Thyroid diseases in pregnancy

Thyroid diseases in pregnancy

นพ.ยศกร พรเกษมศาสตร์
อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ


บทนำ

ในหญิงตั้งครรภ์ ความผิดปกติของไทรอยด์เป็นภาวะในระบบต่อมไร้ท่อที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง รองจากเบาหวาน การวินิจฉัยความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์อาจทำได้ยากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของหญิงตั้งครรภ์ ความผิดปกติของไทรอยด์นั้นนอกจากส่งผลต่อหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังมีผลต่อพัฒนาการของทารก ดังนั้นการดูแลรักษาความผิดปกติของไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ สูติแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในกลไกการเกิดโรค และสรีรวิทยาของต่อมไทรอยด์ในขณะตั้งครรภ์

Normal thyroid physiology and adaptation during pregnancy

ในภาวะปกติ การทำงานของไทรอยด์จะถูกควบคุมการสร้างและการหลั่งอย่างเป็นระบบ โดยไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมองส่วนหน้า เรียกว่า hypothalamus-pituitary-thyroid (HPT) axis hypothalamus มีหน้าที่ในการหลั่ง thyrotropin releasing hormone (TRH) เพื่อกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าในการหลั่ง thyroid-stimulating hormone (TSH) ซึ่งจะกระตุ้นต่อมไทรอยด์ในการสร้างและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมน (thyroxine; T4), (triiodothyronine; T3)

การสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเริ่มต้นจากการที่ไอโอไดด์ (I) เข้าสู่ไทรอไซต์ (thyrocyte) ผ่านโซเดียมไอโอไดด์ซิมพอร์ตเตอร์ (Na+/I symporter; NIS) และถูกออกซิเดชันเป็นไอโอดีน ก่อนถูกนำไปเติมกับไทโรซีนที่อยู่บนไทโรโกลบูลิน (thyroglobulin; Tg) รวมกันเป็นโมโนและไดไอโดไทโรซีน (monoiodotyrosine; MIT), (diiodotyrosine; DIT) และเกิดปฏิกิริยาคู่ควบ (coupling reaction) รวมกันเป็น T4 (DIT+DIT), และ T3 (DIT+MIT) โดยกระบวนการนี้อาศัยการทำงานของเอนไซม์ไทโรเพอร์ออกซิเดซ (thyroperoxidase; TPO) หลังจากนั้น Tg จะถูกย่อยและปลดปล่อยออกมาเป็นไทรอยด์ฮอร์โมนในกระแสเลือด โดยไทรอยด์ฮอร์โมนส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 99 จะยึดเหนี่ยวกับโปรตีนเพื่อป้องกันการถูกทำลายและเพื่อไปยังอวัยวะส่วนปลาย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่เป็นอิสระ โดยโปรตีนหลักที่ยึดเหนี่ยวกับไทรอยด์ฮอร์โมนจะเป็น thyroxine-binding globulin (TBG), รองลงมาเป็น transthyretin และ albumin

การสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนจะมีสัดส่วนในการสร้างที่ไม่เท่ากัน โดยที่ T4 มากกว่า T3 ประมาณ 14 เท่า และ T3 นั้นสามารถถูกทำลายได้ง่ายกว่า แต่ตัวที่ออกฤทธิ์หลักเป็นผลมาจาก T3 ซึ่งมีความสามารถในการจับกับตัวรับที่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ดีกว่า T4 ถึง 10 เท่า กล่าวคือ T4 เปรียบเสมือนโพรฮอร์โมน (pro-hormone) และ T3 เปรียบเสมือนแอกทิฟฮอร์โมน (active hormone) โดยที่บริเวณเนื้อเยื่อส่วนปลายจะมีกระบวนการเปลี่ยนรูปแบบของ T4 (peripheral conversion) โดยอาศัยเอนไซม์ดีไอโอดีเนส (deiodinases; D) ซึ่งมีทั้งหมด 3 ชนิด โดยชนิดที่ 1 และ 2 เปลี่ยน T4 เป็น T3 และชนิดที่ 3 เปลี่ยนจาก T4 เป็น reverse T3 ซึ่งเป็นรูปที่ไม่ออกฤทธิ์

การเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์เกิดจากฮอร์โมนอีสโทรเจนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ตับมีการสร้าง TBG เพิ่มขึ้นตั้งแต่อายุครรภ์ 7 สัปดาห์สูงที่สุดตอน 16 สัปดาห์ และคงที่หลังจากนั้น ส่งผลให้ระดับ total T4, T3 เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลจากระดับ hCG ที่สูงขึ้นในช่วง 8-12 สัปดาห์ซึ่ง hCG มี alpha-subunit เหมือนกับ TSH สามารถจับกับ TSH-receptor ส่งผลให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน เพิ่มขึ้น และทำให้ระดับ TSH ลดลง แต่ระดับของ FT4, FT3 มีระดับเทียบเท่าก่อนตั้งครรภ์จากผลของ TBG ที่เพิ่มขึ้น

ความสำคัญของไทรอยด์ฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์มีผลอย่างมากในการเจริญเติบโตของรก และในช่วงก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ทารกยังไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์เองได้ แต่การพัฒนาการของระบบประสาททารกจำเป็นต้องอาศัยไทรอยด์ฮอร์โมน ดังนั้นไทรอยด์ฮอร์โมนในมารดาจึงเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะ T4 ที่จะส่งต่อจากรก ไปกระตุ้นการพัฒนาของทารกในครรภ์

การส่งผ่านรกของสารที่เกี่ยวข้องกับไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อภาวะไทรอยด์ของทารกในครรภ์

  • ไทรอยด์ฮอร์โมนทั้ง T3 และ T4 สามารถผ่านรกได้ โดย T4 ผ่านได้ดีกว่า T3 ส่วน TSH นั้นไม่สามารถผ่านรกได้ และ TRH แม้ผ่านรกได้ดีแต่ปริมาณในร่างกายนั้นมีขนาดน้อยมาก จึงไม่มีผลต่อทารกในครรภ์
  • ยาต้านไทรอยด์สามารถผ่านรกได้ และยานั้นจะมีค่าครึ่งชีวิตในทารกนานกว่าในมารดา ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ในทารกได้ดีกว่ามารดา ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญในเป้าหมายการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษในมารดาที่จะต้องให้ FT4 อยู่ในระดับค่าสูงสุดของค่าปกติ
  • แอนติบอดีต่างๆ ได้แก่ TRAb Anti-TPO และ Anti-Tg ซึ่งเป็นอิมมูโนโกลบูลินจี (IgG) สามารถผ่านรกได้ โดย TRAb สามารถก่อให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษ หรือภาวะพร่องไทรอยด์ในทารกได้
  • ไอโอไดด์ และสารกัมมันตรังสีไอโอดีนสามารถผ่านรกได้ จึงเป็นเหตุผลที่หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรได้รับการรักษาด้วยการกลืนแร่

Thyroid function test in pregnancy

เนื่องจากการสร้างและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงตามกลไกทางสรีรวิทยาของการตั้งครรภ์ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น การแปรผลการทำงานของไทรอยด์ในช่วงตั้งครรภ์จึงแตกต่างจากคนที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยทางสมาคมไทรอยด์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Thyroid Association; ATA) แนะนำให้ใช้เกณฑ์อ้างอิงตามแต่ละกลุ่มประชากรและอายุครรภ์นั้น ๆ ในกรณีที่ไม่มีเกณฑ์ดังกล่าว แนะนำให้ลดเกณฑ์ขอบล่างลง 0.4 mIU/L และเกณฑ์ขอบบนลง 0.5 mIU/L สำหรับระดับของ TSH ในไตรมาสแรก ดังนั้นระดับของ TSH ในช่วงไตรมาสแรกจะอยู่ที่ 0.1-3.9 mIU/L และในช่วงไตรมาสที่ 2, 3 ระดับ TSH ใช้เกณฑ์เทียบเท่าในคนที่ไม่ตั้งครรภ์ [1]

การวัดระดับของ FT3, FT4 สามารถทำได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีทางอ้อม เนื่องจากการวัดระดับโดยตรงนั้นทำได้ยาก เพราะสัดส่วนของฮอร์โมนอิสระนั้นมีปริมาณน้อยอยู่ในหลักพิโคกรัม การตรวจทางอ้อมจะอาศัยการวัดระดับ TT3, TT4 และคำนวณย้อนกลับด้วย thyroid hormone binding ratio หรือใช้วิธีการวัดระดับจากการแย่งจับของ FT4 เทียบกับ radiolabeled T4 ซึ่งทั้งสองวิธีนี้มีตัวกวนจากระดับของ TBG และ albumin [2] ที่มีการเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้ระดับของ FT3, FT4 ที่ได้มีแนวโน้มต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้นหากต้องการวัดระดับของ FT3, FT4 ในขณะตั้งครรภ์ควรใช้วิธีทางตรง หรือในกรณีที่ไม่สามารถตรวจได้การแปลผลจะต้องเทียบกับค่าปกติตามแต่ละอายุครรภ์

ระดับของ TT3, TT4 จะมีค่าที่สูงขึ้น จากผลของ TBG ที่เพิ่มขึ้น การแปลผลจึงแบ่งเป็นช่วงตามการเปลี่ยนแปลงของ TBG โดยที่ก่อนอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ระดับของ TT3, TT4 จะเท่าคนปกติ หลังจากนั้นในช่วงอายุครรภ์ 7-16 สัปดาห์จะมีค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อสัปดาห์ จนถึงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ที่ค่าจะสูงกว่าคนปกติร้อยละ 50 ไปตลอดการตั้งครรภ์

Thyrotoxicosis

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ความชุกทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 0.4-1.7 ตามสถิติของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในปี 2565 พบความชุกอยู่ที่ร้อยละ 2 สาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

  1. Gestational transient thyrotoxicosis

เป็นภาวะที่เกิดจากฮอร์โมน hCG สูงขึ้นขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก กระตุ้นต่อมไทรอยด์ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ในบางรายอาจมีอาการรุนแรง หากมีภาวะที่มี hCG สูงขึ้นกว่าปกติ เช่น ครรภ์แฝด ครรภ์ไข่ปลาอุก ภาวะนี้สามารถหายได้เองในช่วงต้นไตรมาสที่สอง (อายุครรภ์ 14-18 สัปดาห์) จากภาวะ hCG ที่เริ่มลดลง ในรายที่มีอาการมากอาจพิจารณารักษาตามอาการด้วยยากลุ่ม beta-blocker ไม่แนะนำในการให้ยาต้านไทรอยด์ [1]

ภาวะนี้ไม่เพิ่มโอกาสการแท้ง ความผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือการเกิดครรภ์เป็นพิษ [3]

การวินิจฉัยแยกโรคกับ Graves’ disease ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ในกรณีพบตาโปน (Graves’ opthalmopathy) หรือการฟังได้ยินเสียงฟู่ที่ไทรอยด์ (thyroid bruit) หรือการตรวจพบ thyrotropin receptor antibody (TRAb) จะช่วยวินิจฉัย Graves’ disease ได้ ส่วนภาวะ gestational transient thyrotoxicosis อาจพบลักษณะของ hyperemesis gravidarum

  1. Graves’ diseases

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการมีแอนติบอดีต่อตัวรับของ TSH (thyrotropin receptor antibody; TRAb) ซึ่งมีชนิดที่กระตุ้นการทำงาน (thyroid-stimulating immunoglobulin; TSI) ชนิดที่ยับยั้งการทำงาน (thyrotropin-binding inhibitory immunoglobulin; TBII) และชนิดที่ไม่กระตุ้นหรือยับยั้งการทำงาน (neutral TRAb) แต่อาจทำให้เกิด cell apoptosis ได้ อาการของไทรอยด์เป็นพิษจะเกิดขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นจาก TSI มากกว่า TRAb ชนิดอื่น [4]

ผลของการตั้งครรภ์ต่อตัวโรค ในช่วงไตรมาสแรกจะมีอาการแย่ลงจากการกระตุ้นของฮอร์โมน hCG หลังจากนั้นในช่วงไตรมาสที่สองจะดีขึ้น เนื่องจากการตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์ทีเฮลเปอร์ชนิดที่ 2 (Th2) มีมากขึ้นส่งผลให้โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันซึ่งรวมถึง Graves’ disease มีความรุนแรงของโรคที่ลดลง [5]

ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์

  • ก่อนการตั้งครรภ์: โอกาสในการตั้งครรภ์ไม่แตกต่างกันทั้งในกลุ่มที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือไทรอยด์ปกติ ความผิดปกติของไทรอยด์ไม่ได้ส่งผลให้มีบุตรยากขึ้น
  • ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ในกรณีที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี มีโอกาสแท้งบุตรได้มากขึ้น
  • ไตรมาสที่ 2 และ 3 ในกรณีควบคุมโรคได้ไม่ดี เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด ภาวะหัวใจวาย ทารกโตช้าหรือเสียชีวิตในครรภ์ และมีโอกาสเกิดไทรอยด์เป็นพิษวิกฤต (thyroid storm) และมีบางรายงานพบว่าอาจทำให้เกิดโรคลมชักและออทิซึมในเด็กได้เพิ่มขึ้น [6]
  • มีโอกาสเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นจากยาต้านไทรอยด์ แต่ในผู้ที่ได้รับยา methimazole (MMI) มีโอกาสเกิดความผิดปกติที่รุนแรงได้แก่ choanal, esophageal atresia, abdominal wall defect และ aplasia cutis ได้มากกว่าผู้ที่ได้รับยา propylthiouracil (PTU) [7]
  • มีโอกาสเกิดไทรอยด์เป็นพิษในทารก จากการที่ TRAb ชนิด TSI ผ่านจากรกไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ของทารก
  • มีโอกาสเกิดภาวะพร่องไทรอยด์ในทารก จากการที่ TRAb ชนิด TBII ผ่านจากรกไปยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ หรือเกิดจากการที่มารดาได้รับยาต้านไทรอยด์มากเกินไป

การดูแลก่อนการตั้งครรภ์

  • แนะนำให้ตั้งครรภ์เมื่อควบคุมโรคได้อย่างน้อย 1 เดือน และเปลี่ยนยาต้านไทรอยด์เป็นชนิด PTU หรืออาจพิจารณาหยุดยาต้านไทรอยด์ในกรณีที่ใช้ยาขนาดต่ำ (MMI ≤ 5-10 มก./วัน, PTU ≤ 100-200 มก./วัน) ร่วมกับ TRAb เป็นลบ รักษามาเป็นระยะเวลา 12-18 เดือน
  • ในกรณีได้รับการรักษาด้วยการกลืนแร่ คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการป้องกันรังสี (International Commission in Radiological Protection; ICRP) แนะนำให้หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์อย่างน้อย 6 เดือนหลังจากการกลืนแร่

การดูแลระหว่างการตั้งครรภ์

  • การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ ในช่วงไตรมาสแรกแนะนำให้ใช้ PTU มากกว่า MMI เนื่องจากลดโอกาสการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดชนิดรุนแรง
    • โดยขนาดยาเริ่มต้นสำหรับ MMI = 5-30 มก./วัน และสำหรับ PTU = 100-600 มก./วัน
    • เป้าหมายของการรักษาคือการใช้ยาต้านไทรอยด์ขนาดน้อยที่สุดที่สามารถทำให้ FT4/TT4 อยู่ในระดับค่าสูงสุดของค่าปกติ หรือสูงกว่าเล็กน้อย เนื่องจากยาต้านไทรอยด์นั้นออกฤทธิ์ในทารกได้ดีกว่าในมารดา ส่งผลให้ในกรณีที่มารดาได้ยาต้านไทรอยด์จน FT4/TT4 อยู่ในระดับปกติ อาจจะพบว่าทารกมีภาวะพร่องไทรอยด์ได้
    • ATA แนะนำให้ใช้ยา PTU ในช่วงไตรมาสแรกจนถึงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ หลังจากนั้นหากยังมีความจำเป็นที่ต้องได้รับยาต่อ ไม่มีคำแนะนำว่าควรใช้ยาชนิดไหน เนื่องจากยาทั้ง 2 ชนิดมีโอกาสก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อตับได้ โดยพบใน PTU ได้มากกว่า แต่การเปลี่ยนชนิดยาจาก PTU เป็น MMI อาจส่งผลให้ควบคุมตัวโรคได้แย่ลงในช่วงแรก ในกรณีเปลี่ยนชนิดยาสามารถคำนวณขนาดยาโดย MMI 1 มก. เทียบเท่า PTU 20 มก.
    • ช่วงแรกของการรักษาแนะนำให้ตรวจติดตามระดับ TSH และ FT4/TT4 ทุก 2-4 สัปดาห์ เมื่อคงที่แล้วตรวจติดตามทุก 4-6 สัปดาห์
    • เฝ้าระวังผลข้างเคียงของยาต้านไทรอยด์ ได้แก่ ตับอักเสบ และภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำระดับรุนแรง (agranulocytosis) ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเริ่มยา การเฝ้าระวังประกอบด้วยการสังเกตอาการ เช่น ไข้สูง แผลในปาก การตรวจติดตามทางห้องปฏิบัติการอาจไม่จำเป็น
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด thyroidectomy ระหว่างตั้งครรภ์ จะพิจารณาในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาต้านไทรอยด์ได้ หรือใช้ยาไม่ได้ผล โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัด คือไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์
  • การรักษาด้วยการกลืนแร่ การตั้งครรภ์เป็นข้อห้ามในการรักษาด้วยการกลืนแร่ เนื่องจากอายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ต่อมไทรอยด์ของทารกจะเริ่มมีการนำไอโอไดด์เข้าเซลล์ รังสีที่ได้รับจะทำให้เกิดการทำลายของต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ในทารก
  • การตรวจคัดกรองระดับ TRAb มีข้อบ่งชี้ตาม ATA 2017 ดังนี้
  1. หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษทุกคน
  2. มีประวัติ Graves’disease ที่เคยรับการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ กลืนแร่มาก่อน
  3. มีประวัติบุตรคนก่อนมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษแต่กำเนิด
  4. มีประวัติตัดต่อมไทรอยด์เพื่อรักษาไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์

โดยแนะนำให้ตรวจคัดกรองตั้งแต่ที่มาฝากครรภ์ครั้งแรก และตรวจติดตามอีกครั้งในช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ ถ้าหากยังพบ TRAb ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงอายุครรภ์ 30-34 สัปดาห์ เพื่อวางแผนในการเฝ้าระวังทารกหลังคลอด

โดยในกรณีที่ TRAb มีค่า ≥ 5 IU/L หรือ ≥ 3 เท่าของค่าสูงสุดค่าปกติ พบว่ามีความไวในการทำนายภาวะไทรอยด์เป็นพิษในทารกแรกเกิดได้ร้อยละ 100 และมีความจำเพาะอยู่ที่ร้อยละ 43

  • การตรวจติดตามทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์ แนะนำให้ทำในกรณีที่ไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ หรือพบ TRAb ≥ 3 เท่าของค่าสูงสุดของค่าปกติ โดยการอัลตราซาวนด์จะดูลักษณะของต่อมไทรอยด์ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ การมีภาวะบวมน้ำ
  • ในกรณีวินิจฉัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษของทารกในครรภ์จากลักษณะอาการ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจทารกมากกว่า 170 ครั้ง/วินาที เป็นเวลามากกว่า 10 นาที ร่วมกับอัลตราซาวนด์พบคอพอก มีภาวะโตช้าในครรภ์ มีอายุกระดูกมากกว่าอายุจริง การรักษาในทารกคือการให้ยาต้านไทรอยด์แก่หญิงตั้งครรภ์​ หากในกรณีหญิงตั้งครรภ์มีภาวะพร่องไทรอยด์จากยาต้านไทรอยด์พิจารณาให้การรักษาด้วยฮอร์โมน levothyroxine ได้
  • ในกรณีสงสัยภาวะพร่องไทรอยด์ของทารกในครรภ์ โดยอัลตราซาวนด์อาจพบภาวะครรภ์แฝดน้ำ (hydramnios) คอพอก มีการพัฒนาการของกระดูกช้ากว่าอายุจริง พิจารณารักษาด้วยการให้ levothyroxine ทางน้ำคร่ำ แต่ยังไม่มีข้อแนะนำเรื่องขนาดและความถี่ของการให้ยา และในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ได้รับยาต้านไทรอยด์ แนะนำให้หยุดยา
  • ในกรณีที่ตรวจพบคอพอกของทารกในครรภ์ โดยอาการไทรอยด์เป็นพิษหรือพร่องไทรอยด์ไม่ชัดเจน อาจพิจารณาตรวจระดับ TRAb จากหลอดเลือดสายสะดือ
  • การตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์ ในมารดาที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนถึงข้อบ่งชี้ และอายุครรภ์ที่ควรได้รับการตรวจ แนะนำให้ตรวจติดตามเป็นราย ๆ เช่น ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ หรือตรวจพบ TRAb ≥ 3 เท่าของค่าสูงสุดของค่าปกติ [1, 8]
  1. Toxic adenoma and toxic multinodular goiter

เป็นภาวะที่มีเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ที่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้มากเกินไป ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์ไม่แตกต่างกับใน Graves’ disease

แต่การตั้งครรภ์มีผลต่อตัวโรค ทำให้คุมตัวโรคได้ยากขึ้น เนื่องจากในภาวะนี้ไม่มี TRAb ที่ไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ของทารก จึงทำให้การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ จะทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ปริมาณยาได้มากนัก และระหว่างตั้งครรภ์ควรตรวจติดตามทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด หากมีภาวะพร่องไทรอยด์ในทารกควรพิจารณาหยุดยาต้านไทรอยด์ และรักษาหญิงตั้งครรภ์ด้วยการผ่าตัดนำเนื้องอกออก [1]

  1. Subacute thyroiditis

เป็นภาวะที่พบไม่บ่อย เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันมาทำลายเซลล์ไทรอยด์ ทำให้มีการปลดปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกสู่กระแสเลือดในช่วงแรก หลักจากนั้นร่างกายจะเข้าสู่ภาวะพร่องไทรอยด์

การวินิจฉัยภาวะนี้อาศัยอาการแสดงที่มีอาการกดเจ็บบริเวณไทรอยด์ ร่วมกับมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม คือมี ESR, CRP สูงขึ้นสามารถยืนยันการวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจ radioactive iodine uptake (RAIU) โดยจะพบว่ามีการดูดซึมไอโอดีนน้อย แต่ในระหว่างตั้งครรภ์การตรวจ RAIU ไม่สามารถทำได้ อาจใช้การตรวจอัลตราซาวนด์แบบด็อปเปลอร์ (doppler ultrasound) บริเวณต่อมไทรอยด์เพื่อดูปริมาณเลือดที่มาเลี้ยง โดยใน subacute thyroiditis จะพบปริมาณเลือดที่มาเลี้ยงลดลง

ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการรักษาและผลต่อการตั้งครรภ์มีเพียงจากการรวบรวมเคสรายงาน โดยในช่วงไทรอยด์เป็นพิษให้การรักษาตามอาการ ในผู้ที่มีอาการเจ็บพิจารณาให้การรักษาด้วย prednisolone แบบรับประทาน หรือ hydrocortisone ชนิดทาเฉพาะที่ ไม่แนะนำการให้ยาต้านไทรอยด์ ควรตรวจติดตาม TFT เพื่อเฝ้าระวังภาวะพร่องไทรอยด์ และให้การรักษาด้วยฮอร์โมน levothyroxine จากเคสรายงาน การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่พบการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อยในทารกแรกเกิด หรือครรภ์เป็นพิษ [9]

  1. สาเหตุอื่น ๆ เช่น TSH-secreting pituitary adenoma, struma ovarii การดูแลรักษาจะเป็นการผ่าตัดตามรอยโรคที่พบ

Thyroid strom

ภาวะไทรอยด์วิกฤต เป็นภาวะที่อันตรายถึงแก่ชีวิต เกิดขึ้นในกรณีไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่ได้รับการรักษา ร่วมกับมีปัจจัยกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น มีการติดเชื้อ การคลอด การผ่าตัด

สามารถวินิจฉัยด้วยอาการทางคลินิก โดยมีอาการไข้สูง อัตราการเต้นของหัวใจเร็วหรือผิดปกติ มีอาการทางระบบประสาท เช่น ซึม หรือสับสน

แนวทางการรักษาเหมือนในคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยมีเป้าหมายดังนี้

  • ยับยั้งการสร้างและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนด้วยการให้
    • PTU 1000 มก. รับประทานทันที และ PTU 200 มก. ทุก 6 ชั่วโมง
    • การให้ไอโอดีน ขนาดสูงเพื่อให้เกิด wolff-chaikov effect โดยให้ 1-2 ชั่วโมงหลังจากได้ PTU
        • sodium iodide 500-1000 มก. ทุก 8 ชั่วโมง หรือ
        • supersaturated solution of potassium iodide 5 หยด ทุก 8 ชั่วโมง หรือ
        • Lugol solution 10 หยด ทุก 8 ชั่วโมง หรือ
        • ในรายที่แพ้ไอโอดีน ให้ lithium carbonate 300 มก. ทุก 6 ชั่วโมง
  • ยับยั้งการเปลี่ยน T4 เป็น T3
    • ด้วยการให้ dexamethasone 2 มก. ทุก 6 ชั่วโมง
    • hydrocortisone 100 มก. ทุก 8 ชั่วโมง
  • ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจด้วยยากลุ่ม beta-blocker ยาที่แนะนำเป็น bisoprolol, esmolol โดยควบคุมให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในช่วง 80-130 ครั้ง/นาที และในกรณีมี atrial fibrilation ให้ digoxin ร่วมด้วย
  • รักษาปัจจัยกระตุ้น

Subclinical hyperthyroidism

เป็นภาวะที่ระดับ TSH ต่ำกว่าปกติ และ T3, T4 อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยภาวะนี้ไม่พบว่าส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ และไม่แนะนำการให้ยาต้านไทรอยด์ในภาวะนี้ เนื่องจากจะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีภาวะพร่องไทรอยด์ได้

Overt hypothyroidism

เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยระหว่างตั้งครรภ์ อุบัติการณ์อยู่ที่ร้อยละ 0.2-1 ของการตั้งครรภ์ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ได้แก่

  1. Hashimoto thyroiditis

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะพร่องไทรอยด์ ในพื้นที่ที่ไม่ขาดแคลนไอโอดีน โดยเกิดจากแอนติบอดี anti-TPO, anti-Tg จับกับ TPO หรือ Tg ในไทรอยด์เซลล์ เกิดการทำลายของเซลล์ไทรอยด์ ทำให้ไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้เพียงพอ

โดย anti-TPO และ anti-Tg เป็นชนิด IgG สามารถผ่านจากแม่สู่ลูกทางรกได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติในทารก [10]

  1. Iodine deficiency

ไอโอดีนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ในรายที่ขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงจะทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ได้ และทำให้เกิดโรค cretinism ในทารกได้

ในระหว่างตั้งครรภ์มีความจำเป็นที่ต้องได้รับไอโอดีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มขึ้นทั้งของมารดาและทารก และระหว่างตั้งครรภ์มีการสูญเสียไอโอดีนทางปัสสาวะได้มากขึ้น

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ได้มีการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ไอโอดีนเสริมระหว่างตั้งครรภ์ พบว่าร้อยละ 43.6 มีภาวะขาดไอโอดีน

ปัจจุบันสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งอเมริกา (Institute of Medicine: IOM) แนะนำให้มีการบริโภคไอโอดีนอย่างน้อย 150 มคก./วัน ในผู้ที่วางแผนมีบุตร และ 220 มคก./วัน กับ 290 มคก./วัน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ตามลำดับ ส่วนองค์กรอนามัยโลกแนะนำบริโภค 250 มคก./วัน สำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ตามคำแนะนำของ ATA เนื่องจากไอโอดีนที่ได้จากอาหารมีปริมาณไม่แน่นอนและไม่เพียงพอ จึงแนะนำให้ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนเสริม 150 มคก./วัน ประมาณ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ และทานต่อในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และไม่ควรได้รับไอโอดีนมากกว่า 500 มคก./วัน การได้รับไอโอดีนเกินขนาดทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของ TPO ทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์เรียกว่า wolff-chaikoff effect โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นชั่วคราว เซลล์ไทรอยด์จะมีการปรับตัวโดยการที่ไอโอดีนผ่าน Na/I symporter ลดลง แต่ทารกในครรภ์ต่อมไทรอยด์จะยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ และเกิดภาวะพร่องไทรอยด์

  1. Post I-131 ablation or thyroidectomy

หลังการรักษาด้วยการกลืนแร่ หรือการผ่าตัด ทำให้ไม่มีการทำงานของต่อมไทรอยด์ หรือมีเพียงเล็กน้อย ในช่วงตั้งครรภ์ที่ต้องการปริมาณฮอร์โมนเพิ่มขึ้นจะมีอาการแสดงภาวะพร่องไทรอยด์ได้ชัดเจน

ผลของการตั้งครรภ์ต่อภาวะพร่องไทรอยด์ เนื่องจากการตั้งครรภ์มีอัตราเมแทบอลิซึมที่เพิ่มขึ้น มีความต้องการของฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่อายุครรภ์ 4-6 สัปดาห์ และเริ่มคงที่หลังจากอายุครรภ์ 16 สัปดาห์

ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์ ก่อนการตั้งครรภ์ส่งผลให้มีบุตรยากขึ้น และเมื่อตั้งครรภ์มีโอกาสพบภาวะแท้ง การคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และส่งผลต่อระดับสติปัญญาของทารก

การดูแลให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์

  • ก่อนการตั้งครรภ์ ระดับ TSH ควรอยู่ในเกณฑ์ปกติ และมีค่าไม่เกิน 2.5 มล.ยูนิต/ลิตร
  • การตั้งครรภ์มีความต้องการฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้น ตั้งแต่อายุครรภ์ 4-6 สัปดาห์ ดังนั้นควรหมั่นตรวจสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่อยู่เสมอ และหากเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบพบแพทย์เพื่อปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 จากเดิม

การดูแลระหว่างตั้งครรภ์

  • การใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนทดแทน ควรใช้ levothyroxine ไม่ควรใช้ฮอร์โมนในรูปแบบอื่นที่มีส่วนประกอบของ T3 เนื่องจาก T4 มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การได้รับฮอร์โมนทดแทนที่มี T3 ยิ่งทำให้เกิดการยับยั้งการหลั่ง TSH จากต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ T4 ต่ำลง เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้
  • ตรวจติดตามระดับ TSH ทุก ๆ 4 สัปดาห์ จนถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ หลังจากนั้นตรวจอีกครั้งตอนอายุครรภ์ประมาณ 30 สัปดาห์
  • โดยเป้าหมายของระดับ TSH ระหว่างตั้งครรภ์อยู่ที่ครึ่งล่างของเกณฑ์ปกติตามแต่ละอายุครรภ์ โดยหากไม่มีให้ใช้ระดับ TSH < 2.5 มล.ยูนิต/ลิตร
  • การตรวจติดตามสุขภาพทารกในครรภ์ไม่ได้จำเป็น หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • หลังคลอดปรับขนาด levothyroxine กลับไปสู่ขนาดเดิมก่อนตั้งครรภ์ หรือหยุดยาในกรณีได้รับยาเฉพาะในช่วงที่ตั้งครรภ์ และตรวจติดตาม TSH ที่ 6 สัปดาห์หลังคลอด
    ในบางรายที่สาเหตุพร่องไทรอยด์เกิดจากโรค Hashimoto’s thyroiditis อาจต้องใช้ขนาดยามากกว่าก่อนตั้งครรภ์เนื่องจากโรคมีโอกาสกำเริบได้มากช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ

Subclinical hypothyroidism

คือภาวะที่มีระดับ TSH ที่สูงกว่าค่าปกติ โดยที่ T4 อยู่ในเกณฑ์ปกติ ภาวะนี้พบว่ามีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เพิ่มโอกาสการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ และมีผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็กได้

มีการศึกษาในการให้ฮอร์โมนทดแทนในกรณีมีภาวะไทรอยด์ต่ำแบบไม่มีอาการ ร่วมกับไม่มี anti-TPO พบว่าการให้ฮอร์โมนทดแทนในรายที่ TSH อยู่ในช่วง 4-10 มล.ยูนิต/ลิตร สามารถช่วยลดโอกาสการคลอดก่อนกำหนดได้ร้อยละ 62 และในอีกรายงานพบว่าถ้ามี anti-TPO ด้วยการให้ levothyroxine สามารถลดการคลอดก่อนกำหนดได้สูงถึงร้อยละ 70[11]

และในกรณีพบ anti-TPO ร่วมกับ TSH ≥ 2.5 มล.ยูนิต/ลิตร พบว่าการให้ levothyroxine ช่วยลดผลรวมของการเกิดครรภ์เป็นพิษ การแท้ง การคลอดก่อนกำหนดได้

โดยสรุป ATA จึงแนะนำให้การรักษาด้วย levothyroxine ในกรณีดังต่อไปนี้

  • TSH > 10 มล.ยูนิต/ลิตร โดยไม่คำนึงถึง anti-TPO
  • TSH มากกว่าค่าปกติระหว่างตั้งครรภ์ (≥ 4 มล.ยูนิต/ลิตร) ร่วมกับตรวจพบ anti-TPO

และอาจพิจารณาให้การรักษาได้เมื่อ

  • TSH มากกว่าค่าปกติ แต่ตรวจไม่พบ anti-TPO
  • TSH ≥ 2.5 มล.ยูนิต/ลิตร ร่วมกับตรวจพบ anti-TPO

ในกรณีที่พบ anti-TPO แต่ไม่มีความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ พบว่าเมื่อตั้งครรภ์ร้อยละ 40 มีโอกาส ที่จะพบความผิดปกติได้ในภายหลัง จึงแนะนำให้ตรวจติดตามระดับ TSH เช่นเดียวกับผู้ที่มีภาวะพร่องไทรอยด์

Isolated hypothyroxinemia

คือภาวะที่มีระดับ TSH ปกติ แต่มี FT4 ต่ำกว่าปกติ (< เปอร์เซ็นไทล์ที่ 2.5-5th) สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการขาดไอโอดีน ทำให้ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนที่มีการใช้ไอโอดีนน้อยกว่า นั่นคือมีการสร้าง T3 เป็นสัดส่วนที่มากขึ้น ทำให้ปริมาณ T4 ลดลง และบางส่วนเชื่อว่าเกิดจากภาวะอ้วน ทำให้ leptin เพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยน T4 เป็น T3 เพิ่มขึ้น

ภาวะนี้บางรายงานพบว่ามีผลกับระดับสติปัญญาของเด็ก แต่การให้ฮอร์โมนทดแทนในภาวะนี้ไม่ได้มีประโยชน์เพิ่มขึ้น จึงไม่แนะนำการให้ฮอร์โมนทดแทนในภาวะนี้ [1] (ในกรณีที่มีภาวะขาดไอโอดีนอาจพิจารณาให้การรักษาด้วย levothyroxine ได้ [5])

Postpartum thyroiditis

คือภาวะที่มีการทำงานของไทรอยด์ผิดปกติ ในช่วง 1 ปีแรกหลังคลอดบุตร เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยพบมากในผู้ที่ตรวจพบ anti-TPO, anti Tg โดยสาเหตุที่พบในช่วงหลังคลอด เนื่องจากในระหว่างตั้งครรภ์มีการกดการทำงานของภูมิคุ้มกัน และการยับยั้งลดลงในช่วงหลังคลอด

อาการแสดงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นช่วง hyperthyoidism และช่วงหลังเป็น hypothyroidism

การวินิจฉัยแยกโรคระหว่าง postpartum thyroiditis และ Graves’ disease ในช่วง thyrotoxicosis มีความจำเป็นเนื่องจากการรักษาแตกต่างกัน โดยการแยกกันอาศัยปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. ระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการ โดย postpartum thyroiditis มักเกิดภายใน 3 เดือนแรกหลังคลอดส่วน Graves’ disease เกิดขึ้นหลังคลอด 6.5 เดือน
  2. การตรวจ TRAb โดยใน Graves’ disease จะตรวจพบ TRAb
  3. การตรวจพบ Graves’ ophthalmopathy หรือ thyroid bruit บ่งบอกการเป็น Graves’ disease
  4. สัดส่วนของ T4:T3 เพิ่มมากขึ้น บ่งบอกสาเหตุจาก postpartum thyroiditis
  5. การตรวจยืนยันสามารถทำได้โดย RAIU แต่ต้องงดให้นมบุตรหลังจากการตรวจเป็นเวลาหลายวัน

การรักษาไม่แนะนำการให้ยาต้านไทรอยด์ เนื่องจากกลไกการเกิดโรคเกิดจากการบาดเจ็บและมีการปลดปล่อยฮอร์โมน ไม่ได้เกิดจากการผลิตฮอร์โมนที่มากเกิน แนะนำให้รักษาประคับประคองด้วยการให้ยา beta-blocker และตรวจติดตาม TSH ทุก 4-8 สัปดาห์ เพื่อเฝ้าระวังช่วงการเปลี่ยนไปเป็น hypothyroidism

ในช่วง hypothyroidism หากมีอาการสามารถให้การรักษาด้วย levothyroxine ได้ และตรวจติดตามระดับ TSH ทุก 6-8 สัปดาห์ และพิจารณาหยุดยาหลังจากคลอดบุตรได้ 1 ปี หลังจากนั้นตรวจติดตามระดับ TSH ทุก 1 ปี เนื่องจากร้อยละ 10-50 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ในภายหลัง

Thyroid nodule

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ มีความสำคัญคือมีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ โดยพบในก้อนที่ไม่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ การดูแลรักษาภาวะนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ เป้าหมายเพื่อที่จะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยอาศัยการซักประวัติครอบครัวว่ามีโรค familial medullary thyroid carcinoma, multiple endocrine neoplasia type 2 (MEN 2), familial papillary thyroid carcinoma หรือไม่ ร่วมกับตรวจระดับการทำงานของไทรอยด์ โดยหากพบ TSH ต่ำตลอดการตั้งครรภ์ สามารถเลื่อนการตรวจวินิจฉัยไปทำช่วงหลังคลอดได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำในการเป็นมะเร็ง

หาก TSH อยู่ในระดับปกติ แนะนำการตรวจอังตราซาวนด์ไทรอยด์ เพิ่มเติม และในกรณีมีความผิดปกติควรได้รับการตรวจต่อด้วย fine needle aspiration (FNA)

โดยหากพบว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์ ในกรณีเป็น papillary thyroid carcinoma (PTC) หรือ follicular thyroid cancer (FTC) สามารถให้การรักษาด้วย levothyroxine เพื่อกดระดับ TSH ให้อยู่ในช่วง 0.3-2.0 มล.ยูนิต/ลิตร และตรวจติดตามขนาดก้อนด้วยอัลตราซาวนด์ ได้ โดยหากพบก้อนมีขนาดโตขึ้นก่อนอายุครรภ์ 24-26 สัปดาห์ หรือพบว่ามีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง แนะนำให้ผ่าตัดในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่หากไม่พบสามารถรอผ่าตัดหลังคลอดได้

แต่หากพบเป็นมะเร็งชนิด medullary carcinoma หรือ anaplastic cancer มีพยากรณ์โรคที่ไม่ดี จึงควรผ่าตัดในระหว่างตั้งครรภ์ [1]

บทสรุป

ความผิดปกติของไทรอยด์เป็นภาวะที่พบได้บ่อย และมีแนวโน้มที่จะพบได้มากขึ้นตามอายุหญิงตั้งครรภ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การดูแลรักษา หน้าที่หลักของสูติแพทย์คือการให้ทารกในครรภ์มีภาวะไทรอยด์ปกติ มีพัฒนาการที่ปกติ โดยให้มารดามีอาการน้อยที่สุด และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความเข้าใจในสรีรวิทยาของต่อมไทรอยด์ และกลไกการเกิดโรคตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมด

เอกสารอ้างอิง

  1. 2017 Guidelines of the American Thyroid Association for the Diagnosis and Management of Thyroid Disease During Pregnancy and the Postpartum. Thyroid®. 2017;27(3):315-89.
  2. Loscalzo J, Fauci A, Kasper D, et al. Harrison’s Principles of Internal Medicine, 21e. New York, NY: McGraw-Hill Education; 2022.
  3. Kinomoto-Kondo S, Umehara N, Sato S, et al. The effects of gestational transient thyrotoxicosis on the perinatal outcomes: a case-control study. Arch Gynecol Obstet. 2017;295(1):87-93.
  4. Morshed SA, Ando T, Latif R, et al. Neutral antibodies to the TSH receptor are present in Graves’ disease and regulate selective signaling cascades. Endocrinology. 2010;151(11):5537-49.
  5. Lockwood CJ. Creasy and Resnik’s maternal-fetal medicine : principles and practice. Amsterdam: Elsevier; 2022.
  6. Cunningham FG, Leveno KJ, Dashe JS, et al. Editors. Williams Obstetrics, 26e. New York, NY: McGraw Hill; 2022.
  7. Andersen SL, Olsen J, Wu CS, et al. Birth Defects After Early Pregnancy Use of Antithyroid Drugs: A Danish Nationwide Study. The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. 2013;98(11):4373-81.
  8. Indications for Outpatient Antenatal Fetal Surveillance: ACOG Committee Opinion, Number 828. Obstet Gynecol. 2021;137(6):e177-e97.
  9. Bai C-F, Shen G-H, Yang Y, et al. Subacute thyroiditis during early pregnancy: a case report and literature review. BMC Pregnancy and Childbirth. 2022;22(1):19.
  10. van Trotsenburg ASP. Management of neonates born to mothers with thyroid dysfunction, and points for attention during pregnancy. Best Practice & Research Clinical Endocrinology & Metabolism. 2020;34(4):101437.
  11. Nazarpour S, Ramezani Tehrani F, Simbar M, et al. Effects of levothyroxine treatment on pregnancy outcomes in pregnant women with autoimmune thyroid disease. Eur J Endocrinol. 2017;176(2):253-65.

