิด (48)

รูปที่ 4 แนวการการป้องกันการติดเชื้อ GBS ในทารกแรกดเกิดแบบปฐมภูมิ (48

GBS4)

Ref: Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Prevention of perinatal group B streptococcal disease–revised guidelines, 2010.(48)

บทสรุป

โดยสรุปแล้ว Group B streptococci (GBS) หรือ เชื้อ Streptococcus agalactiae เป็นเชื้อก่อโรคสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงและการตายของทารกแรกเกิด จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 10-30 มีเชื้อนี้แฝงอยู่ที่ช่องคลอดและทวารหนักหรืออาจเรียกว่าเป็นพาหะของเชื้อ GBS  ซึ่งสามารถทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อของเยื่อบุโพรงมดลูก ถุงน้ำคร่ำอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนี้ได้ ซึ่งการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกนั้นมักเกิดจากการติดเชื้อระหว่างคลอด ในช่วงที่ทารกคลอดผ่านช่องคลอดที่มีเชื้อ GBS แฝงอยู่ได้

สำหรับในประเทศไทยนั้นได้เคยมีการศึกษาความชุกของพาหะของเชื้อ GBS ในสตรีตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ซึ่งพบว่าความชุกของพาหะของเชื้อ GBS คือ ร้อยละ16 (50)และโรงพยาบาลศรีนครินทร์พบว่าความชุกของพาหะของเชื้อ GBS คือ ร้อยละ 6.22 (51)สำหรับในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่นั้นยังไม่ทราบความชุกของพาหะ GBS อย่างแน่ชัด ดังนั้นการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS จากแม่สู่ลูกในช่วงการคลอดจึงให้ตามความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของCDC 2010เท่านั้น ซึ่งหากโรงพยาบาลใดมีการตรวจคัดกรองเชื้อ GBS ในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์ ก็สามารถให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อสู่ทารกได้ตามแนวทางการรักษาของ CDC 2010 ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Edwards MS, Nizet V, Baker CJ. Group B Streptococcal Infections. In: Infectious Diseases of the Fetus and Newborn Infant, 7th ed, Remington JS, Klein JO, Wilson CB, et al (Eds), Elsevier Saunders, Philadelphia 2011. p.419.
  2. Madoff, LC, Kasper, DL. Group B streptococcal infection. In: Obstetric and Perinatal Infections, Charles, D (Ed), Mosby Year Book, Boston, 1993, p. 210.
  3. Lancefield RC. A SEROLOGICAL DIFFERENTIATION OF SPECIFIC TYPES OF BOVINE HEMOLYTIC STREPTOCOCCI (GROUP B). J Exp Med 1934; 59:441.
  4. Jennings HJ, Katzenellenbogen E, Lugowski C, Kasper DL. Structure of native polysaccharide antigens of type Ia and type Ib group B Streptococcus. Biochemistry 1983; 22:1258.
  5. Jennings HJ, Rosell KG, Katzenellenbogen E, Kasper DL. Structural determination of the capsular polysaccharide antigen of type II group B Streptococcus. J BiolChem 1983; 258:1793.
  6. Wessels MR, Benedí WJ, Jennings HJ, et al. Isolation and characterization of type IV group B Streptococcus capsular polysaccharide. Infect Immun 1989; 57:1089.
  7. Doran KS, Engelson EJ, Khosravi A, et al. Blood-brain barrier invasion by group B Streptococcus depends upon proper cell-surface anchoring of lipoteichoic acid. J Clin Invest 2005; 115:2499.
  8. Schrag SJ, Zywicki S, Farley MM, et al. Group B streptococcal disease in the era of intrapartum antibiotic prophylaxis. N Engl J Med 2000; 342:15.
  9. Phares CR, Lynfield R, Farley MM, et al. Epidemiology of invasive group B streptococcal disease in the United States, 1999-2005. JAMA 2008; 299:2056.
  10. Centers for Disease Control and Prevention. Active Bacterial Core Surveillance (ABCs) Report, Emerging Infections Program Network, group B streptococcus, 2003. 2004. www.cdc.gov/incidod/dbmd/abcs/survreports/gbs03.pdf (Accessed on September 22, 2005).Farley MM, Harvey RC, Stull T, et al. A population-based assessment of invasive disease due to group B Streptococcus in nonpregnant adults. N Engl J Med 1993; 328:1807.
  11. Farley MM, Harvey RC, Stull T, et al. A population-based assessment of invasive disease due to group B Streptococcus in nonpregnant adults. N Engl J Med 1993; 328:1807.
  12. Schwartz B, Schuchat A, Oxtoby MJ, et al. Invasive group B streptococcal disease in adults. A population-based study in metropolitan Atlanta. JAMA 1991; 266:1112.
  13. Jackson LA, Hilsdon R, Farley MM, et al. Risk factors for group B streptococcal disease in adults. Ann Intern Med 1995; 123:415.
  14. Blumberg HM, Stephens DS, Modansky M, et al. Invasive group B streptococcal disease: the emergence of serotype V. J Infect Dis 1996; 173:365.
  15. Schuchat A, Oxtoby M, Cochi S, et al. Population-based risk factors for neonatal group B streptococcal disease: results of a cohort study in metropolitan Atlanta. J Infect Dis 1990; 162:672.
  16. Trivalle C, Martin E, Martel P, et al. Group B streptococcal bacteraemia in the elderly. J Med Microbiol 1998; 47:649.
  17. Phares CR, Lynfield R, Farley MM, et al. Epidemiology of invasive group B streptococcal disease in the United States, 1999-2005. JAMA 2008; 299:2056.
  18. Phares CR, Lynfield R, Farley MM, et al. Epidemiology of invasive group B streptococcal disease in the United States, 1999-2005. JAMA 2008; 299:2056.
  19. Krohn MA, Hillier SL, Baker CJ. Maternal peripartum complications associated with vaginal group B streptococci colonization. J Infect Dis 1999; 179:1410.
  20. Zaleznik DF, Rench MA, Hillier S, et al. Invasive disease due to group B Streptococcus in pregnant women and neonates from diverse population groups. Clin Infect Dis 2000; 30:276.
  21. American Academy of Pediatrics. Group B streptococcal infections. In: Red Book: 2015 Report of the Committee on Infectious Diseases, 30th ed, Kimberlin DW (Ed), American Academy of Pediatrics, 2015. p.745.
  22. Edwards, MS, Nizet, V. Group B streptococcal infections. In: Infectious Diseases of the Fetus and Newborn Infant, 7th ed, Remington, JS, Klein, JO, Wilson, CB, et al (Eds), Elsevier Saunders, Philadelphia 2011. p.419.
  23. Baker CJ, Barrett FF. Transmission of group B streptococci among parturient women and their neonates. J Pediatr 1973; 83:919.
  24. Baker CJ, Barrett FF, Gordon RC, Yow MD. Suppurative meningitis due to streptococci of Lancefield group B: a study of 33 infants. J Pediatr 1973; 82:724.
  25. Franciosi RA, Knostman JD, Zimmerman RA. Group B streptococcal neonatal and infant infections. J Pediatr 1973; 82:707.
  26. Pannaraj PS, Baker CJ. Group B streptococcal infections. In: Feigin and Cherry’s Textbook of Pediatric Infectious Diseases, 7th, Cherry JD, Harrison GJ, Kaplan SL, et al. (Eds), Elsevier Saunders, Philadelphia 2014. p.1153.
  27. Berardi A, Rossi C, Lugli L, et al. Group B streptococcus late-onset disease: 2003-2010. Pediatrics 2013; 131:e361.
  28. Hussain SM, Luedtke GS, Baker CJ, et al. Invasive group B streptococcal disease in children beyond early infancy. Pediatr Infect Dis J 1995; 14:278.
  29. Guilbert J, Levy C, Cohen R, et al. Late and ultra late onset Streptococcus B meningitis: clinical and bacteriological data over 6 years in France. ActaPaediatr 2010; 99:47.
  30. Boyer KM, Gotoff SP. Strategies for chemoprophylaxis of GBS early-onset infections. AntibiotChemother 1985;35:267–80
  31. CDC. Prevention of perinatal group B streptococcal disease: a public health perspective. MMWR 1996;45(No. RR-7).
  32. National Institutes of Health. Summary of the workshop on perinatal infections due to group B Streptococcus. J Infect Dis 1977; 136:137–52.
  33. Regan JA, Klebanoff MA, Nugent RP. The epidemiology of group B streptococcal colonization in pregnancy. Vaginal Infections and Prematurity Study Group. ObstetGynecol1991;77:604–10.
  34. Yancey MK, Schuchat A, Brown LK, Ventura VL, Markenson GR. The accuracy of late antenatal screening cultures in predicting genital group B streptococcal colonization at delivery. ObstetGynecol1996;88):811–5.
  35. Campbell JR, Hillier SL, Krohn MA, Ferrieri P, Zaleznik DF, Baker CJ. Group B streptococcal colonization and serotype-specific immunity in pregnant women at delivery. ObstetGynecol2000 Oct;96(4):498–503.
  36. Baker CJ, Edwards MS, Kasper DL. Role of antibody to native type III polysaccharide of group B Streptococcus in infant infection. Pediatrics 1981;68:544–9.
  37. Boyer KM, Gadzala CA, Burd LI, Fisher DE, Paton JB, Gotoff SP. Selective intrapartum chemoprophylaxis of neonatal group B strep­tococcal early-onset disease. I. Epidemiologic rationale. J Infect Dis 1983;148:795–801.
  38. Schuchat A, Oxtoby M, Cochi S, Sikes RK, Hightower A, Plikaytis B, et al. Population-based risk factors for neonatal group B streptococcal disease: results of a cohort study in metropolitan Atlanta. J Infect Dis 1990;162:672–7.
  39. Schuchat A, Deaver-Robinson K, Plikaytis BD, Zangwill KM, Mohle-Boetani J, Wenger JD. Multistate case-control study of maternal risk fac­tors for neonatal group B streptococcal disease. The Active Surveillance Study Group. Pediatr Infect Dis J 1994;13:623–9.
  40. Schuchat A, Zywicki SS, Dinsmoor MJ, et al. Risk factors and oppor­tunities for prevention of early-onset neonatal sepsis: a multicenter case-control study. Pediatrics 2000;105(1 Pt 1):21–6.
  41. Zaleznik DF, Rench MA, Hillier S, et al. Invasive disease due to group B Streptococcus in pregnant women and neonates from diverse popula­tion groups. Clin Infect Dis 2000;30:276–81.
  42. Oddie S, Embleton ND. Risk factors for early onset neonatal group B streptococcal sepsis: case-control study. BMJ (Clinical research ed 2002;325(7359):308.
  43. Adair CE, Kowalsky L, Quon H, et al. Risk factors for early-onset group B streptococcal disease in neonates: a population-based case-control study. CMAJ 2003;169:198–203.
  44. Carstensen H, Christensen KK, Grennert L, Persson K, Polberger S. Early-onset neonatal group B streptococcal septicaemia in siblings. J Infect 1988;17:201–4.
  45. Christensen KK, Dahlander K, Linden V, Svenningsen N, Christensen P. Obstetrical care in future pregnancies after fetal loss in group B streptococcal septicemia. A prevention program based on bacteriological and immunological follow-up. Eur J ObstetGynecolReprodBiol1981;12:143–50.
  46. Faxelius G, Bremme K, Kvist-Christensen K, Christensen P, Ringertz S. Neonatal septicemia due to group B streptococci—perinatal risk factors and outcome of subsequent pregnancies. J Perinat Med 1988;16: 423–30.
  47. Schrag SJ, Zell ER, Lynfield R, et al. A population-based comparison of strategies to prevent early-onset group B streptococcal disease in neonates. N Engl J Med 2002;347:233–9.
  48. Verani JR, McGee L, Schrag SJ, Division of Bacterial Diseases, National Center for Immunization and Respiratory Diseases, Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Prevention of perinatal group B streptococcal disease–revised guidelines from CDC, 2010. MMWR Recomm Rep 2010; 59:1.
  49. Prevention of early-onset group B streptococcal disease in newborns. committee opinion. No. 485. American College of Obstetricians and Gynecologists. ObstetGynecol2011;117:1019-27.
  50. Tor-Udom S, Tor-Udom P, Hiriote W. The prevalence of streptococcus agalactiae (group B) colonization in pregnant women at Thammasat Hospital. Journal of the Medical Association of Thailand. 2006;89(4):411.
  51. Werawatakul Y, Wilailuckana C, Taksaphan S, Thinkumrup J, Pragarasung M, Chouwajaroen P, et al. Prevalence and risk factors of Streptococcus agalactiae (group B) colonization in mothers and neonatal contamination at Srinagarind Hospital. Journal of the Medical Association of Thailand. 2001;84(10):1422-9.