 

 

Read More

Management of pregnancy resulting from In Vitro Fertilization

 

พญ. ปาจรีย์ เรื่อนเป็ง
รศ. พญ. กุณฑรี ไตรศรีศิลป์


Assisted reproductive technology หรือ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เป็นวิธีการช่วยเหลือคู่สมรสที่มีปัญหาเรื่องภาวะมีบุตรยาก ซึ่งภาวะมีบุตรยาก หมายถึง คู่สมรสที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ โดยที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันอย่างสม่ำเสมอและไม่ได้คุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือ ระยะเวลา 6 เดือน ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป1 โดยแบ่งได้เป็น

  • ภาวะมีบุตรยากแบบปฐมภูมิ (Primary infertility) หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่ไม่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นมาก่อน
  • ภาวะมีบุตรยากแบบทุติยภูมิ (Secondary infertility) หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นมาแล้ว โดยไม่ว่าการตั้งครรภ์จะเป็นการตั้งครรภ์ที่จบด้วยการแท้งหรือคลอดบุตรก็ตาม

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted reproductive technology)2 เป็นกระบวนการทางการแพทย์เพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยจะมีการนำเซลล์สืบพันธุ์ออกมาจากร่างกายเพศหญิง หลังจากนั้นจะมีวิธีช่วยผสมพันธุ์ต่าง ๆ เช่น GIFT (gametes intrafallopian transfer) คือการนำไข่กลับเข้าไปในร่างกายและทำให้เกิดการปฏิสนธิในร่างกาย , IVF (In Vitro Fertilization) คือการทำให้เกิดการปฏิสนธินอกร่างกายแล้วจึงย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่ร่างกาย (embryo transfer) การทำ IVF ประสบความสำเร็จครั้งแรกมีรายงานในปี ค.ศ. 1978 ตั้งแต่นั้น เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์มีการพัฒนาและประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ณ ปัจจุบัน มีทารกที่เกิดจากการช่วยเจริญพันธุ์ 1.6% ของทารกทั้งหมดที่เกิดในสหรัฐอเมริกา และ 18.3% ของทารกแฝด เกิดจากเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ถึงแม้ส่วนมากการตั้งครรภ์แฝดจะไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายรุนแรง แต่เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ IVF ก็มีความสัมพันธ์กับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหลังคลอดที่เป็นผลจากการเกิดภาวะทารกคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยซึ่งสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์จาก IVF จากอุบัติการณ์การเกิดครรภ์แฝดที่มากใน IVF มีการศึกษา meta-analysis กล่าวว่า การตั้งครรภ์จาก IVF มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของมารดาเป็นสองเท่าแม้จะควบคุมปัจจัยในส่วนของอายุมารดา จำนวนบุตร และภาวะ comorbid อื่น ๆแล้วก็ตาม

กระบวนการทำ IVF

  1. กระบวนการกระตุ้นไข่และการเก็บไข่

ก่อนการเก็บไข่ จะมีการใช้ยาเพื่อกระตุ้นให้คู่สมรสฝ่ายหญิงเกิดการตกไข่หลายใบและเป็นไข่ที่มีคุณภาพดีในรอบเดือนนั้น ซึ่งยาที่ใช้กระตุ้นไข่ เช่น Gonadotropins (FSH,LH), clomiphene citrate ยาที่ใช้เพื่อยับยั้งต่อมใต้สมองไม่ให้หลั่งเกิดการหลังฮอร์โมน LH เพื่อยับยั้งการตกไข่ก่อนเวลาเก็บไข่ (GnRH agonist, GnRH antagonist) หลังจากใช้ยาเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ จะมีการติดตามการเจริญของถุงไข่ เช่น การใช้การตรวจวัดระดับฮอร์โมน estradiol ในกระแสเลือดในวันที่ 4 ของการฉีด gonodotropin (โดยปกติในรายที่ตอบสนอง จะมี estradiol ประมาณ 200-300 pg/ml หากน้อยกว่า 50 pg/ml อาจแสดงถึงการตอบสนองที่ผิดปกติของรังไข่) โดยมีการติดตามทุก 2-3 วัน จนกระทั่งมีถุงไข่ที่โตขนาดไม่ต่ำกว่า 17 มิลลิเมตรอย่างน้อย 3 ใบ และ estradiol 220-270 pg/ml หลังจากนั้น จะมีการใช้ยาที่ใช้ให้เกิดการตกไข่ (เช่น hCG 5,000-10,000 unit) เพื่อให้มีการสุกของไข่ และจะทำการเก็บไข่ใน 34-36 ชั่วโมงหลังจากให้ hCG

ฝ่ายคู่สมรสชายจะมีการเตรียมตัวก่อนการเก็บอสุจิโดยมีการเจาะเลือดหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อน งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 48 ชั่วโมงก่อนการเก็บอสุจิ และเก็บอสุจิด้วยวิธีการ masturbation หลีกเลี่ยงการเก็บด้วยวิธีcoitus interruptus หรือการใช้ถุงยางอนามัยเนื่องจากจะมีการสูญเสียน้ำอสุจิในช่วงแรกไป หลังจากเก็บอสุจิลงในภาชนะปราศจาคเชื้อ นำส่งห้องปฏิบัติการใน 1 ชั่วโมง และหลังจากนั้นอสุจิจะได้รับการตรวจสอบและผ่านกระบวนการเตรียมอสุจิก่อนจะนำมาผสมกับไข่ภายหลัง

  1. กระบวนการรักษาโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์หรือการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization and Embryo transfer)

หลังจากการเก็บไข่และอสุจิของคู่สมรสแล้ว จะนำมาเลี้ยงรวมกันเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ (insemination) เป็นเวลาประมาณ 12 -18 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะมีการตรวจหาการปฏิสนธิ และทำการเพาะเลี้ยงไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิต่อไปจนถึงวันย้ายตัวอ่อน ซึ่งสามารถย้ายตัวอ่อนได้ตั้งแต่ตัวอ่อนระยะ cleavage (4-8 cells, 3 วันหลังจาก insemination) หรือย้ายระยะ blastocyst (5 วันหลังจาก insemination) การย้ายตัวอ่อน(Embryo transfer) สามารถทำผ่านปากมดลูก โดยไม่ต้องใช้ยาระงับความเจ็บปวด

ICSI (intracytoplasmic sperm injection) แตกต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วที่ปล่อยให้ sperm และ egg ปฏิสนธิกันเอง กระบวนการ ICSI จะใช้วิธีฉีดตัวอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง โดยนำเข็มแก้วที่มีตัวอสุจิที่ถูกดูดเข้าไป ฉีดเข้าไปในไข่ที่อยู่ในระยะ metaplase II การทำ ICSI นั้น จะพิจารณาทำในรายที่มีความผิดปกติของอสุจิที่รุนแรง เช่น มีจำนวนน้อยกว่า 5 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร หรือมีตัวที่เคลื่อนที่ได้น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ หรือมีตัวอสุจิที่มีรูปร่างปกติน้อยกว่าร้อยละ 4 หรือทำ ICSI ในกรณีที่ไม่มีการปฏิสนธิจากการทำเด็กหลอดแก้วในรอบก่อนหน้าหรือเป็นอสุจิที่ถูกเก็บมาจากวิธี surgical sperm recovery ที่เก็บมาจากอัณฑะหรือ epididymis ซึ่งอสุจิจะยังไม่สามารถปฏิสนธิเองได้

  1. การย้ายตัวอ่อนและการดูแลภายหลังการใส่ตัวอ่อน

การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกทางปากมดลูกสามารถทำได้โดยวิธี blind technique หรือ ultrasound-guided ก็ได้ โดยพบว่าการย้ายตัวอ่อนในระยะ cleavage หรือ ระยะ blastocyst อัตราการตั้งครรภ์ไม่ได้แตกต่างกัน หลังจากย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนจากภายนอกเพื่อช่วยพยุงการตั้งครรภ์ เนื่องจากกระบวนการเก็บไข่มีการใช้ฮอร์โมนเพื่อกดการสร้าง internal LH และมีการทำลาย granulosa cell ที่จะพัฒนาต่อเป็น corpus luteum ฮอร์โมนที่ใช้ เช่น hCG 1,000-2,000 unit IM วันที่ย้ายตัวอ่อน และอีกทุก 3-4 วัน ประมาณ 2 ครั้ง, progesterone (cyclogest 400 mg twice, utrogestan 100 mg 2 tab vg) โดยมักให้ progesterone supplement จนถึงอายุครรภ์ประมาณ 8-12 สัปดาห์

ปัจจัยที่มีผลต่อ adverse effect ของ IVF เช่น กระบวนการการทำ IVF (เช่น ยาที่ใช้, กระบวนการทางห้องปฏิบัติการระหว่าง embryo culture, culture medium, cryopreserve, และ thawing), ปัจจัยจากมารดาที่สัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก (เช่น อายุ, จำนวนไข่ที่เหลืออยู่) ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด SMFM จึงได้มี recommendation ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์โดยอ้างอิงจาก available evidences3

  1. Preimplantation management

การใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ จากการศึกษาไม่ได้ทำให้อุบัติการณ์การเกิด chromosomal abnormalities เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์จากกระบวนการธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการเกิด chromosomal abnormalities ที่มักพบร่วมกับการตั้งครรภ์ด้วย IVF เช่น การตั้งครรภ์ในมารดาที่มีอายุมาก หรือ มารดาที่มีภาวะ polycystic ovarian syndrome4 มีศึกษาแบบ retrospective พบว่าเพิ่มความเสี่ยงการเกิด chromosomal aberration rate เพิ่มขึ้น พบว่าร้อยละ 1.5 ของ karyotypic anomalies พบในคู่สมรสที่ทำ IVF (1.8% ในคู่สมรสชาย และ 1.2% ในคู่สมรสหญิง) ดังนั้นจึงมีการทำ prenatal diagnosis ในคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก ทั้งจากสาเหตุทางคู่สมรสชาย เช่น ปัญหาความผิดปกติของอสุจิ โดยพบว่าร้อยละ 10 ของคู่สมรสชายที่วินิจฉัยว่ามีปัญหาเรื่อง oligospermia หรือ azoospermia พบว่ามี microdeletion ของโครโมโซม Y ร้อยละ 8-15 และคู่สมรสหญิง เช่น ปัญหา primary amenorrhea, premature menopause , recurrent pregnancy loss โดยปกติแล้วความผิดปกติด้าน chromosome หรือ gene defect อาจส่งผลทำให้อสุจิหรือไข่นั้น ไม่สามารถปฏิสนธิและพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนได้ แต่ด้วยเทคโนโลยี IVF, ICSI ซึ่งช่วยให้การปฏิสนธิประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดการส่งต่อ genetic abnormality สู่ลูกหลานได้มากขึ้น บางการศึกษารายงานถึงอุบัติการณ์การเพิ่มขึ้นของ de novo chromosomal abnormalities ในการตั้งครรภ์ที่เกิดจาก ICSI เทียบกับการตั้งครรภ์จากธรรมชาติ และพบมากในกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์จาก IVF (1.3% Vs 0.5%; P<0.001) ในคู่สมรสหญิงที่มีปัญหาเรื่อง reduced ovarian reserve หรือ primary ovarian insufficiency มักมีความเสี่ยงในการมี full mutation หรือ premutation carrier ของ fragile X มากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการตรวจ genetic testing เกี่ยวกับ FMR1 gene ก่อนการทำ IVF นอกจากนี้ในการศึกษาแบบ case-control พบว่านอกจาก fragile-x syndrome แล้ว ยังพบโรค Beckwith-Wiedemann syndrome, Russell-Silver syndrome และ Angelman/Prader-Willi syndrome เพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงแนะนำให้มีการให้คำปรึกษาด้าน genetic testing ในคู่สมรสทุกรายที่ทำ IVF ทั้งจาก natural IVF หรือกระบวนการ ICSI

Preimplantation genetic testing (PGT) มีอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. Preimplantation genetic testing for aneuploidy (PGT-A) มุ่งเน้นการหาตัวอ่อนที่มีพันธุกรรมที่ปกติ (euploid) เพื่อเพิ่มโอกาสการประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ โดยการตรวจหาตัวอ่อนที่มีความผิดปกติด้านจำนวนโครโมโซม (aneuploidy) เช่น Trisomy เนื่องจากความผิดปกติของจำนวนโครโมโซม เพิ่มโอกาสฝังตัวล้มเหลว การแท้ง และความผิดปกติทางโครโมโซมแต่กำเนิด เทคโนโลยีปัจจุบันอาศัยเทคนิคทาง molecular testing เช่น polymerase chain reaction, microarray technology หรือ next-generation sequencing โดยนำเซลล์ trophectoderm จากตัวอ่อนวันที่ 5-6 มาตรวจ5 อย่างไรก็ตาม การตรวจ PGT-A ไม่สามารถทดแทนการตรวจความผิดปกติทางโครโมโซมภายหลังการตั้งครรภ์สำเร็จ (prenatal screening or diagnosis) PGT-A ใช้เซลล์จากบริเวณ trophectoderm ซึ่งจะเจริญพัฒนาต่อไปเป็นส่วนของรก ไม่ใช่ส่วน inner cell mass ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นส่วนของfetus การพบ discordant aneuploidy ระหว่าง trophoectoderm และ inner cell mass มีสูงได้ถึงร้อยละ 50 ใน frozen embryo อัตราการเกิด false-positive และ false-negative ใน PGT-A ยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่ชัด เนื่องจาก euploid embryo ที่ถูกวินิจฉัยผิดจะไม่นำมาฝังตัวอ่อน และ aneuploid ที่วินิจฉัยว่าปกติมักจะเกิดการแท้งไป เนื่องจากความคุ้มค่าในการตรวจ PGT-A ยังเป็นที่ถกเถียงกัน ดังนั้นใน The Practice Committee of the American Society for Reproductive Medicine จึงยังไม่แนะนำการตรวจ PGT-A ในคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากทุกคู่
  2. Preimplantation genetic testing for monogenic disorder (PGT-M) เพื่อตรวจหาโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน โดยส่วนมากมักตรวจในคู่สมรสที่มีประวัติบุตรก่อนหน้าหรือการตั้งครรภ์ก่อนหน้าถูกวินิจฉัยว่าเป็น single-gene disorder เช่น cystic fibrosis หรือในคู่สมรสที่ตรวจพบว่าการเป็นพาหะยีนกลายพันธุ์ในโรคทางพันธุกรรมบางชนิดทั้งคู่สมรสชายและหญิง อีกข้อบ่งชี้ที่ควรตรวจ PGT-M คือเพื่อคัดเลือกบุตรที่มี HLA-compatible กับบุตรคนก่อนหน้าเพื่อการทำ stem cell therapy หรือการคัดเลือกเพศของตัวอ่อนในโรคกลุ่ม sex-linked disorder เช่น Duchenne muscular dystrophy รวมไปถึงการเลือกตัวอ่อนที่ไม่มีผลจาก late-onset autosomal dominant disorder เช่น Huntington disease ในครอบครัวที่มีประวัติโรค Autosomal dominant ในครอบครัว
  3. Preimplantation genetic testing for structural (chromosomal) rearrangement (PGT-SR) ใช้ในการวินิจฉัย structural chromosomal rearrangement ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายนึงมีพาหะหรือมียีนผิดปกติอยู่ (carrier of a balanced translocation or deletion or duplication) เป้าหมายเพื่อการย้ายตัวอ่อนที่ปกติหรือไม่ได้รับผลกระทบของโรคจากบิดาหรือมารดา หลังจากย้ายตัวอ่อน การวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์ยังแนะนำให้ทำเนื่องจากการทำ PGT เป็นการนำเซลล์ที่มีอย่างจำกัดจาก blastocyst มาทำการตรวจ รวมไปถึงมีระหว่างโอกาสเกิด biologic และ human factor ที่ส่งผลทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ผิดพลาดได้ เช่น การมี unprotected sexual intercourse ระหว่างกระบวนการการทำ IVF หรือ โอกาสการเกิด human error จากการย้ายตัวอ่อนผิดตัว หรือ การเกิด postzygotic mitotic change เป็นต้น การเกิด false negative diagnosis อาจพบได้จากการปนเปื้อนของ extraneous DNA, allele drop out, or partial amplification ทำให้เกิดการย้ายตัวอ่อนที่ผิดปกติ ถึงแม้จะมีโอกาส แต่จากการรายงาน พบว่า การวินิจฉัยผิดพลาดนั้น มีอัตราน้อยกว่า 1:200 การตั้งครรภ์ ภายหลังการทำ PGT-M อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคู่สมรสจะได้รับการทำ PGT หรือไม่ก็ตาม recommendation แนะนำให้คู่สมรสทุกคู่ที่ตั้งครรภ์จาก IVF ควรได้รับการทำ prenatal diagnosis ไม่ว่าจะเป็นการทำ chorionic villus sampling หรือ การทำ amniocentesis (GRADE 1C)

การตรวจพบ embryo mosaicism สามารถพบได้ประมาณร้อยละ 16-21 ของ blastocyst หากในการตรวจ PGD ไม่พบตัวอ่อนที่ปกติ (euploid) การย้ายตัวอ่อนที่ตรวจ PGT เป็น aneuploidy mosaicism ยังเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากตัวอ่อนที่เป็น aneuploidy mosaicism มีโอกาสพัฒนาต่อไปเป็นตัวอ่อนที่ปกติได้ โอกาสการวินิจฉัย aneuploidy จากเซลล์น้ำคร่ำมีรายงานพบประมาณร้อยละ 11.4 อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ขึ้นกับโครโมโซมที่เกี่ยวข้องในการตรวจพบ aneuploidy นั้น เช่น ร้อยละ 45 ใน trisomy21, ร้อยละ 22 ใน trisomy 18, ร้อยละ 2 ใน trisomy 13, ร้อยละ 5 ใน trisomy 16, ร้อยละ 12 ใน trisomy 14, และร้อยละ 5 ใน trisomy 20 เป็นต้น สำหรับโครโมโซมที่มี imprinted gene ( เช่น คู่ที่ 6, 7, 11, 14 และ 15) ความเสี่ยงในการเกิด uniparental disomy จากการเกิด trisomy หรือ monosomy rescue มีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 ดังนั้นในกรณีที่คู่สมรสเลือกย้ายตัวอ่อนที่เป็น mosaicism embryo จำเป็นต้องได้รับการแนะนำและได้รับการทำ prenatal diagnosis จากผู้เชี่ยวชาญด้าน genetic การ screening ด้วย cfDNA อาจมีข้อจำกัดเนื่องจากใช้เซลล์รกของตัวอ่อนมาตรวจ ซึ่งข้อมูลด้านประสิทธิภาพของชุดตรวจและpositive predictive value ยังไม่แน่ชัด

  1. Antepartum management

    1. Prenatal screening

การทำ IVF อาจส่งผลต่อความแม่นยำในการทำ genetic screening ในช่วงไตรมาสแรก systemic review พบว่าการตั้งครรภ์จาก IVF เมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ พบว่า ค่า pregnancy-associated plasma protein A (PAPP-A) ลดลง และการวัด nuchal translucency พบว่ามีค่าเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก ในช่วงไตรมาสที่สองพบว่ามีค่า alpha fetoprotein และ transcription factor uE3 ลดลง และมีค่า hCG เพิ่มขึ้น ดังนั้นจากค่า serum marker ที่พบ อาจทำให้เกิด False-positive result ของ aneuploidy screening ในหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดจาก IVF

ในการศึกษา prenatal screening ด้วย cell-free DNA มีรายงาน lower fetal fraction (FF) ในการตั้งครรภ์ IVF ซึ่งอาจเป็นจาก smaller placental mass โดยการมี lower fetal fraction ทำให้เกิดอัตราการแปลผลจาก cfDNA ผิดพลาดมากขึ้น เมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์ธรรมชาติ ( 5.2% Vs 2.2%; P<0.001) อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าการทำ IVF ไม่ได้ส่งผลต่อการแปลผลของ cfDNA testing (จาก second draw) โดยอัตราการประสบความสำเร็จที่ร้อยละ 53 ดังนั้น จึงแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรสยังควรได้รับการแนะนำการตรวจ first trimester screening รวมไปถึงการตรวจด้วย cfDNA อยู่ (GRADE 1A)

    1. Multifetal reduction

Multifetal pregnancy มีความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์ทั้งความเสี่ยงด้านมารดาและความเสี่ยงของทารก ดังนั้นโดยปกติแล้ว จะมีการจำกัดจำนวนการย้ายตัวอ่อนเพื่อป้องกันการเกิดครรภ์แฝด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะย้ายตัวอ่อนเพียง 1 ตัวอ่อน (single embryo) ยังคงมีอัตราการเกิด monozygotic twin เพิ่มขึ้น โดยมักสัมพันธ์กับการเพาะตัวอ่อนนาน (extended culture) โดยพบว่า มีโอกาสการเกิด monozygotic twin ใน blastocyst stage มากกว่า cleavage stage ถึง 2.18 เท่า โดย recommendation แนะนำว่า เมื่อเกิด multifetal pregnancy ขึ้นในการตั้งครรภ์จาก IVF หญิงตั้งครรภ์และคู่สมรสควรได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำ Multifetal pregnancy reduction เนื่องจากสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิด preterm birth, neonatal morbidity, และ maternal complication

การทำ multifetal reduction6 สามารถทำได้ตั้งแต่ไตรมาสที่สอง อายุครรภ์ประมาณ 11-14 สัปดาห์ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว อาจมี spontaneous death ของตัวอ่อนในช่วงอายุครรภ์ก่อน 11 สัปดาห์ได้ และมีโอกาสในการทำ detailed structural survey เช่นการทำ nuchal translucency (NT) เพื่อประเมินความผิดปกติเบื้องต้นได้ โดยหัตถการในการทำ fetal reduction ในปัจจุบัน ทำได้หลายวิธี เช่น การทำ KCL injection เป็น percutaneous feticide technique ฉีดเข้าไปบริเวณหัวใจ (intracardiac) เพื่อกระตุ้นให้เกิด fetal asystole เป็นต้น ใน monochorionic fetuses การทำ chemical feticide อาจมีความเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงไปทำหัตถการอื่น เช่น radiofrequency ablation (ช่วงอายุครรภ์ 15-27 สัปดาห์) หรือ bipolar diathermy cord coagulation เป็นต้น7

    1. Congenital anomalies

มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างการตั้งครรภ์จาก IVF ทั้งจาก ICSI และจาก natural cycle กับอุบัติการณ์การเกิด congenital malformation แม้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากปัญหาด้านภาวะมีบุตรยากของคู่สมรสหรือสัมพันธ์กับเทคนิคการทำ IVF หรือไม่ โดยจากการเก็บข้อมูล พบอุบัติการณ์ในการตั้งครรภ์จาก IVF ทั้งจากกระบวนการ ICSI และกระบวนการธรรมชาติ พบว่ามี total congenital malformation 475.8 ต่อ 10,000 การเกิด เทียบกับการตั้งครรภ์จากธรรมชาติที่พบอุบัติการณ์ 317.6 ต่อ 10,000 การเกิด จำแนกอวัยวะที่พบความผิดปกติได้ ดังตารางที่ 1

ระบบอวัยวะ IVF with or without ICSI

(95% confidence interval)

Natural pregnancy

(95%confidence interval)

Cleft lip or palate 1.3 (0.9-1.7) 1.2 (1.0-1.6)
Eye, ear, face, neck 1.7 (0.8-3.6) 1.5 (0.8-2.8)
CNS 1.7 (1.2-2.4) 1.7 (1.2-2.6)
Respiratory system 0.8 (0.4-1.6) 0.8 (0.5-1.4)
GI 3.8 (2.4-6.0) 2.5 (1.4-4.5)
Musculoskeletal 11.0 (6.7-18.1) 8.1 (4.7-13.6)
Urogenital 10.9 (6.9-17.2) 6.4 (4.5-9.1)
Cardiovascular 5.7 (5.3-11.2) 5.2 (4.5-9.1)

ตาราง 1ตารางแสดงค่าเฉลี่ยของอุบัติการณ์การเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในการตั้งครรภ์เดี่ยวที่เกิดจาก IVF และจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติ ที่มา : society for Maternal-Fetal medicine. SMFM consult series #60: Management of pregnancies resulting from in vitro fertilization. Am J Obstet Gynecol 2022.

นอกจากนั้นยังมีรายงานอุบัติการณ์การเกิด congenital heart disease เพิ่มขึ้นในการตั้งครรภ์ด้วย IVF อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน IVF ร่วมกับการทำ ICSI โดยสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยากของคู่สมรส อย่างไรก็ตามจากการศึกษาแบบ prospective study พบว่าอุบัติการณ์การเกิด CHD ใน IVF โดยที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆไม่มีได้มีความแตกต่างจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ดังนั้น จาก recommendation จึงแนะนำให้มีการทำ detailed obstetrical ultrasound examination ในหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดจาก IVF ทุกราย (GRADE 1B) และแนะนำให้มีการทำ echocardiography ร่วมด้วย (GRADE 2C)

    1. Placental anomalies

ความผิดปกติของรก มักพบร่วมได้บ่อยในการตั้งครรภ์จากIVF โดยมีความเสี่ยงที่จะพบความผิดปกติของรกทั้งด้านรูปร่าง เช่น bilobed placenta, accessory placental lobe การตั้งครรภ์จากเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธ์พบอัตราส่วนการเกิดภาวะรกเกาะต่ำมากกว่าการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติถึง 2.72 เท่า และพบมากขึ้นในการย้ายตัวอ่อนช่วง blastocyst มากกว่าช่วง cleavage stage (aOR,2.18; 95%CI,1.79-2.65) นอกจากรกแล้ว ยังพบอัตราการเกิด marginal และ velamentous cord insertion มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อุบัติการณ์การเกิดความผิดปกติของรกเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักโดยทั่วไปของ vasa previa มักเกิดจาก velamentous cord insertion และ bilobed placenta ซึ่งสามารถพบความผิดปกติทั้งสองเพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์แบบ IVF

Placenta accrete spectrum พบได้บ่อยเช่นกันในการตั้งครรภ์จาก IVF โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากถึง 3-6 เท่า โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำร่วมกับมีประวัติเคยผ่าคลอดมาก่อน ดังนั้นจึงแนะนำให้ในช่วงการทำ fetal anatomical ultrasound ให้มีการultrasoundตรวจลักษณะรกอย่างละเอียดโดยรวมไปถึงการตรวจต่ำแหน่งของรก รูปร่างรก ตำแหน่งที่สายสะดือเกาะ โดยอาจพิจารณาทำ transvaginal ultrasonography ในกรณีที่พบว่ามี velamentous cord insertion, succenturiate or bilobed placentas หรือในกรณีที่ติดตามตำแหน่งของรกเกาะต่ำที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ควรพิจารณาตรวจลักษณะของ vasa previa ใน resolved placental previa ด้วย

    1. Risk spontaneous preterm birth

การคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในการตั้งครรภ์ IVF โดยพบมากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ 2 เท่า รวมไปถึง ทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (low birth weight) และภาวะทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์รุนแรง (very low birth weight) ซึ่งทารกที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์สัมพันธ์กับการเกิดผลเสียมากมาย เช่น neonatal encephalopathy และ perinatal morbidity เป็นต้น โดยภาวะทารกคลอดก่อนกำหนด จากการศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นในตั้งครรภ์แบบ IVF โดยมักสัมพันธ์กับเทคนิค IVF ด้วย โดยเมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติแล้ว ทารกที่เกิดมาจากการกระตุ้นตามกระบวนการ IVF มีความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดมากถึง 1.95 เท่า และ การตั้งครรภ์ที่เกิดจากไข่ที่ได้รับการบริจาคมามีความเสี่ยงมากกว่าไข่ของคู่สมรสหญิงเอง ถึงแม้ความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดจะเพิ่มขึ้นในการตั้งครรภ์ด้วย IVF แต่การ serial cervical length จากข้อบ่งชี้เรื่อง IVF อย่างเดียวยังพบว่ายังไม่พบประโยชน์ recommendation จึงแนะนำว่าการประเมิณความยาวของปากมดลูกทั้งทาง transabdominal และ endocervical ultrasound ในช่วง fetal anomaly screening (อายุครรภ์ 18 0/7 ถึง 22 6/7) ยังคงแนะนำให้ทำ แต่ไม่แนะนำให้ serial cervical length จากข้อบ่งชี้เรื่อง IVF

การให้ progesterone supplement โดยปฏิบัติมักให้ในการตั้งครรภ์จาก IVF จนถึงอายุครรภ์ที่ 12 สัปดาห์ เนื่องจากปัญหาในเรื่องของป้องกัน pregnancy loss จาก inadequate progesterone supplement จาก corpus luteum เนื่องจากกระบวนการทาง IVF หลังจากอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการให้ progesterone supplement ในหญิงตั้งครรภ์จาก IVF อย่างเดียวโดยไม่มีข้อบ่งชี้อื่น

    1. Surveillance during ANC

Small for gestational age พบได้บ่อยในการตั้งครรภ์จาก IVF จากการศึกษา meta-analysis พบว่าภายหลังการคลอด มีการติดตามน้ำหนักของทารกเทียบกับทารกที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติพบว่า ทารกมีน้ำหนักตัวแตกต่างกันค่าเฉลี่ยประมาณ 180 กรัม ในช่วงอายุ 0-4 ปี หลังจาก 5 ปี พบว่าน้ำหนักของเด็กไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ มีการศึกษาย้อนหลังพบว่าการ estimated fetal weight ในช่วงไตรมาสที่สาม พบ small for gestational age ในการตั้งครรภ์แบบ IVF มากกว่าการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ และพบมากขึ้นในกรณีที่มีความเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะ abnormal placenta ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้มีการประเมิณน้ำหนักตัวของทารกในช่วงไตรมาสที่สาม ในการตั้งครรภ์แบบ IVF แต่การ serial growth ultrasound นั้น ไม่แนะนำให้ทำเนื่องจากข้อบ่งชี้จาก IVF

การให้ low dose ASA เพื่อป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์พบว่าไม่มีความสำคัญทางสถิติ แต่จาก The United States Prevention Services Task Force ถือว่าการตั้งครรภ์IVF เป็นหนึ่งใน moderate risk factor ของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย การให้ low-dose ASA จึงแนะนำให้ในสตรีตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์แบบ IVF เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด stillbirth 2-3 เท่า ถึงแม้มีการควบคุมปัจจัยอื่น ๆที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น อายุมารดา จำนวนบุตรในครรภ์ ใน ACOG-SMFM Committee Opinion แนะนำการ surveillance ระหว่างการฝากครรภ์ โดยแนะนำให้ทำ antenatal surveillance weekly ตั้งแต่ อายุครรภ์​36 0/7 สัปดาห์เป็นต้นไป

  1. Timing delivery management

ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาไหนที่บอกได้ว่า การ elective delivery ตอนอายุครรภ์ที่ 39 สัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงของมารดาและเพิ่ม perinatal outcome ในการตั้งครรภ์แบบ IVF เทียบกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ จากข้อมูลการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ปกติที่อายคุครรภ์ 39 0/7 ถึง 40 6/7 สัปดาห์ เมื่อเทียบการ induction of labor และการ expectant management พบว่าไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของ cesarean delivery แต่ไม่ได้ลดความเสี่ยงด้าน perinatal outcome ดังนั้น เนื่องจากยังขาดหลักฐานที่มาสนับสนุน Timing delivery ดังนั้น SMFM จึงแนะนำให้แพทย์และหญิงตั้งครรภ์ร่วมกันปรึกษาพิจารณา induction of labor ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ( GRADE1C )

เอกสารอ้างอิง

1. Definitions of infertility and recurrent pregnancy loss: a committee opinion. Fertil Steril. 2013;99(1):63.
2. Speroff L FM. Assisted reproductive technologies. In: Clinical gynecologic endocrinology and infertility.7th ed. Philadelphia: Lippincott Willoams & Wilkins2005.
3. Ghidini A, Gandhi M, McCoy J, Kuller JA. Society for Maternal-Fetal Medicine Consult Series #60: Management of pregnancies resulting from in vitro fertilization. Am J Obstet Gynecol. 2022;226(3):B2-b12.
4. Li Y, Wang L, Xu J, Niu W, Shi H, Hu L, et al. Higher chromosomal aberration rate in miscarried conceptus from polycystic ovary syndrome women undergoing assisted reproductive treatment. Fertil Steril. 2019;111(5):936-43.e2.
5. Homer HA. Preimplantation genetic testing for aneuploidy (PGT-A): The biology, the technology and the clinical outcomes. Aust N Z J Obstet Gynaecol. 2019;59(2):317-24.
6. ACOG Committee opinion no. 553: multifetal pregnancy reduction. Obstet Gynecol. 2013;121(2 Pt 1):405-10.
7. Beriwal S, Impey L, Ioannou C. Multifetal pregnancy reduction and selective termination. The Obstetrician & Gynaecologist. 2020;22(4):284-92.
8. โอภาส เศรษฐบุตร. 2013. “ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)” [ระบบออนไลน์].แหล่งที่มา https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/infertility/
9. โอภาส เศรษฐบุตร.2010. “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted reproductive technology)” .[ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/residents-fellows/1576/

 

Read More

สารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดพิษแก่ทารกในครรภ์

สารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดพิษแก่ทารกในครรภ์ (Teratogen and fetotoxic agent)

จัดทำโดย: พญ.กานต์ทอง ศิริวัฒน์
อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ


Teratology คือการศึกษาสาเหตุการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ส่วนคำว่า Teratogen มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก โดยคำว่า Teratos หมายถึง สัตว์ประหลาด ดังนั้นคำว่า Teratogen จึงหมายถึงปัจจัยที่มีผลกับการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ทำให้เกิดรูปลักษณ์หรือการทำงานของอวัยวะที่ผิดปกติถาวร อาจหมายรวมถึงยา สารเคมีสิ่งแวดล้อม เช่น ความร้อน หรือรังสี โรคประจำตัวของมารดา เช่น โรคอ้วนโรคเบาหวาน ภาวะติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อ Cytomegalo virus เป็นต้น

เกณฑ์ในการวินิจฉัย Teratogenicity มีดังนี้(1)

ข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องมี

  1. ความผิดปกติที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่เฉพาะถูกกำหนดโดยนักพันธุกรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องความผิดปกติของอวัยวะตั้งแต่กำเนิด
  2. มีการพิสูจน์แล้วว่าการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดความผิดปกตินั้นอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนในครรภ์ สำหรับระยะเวลาในการสร้างอวัยวะนั้นแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ
  3. Preimplantation period เป็นช่วงเวลา 2 สัปดาห์หลังจากมีการ fertilization เป็นช่วงที่เรียกได้ว่า “All or none “ คือหากมีอันตรายเกิดขึ้นกับเซลล์ในช่วงนี้ ถ้าเซลล์บาดเจ็บรุนแรงจะทำให้ตัวอ่อนตายหรือไม่สามารถเจริญเติบโตต่อได้ แต่ถ้าหากตัวอ่อนสามารถสร้างเซลล์มาทดแทนก็จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
  4. Embryonic period นับตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์จนถึง 8 สัปดาห์หลังจาก fertilization เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาอวัยวะ (organogenesis) หากมีปัจจัยอื่น ๆ มารบกวนอาจทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะนั้นอย่างรุนแรงได้ (major malformations) โดยอวัยวะที่มีการพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์แล้วในช่วงนี้ได้แก่ หัวใจ ระยางค์ทั้งสี่ ริมฝีปาก เป็นต้น
  5. Fetal period 8 สัปดาห์เป็นต้นไปหลังจาก fetilization เป็นช่วงที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง หูตา ฟัน อวัยวะเพศ ค่อย ๆ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาจากช่วง embryonic period หากมีปัจจัยภายนอกมารบกวนอาจทำให้เกิดความผิดปกติเพียงเล็กน้อย (minor malformations)
  6. มีรายงานในการศึกษาหรือระบาดวิทยา โดยต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้
  7. เป็นการศึกษาที่ไม่มีอคติ
  8. มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของตัวแปรกวน
  9. กลุ่มประชากรมากเพียงพอ
  10. เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า
  11. ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์มากกว่าเท่ากับ 3 หรือบางคำแนะนำใช้ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์มากกว่าเท่ากับ 6

หรือ สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่พบได้น้อยและเกี่ยวข้องกับความผิดปกติแต่กำเนิดที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และมีการรายงานเคสตัวอย่างอย่างน้อย 3 ราย

ข้อบ่งชี้เสริม

  1. มีข้อมูลหรือหลักฐานแสดงความเป็นไปได้ในทางชีววิทยา (biological plausibility)
  2. มีการศึกษาและทดลองในสัตว์พบว่าว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ
  3. สารเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดความผิดปกติที่เปลี่ยนแปลงในความรู้ในครั้งก่อน

นอกจากนี้ในประเทศไทยมีการจัดกลุ่มยาตามความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ (pregnancy category) โดยอ้างอิงจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. Category A : จากการศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก พบว่าไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ และไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีความเสี่ยงเมื่อมีการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3

2. Category B : จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ หรือจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก และไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีความเสี่ยงเมื่อมีการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3

3. Category C : การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่ายามีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ หรือไม่มีรายงานการศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และสัตว์ทดลอง การใช้ยาในกลุ่มนี้ให้คำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงของยาต่อทารกในครรภ์

4. Category D : การศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ พบว่ามีหลักฐานที่แสดงว่ายามีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ แต่อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ยาใช้ในภาวะช่วยชีวิต หรือยารักษาโรคที่รุนแรงซึ่งไม่มียาอื่นที่ปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพ

5. Category X : การศึกษาการใช้ยาในสัตว์ทดลอง พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อน หรือมีรายงานจากการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากยา ดังนั้นจึงจัดเป็นยาที่ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์หรือกำลังจะตั้งครรภ์

สารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของทารกตั้งแต่ในครรภ์ที่ควรรู้ได้แก่

1.แอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ)

เอทานอล (ethanol) เป็นสารที่ทำให้เกิดความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หากมารดาดื่มในปริมาณมาก จะส่งผลให้ทารกมีลักษณะผิดปกติ ที่เรียกว่า Fetal Alcohol Syndrome, FAS) ซึ่งมีเกณฑ์ในการวินิจฉัยดังนี้(2)

1.มีเกณฑ์ในการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการตั้งครรภ์มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ข้อ

  1. ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับ 6 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ (1ดื่มมาตรฐานเท่ากับแอลกอฮอล์ 10 ถึง14 กรัม) ต่อเนื่องกันเป็นเวลามากกว่าเท่ากับ 2 สัปดาห์
  2. ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ดื่มมาตรฐานเป็นครั้งคราว โดยมีความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้ง
  3. เมื่อทำแบบสอบถามคัดกรองการดื่มสุราแล้วพบว่าเป็นผู้ดื่มสุราแบบมีความเสี่ยง(hazardous use)(3)
  4. ผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการพบเจอสารแอลกอฮอล์ในเลือด
  5. ดื่มแอลกอฮอล์จนทำเรื่องผิดกฎหมาย หรือ มีปัญหาในสังคม

2.มีเกณฑ์ลักษณะทางร่างกายที่ผิดปกติโดยจะต้องมีครบทุกข้อ

          • มีความผิดปกติของรูปหน้ามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ข้อ
    1.    ช่องตาสั้น  (short palpebral fissues)
    2. ริมฝีปากบนยาวและบาง (thin vermillion border of the upper lips)
    3.    ร่องริมฝีปากบนเรียบ (smooth philtrum)
          • มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยและมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักหลังจากคลอดน้อยกว่าเท่ากับร้อยละ 10
          • มีความผิดปกติของการพัฒนาโครงสร้างลักษณะ หรือการทำงานของสมองมากกว่าหรือเท่ากับ 1 ข้อ
  1. เส้นรอบวงศีรษะขนาดน้อยกว่า 10 เปอร์เซนไทด์
  2. โครงสร้างสมองผิดปกติ

3. มีความบกพร่องในด้านประสาทและพฤติกรรม (ค่าเฉลี่ยมาตรฐานต่ำกว่า1.5 SD)

a. เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีที่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ

  1. เด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ปีมีภาวะบกพร่องทางสมอง (cognitive impair) หรือมีภาวะถดถอยทางสมอง (cognitive deficit) อย่างน้อย 1 ส่วน หรือมีภาวะพฤติกรรมผิดปกติอย่างน้อย 1 ส่วน

2. ยาป้องกันชัก (Antiepileptic medications)

หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคลมชักและต้องรับประทานยาป้องกันชักต้องได้รับคำแนะนำถึงความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะมีมีความผิดปกติแต่กำเนิดมากขึ้นหากได้รับยากันชัก และหากได้รับยาหลายชนิดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นถึงสองเท่า โดยความผิดปกติที่พบบ่อยได้แก่ ภาวะความผิดปกติของช่องปากและใบหน้า ปากแหว่งเพดานโหว่ หัวใจมีโครงสร้างที่ผิดปกติ(cardiac malformation) ความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defect) เป็นต้น โดยยาที่ใช้บ่อยได้แก่

  1. Valproic acid ทำให้เกิดความผิดปกติได้ร้อยละ 9 ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น หากได้รับยาในช่วงไตรมาสแรก หรือปริมาณยาที่ได้รับมากกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวันจะมีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มากขึ้น (4) นอกจากนี้ร้อยละ 4 ของทารกในครรภ์จะมีปัญหาความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defect) และเมื่อเข้าสู่วัยเรียนจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเพื่อนในชั้นเรียนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับยากันชักชนิดอื่น ๆ(5)
  2. Phenytoin (Dilantin) ทำให้เกิดกลุ่มอาการ fetal hydantoin syndrome หากใช้ยาชนิดนี้เพียงชนิดเดียว พบว่ามีอัตราเสี่ยงร้อยละ 4.2-25 ที่จะพบความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือมีความผิดปกติของการสร้างกระโหลกศีรษะและใบหน้า เช่น จมูกรั้นขึ้น (upturned nose) ใบหน้าส่วนกลางเล็ก (midfacial hypoplasia) ริมฝีปากบนยาวและบาง (long upper lip with thin vermis border) มีการพัฒนาของกระดูกนิ้วมือและนิ้วส่วนปลายที่น้อยกว่าปกติ และมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า(6)

3. ยาต้านเชื้อราและยาปฏิชีวนะ 

ยาต้านเชื้อราและยาปฏิชีวนะเป็นยาที่อาจถูกใช้ได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ ยาส่วนใหญ่มีความปลอดภัยหากใช้ในหญิงตั้งครรภ์แต่มียาบางชนิดที่ควรระวัง เช่น

  • Fluconazole : จะทำให้เกิดกลุ่มอาการ Antley-Bixler syndrome คือมีปากแหว่งเพดานโหว่ มีความผิดปกติของใบหน้า หัวใจ กะโหลกศีรษะ กระดูกท่อนยาวและข้อต่อ มีรายงานพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ ในมารดาที่ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และใช้ยาปริมาณมากขนาด 400 – 800 มิลลิกรัมต่อวัน
  • Chloramphenicol : ยาชนิดนี้ไม่ใช่ teratogenic drug แต่หากเด็กทารกแรกเกิดได้รับมีโอกาสเกิดภาวะ Gray baby syndrome เนื่องจากเด็กทารกแรกเกิดไม่สามารถขับยาออกมาได้เอง อาจมีอาการท้องโตระบบหายใจผิดปกติ มีหลอดเลือดยุบตัว และ ทารกจะมีสีผิวสีเทาได้ ดังนั้นยาชนิดนี้ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สาม
  • Sulfonamides : ยาชนิดนี้เมื่อใช้ในช่วงไตรมาสแรกทารกมีโอกาสเกิดโรคหลอดอาหารอุดตันโดยสมบูรณ์แต่กำเนิด หรือเกิดไส้เลื่อนกระบังลม หากใช้ในช่วงไตรมาสที่สามอาจเกิดทารกตัวเหลืองหลังคลอดได้ นอกจากนี้สมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา 2017 มีคำแนะนำว่าหากไม่มียาชนิดใดใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ในไตรมาสแรก
  • Tetracyclines : หากใช้ยาหลังช่วง 25 อาทิตย์ ทารกอาจมีสีฟันสีเหลืองน้ำตาลผิดปกติได้
  • Aminoglycosides (gentamicin or streptomycin) : ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับยาชนิดนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางไตและหูได้ แต่หากได้รับตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ยาชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด

4. Diethylstilbestros(DES)

เป็นยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ใช้อย่างแพร่หลายในปี คศ.1940 จนถึง คศ.1971 ใช้ในการป้องกันการแท้งบุตร และป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ในปี คศ.1971 มีการศึกษาพบว่าการได้รับ DES เพิ่มโอกาสที่มารดาจะเป็นมะเร็งช่องคลอดชนิด clear cell adenocarcinoma 1 ใน 1000 เคสที่ได้รับยาชนิดนี้(7) โดยไม่สัมพันธ์กับปริมาณยาที่ได้รับ และหากทารกในครรภ์ได้รับสารนี้จากมารดาจะเพิ่มโอกาสทารกมีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ในเพศหญิงจะมีมดลูกที่เจริญเติบโตไม่เต็มที่ และ ลักษณะของโพรงมดลูกจะเป็นตัวที (T) , cervical collars, hoods, septa, and coxcombs หรือมีลักษณะท่อนำไข่เหี่ยว นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสเกิดวัยทองเร็วกว่าปกติและมะเร็งเต้านมได้ ในเพศชายอาจเกิดถุงน้ำในท่อพักอสุจิ (epididymal cyst), องคชาติขนาดเล็ก (microphallus), รูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติ (hypospadias) ลูกอัณฑะติดค้าง (cryptorchidism) อัณฑะฝ่อ(testicular hypoplasia) เป็นต้น

5 Retinoids

คือชื่อเรียกรวมของกลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ ซึ่งมีสารหลากหลาย เช่น isotretinoin, acitretin, bexarotene เป็นสารที่ก่อให้เกิดความพิการอย่างรุนแรง สารชนิดนี้จะยับยั้งการเคลื่อนที่ของ neural-crest cell ในช่วงพัฒนาการของตัวอ่อนทำให้เกิดความผิดปกติได้ เรียกความผิดปกตินี้ว่า Retinoic acid embryopathy จะมีการเพิ่มความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ใบหน้า หัวใจ ต่อมไทมัส โดยความผิดปกติที่พบบ่อยคือ ventriculomegaly, maldevelopment of the facial bones or cranium, microtia or anotia, micrognathia, cleft palate, conotruncal heart defects, and thymic aplasia or hypoplasia