สำหรับในประเทศไทยนั้นได้เคยมีการศึกษาความชุกของพาหะของเชื้อ GBS ในสตรีตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ซึ่งพบว่าความชุกของพาหะของเชื้อ GBS คือ ร้อยละ16 (50)และโรงพยาบาลศรีนครินทร์พบว่าความชุกของพาหะของเชื้อ GBS คือ ร้อยละ 6.22 (51)สำหรับในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่นั้นยังไม่ทราบความชุกของพาหะ GBS อย่างแน่ชัด ดังนั้นการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ GBS จากแม่สู่ลูกในช่วงการคลอดจึงให้ตามความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของCDC 2010เท่านั้น ซึ่งหากโรงพยาบาลใดมีการตรวจคัดกรองเชื้อ GBS ในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์ ก็สามารถให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อสู่ทารกได้ตามแนวทางการรักษาของ CDC 2010 ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

Read More
Genet0

Basic Genetics : Modes of inheritance

Basic Genetics : Modes of inheritance

นพ.ธรรมพจน์ จีรากรภาสวัฒน์
อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล


วิชาพันธุศาสตร์ได้มีการกล่าวถึงตั้งแต่สมัยอาณาจักรกรีก จนกระทั่งบาทหลวงเกรเกอร์ เมนเดล(Gregor Mendel,1822-1884) ชาวออสเตรีย ได้ทำการศึกษาค้นคว้าความสัมพันธ์ของการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของต้นถั่วพันธุ์ต่างๆ สรุปได้เป็นกฎของเมนเดล 3 ข้อ คือ

กฎข้อที่ 1 : Law of uniformity คือเมื่อสิ่งมีชิวิตที่เป็นพันธุ์แท้ (Homozygote)ที่มีอัลลีลที่แตกต่างกัน มาปฏิสนธิกัน จะทำให้ได้ทายาททางพันธุกรรมในรุ่นแรก มีลักษณะภายนอกที่เหมือนกัน และลักษณะทางพันธุกรรมเป็นพันธุ์ทาง(Heterozygote)[2]

กฏข้อที่ 2 : Law of segregation คือ ยีนที่ควบคุมลักษณะใดลักษณะหนึ่งมีอยู่เป็นคู่ๆ แต่ละคู่จะแยกออกจากกันในระหว่างการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ทำให้ในแต่ละเซลล์สืบพันธุ์นั้น มียีนที่ควบคุมลักษณะพันธุกรรมนั้นๆเพียง1 หน่วยและจะกลับมาเข้าคู่อีกครั้ง เมื่อมีการปฏิสนธิ[2]

กฎข้อที่ 3 : Law of independent assortment คือ การรวมกลุ่มกันอย่างอิสระ กล่าวคือ ยีนที่ควบคุมลักษณะต่างกัน เมื่อปฏิสนธิก็จะมีการรวมของยีนในรุ่นลูกอย่างอิสระ โดยที่ยีนที่ควบคุมลักษณะหนึ่ง ไม่ขึ้นกับยีนที่ควบคุมอีกลักษณะหนึ่ง[2]ตัวอย่างจากการทดลองของเมนเดล คือ การผสมพันธุ์ต้นถั่วที่มียีนควบคุมสองลักษณะคือ ลักษณะที่ 1 เมล็ดถั่วกลม (R) หรือย่น (r) และลักษณะที่ 2 เมล็ดถั่วสีเหลือง (Y) หรือสีเขียว (y) ซึ่งเมื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์จะมีได้ 4 ลักษณะ คือ RY, Ry, rY, ryในอัตราส่วน ¼:¼:¼:¼ และเมื่อมีการปฏิสนธิ จะมีโอกาสได้รุ่นลูกทั้งหมด ¼ x ¼ = 1/16 คือมีลักษณะที่เป็นไปได้ 16 แบบ กล่างคือยีนที่ควบคุมลักษณะของเมล็ดกลมหรือย่น และยีนที่ควบคุมลักษณะสีเมล็ดเหลืองหรือเขียว ต่างแสดงออกลักษณะของตนโดยที่ไม่ขึ้นต่อกัน

Genet0

ซึ่งจากกฎของเมนเดลข้างต้น บาทหลวงเมนเดลได้นำเสนอในงาน Natural History Society of Brunnในเมืองโบฮีเมีย ในปี ค.ศ.1865หลังจาก16 ปีของการเสียชีวิตของเขา กฎของเมนเดลก็ได้รับการยอมรับ และได้รับการศึกษาต่อมาว่ากฎของเมนเดลมีข้อจำกัดในการอธิบายการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้ในเฉพาะลักษณะที่ถ่ายทอดนั้นควบคุมด้วยยีนชนิดเดียวเท่านั้นคือ Single gene inheritance หรือ Mendelianinheritance ซึ่งต่อมาได้มีการศึกษาเพิ่มเติมตามระดับความก้าวหน้าของวิชาพันธุศาสตร์ ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ความสำคัญของวิชาพันธุศาสตร์ในทางการแพทย์ นั้นช่วยให้แพทย์มีความเข้าใจในโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น อายุของมารดา อายุของบิดา สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ความเข้าใจในวิชาพันธุศาสตร์ส่งผลต่อสุขภาพในทุกกล่มอายุ กล่าวคือ ในกรณีการแท้งเองโดยไม่ทราบสาเหตุ พบว่า 40-50%เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ในช่วงการแท้งในไตรมาสที่1 ของการตั้งครรภ์และในทารก พบว่าอย่างน้อย 2-3 %มีความผิดปกติแต่กำเนิดที่รุนแรง ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ โดยอุบัติการณ์ของโครโมโซมผิดปกติ เท่ากับ 1:100 และ Single gene disorders เท่ากับ1:200 นอกจากนี้ในวัยผู้ใหญ่พบว่า1% ในผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ Single geneและพบว่า5-10% ของมะเร็งที่พบบ่อยเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม[2]

การจำแนกโรคทางพันธุกรรม

  1. Single gene disorders คือ โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกิดจากยีนที่ถ่ายทอดลักษณะ เพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งถ่ายทอดตามกฎของเมนเดล ซึ่งอ้างอิงตาม McKusick’s Catalog ที่รายงานไว้บนOnline Medelian Inheritance in Man (OMIM) ล่าสุดในปี ค.ศ. 2010มียีนที่ค้นพบว่าทำให้เกิดโรคทางพันธุกรรมแล้วเกือบ 20,000 ยีน[2]
  2. Chromosome abnormalities คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม อาทิ จำนวนโครโมโซมผิดปกติ โครงสร้างโครโมโซมผิดปกติ
  3. Multifactorial disorders คือ โรคทางพันธุกรรม ที่เกิดจากการแสดงออกของยีนหลายตำแหน่ง ที่แสดงออกร่วมกันและสิ่งแวดล้อมมีผลต่อกการแสดงออกของยีนเหล่านั้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่โรคในกลุ่มนี้แสดงออกในช่วงวัยผู้ใหญ่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นต้น [2]
  4. Acquired somatic genetic disease คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่การแบ่งเซลล์ ระยะ Mitosis ในช่วงชีวิตหนึ่งๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้เกิด Single gene mutation, DNA copy error หรือจำนวนโครโมโซมผิดปกติ ที่เกิดจากคู่โครโมโซมไม่แยกตัวออกจากกันในขณะแบ่งเซลล์ ปัจจุบันเชื่อว่าลักษณะความผิดปกติข้างต้นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง [2]

รูปแบบการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Modes of inheritance)[3]

1. Typical Mendelian inheritance

1.1. Autosomal dominant inheritance
1.2. Autosomal recessive inheritance
1.3. X-linked recessive inheritance
1.4. X-linked dominant inheritance
1.5. Y-linked inheritance

2. Atypical Medelian inheritance

2.1. Genetic anticipation
2.2. Autosomal dominant inheritance with sex limitation
2.3. Pseudodominant inheritance
2.4. Mosaicism
2.5. Digenic inheritance
2.6. Uniparentaldisomy
2.7. Imprinting disorders

3. Non-Medelian inheritance

3.1. Multifactorial disorders
3.2. Mitochondrial disorders

1. Typical Mendelian inheritance

คือลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านยีน ที่ควบคุมเพียงยีนเดียว