สำหรับรูปแบบของยาที่ทำให้เกิดโทษต่อทารกในครรภ์นั้นจะเกิดเฉพาะในรูปแบบรับประทาน ยาอนุพันธุ์วิตามินเอรูปแบบรับประทานได้แก่ isotretinoin ใช้รักษาโรคผิวหนัง เช่น cystic nodular acne , acitretinใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินแบบรุนแรง ยาชนิดนี้มีครึ่งชีวิตที่ยาวนาน หากได้รับยากลุ่มนี้ มีความจำเป็นต้องคุมกำเนิดหลังหยุดยาอย่างน้อย 3 ปี bexarotene ใช้รักษา cutaneous T-cell lymphoma ในหญิงที่ได้รับยาชนิดนี้ควรคุมกำเนิด 1 เดือนก่อนการรักษาจนถึง 1 เดือนหลังหยุดยา ในชายที่ได้รับยาชนิดนี้หากมีเพศสัมพันธ์ควรใส่ถุงยางอนามัย จนถึง 1 เดือนหลังหยุดการรักษา

ในส่วนของรูปแบบทาเช่น tretinoin, isotretinoin, adapalene นิยมใช้มากในการรักษาสิว ยาจะดูดซึมเข้าสู่เข้าสู่ร่างกายน้อยมาก จึงไม่เพิ่มอัตราการเกิดความผิดปกติของทารก อัตราคลอดก่อนกำหนด อัตราทารกน้ำหนักน้อย และ อัตราการแท้งบุตร แต่อย่างไรก็ตามควรมีการให้คำแนะนำแก่มารดาที่ได้รับสารชนิดนี้ทุกครั้ง

6. Warfarin

ยาวาร์ฟารินจะมีกลไกในการรบกวนการทำงานของวิตามินเค วิตามินเคจะช่วยในระบบการแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลง จากกระบวนการดังกล่าวจึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันที่อวัยวะต่าง ๆ ได้ ยาวาร์ฟารินมีครึ่งชีวิตที่ยาวนานและสามารถผ่านรกได้ ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นยาชนิดนี้จึงเป็นข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สำหรับความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่ได้รับยาในช่วง 6- 9 สัปดาห์นั้นจะเพิ่มโอกาสเกิด warfarin embryopathy ทารกจะมีลักษณะสันจมูกยุบลง สันจมูกเล็ก, มีการปิดของช่องจมูกด้านหลังตั้งแต่แรกเกิด (choanal atresia) มีจุดทึบขาวในภาพถ่ายรังสีบริเวณ epiphyses ของ femurhumerus, calcanei และ distal phalanges

นอกจากนี้การใช้ยาในไตรมาสแรก ปริมาณยาที่ได้รับจะมีความสำคัญเนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ถ้าได้รับยาน้อยกว่าเท่ากับ 5 มิลลิกรัมต่อวัน โอกาสเกิดความผิดปกติของทารกจะน้อยมาก โดยมีโอการเกิดเพียงร้อยละ 1 แต่หากได้รับยาหลังไตรมาสแรก ยาวาร์ฟารินอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ นำไปสู่การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของอวัยวะได้ เช่น มีอวัยวะที่ผิดรูปจากการมีผังผืดหลังเลือดออก เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น agenesis of the corpus callosum, cerebellar vermian agenesis (Dandy-Walker malformation), microphthalmia และ optic atrophy และเมื่อทารกเจริญเติบโตจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตาบอด หูหนวก และมีพัฒนาการช้าได้

7. สารเสพติด

แอมเฟตามีน (Amphetamines) ไม่ใช่สารหลักที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ กลไกของสารนี้คือเพิ่มการหลั่งของโดปามีนในหลอดเลือดและยับยั้งการนำโดปามีนกลับเข้าเซลล์ มารดาที่ได้รับแอมเฟตามีนจะมีความดันโลหิตสูงจนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง เช่น รกลอกตัว คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น หากทารกในครรภ์ได้รับจะก่อให้เกิดทารกตัวเล็ก หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ในช่วงวัยเรียนจะมีปัญหาด้านพฤติกรรมได้

-กัญชา (Marijuana) : ในกัญชามีสารที่เรียกว่า แคนนาบินอยด์ เป็นสารที่จับได้กับตัวรับจำเพาะในร่างกาย นอกจากนี้ภายในร่างกายมีการผลิต cannabinoids ด้วยเช่นกัน ในสัตว์ทดลองแคนนาบินอยด์มีผลในเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาของสมอง สารสื่อประสาท การพัฒนาของเซลล์สมอง มีการศึกษาในสัตว์ว่าหากได้รับแคนนาบินอยด์จากภายนอกอาจทำให้รบกวนพัฒนาการของสมองได้ ในมนุษย์ตัวรับจำเพาะของแคนนาบินอยด์เริ่มพัฒนาตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ หากได้รับสารนี้จากภายนอก จะมีผลต่อการพัฒนาสมองเช่นกัน คือเมื่อเติบโตจะมีพัฒนาการทางสมองและความฉลาดทางสติปัญญาต่ำกว่าเด็กคนอื่น แต่บางการศึกษากลับไม่พบว่าการได้สารชนิดนี้จะมีผลกับสติปัญญา ดังนั้นผลต่อสมองและสติปัญญาจึงยังไม่ชัดเจน

มีหลายการศึกษาที่พบว่ากัญชานั้นไม่ทำให้เกิดความผิดปกติทางรูปร่างของทารกในครรภ์ แต่มีผลเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์หลังจากอายุ 20 สัปดาห์และเพิ่มอัตราการเกิดทารกน้ำหนักน้อยคือน้อยกว่า 2500 กรัม และเพิ่มอัตราการคลอดก่อนกำหนด หากใช้กัญชาร่วมกันกับบุหรี่ผลลัพธ์ต่อการตั้งครรภ์จะยิ่งแย่ลง ในส่วนของการให้นมบุตรยังไม่มีการศึกษามากพอว่าสามารถให้ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงควรแนะนำแก่มารดาที่ให้นมบุตรทุกคนและหญิงตั้งครรภ์ทุกคนหยุดการใช้กัญชา(8)

-คาเฟอีน(Caffeine): เป็นสารที่มีอยู่ในเครื่องดื่มหลายชนิดเช่น กาแฟ ชา ช็อคโกแลต เป็นต้น โดยปริมาณของคาเฟอีนในเครื่องดื่มแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไปเช่น กาแฟสำเร็จรูป 8 ออนซ์มีคาเฟอีน 137 มิลลิกรัม ชาสำเร็จรูป 8 ออนซ์มีคาเฟอีน 26-36 มิลลิกรัม โดยสารคาเฟอีนนี้สามารถผ่านรกได้ และมีผลทำให้ลดการไหลเวียนของเลือดไปที่รก และ ลดการนำส่งออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์ จึงมีบางการศึกษา(9)พบว่าคาเฟอีนมีผลต่อทารกในครรภ์คือทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อย จากคำแนะนำของสมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หากร่างกายได้รับคาเฟอีนน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวันไม่เพิ่มอัตราการแท้งและการคลอดก่อนกำหนด ส่วนในเรื่องของการทำให้เกิดทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์นั้นจากการศึกษายังไม่กระจ่างชัด(10)

8.รังสี การแผ่รังสี (radiation) คือพลังงานหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิด ซึ่งมีความถี่และความยาวคลี่นต่าง ๆ กัน เช่น คลื่นแสง คลื่นเสียง  รังสีเอกซ์  รังสีแกมมา ซึ่งพลังงานเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลในร่างกาย เช่น สารพันธุกรรม (DNA) หรือสามารถสร้างอนุมูลอิสระมาทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกายได้หน่วยเรียกที่ควรรู้ในเรื่องรังสีนี้ ได้แก่

  1. Exposure คือ ปริมาณอะตอมในอากาศที่มีประจุไฟฟ้าที่สร้างขึ้นจากรังสีเอกซ์เรย์หน่วยคือ Roentgen (R)
  2. Dose คือปริมาณพลังงานที่สะสมในเนื้อเยื่อ 1 กิโลกรัม หน่วย คือ Gray (GY) โดย 1 Gy = 100 rad
  3. Relative effective dose คือปริมาณพลังงานที่สะสมในเนื้อเยื่อ 1 กิโลกรัมที่จะมีผลทางชีววิทยา หน่วยคือ Sievert (Sv) โดย 1 SV = 100 rem

สำหรับในเรื่องรังสีวินิจฉัยนิยมใช้หน่วยเป็น เกรย์ (Gray) และแต่ละหน่วยสามารถแปลงได้ดังนี้

1 Gy = 1 Sv = 100 rad = 100 rem

อย่างที่กล่าวไปว่ารังสีเอกซ์ หรือ เอกซ์เรย์มีผลทางชีวภาพและสามารถทำลายเนื้อเยื่อได้ จึงมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ โดยผลที่เกิดขึ้นในมนุษย์แบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ

  1. Deterministic effect คือผลที่เกิดขึ้นจากรังสีทำลายเซลล์ของร่างกายในที่นี้ผลที่เกิดขึ้น เช่น แท้งบุตร ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า มีความผิดปกติของรูปร่างตั้งแต่กำเนิด ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น โดยผลของรังสีกับปริมาณรังสีที่ได้รับจะแปรผันตรง ผลที่เกิดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อปริมาณรังสีเพิ่มมากขึ้น โดยค่าที่จะไม่ทำให้เกิดความผิดปกติทางรูปร่างของทารกในครรภ์คือ น้อยกว่า 5 Rad
  2. Stochastic effects คือผลจากรังสีเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA นำไปสู่การเป็นมะเร็ง และการผ่าเหล่า ผลของรังสีนี้จะคาดคะเนจากข้อมูลทางสถิติของผู้ที่ได้รับรังสี โดยโอกาสเกิดจะแปรผันตรงกับปริมาณรังสี แต่ความรุนแรงของผลกระทบไม่ขึ้นกับปริมาณรังสี โดยค่าที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งคือ 0.1 -0.2 Sv

ในทางการแพทย์นั้นมีการนำภาพถ่ายรังสีแบบต่าง ๆ มาใช้เพื่อในการช่วยวินิจฉัยโรค ในหญิงตั้งครรภ์นั้นการสัมผัสกับรังสีอาจมีความเสี่ยงกับทารกในครรภ์ โดยความเสี่ยงนั้นขึ้นกับอายุครรภ์ และ ปริมาณรังสีที่ได้รับ โดยความผิดปกติที่เกิดแสดงในตารางที่1(11)

ตารางที่ 1 แสดงความผิดปกติของทารกที่เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสรังสีแบ่งตามช่วงเวลาที่สัมผัส และ ปริมาณรังสีที่ได้รับ ดัดแปลงจาก ACOG : Guidelines for Diagnostic Imaging During Pregnancy and Lactation, number 723, october 2017

ช่วงอายุครรภ์ ผลลัพธ์ที่จะเกิด ปริมาณรังสีที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์
ก่อนการฝังตัว (0-2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ) เซลล์ตายหรือไม่มีอะไรเกิดขึ้น

(all or none)

50-100 มิลลิเกรย์
ช่วงกระบวนการเปลี่ยนแปลงจนเป็นอวัยวะ(organogenesis)

(2-8 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ)

มีความผิดปกติของอวัยวะตั้งแต่แรกเกิด

มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์

200 มิลลิเกรย์

200-250มิลลิเกรย์

8-15 สัปดาห์ มีความผิดปกติทางสติปัญญาอย่างรุนแรง(ความเสี่ยงสูง)

มีความบกพร่องทางสติปัญญา

ทารกศีรษะเล็ก

60-310 มิลลิเกรย์

IQ ลดลง 25 คะแนนต่อการสัมผัสรังสี 1,000 มิลลิเกรย์

200 มิลลิเกรย์

16 – 25 อาทิตย์ มีความผิดปกติทางสติปัญญาอย่างรุนแรง(ความเสี่ยงต่ำ) 250-280 มิลลิเกรย์

การส่งภาพถ่ายทางรังสีที่พบบ่อยมีดังนี้

1.อัลตราซาวด์ (Ultrasonology) เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นทางเลือกแรกในการใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยวินิจฉัย อัลตราซาวด์นั้นเป็นการสร้างคลื่นเสียงจึงไม่มีการสร้างประจุไอออน และไม่มีรายงานพบความเสี่ยงแก่ทารกในครรภ์ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ระบุค่าปริมาณความแรง (intensity)สูงสุดที่เกิดขึ้นบนหัวอัลตราซาวด์จะมีค่ามากที่สุดที่บริเวณกลางคลื่นและน้อยสุดที่ขอบโดยค่าจะต้องไม่เกิน 720 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร ที่ค่าความเข้มนี้จะเพิ่มอุณหภูมิของตัวอ่อน ประมาณ 2 องศาเซลเซียส แต่มีบางการศึกษาพบว่าค่าความแรงเสียงไม่สามารถเพิ่มอุณหภูมิของตัวอ่อนได้ โดยความเสี่ยงในการเพิ่มอุณหภูมิจะต่ำถ้าใช้ B Mode และจะมีความเสี่ยงสูงถ้าใช้ color Doppler แต่สามารถใช้ได้ถ้ามีข้อบ่งชี้

2. Magnetic Resonance Imaging (MRI) เป็นเครื่องมือที่อาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพ  ข้อดีของ MRI ที่เหนือกว่าอัลตราซาวด์คือสามารถดูเนื้อเยื่อชั้นลึกได้ดีกว่า ไม่มีประจุไอออน และความแม่นยำไม่ขึ้นกับบุคลากรที่ทำ ดังนั้นการทำ MRI จึงไม่มีข้อห้ามและไม่มีข้อควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ สามารถทำได้ทุกไตรมาส

สำหรับสารทึบรังสีที่ใช้ร่วมกับ MRI ได้บ่อยคือ gadolinium สารนี้จะช่วยให้เห็นขอบเขตของเนื้อเยื่อที่ลึกได้ดียิ่งขึ้น แต่การนำมาใช้ในหญิงตั้งครรภ์ยังเป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากสารนี้เป็นสารละลายน้ำและสามารถผ่านเข้าสู่รก อาจทำให้ทารกได้รับสารซึ่งอาจเป็นพิษได้ มีบางการศึกษา(12)รายงานว่าการใช้สารทึบรังสีเพิ่มอัตราการเกิดความผิดปกติของข้อการอักเสบของผิวหนังและเสี่ยงต่อทารกเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะใช้สารทึบรังสีกับหญิงตั้งครรภ์หากมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สามารถพิจารณาได้เป็นบางราย รวมถึงต้องมีคำแนะนำแก่มารดาทุกครั้ง สำหรับการให้นมบุตรสามารถให้ได้เนื่องจากสารทึบรังสีชนิดนี้สามารถเข้าสู่น้ำนมได้เพียงร้อยละ 0.04 ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกที่ได้รับสาร และทารกสามารถดูดซึมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ดังนั้นมารดาจึงสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ

3.รังสีเอกซ์ หรือ เอกซ์เรย์ (X-ray) มีการสร้างอนุภาคไอออนอิสระจึงมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ โดยความเสี่ยงนั้นขึ้นกับอายุครรภ์ และ ปริมาณรังสีที่ได้รับ วิทยาลัยรังสีวิทยาของอเมริกาแนะนำว่า ไม่มีรังสีวินิจฉัยใดที่ทำเพียงครั้งเดียวแล้วเกิดปัญหากับทารกในครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น การทำภาพถ่ายรังสีทรวงอก 1 ครั้งมีรังสีที่ร่างกายดูดซึมได้ 0.0007 เกร์ย (Gy) หรือ 70 มิลลิเรด (mrad) การทำภาพถ่ายรังสีบริเวณท้อง 1 ครั้งมีรังสีที่ร่างกายดูดซึมได้ 0.001 เกร์ย (Gy) หรือ 100 มิลลิเรด(mrad) ทารกในครรภ์จึงมีโอกาสได้รับรังสีน้อยมาก

4. Computed Tomography (CT) เป็นการตรวจด้วยรังสีเอกซ์โดยการฉายรังสีเอกซ์ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสร้างภาพ หากเป็นไปได้ควรเลือกทำ MRI มากกว่า CT scan เนื่องจากปลอดภัยมากกว่า แต่หากมีความจำเป็น CT scan สามารถทำได้เนื่องจากการสร้างรังสีจาก CT scan นั้นขึ้นกับจำนวนการตัดภาพของเครื่อง สามารถลดจำนวนการตัดภาพเพื่อลดปริมารรังสีที่สัมผัสได้ เช่น การทำ CT scan บริเวณเชิงกรานสามารถสัมผัสรังสีได้สูงสุดถึง 50 มิลลิเกร์ย แต่สามารถลดให้เหลือ 2.5 มิลลิเกร์ย สำหรับการใช้สารทึบรังสีไม่แนะนำในหญิงตั้งครรภ์ สารทึบรังสีที่ใช้บ่อยคือสารทึบรังสีจากไอโอดีน (iodinated) สารไอโอดีนสามารถผ่านรกและเข้าสู่ทารกในครรภ์โดยตรงได้ผ่านทางน้ำคร่ำ จากการศึกษาในสัตว์พบว่าไม่มีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติในด้านรูปร่าง แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลของไอโอดีนอิสระอาจมีผลต่อต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์และยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในมนุษย์ ดังนั้นการใช้สารทึบแสงจึงควรใช้เมื่อมีความจำเป็นและให้คำแนะนำกับมารดาก่อนเริ่มใช้

ในหญิงให้นมบุตรที่ได้รับสารทึบรังสีไอโอดีนนั้นถึงแม้ว่าสารนี้จะขับออกมาทางน้ำนมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 และทารกในครรภ์สามารถดูดซึมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 แต่ควรแนะนำให้หยุดการให้นมแม่ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง

5.การตรวจภาพวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คือการให้ผู้ป่วยกลืนสารกัมมันตรังสีที่ติดฉลากกับสารเคมี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปยังอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้สามารถนับวัดรังสีและถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัยโรค มักใช้ในการตรวจไทรอยด์ ปอด ไต โดยสารกัมมันตรังสีที่ใช้บ่อย เช่น

1) เทคนีเชี่ยม-99เอ็ม (Tc-99m ) เป็นสารกัมมันตรังสีที่ถูกใช้บ่อยร่วมกับการตรวจ ventilation-perfusion scan (V/Q scan) ในหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เป็นการตรวจหาบริเวณเนื้อปอดที่มี ventilation-perfusion ผิดปกติ ซึ่งวิธีการนี้มีโอกาสได้รับรังสีน้อยกว่า 5 มิลลิเกร์ย มีการศึกษาพบว่าไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ความเสี่ยงในการแท้งบุตร และคลอดก่อนกำหนด จึงมีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ (11)

2) ไอโอดีน 131 (Iodine 131) เป็นสารกัมมันตรังสีที่สามารถผ่านรก และมีครึ่งชีวิตนานถึง 8 วัน การใช้ไอโอดีน 131 จะมีผลกับต่อมไทรอยด์ของทารก โดยเฉพาะหากใช้หลังอายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ เนื่องจากปกติต่อมไทรอยด์ของทารกจะสร้างจนสมบูรณ์เมื่ออายุ 10 -12 สัปดาห์ เริ่มจับไอโอดีนและสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน หากได้รับสารไอโอดีน 131สารนี้จะไปทำลายต่อมไทรอยด์ ทำให้เด็กมีภาวะไทรอยด์ต่ำและเป็นโรคเอ๋อได้ แต่หากได้รับสารไอโอดีน 131 ในช่วงก่อน 10 สัปดาห์พบว่าไม่มีผลกับการเกิดความผิดปกติของทารก

นอกจากนี้การใช้ไอโอดีน 131 เพื่อวินิจฉัยนั้นจะมีผลต่อทารกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ไอโอดีน 131เพื่อการรักษาด้วยข้อบ่งชี้ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ หรือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ เนื่องจากต้องใช้ปริมาณที่แผ่รังสีออกมามากกว่า(13) ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ ไอโอดีน 131 ในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงวางแผนจะตั้งครรภ์ วิทยาลัยรังสีวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อกำหนด 4 ข้อในการป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงรักษาด้วยไอโอดีน 131 คือต้องมีผลการตรวจการตั้งครรภ์ด้วย beta-HCG ใน 72 ชั่วโมงเป็นลบ หรือ เคยมีประวัติตัดมดลูก หรือ มีภาวะหมดประจำเดือนมากกว่า 2 ปี หรือในเด็กที่ยังไม่มีประจำเดือนอายุน้อยกว่า 10 ปี หากมีข้อใดข้อหนึ่งจึงถือว่าไม่ตั้งครรภ์และเริ่มการรักษาด้วยไอโอดีน 131 ได้(14)

ในส่วนของหญิงให้นมบุตรควรหยุดการให้นมบุตร หากยังคงให้นมบุตรไม่ควรเริ่มการรักษา เนื่องจากหญิงให้นมบุตรจะมีเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณเต้านมมาก สารรังสีจึงมีโอกาสมาที่เต้านมด้วย ดังนั้นเพื่อไม่ให้สารรังสีมาที่เต้านมในปริมาณมาก ควรหยุดการให้น้ำนม โดยน้ำนมจะหยุดไหลเองในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หรือหลังหยุดให้นมบุตร(15) ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้สารกัมมันตรังสีแนะนำเป็นเทคนีเชี่ยม-99เอ็มมากกว่า

นอกจากนี้สารกัมมันตรังสีจะผ่านในน้ำนมในหลายช่วงเวลาและหลากหลายความเข้มข้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน และแต่ละประเภทสารที่ใช้ ดังนั้นการให้นมบุตรหลังได้รับสารกัมมันตรังสี จึงควรมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องนมแม่ และ แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ก่อนที่จะเริ่มให้นมบุตร (16)

จะเห็นว่าสารก่อวิรูปมีหลายอย่าง หลายประเภท แต่ละอย่างส่งผลต่อทารกในครรภ์ที่แตกต่างกันไปตามปริมาณ หรือช่วงเวลาที่มารดาได้รับสารเหล่านี้ ดังนั้น สูติแพทย์ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลของสารก่อวิรูปดังกล่าว เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำแก่สตรีตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1.Shepard TH. Agents that cause birth defects. Yonsei Med J. 1995;36(5):393-6.

2.Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Dashe JS, Hoffman BL, Casey BM, et al. Teratology, Teratogens, and Fetotoxic Agents. Williams Obstetrics, 25e. New York, NY: McGraw-Hill Education; 2018.

3.แบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลปฐมภูมิ. 2 ed ตุลาคม 2552.

4.Battino D, Tomson T. Management of epilepsy during pregnancy. Drugs. 2007;67(18):2727-46.

5.Bromley R, Weston J, Adab N, Greenhalgh J, Sanniti A, McKay AJ, et al. Treatment for epilepsy in pregnancy: neurodevelopmental outcomes in the child. Cochrane Database Syst Rev. 2014;2014(10):Cd010236.

6.Hanson JW, Myrianthopoulos NC, Harvey MA, Smith DW. Risks to the offspring of women treated with hydantoin anticonvulsants, with emphasis on the fetal hydantoin syndrome. J Pediatr. 1976;89(4):662-8.

7.Vessey MP. Epidemiological studies of the effects of diethylstilboestrol. IARC Sci Publ. 1989(96):335-48.

8.Committee Opinion No. 722: Marijuana Use During Pregnancy and Lactation. Obstetrics and gynecology. 2017;130(4):e205-e9.

9.Gleason JL, Tekola-Ayele F, Sundaram R, Hinkle SN, Vafai Y, Buck Louis GM, et al. Association Between Maternal Caffeine Consumption and Metabolism and Neonatal Anthropometry: A Secondary Analysis of the NICHD Fetal Growth Studies-Singletons. JAMA Netw Open. 2021;4(3):e213238.

10.ACOG CommitteeOpinion No. 462: Moderate caffeine consumption during pregnancy. Obstetrics and gynecology. 2010;116(2 Pt 1):467-8.

11.Committee Opinion No. 723: Guidelines for Diagnostic Imaging During Pregnancy and Lactation. Obstetrics and gynecology. 2017;130(4):e210-e6.

12.Ray JG, Vermeulen MJ, Bharatha A, Montanera WJ, Park AL. Association Between MRI Exposure During Pregnancy and Fetal and Childhood Outcomes. Jama. 2016;316(9):952-61.

13.Tran P, Desimone S, Barrett M, Bachrach B. I-131 treatment of graves’ disease in an unsuspected first trimester pregnancy; the potential for adverse effects on the fetus and a review of the current guidelines for pregnancy screening. Int J Pediatr Endocrinol. 2010;2010:858359.

14.Hyer S, Pratt B, Newbold K, Hamer C. Outcome of Pregnancy After Exposure to Radioiodine In Utero. Endocr Pract. 2011:1-10.

15.Silberstein EB, Alavi A, Balon HR, Clarke SEM, Divgi C, Gelfand MJ, et al. The SNMMI Practice Guideline for Therapy of Thyroid Disease with <sup>131</sup>I 3.0. Journal of Nuclear Medicine. 2012;53(10):1633-51.

16.Mitchell KB, Fleming MM, Anderson PO, Giesbrandt JG. ABM Clinical Protocol #30: Radiology and Nuclear Medicine Studies in Lactating Women. Breastfeed Med. 2019;14(5):290-4.

ภาคผนวก

แสดงแบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา (Alcohol Use Identification Test หรือ AUDIT) พัฒนาโดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เพื่อให้เป็นเครื่องมือแบบง่ายในการคัดกรองการดื่มสุราที่มากเกินไปและในการ ประเมินที่มีเวลาจำกัด

คะแนนรวมตั้งแต่ 8 ขึ้นไป บ่งชี้ว่าเป็นการดื่ม แบบเสี่ยง (hazardous) และดื่มแบบอันตราย (harmful) จนถึงดื่มแบบติด (dependence) ได้

Ref: แบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลปฐมภูมิ. 2 ed ตุลาคม 2552

 

Read More
Drheumato1

Rheumatic and Musculoskeletal Diseases in Pregnancy (โรคข้อและกล้ามเนื้อกระดูกในหญิงตั้งครรภ์)

Rheumatic and Musculoskeletal Diseases in Pregnancy
(โรคข้อและกล้ามเนื้อกระดูกในหญิงตั้งครรภ์)

ปาณิศา ฮันตระกูล
อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.พญ. กุณฑรี ไตรศรีศิลป์


 

การจัดการสำหรับอนามัยการเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยกลุ่มโรคข้อและกล้ามเนื้อกระดูก (rheumatic and musculoskeletal diseases; RMD) นั้นแตกต่างกับประชากรในกลุ่มปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและแพทย์ผู้ทำการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะต้องพูดคุยและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร รวมถึงการใช้ยาต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยควรเป็นทีมสหสาขา ซึ่งประกอบไปด้วยสูตินรีแพทย์ทั่วไป rheumatologists แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

การตั้งครรภ์สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้ อาจนำไปสู่ผลร้ายที่รุนแรงสำหรับมารดาและทารกต่อไปในอนาคตได้ ดังนั้นควรมีการสนับสนุนและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดในแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งครรภ์เมื่อพร้อม และปลอดภัยต่อโรคที่เป็นอยู่ เนื่องจากความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นั้นขึ้นอยู่กับโรคที่ได้รับการวินิจฉัย ความรุนแรงของตัวโรค ยาที่ใช้รักษา รวมไปถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของ anti‐Ro/SSA, anti‐La/SSB และ antiphospholipid (aPL) antibodies จึงทำให้การประเมินภาวะความรุนแรงของโรคก่อนการตั้งครรภ์นั้นสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงการใช้ยาช่วงระหว่างตั้งครรภ์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งยาที่ใช้รักษานั้นไม่ได้มีความปลอดภัยที่จะใช้ในการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรทุกตัว แต่การที่ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ยาจนควบคุมโรคไว้ไม่ได้นั้น ก็สัมพันธ์กับผลของการตั้งครรภ์ที่ไม่ดี ซึ่งทำให้ต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ รวมไปถึงการให้นมบุตรในผู้ป่วยในกลุ่มนี้ โดยทาง American College of Rheumatology (ACR) ได้มีข้อแนะนำออกมาเป็น 2020 American College of Rheumatology Guideline for the Management of Reproductive Health in Rheumatic and Musculoskeletal Diseases1

Pregnancy: general assessment, counseling, and management

การเปลี่ยนแปลงระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ส่งผลกระทบหลายอย่างในผู้ป่วยกลุ่ม RMD การตั้งครรภ์จะทำให้มีการเพิ่มของ intravascular volume จึงอาจทำให้หัวใจและไตที่ทำงานไม่ดีอยู่แล้วนั้นแย่ลงไปอีก อีกทั้งการเพิ่มของ GFR ประมาณ 50% ในการตั้งครรภ์นั้น ก็อาจทำให้ภาวะ proteinuria นั้นแย่ลงได้ นอกจากนี้การตั้งครรภ์ส่งเสริมให้มีภาวะ hypercoagulability จึงทำให้ผู้ป่วยในกลุ่ม RMD นี้เสี่ยงต่อภาวะ thrombosis มากขึ้น และที่สำคัญคือภาวะ pregnancy-induced hypertension syndromes นั้นอาจทำให้เกิดการสับสนกับภาวะ lupus nephritis, scleroderma renal crisis หรือ vasculitis flare หรือในทางตรงข้าม HELLP syndrome หรือภาวะ eclampsia นั้นอาจเหมือนกับภาวะ severe disease flare ได้เช่นกัน การแยกภาวะเหล่านี้ออกจากกันจึงต้องอาศัย rheumatologists และสูตินรีแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ในการทำงานร่วมกันเพื่อประเมินผู้ป่วยและให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งมีข้อแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรค RMD ตามแผนภูมิที่ 1

ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับผู้ป่วยในกลุ่ม RMD

  1. แพทย์ต้องแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย RMD เพื่อ maternal และ fetal outcomes ที่ดีต่อไป โดยโรคควรอยู่ในภาวะสงบหรือมี low activity disease อย่างน้อย 6 เดือนก่อนการตั้งครรภ์2, 3
  2. ผู้ป่วย RMD ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ โดยได้รับยาที่ไม่สามารถใช้ในช่วงที่ตั้งครรภ์ได้ จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนยาก่อนที่จะตั้งครรภ์ ซึ่งควรมีช่วงระยะเวลาหนึ่งสำหรับการติดตามและประเมินประสิทธิภาพของยาว่าเพียงพอต่อการควบคุมโรคของผู้ป่วยก่อนการตั้งครรภ์
  3. สำหรับผู้ป่วย RMD ที่ตั้งครรภ์แล้วมีภาวะ active disease จะต้องได้รับยา steroid-sparing medication เนื่องจากการใช้แบบ continuous high-dose glucocorticoid นั้นจะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก4 โดยก่อนการตั้งครรภ์หรือช่วง early pregnancy นั้นแนะนำให้มีการตรวจ autoantibodies ต่าง ๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็น anti-Ro/SSA, anti-La/SSB และ aPL เพื่อจะได้ประเมินและวางแผนในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป
  4. ในผู้ป่วยกลุ่ม SLE, SLE-like disorders, Sjögren’s syndrome, systemic sclerosis และ rheumatoid arthritis แนะนำให้ตรวจ anti-Ro/SSA, anti-La/SSB สักครั้งหนึ่งก่อนการตั้งครรภ์หรือช่วง early pregnancy แต่ไม่แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์

Scleroderma renal crisis

ภาวะ scleroderma renal crisis เป็นภาวะแทรกซ้อนทางไตที่รุนแรงในผู้ป่วย systemic sclerosis เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีความดันโลหิตสูงอย่างมาก (malignant hypertension) และมีภาวะไตวายอย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปการใช้ยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEI) จะช่วยรักษาภาวะนี้ได้ สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้ มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

  1. แนะนำการใช้ angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACEI) หรือ angiotensin receptor blockade (ARB) เพื่อรักษา active scleroderma renal crisis เนื่องจากความเสี่ยงในการเสียชีวิตของมารดาและทารกที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะนี้ สูงกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้ในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะยากลุ่ม ACEI สามารถเป็น renal-protective และช่วยชีวิตผู้ป่วยได้5 แต่อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้เป็นข้อห้ามสำหรับการใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ เพราะว่าจะทำให้เกิด oligohydramnios หรือทำลายไตของทารกอย่างถาวรได้6 จึงควรพิจารณาใช้ยานี้เฉพาะภาวะ active scleroderma renal crisis เท่านั้น

SLE (Systemic lupus erythematosus)

  1. แนะนำให้ตรวจ lupus anticoagulant (LAC), anticardiolipin antibody (aCL) และ anti-ß2 glycoprotein I antibody (anti-ß2GPI) อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงก่อนการตั้งครรภ์หรือช่วง early pregnancy แต่ไม่แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์
  2. แนะนำให้ผู้ป่วย SLE รับประทานยา hydroxychloroquine (HCQ) ระหว่างการตั้งครรภ์ทุกคน หากผู้ป่วยรับประทานยาชนิดนี้อยู่แล้ว ให้รับประทานต่อ แต่หากผู้ป่วยยังไม่เคยได้รับยาชนิดนี้ ก็ให้เริ่มทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ ยกเว้นกลุ่มที่มีข้อห้ามในการกิน ซึ่งได้แก่ ผู้ที่แพ้ยา หรือผู้ที่ทนผลข้างเคียงของยาไม่ได้ โดยมีการศึกษาหลายฉบับที่สนับสนุนให้กินยาชนิดนี้ เพราะว่ามีความเสี่ยงต่อมารดาและทารกต่ำ นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการกำเริบของโรค ลดการคลอดก่อนกำหนด (preterm birth) และลดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (IUGR; intrauterine growth restriction)7-11
  3. แนะนำให้ผู้ป่วย SLE รับประทานยา low-dose aspirin (81 หรือ 100 mg/day) โดยเริ่มในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่ง ACOG ได้แนะนำให้ทานเพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง การทาน low-dose aspirin จะช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิด gestational hypertensive disease ในกลุ่มผู้ป่วย SLE หรือ APS (antiphospholipid syndrome) แต่อย่างไรก็ตาม การที่ได้รับ low-dose aspirin นั้นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงสำหรับการทำ anesthesia หรือในช่วง delivery12
  4. ผู้ป่วยกลุ่ม SLE ควรได้รับการติดตาม disease activity อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อหนึ่งไตรมาสการตั้งครรภ์ โดยติดตามเป็นประวัติของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ complete blood count (CBC), urinalysis, urine protein:creatinine ratio (UPCR) หรือ anti-dsDNA, C3 หรือ C4 levels ซึ่งอาจเป็นตัวบ่งบอกว่ามีการกำเริบของโรคหรือมีภาวะครรภ์เป็นพิษได้ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม

Antiphospholipid antibody-positive

Antiphospholipid antibody เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับการเกิด pregnancy loss และภาวะผิดปกติต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยกลุ่ม SLE จึงควรได้รับการตรวจ anti-ß2GPI, aCL และ LAC

1) aPL-positive patients without thrombosis or obstetric complications

กลุ่มผู้ป่วย aPL-positive ที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบ prophylactic therapy เพื่อป้องกัน pregnancy loss แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรได้รับ prophylactic aspirin 81 หรือ 100 mg/day เพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยควรเริ่มตั้งแต่ early pregnancy คือก่อนอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ และควรได้ไปตลอดการตั้งครรภ์

2) Patients with obstetric and thrombotic APS

กลุ่มผู้ป่วย obstetric APS ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่เข้าได้กับ laboratory criteria สำหรับ APS (persistent moderate-to-high-titer aCL หรือ anti-ß2GPI หรือ persistent positive LAC) และมีประวัติ pregnancy complications ต่างๆ (≥3 consecutive losses ก่อนอายุครรภ์ 10 สัปดาห์, fetal loss หลังอายุครรภ์ 10 สัปดาห์เป็นต้นไปโดยไม่ทราบสาเหตุ, หรือคลอดในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ เนื่องด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ IUGR หรือ fetal distress) โดยไม่มีประวัติ thrombosis มาก่อน

กลุ่มผู้ป่วย thrombotic APS ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่เข้าได้กับ laboratory criteria สำหรับ APS และมีประวัติ thrombotic event ไม่ว่าจะเป็น arterial หรือ venous

ซึ่งผู้ป่วย APS ทั้งกลุ่ม obstetric/thrombotic นั้นควรได้รับการรักษาด้วย heparin (ซึ่งมักจะเป็น LMWH) เพื่อทำให้ pregnancy outcome ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิด thrombosis นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำดังนี้

  • สำหรับ OB APS แนะนำให้ combined low-dose aspirin และ prophylactic-dose heparin13-15
  • สำหรับ OB APS แนะนำให้ prophylactic-dose anticoagulation เป็นเวลา 6-12 สัปดาห์หลังคลอด16
  • สำหรับ Thrombotic APS แนะนำให้ combined low-dose aspirin และ therapeutic-dose heparin ตลอดการตั้งครรภ์และช่วงหลังคลอด
  • สำหรับผู้ป่วย aPL-positive ที่ไม่มี OB APS ไม่แนะนำการให้ combination of prophylactic-dose heparin และ low-dose aspirin

3) Other therapies for refractory OB APS

ผู้ป่วยกลุ่ม OB APS นอกจากจะได้รับ standard therapy ด้วย low-dose aspirin และ prophylactic heparin/LMWH แล้ว ยังมีการรักษาอื่น ๆ เสริมอีกในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย standard therapy ซึ่งได้แก่ การใช้ IVIG, low-dose prednisolone, การเพิ่มปริมาณยาของ heparin/LMWH, และการใช้ HCQ เป็นทางเลือกในการรักษา ซึ่งมีแนวทางในการเลือกใช้ ดังต่อไปนี้

  • ไม่แนะนำให้ใช้ IVIG หรือเพิ่ม dose LMWH เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่บ่งบอกถึงประโยชน์ของการใช้ยาแบบนี้เพื่อป้องกัน pregnancy loss
  • ไม่แนะนำให้เพิ่ม prednisolone ในกลุ่มผู้ป่วยที่ล้มเหลวต่อการรักษาด้วย standard therapy
  • แนะนำให้เพิ่มยา HCQ สำหรับผู้ป่วย primary APS โดยการศึกษาที่ผ่านมาแนะนำว่ายาในกลุ่มนี้สามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้17
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยา HCQ ในผู้ป่วย aPL-positive ที่ไม่ได้เข้ากับ APS criteria และไม่ได้มีข้อบ่งชี้อื่น ๆ สำหรับยา HCQ (เช่น กลุ่มผู้ป่วย SLE ที่จำเป็นต้องได้รับ HCQ อยู่แล้ว)

Anti-Ro/SSA, anti-La/SSB in pregnancy

ภาวะ neonatal lupus erythematosus (NLE) เป็นภาวะของทารกที่พบได้ โดยสัมพันธ์กับมารดาที่มี anti-Ro/SSA และ anti-La/SSB autoantibodies โดยที่ anti-Ro/SSA จะมีความสำคัญมากกว่า เนื่องจากถ้ามีเฉพาะ isolated anti-La/SSB นั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อทารกไม่มากนัก แต่ถ้าพบทั้ง anti-Ro/SSA และ anti-La/SSB antibodies จะเพิ่มความเสี่ยงต่อทารกมากขึ้น18 จากการศึกษาที่ผ่านมา ทารกที่มารดามี anti-Ro/SSA และ/หรือ anti-La/SSB นั้นพบว่า ~10% มี NLE rash, 20% มี transient cytopenias, และ 30% มี mild transient transaminitis แต่ภาวะต่าง ๆ เหล่านี้สามารถหายไปได้เองเมื่อ antibody ของมารดาหายไป

สำหรับ complete (third-degree) heart block (CHB) สามารถเกิดได้ ~2% ของการตั้งครรภ์ของหญิงที่มี anti-Ro/SSA และ/หรือ anti-La/SSB ในกรณีที่ไม่เคยมีบุตรที่มี NLE มาก่อน แต่ถ้าเคยมีบุตรที่เป็น cutaneous/cardiac NLE มาก่อนนั้น อุบัติการณ์จะเพิ่มเป็น 13-18%19 โดยที่ low-titer antibodies นั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเกิด CHB น้อยกว่า higher titers20 ซึ่ง CHB นั้นยากที่จะพบหลังจากอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ โดยภาวะนี้เป็นแบบถาวร จึงจำเป็นต้องได้รับการวางแผนในการรักษาจาก pediatric cardiologists ซึ่งทารกที่มีภาวะ CHB ประมาณ 20% นั้นเสียชีวิตในครรภ์หรือเสียชีวิตในช่วงปีแรกของชีวิต นอกจากนั้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของทารกจำเป็นต้องใช้ pacemaker18 ซึ่งข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มี anti-Ro/SSA และ/หรือ anti-La/SSB antibodies มีดังต่อไปนี้

  1. ในกรณีที่ไม่เคยมีบุตรเป็น CHB หรือ NLE: แนะนำให้ serial fetal echocardiography (ไม่จำเป็นต้องทำทุกสัปดาห์) โดยเริ่มทำตั้งแต่อายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุครรภ์ 26 สัปดาห์
  2. ในกรณีที่เคยมีบุตรเป็น CHB หรือ NLE: แนะนำให้ serial fetal echocardiography ทุกสัปดาห์ โดยเริ่มทำตั้งแต่อายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุครรภ์ 26 สัปดาห์
  3. แนะนำให้ HCQ ตลอดการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยกลุ่มที่มี anti-Ro/SSA และ/หรือ anti-La/SSB antibodies จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีบุตรเป็น cardiac NLE แล้วได้รับ HCQ นั้นจะลดความเสี่ยงที่บุตรครรภ์ปัจจุบันจะเป็น CHB21
  4. หญิงตั้งครรภ์ที่มี anti-Ro/SSA และ/หรือ anti-La/SSB antibodies โดยที่ทารกในครรภ์มีภาวะ first- หรือ second-degree heart block จะแนะนำให้ oral dexamethasone 4 mg/day แต่ถ้ามีภาวะ CHB จะไม่แนะนำให้ dexamethasone

Drheumato1

แผนภูมิที่ 1: ข้อแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรค RMD (การให้คำปรึกษา, การประเมินและดูแลรักษาช่วงตั้งครรภ์)1

Maternal medication use

ข้อแนะนำในการใช้ยาสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มี Rheumatic and Musculoskeletal Diseases มีดังต่อไปนี้