เพื่อการเข้าในในการศึกษาการถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความสัมพัน ระหว่าง genotype และ phenotype ก่อน กล่าวคือ ในการถ่ายทอดแบบ autosomal dominant ยีนที่ผิดปกติจะสร้างโปรตีนที่ผิดปกติ และแสดงเป็นลักษณะความผิดปกติให้เห็น และหากเป็นในกรณีการถ่ายทอดแบบ autosomal recessive ยีนเป็นพาหะ หรือ heterozygous carrier ยีนที่มีความผิดปกตินั้นจะสามารถสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาให้พบได้ แต่ไม่แสดงลักษณะทาง phenotype ให้พบ เช่นกรณี พาหะโรคโลหิตจาก sickle cell พบว่าสามารถตรวจพบ Hemoglobin S ได้ 30%

Genetic Heterogeneity คือ มีความหลากหลายของกลไกการเกิดความผิดปกติของพันธุกรรม ที่ทำให้แสดงลักษณะ phenotype แบบเดียวกันหรือต่างกัน[1] แบ่งเป็น

  • Locus heterogeneity คือ มีความผิดปกติของยีนใดยีนหนึ่ง ที่แตกต่างตำแหน่ง locus กัน แต่แสดงออกในลักษณะ phenotype เดียวกัน เช่น โรค Retinitis pigmentosaสามารถเกิดการกลายพันธุ์ของยีน ได้หลายหลายถึง 35 ตำแหน่ง locus สามารถทำให้มีความผิดปกติของ photoreceptor ที่ retina ได้เหมือนกัน เป็นผลให้โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หลายรูปแบบ ทั้ง autosomal dominant, autosomal recessive, X-linked [1]
  • Allelic heterogeneity คือ มีเพียงยีนเดียวที่เกิดความผิดปกติแล้ว แสดงให้เกิดลักษณะ phenotype นั้นๆ แต่ในยีนนั้น สามารถมีการกลายพันธุ์หรือ mutation ได้หลากหลายลักษณะ เช่นโรค Cystic fibrosis ที่มีความผิดปกติที่ยีน cystic fibrosis conductance transmembrane regular gene (CFTR) ซึ่งยีน CTFR นี้เองสามารถกลายพันธุ์ได้มากกว่า 1000 รูปแบบ[1]หรือ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเบต้า ที่มักเป็น compound heterozygote มากกว่า true homozygote กล่าวคือมียีนที่สร้างฮีโมโกลบินมีกลายพันธุ์ในลักษณะที่แตกต่างกัน มาอยู่เป็นคู่อัลลีลเดียวกัน แต่แสดงลักษณะของโรคโลหิตจากธาลัสซีเมียเบต้าเหมือนกัน
  • Phenotypic heterogeneity คือ การกลายพันธุ์ในหลากหลายรูปแบบบนยีนเดียวกัน สามารถทำให้เกิดโรคที่แตกต่างกัน เช่น การกลายพันธุ์ของยีน fibroblast growth factor receptor 3 (FGFR3) มีได้หลายรูปแบบ ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงต่างกัน คือ achondroplasiaและ thanatophoric dysplasia [1]

1.1. Autosomal dominant inheritance คือ การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนเด่นของโครโมโซมร่างกาย (Somatic chromosome)คือ มีการกลายพันธุ์ของยีนบนโครโมโซมร่างกาย ที่สามารถแสดงลักษณะทาง phenotype ได้เหนือกว่ายีนปกติ ซึ่งการถ่ายทอดทางพันธุกรรมลักษณะนี้โดยทั่วไปจะแสดงอาการของโรคในทุกๆรุ่นของทายาท และมีปัจจัยทางพันธุศาสตร์ที่ทำให้การแสดงลักษณะยีนเด่นนั้น แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • Pleiotropy คือ การกลายพันธุ์ของยีนหนึ่งๆ ที่สามารถแสดงออกเป็นลักษณะที่ผิดปกติ ที่ไม่สัมพันธ์ต่อกันในหลายระบบ ยกตัวอย่างเช่น ในโรค tuberous sclerosis ยีนจะแสดงลักษณะต่างๆ เช่น พัฒนาการในการศึกษาผิดปกติ (learning difficulties), อาการลมชัก, ผื่นบนใบหน้าที่เรียกว่า adenoma sebaceumซึ่งในผู้ป่วยโรคนี้ อาจจะมีลักษณะผิดปกติข้างต้นอันใดอันหนึ่ง หรือทุกลักษณะก็ได้ และในปัจจุบันได้นำคำว่า Pleiotropyมาอธิบาย กลุ่มอาการต่างๆ ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนเดียวกัน แต่กลุ่มอาการที่แสดงออกนั้นแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การกลายพันธุ์ของยีน LNMA ก่อให้เกิดโรค Emery-Dreifuss muscular dystrophy หรือ Charcot-Marie-Tooth disease หรือ Dunnigan-type familial partial lipodystrophyหรือ Mandibuloacral dysplasia หรือ Hutchinson-Gilford progeria[2]
  • Penetrance คือ ภาวะที่มียีนกลายพันธุ์ ที่เป็นลักษณะเด่น แต่ไม่แสดงลักษณะทาง phenotype แบ่งได้ 2 ชนิดคือ Non-penetrance หมายถึงไม่มีการแสดงความผิดปกติใดๆเลยให้พบ และ reduced penetrance หมายถึงไม่มีอาการผิดปกติทางคลินิกแสดงให้พบ ซึ่งภาวะ penetrance นี้เกิดจากการปรับตัวของยีน ที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยของสิ่งแวดล้อม ทำให้ในพงศาวลีไม่แสดงลักษณะผิดปกติของบุคคลที่มียีนกลายพันธุ์นั้นให้เห็น (skipping generation) [1][2]
  • Variable expressivity คือ ยีนกลายพันธุ์นั้น สามารถแสดงออกลักษณะที่ผิดปกติทาง phenotype ได้หลายระดับของความรุนแรงตั้งแต่น้อยไปมาก เช่น โรค Autosomal dominant polycystic kidney disease (ADPKD) ในบางรายเกิดภาวะไตวายตั้งแต่วัยเด็ก ในขณะที่บางรายอาจจะมีเพียงถุงน้ำปริมาณไม่มากที่ไต และไม่ส่งผลต่อการทำงานของไต[2]
  • Codominant gene คือ ยีนที่คู่กันบนอัลลีลที่ต่างกัน แสดงออกลักษณะทาง phenotype เทียบเท่ากัน ตัวอย่างเช่น หมู่โลหิต AB ที่แสดง Antigen A และ B บนผิวของเม็ดเลือดแดงไปพร้อมๆกัน[1]
  • New mutation คือ การกลายพันธุ์ของยีนครั้งใหม่ ที่มีการพิสูจน์แล้วว่าพ่อและแม่ไม่มียีนกลายพันธุ์นั้น ซึ่งสัมพันธ์กับอายุของพ่อที่มากกว่า 40 ปี เช่น การกลายพันธุ์ของยีน FGFR3 ทำให้เกิดโรค achondroplasiaและ thanatophoric dysplasia[1]
  • Homozygosity for autosomal dominant traits คือ การมียีนกลายพันธุ์ในลักษณะของพันธุ์แท้ ซึ่งส่งผลให้แสดงลักษณะผิดปกติที่รุนแรง กว่ารายที่เป็นพันธุ์ทาง เช่น โรค achondroplasiaและโรค familial hypercholesterolemia แต่ในกรณีเช่นนี้ไม่เสมอไปเพราะในโรค Huntington disease และ Myotonic dystrophy อาการผิดปกติไม่ได้รุนแรงขึ้น [2]

 Genet1a   Genet1b

รูปที่ 1 แสดงการถ่ายทอดลักษณะแบบ autosomal dominant และพงศาวลี [3][4]

1.2. Autosomal recessive inheritance คือ การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนด้อยของโครโมโซมร่างกาย (Somatic chromosome) คือ มีการกลายพันธุ์ของยีนบนโครโมโซมร่างกาย ซึ่งจะต้องมียีนกลายพันธุ์ในลักษณะพันธุ์แท้ จึงจะสามารถแสดงลักษณะทาง phenotype มักแสดงความผิดปกติในรุ่นทายาทเพียงรุ่นเดียว ซึ่งมีปัจจัยที่ส่งเสริมการถ่ายทอดทางพันธุกรรมลักษณะ คือ การแต่งงานในเครือญาติ (consanguinity) หมายถึงการแต่งในของหญิงและชาย ที่มีบรรพบุรุษอย่างน้อยคนใดคนหนึ่งร่วมกัน ซึ่งการแต่งงานในเครือญาตินี้ จะเพิ่มโอกาสของยีนกลายพันธุ์ลักษณะด้อยที่แฝงอยู่ในประชากร ได้มาผสมพันธุ์กันมากขึ้น ทำให้เกิดการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมที่เป็นลักษณะด้อยให้พบ เช่น โรค alkaptonuriaและ cystic fibrosis มีการศึกษาพบว่าพ่อและแม่มักมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน[1][2]

Genet2a   Genet2b

รูปที่ 2 แสดงการถ่ายทอดลักษณะแบบ autosomal recessive และพงศาวลี [3][4]

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_blue_green.css]}

Autosomal dominant inheritance Autosomal recessive inheritance
Achondroplasia Alph1- antitrypsin deficiency
Acute intermittent porphyria Congenital adrenal hyperplasia
Adult polycystic kidney disease Cystic fibrosis
Antithrombin III deficiency Gaucher disease
BRCA1 and BRCA2 breast and/or ovarian cancer Hemochromatosis
Ehlers-Danlos syndrome Homocystinuria
Familial adenomatous polyposis Phenylketonuria
Familial hypercholesterolemia Sickle-cell anemia
Hereditary hemorrhagic telangiectasia Tat-Sachs disease
Hereditary spherocytosis Thalassemia syndromes
Huntington disease Wilson disease
Hypertrophic obstructive cardiomyopathy
Long QT syndrome
Marfan syndrome
Myotonic dystrophy
Neurofibromatosis t type 1 and 2
Tuberous sclerosis
Von Willebrand disease

ตารางที่ 1โรคที่พบบ่อยในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ Autosomal dominant และ Autosomal recessive [1]