  1. ผู้ป่วยกลุ่ม RMD ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ควรได้รับการประเมินเรื่องยาที่ใช้อยู่ก่อนการตั้งครรภ์ทุกราย
  2. ยากลุ่ม methotrexate (MTX), mycophenolate mofetil (MMF), cyclophosphamide (CYC), และ thalidomide เป็น teratogens จึงต้องหยุดยาก่อนที่จะตั้งครรภ์เป็นเวลา 3 เดือน22-25 แต่อย่างไรก็ตาม การหยุดยาเป็นเวลา 1 menstrual cycle ก็เพียงพอแล้ว แต่ส่วนมากจะแนะนำให้หยุดยา 3 เดือน
  3. สำหรับผู้หญิงที่ได้ยา leflunomide จะแนะนำให้ cholestyramine washout ก่อนการตั้งครรภ์ถ้าพบว่ามี serum levels of metabolite ในร่างกายอยู่ โดยถ้าไม่พบ metabolite ตัวนี้ใน serum แล้ว ก็ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด pregnancy loss และ birth defects อื่น ๆ26
  4. แนะนำให้การรักษาด้วย cyclophosphamide (CYC) สำหรับภาวะ life-threatening ในช่วงไตรมาส 2 หรือ 327
  5. ในผู้หญิงที่มี inadvertent exposure ต่อ teratogenic medications ระหว่างการตั้งครรภ์ ควรได้รับการ refer ไปหา MFM specialist หรือ genetics counselor ทันที
  6. ยากลุ่ม HCQ, azathioprine/6-mercaptopurine, colchicine, และ sulfasalazine มักใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่ม RMD โดยยาในกลุ่มเหล่านี้สามารถใช้ได้ตลอดการตั้งครรภ์9, 28-31
  7. ยากลุ่ม calcineurin inhibitors (tacrolimus และ cyclosporin) และ NSAIDs สามารถใช้ได้ในช่วงตั้งครรภ์23
  8. ไม่แนะนำให้ใช้ NSAIDs ในช่วงไตรมาสที่ 3 เพราะจะทำให้เกิด premature closure of ductus arteriosus32
  9. แนะนำการใช้ nonselective NSAIDs มากกว่า cyclooxygenase 2-specific inhibitors ในช่วงสองไตรมาสแรก
  10. แนะนำการใช้ low-dose glucocorticoid (≤10 mg/day of prednisolone or nonfluorinated equivalent) ในช่วงการตั้งครรภ์หากมีข้อบ่งชี้ และสามารถเพิ่ม dose ของ nonfluorinated glucocorticoids ไปจนถึง <20 mg/day ได้หากจำเป็นที่จะต้องใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำการใช้ stress-dose glucocorticoids ในช่วง vaginal delivery แต่แนะนำการใช้ stress-dose glucocorticoids ถ้าเป็น cesarean delivery
  11. ยากลุ่ม tumor necrosis factor inhibitor เช่น infliximab, etanercept, adalimumab, หรือ golimumab สามารถใช้ในช่วงตั้งครรภ์ โดยถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้ดี จะแนะนำให้หยุดยาเหล่านี้ในช่วงไตรมาสที่สาม เนื่องจากยาเหล่านี้สามารถผ่านรกแล้วไปสะสมในทารกได้
  12. ในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ ผู้ป่วยสามารถรักษาด้วย rituximab ได้ และสามารถใช้ในช่วงตั้งครรภ์ได้หากผู้ป่วยมีภาวะ severe life- or organ-threatening disease แต่ต้องคำนึงว่าการได้รับยานี้ในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้ทารกมีความเสี่ยงสูงที่จะมีจำนวน B cells น้อยกว่าปกติในช่วงแรกคลอด33

Medication use during breastfeeding

การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน โดยที่ American Academy of Pediatrics แนะนำให้ exclusive breastfeeding เป็นระยะเวลา 6 เดือนแรกและให้นมแม่ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี34 เนื่องด้วยผู้หญิงที่เป็นโรคในกลุ่ม RMD มักจะมีอาการกำเริบในช่วงหลังคลอดได้ และจำเป็นต้องได้รับการรักษา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการใช้ยาเพื่อควบคุมโรคในมารดาและความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับยาผ่านน้ำนมแม่

ปริมาณยาที่มารดากิน สามารถพบได้ใน serum ของทารก โดยขึ้นกับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความเข้มข้นของยาที่พบได้ในนมแม่ ปริมาณน้ำนมที่ทารกกิน ความสามารถในการดูดซึมยาผ่านระบบทางเดินอาหารของทารก ซึ่งข้อแนะนำในการใช้ยาสำหรับมารดาในกลุ่มโรค RMD ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีดังต่อไปนี้

  1. ควรส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในผู้หญิงกลุ่มโรค RMD ทุกราย
  2. ผู้หญิงที่ได้รับยา HCQ, colchicine, sulfasalazine, rituximab, และ TNF inhibitors ทุกตัว สามารถให้นมบุตรได้35-39
  3. ถ้าได้รับยา prednisolone <20 mg/day สามารถให้นมบุตรได้ แต่ถ้าได้รับ prednisolone ≥20 mg/day ควรเลื่อนการให้นมบุตรออกไปก่อน หรือทิ้งน้ำนมที่สะสมในช่วง 4 ชั่วโมงหลังการได้รับ glucocorticoid ไปก่อน
  4. ผู้หญิงที่ได้รับยา azathioprine/6-mercaptopurine, calcineurin inhibitors, NSAIDs และ non-TNF inhibitor biologic agents (anakinra, rituximab, belimumab, abatacept, tocilizumab, secukinumab, และ ustekinumab) สามารถให้นมบุตรได้40-42
  5. ไม่แนะนำการใช้ CYC, leflunomide, MMF, thalidomide, และ MTX ในขณะที่ให้นมบุตร ถึงแม้ว่า MTX สามารถผ่านเข้าน้ำนมได้เพียงเล็กน้อย แต่ยาตัวนี้อาจไปสะสมในเนื้อเยื่อของทารกได้43, 44

ตามที่กล่าวมาในข้างต้น ทำให้เห็นว่า ทีมรักษาผู้ป่วยหญิงในกลุ่มโรค RMD นั้นจำเป็นต้องรู้ข้อบ่งชี้และข้อห้ามในการใช้ยาต่าง ๆ เนื่องจากยาที่ใช้รักษาบางตัวนั้นเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ โดยจะต้องพิจารณาการใช้ยาทั้งในช่วงก่อนการตั้งครรภ์, ระหว่างการตั้งครรภ์ และช่วงให้นมบุตร ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อแนะนำการใช้ยาได้ตามตารางที่ 1

Trheumato1

ตารางที่ 1: ยาที่ใช้รักษาโรค RMD ในช่วงก่อนการตั้งครรภ์, ระหว่างการตั้งครรภ์ และช่วงให้นมบุตร1

Contraception

การคุมกำเนิดในผู้หญิงกลุ่มโรค RMD เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง unplanned pregnancy ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ตัวโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิด adverse pregnancy outcomes ไม่ว่าจะเป็น pregnancy loss, severe prematurity หรือ growth restriction ซึ่งข้อแนะนำวิธีการคุมกำเนิดสำหรับผู้ป่วยหญิงในกลุ่มโรค RMD นั้น สรุปออกมาตามแผนภูมิที่ 2 รวมทั้งจะต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวิธีการคุมกำเนิดแต่ละประเภทด้วย โดยเป็นไปตามตารางที่ 2

ผู้ป่วยในกลุ่มโรค RMD ที่ไม่ได้เป็น RMD/aPL-positive จะแนะนำคุมกำเนิดด้วย IUDs หรือ subdermal progestin implant (long-acting reversible contraceptives; LARC) เนื่องจากเป็นวิธีที่มี failure rates ต่ำที่สุด

SLE patients

  1. ในผู้ป่วยที่สามารถควบคุมโรคได้ หรือมี low disease activity และไม่ใช่ aPL-positive จะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วย IUDs หรือ subdermal progestin implant
  2. ไม่แนะนำให้ใช้ transdermal estrogen-progestin patch เนื่องจากแบบ patch นั้นผู้ป่วยจะ expose ต่อ estrogen ในปริมาณที่มากกว่าแบบ oral/transvaginal methods45, 46 โดยปริมาณ estrogen ที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการกำเริบของโรคและการเกิด thrombosis ในอนาคต
  3. ในผู้ป่วยที่มี moderate/severe disease activity รวมไปถึงผู้ป่วยที่มี nephritis จะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วย progestin-only หรือ IUD มากกว่าที่จะใช้ combined estrogen-progestin contraception

Antiphospholipid antibody-positive patients

  1. ผู้ป่วยที่มี aPL-positive เป็นข้อห้ามของการใช้ estrogen-containing contraceptives (e.g. combined estrogen-progestin) เนื่องจาก estrogen จะไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด thromboembolism
  2. แนะนำให้ใช้ IUDs (levonorgestrel หรือ copper) หรือ progestin-only pill ในผู้ป่วยที่ aPL-positive
  3. ไม่แนะนำให้ใช้ DMPA เนื่องจากอาจมีผลเรื่อง thrombogenicity ได้

Drheumato2

แผนภูมิที่ 2: ข้อแนะนำวิธีการคุมกำเนิดสำหรับผู้ป่วยหญิงในกลุ่มโรค RMD1

Other special RMD situations

  1. สำหรับผู้ป่วย RMD ที่ได้รับยา immunosuppressive therapy จะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วย IUD (copper หรือ progestin) ถึงแม้ตามทฤษฎีแล้วการใช้ IUD จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อก็ตาม
  2. สำหรับผู้ป่วย RMD ที่มีความเสี่ยงในการเกิด osteoporosis จากการใช้ glucocorticoid หรือจากโรคของผู้ป่วยเอง จะไม่แนะนำให้ใช้ DMPA เนื่องจากข้อมูลในการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า bone mineral density จะลดลง 7.5% ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ใช้ DMPA ในกลุ่มประชากรปกติ47 ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลว่าการใช้ DMPA จะเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกหัก แต่อย่างไรก็ตาม ACOG ให้คำแนะนำว่าควรระมัดระวังการใช้ DMPA ในกลุ่มผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสำหรับ osteoporosis48
  3. ผู้ป่วย RMD ที่รับการรักษาด้วย MMF จะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วย IUD alone หรือ 2 other methods of contraception (เช่น คุมกำเนิดโดยการใช้ estrogen-progestin contraceptives หรือ progestin implant ร่วมกับ barrier contraceptive) เนื่องจาก MMF อาจไปลดระดับ estrogen และ progesterone ใน serum ได้

Trheumato2

ตารางที่ 2: ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวิธีการคุมกำเนิดประเภทต่างๆ สำหรับผู้ป่วยหญิงในกลุ่มโรค RMD1

สำหรับผู้หญิงในกลุ่มโรคข้อและกล้ามเนื้อกระดูก (Rheumatic and Musculoskeletal Diseases) ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์นั้น มีความจำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การใช้ยา รวมไปถึงการให้นมบุตร ซึ่งต้องได้รับการดูแลจากทั้ง rheumatologists และสูตินรีแพทย์ (อาจรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์) เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง อีกทั้งทารกที่อยู่ในครรภ์ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Sammaritano LR, Bermas BL, Chakravarty EE, Chambers C, Clowse MEB, Lockshin MD, et al. 2020 American College of Rheumatology Guideline for the Management of Reproductive Health in Rheumatic and Musculoskeletal Diseases. Arthritis & Rheumatology. 2020;72(4):529-56.
  2. Stojan G, Baer AN. Flares of systemic lupus erythematosus during pregnancy and the puerperium: prevention, diagnosis and management. Expert Rev Clin Immunol. 2012;8(5):439-53.
  3. Yang H, Liu H, Xu D, Zhao L, Wang Q, Leng X, et al. Pregnancy-related systemic lupus erythematosus: clinical features, outcome and risk factors of disease flares–a case control study. PLoS One. 2014;9(8):e104375.
  4. Palmsten K, Rolland M, Hebert MF, Clowse MEB, Schatz M, Xu R, et al. Patterns of prednisone use during pregnancy in women with rheumatoid arthritis: Daily and cumulative dose. Pharmacoepidemiol Drug Saf. 2018;27(4):430-8.
  5. Zanatta E, Polito P, Favaro M, Larosa M, Marson P, Cozzi F, et al. Therapy of scleroderma renal crisis: State of the art. Autoimmun Rev. 2018;17(9):882-9.
  6. Bullo M, Tschumi S, Bucher BS, Bianchetti MG, Simonetti GD. Pregnancy outcome following exposure to angiotensin-converting enzyme inhibitors or angiotensin receptor antagonists: a systematic review. Hypertension. 2012;60(2):444-50.
  7. Liu EL, Liu Z, Zhou YX. Feasibility of hydroxychloroquine adjuvant therapy in pregnant women with systemic lupus erythematosus. Biomedical Research-tokyo. 2018;29:980-3.
  8. Leroux M, Desveaux C, Parcevaux M, Julliac B, Gouyon JB, Dallay D, et al. Impact of hydroxychloroquine on preterm delivery and intrauterine growth restriction in pregnant women with systemic lupus erythematosus: a descriptive cohort study. Lupus. 2015;24(13):1384-91.
  9. Eudy AM, Siega-Riz AM, Engel SM, Franceschini N, Howard AG, Clowse MEB, et al. Effect of pregnancy on disease flares in patients with systemic lupus erythematosus. Ann Rheum Dis. 2018;77(6):855-60.
  10. Clowse ME, Magder L, Witter F, Petri M. Hydroxychloroquine in lupus pregnancy. Arthritis Rheum. 2006;54(11):3640-7.
  11. Kroese SJ, de Hair MJH, Limper M, Lely AT, van Laar JM, Derksen R, et al. Hydroxychloroquine Use in Lupus Patients during Pregnancy Is Associated with Longer Pregnancy Duration in Preterm Births. J Immunol Res. 2017;2017:2810202.
  12.  ACOG Committee Opinion No. 743 Summary: Low-Dose Aspirin Use During Pregnancy. Obstet Gynecol. 2018;132(1):254-6.
  13. Bao SH, Sheng SL, Liao H, Zhou Q, Frempong ST, Tu WY. Use of D-dimer measurement to guide anticoagulant treatment in recurrent pregnancy loss associated with antiphospholipid syndrome. Am J Reprod Immunol. 2017;78(6).
  14. van Hoorn ME, Hague WM, van Pampus MG, Bezemer D, de Vries JI. Low-molecular-weight heparin and aspirin in the prevention of recurrent early-onset pre-eclampsia in women with antiphospholipid antibodies: the FRUIT-RCT. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol. 2016;197:168-73.
  15. Clark CA, Spitzer KA, Crowther MA, Nadler JN, Laskin MD, Waks JA, et al. Incidence of postpartum thrombosis and preterm delivery in women with antiphospholipid antibodies and recurrent pregnancy loss. J Rheumatol. 2007;34(5):992-6.
  16. ACOG Practice Bulletin No. 196 Summary: Thromboembolism in Pregnancy. Obstet Gynecol. 2018;132(1):243-8.
  17. Ruffatti A, Tonello M, Hoxha A, Sciascia S, Cuadrado MJ, Latino JO, et al. Effect of Additional Treatments Combined with Conventional Therapies in Pregnant Patients with High-Risk Antiphospholipid Syndrome: A Multicentre Study. Thromb Haemost. 2018;118(4):639-46.
  18. Brito-Zerón P, Izmirly PM, Ramos-Casals M, Buyon JP, Khamashta MA. The clinical spectrum of autoimmune congenital heart block. Nat Rev Rheumatol. 2015;11(5):301-12.
  19. Izmirly PM, Rivera TL, Buyon JP. Neonatal lupus syndromes. Rheum Dis Clin North Am. 2007;33(2):267-85, vi.
  20. 20. Kan N, Silverman ED, Kingdom J, Dutil N, Laskin C, Jaeggi E. Serial echocardiography for immune-mediated heart disease in the fetus: results of a risk-based prospective surveillance strategy. Prenat Diagn. 2017;37(4):375-82.
  21. Izmirly PM, Costedoat-Chalumeau N, Pisoni CN, Khamashta MA, Kim MY, Saxena A, et al. Maternal use of hydroxychloroquine is associated with a reduced risk of recurrent anti-SSA/Ro-antibody-associated cardiac manifestations of neonatal lupus. Circulation. 2012;126(1):76-82.
  22. Feldkamp M, Carey JC. Clinical teratology counseling and consultation case report: low dose methotrexate exposure in the early weeks of pregnancy. Teratology. 1993;47(6):533-9.
  23. Kainz A, Harabacz I, Cowlrick IS, Gadgil SD, Hagiwara D. Review of the course and outcome of 100 pregnancies in 84 women treated with tacrolimus. Transplantation. 2000;70(12):1718-21.
  24. Sifontis NM, Coscia LA, Constantinescu S, Lavelanet AF, Moritz MJ, Armenti VT. Pregnancy outcomes in solid organ transplant recipients with exposure to mycophenolate mofetil or sirolimus. Transplantation. 2006;82(12):1698-702.
  25. Vargesson N. Thalidomide-induced teratogenesis: History and mechanisms. Birth Defects Research Part C: Embryo Today: Reviews. 2015;105(2):140-56.
  26. Bérard A, Zhao JP, Shui I, Colilla S. Leflunomide use during pregnancy and the risk of adverse pregnancy outcomes. Ann Rheum Dis. 2018;77(4):500-9.
  27. Tuin J, Sanders JS, de Joode AA, Stegeman CA. Pregnancy in women diagnosed with antineutrophil cytoplasmic antibody-associated vasculitis: outcome for the mother and the child. Arthritis Care Res (Hoboken). 2012;64(4):539-45.
  28. Diav-Citrin O, Blyakhman S, Shechtman S, Ornoy A. Pregnancy outcome following in utero exposure to hydroxychloroquine: a prospective comparative observational study. Reprod Toxicol. 2013;39:58-62.
  29. Connell W, Miller A. Treating inflammatory bowel disease during pregnancy: risks and safety of drug therapy. Drug Saf. 1999;21(4):311-23.
  30. Indraratna PL, Virk S, Gurram D, Day RO. Use of colchicine in pregnancy: a systematic review and meta-analysis. Rheumatology (Oxford). 2018;57(2):382-7.
  31. Saavedra M, Sánchez A, Morales S, Ángeles U, Jara LJ. Azathioprine during pregnancy in systemic lupus erythematosus patients is not associated with poor fetal outcome. Clin Rheumatol. 2015;34(7):1211-6.
  32. Koren G, Florescu A, Costei AM, Boskovic R, Moretti ME. Nonsteroidal antiinflammatory drugs during third trimester and the risk of premature closure of the ductus arteriosus: a meta-analysis. Ann Pharmacother. 2006;40(5):824-9.
  33. Chakravarty EF, Murray ER, Kelman A, Farmer P. Pregnancy outcomes after maternal exposure to rituximab. Blood. 2011;117(5):1499-506.
  34. Breastfeeding and the Use of Human Milk. Pediatrics. 2012;129(3):e827.
  35. Motta M, Tincani A, Faden D, Zinzini E, Lojacono A, Marchesi A, et al. Follow-Up of Infants Exposed to Hydroxychloroquine Given to Mothers during Pregnancy and Lactation. Journal of Perinatology. 2005;25(2):86-9.
  36. Ben-Chetrit E, Scherrmann JM, Levy M. Colchicine in breast milk of patients with familial Mediterranean fever. Arthritis Rheum. 1996;39(7):1213-7.
  37. Bragnes Y, Boshuizen R, de Vries A, Lexberg Å, Østensen M. Low level of Rituximab in human breast milk in a patient treated during lactation. Rheumatology (Oxford). 2017;56(6):1047-8.
  38. Berlin CM, Jr., Yaffe SJ. Disposition of salicylazosulfapyridine (Azulfidine) and metabolites in human breast milk. Dev Pharmacol Ther. 1980;1(1):31-9.
  39. Fritzsche J, Pilch A, Mury D, Schaefer C, Weber-Schoendorfer C. Infliximab and adalimumab use during breastfeeding. J Clin Gastroenterol. 2012;46(8):718-9.
  40. Gardiner SJ, Gearry RB, Roberts RL, Zhang M, Barclay ML, Begg EJ. Comment: Breast-feeding during maternal use of azathioprine. Ann Pharmacother. 2007;41(4):719-20; author reply 20.
  41. Bramham K, Chusney G, Lee J, Lightstone L, Nelson-Piercy C. Breastfeeding and tacrolimus: serial monitoring in breast-fed and bottle-fed infants. Clin J Am Soc Nephrol. 2013;8(4):563-7.
  42. Matro R, Martin CF, Wolf D, Shah SA, Mahadevan U. Exposure Concentrations of Infants Breastfed by Women Receiving Biologic Therapies for Inflammatory Bowel Diseases and Effects of Breastfeeding on Infections and Development. Gastroenterology. 2018;155(3):696-704.
  43. Transfer of drugs and other chemicals into human milk. Pediatrics. 2001;108(3):776-89.
  44. Johns DG, Rutherford LD, Leighton PC, Vogel CL. Secretion of methotrexate into human milk. Am J Obstet Gynecol. 1972;112(7):978-80.
  45. Galzote RM, Rafie S, Teal R, Mody SK. Transdermal delivery of combined hormonal contraception: a review of the current literature. Int J Womens Health. 2017;9:315-21.
  46. van den Heuvel MW, van Bragt AJ, Alnabawy AK, Kaptein MC. Comparison of ethinylestradiol pharmacokinetics in three hormonal contraceptive formulations: the vaginal ring, the transdermal patch and an oral contraceptive. Contraception. 2005;72(3):168-74.
  47. Clark MK, Sowers M, Levy B, Nichols S. Bone mineral density loss and recovery during 48 months in first-time users of depot medroxyprogesterone acetate. Fertility and Sterility. 2006;86(5):1466-74.
  48. Committee Opinion No. 642: Increasing Access to Contraceptive Implants and Intrauterine Devices to Reduce Unintended Pregnancy. Obstet Gynecol. 2015;126(4):e44-8.
Read More
Sepsis T1

Sepsis in pregnancy

Sepsis in pregnancy

พญ. จุฑามาศ อาภรณ์พัฒนา
อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ. พญ. กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ


 

Sepsis syndrome เป็นกลุ่มอาการของร่างกายที่เกิดจากการตอบสนองต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือการติดเชื้อที่หลั่งสารอักเสบมากระตุ้น โดย the Third International Consensus Definitions for Sepsis and Septic Shock(1) ให้นิยามของ sepsis ว่าเป็นภาวะที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อที่นำไปสู่ความล้มเหลวของอวัยวะภายในซึ่งรุนแรงถึงชีวิต ส่วน Septic shock คือภาวะ sepsis ที่มีความดันโลหิตต่ำยาวนาน (systolic blood pressure < 90 มม.ปรอท หรือลดลง > 40 มม.ปรอทจากค่าพื้นฐาน) แม้ว่าจะได้รับการรักษาด้วยการให้สารน้ำอย่างเพียงพอแล้ว ทั้งยังจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจเพื่อให้ค่า mean arterial pressure (MAP) มากกว่าหรือเท่ากับ 65 mmHg และมีค่า serum blood lactate มากกว่า 2 mmol/L

อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกพบได้ประมาณร้อยละ 11 (2)ซึ่งจัดเป็นอันดับสามรองจากการเสียเลือดหลังคลอด (hemorrhage) และ ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน(thromboembolism) จากรายงานในสหรัฐอเมริกาพบอัตราการเสียชีวิตของมารดาจากการติดเชื้อรุนแรงประมาณ 4-10 ต่อ 10,000 คน(3) และพบว่าร้อยละ 63 เป็นกลุ่มมารดาที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที วินิจฉัยล่าช้า และรักษาตัวในหน่วยคลอดเท่านั้น(4) ปัจจุบันอัตราการตายจากการติดเชื้อรุนแรงเพิ่มมากขึ้นประมาณร้อยละ 9.1 ต่อปีตั้งแต่ปี 2001 – 2010 และมากกว่าร้อยละ 50 ของมารดาที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อรุนแรงมักมีโรคประจำตัวเรื้อรังร่วมด้วยเช่น โรคไตเรื้อรัง ตับเรื้อรัง และโรคหัวใจ(5) การติดเชื้อรุนแรงยังส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ที่สูงถึงร้อยละ 40 (6) เป็นต้น

การติดเชื้อที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงก่อนคลอดเกิดจาก ภาวะแท้งติดเชื้อ (septic abortion), การติดเชื้อในน้ำคร่ำ (chorioamnionitis), การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI), การติดเชื้อที่ไต ( complicated pyelonephritis), ไส้ติ่งอักเสบ (appendicitis), ปอดติดเชื้อ(pneumonia) ส่วนในช่วงหลังคลอด มักเกิดจาก (7, 8) ภาวะมดลูกอักเสบ(endometritis), การติดเชื้อที่ผิวหนัง (necrotizing fasciitis), toxic shock syndrome, pelvic abscess, gas gangrene of myometrium และ พบว่ามีถึง 30% ที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน สำหรับเชื้อที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์คือ Escherichia coli, groups A,B G streptococci, (9, 10) streptococcus oralis, staphylococcus aureus, Citrobacter, fusobacterium species (7, 11) เชื้อที่มักพบหลังคลอดและรุนแรงถึงชีวิตคือ B-hemolytic streptococcus และ E.coli ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการตายของทารกในครรภ์ถึงร้อยละ 27 (12)

เนื่องจากในหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในทุกระบบ อาจส่งผลให้เกิดการวินิจฉัยล่าช้า หรือให้การรักษาที่มากเกินไป ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาควรทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหญิงตั้งครรภ์ดังนี้

Cardiovascular system

ในหญิงตั้งครรภ์จะมีการเพิ่มขึ้นของ อัตราการเต้นหัวใจ (heart rate) ประมาณร้อยละ 17, cardiac output ร้อยละ 43 (33) แต่มีการลดลงของ systemic vascular resistance และ ความดันโลหิต (blood pressure) ตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งความดันโลหิตจะต่ำมากที่สุดในช่วง อายุครรภ์ 24 – 26 สัปดาห์ ส่วนค่า MAP จะมีค่าต่ำลงเล็กน้อย ดังตารางที่ 1

Sepsis T1

ตารางที่ 1 แสดงการเปลี่ยนแปลงของระบบหัวใจและหลอดเลือดในขณะตั้งครรภ์ (ACOG:critical care in pregnancy 2019)

Respiratory system

หญิงตั้งครรภ์จะมีความต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นประมาณร้อยละ 20 ของคนทั่วไป แต่เนื่องจากฮอร์โมนในการตั้งครรภ์รวมถึงแรงดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้ค่า fractional residual capacity (FRC) ลดลงประมาณร้อยละ 20-30 (400 – 700 mL) (33) จึงต้องออกแรงในการหายใจมากขึ้น อยู่ในภาวะ hyperventilation ส่งผลให้ค่า PaCo2 และ HCO3 ลดลงกว่าคนปกติ มีโอกาสเกิดภาวะ hypoxemia หลังจากหยุดหายใจได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งหากค่า PaCo2 เพิ่มถึงระดับ 40 mmHg(34)ในคนตั้งครรภ์จะต้องระวังภาวะ progressive respiratory failure นอกจากนั้นในหญิงตั้งครรภ์จะมีการบวมของทางเดินหายใจส่วนบน (nasal edema, pharyngeal edema) และแนวกล่องเสียงที่เปลี่ยนไป (laryngeal angle) ทำให้การใส่ท่อช่วยหายใจยากกว่าคนทั่วไป 8 เท่า(13) ตารางเปรียบเทียบเกณฑ์ ABG ขณะตั้งครรภ์ ดังตารางที่ 2

Sepsis T2

ตารางที่ 2 : แสดงค่าปกติของ arterial blood gas ในคนตั้งครรภ์

Hematologic system

– Leukocytes: เม็ดเลือดขาวในหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนทั่วไปโดย upper values เท่ากับ 15,000/uL ส่วนในช่วง intrapartum และ หลังคลอดสามารถเพิ่มได้มากกว่าหรือเท่ากับ 25,000/uL

– Inflammatory markers: ค่าที่แสดงถึงภาวะการอักเสบจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในคนตั้งครรภ์ กล่าวคือ

  •  Alkaline phosphatase (ALP) และ Erythrocyte sedimentation rate (ESR): ค่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในขณะตั้งครรภ์
  •  C-reactive protein (CRP): เพิ่มขึ้นในขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะช่วงเจ็บครรภ์คลอด โดยเฉลี่ยพบว่าร้อยละ 95 ของการตั้งครรภ์ทุกช่วงจะมีค่าเพิ่มไม่เกิน 1.5 mg/dL.

– Hematocrit/Hemoglobin : คนตั้งครรภ์จะมีการสร้าง plasma มากกว่า RBC ทำให้เกิดภาวะ dilutional anemia ได้โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ช่วงหลัง ค่าเฉลี่ยของ hemoglobin ตอนครรภ์ครบกำหนดนั้นเท่ากับ 12.5 g/dL

– Platelets: ค่าต่ำลงได้ในขณะตั้งครรภ์ ถ้าค่าต่ำกว่า 116,000/uL ถือเป็นภาวะ thrombocytopenia

– Fibrinolysis: ในสตรีตั้งครรภ์ค่า fibrinogen จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในช่วง 300 – 600 mg/ml

ในคนทั่วไปได้มีการนำ Acute Physiological and Chronic Health Evaluation (APACHE) scoring หรือ Sequential Organ Functional Assessment (SOFA) มาช่วยในการประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อ และพยากรณ์ความรุนแรงของโรค แต่ในสตรีตั้งครรภ์เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระบบต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้น จึงมีการปรับปรุงรูปแบบของการประเมินให้จำเพาะกับสตรีตั้งครรภ์เรียกว่า the obstetrically modified quick-SOFA score (omqSOFA)(14) เพื่อประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อรุนแรง รวมถึงช่วยในการพิจารณาย้ายผู้ป่วยเข้ารักษาในห้องผู้ป่วยวิกฤต โดยอาศัยเกณฑ์ 2 ใน 3 จากตารางที่ 3

Sepsis T3

ตารางที่ 3 : the obstetrically modified quick-SOFA score (omqSOFA)

แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยควรพิจารณาร่วมกับอาการของผู้ป่วย รวมถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยพึงระวังไว้ว่าการติดเชื้อรุนแรงอาจจะไม่ปรากฏไข้ หาสาเหตุไม่พบ หรือผลเพาะเชื้อไม่ขึ้นได้ถึงร้อยละ 60 (10)

นอกจากนี้ยังมีการนำ the obstetrically modified SOFA score (oSOFA)(14) มาช่วยในการประเมินอวัยวะที่ล้มเหลวจากการติดเชื้อและช่วยบอกความรุนแรง ดังตารางที่ 4 หากคะแนน > 6 บ่งบอกถึงภาวะการติดเชื้อรุนแรง (sensitivity 64% specificity 88% NPV 98.6%) มีอัตราการเสียชีวิตสูงควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในห้องผู้ป่วยวิกฤต (15)

Sepsis T4

ตารางที่ 4 : the obstetrically modified SOFA score

กลไกของการติดเชื้อรุนแรง (pathophysiology of sepsis)

เกิดจากการตอบสนองของร่างกายอย่างรุนแรงต่อการติดเชื้อ ทำให้เกิดการรั่วออกของอัลบูมินและสารน้ำในหลอดเลือด เมื่อของเหลวในหลอดเลือดลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอทำให้เกิดอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ดังตารางที่ 5 (20) เนื้อเยื้อที่ขาดเลือดจะกระตุ้นการหลั่งสาร cytokine เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ systemic vascular resistance ลดลง, cardiac output เพิ่มขึ้น และพบว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วย มีค่า LVEF ต่ำลงน้อยกว่าร้อยละ 45 ทำให้หัวใจบีบคลายตัวแย่ลง เกิด diastolic dysfunction ตามมา ส่งผลให้มีการลดลงของ diastolic filling และ stroke volume หากมีการให้สารน้ำในปริมาณมากเกินไปอย่างรวดเร็ว จะเกิดภาวะ pulmonary edema ตามมาได้ ส่วนภาวะเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดนั้นเกิดได้ทั้งจากความดันโลหิตที่ลดลง รวมถึงมีหลอดเลือดเส้นเล็ก ๆอุดตัน (microvasculature occlusion) จากภาวะ microthrombi ที่สัมพันธ์กับ DIC นั้นเอง

Sepsis T5

ตารางที่ 5: แสดงการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ จากภาวะ sepsis

การรักษาภาวะติดเชื้อรุนแรง (initial management of sepsis)

Sepsis เป็นภาวะวิกฤตที่คุกคามต่อชีวิตของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ปัจจุบันมีการพัฒนาแนวทางในการรักษาภาวะติดเชื้อรุนแรง โดยมีเป้าหมายในการ resuscitate หลังจากวินิจฉัยภายใน 1 ชั่วโมงอ้างอิงจาก The surviving sepsis campaign bundle 2018 (16) มีดังนี้

1. เจาะ serum lactate ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกภาวะขาดออกซิเจนของเนื้อเยื่อในร่างกาย จากการศึกษาพบว่า หากเริ่มให้การรักษาทันทีเมื่อพบว่าผู้ป่วยมีค่า lactate มากกว่าหรือเท่ากับ 2 จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้(17) และควรรักษาให้ค่ากลับมาปกติภายใน 2−4 ชั่วโมง

2. การเจาะเลือดเพาะเชื้อ (blood culture) ก่อนการให้ยาฆ่าเชื้อ อย่างน้อย 2 ขวดเพื่อส่งเพาะเชื้อ (aerobic , anaerobic) โดยจะต้องไม่ยืดเวลาในการให้ยาฆ่าเชื้อออกไป รวมถึงการเพาะเชื้อในเสมหะ, ปัสสาวะ, น้ำคร่ำหรืออื่น ๆ ที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อโดยเร็ว(18)

3. การให้ยาฆ่าเชื้อ (broad-spectrum antimicrobials)

แนะนำให้ยาทันทีที่วินิจฉัย พบว่าการให้ภายใน 1 ชั่วโมงช่วยให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น(19)

  • ยาฆ่าเชื้อที่เลือกให้ในหญิงตั้งครรภ์ที่เลือกใช้คือกลุ่ม B-lactam antibiotics : penicillin, cephalosporins, carbapenems, monobactams อาจเพิ่ม aminoglycosides (gentamycin) เพื่อคลุมแบคทีเรียแกรมลบ หรือให้พิจารณาแค่ monotherapy เช่น carbapenem, third-fourth generation cephalosporin ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน ตัวอย่างการเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อในกรณีสงสัยสาเหตุจากอวัยวะต่างๆ ดังตารางที่ 6
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อบริเวณ soft tissue เพิ่มความเสี่ยงของ methicillin-resistant S.aureus (MRSA) ควรพิจารณาเลือกให้ vancomycin
  • หากสงสัย septic abortion นึกถึงเชื้อ Clostridium spp. และ streptococcus พิจารณาให้ cephalosporins ร่วมกับmetronidazole
  • ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่คลอด หากเป็นไปได้ควรเลี่ยงกลุ่ม tetracycline derivatives หรือ quinolones เนื่องจากส่งผลต่อพัฒนาการของอวัยวะของทารกในครรภ์

Sepsis T6

ตารางที่ 6: ตัวอย่างการให้ broad-spectrum antibiotics (อ้างอิงจาก SMFM ; Sepsis during pregnancy and the puerperium.)

4. การให้สารน้ำ (fluid therapy)

– ควรเริ่มให้สารน้ำชนิด crystalloid fluid ในอัตรา 30mL/kg หรือ 1-2 L ทางหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว (16) ในบางการศึกษาแนะนำให้มากกว่านั้นในหญิงตั้งครรภ์(20) ซึ่งมีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้นที่ตอบสนองต่อสารน้ำที่ได้รับ อีกครึ่งหนึ่งจะเกิดภาวะสารน้ำรั่วไหลออกจากหลอดเลือด(third space loss) (21) นำไปสู่ภาวะ pulmonary edema, cerebral edema, bowel edema และอื่นๆ ทำให้อัตราการตายมากขึ้นด้วย SMFM แนะนำให้ประเมินขณะให้สารน้ำ เพื่อดูการตอบสนองของร่างกาย แบบ non-invasive technics โดยการวัดค่า pulse pressure variation ที่ปรากฏบนจอในเครื่องวัดความดัน หากน้อยกว่า 13% แสดงว่าไม่มี fluid responsive และการทำ passive leg raising ในกรณีที่ผู้ป่วยยังหายใจเองได้ โดยการยกขาสองข้างทำมุม 30-45 องศากับแนวราบซึ่ง เทียบเท่ากับการเพิ่มสารน้ำจากขาไปที่อกถึง 300 ml หลังจากยกค้างไว้ 2-3 นาที หาก cardiac output เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% หรือประเมินจากความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ป่วยยังมีการตอบสนองต่อการให้สารน้ำ แต่หากไม่เพิ่มขึ้นควรเริ่มให้ยากระตุ้นหัวใจได้ (22) มีข้อยกเว้นในผู้ป่วยตั้งครรภ์ช่วง 3rd trimester ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธี passive leg raising ได้ เนื่องจาก มดลูกค่อนข้างใหญ่กดทับ IVC ให้ทดสอบโดยการให้สารน้ำทางหลอดเลือด 250-500 ml เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของ ความดันโลหิตแทน หรือการ ultrasound เพื่อดู IVC คำนวณค่า collapsibility index ในคนที่ไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ตามสูตร ΔIVC = [(IVCMAX – IVCMIN) / IVCMAX] x 100% หากค่าที่ได้มากกว่า 50% แสดงว่ายังตอบสนองต่อสารน้ำทางหลอดเลือด หรือ ค่า distensibility index ในคนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ΔIVC = [(IVCMAX – IVCMIN) / IVCMIN] x 100% หากค่ามากกว่า 18% แสดงว่ายังตอบสนองต่อสารน้ำ เป็นต้น แต่หากต้องการความแม่นยำในการประเมินสารน้ำและเพื่อให้ยากระตุ้นหัวใจในปริมาณสูง แนะนำให้ใส่สาย central venous catheters เพื่อวัด central venous pressure (CVP) โดยการใส่สายเข้าบริเวณ subclavian หรือ internal jugular vein แต่ไม่แนะนำให้ใส่ทาง femoral vein เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิด thrombosis ได้

  • สำหรับการให้สารน้ำแบบ hydroxyethyl starch หรือ ringer acetate พบว่าไม่ได้ดีไปกว่า crystalloid
  • ค่าความเข้มข้นของเลือดควรมากกว่าหรือเท่ากับ 7 g/dL (27) ช่วยเพื่อ fetal oxygenation ด้วย
  • ระหว่างให้สารน้ำสิ่งที่ควร monitor คือให้ค่า urine output มากกว่า 0.5 ml/kg/hr หรือ มากกว่า 30-50 ml/hr ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึง tissues perfusion, MAP มากกว่าหรือเท่ากับ 65 mmHg, CVP 8-12 mmHg, scvo2 มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70

5. การให้ยากระตุ้นหัวใจ

ในกรณีที่ให้สารน้ำเพียงพอแล้วผู้ป่วยยังอยู่ในสภาวะช็อค ควรพิจารณาให้ยากระตุ้นหัวใจ จะช่วยเพิ่ม vascular tone, เพิ่ม cardiac output, เพิ่ม peripheral perfusion โดยมีเป้าหมายให้ MAP  65 mmHg สำหรับหญิงตั้งครรภ์แนะนำให้ใช้ norepinephrine (NE) เป็น first-line drug เนื่องจากมี renal preservation effect มากกว่า รวมถึง ไม่ลด splanchnic blood flow แต่หากให้ NE แล้วยังไม่ได้ตามเป้า อาจพิจารณาเพิ่มยา epinephrine/vasopressin ร่วมด้วยได้ ส่วน dopamine นั้นไม่แนะนำเป็นยาตัวแรกในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกลดลง

6. การจัดการกับสาเหตุของการติดเชื้อ

ระหว่างที่ resuscitate ตามแนวทางข้างต้น ควรมองหาสาเหตุของการติดเชื้อเพื่อขจัดแหล่งของเชื้อ สำหรับการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ที่พบบ่อยคือ

  • Septic abortion  > พิจารณา evacuation หรือ curettage
  • Pyelonephritis หรือ abscess อาจพิจารณา percutaneous nephrostomy หรือ flank exploration
  • Puerperal pelvic infection เช่น endometritis, infection of perineal laceration หรือ hysterectomy incisions ซึ่งมักเกิดในช่วงวันแรกๆหลังคลอด หากให้ยาฆ่าเชื้อแล้วไม่ดีขึ้น อาจจะต้องพิจารณา debridement, drain abscess หรือ hysterectomy เป็นต้น

7. Adjunctive therapies in sepsis management : สิ่งที่ต้องพิจารณารักษาควบคู่ไปด้วยระหว่างการ resuscitate

  • Ventilation: กรณีที่ติดเชื้อรุนแรงส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลวได้ จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทางเดินหายใจของหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดภาวะ hypoxemia ได้ง่ายกว่าคนปกติจึงควร preoxygenation และ ดูดเสมหะก่อนใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับการปรับเครื่องช่วยหายใจพิจารณาปรึกษาอายุรแพทย์เพื่อร่วมประเมินการรักษา แนะนำให้ low tidal volume, moderate to high PEEP, peak pressure < 30 mmHg และปรับค่า Fio2 ที่ต่ำที่สุดที่ทำให้ค่า Pao2 อยู่ระหว่าง 60 -70 mmHg ควรปรับศีรษะให้อยู่ในท่ากึ่งนั่ง โดยปรับหัวเตียงขึ้นประมาณ 45 องศาป้องกันการสำลักลงปอด(23) ยังไม่มีการศึกษาความแตกต่างของการตั้งค่าระบบเครื่องช่วยหายใจของคนปกติกับในหญิงตั้งครรภ์ที่ชัดเจน
  • Glucose control: เนื่องจากในหญิงตั้งครรภ์ช่วงครึ่งหลัง มีภาวะดื้ออินซูลินมากกว่าคนทั่วไป ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินมาก มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ง่ายกว่าคนปกติ (fasting hypoglycemia) จึงไม่แนะนำให้เข้มงวดในการคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ จากการศึกษาเปรียบเทียบต่าง ๆ แนะนำให้ค่าน้ำตาลในเลือด (blood glucose) อยู่ในช่วง 140 – 170 mg/dL(24) และควรเจาะค่า glucose ทุก 1-2 ชั่วโมงในช่วงแรกจนระดับคงที่ จากนั้นเจาะทุก 4 ชั่วโมง
  • Corticosteroids: การศึกษา Lefering R (25) พบว่าภาวะติดเชื้อรุนแรงนั้น ทำให้เกิด stress มากขึ้นกระตุ้นการหลั่ง cortisol จาก adrenal gland แต่เนื่องจากมีภาวะช็อคเลือดที่ไปเลี้ยง adrenal gland ลดลงไม่สามารถผลิต cortisol ได้ ทำให้เกิดภาวะ relative adrenal insufficiency (26) ส่วน the Corticosteroid Therapy of Septic Shock (CORTICUS) study ได้ศึกษาในรูปแบบ RCT พบว่าการให้ low-dose hydrocortisone (hydrocortisone 50 mg IV every 6 hr นาน 5 days(27) )ร่วมกับการให้ยากระตุ้นหัวใจ ไม่ได้ช่วยลดอัตราการตายจากการติดเชื้อ แต่สามารถลดระยะเวลาการใช้ยากระตุ้นหัวใจลงได้(27, 28) ดังนั้น surviving sepsis campaign guidelines 2018 จึงแนะนำให้ยาสเตียรอยด์ ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงได้รับสารน้ำเพียงพอแล้วและได้ยากระตุ้นหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในหญิงตั้งครรภ์ ควรพิจารณาร่วมกับข้อเสียของการให้ steroid ที่อาจส่งเสริมการติดเชื้อมากขึ้น แต่บางการศึกษาพบว่าไม่ส่งผลต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน แต่เพิ่มอัตราการตายมากขึ้นได้(25, 29)
  • กรณีที่หญิงตั้งครรภ์ยังไม่ครบกำหนด การให้ steroid ชนิด dexamethasone หรือ betamethasone จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาของปอดทารกในครรภ์ และลด neonatal mortality จึงมีการแนะนำให้ ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ในช่วง 24 – 33+6 สัปดาห์ ที่มีแนวโน้มจะคลอดใน 7 วัน (30)หรืออาจพิจารณาให้ตั้งแต่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ที่ลุ้นทารกเต็มที่ (31)
  • Stress ulcer prophylaxis : แนะนำให้ PPI หรือ H2 receptor antagonists ในผู้ป่วยความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร เช่น coagulopathy, ใส่เครื่องช่วยหายใจนานมากกว่า 48 ชั่วโมง, ความดันต่ำ (20)
  • Enteral nutrition: แนะนำให้อาหารทางปากหรือสายยาง (nasogastric tube) หลังจากวินิจฉัยภาวะติดเชื้อรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมง โดยเริ่มจากแคลอรี่ต่ำ (500 kcal/day)
  • Uterine contraction: ภาวะติดเชื้ออาจจะกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของมดลูกได้ ส่งผลให้เลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกลดลง ออกซิเจนลดลง แพทย์อาจต้องพิจารณาให้ยาระงับการหดตัวของมดลูก (tocolytic drugs) เป็นรายๆไปโดยต้องระวังผลข้างเคียงจากยาซึ่งอาจทำให้การจัดการภาวะช็อคยากขึ้น เช่น tachycardia, vasodilation แนะนำให้ติดเครื่องตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ไว้ตลอด กรณีที่อาการแม่ดีคงที่และการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ดีควรเลี่ยงการคลอดช่วงนี้ แต่หากอาการแม่แย่ลงและการตั้งครรภ์เป็นสาเหตุของการติดเชื้ออาจจะต้องพิจารณาผ่าตัดหรือดูดชิ้นส่วนในมดลูกออก
  • Thromboembolism prophylaxis : ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรงมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ดังนั้นควรมีการพิจารณาให้ anticoagulant agents เช่น unfractionated heparin (UFH) 5,000 – 7,500 units sc every 12 hr ใน first trimester, UFH 7,500 -10,000 units sc every 12 hr ใน second trimester, UFH 10,000 units sc every 12 hr ใน third trimester หรือ low molecular weight heparin (LMWH) เช่น enoxaparin 40 mg sc once daily ด้วย (32) หรือให้ pneumatic stocking แต่ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้มีการอุดตันของหลอดเลือดดำอยู่ก่อนแล้ว
  • Electronic fetal monitoring : การติดเครื่องตรวจสุขภาพทารกนั้น มักจะทำในอายุครรภ์ที่เกิดเลี้ยงรอด(viable) (GA >24wk) และอยู่ในพื้นที่ที่สามารถทำ intervention ได้ทันทีหากมีความผิดปกติของการเต้นหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามแม้ในอายุครรภ์ที่ไม่สามารถเกิดเลี้ยงรอดได้ (previable) การติด continuous monitor fetal heart rate จะช่วยบ่งบอกถึงภาวะ tissue poor perfusion หรือ end organ damage ของแม่ได้หากมี fetal deceralation หรือการเปลี่ยนแปลงของ baseline ต่ำลง
  • Imaging in pregnancy: หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับรังสีเอกซเรย์ปริมาณมากส่งผลต่อการเจริญของทารกได้ แต่อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องตรวจเพื่อรักษามารดา ควรพิจารณาให้ตรวจโดยไม่ต้องคำนึงถึงทารกในครรภ์ ปริมาณรังสีที่ส่งผลต่อการเจริญของอวัยวะต่างๆของทารกใครรภ์ประมาณ 200 mGy ส่วนปริมาณที่ได้รับจากการตรวจต่างๆแสดงดังตารางที่ 7