1.3. X-linked recessive inheritance คือ การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนด้อยของโครโมโซมเพศชนิด X ซึ่งมักจะแสดงอาการผิดปกติในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง เนื่องจากเพศชายมีโครโมโซมชนิด X เพียงแท่งเดียว ซึ่งในบางโรคที่มีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมเช่นเพศชายมักไม่ใช่เป็นผู้ถ่ายทอดยีนกลายพันธุ์ที่ผิดปกติ เนื่องจากเพศชายที่เป็นโรคนั้นมีอาการของโรครุนแรงและมักเสียชีวิตก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ หากแต่เพศหญิงที่เป็นพาหะของยีนกลายพันธุ์นั้นต่างหากเป็นผู้ถ่ายทอด ตัวอย่างเช่น โรค Duchenne muscular dystrophy เป็นต้น และการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมเช่นนี้ สามารถแสดงออกได้ในเพศหญิง มีปัจจัยเกี่ยวข้องดังนี้ [2]

  • Variable expression in heterozygous females คือ เพศหญิงที่เป็นพาหะของยีนกลายพันธุ์นั้น จะแสดงลักษณะทาง phenotype แบบผสมระหว่างยีนปกติกับยีนกลายพันธุ์ เช่นในเพศหญิงที่เป็นพาหะของโรค Ocular albinism จะมีลักษณะของเม็ดสีที่จอรับภาพ ทั้งแบบปกติ และแบบไม่มีสี ซึ่งมีสาเหตุจากกระบวนการ random X-inactivation [2]
  • Homozygosity for X-linked recessive disorders คือ เพศหญิงนั้นมียีนกลายพันธุ์บนโครโมโซมชนิด X ทั้ง 2 แท่ง ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากกรณีบิดาเป็นโรคและมารดาเป็นพาหะ หรือในกรณีที่เป็นไปได้น้อยกว่าคือบุคคลนั้นได้ยีนกลายพันธุ์มาจากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งและโครโมโซมชนิด X อีกแท่งหนึ่งเกิดการกลายพันธุ์ครั้งใหม่ (new mutation) ขึ้นเอง
  • Skewed X inactivation คือ โดยภาวะปกติเพศหญิงจะมีการสุ่มเลือกการแสดงออกของโครโมโซมชนิด X ในเซลล์นั้นๆในขณะเป็นระยะตัวอ่อนจากโครโมโซมชนิด X ทั้งสองแท่งเท่าๆกัน แต่มีบางกรณีที่เกิดความผิดพลาดที่เซลล์ในระยะตัวอ่อน ที่มีการเลือกแท่งโครโมโซมชนิด X ที่มียีนกลายพันธุ์ให้แสดงออกในเซลล์ตัวอ่อนต้นกำเนิดมากกว่า เลืองแท่งที่ยีนปกติ ทำให้เพศหญิงนั้นแสดงลักษณะผิดปกตินั้นออกมา ยกตัวอย่างเช่นโรค Hemophilia, Duchene muscular dystrophy
  • Numerical X chromosome abnormalities คือในกรณีที่เพศหญิงนั้นมีโครโมโซมชนิด X เพียงแท่งเดียว และมียีนกลายพันธุ์อยู่ เช่นในโรค Turner syndrome

 Genet3a

Genet3b   Genet3c

รูปที่ 3 แสดงการถ่ายทอดลักษณะแบบ X-linked recessive และพงศาวลี [3][4]

1.4. X-linked dominant inheritance คือ การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนเด่นของโครโมโซมเพศชนิด X โดยที่สามารถแสดงลักษณะผิดปกติได้ทั้งในเพศชายและหญิง แต่จะพบได้ในเพศหญิง มากกว่า เนื่องจากลักษณะผิดปกติที่ถ่ายทอดนี้ในเพศชายมักรุนแรง และมักเสียชีวิตตั้งแต่ในระยะตัวอ่อน เช่น โรค Rett syndrome และ Periventricular nodular heterotropia

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_blue_green.css]}

X-linked recessive inheritance X-linked dominant inheritance
Duchenne muscular dystrophy Conradl-HÜnermann syndrome
Becker muscular dystrophy Craniofrontonasal dysplasia
Fragile X syndrome Focal dermal hypoplasia (Goltz syndrome)*
Hemophilia A (factor VIII deficiency) Incontinentiapigmenti*
Hemophilia B (factor IX deficiency) Rett syndrome*
Non-specific X-linked mental retardation Vitamin D resistant rickets
Red-green color blindness Xg blood group
X-linked agammaglobulinemia X-linked dominant hereditary motor and sensory neuropathy
X-linked ichthyosis X-linked periventricular heterotropia*

ตารางที่ 2 โรคที่พบบ่อยในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ X-linked recessive และ X-linked dominant ( * Lethal in hemizygous males)[3]

 Genet4

รูปที่ 4 แสดงการถ่ายทอดลักษณะแบบ X-linked dominantและพงศาวลี [3][4]

1.5. Y-linked inheritance คือ การถ่ายทอดลักษณะทางพันกรรมบนโครโมโซมเพศชนิด Y กล่าวคือเพศชายเท่านั้นที่จะแสดงลักษณะผิดปกตินี้ ได้แก่ลักษณะ porcupine skin, hairy ears, webbed toes นอกจากนี้ โครโมโซมเพศชนิด Y มียีนที่ควบคุมการทำงานของต่อมเพศชาย การพัฒนาของอสุจิ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วยีนผิดปกติเหล่านี้จะส่งผลให้เพศชายเป็นหมัน จากภาวะไม่มีอสุจิ หรือ ปริมาณตัวอสุจิน้อย ซึ่งปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ชนิด ICSI เป็นปัจจัยหนึ่งที่ถ่ายทอดยีนผิดปกติเหล่านี้สู่รุ่นถัดไป [3]

2. Atypical Mendelian inheritance

2.1. Genetic anticipation คือ ภาวะที่โรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดนั้นแสดงอาการในช่วงอายุที่น้อยลง ในขณะที่ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น ซึ่งพบได้ในการถ่ายทอดแบบ autosomal dominant และ X-linked recessive จากการศึกษาพบว่ามีความผิดปกติของการเพิ่มDNAทีละ 3 เบส ซ้ำๆบนยีนกลายพันธุ์ (DNA triplet repeatexpansion) ในทุกๆรุ่นของการสืบพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดการแปลสารพันธุกรรมเป็นโปรตีนที่ทำงานได้ลดลง ทำให้โรคหรือความผิดปกตินั้นรุนแรงขึ้น เช่นในโรค Huntington disease มีการเพิ่มDNAที่มีเบส CAG บริเวณปลาย 5′ ของ HTT gene จากโครโมโซมฝั่งพ่อ หรือ โรค Myotonic dystrophy ที่มีการเพิ่มกลุ่มDNAที่มีเบส CTG บริเวณปลาย 3′ ของ DMPK gene จากโครโมโซมฝั่งแม่ หรือโรค Fragile X syndromeที่มีการเพิ่มกลุ่มDNAที่มีเบสCGG บนโครโมโซมเพศชนิด X ส่วน q27 [1][3]

2.2. Autosomal dominant inheritance with sex limitation คือ การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนเด่นของโครโมโซมร่างกายที่แสดงออกจำเพาะเพศ เช่น ในครอบครัวที่มีประวัติมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ที่พบว่ามียีนกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งเพศหญิงในครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับการถ่ายทอดความผิดปกตินี้[3]

2.3. Pseudodominant inheritance คือ การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย ของโครโมโซมร่างกาย แต่พบว่าการถ่ายทอดในพงศาวลี มีโอกาสเกิดโรค 1:2 ในทายาทรุ่นถัดไป ซึ่งโอกาสเกิดโรคเท่ากับการถ่ายทอดแบบยีนเด่น เหตุผลที่เป็นเช่นนี้คือรุ่นพ่อแม่ เป็นพาหะของโรคนั้นทั้งคู่ ซึ่งการถ่ายทอดลักษณะนี้พบได้ในโรคที่มีพาหะของโรคในประชากรมาก เช่น โรค Gilbert syndrome mมีพาหะของโรคในประชากรแถบยุโรป และอเมริกาเหนือถึง 50% หรือโรคอื่นๆ เช่น Crigler-Najjar syndrome type I, โรคFriedreich ataxia และโรค Pseudoxanthomaelasticum[3]

2.4. Mosaicism คือ ภาวะที่ในร่างกายมีเซลล์ 2 กลุ่ม ที่มีลักษณะทาง genotype แตกต่างกัน ซึ่งเหตุการณ์ผิดปกตินี้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนในช่วงการบ่งตัวแบบ mitosis ภายหลังการปฏิสนธิทำให้เซลล์กลุ่มหนึ่งมี genotype ปกติ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมียีนกลายพันธุ์บน genotype และสามารถแสดงลักษณะผิดปกติทาง phenotype ได้ แบ่งเป็น 2 ชนิด[2][3] คือ

  • Somatic Mosaicismคือ เกิดความผิดปกติข้างต้น บนยีนที่อยู่บนโครโมโซมร่างกาย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยนั้นมีแสดงอาการผิดปกติลดลง คือแสดงอาการเฉพาะตำแหน่งที่มีเซลล์ที่มียีนกลายพันธุ์นั้นอยู่ เช่น โรค Neurofibromatosis type I ที่มีลักษณะผิดปกติทาง phenotype แสดงเฉพาะบางส่วนของร่างกาย เรียกว่า segmental NF1 ซึ่งการจะพยากรณ์ว่าจะสามารถถ่ายทอดไปสู่รุ่นทายาทได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับยีนกลายพันธุ์นั้นส่งต่อไปยังเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์สืบพันธุ์หรือไม่
  • Gonadal Mosaicismคือ ภาวะที่เซลล์ที่ไม่ใช่เซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์สืบพันธุ์ (non-germ cell line)มี genotype ปกติ ทำให้ไม่แสดงอาการทาง phenotype ที่ผิดปกติ แต่พบว่ามีเซลล์ต้นกำเนิดเซลล์สืบพันธุ์ (germ cell) มียีนกลายพันธุ์ และสามารถถ่ายทอดไปสู่รุ่นทายาทได้ จากการรายงานพบว่ามักพบในโรคที่ถ่ายทอดแบบ Autosomal dominant เช่น โรค achondroplasia, โรคosteogenesisimperfectaหรือมักพบในโรคที่ถ่ายทอดแบบ X-linked recessive เช่น โรคDuchenne muscular dystrophy, โรคHemophilia เป็นต้น

 Genet5

รูปที่ 5 แสดงการเกิดภาวะ Mosaicism ในรูปแบบต่างๆ [6]

2.5. Digenic inheritance คือ ลักษณะความผิดปกติหนึ่งๆ ที่ถ่ายทอดผ่านยีน 2 ยีน ที่อยู่คนละตำแหน่ง Locus กันและเมื่อยีน 2 ยีนนั้นต่างแสดงลักษณะทาง genotype เป็น heterozygote แต่เมื่อมาอยู่ในคนคนเดียวกัน เรียกว่ามีภาวะ double heterozygote จะแสดงความผิดปกติทาง phenotype ได้ ตัวอย่างเช่น โรคretinitis pigmentosaที่ควบคุมโดยยีน ROM1 และ peripherin

Genet6

รูปที่ 6 แสดงการถ่ายแบบ digenic inheritance ของโรค retinitis pigmentosa

 Genet7

รูปที่ 7 แสดงการเกิดภาวะ Uniparentaldisomyทั้งสองลักษณะคือ Isodisomyและ Heterodisomy ของโครโมโซมคู่ที่5 (a)แสดงการเกิด trisomy rescue และการเกิด maternal UPD ของโครโมโซมคู่ที่ 5 ทำให้เกิดโรค Prader-willi syndrome (b)แสดงการเกิด monosomy rescue และการเกิดpaternal UPD ของ โครโมโซมคู่ที่ 5 ทำให้เกิดโรคAngelman syndrome [5]

2.6. Uniparentaldisomy (UPD) คือภาวะที่โครโมโซมคู่ใดคู่หนึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากฝ่ายพ่อ หรือแม่ เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งในปัจจุบันพบว่า แม้ว่ายีนบนโครโมโซมคู่เดียวกัน แต่มาจากฝ่ายพ่อ หรือฝ่ายแม่ต่างกัน จะแสดงออกลักษณะทางพันธุกรรมที่ต่างกัน ซึ่งภาวะUniparentaldisomyนั้นมีโครโมโซมจากพ่อหรือแม่เพียงฝ่ายเดียวทำให้การแสดงออกของยีนบางตำแหน่งผิดปกติ ยกตัวอย่างโรคเช่น ยีนบนโครโมโซมคู่ที่ 15 หากมีแต่โครโมโซมที่มาจากพ่อเพียงฝ่ายเดียว (paternal UPD) จะเกิดโรคAngelman syndrome แต่หากโครโมโซมคู่ที่ 15 มาจากแม่เพียงอย่างเดียว (maternal UPD) จะเกิดโรค Prader-Willi syndrome นอกจากนี้การเกิดภาวะ UPD ยังเพิ่มโอกาสการเกิดโรค ที่เกิดจากพ่อ หรือแม่ที่เป็นพาหะของโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ autosomal recessive ซึ่งการเกิดภาวะ Uniparentaldisomyได้ 4กรณี ดังรูปที่ 5-6

Genet8

รูปที่ 8 แสดงการเกิดแสดงการเกิดภาวะ Uniparentaldisomyทั้งสองลักษณะคือ Isodisomyและ Heterodisomy[2] (A) เกิดความผิดปกติในขั้นตอน meiosis II ทำให้เซลล์สืบพันธุ์เป็น disomyแล้วปฏิสนธิเกิด trisomy rescue ทำให้เกิด isodisomy (B)เกิดความผิดปกติในขั้นตอนmeiosis I ทำให้เซลล์สืบพันธุ์เป็น disomyแล้วปฏิสนธิเกิด trisomy rescue ทำให้เกิดheterodisomy

2.7. Imprinting disorder คือ การประทับตราทางพันธุกรรม ที่เกิดกระบวนการ methylation ของ DNA บนโครโมโซมจากฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ ซึ่งทำให้ยีนนั้นๆแสดงออกลักษณะทางพันธุกรรมไม่ได้ อ้างอิงจากการความเชื่อเดิมที่ว่า โครโมโซมที่เป็นคู่ homologous กันจากฝ่ายพ่อและแม่จะแสดงออกทางพันธุกรรมเท่าเทียมกันซึ่ง การเกิดการประทับตราทางพันธุกรรม (genomic imprinting) ทำให้ขาดการแสดงออกของยีนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปซึ่ง ก่อให้เกิดโรคดังตารางที่ 3

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_blue_green.css]}

Disorder Chromosomal region Parental origin
Angelman 15q11.2-q13 maternal
Beckwith-Wiedemann 11p15.5 paternal
Myoclonic-dystonia 7q21 maternal
Prader-Willi 15q11.2-q13 paternal
Pseudohypoparathyroidism 20q13.2 Depen on type
Russell-Silver syndrome 7p11.2 maternal

ตารางที่ 3 แสดงโรคที่เกิดจากการประทับตราทางพันธุกรรม (Imprinting) [1]

เพื่อประกอบการเข้าใจ ขอยกตัวอย่างโรค Angelman syndrome ซึ่งเกิดจากความผิดปกติที่เกิดจากการแสดงออกของยีนบนโครโมโซมคู่ที่ 15 จากฝ่ายแม่ผิดปกติ ดังรูปที่ 7 ที่มีสาเหตุหลายรูปแบบ

Genet9

รูปที่ 9 แสดงสาเหตุการเกิดโรค Angleman syndrome[5]

3. Non-Medelian inheritance

3.1. Multifactorial disorders เป็นลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ขึ้นกับยีนหลายยีน และมีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะแสดงลักษณะที่ผิดปกติเมื่อเกินขีดกำหนด ทำให้การแสดงลักษณะทาง phenotype เป็นรูปแบบ all – or- none ยกตัวอย่างเช่น ความผิดปกติปากแหว่งเพดานโหว่ และหูรูดไพรอลัสของกระเพาะอาการตีบ เป็นต้น

3.2. Mitochondrial inheritance เป็นการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจาก mitochondrial DNA ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากฝ่ายแม่ และจะถ่ายทอดไปยังรุ่นทายาททุกคน ยกตัวอย่างโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมลักษณะนี้ เช่น โรค chronic progressive external ophthalmoplegia with myopathy, โรค Leber optic atrophy, โรค MELAS (mitochondrial myopathy, encephalopathy, lactic acidosis, and stroke-like episodes), โรคMyoclonic epilepsy associated with ragged-red fibres

References

  1. Cunningham G, Leveno K, Bloom S, Spong C, Dashe J, Hoffman B, et al. Williams Obstetrics. 24 ed. United States of America: McGraw-Hill Companies, Inc.; 2014.
  2. Peter T, Sian E. Emery’s elements of medical genetics.14 ed.China: Elsevier Ltd.; 2012
  3. Edward S. T, Michael C, Malcolm F. Essential medical genetics.6ed. Singapore: John Wiley&Sons Ltd; 2011
  4. Handbook IllustrationsHelp Me Understand Genetic [home page on the internet].USA :U.S. National Library of Medicine [cited 2014, Nov 17]. Available from http://ghr.nlm.nih.gov/handbook/illustrations
  5. Lisa G Shaffer et al.Genetic in medicine [home page on the internet].USA :American College of Medical Genetics Statement on Diagnostic Testing for UniparentalDisom. Available from http://www.nature.com/gim/journal/v3/n3/fig_tab/gim200144f1.html
Read More

Preconceptional Evaluation and Counseling

Preconceptional Evaluation and Counseling

พ.ญ. วรุณสิริ หงส์ลดารมย์
อาจารย์ที่ปรึกษา  : ร.ศ. ดร. น.พ. วีรวิทย์ ปิยะมงคล


Preconception care (การดูแลก่อนการตั้งครรภ์) คือ การค้นหา (identify) และ การปรับเปลี่ยน (modify) ด้าน ชีวภาพ พฤติกรรม และด้านสังคม ของหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ เพื่อให้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ออกมาดีที่สุด

Preconception Evaluation and Counseling คือ การค้นหาความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์ของทั้งมารดาและทารก ให้ความเข้าใจมารดาเกี่ยวกับความเสี่ยงเหล่านั้น และให้การดูแลอย่างเหมาะสมก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ที่ดี ควรจะมีการวางแผน ในเรื่องสุขภาพของมารดา เรื่องโภชนาการ การได้รับยา การป้องกันการสัมผัสกับสารพิษ แต่เนื่องจากการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียมความพร้อมจึงมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา

หน่วยงานด้านการปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์ของ The Center for Disease Control แนะนำถึงโอกาสที่จะให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์ในสตรีดังนี้

  • ผู้ที่มาปรึกษาตรวจร่างกายก่อนแต่งงาน
  • ระหว่างการให้คำปรึกษาด้านการคุมกำเนิด
  • ผู้ที่ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • หลังจากตรวจพบว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
  • สตรีวัยเจริญพันธ์ทุกคนที่มาตรวจสุขภาพประจำปี

Preconception Evaluation ประกอบด้วย 3 ประการดังนี้

  1. ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์
  2. ให้ความรู้ และความเข้าใจ เกี่ยวกับความเสี่ยง ทางเลือกในการจัดการกับความเสี่ยง ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์
  3. การค้นหาความเสี่ยง และจัดการความเสี่ยงนั้นเพื่อให้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ออกมาดีที่สุด

1. การค้นหาปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้การป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เช่น

  • อายุ : มารดาอายุมากมีความเสี่ยง เช่น ปัญหาการมีบุตรยาก, fetal aneuploidy, Gestational Diabetes Mellitus , Preeclampsia
  • ReproductiveHistory: ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ในอนาคต เช่น ประวัติการแท้ง, ประวัติการคลอดบุตรก่อนกำหนด, IUGR, Preeclampsia
  • Congenital anomaly: ประเมินความเสี่ยงว่ามีโอกาสเป็นซ้ำในครรภ์ถัดมากี่เปอร์เซนต์ เพื่อให้สามารถประเมินและหาวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว
  • Family History: โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว เช่น โรคธาลัสซีเมีย
  • Substance Abuse: การสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเสพท์ติดต่าง ๆ ซึ่งอันตรายต่อ มารดาและทารก การสูบบุหรี่สัมพันธ์กับ การแท้ง คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดน้อย สุรามีโอกาสเกิด Fetal Growth Retardation การพัฒนาด้านระบบประสาทของเด็กผิดปกติไป ซึ่งคาดการว่าสตรีวัยเจริญพันธ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด ส่วนใหญ่ มีการดื่มสุราร่วมด้วย
  • Psychosocial issues: ควรประเมินปัญหาด้านสุขภาพจิต ภาวะเครียด ปัญหาด้านการเงิน มารดาที่มีปัญหาสุขภาพจิต ถ้าจำเป็นไม่ควรขาดยา เนื่องจากอาจมีผลเสียด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น ความสม่ำเสมอในการฝากครรภ์ตามนัด ภาวะขาดสารอาหารเนื่องจากไม่ทานอาหาร หรือทานมากเกินไป การใช้สารเสพติด การไม่มาฝากครรภ์ตามนัด ซึ่งมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีอาการเล็กน้อยค่อย ๆ หยุดยา และใช้วิธีอื่น เช่น Psychotherapy
  • Caffeine: ในสังคมยุคปัจจุบัน คนทั่วไปนิยมดื่มกาแฟกันมาก ซึ่งมีการศึกษาแบบ observational studies พบว่าคาเฟอีนสัมพันธ์กับ ผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ไม่ดี เช่น เพิ่มโอกาสแท้ง ทารกโตช้าในครรภ์ สตรีที่ต้องการตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ควรลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนลงเพื่อลดโอกาสในการเกิดเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีต่อการตั้งครรภ์
  • น้ำหนักมารดา: เป็นที่ทราบกันดีว่า มารดาที่มีภาวะอ้วนสัมพันธ์กับการมีบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะมีภาวะพิการแต่กำเนิด ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์เช่น เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ทารกตัวโต เพิ่มอัตราการผ่าคลอด การคลอดยาก ดังนั้นก่อนที่จะตั้งครรภ์ควรควบคุมน้ำหนักให้อยุ่ในค่าปกติของ BMI (Body Mass Index) เพื่อผลลัพธ์ที่ดีของการตั้งครรภ์