Sepsis T7

  • Times to delivery :การยุติการตั้งครรภ์พิจารณาจาก อายุครรภ์, อวัยวะที่ติดเชื้อและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย กรณีที่ควรยุติการตั้งครรภ์ทันทีคือ สาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากภายในมดลูก เช่น chorioamnionitis, septic abortion หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดีและmonitor ทารกในครรภ์ปกติ แนะนำติดตามอย่างใกล้ชิดไปก่อน อย่างไรก็ตามควรมีการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์หลากหลายสาขา(multidisciplinary cares) รวมถึงผู้ป่วยและญาติ สำหรับวิธีและสถานที่การยุติการตั้งครรภ์ซึ่งจาก American College of Obstetricians and Gynecologists 2019 แนะนำว่า
    • Nonviable fetus: ควรคลอดใน ICU เนื่องจากมีการดูแลมารดาอย่างใกล้ชิดและเชี่ยวชาญมากกว่า
    • Viable fetus: ควรคลอดในห้องคลอดเนื่องจากมีอุปกรณ์ที่พร้อมมากกว่าในการช่วยคลอดทารก
  • การผ่าตัดคลอดในห้องผู้ป่วยวิกฤตทำในกรณีที่ไม่สามรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ หรือขณะทำการกดหัวใจเท่านั้น
  • สำหรับการคลอดในผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงซึ่งส่งผลถึงการทำงานหนักของร่างกาย แนะนำคลอดแบบ painless labor หรือมีการระงับปวดที่เหมาะสม เช่น regional analgesia(epidural block) แต่ต้องระวังภาวะ coagulopathy, hemodynamic instability, หรือผู้ป่วยไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ และพิจารณาใช้หัตถการช่วยคลอดเพื่อลดแรงเบ่งของมารดา เช่น forceps or vacuum extraction

สรุป

การติดเชื้อในสตรีตั้งครรภ์มีโอกาสพัฒนารุนแรงมากขึ้น ทำให้มีการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เกิดภาวะช็อค และถึงขึ้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยและเริ่มรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ซึ่งสรุปแนวทางดูแลรักษาภาวะติดเชื้อรุนแรงในสตรีตั้งครรภ์ ดังตารางที่ 8

Sepsis T8

เอกสารอ้างอิง

  1. Singer M, Deutschman CS, Seymour CW, Shankar-Hari M, Annane D, Bauer M, et al. The third international consensus definitions for sepsis and septic shock (Sepsis-3). Jama. 2016;315(8):801-10.
  2. Ali A, Lamont RF. Recent advances in the diagnosis and management of sepsis in pregnancy. F1000Research. 2019;8.
  3. Acosta CD, Knight M, Lee HC, Kurinczuk JJ, Gould JB, Lyndon A. The continuum of maternal sepsis severity: incidence and risk factors in a population-based cohort study. PloS one. 2013;8(7):e67175.
  4. Knight M, Tuffnell D, Kenyon S, Shakespeare J, Gray R, Kurinczuk JJ. Saving lives, improving mothers’ care: Surveillance of maternal deaths in the UK 2011-13 and lessons learned to inform maternity care from the UK and Ireland. Confidential enquiries into maternal deaths and morbidity 2009-13. 2015.
  5. Bauer ME, Bateman BT, Bauer ST, Shanks AM, Mhyre JM. Maternal sepsis mortality and morbidity during hospitalization for delivery: temporal trends and independent associations for severe sepsis. Anesthesia & Analgesia. 2013;117(4):944-50.
  6. Surgers L, Valin N, Carbonne B, Bingen E, Lalande V, Pacanowski J, et al. Evolving microbiological epidemiology and high fetal mortality in 135 cases of bacteremia during pregnancy and postpartum. European journal of clinical microbiology & infectious diseases. 2013;32(1):107-13.
  7. Timezguid N, Das V, Hamdi A, Ciroldi M, Sfoggia-Besserat D, Chelha R, et al. Maternal sepsis during pregnancy or the postpartum period requiring intensive care admission. International journal of obstetric anesthesia. 2012;21(1):51-5.
  8. Knowles S, O’sullivan N, Meenan A, Hanniffy R, Robson M. Maternal sepsis incidence, aetiology and outcome for mother and fetus: a prospective study. BJOG: An International Journal of Obstetrics & Gynaecology. 2015;122(5):663-71.
  9. Kramer HM, Schutte JM, Zwart JJ, Schuitemaker NW, Steegers EA, Van Roosmalen J. Maternal mortality and severe morbidity from sepsis in the Netherlands. Acta obstetricia et gynecologica Scandinavica. 2009;88(6):647-53.
  10. Acosta CD, Kurinczuk JJ, Lucas DN, Tuffnell DJ, Sellers S, Knight M. Severe maternal sepsis in the UK, 2011–2012: a national case-control study. PLoS medicine. 2014;11(7):e1001672.
  11. Drew RJ, Fonseca-Kelly Z, Eogan M. A retrospective audit of clinically significant maternal bacteraemia in a specialist maternity hospital from 2001 to 2014. Infectious diseases in obstetrics and gynecology. 2015;2015.
  12. Surgers L, Bleibtreu A, Burdet C, Clermont O, Laouénan C, Lefort A, et al. Escherichia coli bacteraemia in pregnant women is life‐threatening for foetuses. Clinical Microbiology and Infection. 2014;20(12):O1035-O41.
  13. Quinn A, Milne D, Columb M, Gorton H, Knight M. Failed tracheal intubation in obstetric anaesthesia: 2 yr national case–control study in the UK. British journal of anaesthesia. 2012;110(1):74-80.
  14. Bowyer L, Robinson HL, Barrett H, Crozier TM, Giles M, Idel I, et al. SOMANZ guidelines for the investigation and management sepsis in pregnancy. Australian and New Zealand Journal of Obstetrics and Gynaecology. 2017;57(5):540-51.
  15. Albright CM, Has P, Rouse DJ, Hughes BL. Internal validation of the sepsis in obstetrics score to identify risk of morbidity from sepsis in pregnancy. Obstetrics & Gynecology. 2017;130(4):747-55.
  16. Levy MM, Evans LE, Rhodes A. The surviving sepsis campaign bundle: 2018 update. Intensive care medicine. 2018;44(6):925-8.
  17. Jansen TC, van Bommel J, Schoonderbeek FJ, Sleeswijk Visser SJ, van der Klooster JM, Lima AP, et al. Early lactate-guided therapy in intensive care unit patients: a multicenter, open-label, randomized controlled trial. American journal of respiratory and critical care medicine. 2010;182(6):752-61.
  18. Zadroga R, Williams DN, Gottschall R, Hanson K, Nordberg V, Deike M, et al. Comparison of 2 blood culture media shows significant differences in bacterial recovery for patients on antimicrobial therapy. Clinical Infectious Diseases. 2012;56(6):790-7.
  19. Sterling SA, Miller WR, Pryor J, Puskarich MA, Jones AE. The impact of timing of antibiotics on outcomes in severe sepsis and septic shock: a systematic review and meta-analysis. Critical care medicine. 2015;43(9):1907.
  20. Plante LA, Pacheco LD, Louis JM, Medicine SfM-F. SMFM Consult Series# 47: Sepsis during pregnancy and the puerperium. American journal of obstetrics and gynecology. 2019;220(4):B2-B10.
  21. Marik P, Bellomo R. A rational approach to fluid therapy in sepsis. BJA: British Journal of Anaesthesia. 2015;116(3):339-49.
  22. Monnet X, Marik P, Teboul J-L. Passive leg raising for predicting fluid responsiveness: a systematic review and meta-analysis. Intensive care medicine. 2016;42(12):1935-47.
  23. Paruk F. Infection in obstetric critical care. Best Practice & Research Clinical Obstetrics & Gynaecology. 2008;22(5):865-83.
  24. Griesdale DE, de Souza RJ, van Dam RM, Heyland DK, Cook DJ, Malhotra A, et al. Intensive insulin therapy and mortality among critically ill patients: a meta-analysis including NICE-SUGAR study data. Cmaj. 2009;180(8):821-7.
  25. Lefering R, Neugebauer EA. Steroid controversy in sepsis and septic shock: a meta-analysis. Critical care medicine. 1995;23(7):1294-303.
  26. Lipiner-Friedman D, Sprung CL, Laterre PF, Weiss Y, Goodman SV, Vogeser M, et al. Adrenal function in sepsis: the retrospective Corticus cohort study. Critical care medicine. 2007;35(4):1012-8.
  27. Sprung CL, Annane D, Keh D, Moreno R, Singer M, Freivogel K, et al. Hydrocortisone therapy for patients with septic shock. New England Journal of Medicine. 2008;358(2):111-24.
  28. Annane D, Sébille V, Charpentier C, Bollaert P-E, François B, Korach J-M, et al. Effect of treatment with low doses of hydrocortisone and fludrocortisone on mortality in patients with septic shock. Jama. 2002;288(7):862-71.
  29. Cronin L, Cook DJ, Carlet J, Heyland DK, King DBM, Lansang MAD, et al. Corticosteroid treatment for sepsis: a critical appraisal and meta-analysis of the literature. Critical care medicine. 1995;23(8):1430-9.
  30. Lee M-J, Guinn D, Lockwood CJ, Martin R, Barss VA. Antenatal corticosteroid therapy for reduction of neonatal respiratory morbidity and mortality from preterm delivery. UpToDate Waltham, MA: UpToDate. 2018.
  31. Rossi RM, DeFranco EA. Maternal complications associated with periviable birth. Obstetrics & Gynecology. 2018;132(1):107-14.
  32. Gates S, Brocklehurst P, Davis LJ. Prophylaxis for venous thromboembolic disease in pregnancy and the early postnatal period. Cochrane Database of Systematic Reviews. 2002(2).
  33. williams,25th. 2018
Read More
VTE T1

Venous Thromboembolism in Pregnancy

Venous Thromboembolism in Pregnancy

แพทย์หญิง ธาวินี กฤตสรรค์วงศ์
อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ


Introduction

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำเป็นสาเหตุลำดับต้นๆในการเสียชีวิตของมารดาขณะตั้งครรภ์ ตามสถิติพบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกามีอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ 9.2 %[1] จัดเป็นอันดับที่ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของมารดาทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่าอุบัติการณ์ของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญหากมีการป้องกันอย่างถูกวิธี จึงนับเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่เราสามารถป้องกันได้ ภาวะลิ่มเลือดในเส้นเลือดดำอุดตันนั้นประกอบด้วย Deep Venous thrombosis และ Pulmonary embolism โดยที่พบว่า 80% เป็นภาวะ Deep Venous thrombosis และ มักพบในช่วงก่อนการคลอด ในขณะที่ Pulmonary embolism พบราว 20% [2-4]และ มักพบในช่วงหลังคลอดมากกว่า

Pathophysiology

เป็นที่ทราบกันดีว่าการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสภาวะร่างกายของมารดามากมาย ทั้งกายภาพ และ สรีรเคมี โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นล้วนส่งเสริมให้เกิดการแข็งตัวของเลือดทั้งสิ้น ในการตั้งครรภ์ทำให้มดลูกมีการขยายขนาดที่ใหญ่ขึ้น และ กดเส้นเลือด Pelvic artery และ inferior vena cava ทำให้เกิดภาวะ Stasis[11] ของเลือด โดยมีการวัด Venous flow ที่ขา พบว่าลดลง 50% ในช่วงต้นของไตรมาสที่ 3 จนถึง 6 อาทิตย์หลังคลอด[5-6] ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญที่สุด อีกทั้งมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้เคลื่อนไหวลำบากส่งเสริมภาวะ immobility ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงที่มีการคลอดแรงเบ่ง และ ภาวะ stasis ของเลือดในเส้นเลือดจะทำให้เกิด Endothelial cell injury อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสรีรเคมีในช่วงตั้งครรภ์ พบว่าเพิ่มการสร้าง Clotting factor และ ลดการสร้าง Anticoagulant ทำให้เกิดภาวะ Hypercoagulation stage[7] โดยภาวะทั้งสามอย่างข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตาม Virchow triad ทั้งสิ้น ทำให้หญิงตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำมากกว่าหญิงทั่วไปถึง 5 เท่า [8-10]

ตารางแสดงการเปลี่ยนแปลงระบบการแข็งตัวของเลือดขณะตั้งครรภ์[29]

VTE T1

Risk factor

ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่ควรทำการซักประวัติคือ ประวัติการเคยเป็นลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำมาก่อน พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำนั้นเป็น หญิงที่เคยเป็นลิ่มเลืออุดตันมาก่อนสูงถึง 25-50%[12] ประวัติโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคเลือดประเภท Thrombophilia พบว่ามีอุบัติการ์ณเกิดโรคที่สูงถึง 25-50% [2,10,13] เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น Multi-gestation ภาวะโลหิตจาง, Hyperemesis, การผ่าคลอด เพิ่มความเสี่ยง 2 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นการติดเชื้อหลังคลอด, ภาวะตายปริกำเนิด, การตัดมดลูกขณะตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงมากกว่า 2 เท่าขึ้นไป และ พบว่าความเสี่ยงสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และ อาทิตย์แรกหลังคลอดมากที่สุด[9-10]

ความเสี่ยงเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตามที่ ACOG 2018 ได้มีการแนะนำไว้ให้ทำการประเมินความเสี่ยงดังกล่าวในการฝากครรภ์ครั้งแรก[14]ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลรักษาระหว่างการฝากครรภ์ได้อย่างถูกต้อง และ ในหญิงที่มีประวัติสงสัยถึงภาวะ Antiphospholipid syndrome แนะนำในทำการค้นหาตั้งแต่การฝากครรภ์ครั้งแรก โดยทำการเจาะเลือด Lupus anticoagulant, Anticardiolipin IgG, IgM antibody, Anti- beta2 glycoproteins IgG, IgM antibody หากผลเป็นบวก 1 ค่า แนะนำให้ตรวจเลือดอีกครั้ง 12 สัปดาห์ต่อมา หากผลเลือดยังเป็นบวกอยู่จึงวินิจฉัยภาวะนี้

Criteria Antiphospholipid syndrome[21]

VTE T2VTE T3

Anticoagulant

ยายับยั้งการแข็งตัวของเลือดนั้นมีหลายตัวด้วยกัน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผู้ป่วยที่ไม่ได้ตั้งครรภ์เนื่องจากสามารถรับประทานได้ และ สามารถติดตามผลเลือดได้ คือ Warfarin พบว่ายาตัวนี้หากทานตอน อายุครรภ์ 6-9 สัปดาห์จะทำให้ทารกเกิดภาวะ Fetal warfarin syndrome มีลักษณะคือ Nasal and mid face hypoplasia, Strippled vertebral and femoral epiphyses และ หากทานตอนไตรมาสที่ สอง และ สาม อาจทำให้เกิด เลือดออกในทารก, ทารกโตช้าในครรภ์, ความผิดปกติของตา และ ระบบประสาท เช่น การหายไปของ Corpus Callosum และ อาจทำให้ตาบอดได้[15] จึงไม่แนะนำให้ยาตัวนี้ระหว่างการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม Warfarin สามารถให้ได้ขณะให้นมบุตร

Heparin เป็นยายับยั้งการแข็งตัวของเลือดอีกตัวที่นิยมใช้เนื่องจากมีค่าครึ่งชีวิตที่สั้น อย่างไรก็ตามนิยมใช้น้อยกว่า Warfarin เนื่องจากเป็นยาที่ฉีดในชั้นไขมันนั่นเอง ยาตัวนี้ไม่ผ่านรก[16-17] และ แนะนำให้ใช้ระหว่างการตั้งครรภ์ [18] แนะนำ Low molecular weight heparin มากกว่า Unfractionated Heparin[19] เนื่องจากมีการดูดซึมยาที่ดีกว่า มีค่าครึ่งชีวิตนานกว่า และ ผลข้างเคียงเรื่องเลือดออกน้อยกว่า นอกจากนี้ยาทั้งสองตัวนี้ยังสามารถใช้ระหว่างให้นมบุตรได้อีกด้วย ข้อเสียของยาชนิดนี้คือมีผลข้างเคียงที่น่ากลัว คือ ภาวะ Heparin induced thrombocytopenia เป็นภาวะที่มีเกล็ดเลือดต่ำลงมากกว่า 50% หรือ เกิดลิ่มเลือดอุดตันภายใน 5-10 วันหลังได้รับยา หากเกิดภาวะนี้แนะนำให้ใช้ Fondaparinux แทน

Unfractionated Heparin กลไกการทำงาน กระตุ้น Antithrombin ยับยั้ง Factor Xa, Thrombin การบริหารยาขึ้นกับอายุครรภ์ และ ข้อบ่งชี้ที่ใช้ อาทิ Prophylactic, Therapeutic มีการใช้ขนาดยาที่ต่างกัน ใช้ PTT ในการติดตามขนาดยาที่เหมาะสม keep 1.5 – 2.5 หลังฉีดยา 6 ชั่วโมง

Low molecular weight heparin กลไกการทำงาน กระตุ้น Antithrombin ยับยั้ง Factor Xa มากกว่า Thrombin ใช้ anti factor Xa ในการติดตามขนาดยาที่เหมาะสม keep 0.6 – 1.0 U/ml หลังฉีดยา 4 ชั่วโมง ควรมีการปรับขนาดยาหากมีการทำงานของไตที่ผิดปกติ และ ควรเพิ่มขนาดยาหากน้ำหนักมากเกินจาก Prophylactic dose เป็น Intermediate dose แทน

ตารางแสดงขนาดยาต้านการแข็งตัวของเลือด[29]

VTE T4

Direct anticoagulant เช่น Direct thrombin inhibitor, Factor Xa inhibitor ล้วนพบว่ายานั้นผ่านรกจึงไม่แนะนำให้ระหว่างการตั้งครรภ์ และ ช่วงให้นมบุตร [20]

Antepartum Period

ในการฝากครรภ์ครั้งแรกควรมีการประเมินความเสี่ยงด้วยการซักประวัติ และ ดูอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ทำการตรวจเลือดในกรณีที่มีประวัติสงสัยภาวะ Antiphospholipid syndrome[21] และ ทำการค้นหาภาวะ Thrombophilia หากมีประวัติ

  • Prior VTE associate with non recurrent risk factor (Fracture, Surgery, Prolong immobility)
  • First degree relative with history of high risk Thrombophilia or VTE at age below 50 year without any risk factor

ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์นั้นมีประวัติเป็นลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน ควรถามหาสาเหตุถึงการเป็นลิ่มเลือดอุดตันครั้งนั้น หากเป็นสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ และ ไม่ปรากฏสาเหตุนั้นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด แต่หากเป็นสาเหตุที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ หรือ เป็นสาเหตุจากฮอร์โมน หรือ เป็นลิ่มเลือดอุดตันในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนควรได้รับ Prophylactic dose anticoagulant [22-23]

ในกรณีผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรค Thrombophilia แยกออกเป็น High risk Thrombophilia (Homozygous Factor V Leiden, Homozygous G20210A mutation, Heterozygous Factor V Leiden with Heterozygous G20210A mutation, Antithrombin III deficiency ) และ Low risk Thrombophilia (Other thrombophilia ) ล้วนมีผลต่อการเลือกขนาดยาที่ใช้ในการป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน[26]

ในกรณีผู้ป่วยเป็นโรค Antiphospholipid syndrome แนะนำให้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด Prophylactic dose ร่วมกับ low dose aspirin

ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่คือยา Warfarin แนะนำให้เปลี่ยนเป็นยา LMWH ตลอดการฝากครรภ์ ยกเว้นหญิงที่มี Mechanical Heart valve[19] เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดอุดตันบริเวณลิ้นหัวใจสูงการฉีดยา Heparin อาจไม่เพียงพอ จึงแนะนำให้เปลี่ยนยาเป็น LMWH ในช่วงสัปดาห์ที่ 6 – 12 แล้วจึงกลับมาใช้ยา warfarin ต่อจนกระทั่งช่วงใกล้คลอดจึงเปลี่ยนมาใช้ LMWH อีกครั้ง ยกเว้นผู้ป่วยลิ้นหัวใจเทียมที่มีลิ้นหัวใจเทียมแบบเก่าบริเวณลิ้นหัวใจไมทรัล หรือ เคยเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน แนะนำให้ใช้ Wafarin ตลอดการตั้งครรภ์อย่างไรก็ตามควรแนะนำผลที่ตามมาของทารกเกี่ยวกับการได้รับยา Warfarin ขณะการตั้งครรภ์[25]

Risk Assessment

Thromboprophylatic during ANC

Prior Provoked VTE

Clinical Vigilance

Prior Unprovoked VTE

(Include cause from hormone and pregnancy)

Prophylatic dose

Low risk Thrombophilia without prior VTE

Clinical Vigilance

Low risk Thrombophilia with prior VTE

Prophylatic dose

High risk Thrombophilia without prior VTE

Prophylatic dose

High risk Thrombophilia with prior VTE

Prophylatic dose or Therapeutic dose

High risk Thrombophilia with more or 2 episode of prior VTE

Intermediate dose

Antiphospholipid syndrome

Prophylatic dose With low dose Aspirin

Long term anticoagulant

Therapeutic dose LMWH or 75%LMWH

Mechanical heart valve with long term anticoagulant

Therapeutic dose LMWH At GA 6-12 wk and near delivery

 

Peripartum Period

ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์แนะนำให้เปลี่ยนยาจาก LMWH เป็น UFH เนื่องจากยามีค่าครึ่งชีวิตที่สั้นกว่าจึงทำให้การบริหารยาในช่วงใกล้คลอดง่ายขึ้น และ ลดผลข้างเคียง Spinal hematoma จากการบล็อกหลัง นอกจากนี้ควรหยุดยาต้านการแข็งตัวของเลือดก่อนการคลอด และ เมื่อหยุดยาควรมีการใส่ Pneumatic compression แทน [27]

หากเวลาในการหยุดยาไม่เพียงพอควรชั่งน้ำหนักระหว่าง ความเสี่ยงของการดมยาแบบ General anesthesia และ ความเสี่ยงของการเกิด Spinal hematoma การใช้ Protamine sulfate ไม่แนะนำเนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน[28]

Low Molecular Weight Heparin

Prophylactic dose

12 hours

Before induction of labor or elective cesarean section + PTT

Therapeutic dose

24 hours

Before induction of labor or elective cesarean section + PTT

Unfractionated Heparin

7500 U BID or 10000 U OD

12 hours

Before induction of labor or elective cesarean section + PTT

> 10000 U OD

24 hours

Before induction of labor or elective cesarean section + PTT

 

ในการผ่าคลอดทางหน้าท้องแบบนัดล่วงหน้าควรทำในหญิงที่มีความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สูงมาก และควรได้รับการป้องกันโดยใส่ vena cava filter ช่วงก่อนคลอด และ นำออกช่วงหลังคลอดโดยมีข้อบ่งชี้คือ

  • • Proximal DVT or PE in 2-4 week before delivery
  • • Recurrent VTE even adequate anticoagulant

Postpartum Period

ในการคลอดทั้งทางช่องคลอด และ ผ่าคลอด แนะนำให้กระตุ้นการเคลื่อนไหว(Early ambulation) ในหญิงทุกรายเป็นการลดความเสี่ยงที่ง่ายที่สุด ในส่วนของการผ่าคลอดควรดูความเสี่ยงของผู้ป่วยว่าต้องการยาต้านเกล็ดเลือดหลังคลอดหรือไม่โดยแนะนำให้ LMWH prophylactic dose ในกรณีมีความเสี่ยงสูง คือ one major or two minor risk[29]

Major risk factor

Minor risk factor

Immobility (Bed rest > 1 week)

BMI > 30 kg/m2

Postpartum Hemorrhage > 1000 ml with surgery

Multiple pregnancy

Previous VTE

Emergency caesarean

Preeclampsia with IUGR

Smoking > 10 cigarettes/day

Thrombophilia : Antithrombin deficiency, Factor V Leiden, Prothrombin G20210A

Fetal growth restriction

Medical condition : SLE, Heart disease, Sickle cell anemia

Thrombophilia : Protein C/S deficiency

Blood Transfusion

Preeclampsia

Postpartum infection

 

 

Postpartum infection

หลังจากคลอดแล้วในหญิงที่ยังต้องการยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรได้ยาก่อน 4-6 ชั่วโมง ในการคลอดทางช่องคลอด และ 6-12 ชั่วโมง ในการผ่าคลอดทางหน้าท้อง ในส่วนของยาที่ได้กลับไปหากเป็น UFH ควรรออย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังบล็อกหลัง และ นำสายสวนปัสสาวะออก หากเป็น Low dose LMWH ควรรออย่างน้อย 12 ชั่วโมง และ High dose LMWH 24 ชั่วโมง หลังบล็อกหลัง และ นำสายสวนปัสสาวะออกเช่นกัน นอกจากนี้หญิงที่มีลิ้นหัวใจเทียมควรได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดโดยให้เป็น Wafarin และ มีการ bridging with Heparin จนกระทั่ง INR 2.5 – 3.5 อยู่นาน 2 วันติดต่อกันจึงพิจารณานำ Heparin ออกได้[24]

ข้อบ่งชี้ในการได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดในช่วงหลังคลอดนั้นคล้ายกับช่วงก่อนคลอดนั่น คือ ประวัติเคยเป็นลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน ประวัติโรคประจำตัว Thrombophilia และ ทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดก่อนตั้งครรภ์ แต่การบริหารยาในแต่ละข้อบ่งชี้มีความแตกต่างกันเล็กน้อยตามตารางด้านล่าง[25]

Risk Assessment

Thromboprophylatic during PP

Prior Provoked VTE

Prophylactic dose

Prior Unprovoked VTE

(Include cause from hormone and pregnancy)

Low risk Thrombophilia without prior VTE

Prophylactic dose

Low risk Thrombophilia with prior VTE

High risk Thrombophilia without prior VTE

Prophylactic dose

High risk Thrombophilia with prior VTE

Prophylactic dose or Therapeutic dose

High risk Thrombophilia with more or 2 episode of prior VTE

Therapeutic dose

Antiphospholipid syndrome

Prophylactic dose

Long term anticoagulant

Warfarin Keep INR 2-3

Mechanical heart valve with long term anticoagulant

Warfarin Keep INR 2.5-3.5

 

ควรให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดนาน 6 สัปดาห์ ยกเว้นผู้ที่เกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดในขณะการตั้งครรภ์ครั้งนี้ควรให้ยาอย่างน้อยรวมทั้งหมด 3 เดือน แต่หากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในช่วงหลังคลอด แนะนำให้ยานานถึง 6 เดือน

เอกสารอ้างอิง

  1. Creanga AA, Syverson C, Seed K, et al: Pregnancy-related mortality in the United States, 2011-2013. Obstet Gynecol 130(2):366, 2017
  2. James AH, Jamison MG, Brancazio LR, Myers ER. Venous thromboembolism during pregnancy and the postpartum period: incidence, risk factors, and mortality. Am J Obstet Gynecol 2006;194:1311–5.
  3. Simpson EL, Lawrenson RA, Nightingale AL, Farmer RD. Venous thromboembolism in pregnancy and the puerperium: incidence and additional risk factors from a London perinatal database. BJOG 2001;108:56–60. (Level II-2)
  4. Blanco-Molina A, Rota LL, Di Micco P, Brenner B, Tru-jillo-Santos J, Ruiz-Gamietea A, et al. Venous thrombo-embolism during pregnancy, postpartum or during contraceptive use. RIETE Investigators. Thromb Haemost 2010;103:306–11. (Level II-3)
  5. Antony KM, Racusin DA, Aagaard K, Dildy GA III.Maternal physiology. In: Gabbe SG, Niebyl JR, Simpson JL, Landon MB, Galan HL, Jauniaux ER, et al, editors.Obstetrics: normal and problem pregnancies. 7th ed. Phil-adelphia (PA): Elsevier; 2017. p. 38–63. (Level III)
  6. Macklon NS, Greer IA. Venous thromboembolic disease in obstetrics and gynaecology: the Scottish experience.Scott Med J 1996;41:83–6. (Level III)
  7. Bremme KA. Haemostatic changes in pregnancy. Best Pract Res Clin Haematol 2003;16:153–68 and Medcalf RL,Stasinopoulos SJ. The undecided serpin. The ins and outs of plasminogen activator inhibitor type 2. Febs J 2005;272:4858–67.
  8. Chan WS, Spencer FA, Ginsberg JS. Anatomic distribution of deep vein thrombosis in pregnancy. CMAJ 2010;182:657–60. (Level III)
  9. Ray JG, Chan WS. Deep vein thrombosis during pregnancy and the puerperium: a meta-analysis of the period of risk and the leg of presentation. Obstet Gynecol Surv1999;54:265–71. (Meta-analysis)
  10. James AH, Tapson VF, Goldhaber SZ. Thrombosis during pregnancy and the postpartum period. Am J ObstetGynecol 2005;193:216–9. (Level III)
  11. Gherman RB, Goodwin TM, Leung B, Byrne JD, Hethumumi R, Montoro M. Incidence, clinical characteristics,and timing of objectively diagnosed venous thromboembolism during pregnancy. Obstet Gynecol 1999;94:730–4.(Level II-3)
  12. Pabinger I, Grafenhofer H, Kyrle PA, Quehenberger P,Mannhalter C, Lechner K, et al. Temporary increase in the risk for recurrence during pregnancy in women with a history of venous thromboembolism. Blood 2002;100:1060–2. (Level II-3)
  13. James AH. Venous thromboembolism in pregnancy. Arterioscler Thromb Vasc Biol 2009;29:326–31. (Level III)
  14. D’Alton ME, Friedman AM, Smiley RM, Montgomery DM, Paidas MJ, D’Oria R, et al. National Partnership for Maternal Safety: consensus bundle on venousthromboembolism. Obstet Gynecol 2016;128:688–98.(Level III)
  15. Cotrufo M, De Feo M, De Santo LS, Romano G, DellaCorte A, Renzulli A, et al. Risk of warfarin during pregnancy with mechanical valve prostheses. Obstet Gynecol 2002;99:35–40. (Level III)
  16. Flessa HC, Kapstrom AB, Glueck HI, Will JJ. Placental transport of heparin. Am J Obstet Gynecol 1965;93:570–3. (Level III)
  17. Harenberg J, Schneider D, Heilmann L, Wolf H. Lack of anti-factor Xa activity in umbilical cord vein samples after subcutaneous administration of heparin or low molecular mass heparin in pregnant women. Haemostasis 1993;23:314–20. (Level I)
  18. Greer IA, Nelson-Piercy C. Low-molecular-weight heparins for thromboprophylaxis and treatment of venousthromboembolism in pregnancy: a systematic review of safety and efficacy. Blood 2005;106:401–7. (Systematic Review)
  19. 19. Bates SM, Greer IA, Middeldorp S, Veenstra DL, Prabulos AM, Vandvik PO. VTE, thrombophilia, antithrombotic therapy, and pregnancy: antithrombotic therapy and prevention of thrombosis, 9th ed: American College of Chest Physicians evidence-based clinical practice guidelines. Chest 2012;141:e691S–736S. (Level III)
  20. Bates SM, Middeldorp S, Rodger M, James AH, Greer I.Guidance for the treatment and prevention of obstetric associated venous thromboembolism. J Thromb Thrombolysis 2016;41:92–128. (Level III)
  21. Antiphospholipid syndrome. Practice Bulletin No. 132. American College of Obstetricians and Gynecologists.Obstet Gynecol 2012;120:1514–21. (Level III)
  22. Brill-Edwards P, Ginsberg JS, Gent M, Hirsh J, Burrows R, Kearon C, et al. Safety of withholding heparin in pregnant women with a history of venous thromboembolism.Recurrence of Clot in This Pregnancy Study Group. N Engl J Med 2000;343:1439–44. (Level II-2)
  23. Lee AY, Levine MN, Baker RI, Bowden C, Kakkar AK,Prins M, et al. Low-molecular-weight heparin versus a coumarin for the prevention of recurrent venous thromboembolism in patients with cancer. Randomized Comparison of Low-Molecular-Weight Heparin versus Oral Anticoagulant Therapy for the Prevention of Recurrent Venous Thromboembolism in Patients with Cancer (CLOT) Investigators. N Engl J Med 2003;349:146–53.(Level I)
  24. Leffert L, Butwick A, Carvalho B, Arendt K, Bates SM,Friedman A, et al. The Society for Obstetric Anesthesia and Perinatology consensus statement on the anesthetic management of pregnant and postpartum women receiving thromboprophylaxis or higher dose anticoagulants.Members of the SOAP VTE Taskforce. Anesth Analg 2018;126:928–44. (Level III)
  25. Thromboembolism in Pregnancy. Practice Bulletin No. 196. American College of Obstetricians and Gynecologists.Obstet Gynecol 2018.
  26. Inherited thrombophilias in pregnancy. Practice Bulletin No. 197. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol 2018;132:e18–34. (Level III)
  27. Royal College of Obstetricians and Gynaecologists.Reducing the risk of venous thromboembolism during pregnancy and the puerperium. Green Top Guideline No. 37a. London (UK): RCOG; 2015. (Level III)
  28. Leffert LR, Dubois HM, Butwick AJ, Carvalho B, HouleTT, Landau R. Neuraxial anesthesia in obstetric patients receiving thromboprophylaxis with unfractionated or low-molecular-weight heparin: a systematic review of spinal epidural hematoma. Anesth Analg 2017;125:223–31.(Systematic Review)
  29. American College of Chest Physicians. VTE, Thrombophilia, Antithrombotic Therapy, and Pregnancy. Evidence-Based Clinical Practice Guidelines.2012;141:691-736.
Read More
Macro Graph1

ภาวะทารกตัวโต (macrosomia)

ภาวะทารกตัวโต (macrosomia)

พญ. พัชรี เรืองเจริญ
ผศ. พญ. กุณฑรี ไตรศรีศิลป์


ในปัจจุบันอย่างที่เราทราบกันดีว่าอัตราการเกิดภาวะทารกตัวโตนั้นเพิ่มสูงขึ้น มีรายงานอัตราการเกิดภาวะทารกตัวโตจาก 23 ประเทศทั่วโลก เฉลี่ยแต่ละประเทศอยู่ที่ร้อยละ 4-5 โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่ามีอัตราการเกิดภาวะทารกตัวโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-25 ในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลเสียต่อทั้งมารดาและทารก มีโอกาสเกิดการคลอดที่ผิดปกติซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บจากการคลอด และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้(1)

คำจัดกัดความ ” ภาวะทารกตัวโต (Macrosomia) “

การเจริญเติบโตที่มากเกินไปในทารกส่งผลทำให้มีน้ำหนักตัวมาก (large for gestational age, LGA) กล่าวคือน้ำหนักตัวมากกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 90 ของแต่ละช่วงอายุครรภ์ ส่วนภาวะทารกตัวโต (macrosomia) คือทารกที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิด มากกว่าหรือเท่ากับ 4,000 กรัมขึ้นไป จากการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยที่หลากหลาย พบว่าภาวะทารกน้ำหนักตัวมาก และภาวะทารกตัวโต มีอัตราการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นจากการคลอดที่ผิดปกติ เช่น การบาดเจ็บจากการคลอด การใช้เครื่องช่วยหายใจหลังคลอด โดยเฉพาะภาวะทารกตัวโต นั้นมีอัตราการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและในทารกที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 5,000 กรัม พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่สูง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวแปรผันไปตามน้ำหนักทารกที่มากขึ้น ในปัจจุบัน จึงได้มีการจัดชนิดและระดับความเสี่ยงของภาวะทารกตัวโตเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ทารกที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในช่วง 4,000-4,499 กรัม, 4,500-4,999 กรัม และ มากกว่า 5,000 กรัม(2)

ปัจจัยเสี่ยง (Risk factor)

แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ ปัจจัยของมารดา (maternal factor) และปัจจัยทางพันธุกรรม (genetic factor)

1. ปัจจัยของมารดา (maternal factor)

1.1 ภาวะเบาหวานในมารดา (maternal diabetes) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) และภาวะเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ (preexisting diabetes) ซึ่งทั้งสองภาวะนี้เพิ่มโอกาสการเกิดภาวะทารกตัวโต 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ และเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะทารกน้ำหนักตัวมาก โดยโอกาสการเกิดคิดเป็นร้อยละ 29 ในกลุ่มเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) และ ร้อยละ 38 ในกลุ่มเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ (preexisting diabetes) ซึ่งกลุ่มที่มีโอกาสการเกิดภาวะทารกตัวโต และภาวะทารกน้ำหนักตัวมาก สูงที่สุดคือ กลุ่มมารดาที่มีภาวะเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ (2)

อธิบายการเกิดภาวะทารกตัวโตในมารดาที่มีภาวะเบาหวานได้จากการที่มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่สูง มีการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของมารดากับภาวะทารกตัวโต พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร (fasting plasma glucose) ของมารดาที่ผิดปกติเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะทารกตัวโต มากที่สุด มีการส่งผ่านน้ำตาลจากกระแสเลือดของมารดาไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก (placenta) ทำให้เกิดภาวะทารกมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่สูง (fetal hyperglycemia) ทำให้ทารกมีการหลั่งอินซูลิน (insulin), ฮอร์โมนที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน (insulin like growth factor) และโกรธฮอร์โมน (growth hormone) เป็นผลทำให้มีการเพิ่มการสะสมไขมันในทารกและทำให้ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น โดยลักษณะทารกตัวโต ที่เกิดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน มีความแตกต่างจากปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ มีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายที่มากกว่า (more total body fat), มีขนาดของไหล่และเส้นรอบวงของร่างกายส่วนบนที่ใหญ่ (larger shoulder and upper extremity circumferences), มีการเพิ่มขึ้นของความหนาของชั้นไขมันบริเวณร่างกายส่วนบน( higher upper extremity skin fold) และอัตราส่วนของเส้นรอบวงศีรษะต่อเส้นรอบท้องทารกเล็ก (smaller head circumference to abdominal circumference ratio) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ทารกมีรูปร่างอ้วน (fat body shape) เพิ่มโอกาสการเกิดภาวะคลอดไหล่ยาก(shoulder dystocia), กระดูกไหปลาร้าหัก (fracture clavicle) และการบาดเจ็บของแขนงประสาทแขน (brachial plexus injury)(2, 3)

1.2 ภาวะอ้วน (obesity) มารดาที่มีภาวะอ้วน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดทารกตัวโต 2 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่มีน้ำหนักปกติ (4)สองประการสำคัญที่อธิบายการเกิดภาวะทารกตัวโต ในมารดาที่มีภาวะอ้วน ประการแรกคือมารดาที่มีภาวะอ้วนมีโอกาสเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia) สร้างฮอร์โมนอินซูลินมาก และเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ประการที่สอง มีการศึกษาพบว่ามารดาที่มีภาวะอ้วนมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์ (excessive weight gain) ในระหว่างตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ 40(2, 3, 5)

1.3 น้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์ (excessive weight gain) มีการศึกษาพบว่าในมารดาที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์ ในระหว่างตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทารกตัวโต 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ (normal weight gain) ในระหว่างตั้งครรภ์(2, 3)

1.4 ไขมันในเลือดสูง (dyslipidemia) พบว่ามารดาที่มีไขมันในเลือดสูงเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะทารกตัวโต คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 อ้างอิงจากการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาวะไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia) ในระหว่างตั้งครรภ์กับผลลัพธ์การตั้งครรภ์ทั้งในมารดาและทารก (maternal neonatal outcome) โดยพบว่าค่าไตรกลีเซอไรด์ที่สูง (hypertriglyceridemia) โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 24 – 32 สัปดาห์ สัมพันธ์กับการเกิดภาวะทารกตัวโตมากที่สุด(6) อธิบายได้จากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาเกี่ยวกับกระบวนการสร้างและการสลายไขมันในหญิงตั้งครรภ์ ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ (1stand 2nd trimesters) จะมีการรับประทานอาหารที่มากขึ้น (hyperphagia), มีการเพิ่มขึ้นของกระบวนการสร้างไขมัน (increase lipogenesis), เพิ่มการสะสมไขมันในร่างกาย (fat accumulation) และในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ (3rd trimesters) จะเพิ่มการสลายไขมัน(lipolytic activity) ที่สะสมในร่างกายนั้น เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของทารก(7) ซึ่งไลโพโปรตีนในมารดา (maternal lipoprotein) ไม่สามารถผ่านรกได้ แต่จะถูกสลายด้วยเอนไซม์ไลโพโปรตีน (lipoprotein lipase) ที่รก กลายเป็นกรดไขมัน (fatty acid) ซึ่งเข้าสู่เลือดของทารกผ่านทางสายสะดือ(8) ส่งผลให้มีการสะสมไขมันและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ถ้าหากมารดามีไขมันในเลือดสูงผิดปกติ ทารกมีการสะสมไขมันและการเจริญเติบโตที่มาก จึงนำไปสู่ภาวะทารกน้ำหนักตัวมากและทารกตัวโตได้

1.5 ประวัติคลอดทารกตัวโต (prior macrosomia newborn) ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการเกิดภาวะทารกตัวโต (strongest individual risk) พบว่าในมารดาที่เคยมีประวัติคลอดทารกตัวโต น้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4,000 กรัม เพิ่มโอกาสเกิดภาวะทารกตัวโตในครรภ์ถัดไป 5-10 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่คลอดทารกน้ำหนักตัวปกติ และในมารดาที่เคยมีประวัติคลอดทารกน้ำหนักแรกเกิดอยู่ในช่วงประมาณ 3,600 กรัมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทารกตัวโต 2 เท่า(2, 9)