Environmental Exposure (3)

มีหลายการศึกษาที่บ่งชี้ว่า การเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษในระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วง ไตรมาสแรก มีผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อน และส่งผลกระทบตลอดชีวิตของทารก

ดังนั้นหน่วยงานทางการแพทย์จึงมีบทบาทที่เรียกว่า Risk Communication คือการพูดคุยเกี่ยวกับความเสี่ยง และการลดโอกาสที่จะสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ทั้งในบ้าน ชุมชน และที่ทำงาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการตั้งครรภ์

1. ปรอท (Mercury) : ส่วนใหญ่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม ลงสู่แหล่งน้ำ และถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายกลายเป็น Methyl Mercury สะสมอยู่ในปลา ปรอทเป็นพิษต่อระบบประสาท(neurotoxin) จากเหตุการณ์ ที่เกาะมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1950 ซึ่งมีการรั่วไหลของสารปรอท ส่งผลให้มีเด็กที่เกิด ภาวะ cerebral palsy , mental retardation, ตาบอด และความผิดปกติทางระบบประสาทอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาที่มีสารปรอทเจือปน การใช้เครื่องสำอางที่ผลิตจากสารปรอท (เครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย.) เนื่องจากปลาเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์ เป็นแหล่งโปรตีนชนิดที่กรดไขมันต่ำ และ มีโอเมกา 3 (omega3) ซึ่งมีประโยชน์ในแง่ของ การเพิ่มอายุครรภ์และน้ำหนักตัวทารก The US Environmental Protection Agency แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์รับประทานปลา 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยมาจากแหล่งปลาที่เชื่อถือได้

2. ตะกั่ว (Lead) เป็นสารที่มีพิษต่อระบบประสาท (neurotoxic) จากการศึกษาพบว่า มารดาที่มีสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 10 μg/dl สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ gestational hypertension, การคลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักตัวน้อย พบว่ามารดามีสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 30 μg/dl มีความสัมพันธ์กับทารกมีลักษณะผิดรูปแต่กำเนิด การแท้ง และภาวะรกเกาะต่ำ และหญิงตั้งครรภ์ยังมีความเสี่ยงต่อการสลายตัวของกระดูกซึ่งถูกแทนที่ด้วยสารตะกั่ว การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารตะกั่ว เช่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสีสันจัดจ้าน การเข้าไปในบ้านที่กำลังซ่อมแซม เนื่องจากบ้านที่สร้างก่อนปี 1978 ใช้สีผสมสารตะกั่ว อาจทำให้สัมผัสกับผงฝุ่นที่มีสารตะกั่ว

3. ยาฆ่าแมลง (Pesticide) สารเคมีในกลุ่ม pesticides รวมถึง ยาฆ่าหญ้า (herbicide) ยาฆ่าแมลง (insecticide) ยาฆ่าหนู (rodenticide) สารเคมีเหล่านี้ ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ในบ้านเรือน ในน้ำดื่ม น้ำใช้ โดยอาจจะสัมผัสจากการรับประทานอาหาร การซึมผ่านผิวหนัง ซึ่งอาจสลายภายในเวลาเป็นชั่วโมง เช่น organophosphate หรืออาจคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเป็นระยะเวลาหลายปี เช่น organochorine ซึ่งจากการศึกษา แบบ Cohort Study พบว่าความเข้มข้นของสารเคมีในปัสสาวะของมารดาในขณะตั้งครรภ์ พบว่ามีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาและการพัฒนาของระบบประสาท (Low IQ & developmental delay) ของบุตร(4) นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวของทารก (Leukemia) ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (IUGR) จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา(5) โดยให้นักเรียนรับประทานอาหารธรรมดาและทานอาหารประเภทปลอดสารพิษ (organic food) และ ตรวจปัสสาวะเพื่อดูสารปนเปื้อนพบว่า เมื่อรับประทานอาหารปลอดสารพิษตรวจไม่พบสารเคมีปนเปื้อนในปัสสาวะ แสดงให้เห็นว่าเราได้รับสารพิษปนเปื้อนปริมาณมากในชีวิตประจำวัน สตรีที่มีความประสงค์จะตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับยาฆ่าแมลง

4. EDCs (Endocrine disrupting chemical) คือ สารเคมี ที่มีผลต่อระบบ Hormone ในร่างกาย และทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในอนาคต เช่น diethylstillbestrol เป็นเอสโตรเจน สังเคราะห์ที่ใช้ป้องกันการแท้ง ในปี ค.ศ. 1940-1970 ซึ่งมีผลเสียต่อรุ่นถัดมา เช่น ปัญหาเรื่องมีบุตรยากของลูก การเกิดเป็น vaginal adenocarcinoma, hypospadias, cryptorchidism ในรุ่นหลาน ซึ่งในขณะนี้ห้ามใช้แล้ว แต่ยังมีสารเคมีประเภทเดียวกันนี้ที่ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ เช่น biphenyl A ซึ่งสารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของพลาสติก กระป๋องสแตนเลสบรรจุอาหาร ใบเสร็จรับเงิน phthalates เป็นส่วนประกอบของพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร และ polybrominated diethyl ether (PBDEs) ใช้เคลือบกันความร้อนเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ เช่น เตียงนอน มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง (6) พบว่าสารเคมีเหล่านี้มีผลต่อรุ่นลูกของสัตว์ที่สัมผัสกับสาร EDC ทำให้เกิด ความผิดปกติต่อระบบสืบพันธ์ของทั้งเพศชายและหญิง พัฒนาการของระบบประสาทผิดปกติ แม้ยังมีหลักฐานในมนุษย์ค่อนข้างน้อย แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้สุกในกล่องพลาสติก ควรรับประทานอาหารสด อาหารปลอดสารพิษ

การให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์เป็นโอกาสอันดีในการที่จะพูดคุยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะลดการเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ อย่างไรก็ตามหญิงในวัยเจริญพันธ์ก็ต้องให้ความสมดุลระหว่างความกลัวที่มากเกินไปกับการปฏิบัติตัวเพื่อลดการเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ

โรคประจำตัวเรื้อรังของหญิงตั้งครรภ์ (Chronic Medical Conditions)(7)

ปัจจุบันหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งอายุที่มากขึ้นนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคประจำตัวที่มากขึ้น ดังนั้นจึงควรให้คำปรึกษาหญิงวัยเจริญพันธ์ที่ต้องการมีบุตรที่มีโรคประจำตัว ในหัวข้อดังต่อไปนี้

  1. ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
  2. โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิต (morbidity and mortality)
  3. การพยากรณ์โรคที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ (prognosis)
  4. การใช้ยาเพื่อควบคุมโรคประจำตัวในมารดาและผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์
  5.  ถ้าตั้งครรภ์แล้วเวลาที่เหมาะสมที่จะให้คลอด

ซึ่งถ้าเป็นไปได้หญิงวัยเจริญพันธ์ที่มีโรคประจำตัว ควรจะควบคุมโรคให้อยู่ในระยะสงบ และสามารถเปลี่ยนยาที่รักษามาเป็นแบบที่ไม่มีผลต่อการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ (teratogenic effect) ในที่นี้จะกล่าวถึงโรคที่พบบ่อย และมีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์

1.โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)

เป็นภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมที่พบบ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ สตรีวัยเจริญพันธ์ที่มีรูปร่างอ้วนในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมากขึ้น และภาวะอ้วนยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง การคลอดทารกตัวโต การคลอดยาก เพิ่มการผ่าตัดคลอด

  • ผลกระทบของการตั้งครรภ์ต่อโรคเบาหวาน :
    หญิงตั้งครรภ์โดยทั่วไปมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ทารกที่มีความผิดปกติ (congenital malformation ) ประมาณ 2-3% ถ้ามารดาเป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสตั้งครรภ์ทารกที่มีความผิดปกติประมาณ 6-12% โดยความเสี่ยงขึ้นอยู่กับการควบคุมระดับน้ำตาลก่อนปฏิสนธิ และ ระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 โดยสัมพันธ์กับความผิดปกติเหล่านี้ เช่น sacral agenesis, complex cardiac defect, spina bifida, anencephaly
  • การตรวจคัดกรอง
    ตรวจคัดกรองในสตรีความเสี่ยงสูง เช่น อ้วน (BMI > 25 kg/m2) มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ตั้งครรภ์ครั้งก่อนเป็นเบาหวาน
  • ประโยชน์ของการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์
    The National Ambulatory Medical Care Survey (8) กล่าวไว้ว่า การควบคุมระดับน้ำตาลก่อนการตั้งครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงในการแท้ง และ ความผิดปกติแต่กำเนิด ถึง 113,000 คน ในแต่ละปี ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาลในช่วงการสร้างอวัยวะ จะช่วยลด congenital anomaly อย่างมาก
  • การเลือกวิธีคุมกำเนิด
    การเลือกวิธีคุมกำเนิดเพื่อยืดระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์มีประโยชน์ โดย WHO เสนอให้ใช้ low dose combination contraception ทั้ง oral, injection, implantation, vaginal ring , skin patch โดยต้องเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียในแต่ละวิธีซึ่งอาจเพิ่ม insulin resistance ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้แย่ลง FDA ไม่แนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดโดย copper T380A IUD ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากอาจเพิ่มการติดเชื้อได้
  • Recommendation
    American Diabetes Association และ American College of OB & GYN เสนอแนะว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนควรได้รับคำแนะนำ ถึงความสำคัญของการควบคุมระดับน้ำตาลก่อนการตั้งครรภ์ การควบคุมน้ำหนัก การประเมินภาวะแทรกซ้อน เช่น vascular complication การเปลี่ยนชนิดของยาที่ใช้ก่อนการตั้งครรภ์ ในรอบเดือนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ควรควบคุมระดับ HbA1C ให้อยู่ในระดับปรกติ เพื่อลดอัตราการเกิด congenital anomaly และ spontaneous abortion

2. Thyroid disease

พบเป็นอันดับ สอง ของโรคต่อมไร้ท่อที่พบบ่อย โดยโรคที่พบบ่อยคือ Grave disease

  • Burden of suffering :
    แบ่งออกเป็น ความเสี่ยงด้านมารดา (maternal risk) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด preeclampsia , congestive heart failure , placental abruption
    ความเสี่ยงด้านทารก (fetal risk) : ทารกมีภาวะโตช้าในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อย

    • ในมารดาที่เป็น Hyperthyroid การควบคุมโรคที่ดีในมารดาสัมพันธ์กับ neonatal outcomeที่ดี ในมารดาที่เป็น Grave disease ถึงแม้ได้รับการรักษาแล้ว แต่ thyroid stimulating antibodies สามารถผ่านรกไปสู่ทารกได้ ทำให้ทารกในครรภ์ เกิดภาวะ thyrotoxicosis
    • ในมารดาที่มีภาวะ overt hypothyroid สัมพันธ์กับระดับสติปัญญาของทารกและภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์อื่น ๆ เช่น preeclampsia, anemia, postpartum hemorrhage
  • Impact of preconception care
    มีหลักฐานยืนยันว่า การควบคุมโรคไทรอยด์ที่ดีมีผลดีมากต่อ pregnancy outcome ดังนั้น ถ้ายังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ควรแนะนำการคุมกำเนิด โดยสามารถเลือกใช้ได้ทุกวิธี
  • Recommendation
    American college of OB & GYN และ American Association of Clinical Endocrinologist แนะนำให้อยู่ในภาวะ euthyroid ก่อนการตั้งครรภ์ โดยควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทั้งด้านมารดาและ ทารกที่อาจจะเกิดขึ้น ในหญิงที่ได้รับการรักษาด้วย radioactive iodine ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์อย่างน้อย 6 เดือน แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับผลต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามการควบคุมโรคไทรอยด์ช่วยเพิ่มผลลัพธ์ที่ดีมากต่อการตั้งครรภ์

3. โรคชัก (Seizure)

ทั้งตัวโรคเองและยาที่ใช้ในการรักษาโรคชักมีผลต่อการตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะชักได้บ่อยขึ้น ในสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคชักไม่ว่าจะใช้ยากันชักหรือไม่ก็ตามมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทั้ง major congenital anomaly และ minor congenital anomaly เพิ่มขึ้นมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป 2-3 เท่า เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด spontaneous abortion, คลอดทารกน้ำหนักน้อย, head circumference มีขนาดเล็กกว่าปกติ, ภาวะปัญญาอ่อน หรือทารกมีเลือดออกง่ายกว่าปกติ (anti-convulsant increase vitamin K deficiency) เป็นที่ทราบดีว่ายากันชักเพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก (teratogenicity) เช่น neural tube defect, cleft lip cleft palate, cardiac anomalies, facial anomalies ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้สัมพันธ์กับยาที่รับประทาน ทั้งปริมาณและชนิดของยา

  • Impact of preconception care
    มีหลายการศึกษาที่ยืนยันว่า ยากันชักเกือบทุกชนิดทำให้เกิดความผิดปกติของทารก โดยสัมพันธ์กับปริมาณยาที่รับประทานและชนิดของยา หมายความว่า ถ้ายังควบคุมโรคได้ไม่ดีและยังต้องใช้ยาหลายชนิดในปริมาณมากในการควบคุมโรค จะทำให้ผลลัพธ์ต่อการตั้งครรภ์ออกมาไม่ดี ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดต่อการตั้งครรภ์คือ การที่สามารถควบคุมได้ด้วยยาเพียงตัวเดียว และในขนาด dose ต่ำที่สุด
  • การเลือกวิธีคุมกำเนิด Contraception
    การคุมกำเนิดมีความสำคัญสำหรับคนไข้ที่ยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ ช่วยเลื่อนระยะเวลาออกไปให้เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของการตั้งครรภ์ การใช้ combined oral contraceptive ไม่มีผลกระตุ้นการชัก แต่ประสิทธิภาพอาจจะลดลงได้ เนื่องจากยากันชักมีผลต่อ liver enzyme อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง จึงควรเลือกยาคุมกำเนิดแบบ เอสโตรเจนชนิด high dose มากกว่า
  • Recommendation
    สตรีที่เป็นโรคชักที่พร้อมจะตั้งครรภ์ควรได้รับการประเมินร่วมกันหลาย ๆ ฝ่าย ควรได้รับการรักษาด้วยยาเพียงตัวเดียวในขนาดที่ต่ำที่สุด และควรได้รับ folic acid เสริมอย่างน้อย 0.4 mg ต่อวัน ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์จนถึงสิ้นสุดไตรมาสแรก แต่ถ้าสามารถหยุดยากันชักได้ควรหยุดยาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังต้องให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโอกาสที่จะชักบ่อยขึ้นระหว่างตั้งครรภ์และโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติ

4. ความดันโลหิตสูง (Hypertension)

สตรีวัยเจริญพันธ์ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ได้ หากตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ ความเสี่ยงที่โรคเดิมจะรุนแรงขึ้น, preeclampsia, eclampsia, central nervous system, hemorrhage, heart failure และ renal failure ผลต่อทารก เช่น การคลอดก่อนกำหนด, ทารกมีปัญหาโตช้าในครรภ์, รกลอกตัวก่อนกำหนด pregnancy outcomes มีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูงและการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

  • Currunt Treatment
    การได้ยาเพื่อลดความดันในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ช่วยป้องกัน long-term cardiovascular risk และลดโอกาสเป็น stroke หลายการศึกษายืนยันว่า การได้ยา methyldopa ช่วยลดความดันและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ ยา β- blocker อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ มีการศึกษายืนยันว่ายา calcium channel blocker ซึ่งมีการใช้มากในระยะท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ มีประสิทธิภาพที่ดีและปลอดภัย ส่วนการใช้ยา angiotensin II receptor blocker ถือเป็นข้อห้ามเนื่องจากเพิ่มโอกาสแท้ง, fetal renal failure และทารกเสียชีวิตในครรภ์
  • Contraception
    ถ้ายังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์อาจแนะนำวิธีการคุมกำเนิดโดย คนไข้ที่ควบคุมระดับความดันได้ดี (BP < 140-159/90-99) อาจเลือกใช้ low dose combined pill หรือ progestin–only pill ก็ได้ แต่ในผู้ป่วย moderate to severe hypertension ที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไม่แนะนำให้ใช้ combined pill ในการคุมกำเนิด WHO เสนอแนะให้ใช้ copper-T 380A เป็นทางเลือกหนึ่งในการคุมกำเนิดได้
  • Recommendation
    ACOG และ National High Blood Pressure Education Program แนะนำการให้คำปรึกษากับผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูง เช่น โอกาสที่จะเกิดภาวะ superimposed preeclampsia และภาวะแทรกซ้อนทั้งด้านมารดาและทารกอื่น ๆ การตรวจประเมินดู end organ damage เช่น ventricular hypertrophy, retinopathy, renal disease ซึ่งการตั้งครรภ์อาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิด end organ damage ที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อยืนยันว่าจะตั้งครรภ์อาจเปลี่ยนยาควบคุมความดันที่มีผลต่อการตั้งครรภ์น้อย
    ACOG Practice Bulletin (9,10) กล่าวไว้ว่า ยังไม่มี evidence ว่าการให้ยารักษาความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับ mild และ moderate จะสามารถช่วยเพิ่ม maternal และ fetal outcome ดังนั้นอาจจะหยุดยาความดันได้และจะเริ่มให้ต่อเมื่อ BP >150-160/100-110 ยกเว้นในรายที่มี end organ damage แล้ว

Systemic Lupus Erythematous(SLE)

เป็นโรค autoimmune ที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธ์ โดยการ flare up ของตัวโรค สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ โดยตัวโรคเพิ่มความเสี่ยง อาจทำให้เกิด spontaneous abortion, Still Birth, preeclampsia, IUGR และ preterm birth โดยพบว่า 10% ของผู้ป่วย SLE มี anti-Ro antibodies ซึ่งอาจทำให้เกิด neonatal Lupus แต่ถ้าตัวโรคอยู่ในระยะ remission phase อย่างน้อยร้อยละ 6 ของคนไข้จะมีการพยากรณ์โรคที่ดี

  • Current Treatment
    ยารักษาโรค SLE นอกจาก prednisolone เช่น azathioprine และ cyclophosphamide เป็น teratogen จึงควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ ถ้าจำเป็นต้องได้รับยานี้ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ ยา hydrochloroquine สามารถใช้ได้ปลอดภัย ถ้าหยุดยาตัวนี้อาจทำให้เกิดการ flare up ของ SLE
  • Impact of Preconception Care
    ควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิด flare up ของโรคในระหว่างการตั้งครรภ์โดยในกลุ่มที่อยู่ในช่วง remission มีความเสี่ยง flare up 7-33% ส่วนในกลุ่ม active disease มีโอกาส 61-67% โดยระยะเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะ remission ก่อนตั้งครรภ์ยิ่งนานเท่าไร โอกาสที่จะตั้งครรภ์และไม่มีภาวะแทรกซ้อนยิ่งมากขึ้นเท่านั้น(11)
  • Contraception
    การคุมกำเนิดมีความสำคัญในผู้ป่วยที่ยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ เพื่อยืดระยะเวลาให้เหมาะสมที่สุดต่อการตั้งครรภ์ ในผู้ป่วย SLE มีความเสี่ยงที่จะเกิด thromboembolism โดยเฉพาะคนที่มี antiphospholipid antibody จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ combined pill การใช้ progestin only pill จะปลอดภัยกว่า ส่วนการใช้ intrauterine device มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อได้มาก โดยเฉพาะคนที่ทานยา immunosuppressive

5.Chronic renal disease

ความรุนแรงของการดำเนินโรคขึ้นอยู่กับระดับของ creatinine โดยแบ่งเป็น

  • Mild (Cr 0.9 – 1.4 mg/dl)
  • Moderate (Cr 1.4 – 2.5 mg/dl)
  • Severe (Cr 2.5 mg/dl)

โดยในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็น mild renal disease และระดับความดันอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีโอกาสประมาณ 90 % ที่การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่ในระดับ moderate และ severe มีโอกาสที่การทำงานของไตจะแย่ลงระหว่างตั้งครรภ์ โดยถ้าระดับ creatinine > 2.0 มีโอกาสที่จะกลายเป็น end stage renal disease ถึง 23% ภายใน 6 เดือนหลังคลอด (12) โดยความเสี่ยงทางด้านมารดาจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็น Preeclampsia , Anemia , Chronic Hypertension, เพิ่มโอกาสที่จะผ่าตัดคลอด ความเสี่ยงทางด้านทารกมีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนด, ทารกโตช้าในครรภ์ หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยาที่ใช้ในการรักษาโรคไต เช่น ACEI และ ARBS เป็น Teratogen และเพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารก

  • Impact of Preconception care
    มีหลายการศึกษายืนยันว่า การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคไตที่การควบคุมโรคยังไม่ดี เช่น serum creatinine สูง ความดันโลหิตสูงและมีโปรตีนในปัสสาวะมาก เพิ่มความเสี่ยงในทำให้ตัวโรคเดิมรุนแรงมากขึ้นและเกิดผลลัพธ์ต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่ดี ดังนั้นการให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์จึงมีบทบาทสำคัญ โดยควรจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ การดำเนินโรคและยาที่ใช้ในการรักษาที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ และถ้าต้องการตั้งครรรภ์ควรควบคุมความดันโลหิตให้ดีก่อนด้วย โดยถ้ายังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์อาจแนะนำการคุมกำเนิดเพื่อรอระยะเวลาที่เหมาะสม โดยควรหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดโดยใช้ combined pill ที่มีเอสโตรเจนด้วย แนะนำให้ใช้ progestin–only pill เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

6.Cardiovascular disease (โรคหัวใจ)

ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดในช่วงวัยเจริญพันธ์มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่รอดกันมากขึ้น แต่การตั้งครรภ์มีผลต่อ physiologic change ซึ่งทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การทำนายผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค การให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสที่การดำเนินโรคจะแย่ลง การศึกษาของ Canadian Cohort of Pregnant Woman พบว่าในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

  1. ผู้ป่วยที่เคยมี cardiac event มาก่อน
  2. มีภาวะ arrhythmia
  3. NYHA class II ขึ้นไป
  4. มี cyanosis heart disease
  5. Systemic ventricular dysfunction
  6. Left heart obstruction เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิด cardiac event ในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยถ้าไม่อยุ่ในกลุ่มเสี่ยงนี้โอกาสเกิด cardiac event 5% ถ้ามี 1 ข้อ จะมีความเสี่ยง 27% ถ้ามากกว่า 1 จะมีความเสี่ยง 75%(13) นอกจากนี้ต้องให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ เช่น ทารกมีความเสี่ยงต่อการเป็น congenital Heart disease สูงกว่าปกติทั่วไป และความเสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์สูงกว่าปกติทั่วไป ในผู้ป่วยที่ NYHA Functional Class II ขึ้นไป, cyanosis heart disease, maternal left heart obstruction, multiple gestation, ใช้ยา anti-coagulant ระหว่างตั้งครรภ์ ข้อมูลเกี่ยวกับผลเสียของยา warfarin ที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารก การใช้ยา Heparin เป็นต้น
  • Contraception
    การคุมกำเนิดมีความสำคัญในผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นข้อห้ามในการตั้งครรภ์ หรือเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไปเพื่อให้ผู้ป่วยพร้อมมากที่สุดในการตั้งครรภ์ การทำหมันในฝ่ายชายถือเป็นการคุมกำเนิดที่ปลอดภัยที่สุด สามารถใช้ barrier method และ copper-T380A ได้ซึ่งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ห้ามใช้ combined pill ในผู้ป่วยที่มี right to left shunt, ischemic heart disease , stroke หรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ สามารถเลือกใช้ progestin–only pill หรือ progestin-release intrauterine device ได้

โรคหอบหืด (Asthma)

เป็นกลุ่ม obstructive lung disease ซึ่งมีการขัดขวางทางเดินหายใจ การดำเนินโรคขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถทำนายได้ โดย 1/3 ดีขึ้น 1/3 ไม่เปลี่ยนแปลง 1/3 แย่ลง โดยการแย่ลงของโรคมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคที่เป็นมาก่อนการตั้งครรภ์ โรคหอบหืดที่มีความรุนแรงในระหว่างการตั้งครรภ์สัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งด้านมารดาและทารก โดยด้านมารดาเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนดังนี้ preeclampsia, hypertension, hyperemesis gravidarum ทางด้านทารกในครรภ์เพิ่มความเสี่ยง เช่น stillbirth, infant death, neonatal hypoxia, IUGR, preterm birth, low birth weight จากการศึกษาพบว่าการใช้ยารักษาโรคหอบหืดในสตรีตั้งครรภ์ค่อนข้างปลอดภัย

การใช้ inhale corticosteroid, inhale beta-agonist, cromolyn และ theophylline ในผู้ป่วยโรคหอบหืด ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด preeclampsia, congenital malformation, preterm birth และ low birth weight การใช้ยา oral corticosteroid อาจสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น preeclampsia, ช่วงไตรมาสแรกอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด cleft lip และ cleft palate อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้ยังคงสำคัญน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาวะ severe uncontrolled asthma

Preconception Care

คนที่มีภาวะหอบหืดชนิดรุนแรงสัมพันธ์กับการดำเนินโรคที่แย่ลงในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การควบคุมโรคหอบหืดมีความสำคัญมากก่อนการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงควรมุ่งเน้นไปยังการควบคุมโรคก่อนการปฏิสนธิ มีการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มที่ใช้ inhale corticosteroid ก่อนการตั้งครรภ์เปรียบเทียบกลับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ พบว่ากลุ่มที่ใช้ มีการลดลงของ adverse pregnancy outcome มากกว่า ในปี 2004 NAEPP Asthma and Pregnancy Guideline (National Asthma Education and Prevention) แนะนำให้ใช้ inhale corticosteroid สำหรับป้องกันในผู้ป่วยกลุ่ม persistence asthma ดังนั้น ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ที่เป็นโรคหอบหืดควรได้รับคำแนะนำที่จะคุมกำเนิด เพื่อรอเวลาที่พร้อมที่สุดที่จะตั้งครรภ์ คือช่วงเวลาที่ควบคุมโรคได้ดี

สรุป การให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์มีประโยชน์ต่อทั้งสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป และสตรีที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ที่มี

โรคประจำตัวควรได้รับการให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อลดผลลัพธ์ต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยถ้าผู้ป่วยได้มีโอกาสทราบถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง และทารก ถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้ระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะให้ความสำคัญต่อเรื่องการคุมกำเนิดมากกว่านี้ ถ้าสามารถลดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมลงได้จะมีผลดีต่อคุณภาพชีวิตของทั้งมารดา และทารก ครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติได้ ดังนั้นแพทย์ทั่วไปที่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยควรให้ความสำคัญถึงการคุมกำเนิด เพื่อตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่พร้อมที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Johnson K, Posner SF, Biermann J, Cordero JF, Atrash HK, Parker CS, Boulet S, Curtis MG, CDC/ATSDR Preconception Care Work Group, Select Panel on Preconception CareMMWR Recomm Rep. 2006;55(RR-6):1.
  2. UP TO Date Preconceptional care. Joyce A Sackey, MD, FACP
  3. Sathyanarayana S, Focareta J, Dailey T, Buchanan S. Environmental exposures: how to counsel preconception and prenatal patients in the clinical setting. American journal of obstetrics and gynecology. 2012 Feb 14;:1–8.
  4. Bouchard MF, Chevrier J, Harley KG, et al. Prenatal exposure to organophosphate pesti- cides and IQ in 7-year-old children. Environ Health Perspect 2011;119:1189-95.
  5. Lu C, Toepel K, Irish R, Fenske RA, Barr DB, Bravo R. Organic diets significantly lower chil- dren’s dietary exposure to organophosphorus pesticides. Environ Health Perspect 2006;114: 260-3.
  6. Stapleton HM, Eagle S, Anthopolos R, Wol- kin A, Miranda ML. Associations between poly- brominated diphenyl ether (PBDE) flame re- tardants, phenolic metabolites, and thyroid hormones during pregnancy. Environ Health Perspect 2011;119:1454-9.
  7. Dunlop AL, Jack BW, Bottalico JN, Lu MC, James A, Shellhaas CS, et al. The clinical content of preconception care: women with chronic medical conditions. American journal of obstetrics and gynecology. 2008 Dec;199(6 Suppl 2):S310–27.
  8. National Center for Health Statistics. Ambu- latory health care data: NAMCS description. Washington, DC: US Department of Health and Human Services, Centers for Disease and Con- trol and Prevention, National Center for Health Statistics; 2004. Available from: http://www. cdc.gov/nchs/about/major/ahcd/namcsdes.htm. Accessed February 2, 2008.
  9. National Heart, Lung, and Blood Institute. National High Blood Pressure Education Pro- gram: Working Group Report on High Blood Pressure in Pregnancy. Bethesda (MD): Na- tional Heart, Lung, and Blood Institute; 2000. Available at: http://www.nhlbi.nih.gov/guide- lines/archives/hbp_preg/hbp_preg_archive.pdf. Accessed May 5, 2004.
  10. Gilstrap LC, Ramin SM. ACOG practice bul- letin no. 29: chronic hypertension in pregnancy. Obstet Gynecol
  11. Mok CC, Wong RW. Pregnancy in sys- temic lupus erythematosus. Postgrad Med J 2001;77:157-65.2001;98:177-85.
  12. Jones DC, Hayslett JP. Outcome of preg- nancy in women with moderate or severe renal insufficiency. N Engl J Med 1996;335:226-3
  13. Siu SC, Sermer M, Colman JM, Alvarez AN, et al. Prospective multicentre study of preg- nancy outcomes in women with heart disease. Circulation 2001;104:515-21.
Read More