1.6 การตั้งครรภ์เกินกำหนด (postterm pregnancy) มีการศึกษาเกี่ยวกับผลลัพธ์การตั้งครรภ์ (perinatal outcomes) ในกลุ่มที่คลอดเกินกำหนด คืออายุครรภ์มากกว่าเท่ากับ 42 สัปดาห์พบอัตราการเกิดผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ไม่ดีสูงขึ้น ได้แก่ การเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย (oligohydramnios), ภาวะทารกตัวโต, ภาวะคลอดไหล่ยาก(shoulder dystocia), การตัดมดลูก (hysterectomy)ในมารดาจากการตกเลือดหลังคลอด (post-partum hemorrhage), มีขี้เทาปนในน้ำคร่ำ (meconium stained amniotic fluid), สภาวะพร่องออกซิเจนแรกคลอด (low APGAR score) และพบอัตราการตายปริกำเนิด (perinatal mortality)ในทารกที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย(10)

1.7 การตั้งครรภ์หลายครั้ง (multiparity) ถือเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากการศึกษาพบว่าการตั้งครรภ์หลายครั้ง (multiparity) พบภาวะทารกตัวโต สูงกว่ากลุ่มที่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก(primiparity) คิดเป็นประมาณ 2 เท่า(4, 11) โดย ณ ปัจจุบัน ยังไม่สามารถอธิบายถึงกลไกการเกิดได้ เนื่องจากการศึกษาในประเด็นดังกล่าวยังจำกัด

2. ปัจจัยทางพันธุกรรม (genetic factor)

ได้แก่ พันธุกรรมของบิดา (parental phenotype), ผู้หญิงตัวสูงมีโอกาสมีทารกตัวโตมากกว่าผู้หญิงตัวเตี้ย และทารกเพศชายมีโอกาสทารกตัวโตมากกว่าทารกเพศหญิง(2, 4)

จากการอธิบายถึงปัจจัยเสี่ยงของภาวะทารกตัวโต ดังกล่าวข้างต้นนั้น กล่าวโดยสรุปคือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะเบาหวานในมารดา, ภาวะอ้วน และน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์ ซึ่งทั้งสามภาวะดังกล่าวมักเกิดร่วมกันและเป็นปัจจัยส่งเสริมซึ่งกันและกันทำให้เกิดปัญหาภาวะทารกตัวโต ขึ้นได้(2)

Macro Graph1

Modified from Committee on Practice B-O. Macrosomia: ACOG Practice Bulletin, Number 216. Obstet Gynecol. 2020

การวินิจฉัย (Diagnosis)

การจะวินิจฉัยว่ามีภาวะทารกตัวโต ที่แน่นอนที่สุดคือการดูน้ำหนักแรกเกิดของทารก (birth weight) แต่การที่สามารถวินิจฉัยภาวะทารกตัวโต ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เป็นสิ่งที่สำคัญมากเนื่องจาก สามารถป้องกันและลดอัตราการเจ็บป่วยและการตายทั้งในมารดาและทารก แต่การจะวินิจฉัยภาวะดังกล่าวตั้งแต่ในครรภ์เป็นสิ่งที่ทำได้ยากและท้าทาย ยังมีความคลุมเครือเนื่องจากมีความแปรปรวนในความถูกต้องของการวินิจฉัย

1. อัลตราซาวด์ (ultrasound) เป็นการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจับภาพอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งมีความปลอดภัยเป็นอย่างมากต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ความถูกต้องของอัลตราซาวด์ ในการทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์ อ้างอิงการวิเคราะห์อภิมาน จากจำนวน 29 งานวิจัยพบว่า ความไว (sensitivity) เท่ากับร้อยละ 56, ความจำเพาะ (specificity) เท่ากับร้อยละ 92 ในการตรวจพบทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4,000 กรัม โดยความถูกต้องของอัลตราซาวด์ จะลดลงเมื่อการคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ (estimated fetal weight : EFW) มากกว่า 4,000 กรัม โดยถ้าอัลตราซาวด์ EFW มากกว่า 4,500 กรัม ความถูกต้องในการทำนายน้ำหนักทารกแรกเกิด ที่มีค่ามากกว่า 4,500 กรัมเป็นจริงเหลือเพียงแค่ร้อยละ 33-44(2) โดย Hardlock คือสูตรของอัลตราซาวด์ ที่ใช้ในการคำนวณ EFW เป็นที่นิยมแพร่หลายและถือได้ว่ามีความถูกต้องแม่นยำที่สุด มีการศึกษาพบว่า ค่า Hardlock มีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนแปรผันตรงไปตามน้ำหนักทารกที่มาก กล่าวคือเมื่อน้ำหนักทารกมาก ค่า EFW ที่ได้จากการคำนวณสูตร Hardlock จะมีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนมากขึ้น โดยพบว่าถ้าทารกมีน้ำหนักมากกว่า 4,500 กรัม ค่า EFW มีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนสูงถึงร้อยละ 13(12) และช่วงเวลาในการตรวจอัลตราซาวด์ ก็มีผลต่อความถูกต้องของการทำนาย โดยพบว่าการทำ อัลตราซาวด์ ในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 38 สัปดาห์มีความถูกต้องแม่นยำในการทำนายน้ำหนักทารกมากกว่าการทำอัลตราซาวด์ที่อายุครรภ์เกิน 38 สัปดาห์(13) การทำอัลตราซาวด์ ก่อนการเจ็บครรภ์ (pre labor) มีความถูกต้องแม่นยำสูงกว่าการทำในช่วงที่มีการเจ็บครรภ์ (in labor) และยังพบว่าการทำอัลตราซาวด์ ในช่วงภายใน 2 สัปดาห์ก่อนคลอดนั้นมีแนวโน้มที่จะคาดคะเนน้ำหนักทารกมากเกินความเป็นจริง (over estimated fetal weight) (14)

เนื่องจากการอัลตราซาวด์ มีความแปรปรวนในความถูกต้องในการตรวจพบภาวะทารกตัวโต ปัจจุบันจึงมีการศึกษาค้นคว้างานวิจัยมากมายเพื่อเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการทำนายน้ำหนักของอัลตราซาวด์ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการทำ สูตรการคำนวณ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่น การทำอัลตราซาวด์สามมิติ (3D ultrasound) เป็นต้น

โดยพบว่าการคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ โดยใช้ 4 parameters ได้แก่ biparietal diameter (BPD), head circumference (HC), abdominal circumference (AC) และ femur length (FL) มีความถูกต้องแม่นยำในการทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์มากกว่าการใช้ abdominal circumference อย่างเดียวหรือ abdominal circumference ร่วมกับ femur length (2) ในปัจจุบันมีการศึกษาที่น่าสนใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการวัด fetal biacromial diameter (15)ซึ่งถือเป็นการวัดของอัลตราซาวด์ แบบใหม่ในการทำนายภาวะทารกตัวโต เป็นการศึกษาแบบ prospective observational study โดยทำการตรวจอัลตราซาวด์ ทารกในครรภ์เพื่อหาค่า fetal biacromial diameter โดยการวัด midarm diameter และ transthoracic diameter (TTD) และนำมาเข้าสูตรคำนวณที่ชื่อว่า “Youssef’s formula” (วิธีการดังแสดงในรูปที่ 1) โดยนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับค่า fetal biacromial diameter ของทารกที่แท้จริงหลังคลอดโดยวัดจากระยะห่างของ acromial process of the scapula ของทั้งสองข้าง (วิธีการดังแสดงในรูปที่ 2) ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ระยะ fetal biacromial diameter เท่ากับ 15.4 ซม. มี positive predictive value (PPV) เท่ากับร้อยละ 88.4, ความไว ร้อยละ 96.4 และ ความจำเพาะ ร้อยละ 97 โดยเมื่อเปรียบเทียบค่า abdominal circumference พบว่า fetal biacromial diameter มีค่า PPV, ความไว และ ความจำเพาะ ที่สูงกว่า ซึ่งกล่าวได้ว่าการวัด fetal biacromial diameter มีความถูกต้องแม่นยำในการทำนายภาวะทารกตัวโตสูง แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่ได้มีคำแนะนำในการนำ fetal biacromial diameter ไปใช้ในการปฏิบัติจริงเนื่องจาก การศึกษาที่อ้างอิงเป็นเพียงแค่ single center และการศึกษาที่สนับสนุนความถูกต้องแม่นยำของการวัด fetal biacromial diameter ยังไม่มากพอ

มีการศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการตรวจพบภาวะทารกน้ำหนักตัวมาก และทารกตัวโต ระหว่างการทำอัลตราซาวด์ติดตามน้ำหนักทารกในครรภ์ตั้งแต่ 2nd trimester จนถึง 3rd trimester (ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป) เรียกวิธีดังกล่าวว่า “longitudinal ultrasound examination” กับการทำ ultrasound ที่ 3rd trimester แค่ครั้งเดียวคือตอนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ พบว่า longitudinal ultrasound examination ไม่ได้เพิ่มโอกาสการตรวจพบทารกที่มีการเจริญเติบโตมากกว่าปกติ(16) และมีการศึกษาต่ออีกว่าระหว่างช่วง early 3rd trimester กับ late 3rd trimester ช่วงเวลาไหนที่มีการตรวจพบทารกที่มีการเจริญเติบโตมากกว่าปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง พบว่า late 3rd trimester ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 35 – 36+6 สัปดาห์ เป็นช่วงที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจพบการเจริญเติบโตของทารกที่ผิดปกติ (abnormal growth) ได้แก่ภาวะทารกน้ำหนักตัวมาก, ทารกตัวโต, ทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (small for gestational age :SGA) และภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (intrauterine growth restriction : IUGR) และยังสามารถตรวจพบความผิดปกติของน้ำคร่ำได้อีกด้วย ส่วนการทำ doppler ultrasound ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติ (detection rate) แต่อย่างใด(17) จากข้อมูลดังกล่าวพอจะสรุปได้ว่าการทำอัลตราซาวด์ ในช่วงอายุครรภ์ 36-38 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงที่จะช่วย early detection ภาวะทารกตัวโต เพื่อนำไปสู่การวางแผนการคลอดที่เหมาะสมและลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการคลอดทั้งในมารดาและทารก

ในปัจจุบันมีการพูดถึงการทำ two step universal ultrasound screening in 3rd trimester เพื่อ early detection ภาวะทารกตัวโต คือการตรวจอัลตราซาวด์ ในหญิงตั้งครรภ์ปกติ ความเสี่ยงต่ำ คลำระดับยอดมดลูกทางหน้าท้องได้ปกติ เหมาะสมตามอายุครรภ์ ครั้งแรกตอนอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ และครั้งที่สองคือตอนอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ มีการศึกษาพบว่าไม่คุ้มค่าจะทำ (less cost effective) เพิ่มอัตราชักนำการคลอด (induction of labor) และเพิ่มอัตราการผ่าคลอด (cesarean section) จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีคำแนะนำ ในการทำ universal ultrasound screening เพื่อ early detection ภาวะทารกตัวโตอย่างเดียว แต่ถ้าหากทำในกรณีที่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ท่าก้น (breech presentation), ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ก็อาจจะเกิดความคุ้มค่าในการทำ(18)

Fetal biacromial diameter = TTD + (2 x midarm diameter)

Macro Fig1a

Transthoracic diameter (TTD)

Macro Fig1b

Midarm diameter

Transthoracic diameter (TTD) is transverse section of the fetal chest at the level of the heart (4 chamber view) as circular as possible and at right angles to the fetal spine. Midarm diameter measure from skin to skin of upper arm at the level of the heart

รูปที่ 1 Measurement of fetal biacromial diameter “Youssef’s formula”

Figure from fetal biacromial diameter as a new ultrasound measure for prediction of macrosomia in term pregnancy: a prospective observational study. J Matern Fetal Neonatal Med. 2019

Macro-Fig2

รูปที่ 2 Fetal biacromial diameter คือ ระยะห่างของ acromial process of the scapula ของทั้งสองข้าง (after birth)

Figure from fetal biacromial diameter as a new ultrasound measure for prediction of macrosomia in term pregnancy: a prospective observational study. J Matern Fetal Neonatal Med. 2019

ส่วนเปรียบเทียบอัลตราซาวด์สองมิติ ( 2D ultrasound) และการทำอัลตราซาวด์สามมิติ (3D ultrasound) พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในการทำนายภาวะทารกตัวโต การทำอัลตราซาวด์สามมิติ ไม่ได้เพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการทำนาย จากงานวิจัยดังกล่าวพบว่าการทำอัลตราซาวด์สองมิติ มีความไวที่สูงกว่าการทำอัลตราซาวด์สามมิติ แต่การทำอัลตราซาวด์สามมิติ นั้นมี ความจำเพาะ, positive predictive value และ likelihood ratio (LR) ที่สูงกว่าการทำอัลตราซาวด์สองมิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทำอัลตราซาวด์สามมิติ มีประโยชน์ในแง่ของการ confirm หรือ exclude ภาวะทารกตัวโต หลังจากที่มีการตรวจพบจากการทำอัลตราซาวด์สองมิติ(12)

2. การตรวจทางหน้าท้อง (abdominal examination) มี 2 วิธี ได้แก่ การคลำหน้าท้อง (abdominal palpation maneuver) และการวัดความสูงของยอดมดลูก (fundal height)

การคลำหน้าท้อง เป็นการคาดคะเนน้ำหนักด้วยมือของสูติแพทย์ จากการตรวจร่างกาย Leopold maneuvers เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย ไม่เสียค่าใช้จ่าย ความไวร้อยละ 16-18, ความจำเพาะร้อยละ 90-99 แต่มีความคลาดเคลื่อนได้มาก ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ในมารดาที่อ้วน ผนังหน้าท้องหนา การคาดคะเนน้ำหนักทารกทำได้ยาก ส่วนการวัดความสูงของยอดมดลูก ความไวร้อยละ 20-70 , ความจำเพาะร้อยละ 90 พบว่าการใช้วิธีใดวิธีหนึ่งนั้น ตรวจพบภาวะทารกตัวโตได้ไม่ดี การใช้ทั้งสองวิธีร่วมกันสามารถเพิ่มโอกาสความถูกต้องในการคาดคะเนน้ำหนักมากขึ้น จากการที่ทั้งสองวิธีมีความจำเพาะที่สูง จึงเหมาะในการใช้แยกโรค (role out) มากกว่าการใช้คัดกรอง (screening / role in)(2)

3. การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging : MRI) การตรวจ MRI สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับไขมันสะสมในทารกได้ดี สามารถวัดความกว้างของไหล่ของทารกเพื่อประเมินและวางแผนการคลอดได้อย่างแม่นยำ ช่วยทำนายการเกิดภาวะคลอดไหล่ยาก มีการวิเคราะห์อภิมาน พบว่า MRI มีความไว และความจำเพาะ ในการตรวจพบภาวะทารกตัวโต ที่สูงกว่าอัลตราซาวด์สองมิติ (19) แต่เนื่องจากราคาแพง, พื้นที่แคบทำให้มีข้อจำกัดในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนและอัลตราซาวด์สองมิติ ก็มีความแม่นยำและสะดวก สามารถทำได้ง่ายกว่า จึงไม่แนะนำให้ใช้ MRI เป็นกิจวัตรในการวินิจฉัย

4. Parous woman คือการประเมินน้ำหนักโดยมารดา ซึ่งใช้ในการประเมินน้ำหนักในครรภ์หลังๆ พบว่าสามารถทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์ได้ดีพอ ๆ กับการอัลตราซาวด์หรือการคลำหน้าท้อง(2)

ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภาวะทารกตัวโต (Risk associated with macrosomia)

1. Maternal morbidity จากหลากหลายงานวิจัย พบเป็นไปในทางเดียวกันว่า ความเสี่ยงในมารดาที่เกิดขึ้นจากภาวะทารกตัวโต เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4,500 กรัม (รูปที่ 3) เพิ่มการผ่าตัดคลอดอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัมพันธ์กับการมี labor abnormalities และนำไปสู่การผ่าตัดคลอดในที่สุด labor abnormalities ที่พบบ่อยในภาวะทารกตัวโตคือ labor protraction และ arrest disorder มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่าการ elective C/S โดยมีข้อบ่งชี้จากการทำ อัลตราซาวด์พบภาวะทารกตัวโตมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น อธิบายได้จากการทำนายจากอัลตราซาวด์มีความคลาดเคลื่อนได้ ไม่สามารถตรวจพบภาวะทารกตัวโต ทำให้เข้าสู่กระบวนการคลอดตามธรรมชาติ เกิด labor abnormalities และนำไปสู่การผ่าตัดคลอด เพิ่มภาวะคลอดไหล่ยาก เพิ่มการตกเลือดหลังคลอด (post-partum hemorrhage) เพิ่มภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบติดเชื้อ (chorioamnionitis) เพิ่มความรุนแรงของแผลฉีกขาดบริเวณฝีเย็บที่เกิดจากการคลอด (3rd and 4th degree perineal laceration) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการคลอดไหล่ยากร่วมด้วย เพิ่มการนอนโรงพยาบาลและการดูแลหลังคลอดนานเนื่องจากการผ่าตัดคลอดและ severe perineal laceration และพบว่าภาวะทารกตัวโต ไม่เพิ่มการใช้หัตถการช่วยคลอดได้แก่ forcep และ vacuum (2, 20)

2. Fetal morbidity and mortality การเกิดการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตของทารกที่มีภาวะทารกตัวโต พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดภาวะคลอดไหล่ยากเป็นหลัก โดยความเสี่ยงการเกิดภาวะคลอดไหล่ยากในทุกการคลอด คลอดทางช่องคลอดโดยธรรมชาติ (vaginal delivery) ในทารกน้ำหนักปกติอยู่ที่ร้อยละ 0.2-3 ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9-14 ในทารกตัวโตและเพิ่มสูงถึง ร้อยละ20-50 ในมารดาที่มีเบาหวาน(รูปที่ 4) การคลอดไหล่ยากทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อทารกขณะคลอด ได้แก่ fracture of clavicle, brachial plexus nerve injury โดยเฉพาะบริเวณตำแหน่ง กระดูกสันหลังส่วนคอ C5-C6 ทำให้เกิดภาวะที่เราเรียกว่า “Erb-Duchenne paralysis” (รูปที่ 5) ในกรณีเกิด fracture of clavicle, brachial plexus nerve injury ขึ้นในทารก การศึกษาถึงผลระยะยาวต่อทารกพบว่าเป็นเพียงการบาดเจ็บชั่วคราว ใน brachial plexus nerve injury สามารถกลับมาหายเป็นปกติได้ภายในระยะเวลา 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามในทารกน้ำหนัก มากกว่า 4,500 กรัม มีโอกาสมีการบาดเจ็บถาวร (permanent injury) ได้ นอกจากเพิ่มการบาดเจ็บต่อทารกแล้ว ภาวะทารกตัวโตยังทำให้ทารกมี Low APGAR score ที่ 5 นาทีแรก, birth asphyxia, respiratory problem (low arterial cord PH & pO2, high PCO2) , meconium aspiration, hypoglycemia, polycythemia, เพิ่มการนอนใน neonatal intensive care unit, เพิ่มระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และมีปัญหาภาวะอ้วน , metabolic syndrome ในอนาคตตามมา (2, 21)

Macro-Fig3

รูปที่ 3 Increased risk of adverse outcomes by macrosomia category, open bars, category 1 (4,000-4,499 g); gray bars, category 2 (4,500-4,999 g); black bar, category 3 (5,000+g).The reference group is 3,000-3,999 g, All bars more than an odds ratio of 1 are significant at P < 0.05. Abbreviations: Asst Vent>30, assisted ventilation more than 30 mins; CPD, cephalopelvic disproportions; IMR, infant mortality rate.

Figure from Committee on Practice B-O. Macrosomia: ACOG Practice Bulletin, Number 216. Obstet Gynecol. 2020

Macro-Fig4

รูปที่ 4 Frequency of shoulder dystocia for increasing birth weight by maternal diabetes status and method of vaginal delivery-spontaneous or assisted.

Figure from Committee on Practice B-O. Macrosomia: ACOG Practice Bulletin, Number 216. Obstet Gynecol. 2020

Macro-Fig5

รูปที่ 5 “Erb-Duchenne paralysis”

Figure from http://www.childrenshospital.org/-/media/Centers-and-Services/Programs/A_E/Brachial-Plexus

แนวทางการดูแลรักษา (Managements)

1. การดูแลก่อนคลอด (Prenatal care)

– คาดการณ์ (prediction) การวินิจฉัยภาวะทารกตัวโต เป็นสิ่งที่ท้าทายเนื่องจากความแปรปรวนของความแม่นยำถูกต้อง เราควรเฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะทารกตัวโต ที่สำคัญได้แก่ maternal diabetes, obesity, excessive weight gain ในกลุ่มนี้ในการมาฝากครรภ์แต่ละครั้ง ให้เน้นย้ำ clinical examination คาดการณ์น้ำหนักทารก (estimate fetal weight : EFW) จากการตรวจ fundal height, Leopold maneuvers ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ ในกรณีที่สงสัยว่าทารกมีการเจริญเติบโตที่มากผิดปกติ (LGA, macrosomia) เช่น มดลูกมีขนาดใหญ่มากกว่าอายุครรภ์ แต่ต้องระวังปัจจัยที่ทำให้การตรวจร่างกายมีความผิดพลาด ได้แก่ uterine fibroids, multiple pregnancy, polyhydramnios เป็นต้น มีการคัดกรองและวินิจฉัยภาวะเบาหวานทั้งก่อนและหลังการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ทุกรายที่มาฝากครรภ์ ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงใดของการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรจะเฝ้าระวังภาวะเบาหวานที่จะเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด โดยดูจากการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินเกณฑ์ (excessive weight gain)และน้ำตาลในปัสสาวะ (urine sugar)

– การป้องกัน (prevention) หลักการในการดูแลก่อนคลอดที่มีประสิทธิภาพนั้นเน้นการป้องกันเป็นหลัก ประการแรกคือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมารดาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยแนะนำให้ทานอาหารกลุ่ม low glycemic index และ high fiber จะช่วยลดระดับน้ำตาลในช่วง 2 hour postprandial (2hrPP) แต่ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในช่วงอดอาหาร (fasting blood glucose) และระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C)(22) จากการศึกษาพบว่าการทานอาหารกลุ่ม low glycemic index และ high fiber สามารถช่วยลดการเกิดเบาหวานจากการตั้งครรภ์, ทารกน้ำหนักมาก และทารกตัวโต ในกลุ่มมารดาที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่สำหรับกลุ่มที่มีเบาหวาน (GDM, preexisting DM) เกิดขึ้นแล้วและกลุ่ม overweight พบว่าการทานอาหารกลุ่ม low glycemic index และ high fiber เพียงอย่างเดียว ช่วยลดการเกิดทารกน้ำหนักมากและทารกตัวโต ได้เพียงระดับนึงเท่านั้น (borderline significant)(23) แต่ถ้าหากมีการออกกำลังกายร่วมด้วยจะช่วยลดการเกิดทารกตัวโต ได้สูงถึงร้อยละ 15(2) ในกรณีที่การควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียวไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ACOG แนะนำให้รักษาด้วยอินซูลิน(insulin) เป็น first line เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีโดยเฉพาะในกลุ่ม preexisting DM และลดการเกิดทารกน้ำหนักมากและทารกตัวโต ในกลุ่มที่มี borderline LGA (abdominal circumferences > 75 percentile) ส่วน metformin ในการใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในหญิงตั้งครรภ์ พบว่า metformin มีประสิทธิภาพด้อยกว่า insulin ในการควบคุมระดับน้ำตาล โดยมีการศึกษา RCT พบว่าในการรักษา GDM โดยใช้ metformin ต้องอาศัยการใช้ insulin ร่วมด้วย คิดเป็นร้อยละ 35 ถึงจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการได้(24)

ประการที่สองคือการออกกำลังกาย (exercise) แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีข้อห้ามในการออกกำลังกาย(รูปที่ 6) ออกกำลังกายแบบแอโรบิค (aerobic) เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว วิ่ง และแบบเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength)ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ได้ มีหลักฐานงานวิจัยที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ พบว่าช่วยลดการเกิดทารกน้ำหนักมากและทารกตัวโต โดยไม่เพิ่มการเกิดทารกน้ำหนักน้อย (small for gestational age : SGA) ,การคลอดก่อนกำหนด(preterm labor), inadequate weight gain และสามารถลดอัตราการผ่าคลอดลงได้ถึงร้อยละ 20 โดยที่การออกกำลังกายในหลายรูปแบบ (combination) ในระหว่างตั้งครรภ์ช่วยลดการเกิดทารกน้ำหนักมากและทารกตัวโตได้มากขึ้น โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์มากที่สุดคือช่วง 2nd trimester ซึ่งผ่านช่วง 1st trimester ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และก่อนที่จะมีข้อจำกัดของร่างกายเมื่อท้องมีขนาดโตขึ้นในช่วง 3rd trimester แต่ในหญิงตั้งครรภ์ที่ออกกำลังกายมาก่อนตั้งครรภ์ก็สามารถออกกำลังกายต่อเนื่องได้ไปจนตลอดการตั้งครรภ์ที่ร่างกายยังสามารถทำได้ โดยเริ่มจากนานครั้งละ 15 นาที ความถี่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่อยๆเพิ่มขึ้นจนถึงนานครั้งละ 30 นาที ความถี่ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ไม่สมดุลในการทรงตัวและมีโอกาสล้มสูง เป็นอันตรายต่อทารก เช่น ขี่ม้า ปีนเขาสูง ยิมนาสติก ปั่นจักรยาน เป็นต้น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องนอนราบ (supine position) หลังอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป, หลีกเลี่ยงการดำน้ำ ยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในกลุ่มการออกกำลังกายแบบยืดหยุ่นและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น Yoga, Pilates เป็นต้น(25)

ส่วนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะ (bariatric surgery)ใน obesity class 2,3 (BMI >35,>40 กก./ม²) ก่อนการตั้งครรภ์ พบว่าช่วยลดการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทารกน้ำหนักมาก แต่เพิ่มการเกิดทารกน้ำหนักน้อยและการคลอดก่อนกำหนด(26) ดังนั้นสามารถให้คำแนะนำ bariatric surgery ในหญิงที่มีภาวะอ้วนก่อนการตั้งครรภ์ได้แต่ต้องอธิบายข้อดีข้อเสียของการทำและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้

Macro-Fig6

รูปที่ 6 Contraindications to exercise in pregnancy

No 129-Exercise in Pregnancy and the Postpartum Period. J Obstet Gynaecol Can. 2018;40(2):e58-e65

– ตรวจติดตาม (fetal surveillance) มีการตรวจอัลตราซาวด์ ติดตามน้ำหนักทารกและน้ำคร่ำ ช่วง 36-38 สัปดาห์, แนะนำมารดานับลูกดิ้น (fetal movement count), ติดเครื่องฟังเสียงหัวใจทารก (NST) ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไปหรือในกรณีที่มีข้อบ่งชี้, การทำ umbilical artery doppler ไม่มีประโยชน์ในการตรวจติดตามทารกตัวโต

2. การคลอด (Delivery)(2)

– การกำหนดวันผ่าคลอด (scheduled cesarean birth) เป้าหมายเพื่อลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตของมารดาและทารกในรายที่มีภาวะทารกตัวโต แนะนำให้สามารถผ่าตัดคลอดได้ในรายที่ EFW มากกว่าเท่ากับ 5,000 กรัม ในมารดาที่ไม่มีเบาหวาน และ EFW มากกว่าเท่ากับ 4,500 กรัม ในมารดาที่มีเบาหวาน โดยปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่เป็น RCT การ planned cesarean birth ในทารกตัวโตยังคง controversial และเป็น expert opinion โดยให้สูติแพทย์อธิบายแก่ผู้ป่วยถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของการคลอดทางช่องคลอดและผ่าตัดคลอด โดยพิจารณาตามความเสี่ยงของภาวะทารกตัวโต โดยคาดคะเนจากน้ำหนักทารก ซึ่งควรอธิบายถึงความไม่แน่นอนในการคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในรายที่น้ำหนักตัวมาก โอกาสคลาดเคลื่อนมีสูง การคาดการณ์การเกิดภาวะคลอดไหล่ยากเป็นไปได้ยาก และความเสี่ยงของการเกิด brachial plexus palsy ยังมีอยู่ถึงแม้จะผ่าตัดคลอดก็ตาม เพราะ brachial plexus palsy สามารถเกิดขึ้นได้ถึงแม้จะไม่มีการคลอดไหล่ยาก

– การชักนำการคลอด (induction of labor) ในทารกตัวโตและทารกน้ำหนักมาก ไม่แนะนำให้ทำก่อนอายุครรภ์ 39 0/7 สัปดาห์ถ้าหากไม่มีข้อบ่งชี้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่เพียงพอที่แสดงให้เห็นว่ามีประโยชน์ในการช่วยลดภาวะคลอดไหล่ยาก, การบาดเจ็บจากการคลอด ได้แก่ brachial plexus palsy และ fracture เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นของการให้คลอดเร็วเกินไป และยังเพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอดโดยที่ไม่ได้เพิ่ม perinatal outcomes

– จากข้อมูลการศึกษาที่พบว่า labor arrest เป็นลักษณะ labor abnormalities ที่สำคัญและพบได้บ่อยในทารกตัวโต และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงช่องทางการคลอดคือจากการคลอดทางช่องคลอดไปเป็นผ่าตัดคลอดในที่สุด ดังนั้นในทารกที่มีการคาดคะเนน้ำหนักมากกว่า 4,500 กรัม และพบว่ามี prolonged second stage of labor หรือ arrest of descent in second stage โดยระดับตำแหน่งศีรษะทารก (station) อยู่สูงกว่า +2 ขึ้นไป ถือว่าเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดได้

– เกี่ยวกับการใช้หัตถการการช่วยคลอดทางสูติศาสตร์ เช่น forcep, vacuum delivery การศึกษาเกี่ยวกับเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดไหล่ยาก ในรายที่ใช้ forcep หรือ vacuum delivery ยังไม่แน่ชัดและยังเป็นที่ถกเถียง บางงานวิจัยได้ผลว่าในรายที่ใช้ forcep หรือ vacuum delivery เพิ่มความเสี่ยงภาวะคลอดไหล่ยาก 3-5 เท่า แต่บางการศึกษาพบว่าไม่ต่างกัน แต่มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ว่า ความเสี่ยงของการคลอดไหล่ยากเพิ่มขึ้นในขณะที่ทำ operative vaginal delivery ในคนไข้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ทารกน้ำหนักมากหรือมารดาเป็นเบาหวาน และได้ทำ vacuum delivery (odd ratio 33) ดังนั้นสูติแพทย์ควรตระหนักให้มากในคนไข้รายที่ปรากฏปัจจัยเสี่ยงและถึงขั้นต้องทำหัตถการ vacuum delivery เพื่อช่วยคลอด มีโอกาสที่จะเกิด shoulder dystocia สูง และควรเตรียมพร้อมรับมือแก้ไขสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

– ภาวะทารกตัวโตไม่ได้เป็นข้อห้ามในการคลอดทางช่องคลอดภายหลังจากที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน (vaginal birth after cesarean birth : VBAC) แต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จของการคลอดทางช่องคลอดในทารกที่น้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม พบว่าลดลง และมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมดลูกแตก (uterine rupture) ซึ่งจากการศึกษาในทารกที่มีตัวโตและทำ VBAC พบว่าอัตราการเกิดมดลูกแตก สูงสุดในกลุ่มมารดาทีไม่เคยมีประวัติการคลอดทางช่องคลอดมาก่อน

เอกสารอ้างอิง

  1. Agudelo-Espitia V, Parra-Sosa BE, Restrepo-Mesa SL. Factors associated with fetal macrosomia. Rev Saude Publica. 2019;53:100.
  2. Committee on Practice B-O. Macrosomia: ACOG Practice Bulletin, Number 216. Obstet Gynecol. 2020;135(1):e18-e35.
  3. Araujo Junior E, Peixoto AB, Zamarian AC, Elito Junior J, Tonni G. Macrosomia. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol. 2017;38:83-96.
  4. Usta A, Usta CS, Yildiz A, Ozcaglayan R, Dalkiran ES, Savkli A, et al. Frequency of fetal macrosomia and the associated risk factors in pregnancies without gestational diabetes mellitus. Pan Afr Med J. 2017;26:62.
  5. Tela FG, Bezabih AM, Adhanu AK, Tekola KB. Fetal macrosomia and its associated factors among singleton live-births in private clinics in Mekelle city, Tigray, Ethiopia. BMC Pregnancy Childbirth. 2019;19(1):219.
  6. Gorban de Lapertosa S, Alvarinas J, Elgart JF, Salzberg S, Gagliardino JJ, EduGest g. The triad macrosomia, obesity, and hypertriglyceridemia in gestational diabetes. Diabetes Metab Res Rev. 2020.
  7. Hajar Sharami S, Abbasi Ranjbar Z, Alizadeh F, Kazemnejad E. The relationship of hyperlipidemia with maternal and neonatal outcomes in pregnancy: A cross-sectional study. Int J Reprod Biomed (Yazd). 2019;17(10):739-48.
  8. Hashemipour S, Haji Seidjavadi E, Maleki F, Esmailzadehha N, Movahed F, Yazdi Z. Level of maternal triglycerides is a predictor of fetal macrosomia in non-obese pregnant women with gestational diabetes mellitus. Pediatr Neonatol. 2018;59(6):567-72.
  9. Fang F, Zhang QY, Zhang J, Lei XP, Luo ZC, Cheng HD. Risk factors for recurrent macrosomia and child outcomes. World J Pediatr. 2019;15(3):289-96.
  10. Maoz O, Wainstock T, Sheiner E, Walfisch A. Immediate perinatal outcomes of postterm deliveries. J Matern Fetal Neonatal Med. 2019;32(11):1847-52.
  11. Lei F, Zhang L, Shen Y, Zhao Y, Kang Y, Qu P, et al. Association between parity and macrosomia in Shaanxi Province of Northwest China. Ital J Pediatr. 2020;46(1):24.
  12. Mazzone E, Dall’Asta A, Kiener AJO, Carpano MG, Suprani A, Ghi T, et al. Prediction of fetal macrosomia using two-dimensional and three-dimensional ultrasound. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol. 2019;243:26-31.
  13. Parikh LI, Iqbal SN, Jelin AC, Overcash RT, Tefera E, Fries MH. Third trimester ultrasound for fetal macrosomia: optimal timing and institutional specific accuracy. J Matern Fetal Neonatal Med. 2019;32(8):1337-41.
  14. Zafman KB, Bergh E, Fox NS. Accuracy of sonographic estimated fetal weight in suspected macrosomia: the likelihood of overestimating and underestimating the true birthweight. J Matern Fetal Neonatal Med. 2020;33(6):967-72.
  15. Youssef AEA, Amin AF, Khalaf M, Khalaf MS, Ali MK, Abbas AM. Fetal biacromial diameter as a new ultrasound measure for prediction of macrosomia in term pregnancy: a prospective observational study. J Matern Fetal Neonatal Med. 2019;32(16):2674-9.
  16. Caradeux J, Eixarch E, Mazarico E, Basuki TR, Gratacos E, Figueras F. Second- to Third-Trimester Longitudinal Growth Assessment for the Prediction of Largeness for Gestational Age and Macrosomia in an Unselected Population. Fetal Diagn Ther. 2018;43(4):284-90.
  17. Khan N, Ciobanu A, Karampitsakos T, Akolekar R, Nicolaides KH. Prediction of large-for-gestational-age neonate by routine third-trimester ultrasound. Ultrasound Obstet Gynecol. 2019;54(3):326-33.
  18. Wastlund D, Moraitis AA, Thornton JG, Sanders J, White IR, Brocklehurst P, et al. The cost-effectiveness of universal late-pregnancy screening for macrosomia in nulliparous women: a decision analysis. BJOG. 2019;126(10):1243-50.
  19. Malin GL, Bugg GJ, Takwoingi Y, Thornton JG, Jones NW. Antenatal magnetic resonance imaging versus ultrasound for predicting neonatal macrosomia: a systematic review and meta-analysis. BJOG. 2016;123(1):77-88.
  20. Turkmen S, Johansson S, Dahmoun M. Foetal Macrosomia and Foetal-Maternal Outcomes at Birth. J Pregnancy. 2018;2018:4790136.
  21. Ouzounian JG. Shoulder Dystocia: Incidence and Risk Factors. Clin Obstet Gynecol. 2016;59(4):791-4.
  22. Xu J, Ye S. Influence of low-glycemic index diet for gestational diabetes: a meta-analysis of randomized controlled trials. J Matern Fetal Neonatal Med. 2020;33(4):687-92.
  23. Zhang R, Han S, Chen GC, Li ZN, Silva-Zolezzi I, Pares GV, et al. Effects of low-glycemic-index diets in pregnancy on maternal and newborn outcomes in pregnant women: a meta-analysis of randomized controlled trials. Eur J Nutr. 2018;57(1):167-77.
  24. Mack LR, Tomich PG. Gestational Diabetes: Diagnosis, Classification, and Clinical Care. Obstet Gynecol Clin North Am. 2017;44(2):207-17.
  25. Davies GAL, Wolfe LA, Mottola MF, MacKinnon C. No. 129-Exercise in Pregnancy and the Postpartum Period. J Obstet Gynaecol Can. 2018;40(2):e58-e65.
  26. Akhter Z, Rankin J, Ceulemans D, Ngongalah L, Ackroyd R, Devlieger R, et al. Pregnancy after bariatric surgery and adverse perinatal outcomes: A systematic review and meta-analysis. PLoS Med. 2019;16(8):e1002866.

 

Read More

ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์ (Obesity in pregnancy)

ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์ (Obesity in pregnancy)

พญ. วรรณพร สิงห์น้อย
ผศ. พญ. กุณฑรี ไตรศรีศิลป์


ภาวะอ้วนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เป็นปัญหาที่มักจะถูกละเลย เนื่องจากยังไม่มีแนวทางการดูแลรักษาที่ชัดเจนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งควรได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการให้การดูแลรักษาด้วยการผ่าตัด ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน ก็ควรจะได้รับการดูแลตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ช่วงระหว่างตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

องค์การอนามัยโลกหรือ World Health Organization (WHO) (1) ได้จำแนกระดับดัชนีมวลกายหรือ Body mass index (BMI) แบ่งเป็น 6 ระยะ ดังแสดงในตารางที่ 1

BMI (kg/m2)

< 18.5

18.5-24.9

25.0-29.9

30.0-34.9

35.0-39.9

>40

ชนิด

Underweight

Normal weight

Overweight

Obesity Class I

Obesity

Class II

Obesity

Class III

ตารางที่ 1 แสดงการจำแนกระดับดัชนีมวลกายตามองค์การอนามัยโลก

จากการสำรวจของข้อมูล National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) ของประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2013-2014 พบความชุกของอุบัติการณ์ของภาวะอ้วนในหญิงเจริญพันธุ์ 40.4%(2) โดยพบภาวะอ้วนระดับ 3 และพบว่ามีแนวโนมเพิ่มสูงขึ้นจากฐานข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 ถึงปี ค.ศ.2014

สำหรับการศึกษาในประเทศไทยในปี ค.ศ. 2005 และ 2013 (3) ก็พบข้อมูลว่ามีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติ 1.82 เท่า เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2005 พบ 1.53 เท่า และพบว่าภาวะอ้วนสูงขึ้น 3.20 เท่าเมื่อเปรียบเทียบของข้อมูลเดิม 2.47 เท่า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกัน แสดงให้เห็นว่าภาวะอ้วนมีแนวโน้มที่จะสูงเพิ่มมากขึ้นในไทยด้วยเช่นกัน

ผลต่อการตั้งครรภ์

ภาวะแท้ง (Pregnancy loss) (4)

ภาวะอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งเอง 1.2 เท่า (95% CI, 1.01-1.46) และภาวะแท้งซ้ำซาก 3.5 เท่า (95% CI, 1.03-12.01) เพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติของบริเวณไขสันหลัง ภาวะสมองบวมน้ำ ระบบหลอดเลือดและหัวใจ กระดูกบริเวณปากและใบหน้า และความผิดปกติบริเวณระยางค์แขนขา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแบบ Syetematic review และ Meta-analysis พบว่า เพิ่มการเกิดความพิการแต่กำเนิดอีกด้วยเมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะอ้วน แต่กลับพบความเสี่ยงของผนังของช่องท้องผิดปกติชนิดที่ไม่มีเยื่อหุ้ม (Gastroschisis) ลดลง 0.17 เท่า (95% CI, 0.10-0.30)

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ (Antepartum complication)

พบว่าในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ความผิดปกติของการคลอด เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง การทำงานของระบบหัวใจผิดปกติ ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ภาะไขมันพอกตับชนิดที่ไม่สัมพันธ์กับแอลกอฮอล์ และภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยพบว่า 40%(5) ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน พบว่ามีภาวะตายคลอด 1.4 เท่า พบภาวะตายคลอดได้สูงมากขึ้นตามระดับของภาวะอ้วน ได้แก่ ภาวะอ้วนระดับ I มีภาวะทารกตายคลอด 1.3 เท่า , ภาวะอ้วนระดับ II มีภาวะทารกตายคลอด 1.4 เท่า , และ ภาวะอ้วนระดับ III มีภาวะทารกตายคลอด 1.9 เท่า ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ผิวดำที่มีภาวะอ้วน มีความเสี่ยงที่จะมีทารกตายคลอดมากกว่าอีกด้วยถึง 1.9 เท่า

ได้มีรายงานการศึกษา retrospective cohort(6) ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง BMI กับภาวะทารกตายคลอด พบว่า BMI ที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะทารกตายคลอดที่มากขึ้น และเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์อีกด้วย โดยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มี BMI อย่างน้อย 50 kg/m2 พบทารกตายคลอด 1.40 -1.69 , 2.95-3.20 และ 3.30-8.95 เท่าตามลำดับที่อายุครรภ์ 30-33 สัปดาห์ , 37-39 สัปดาห์ และ 40-42 สัปดาห์ เมื่อเทียบหญิงตั้งครรภ์ที่มี BMI ปกติ พบความเสี่ยงของทารกตายคลอดมากถึง 5.7 เท่าที่อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ และเสี่ยงมากขึ้นถึง 13.6 เท่าเมื่อมีอายุครรภ์ถึง 41 สัปดาห์

นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษา Systematic review และ Meta-analysis(7) ถึงความสัมพันธ์ BMI ที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักปกติ กับภาวะทารกตายคลอด ทารกตายปริกำเนิด หรือทารกหรือเด็กเสียชีวิตหลังจากนั้น พบว่า BMI ที่เพิ่มขึ้นทุก 5 kg/m2 ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Fetal death 1.21 เท่า (95% CI, 1.09-1.35) , Stillbirth 1.24 เท่า (95% CI, 1.18-1.30) , perinatal death 1.16 เท่า (95% CI, 1.00-1.35) , Neonatal death 1.15 เท่า (95% CI, 1.07-1.23) และ Infant death 1.18 เท่า (95% CI, 1.09-1.28) ดังแสดงตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง BMI ของหญิงตั้งครรภ์กับความเสี่ยง (Absolute risk) ของการเสียชีวิตของทารกในครรภ์(7)

 

Maternal BMI (kg/m2)

20

25

30

Fetal death

Still birth

Perinatal death

Neonatal death

Infant death

76

40

66

20

33

82 (95%CI, 76-88)

48 (95%CI, 46-51)

73 (95%CI, 67-81)

21 (95%CI, 19-23)

37 (95%CI, 34-39)

102 (95%CI, 93-112)

59 (95%CI, 55-63)

86 (95%CI, 76-98)

24 (95%CI, 22-27)

43 (95%CI, 40-47)

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างช่วงเจ็บครรภ์คลอด (Intrapartum complication)

ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์พบว่ามีความสัมพันธ์กับทารกคลอดก่อนกำหนดแต่ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ชัดเจน รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดบุตรด้วยการผ่าตัดทางหน้าท้อง, ภาวะล้มเหลวจากการให้คลอดบุตรทางช่องคลอด , ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ , แผลฉีกขาดหรือแผลแยก และเส้นเลือดดำอุดตัน รวมไปถึงได้มีข้อมูลรายงานในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยได้รับการผ่าตัดคลอดบุตร พบว่ามีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงจากการให้คลอดบุตรทางช่องคลอดถึง 2 เท่า และพบความเสี่ยงมากถึง 5 เท่า(8) ที่ทารกจะได้รับบาดเจ็บจากการคลอดดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดและผลกระทบระยะยาว (Postpartum complication and long term outcome)

หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนพบว่า มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเกินกว่าปกติในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 46% และพบความเสี่ยงที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินกว่าปกติในช่วงหลังคลอดด้วย ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในกลุ่มโรคของเมตาบอลิก มีน้ำหนักเกินกว่าปกติก่อนการตั้งครรภ์ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับการหยุดให้นมบุตรก่อนปกติ ภาวะซีดหลังคลอด และภาวะซึมเศร้าได้(4)

ภาวะแทรกซ้อนของทารกและเด็กที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะอ้วนในขณะตั้งครรภ์ (Fetal complications and childhood morbidities)

ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงแก่ทารกตัวโตมากกว่าปกติและมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ โดยพบว่าทารกกลุ่มนี้มีส่วนของไขมันมากกว่าเด็กที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวปกติ และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มโรคของเมตาบอลิกและภาวะอ้วนในเด็กได้ในอนาคตด้วย ซึ่งเมื่อติดตามเด็กที่เกิดจากมารดาที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์ที่กำหนดไปประมาณ 3 ปี พบว่า เด็กกลุ่มนี้มีภาวะอ้วนถึง 2.39 เท่า (9)

มีการศึกษาใหญ่ในสแกนิเนเวีย พบความสัมพันธ์ระหว่างมารดาที่มี BMI สูงกับโรคหอบหืดในเด็กที่มากขึ้น รวมไปถึงการเกิดภาวะออทิสติก พัฒนาการของเด็กที่ช้ากว่าปกติ และความผิดปกติด้านความสนใจของเด็กจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นด้วยเช่นกัน แตข้อมูลดังกล่าวยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากพบว่ายังมีเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ ฐานะสังคม พฤติกรรม อาหารและกิจกรรมต่างๆ ที่อาจจะมีผลต่อปัญหาดังกล่าวได้

Facilities and equipment considerations

ในช่วงระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดและคลอด จำเป็นต้องจัดหาเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย เช่น ขนาดอุปกรณ์สำหรับวัดความดันโลหิต เก้าอี้ เตียงสำหรับรอคลอด และมีเครื่องติดตามผู้ป่วยในช่วงระหว่างคลอด

สำหรับการผ่าตัดคลอดบุตรนั้น ควรจะต้องมีการเตรียมเตียงสำหรับการผ่าตัดที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย ซึ่งโดยปกติแล้วเตียงผ่าตัดสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 205 กิโลกรัม หรือบางเตียงอาจรับน้ำหนักได้ถึง 455 กิโลกรัม การจัดหาอุปกรณ์ผ่าตัดที่มีขนาดยาวเพื่อที่จะสามารถทำการผ่าตัดได้สะดวกมากขึ้น ส่วนเรื่องการจัดท่าผู้ป่วยขณะทำการผ่าตัดนั้นก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ผ่าตัดและวิสัญญีแพทย์ในช่วงระยะเวลาผ่าตัดนั้น และในระหว่างที่ทำการผ่าตัดควรป้องกันภาวะ กดทับของเนื้อเยื่อและการได้รับการบาดเจ็บของเส้นประสาท โดยการปรับระดับสายรัดตัวของผู้ป่วยให้เหมาะสม และใช้แผ่นเจลในการป้องกันการเคลื่อนที่ของผู้ป่วยด้วย

การดูแลรักษาผู้ป่วยก่อนคลอดและระหว่างตั้งครรภ์(4)

  • ควรมีการดูแลควบคุมน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นรักษาด้วยการผ่าตัดหรือวิธีอื่นๆ ซึ่งพบว่าการลดน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์เพียงเล็กน้อยก็จะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ที่ดีของการตั้งครรภ์
  • มีการศึกษาแบบ Randomized ในการปรับทัศนคติเรื่องของการลดความอ้วน พบว่า สามารถลดน้ำหนักได้ แม้ว่าการลดน้ำหนักลงมากกว่า 5-7% จะช่วยทำให้ภาวะเมตาบอลิกดีขึ้นได้แต่ BMI ที่ลดลงไม่มีผลนัยสำคัญทางสถิติ
  • The U.S. Preventive Services Task Force (USPSTF) ได้ให้คำแนะนำแก่ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มี BMI ≥30 kg/m2 ควรจะได้รับการส่งต่อแก่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่ างเหมาะสม
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาเพื่อควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากอาจมีผลต่อความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์
    • การใช้ยาที่มีผลต่อการหลั่งของสารสื่อประสาท ซึ่งจะช่วยลดความอยากอาหารลงได้
    • การใช้ยาที่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ของตับอ่อน ซึ่งจะลดการดูดซึมของไขมันบริเวณที่ลำไส้เล็ก
    • การใช้ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ที่ช่วยในการลดการสร้างน้ำตาลที่ตับ และมีผลในการลดน้ำหนักได้
  • ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มักจะเป็นการดูแลรักษาเบื้องต้นในการควบคุมน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์ แต่ได้มีการศึกษา Meta-analysis(10) เรื่องการควบคุมอาหารและการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ พบว่า หญิงตั้งครรรภ์สามารถลดน้ำหนักในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ได้ 0.90 เท่า และน้ำหนักของทารกลดลง 0.94 แต่ผลดังกล่าวไม่ได้ความสำคัญทางนัยสถิติ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานพบว่า สามารถลดการผ่าตัดคลอดบุตรได้ 0.91 เท่าอีกด้วย

การควบคุมน้ำหนักในช่วงระหว่างตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติและภาวะอ้วน

น้ำหนักที่ควรเพิ่มในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ควรประเมินจากระดับ BMI ก่อนการตั้งครรภ์ ตามแนวทางปฏิบัติของ IOM ได้แนะนำว่า หากหญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติ (BMI 25-29.9) น้ำหนักที่ควรเพิ่มทั้งหมดขณะตั้งครรภ์ 6.8-11.3 kg (11) และสำหรับในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน (BMI ≥ 30 kg/m2) ควรมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 5.0-9.1 kg ดังแสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ตารางคำแนะนำสำหรับน้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ตามดัชนีมวลกายของหญิงตั้งครรภ์ (12)

ประเภทของน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์

BMI (kg/m2)

น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นทั้งหมดในช่วงระหว่างตั้งครรภ์  (kg)

น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ต่อสัปดาห์  (kg/wk)

น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ

น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ

น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติ

ภาวะอ้วน

< 18.5

18.5-24.9

25-29.9

30

12.71-18.14

11.34-15.88

6.80-11.34

5-9.07

0.45 (0.45-0.59)

0.45 (0.36-0.45)

0.27 (0.23-0.32)

0.23 (0.18-0.27)

 น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 0.5-2 kg ในช่วงไตรมาสที่ 1

ตามแนวทางการปฏิบัติของ IOM ยังไม่แนะนำให้ควบคุมน้ำหนักที่น้อยกว่าที่กำหนด เนื่องจากอาจจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และทารกแรกคลอด แม้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวต่อมารดาและทารกแรกคลอดก็ตาม มีการรายงานว่าพบทารกในครรภ์น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ (Small gestational age, SGA) ในมารดาที่มีภาวะอ้วนและพยายามลดน้ำหนักอย่างมากและจำกัดเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ แต่ก็พบว่าสามารถลดอัตราการผ่าตัดคลอดบุตร ลดความเสี่ยงเรื่องของทารกน้ำหนักเกินกว่าอายุครรภ์ และภาวะน้ำหนักของมารดาที่ค้างอยู่หลังคลอดบุตร

จากการศึกษาของ Centers for Disease Control and Prevention Pregnancy Nutrition Surveillance System พบว่า ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนระดับที่ 1 ที่ไม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์หรือมีน้ำหนักลดลงถึง 4.9 kg เพิ่มความเสี่ยงของ SGA 1.2 เท่า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า หากหญิงตั้งครรภ์น้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 5 kg ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ พบว่ามี SGA 9.6 % เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 kg พบ SGA 4.9% คิดเป็น 2.6 เท่า รวมไปถึงมีน้ำหนักแรกคลอด ความยาวของเด็กทารก ปริมาณไขมันในตัวเด็ก และเส้นรอบวงของศีรษะจะน้อยกว่าเกณฑ์ปกติด้วย
การศึกษา Systemic review ก็พบว่าการที่หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนที่มีน้ำหนักลดลงในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ พบว่าความเสี่ยงของ SGA ที่น้อยกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 10 1.76 เท่า (95% CI, 1.45-2.14) และมี SGA น้ำหนักน้อยกว่า เปอร์เซนต์ไทล์ที่ 3 1.62 เท่า (95% CI, 1.19-2.20) จากหลักฐานการศึกษาทั้งหมด พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน ไม่ควรควบคุมน้ำหนักลดลงมากผิดปกติในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อน้ำหนักของทารกในครรภ์ได้

การตรวจคัดกรองความพิการแต่กำเนิดในช่วงระหว่างตั้งครรภ์

เนื่องจากภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงในการพบความผิดปกติของทารกในครรภ์หรือความพิการแต่กำเนิดได้ ดังนั้น การตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวน์จึงมีความจำเป็นมาก แต่เนื่องจากการที่มี BMI เพิ่มมากขึ้น กลับพบว่าการตรวจพบความผิดปกติจะลดลง ดังแสดงในตารางที่ 4

ตารางที่ 4 แสดงการตรวจคัดกรองพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ (13)

BMI (kg/m2)

อัลตราซาวน์แบบมาตรฐาน

อัลตราซาวน์แบบเฉพาะจุด

น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ (< 25)

น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติ (25-29.9)

ภาวะอ้วนระดับที่ 1 (30-34.9)

ภาวะอ้วนระดับที่ 2 (35-39.9)

ภาวะอ้วนระดับที่ 3 40

66%

49%

48%

45%

22%

97%

91%

75%

88%

75%

 

จากการศึกษาแบบ Retrospective cohort (13) ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์ พบว่า BMI ของหญิงตั้งครรภ์ที่มากขึ้น จะทำให้การตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ลดลงอย่างน้อย 20% เมื่อเทียบหญิงตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตามเกณฑ์ปกติ ซึ่งการใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก MRI สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้เป็นการตรวจคัดกรองโดยทั่วไปเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงและยังไม่แพร่หลาย

การตรวจคัดกรองเรื่องโครโมโซมผิดปกติจากอัลตราซาวน์ เช่น การตรวจเนื้อเยื่อบริเวณต้นคอของเด็กทารกที่หนาตัวขึ้น (nuchal fold), ลำไส้ที่ภาพขาวขึ้นมากผิดปกติ(echogenic bowel), จุดขาวบริเวณหัวใจของทารก (echogenic cardiac foci) ไม่ได้สัมพันธ์กับ BMI ที่เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อใช้ความผิดปกติหลายอย่างรวมกันในการประเมินความผิดปกติของทารกจะทำให้ความไวในการตรวจพบลดลง 22% และเพิ่มผลลบลวงมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน 78% เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักปกติ

ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์นอกจากจะมีผลในเรื่องของการตรวจอัลตราซาวน์แล้ว ยังมีผลต่อการการตรวจคัดกรองความผิดปกติโดยใช้ซีรั่มด้วย เนื่องจากมีปริมาตรของเลือดที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ค่าผิดปกติในซีรั่มลดลง ซึ่งเมื่อใช้น้ำหนักมาคำนวณหาความผิดปกติแล้ว จะช่วยในการตรวจคัดกรองความผิดปกติของ ไขสันหลังและโครโมโซม 18 ได้ดีขึ้น แต่ไม่ได้ มีผลต่อการตรวจเรื่องดาวน์ซินโดรม

ส่วนในการตรวจคัดกรองความผิดปกติบริเวณหัวใจของทารกในครรภ์พบว่า โอกาสการตรวจพบความผิดปกติลดลงด้วยเช่นกัน 8.3% (21.6% ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีค่า BMI < 25 kg/m2) และเพิ่มโอกาสในการตรวจผลผิดปกติทั้งที่ไม่เป็นโรคสูงถึง 91.7% (78.4% เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่มี BMI < 25 kg/m2) การตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์โดยทั่วไป ก็พบว่าการตรวจพบความผิดปกติลดลงด้วยเช่น 0.7 เท่า

ความผิดปกติของกลุ่มเมตาบอลิกในหญิงตั้งครรภ์

ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกลุ่มเมตาบอลิกมากขึ้น ภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้ เช่น การทำงานของหัวใจและเมตาบอลิซึมที่ผิดปกติแต่ไม่แสดงอาการ ภาวะครรภ์เป็นพิษเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งจะมีผลต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่ดีได้ ดังนั้นควรมีการตรวจคัดกรองเพื่อหาความผิดปกติดังกล่าวเมื่อผู้ป่วยมาฝากครรภ์ตั้งแรก

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เมื่อพบว่าหญิงตั้งครรภ์มีอาการนอนกรน นอนหลับมากในช่วงกลางวัน มีภาวะการหยุดหายใจหรือภาวะขาดออกซิเจนโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรสงสัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับและส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ ยวชาญเพื่อทำการดูแลรักษาต่อไป เนื่องจากภาวะนี้พบว่า สัมพันธ์กับการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ 2.5 เท่า , ภาวะชักจากความดันโลหิตสูง 5.4 เท่า , กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 9 เท่า , ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด 4.5 เท่า และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาล 5.28 เท่า นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ภาวะดังกล่าวส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติ การคลอดเร็วและภาวะตายคลอดได้ แต่ก็ยังไม่เป็นข้อสรุปที่ชัดเจน

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์(14) ปัจจุบันได้แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกรายในช่วงอายุครรภ์ที่ 24-28 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วนทุกราย (BMI >25 kg/m2 หรือ BMI >23 kg/m2 ในชาวเอเชีย) และมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่ ไม่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ประวัติญาติสายตรงเป็นเบาหวาน , เชื้อชาติที่มีความเสี่ยงสูง (แอฟริกันอเมริกัน ละติน อเมริกัน เอเชียอเมริกัน และชาวเกาะแปซิฟิก ) ประวัติคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 4000 กรัม, ประวัติโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในครรภ์ก่อน , ความดันโลหิตสูง , ไขมันในเลือดผิดปกติ (HDL <35 mg/dl, Triglyceride >250 mg/dl) , มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ , เคยตรวจพบความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดหรือมีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน , HbA1C ≥ 5.7% , ภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น BMI >40 kg/m2 , Acanthosis nigricans เป็นต้น และประวัติโรคหลอดเลือดและหัวใจ ผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตั้งแต่ครั้งแรกที่มาตรวจฝากครรภ์ หากผลปกติควรได้รับการตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์

การตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์

เนื่องจากภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาะวะแท้งและภาวะตายคลอดสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องของการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ในการเพิ่มผลลัพธ์ที่ดีของการตั้งครรภ์ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำในการตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนทุกราย

การดูแลรักษาผู้ป่วยในระหว่างคลอด

ภาวะอ้วนเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ในการชักนำการคลอด แต่อย่างไรก็ตามภาวะอ้วนก็จะส่งผลทำให้เกิดระยะเวลาการคลอดที่ยาวนานขึ้นและความเสี่ยงทำให้เกิดการชักนำการคลอดเกิดขึ้นได้ โดยพบว่า ระยะเวลาการคลอดที่ยาวนานขึ้นเกิดขึ้นในช่วงระยะที่ 1 ของการคลอด ซึ่งนี่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการผ่าตัดคลอดมากขึ้นด้วย ตามที่มีรายงานการศึกษาจำนวนมากพบว่า ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์จะเพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอดบุตรมากขึ้น 1.46 เท่า 2.05 เท่าในภาวะอ้วน และจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นถึง 2.89 เท่าเมื่อมีภาวะอ้วนที่รุนแรง เมื่อเทียบหญิงตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตามเกณฑ์ปกติ (15)

ตารางที่ 5 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีมวลกายของหญิงตั้งครรภ์และอัตราการเกิดความสำเร็จจากการคลอดบุตรทางช่องคลอดหลังจากผ่าตัดคลอดบุตร (16)

BMI (kg/m2)

Vaginal birth after C/S rate

<19.8

19.8-26

26.1-29

> 29

83.1

79.9

69.3

68.2

ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนและมีประวัติการผ่าตัดคลอดบุตร มักจะมีความเสี่ยงจากการเกิดการคลอดบุตรทางช่องคลอดสูงมากขึ้นกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักปกติ เช่น ทำให้นอนรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มดลูกฉีกขาดหรือแยกได้ การบาดเจ็บต่อทารกทำให้กระดูกหัก และแขนงเส้นประสาทบริเวณแขนได้รับบาดเจ็บหรือฉีกขาดได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ทำให้เกิดการตกเลือดหลังคลอดมากขึ้นเมื่อคลอดบุตรทางช่องคลอด แต่ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงเมื่อผ่าตัดคลอดบุตร

ความเสี่ยงของการผ่าตัดและการดมยาขณะผ่าตัดจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย ดังนั้นควรมีการเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการวัดความดันโลหิตสูง การเจาะเลือดผู้ป่วย และป้องกันภาวะหยุดหายใจขณะผ่าตัด ซึ่งหากมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วยอยู่แล้วจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์สูงและอาจจะเสียชีวิตกระทันหันได้

การให้ยาระงับปวดทางบริเวณน้ำไขสันหลัง (Epidural หรือ Spinal anesthesia) เป็นสิ่งที่แนะนำเพื่อระงับอาการเจ็บปวดในขณะคลอด แต่เนื่องจากเทคนิคดังกล่าวอาจจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากตัวของผู้ป่วยที่น้ำหนักมากและไม่มีจุดกำหนดที่ชัดเจนในการฉีดยาเข้าบริเวณไขสันหลัง ดังนั้น จึงเพิ่มโอกาสไม่ประสบความสำเร็จในการให้ยาระงับปวดแบบนี้ได้ พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนระดับ 3 อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำและเสียงหัวใจของทารกต่ำกว่าปกติ หลังจากที่ได้รับยาหรือในรายที่มีความดันโลหิตสูงอยู่เดิม รวมไปถึงการใช้ Spinal anesthesia จะทำให้เกิดการทำงานของระบบทางเดินหายใจผิดปกติมากถึง 2 ชั่วโมง หลังจากการทำหัตถการ

การดมยาสลบ ก็เพิ่มความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เนื่องจากการใส่ท่อช่วยหายใจที่ยากขึ้นเนื่องจากเนื้อเยื่อที่มากกว่าปกติและบวม แต่การดมยาสลบไม่ได้เป็นข้อห้ามในภาวะอ้วน แต่ควรให้ออกซิเจนก่อนการดมยาสลบ จัดท่าผู้ป่วยให้เหมาะสม และเตรียมอุปกรณ์พวกไฟเบอร์ออฟติกในการใส่ท่อช่วยหายใจไว้หากเกิดภาวะฉุกเฉิน

การใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แนะนำให้ยาแบบครอบคลุมเชื้อในรายที่ต้องได้รับการผ่าตัดคลอดทุกราย โดยได้แนะนำให้ยา cefazolin 2 กรัม ในรายที่มีน้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม และจะเพิ่มยาเป็น cefazolin 3 กรัม หากน้ำหนักมากกว่า 120 กิโลกรัม แต่ก็ได้มีการศึกษา Double-blind RCTs ในรายที่มี BMI ≥ 30 kg/m2 พบว่าไม่ได้มีผลต่อระดับยาในไขมันที่แตกต่างกันในการให้ขนาดยา Cefazolin 2 กรัมและ 3 กรัม และยังไม่มีผลการศึกษาเรื่องการลดอัตราการติดเชื้อเมื่อให้ยาที่ขนาดสูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในการให้ยาปฏิชีวนะตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วยในปัจจุบัน

แผลผ่าตัดเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาในการผ่าตัดคลอดบุตรหญิงที่มีภาวะอ้วน พบว่า การลงแผลผ่าตัดแบบแนวตั้งจะเพิ่มโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าแผลผ่าตัดแนวนอน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ การเกิดของเหลวคั่งในชั้นใต้ผิวหนัง การมีเลือดคั่งใต้ผิวหนัง แผลแยกหรือแผลปลิ้นได้ ส่วนในการเย็บปิดแผลผ่าตัดชั้นไขมันใต้ผิวหนังที่มีความหนามากกว่า 2 เซนติเมตร จะช่วยลดโอกาสเกิดแผลแยกได้ แต่การวางสายระบายในรายที่มีความหนาของไขมันมากกว่า 4 เซนติเมตร ไม่พบว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันเรื่องภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัดได้ และอาจจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงได้มากขึ้น ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้สายระบายในชั้นไขมันใต้ผิวหนังในการเย็บปิดแผลผ่าตัด นอกจากนี้ยังพบว่า การทำความสะอาดบริเวณแผลก่อนผ่าตัดด้วยชนิดต่างๆ เทคนิคของการเย็บปิดแผลผ่าตัด การให้ออกซิเจน ไม่ได้มีประโยชน์ในการช่วยลดอัตราการติดเชื้อหลังการผ่าตัดได้

การดูแลรักษาผู้ป่วยในหลังคลอด

หลังคลอด ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนจะมีความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำมากกว่าคนทั่วไปถึง 5.3 เท่า จึงได้มีคำแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ Pneumatic compression ก่อนที่จะทำการผ่าตัดคลอดจนถึงหลังคลอดแก่ผู้ป่วยทุกรายที่ไม่ได้รับการให้ยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน และให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวหลังผ่าตัดได้หากไม่มีข้อห้าม สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ หรือได้รับยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน ควรจะพิจารณาใช้อุปกรณ์ Pneumatic compression ร่วมด้วย นอกจากภาวะอ้วนแล้ว การไม่เคลื่อนไหวของร่างกาย ครรภ์เป็นพิษ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ผิดปกติ การติดเชื้อและการผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำได้อีกด้วย จึงได้มีคำแนะนำให้ใช้ Enoxaparin 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว โดยจะเริ่มให้ 12 ชั่วโมงหลังจากผ่าตัดคลอดบุตร หาก BMI 40-59.0 kg/m2 ใช้ Enoxaparin 40 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง และเพิ่มขนาดยาเป็น 60 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง หาก BMI >60 kg/m2 (17) โดยหากได้ค่า Anti-Xa อยู่ระหว่าง 0.2-0.6 IU/ml ซึ่งจะเพียงพอต่อการป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำได้ นอกจากนี้ยังได้มีคำแนะนำว่าการให้ยา Enoxaparin ตามน้ำหนักตัวอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากับปรับยาตาม BMI ในรายที่มีภาวะอ้วนระดับ III

การติดเชื้อหลังการผ่าตัดคลอดในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนพบได้ 18.4% สูงขึ้น 1.43 เท่า เมื่อเทียบกับหลังคลอดที่มีปกติ โอกาสเกิดการติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้นตามน้ำหนักที่มากขึ้นไปด้วย พบการติดเชื้อ 1.6 เท่าในรายที่มีน้ำหนักเกินปกติ, 2.4 เท่าในรายที่มีภาวะอ้วนระดับ 1 และสูงขึ้นถึง 3.7 เท่าในรายที่มีภาวะอ้วนตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป ซึ่งหากการติดเชื้อดังกล่าวอยู่บริเวณผิวและไม่พบหนอง สามารถให้การรักษาแบบประคับประคองและให้ยาปฏิชีวนะอย่างเดียวได้ แต่หากการติดเชื้อค่อนข้างลึก จำเป็นที่จะต้องมีการเปิดแผล ทำการตกแต่งแผล และเย็บปิดแผลในภายหลัง

การดูแลรักษาผู้ป่วยหลังคลอดและก่อนการตั้งครรภ์ท้องต่อไป (4)

หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินกว่า IOM แนะนำพบว่า จะมีน้ำหนักตัวคงอยู่หลังคลอด 3.06 กิโลกรัมหลังคลอดไปแล้ว 3 ปี และเพิ่มขึ้น 4.72 กิโลกรัม หลังคลอด 15 ปีขึ้นไป ส่วนในรายที่มีการเพิ่มของน้ำหนักน้อยปกติ จะมีน้ำหนักลดลง 3 กิโลกรัมใน 6 เดือนหลังคลอด บางการศึกษาพบว่าหญิงที่มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเกิน 20 กิโลกรัม จะมีความเสี่ยงที่น้ำหนักตัวจะคงอยู่หลังคลอดถึง 6 เท่า ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10-15 กิโลกรัม ดังนั้นการที่มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในขณะตั้งครรภ์จะทำให้น้ำหนักตัวเหลือคงอยู่หลังคลอดเพิ่มมากขึ้นด้วย

การศึกษา Cochrane review พบว่า การควบคุมอาหารเพียง หรือการควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายหลังคลอด จะช่วยลดน้ำหนักหลังคลอดได้ และควรมีการส่งเสริมให้มีการควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนการตั้งครรภ์ท้องต่อไป

สรุป ภาวะอ้วนในหญิงตั้งครรภ์เป็นปัญหาที่สำคัญที่อีกอย่างหนึ่งในเวชปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์เอง จากตัวผู้ป่วย โรคร่วมที่อาจจะตรวจพบในขณะตั้งครรภ์ การคลอด หรือการผ่าตัดคลอด และหลังคลอด ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ในการตั้งครรภ์ที่ไม่ดีได้ ดังนั้น การดูแลรักษาและให้คำแนะนำในการควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์

เอกสารอ้างอิง

  1. Obesity: preventing and managing the global epidemic. Report of a WHO consultation. World Health Organization technical report series. 2000;894:i-xii, 1-253.
  2. Flegal KM, Kruszon-Moran D, Carroll MD, Fryar CD, Ogden CL. Trends in Obesity Among Adults in the United States, 2005 to 2014. Jama. 2016;315(21):2284-91.
  3. Yiengprugsawan V, Rimpeekool W, Papier K, Banwell C, Seubsman SA, Sleigh AC. Relationship between 8-year weight change, body size, and health in a large cohort of adults in Thailand. Journal of epidemiology. 2017;27(10):499-502.
  4. Practice Bulletin No. 156: Obesity in Pregnancy: Correction. Obstetrics and gynecology. 2016;128(6):1450.
  5. Salihu HM, Dunlop AL, Hedayatzadeh M, Alio AP, Kirby RS, Alexander GR. Extreme obesity and risk of stillbirth among black and white gravidas. Obstetrics and gynecology. 2007;110(3):552-7.
  6. Yao R, Ananth CV, Park BY, Pereira L, Plante LA. Obesity and the risk of stillbirth: a population-based cohort study. American journal of obstetrics and gynecology. 2014;210(5):457.e1-9.
  7. Aune D, Saugstad OD, Henriksen T, Tonstad S. Maternal body mass index and the risk of fetal death, stillbirth, and infant death: a systematic review and meta-analysis. Jama. 2014;311(15):1536-46.
  8. Hibbard JU, Gilbert S, Landon MB, Hauth JC, Leveno KJ, Spong CY, et al. Trial of labor or repeat cesarean delivery in women with morbid obesity and previous cesarean delivery. Obstetrics and gynecology. 2006;108(1):125-33.
  9. Diesel JC, Eckhardt CL, Day NL, Brooks MM, Arslanian SA, Bodnar LM. Is gestational weight gain associated with offspring obesity at 36 months? Pediatric obesity. 2015;10(4):305-10.
  10. Effect of diet and physical activity based interventions in pregnancy on gestational weight gain and pregnancy outcomes: meta-analysis of individual participant data from randomised trials. BMJ (Clinical research ed). 2017;358:j3119.
  11. ACOG Committee opinion no. 548: weight gain during pregnancy. Obstetrics and gynecology. 2013;121(1):210-2.
  12. Institute of M, National Research Council Committee to Reexamine IOMPWG. The National Academies Collection: Reports funded by National Institutes of Health. In: Rasmussen KM, Yaktine AL, editors. Weight Gain During Pregnancy: Reexamining the Guidelines. Washington (DC): National Academies Press (US) National Academy of Sciences.; 2009.
  13. Dashe JS, McIntire DD, Twickler DM. Effect of maternal obesity on the ultrasound detection of anomalous fetuses. Obstetrics and gynecology. 2009;113(5):1001-7.
  14. Practice Bulletin No. 180: Gestational Diabetes Mellitus. Obstetrics and gynecology. 2017;130(1):e17-e37.
  15. Chu SY, Kim SY, Schmid CH, Dietz PM, Callaghan WM, Lau J, et al. Maternal obesity and risk of cesarean delivery: a meta-analysis. Obesity reviews : an official journal of the International Association for the Study of Obesity. 2007;8(5):385-94.
  16. Juhasz G, Gyamfi C, Gyamfi P, Tocce K, Stone JL. Effect of body mass index and excessive weight gain on success of vaginal birth after cesarean delivery. Obstetrics and gynecology. 2005;106(4):741-6.
  17. Bates SM, Greer IA, Middeldorp S, Veenstra DL, Prabulos AM, Vandvik PO. VTE, thrombophilia, antithrombotic therapy, and pregnancy: Antithrombotic Therapy and Prevention of Thrombosis, 9th ed: American College of Chest Physicians Evidence-Based Clinical Practice Guidelines. Chest. 2012;141(2 Suppl):e691S-e736S.
Read More
STD01

Sexually transmitted infections in pregnancy

Sexually transmitted infections in pregnancy
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในสตรีตั้งครรภ์

นพ. สันติภาพ ศรีสมบูรณ์
อาจารย์ที่ปรึกษา อ.พญ. กุณฑรี ไตรศรีศิลป์


บทนำ

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคที่สำคัญและพบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ สามารถพบได้บ่อยเช่นกันในสตรีตั้งครรภ์ มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์แตกต่างกันไปและอาจเกิดอันตรายต่อสตรีตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ได้ จึงควรได้รับการตรวจค้น รักษา ป้องกัน และให้คำแนะนำแก่สตรีตั้งครรภ์อย่างถูกต้อง
ในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย ส่งผลกระทบต่อสตรีตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ รวมถึงวิธีการรักษา แต่จะไม่ได้กล่าวถึงการติดเชื้อไวรัส HIV และไวรัสตับอักเสบบี

 

การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในสตรีตั้งครรภ์

 

 

หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ. 2558 (Centers for Disease Control and Prevention; CDC 2015) แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในสตรีตั้งครรภ์ ดังนี้

  • สตรีตั้งครรภ์ทุกรายต้องได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HIV ในครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV (ใช้ยาเสพติดผิดกฎหมาย ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ มีคู่นอนหลายคนขณะตั้งครรภ์ อยู่ในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของ HIV สูง และมีคู่นอนที่ติดเชื้อ HIV) ต้องตรวจอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 (ก่อนอายุครรภ์ 36 สัปดาห์)
  • สตรีตั้งครรภ์ทุกรายต้องได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิส ในครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อซิฟิลิส หรืออาศัยในพื้นที่ที่พบการติดเชื้อซิฟิลิสมากต้องตรวจอีกครั้งในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์) และตรวจอีกครั้งขณะคลอดบุตร
  • สตรีตั้งครรภ์ทุกรายต้องได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี(HBsAg) ในครั้งแรกที่มาฝากครรภ์แม้ว่าจะได้รับวัคซีนมาแล้ว ถ้าหากไม่ได้ตรวจแล้วมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือมีอาการตับอักเสบ ให้ทำการตรวจขณะที่มาคลอดบุตรด้วย และหากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถฉีดวัคซีนได้
  • สตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 25 ปี และสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโกโนเรีย และคลามิเดีย (มีคู่นอนคนใหม่, มีคู่นอนหลายคน, คู่นอนไปมีคู่นอนหลายคน, คู่นอนทราบว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ควรได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโกโนเรีย และคลามิเดีย เมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก และตรวจอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และหากได้รับการรักษา ควรทำการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังรักษา 3 เดือน
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ควรได้รับการตรวจคัดกรอง แต่ยังไม่มีแนวทางการรักษาในสตรีตั้งครรภ์ และยังไม่สามารถป้องกันการแพร่สู่ทารกได้
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ ควรได้รับการทำ PAP test เช่นเดียวกับสตรีปกติ

ซิฟิลิสในสตรีตั้งครรภ์

ซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อ Treponema pallidum เป็นแบคทีเรียชนิดเกลียว เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางรอยฉีกขาดของผนังช่องคลอด และแพร่กระจายผ่านระบบหลอดเลือดและน้ำเหลือง ส่งผลให้มีการอักเสบของปลายหลอดเลือดเล็ก ๆ  ผนังหนาตัวและเกิดการอุดตันของรูหลอดเลือด ผิวหนังขาดเลือด ตายและเกิดแผล สามารถติดเชื้อจากมารดาไปยังทารกได้โดยการแพร่ผ่านรกโดยตรง และขณะคลอดทางช่องคลอดที่มีรอยโรค

STD01

ภาพที่ 1: Treponema pallidum จากการดูโดยใช้ dark-field microscope

อาการแสดงของซิฟิลิส

แบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้

  1. ซิฟิลิสปฐมภูมิ(primary syphilis)
  2. ซิฟิลิสทุติยภูมิ(secondary syphilis)
  3. ซิฟิลิสระยะแฝง(latent syphilis)
  4. ซิฟิลิสระยะตติยภูมิ(tertiary or late syphilis)

1. ซิฟิลิสปฐมภูมิ(primary syphilis) หลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย มีระยะฟักตัวจนเกิดแผล 3 – 90 วัน ต่อมาแสดงอาการโดย มีแผลที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก บริเวณที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ลักษณะเป็นแผลริมแข็งสีแดง ตุ่มแข็ง ไม่เจ็บ ขอบยกนูน พื้นแผลเรียบ ไม่มีเลือดออกก่อนจะเกิดแผล มักจะไม่มีหนองที่แผล มักพบต่อมน้ำเหลืองโตที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง อาการหายไปได้เองใน 2-8 สัปดาห์

STD02a

STD02b

ภาพที่ 2: ซิฟิลิสปฐมภูมิ เป็นแผลที่อวัยวะเพศ

2. ซิฟิลิสทุติยภูมิ(secondary syphilis) เกิดตามหลังระยะปฐมภูมิประมาณ 4-10 สัปดาห์(หลังจากเกิดแผลริมแข็ง) มีเชื้อปริมาณสูงแพร่ไปทั่วร่างกาย และส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ อวัยวะ อาการสำคัญคือมีผื่นขึ้นบนผิวหนังตามร่างกายแบบ diffuse macular rash และฝ่ามือและฝ่าเท้าแบบ targetlike lesions ต่อมน้ำเหลืองโตทั่ว ๆ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ได้ อาจพบแผลสีเทาขอบนูนในเยื่อบุผิว เช่นในช่องปาก เรียกว่า mucous patch อาจพบผื่นนูนขนาดใหญ่ สีเทา หรือขาว บริเวณที่มีความชื้นและอุ่น เช่นรักแร้ ขาหนีบ และอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกได้ เรียกว่า condyloma lata และจะมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดตามข้อได้ สามารถพบความผิดปกติใน CSF ได้และ 1-2% พบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ อาการสามารถหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษา อาจพบผื่นเป็น ๆ หาย ๆ ได้ในช่วง 1 ปีแรก

STD03a

STD03b

STD03c

ภาพที่ 3: ซิฟิลิสทุติยภูมิ ซ้าย: ผื่นบริเวณฝ่ามือ กลาง: ผื่นขึ้นบนผิวหนังตามร่างกาย ขวา: condyloma lata

3. ซิฟิลิสระยะแฝง(latent syphilis) เป็นระยะที่ต่อจากระยะปฐมภูมิ และทุติยภูมิ โดยไม่ได้รักษา จะไม่มีอาการแสดง แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด แบ่งเป็น 2 ระยะ

3.1 ระยะแฝงช่วงต้น(Early latent syphilis) คือไม่มีอาการ และมีประวัติได้รับเชื้อมาน้อยกว่า 1 ปี
3.2 ระยะแฝงช่วงปลาย(Late latent syphilis/latent syphilis of unknown duration) คือไม่มีอาการ และมีประวัติได้รับเชื้อมากกว่า 1 ปี หรือไม่ทราบเวลาที่แน่นอนในการติดเชื้อ ในระยะแฝงช่วงปลายจะไม่ถ่ายทอดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่ในสตรีตั้งครรภ์สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกได้ การวินิจฉัยควรเจาะตรวจน้ำไขสันหลังด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มี neurosyphilis ซ่อนอยู่ และควรตรวจภาพรังสีทรวงอก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มี aortitis หรือ aneurysm

4. ซิฟิลิสตติยภูมิ(tertiary or late syphilis) พบน้อยในสตรีตั้งครรภ์ พบหลังจากระยะปฐมภูมิ ประมาณ 3-10 ปี หรืออาจช้ากว่านี้ ในระยะนี้จะตรวจพบรอยโรคที่ผิวหนัง เยื่อบุ กระดูก ข้อต่อ เอ็น กล้ามเนื้อ ตับ ม้าม รอยโรคที่ผิวหนังและเยื่อบุ เรียกว่า Gumma คือมี tissue necrosis ตรงกลาง เป็น granular material ล้อมรอบด้วยชั้นของ granulation tissue ซึ่งด้านนอกสุดเป็น fibrous tissue มีการทำลายของระบบประสาท(neurosyphilis) และระบบหัวใจหลอดเลือด(vascular syphilis) และอวัยวะอื่น ๆ

STD04a

STD04b

ภาพที่ 4: ซิฟิลิส ตติยภูมิ ลักษณะเป็น gumma บริเวณจมูก

ผลต่อการตั้งครรภ์

ซิฟิลิสโดยกำเนิดมักจะเกิดกับการติดเชื้อหลังอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบสร้างภูมิคุ้มกันของทารกทำงานแล้วเนื่องจากพยาธิสภาพของโรคเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน การรักษาซิฟิลิสจึงต้องรักษาทุกอายุครรภ์ ผลเสียของการติดเชื้อในมารดาที่ไม่ได้รับการรักษาคือ เพิ่มอัตราการแท้งหลัง 4 เดือน ทารกตายคลอด คลอดก่อนกำหนดและทารกในครรภ์โตช้า ทารกบวมน้ำ ทารกเป็นซิฟิลิสโดยกำเนิด

ทารกบวมน้ำ เกิดจากระบบการทำงานของตับผิดปกติ ส่งผลให้มีภาวะซีดและเกล็ดเลือดต่ำในทารก มีน้ำในท้อง และเกิดการบวมน้ำได้

การวินิจฉัย

ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ร่วมกับประวัติและการตรวจร่างกาย

  • ตรวจหาเชื้อ Treponema pallidum นำน้ำเหลืองจากแผลไปส่องด้วยกล้อง dark field microscope
  • การทดสอบแอนติบอดีที่ไม่จำเพาะ(nontreponemal test) ได้แก่ Venereal disease research laboratory (VDRL) และ Rapid plasma reagin (RPR) มีความจำเพาะต่ำ แต่ใช้ในการคัดกรองและติดตามผลการรักษา บอกค่าเป็น titer โดยทั่วไปในระยะทุติยภูมิค่ามักจะมากกว่า 1:32
  • การทดสอบแอนติบอดีที่จำเพาะ(treponemal test)  ได้แก่ fluorescent treponemal-antibody absorption tests(FTA-ABS), microhemagglutination assay for antibodies to T.pallidum  (MHA-TP) หรือ Treponema pallidum passive particle agglutination (TPPA/TPHA) test, Treponama pallidum enzyme immunoassay (TP-EIA), และ Chemiluminescence immunoassay (CIA) ใช้ในการทดสอบเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ให้ผลบวกได้นานหลังการรักษาแล้ว จึงไม่ใช้ในการติดตามการรักษา

สามารถประยุกต์ใช้การทดสอบแอนติบอดีที่ไม่จำเพาะ และจำเพาะเพื่อช่วยในการวินิจฉัย โดยแบ่งเป็น traditional screening algorithm และ reverse screening algorithm ดังนี้

STDdg1

STDdg2

การตรวจน้ำไขสันหลัง  เพื่อวินิจฉัยซิฟิลิสระบบประสาท(neurosyphilis) จะพบ CSF-VDRL เป็น reactive และ WBC count ≥ 20 cell/mm3 แนะนำให้ทำทุกรายที่เป็นมามากกว่า 1 ปี(late latent syphilis) ที่มีอาการทางระบบประสาทเช่น ความบกพร่องทางสายตาและการได้ยิน ตรวจพบ titer จากการทดสอบที่ไม่จำเพาะมากกว่า 1:32  ตรวจพบ gumma aortitis หรือ iritis มีการติดเชื้อ HIV และได้รับการรักษาด้วยยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ penicillin
ตามคำแนะนำของ CDC 2015 สตรีตั้งครรภ์ทุกรายต้องได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิส ในครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อซิฟิลิส หรืออาศัยในพื้นที่ที่พบการติดเชื้อซิฟิลิสมากต้องตรวจอีกครั้งในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์) และตรวจอีกครั้งขณะคลอดบุตร

การรักษา

ซิฟิลิสช่วงต้น(Early infectious stage) ได้แก่ ซิฟิลิสปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ระยะแฝงช่วงต้น
ตาม CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558

  • Benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต IM ครั้งเดียว (ให้แบ่งฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกข้างละ 1.2 ล้านยูนิต และอาจลดอาการปวดจากการฉีด โดยผสมกับ 1%lidocaine ที่ไม่มี epinephrine จำนวน 0.5- 1ml)
  • กรณีแพ้ยา penicillin ให้รักษาด้วย penicillin หลัง desensitization
    หรือให้ Ceftriaxone 1-2 gm IV หรือ IM วันละ 1 ครั้ง นาน 10-14 วัน
    หรือให้ Erythromycin sterate 500 mg กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหารนาน 14 วัน
    Erythromycin ให้ผลการรักษาต่ำ ผ่าน blood brain barrier และ placental barrier ได้ไม่ดี ทารกต้องได้รับการตรวจเลือด และติดตามดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด (CDC 2015 ไม่แนะนำให้ใช้ erythromycin แล้ว)

ซิฟิลิสช่วงปลาย(Late infectious stage) ได้แก่ ซิฟิลิสระยะแฝงช่วงปลาย ซิฟิลิสตติยภูมิ  ซิฟิลิสระบบหัวใจและหลอดเลือด ยกเว้นซิฟิลิสระบบประสาท
ตาม CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558

  • Benzathine penicillin G รวม 7.2 ล้านยูนิต, แบ่งให้ 3 ครั้ง ครั้งละ 2.4 ล้านยูนิต IM ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์
  • กรณีแพ้ยา penicillin ให้รักษาด้วย penicillin หลัง desensitization

ซิฟิลิสระบบประสาท(neurosyphilis) และซิฟิลิสที่เข้าดวงตา(ocular syphilis/uveitis)
ตาม CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558

  • Aqueous crystalline penicillin G 3-4 ล้าน ยูนิต IV ทุก 4 ชั่วโมง (18-24 ล้านยูนิตต่อวัน) นาน 10 – 14 วัน
    หรือใช้ตำรับรอง
  • Procaine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต IM วันละครั้ง ร่วมกับ Probenecid 500 mg รับประทานวันละ 4 ครั้ง นาน 10–14 วัน
  • Ceftriaxone 2 gm IV หรือ IM วันละ 1 ครั้ง นาน 10-14 วัน (ข้อมูลการใช้จำกัด ในสตรีตั้งครรภ์ และนำให้ใช้วิธี desensitization ในกรณีที่แพ้ penicillin)

การรักษาผู้สัมผัสโรค ให้พิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้สัมผัสโรคทุกรายและทำการรักษาตามระยะ  ในผู้ที่สัมผัสโรคภายใน 90 วัน กับผู้ป่วยซิฟิลิสปฐมภูมิ VDRL อาจให้ผลลบได้ ควรรักษาโดยอนุมานเอาว่าติดเชื้อ

หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาใน 24 ชั่วโมง สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาได้ เรียกว่า Jarisch-Herxheimer reaction โดยเกิดจากการหลั่งผลผลิตในเซลล์เชื้อที่แตกออกจากการรักษาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการไข้ ปวดเมื่อยตัว แสบร้อนบริเวณแผล หน้าแดง เหงื่อออก ความดันโลหิตต่ำ ได้ บางรายอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากมีอาการเกิดขึ้นสามารถรักษาตามอาการได้โดยให้ยาแก้ปวดเช่น aspirin, ibuprofen และยาลดไข้ ได้แก่ paracetamol ในสตรีตั้งครรภ์อาจทำให้มีการหดรัดตัวของมดลูก และเกิด fetal heart rate ผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการอย่างเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง

การติดตามผลหลังการรักษา

ให้ติดตามที่ 6 และ 12 เดือน ระดับ titer ของ VDRL หรือ RPR ควรลดลงจากเดิม 4 เท่า หรือมากกว่า แต่ในซิฟิลิสระยะแฝงช่วงปลาย อาจต้องใช้เวลา 12-24 เดือน หากระดับของ VDRL หรือ RPR titer ไม่ลดลงตามเกณฑ์ หรือมี titer เพิ่มขึ้น 4 เท่า(ติดตามค่าที่หลังรักษา 1 และ 3 เดือนร่วมด้วย) ถือว่าการรักษาล้มเหลว ควรรักษาซ้ำ ด้วย benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต IM สัปดาห์ละ 1 ครั้ง นาน 3 สัปดาห์ หากการรักษาล้มเหลวควรเจาะ CSF มาตรวจเพื่อแยก neurosyphilis
กรณี neurosyphilis หลังรักษาแล้วให้ตรวจนับ WBC ใน CSF ทุก 6 เดือน ถ้าไม่ลดลงใน 6 เดือน หรือไม่ปกติใน 2 ปี ควรให้การรักษาใหม่

โกโนเรียในสตรีตั้งครรภ์

โกโนเรีย หรือหนองใน เกิดจากการติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae มักพบการติดเชื้อร่วมกับ คลามิเดียได้ร้อยละ 40 โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อจะอยู่ที่บริเวณอวัยวะสืบพันธ์ส่วนล่าง ได้แก่ ปากมดลูก ท่อปัสสาวะ และรอบ ๆ ท่อปัสสาวะ อาจลุกลามทำให้เกิดปีกมดลูกอักเสบได้(ค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีถุงการตั้งครรภ์ และมูกปากมดลูกขัดขวางการกระจายของเชื้อ) สามารถกระจายตามกระแสเลือดทำให้เกิดข้ออักเสบได้

อาการแสดงของโกโนเรีย

ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรือจะมีอาการตกขาวเป็นหนอง คันปากช่องคลอด ปวดท้องน้อย ตรวจพบปากมดลูกอักเสบหรือมีหนองที่ปากมดลูก ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะเป็นเลือด มีการติดเชื้อที่ทวารหนัก(มูกหนองออกทางทวารหนัก หน่วงทวารหนัก และเจ็บขณะถ่าย) มีการติดเชื้อที่ skene’s gland โดยรีดหนองออกมาจากท่อปัสสาวะได้ และติดเชื้อที่ Bartholin’s glands  อาจมีการติดเชื้อในปากและลำคอ

ผลต่อการตั้งครรภ์

การติดเชื้อสามารถส่งผลเสียได้ในทุก ๆ ไตรมาสของการตั้งครรภ์หากไม่ได้รับการรักษา อาจเพิ่มการแท้งติดเชื้อ คลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด chorioamnionitis และการติดเชื้อหลังคลอดได้ นอกจากนี้ทารกสามารถติดเชื้อจากช่องทางคลอด โดยอาจไม่มีอาการรุนแรงหรือเกิด ophthalmia neonatorum

การวินิจฉัย

ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • ตรวจโดนการย้อมแกรมจากมูกหนองบริเวณคอมดลูก หรือเยื่อบุปากมดลูก จะพบ intracellular gram negative diplococci และหากทำการเพาะเลี้ยงเชื้อ จะต้องใช้ modified Thayer-Martin media และวางในตู้อบคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยในการวินิจฉัยได้
  • ตรวจโดยวิธี nucleic acid amplification test (NAAT) จากมูกบริเวณคอมดลูกหรือปากมดลูก และอาจเก็บจากทวารหนัก หรือในช่องปากร่วมด้วย

ตามคำแนะนำของ CDC 2015 สตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 25 ปี และสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโกโนเรีย (มีคู่นอนคนใหม่, มีคู่นอนหลายคน, คู่นอนไปมีคู่นอนหลายคน, คู่นอนทราบว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ควรได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโกโนเรีย โดย NAAT test เมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก และตรวจอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และหากได้รับการรักษา ควรทำการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังรักษา 3 เดือน

STD05

ภาพที่ 5: การย้อมแกรมจากมูกปากมดลูก พบ intracellular gram negative diplococci

การรักษา

  • กรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ติดเชื้อบริเวณ ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ทวารหนัก และในคอ
    ตาม CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558

    • Ceftriaxone 250 mg IM ครั้งเดียว ร่วมกับ Azithromycin 1g รับประทานครั้งเดียว
    • หากไม่มี Ceftriaxone สามารถใช้ Cefixime 400 mg รับประทานครั้งเดียว ร่วมกับ Azithromycin 1 g รับประทานครั้งเดียว
  • กรณีติดเชื้อในเยื่อบุตาในผู้ใหญ่
    ตาม CDC 2015

    • Ceftriaxone 1 g IM ครั้งเดียว ร่วมกับ Azithromycin 1g รับประทานครั้งเดียว
      ตามแนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558
    • Ceftriaxone 250 mg IM ครั้งเดียว ร่วมกับ Azithromycin 1 g รับประทานครั้งเดียว
  • กรณีเชื้อหนองในแพร่กระจาย (Disseminated Gonococcal Infection) ควรให้รับการรักษาภายในโรงพยาบาล
    ตาม CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558
    กรณีติดเชื้อข้ออักเสบ และมี petechiae หรือ pustule ที่ผิวหนัง

    • Ceftriaxone 1 g IM หรือ IV ทุก 24 ชั่วโมง ร่วมกับ Azithromycin 1 g รับประทานครั้งเดียว
    • หรือใช้ Cefotaxime 1 g IV ทุก 8 ชั่วโมง หรือ Ceftizoxime 1 g IV ทุก 8 ชั่วโมง แทน Ceftriaxone
    • รวมระยะเวลารักษาประมาณ 7 วัน สามารถปรับยาตาม sensitivity หรือใช้เป็นยาชนิดรับประทานได้
    • กรณีแพ้ Ceftriaxone สามารถให้การรักษาโดย gemifloxacin 320 mg ชนิดรับประทาน ร่วมกับ azithromycin 2 g ชนิดรับประทาน ครั้งเดียว หรือ gentamicin 240 mg IM ร่วมกับ azithromycin 2 g ชนิดรับประทาน ครั้งเดียว หรืออาจใช้ spectinomycin 2 gm IM ครั้งเดียว ได้
  • กรณีมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ(meningitis)
    • Ceftriaxone 1-2 g IM หรือ IV ทุก 12-24 ชั่วโมง ร่วมกับ Azithromycin 1 g รับประทานครั้งเดียว
    • รวมระยะเวลารักษาประมาณ 10-14 วัน
  • กรณี endocarditis
    • Ceftriaxone 1-2 g IM หรือ IV ทุก 12-24 ชั่วโมง ร่วมกับ Azithromycin 1 g รับประทานครั้งเดียว
    • รวมระยะเวลารักษาประมาณ 4 สัปดาห์

การติดตามผลหลังการรักษา

CDC 2015 ไม่ได้แนะนำให้ทำการทดสอบทางห้องปฏิบัติการซ้ำในกรณีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในสตรีทั่วไป แต่สำหรับสตรีตั้งครรภ์ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหลังรักษา 3 เดือน และอาจตรวจซ้ำ 2 สัปดาห์หลังการรักษาในรายที่ติดเชื้อภายในช่องปาก โดยวิธี NAAT test สำหรับแนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 แนะนำให้ตรวจซ้ำที่ 7 วัน และ 3 เดือนหลังรักษา โดยตรวจย้อมแกรมและทำการเพาะเชื้อ

คลามิเดียในสตรีตั้งครรภ์

คลามิเดีย เกิดจากการติดเชื้อ Chlamydia trachomatis serotype D ถึง K เป็นเชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยส่วนใหญ่สตรีที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ โดยจะมีการติดเชื้อเฉพาะบริเวณปากมดลูก บางรายอาจมีปัสสาวะแสบขัด และการติดเชื้อบริเวณต่อม Bartholin และการติดเชื้ออาจลุกลามจนทำให้มีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ Chlamydia trachomatis เป็นเชื้อที่มีขนาดเล็กอยู่ในเซลล์ ย้อมแกรมไม่ติดสี

ผลต่อการตั้งครรภ์

อาจเกิดการติดเชื้อไปยังทารกได้โดยเฉพาะเยื่อบุตาอักเสบ และปอดอักเสบของทารกหลังคลอด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในมดลูกในระยะหลังคลอดได้โดยมีอาการ 2-3 สัปดาห์หลังคลอดซึ่งจะมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด มีไข้ต่ำ ๆ ปวดท้องน้อย และกดเจ็บบริเวณมดลูก ไม่ได้สัมพันธ์กับ chorioamnionitis และการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหลังผ่าตัดคลอด cesarean section

การวินิจฉัย

ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • ตรวจโดยการย้อมแกรมจะไม่พบเชื้อหนองใน และมีเม็ดเลือดขาวมากกว่า 10 ตัวต่อกำลังขยาย 1,000 เท่า
  • ตรวจโดยวิธี nucleic acid amplification test (NAAT) จากมูกบริเวณคอมดลูกหรือปากมดลูก เป็นวิธีที่มีความไวมากที่สุด

ตามคำแนะนำของ CDC 2015 สตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 25 ปี และสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อคลามิเดีย(มีคู่นอนคนใหม่, มีคู่นอนหลายคน, คู่นอนไปมีคู่นอนหลายคน, คู่นอนทราบว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ควรได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อคลามิเดีย โดย NAAT test เมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก และตรวจอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หากได้รับการรักษา ควรทำการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังรักษา 3 เดือน

STD06

ภาพที่ 6: การย้อมแกรมจากมูกปากมดลูก พบ many white blood cells และ ไม่พบเชื้อหนองใน

การรักษา

  • ในสตรีตั้งครรภ์ CDC 2015 และแนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558  แนะนำให้รักษาดังนี้

Azithromycin 1 g รับประทานครั้งเดียว หรือ
Amoxicillin 500 mg รับประทาน 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 7 วัน หรือ
Erythromycin base 500 mg รับประทาน 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 7 วัน หรือ
Erythromycin base 250 mg รับประทาน 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 14 วัน หรือ
Erythromycin ethylsuccinate 800 mg รับประทาน 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 7 วัน หรือ
Erythromycin ethylsuccinate 400 mg รับประทาน 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 14 วัน

การติดตามผลหลังการรักษา

CDC 2015 ไม่ได้แนะนำให้ทำการทดสอบทางห้องปฏิบัติการซ้ำในกรณีที่รักษาตามตำรับยาที่แนะนำในสตรีทั่วไป แต่สำหรับสตรีตั้งครรภ์ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหลังรักษา 3 เดือน และตรวจอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ แต่หากยังมีอาการที่สงสัยว่ามีการติดเชื้ออยู่ แนะนำให้ตรวจซ้ำ

ฝีมะม่วง หรือกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง (lymphogranuloma venereum: LGV)

เกิดจากการติดเชื้อ Chlamydia trachomatis serotype L1, L2, L3 มีต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ หรือ femoral อักเสบ กดเจ็บ มักเป็นข้างเดียว อาจแตกเป็นแผล และอาจมีแผลที่ทวารหนัก

สำหรับสตรีตั้งครรภ์ CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 แนะนำให้รักษาโดย Erythromycin base 500 mg รับประทานวันละ 4 ครั้งนาน 21 วัน หรืออาจใช้ azithromycin 1 g รับประทานสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ แต่ยังมีหลักฐานทางด้านประสิทธิภาพน้อย

เริมอวัยวะเพศ(Genital herpes)

เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes simplex แบ่งเป็น 2 ชนิด ชนิดที่ 1 มักทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณปาก หรือลำตัวเหนือสะดือ ชนิดที่ 2 มักทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ภายนอก หลังจากที่ติดเชื้อแล้วร่างกายไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสให้หมดได้ เชื้อไวรัสสามารถแฝงตัวอยู่ที่ nerve ganglion ทำให้เกิดโรคซ้ำอยู่เรื่อย ๆ บางทีไม่มีอาการแสดงแต่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ และติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย

อาการแสดงของเริม

เมื่อมีการติดเชื้อครั้งแรก จะมีตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ ขอบแดง ร่วมกับการเจ็บปวดแสบ และคัน ตุ่มใสแตกเป็นแผลได้  บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ และปัสสาวะขัดร่วมด้วยได้ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง อาการจะหายไปได้เอง หลังจากอาการหายไปจะยังมีช่วง viral shedding ที่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่นการถูกแสงแดด ความเครียด ทำให้มีอาการของโรคปรากฏซ้ำได้ อาจมีอาการก่อนเกิดตุ่มได้ เช่นคัน ปวดแสบปวดร้อน
การดำเนินโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

  • การติดเชื้อปฐมภูมิ(first episode primary infection) คือการติดเชื้อครั้งแรก โดยไม่มีหลักฐานว่าเคยติดเชื้อมาก่อน ระยะฟักตัว 6-8 วัน มีไข้อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย และมีตุ่มน้ำเจ็บคัน อาการหายเองได้ใน 2-4 สัปดาห์
  • first episode non-primary infection คือ มีอาการครั้งแรก แยกเชื้อเริมได้จากรอยโรค แต่มี antibody ต่อเชื้อเริมคนละสายพันธุ์ ช่วยให้อาการไม่รุนแรง
  • การติดเชื้อซ้ำ(Reactivation หรือ Recurrence) อาการค่อนข้างน้อย หายเร็วกว่า มักเป็นบ่อยในช่วง 1 ปีแรกของการติดเชื้อเริม

STD07a

STD07b

ภาพที่ 7: ลักษณะเริมที่อวัยวะเพศ เป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ ขอบแดง และตุ่มแตกเป็นแผลได้

ผลต่อการตั้งครรภ์

อัตราการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้นโดยเฉพาะรายที่ติดเชื้อปฐมภูมิ สามารถติดเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้ โดยแบ่งออกเป็น

  • การติดเชื้อโดยกำเนิด (congenital) หรือ ติดเชื้อในครรภ์ พบได้ร้อยละ 5 ของมารดาที่มี viremia ในช่วง 3 เดือนแรก พบ microcephaly, micropthalmia, retinal dysplasia, cerebral calcification
  • การติดเชื้อปริกำเนิด (perinatal) พบได้บ่อยโดยติดในระยะคลอดร้อยละ 85 และหลังคลอดร้อยละ 10 ซึ่งทารกมีอัตราตายถึงร้อยละ 60 และรายที่รอดชีวิตมีการทำลายของระบบประสาท และตาได้รุนแรง ทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อเริมส่วนใหญ่ ไม่ได้มีประวัติว่ามารดาเป็นเริมมาก่อน ในมารดาที่เป็นเริมในช่วงระยะคลอดสามารถแพร่เชื้อไปยังทารกได้ร้อยละ 30-50 ส่วนในมารดาที่มีประวัติเคยเป็นเริมช่วงตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่จะแพร่ไปยังทารกน้อยกว่าร้อยละ 1

สตรีตั้งครรภ์ในระยะคลอดที่มีรอยโรคของการติดเชื้อซ้ำ ควรคลอดบุตรโดยการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง(cesarean section) เพื่อลดโอกาสที่ทารกในครรภ์จะได้รับเชื้อเริม แม้ว่าการผ่าตัดคลอดจะไม่ได้กำจัดเชื้อได้ทั้งหมดก็ตาม

การวินิจฉัย

ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • การเพาะเชื้อ หรือ PCR เป็นการวินิจฉัยที่ดีสุด มีความถูกต้องสูง
  • การทดสอบน้ำเหลือง ใช้ตรวจหา antibody (IgG) สามารถแยกชนิดของเชื้อได้
  • Tzanck test พบ multinucleated giant cell หรือ Polykaryotic cell
  • Pap smear พบ multinucleated giant cell, groundgrass appearance, eosinophilic intranuclear inclusion bodies มีผลบวกเทียมจากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น และผลลบเทียมได้

STD08

ภาพที่ 8: Tzanck test พบ multinucleated giant cell

การรักษา

สำหรับการติดเชื้อและมีอาการครั้งแรก CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 แนะนำให้รักษาโดย

Acyclovir 400 mg รับประทานวันละ 3 ครั้ง นาน 7–10 วัน หรือ
Acyclovir 200 mg รับประทานวันละ 5 ครั้ง นาน 7–10 วัน หรือ
Valacyclovir 1 g รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 7–10 วัน หรือ
Famciclovir 250 mg รับประทานวันละ 3 ครั้ง นาน 7–10 วัน
สามารทานยาต่อได้หากอาการยังไม่หายขาด

กรณีอาการรุนแรงมากขึ้น จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาลแล้วให้การรักษาด้วย Acyclovir 5-10 mg/น้ำหนักตัว 1 kg ฉีดเข้าหลอดเลือดทุก 8 ชั่วโมง นาน 7 วัน
กรณีการติดเชื้อซ้ำ CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 แนะนำให้รักษาโดย

Acyclovir 400 mg รับประทานวันละ 3 ครั้ง นาน 5 วัน หรือ
Acyclovir 800 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน หรือ
Acyclovir 800 mg รับประทานวันละ 3 ครั้ง นาน 2 วัน หรือ
Valacyclovir 500 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน หรือ
Valacyclovir 1 gm รับประทานวันละ 1 ครั้ง นาน 5 วัน หรือ
Famciclovir 125 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน หรือ
Famciclovir 1 gm รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 1 วัน หรือ
Famciclovir 500 mg รับประทานวันละ 1 ครั้ง ตามด้วย 250 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 2 วัน

การให้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ(suppressive therapy) จะให้ในผู้ที่มีอาการบ่อย ๆ (มากกว่าหรือเท่ากับ 6 ครั้งต่อปี) CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 แนะนำให้รักษาโดย

Acyclovir 400 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง
Valacyclovir 500 mg รับประทานวันละ 1 ครั้ง (ประสิทธิภาพน้อยกว่า หากเป็นมากกว่า 10 ครั้งใน 1 ปี)
Valacyclovir 1 gm รับประทานวันละ 1 ครั้ง
Famciclovir 250 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง

การให้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ(suppressive therapy) ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ลดโอกาสที่จะต้องผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องได้ โดยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรค ให้ยาดังนี้ (แนะนำให้เริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์)

Acyclovir 400 mg รับประทาน 3 ครั้งต่อวัน หรือ
Valacyclovir 500 mg รับประทาน 2 ครั้งต่อวัน

การติดตามผลหลังการรักษา

แนะนำให้ติดตามรักษาจนกว่าอาการของโรคจะดีขึ้น

แผลริมอ่อน (chancroid)

เกิดจากเชื้อ hemophilus ducreyi ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบได้น้อย  ระยะฟักตัว 3-5 วัน อาการแสดงช่วงแรกจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ อักเสบ เจ็บ ต่อมาจะกลายเป็นแผลและมีหลาย ๆ แผล ขอบแผลนุ่ม ขอบแผลไม่เรียบ พื้นแผลสกปรก รอบ ๆ เป็นสีแดง กดเจ็บมาก มีเลือดซึมจากพื้นแผลได้ง่าย อาจลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบเกิดเป็นถุงหนอง(bubo) กดเจ็บได้ ผลต่อการตั้งครรภ์ยังไม่ทราบแน่นอน

สามารถวินิจฉัยได้โดย ย้อมแกรมจากแผล พบแบคทีเรียแกรมลบ สั้น บางปลายมน เรียงเป็นแถวหรือกลุ่ม(school of fish) หรือทดสอบโดยวิธี indirect immunofluorescent แต่ในทางปฏิบัติจะวินิจฉัยเมื่อพบแผลเจ็บที่อวัยวะเพศและแยกได้ว่าไม่ใช่ซิฟิลิส

การรักษา ให้ดูดหนองจาก bubo ออก CDC 2015 และ แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 แนะนำให้รักษาโดย

Azithromycin 1 g กินครั้งเดียว หรือ
Ceftriaxone 250 mg IM ครั้งเดียว หรือ
Erythromycin base 500 mg กินวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน

(แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 ให้ใช้ Erythromycin base 500 mg กินวันละ 4 ครั้ง นาน 7 -14 วัน และหากมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ให้ใช้ Erythromycin base จนครบ 14 วันร่วมด้วย ตามหลังการใช้ azithromycin หรือ ceftriaxone ครั้งเดียว)

STD09a

STD09b

STD09c

ภาพที่ 9: ซ้าย: แผลริมอ่อน ลักษณะเป็นแผลขอบไม่เรียบ พื้นแผลสกปรก กลาง และขวา: ลักษณะ school of fish

หูดหงอนไก่ (condyloma accuminata)

หูดหงอนไก่ เกิดจากการติดเชื้อ Human papillomavirus (HPV) ชนิดที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ สายพันธุ์ 6 และ 11 ติดต่อโดยผ่านทางผิวหนังสัมผัสผิวหนัง

อาการแสดงของหูดหงอนไก่

ลักษณะเป็นติ่งเนื้อยื่น สีชมพูกระจายออกด้านบนคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ ไม่เจ็บ หากมีอาการติดเชื้อซ้ำซ้อนจะทำให้คัน มีน้ำหนอง หรือมีกลิ่นเหม็นได้ บางรายอาจปัสสาวะลำบากหากมีหูดที่ท่อปัสสาวะ

STD10a

STD10b

ภาพที่ 10: หูดหงอนไก่ ลักษณะคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ กดไม่เจ็บ

ผลต่อการตั้งครรภ์

หูดหงอนไก่มีแนวโน้มขนาดใหญ่ขึ้นขณะตั้งครรภ์ ยุ่ย และฉีกขาดง่ายมากขึ้น เลือดออกง่ายมากขึ้น เชื่อว่าเมือกหรือความชื้นเฉพาะที่ส่งเสริมให้ขนาดโตมากขึ้น ส่วนใหญ่หากคลอดบุตรแล้วขนาดจะเล็กลง ในบางรายขนาดใหญ่มากจนขวางช่องทางคลอด และทำให้ตัดฝีเย็บยากได้
ระหว่างการคลอดทางช่องคลอด อาจมีการติดเชื้อไปยังทารก ทำให้เกิด recurrent respiratory papillomatosis (RRP) ในทารกได้ ซึ่งจะทำให้ทารกมีหูดขึ้นที่บริเวณกล่องเสียง(larynx) เสียงแหบ และหายใจเหนื่อยได้ จำเป็นต้องมารักษาต่อเนื่องเรื้อรังในอนาคต หากขณะคลอดมีน้ำเดินเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่า การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องยังไม่ได้มีประโยชน์ชัดเจนในการลดความเสี่ยง

การวินิจฉัย

ใช้ลักษณะอาการทางคลินิก หรือการตัดชิ้นเนื้อไปดูผลทางพยาธิวิทยาหากลักษณะรอยโรคดูไม่ชัดเจน

การรักษา

ในสตรีตั้งครรภ์ แนะนำให้รักษาโดยใช้ cryotherapy with liquid nitrogen, laser ablation หรือผ่าตัดออก หรือใช้ 80-90% Trichloroacetic acid (TCA) จี้ภายในและภายนอกช่องคลอด แต่ห้ามจี้ที่ท่อปัสสาวะ สัปดาห์ละครั้ง หากไม่หายใน 6 สัปดาห์ให้เปลี่ยนวิธี(ไม่ควรจี้ต่อ)
ไม่ควรใช้ podophyllin, sinecatechins, profilox, imiquimod, interferon therapy ขณะตั้งครรภ์เนื่องจากอาจมีพิษต่อมารดาและทารกได้

การติดตามการรักษา

ติดตามขนาดของโรค โดยส่วนมากจะหายใน 3 เดือน และควรทำการตรวจ PAP smear แบบสตรีทั่ว ๆ ไป วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV vaccine) ยังไม่แนะนำให้ฉีดในช่วงตั้งครรภ์ หากอยู่ในช่วงระหว่างเข็มที่ฉีดวัคซีน ให้เลื่อนไปฉีดหลังคลอดบุตรแล้ว

โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการตกขาว

ได้แก่ Bacterial vaginosis, Trichomonas vaginitis และ Vulvovaginal candidiasis ซึ่งจะพบอาการตกขาวเป็นหลัก สามารถพบได้ในช่วงตั้งครรภ์

Bacterial vaginosis

เป็นกลุ่มอาการทางคลินิกของการติดเชื้อหลายจุลชีพ ไม่ได้มีการอักเสบเกิดขึ้น แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมของเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงไป บางรายเกิดจากการสวนล้างช่องคลอด อาการแสดงได้แก่ ตกขาวกลิ่นเหม็นคาวปลา ตกขาวเป็นฟอง กลิ่นเหม็นหลังการร่วมเพศ อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้โดยทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด และถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนดได้

การวินิจฉัยทำได้โดยใช้ Amsel criteria ซึ่งประกอบด้วย criteria 3 ใน 4 ข้อ คือ 1). ตกขาวเป็นเนื้อเดียวสีขาวบางเคลือบผนังช่องคลอดเรียบ ๆ 2). ตรวจ wet smear พบ clue cells มากกว่าร้อยละ 20 ของเซลล์บุช่องคลอด 3). pH มากกว่า 4.5 4). amine test หรือ Whiff test: มีกลิ่นเหม็นคล้ายปลาเน่า เมื่อหยด 10%KOH

การวินิจฉัยที่เป็น gold standard คือการย้อมแกรม พบ clue cells และพบ anaerobes มาก ไม่ค่อยมี gram positive bacilli และเม็ดเลือดขาว

ให้รักษาในสตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการตกขาว และได้รับการวินิจฉัย การรักษาให้ใช้ Metronidazole 500 mg กินวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน หรือ Clindamycin 300 mg กินวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน หลังการรักษาไม่ต้องนัดติดตามอาการ หากการตกขาวหายเป็นปกติ

STD11a

STD11b

ภาพที่ 11: ภาพ clue cells ใน Wet smear

Trichomonas vaginitis

เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Trichomonas vaginalis ซึ่งมีรูปร่างกลม มีหนวด 4 เส้น และเคลื่อนไหวได้ อาการแสดงได้แก่ มีตกขาวน้ำสีขาว เทา เหลือง เขียว มีฟอง และมีกลิ่น รู้สึกแฉะ คันช่องคลอด และปากช่องคลอด บางรายมีปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย ตรวจภายในอาจพบเยื่อบุช่องคลอดบวมแดง ปากมดลูกมีจุดแดง ๆ เรียกว่า strawberry cervix ในสตรีตั้งครรภ์พบว่าสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด น้ำเดินก่อนครบกำหนด และทารกน้ำหนักคลอดน้อย แต่การรักษาไม่ได้ลดผลเสียเหล่านี้

การวินิจฉัยทำได้โดย Wet smear ย้อมแกรม หรือตรวจ Pap smear พบตัว trichomonas ตรวจ Whiff test (หยด 10%KOH) มีกลิ่นเหม็นคาวปลา ตรวจ pH มากกว่า 6

การรักษาจะรักษาในรายที่ตรวจพบเชื้อเพื่อลดอาการ และลดการแพร่ไปสู่บุคคลอื่น และต้องรักษาคู่นอนด้วย โดยใช้

Metronidazole 2 g กินครั้งเดียว หรือ Metronidazole 500 mg กินวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน หลังการรักษาไม่ต้องนัดติดตามอาการ หากการตกขาวหายเป็นปกติ

STD12a

STD12b

STD12c

ภาพที่ 12: ซ้าย: Wet smear พบตัว trichomonas กลาง: ย้อมแกรม พบตัว trichomonas ขวา: strawberry cervix

Vulvovaginal candidiasis

เกิดจากการติดเชื้อรา Candida โดยส่วนใหญ่เป็น Candida albicans เกิดเมื่อสภาพแวดล้อมในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปแล้ว lactobacilli จะทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แต่ถ้า lactobacilli ลดลง เชื้อราจะเจริญได้เร็ว ปัจจัยที่ทำให้เป็นได้มากขึ้นคือ การเป็นเบาหวาน การทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใช้ยาปฏิชีวนะ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการแสดงได้แก่ คันช่องคลอดและปากช่องคลอด ตกขาวสีขาวข้นคล้ายคราบนม ติดแน่นในช่องคลอด ไม่มีกลิ่น พบลักษณะบวมแดงของ vulva vestibule และ labia

การวินิจฉัย ทำได้โดยใช้ 10%KOH preparation จะเห็นลักษณะ budding yeast  with pseudohyphae และ pH น้อยกว่า 4.5

การรักษา ให้ใช้ยารักษาเฉพาะที่ โดย CDC 2015 แนะนำให้ใช้ยาทาภายในช่องคลอด ดังนี้

Clotrimazole 1% cream 5 g ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 7-14 วัน หรือ
Clotrimazole 2% cream 5 g ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 3 วัน หรือ
Miconazole 2% cream 5 g ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 7 วัน หรือ
Miconazole 4% cream 5 g ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 3 วัน หรือ
Miconazole 100 mg ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 7 วัน หรือ
Miconazole 200 mg ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 3 วัน หรือ
Miconazole 1,200 mg ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 1 วัน หรือ
Tioconazole 6.5% ointment 5 g ใส่ในช่องคลอดครั้งเดียว หรือ
Butoconazole 2% cream (single dose bioadhesive product), 5 g ใส่ในช่องคลอดครั้งเดียว หรือ
Terconazole 0.4% cream 5 g ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 7 วัน หรือ
Terconazole 0.8% cream 5 g ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 3 วัน หรือ
Terconazole 80 mg ใส่ในช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 3 วัน

หลังการรักษาไม่ต้องนัดติดตามอาการ หากการตกขาวหายเป็นปกติ

STD13a

STD13b

ภาพที่ 13 budding yeast  with pseudohyphae จากการย้อม KOH และ แกรม

โดยสรุป โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีหลาย ๆ โรค อาการแสดงแตกต่างกันไป ควรได้รับการรักษาและติดตามอาการอย่างเหมาะสม บางโรคส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ และต้องมีการตรวจคัดกรองในสตรีตั้งครรภ์ การเลือกใช้ยาในการรักษาจำเป็นต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดกับทารกในครรภ์ ทำให้ยาบางอย่างไม่สามารถใช้ได้ การเลือกใช้ยารักษาควรพิจารณาตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อสตรีตั้งครรภ์

เอกสารอ้างอิง

  1. Centers for Disease Control and Prevention. Sexually transmitted diseases treatment guidelines, 2015. MMWR Recomm Rep 2015; 64(RR-03):1-137.
  2. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Spong CY, Dashe JS, Hoffman BL, et al. Williams obstetrics. 24th edition. McGraw-Hill: New York; 2014. p.1265-1286.
  3. ธีระ ทองสง. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. ใน: ธีระ ทองสง, บรรณาธิการ. นรีเวชวิทยา (ฉบับสอบบอร์ด). พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: พี.บี.ฟอเรน บุ๊ค เซนเตอร์; 2559. หน้า 195-223.
  4. ธีระ ทองสง. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในสตรีตั้งครรภ์. ใน: ธีระ ทองสง, บรรณาธิการ .สูติศาสตร์ (ฉบับสอบบอร์ด). พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: พี.บี.ฟอเรน บุ๊ค เซนเตอร์; 2555. หน้า 523-42.
  5. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2558.

เอกสารอ้างอิง รูปภาพ:
Public Health Image Library (PHIL)[Internet]. Centers for Disease Control and Prevention [cited 2016 Aug 25]. Available from: http://phil.cdc.gov/phil/home.asp

Read More

การตั้งครรภ์กับโรคลิ้นหัวใจ

การตั้งครรภ์กับโรคลิ้นหัวใจ (Pregnancy with Valvular Heart Disease)

นพ.วีรวิชญ์ พรวัฒนไกรเลิศ
อาจารย์ที่ปรึกษา พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์


บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การตั้งครรภ์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายหลายๆ ระบบ โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านโครงสร้าง และหน้าที่ของการทำงาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์ที่มีความผิดปกติของระบบนี้ได้ค่อนข้างมาก

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของระบบหัวใจและหลอดเลือดระหว่างการตั้งครรภ์ที่สำคัญ คือ มีการเพิ่มของ cardiac output ประมาณ 40% จากคนปกติ โดยจะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ และสูงสุดในช่วงกึ่งกลางของการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็เป็นผลมาจากการลดลงของ vascular resistance ทำให้ total blood volume เพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ stroke volume และอัตราการเต้นของหัวใจ (resting pulse rate)(1)

นอกจากนั้น การทำงานของหัวใจห้องล่าง (ventricular function) ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ก่อให้เกิดภาวะ hypervolemia ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ end-systolic และ end-diastolic dimension ทำให้หัวใจห้องล่างเกิดการขยายขนาดขึ้นแบบกว้างออก (eccentric) ซึ่งเกิดจากการ remodeling ของหัวใจห้องล่างซึ่งมีคุณสมบัติที่เรียกว่า ‘plasticity’ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความหนาของผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่าง และเมื่อการตั้งครรภ์สิ้นสุดลง ทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 เดือน(1)

จะเห็นได้ว่า การตั้งครรภ์ในสตรีที่ปกติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อระบบดังกล่าว ดังนั้น สตรีตั้งครรภ์ที่มีความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดอาจจะไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทุกราย กล่าวคือ มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (cardiogenic heart failure) โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่มีภาวะ hypervolemia และการเพิ่มขึ้นของ cardiac output ในระหว่างตั้งครรภ์มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นก็สามารถเกิดได้ในขณะคลอดบุตร และหลังคลอดบุตร นอกจากนั้น ภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ต่างๆ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ, ภาวะซีด, การตกเลือด ก็สามารถกระตุ้นการเกิดหัวใจล้มเหลวได้

การตรวจร่างกาย และการวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้น

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดอาการ และอาการแสดงบางอย่างที่พบได้ปกติในหญิงตั้งครรภ์ เช่น การฟังเสียงหัวใจได้ systolic ejection murmur, อาการขาบวมโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์, อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าปกติเวลาออกกำลังกาย เป็นต้น จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจในสตรีตั้งครรภ์สามารถวินิจฉัยได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากบางอาการก็สามารถพบได้ปกติในสตรีตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ยังมีการอาการ และอาการแสดงบางประการที่หากตรวจพบแล้วนั้น จะต้องสงสัย และตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจในสตรีตั้งครรภ์เอาไว้ก่อน ดังต่อไปนี้

อาการ

  • เหนื่อยมากขึ้น (progressive dyspnea), เหนื่อยเมื่อนอนราบ (orthopnea)
  • ไอมากช่วงกลางคืน (nocturnal cough)
  • ไอเป็นเลือด หรือเป็นฟองสีชมพู (hemoptysis)
  • วูบ, หมดสติ (syncope)
  • เจ็บหน้าอก (chest pain)

อาการแสดง

  • Cyanosis
  • Clubbing fingers
  • Persistent neck vein distension
  • Systolic ejection murmur grade 3/6 or greater
  • Diastolic murmur
  • Cardiomegaly
  • Persistent arrhythmia
  • Persistent split second sound
  • Criteria for pulmonary hypertension

หากพบอาการเหล่านี้ในสตรีตั้งครรภ์แล้วนั้น ควรที่จะได้รับการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อน เช่น การตรวจภาพทางรังสีบริเวณหน้าอก (chest radiography), การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography), การอัลตราซาวน์ดูการทำงานของหัวใจ (echocardiography) โดยปรึกษาอายุรแพทย์เพื่อร่วมประเมินด้วย

Classification of Functional Heart Disease

เนื่องจากไม่มีการตรวจใดที่จะบ่งบอกความสามารถในการทำหน้าที่ของหัวใจได้อย่างแม่นยำในระหว่างการตั้งครรภ์ ดังนั้น การดูแลและติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจึงมีความจำเป็น ซึ่ง New York Heart Association (NYHA) ได้มีการจำแนกระดับของการทำงานของหัวใจเอาไว้ เพื่อประเมิน, ติดตามอาการ และการรักษาอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วย ดังนี้

  • Class I: ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมทุกอย่างได้ตามปกติ ไม่มีอาการเจ็บหน้าอก หรือหอบเหนื่อย
  • Class II: ผู้ป่วยอาการปกติในขณะพัก และทำกิจวัตรประจำวัน แต่จะมีอาการใจสั่น, หอบเหนื่อย, เจ็บหน้าอกเมื่อออกแรงมากขึ้น
  • Class III: ผู้ป่วยอาการปกติในขณะพัก แต่มีอาการเหนื่อย, เจ็บหน้าอกเมื่อทำกิจวัตรประจำวัน
  • Class IV: ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย, เจ็บหน้าอกขณะพัก

นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงการให้คะแนนเพื่อพยากรณ์ถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจในขณะตั้งครรภ์ โดยสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีปัจจัยดังต่อไปนี้(2)

  1. เคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, stroke, transient ischemic attack มาก่อน
  2. NYHA class III หรือ IV หรือมีภาวะ cyanosis
  3. มีการอุดกั้นของหัวใจห้องซ้าย โดยมี mitral valve area < 2 ตารางเซนติเมตร, aortic valve area < 1.5 ตารางเซนติเมตร หรือ peak left ventricular outflow tract gradient > 30 มิลลิเมตรปรอท จากการตรวจ echocardiography
  4. Ejection fraction < 40%

โดยหากผู้ป่วยมีข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด pulmonary edema, sustained arrhythmia, stroke, cardiac arrest หรือเสียชีวิตได้ดังนั้นผู้ป่วยเหล่านี้ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่ควรตั้งครรภ์หากยังไม่ได้รับการแก้ไข

 การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจในระหว่างตั้งครรภ์ (Peripartum Management)

การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจที่สำคัญ คือ การดูแลแบบองค์รวม โดยอาศัยความร่วมมือของสหสาขาต่างๆ เช่น สูติแพทย์, อายุรแพทย์, วิสัญญีแพทย์ และอื่นๆ ซึ่งแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและได้รับการอนุญาตให้ตั้งครรภ์ได้ มาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย เพื่อการวางแผน และดูแลจากแพทย์สหสาขาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยพยากรณ์โรค และการจัดการผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจนั้นจะขึ้นอยู่กับ functional classification

ผู้ป่วยกลุ่มNYHA class I-II

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนมากความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ค่อนข้างต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันภาวะที่อาจกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะการติดเชื้อในกระแสเลือด (infection with sepsis syndrome) นอกจากนั้น ในผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ ภาวะ bacterial endocarditis เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ถึงแม้ว่า functional classification จะน้อย ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำระหว่างการตั้งครรภ์ดังนี้(1)

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แม้ว่าจะเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา
  2. แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จากเชื้อ influenza และ pneumococcus
  3. งดสูบบุหรี่ เนื่องจากส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ และเพิ่มการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  4. งดการใช้สารเสพติดทุกชนิด เนื่องจาก สารเสพติดส่วนมากมีฤทธิ์กระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือด
  5. หลีกเลี่ยงการบริหารยาทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเกิด infective endocarditis

ผู้ป่วยกลุ่ม NYHA class III-IV

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้พบค่อนข้างน้อยที่จะสามารถตั้งครรภ์ได้ โดยมีเพียง 3% ของสตรีตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจที่อยู่ในกลุ่ม NYHA class III ส่วนผู้ป่วยกลุ่ม NYHA class IV นั้นยังไม่เคยมีรายงานว่าพบการตั้งครรภ์มาก่อน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยในกลุ่มนี้หากตั้งครรภ์ต่อไป จะมีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังนั้น แพทย์ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับพยากรณ์โรคระหว่างตั้งครรภ์อย่างเพียงพอ เพื่อการตัดสินใจในการตั้งครรภ์ต่อไป หรือจะยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งหากผู้ป่วยเลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อไป นั่นหมายความว่าผู้ป่วยจะต้องเข้าใจอย่างดีถึงพยากรณ์โรค และแพทย์จะต้องมีการวางแผนการรักษาอย่างดีในทุกๆ ด้าน โดยความร่วมมือของแพทย์สหสาขา และในบางรายอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการดูแลในโรงพยาบาลตลอดการตั้งครรภ์

การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจในระยะคลอด (Intrapartum Management)

ช่องทางการคลอด (Route of Delivery)

โดยส่วนมาก สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจควรได้รับการชักนำการคลอด และคลอดบุตรทางช่องคลอด (vaginal delivery) ร่วมกับการช่วยคลอด เช่น forceps หรือ vacuum extraction เพื่อลดการเบ่ง และการเจ็บปวดซึ่งจะทำให้เกิด tachycardia ที่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้โดยข้อดีของการคลอดทางช่องคลอด คือ ไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทางวิสัญญีในการชักนำผู้ป่วยให้สลบ หรือความดันโลหิตต่ำจากการให้ยาระงับปวดทางไขสันหลัง และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การคลอดบุตรโดยการผ่าตัดทางหน้าท้อง (caesarean section) นั้นสามารถทำได้ แต่ควรทำในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยหนักโรคหัวใจ และควรทำเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ ดังต่อไปนี้(3)

  1. Dilated aortic root > 4 เซนติเมตร หรือมีหลอดเลือดเอออร์ตาโป่งพอง (aortic aneurysm)
  2. มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงฉับพลัน (acute severe congestive heart failure)
  3. มีภาวะหัวใจขาดเลือดมาก่อนในช่วงเร็วๆ นี้ (recent myocardial infarction)
  4. ภาวะลิ้นหัวใจ aortic ตีบที่มีอาการรุนแรง (severe symptomatic aortic stenosis)
  5. ได้รับยา warfarin ภายใน 2 สัปดาห์ก่อนคลอด
  6. ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจทันทีหลังผ่าตัดคลอด

แต่อย่างไรก็ตาม บางภาวะข้างต้นก็สามารถให้คลอดทางช่องคลอดได้ เช่น การที่ผู้ป่วยได้รับยา warfarin2 สัปดาห์ก่อนคลอด ก็สามารถแก้ไขผลข้างเคียงของ warfarin โดยการใช้ยาantidote ได้ เช่น vitamin K เป็นต้น(1)

ระหว่างการคลอด (During Labor)

ผู้ป่วยควรนอนในท่า semi-recumbent with lateral tilt และควรได้รับการบันทึกสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอัตราการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ หากมีการเพิ่มขึ้นมากกว่า 24 และ 100 ครั้งต่อนาทีตามลำดับ บ่งบอกว่าอาจกำลังเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่ได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามพยาธิสรีรวิทยาของแต่ละภาวะอย่างเร่งด่วน เช่น ในผู้ป่วยที่เป็น mitral valve stenosis และมีอาการหอบเหนื่อยเนื่องจาก pulmonary edema จากการให้สารน้ำที่มากเกินไป ก็ควรได้รับยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือดดำอย่างเร่งด่วน เป็นต้น และอีกสิ่งหนึ่งที่แพทย์ควรตระหนักเอาไว้เสมอ คือ การคลอด ไม่ได้ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเหมือนภาวะอื่นๆ เช่น preeclampsia

การให้ยาระงับปวด และหัตถการทางวิสัญญี (Analgesia and Anesthesia)

การระงับปวดในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอด และการคลอด เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากอาการปวดจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว (tachycardia) ซึ่งจะทำให้การควบคุม cardiac output เป็นไปได้ยาก และการดูแลผู้ป่วยก็จะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยหากผู้ป่วยคลอดทางช่องคลอด การให้ยาระงับปวดทางหลอดเลือดดำจะสามารถระงับปวดได้ค่อนข้างดี แต่อย่างไรก็ตาม การให้ continuous epidural anesthesia จะสามารถควบคุมอาการปวดได้สม่ำเสมอกว่า แต่ข้อเสียคือ ในระหว่างเริ่มให้จะทำให้เกิดภาวะ hypotension ได้ ซึ่งภาวะนี้จะเป็นอันตรายอย่างมากในผู้ป่วยกลุ่มที่มี right to left shunt, pulmonary artery hypertension และ aortic stenosis เนื่องจาก ventricular output ของผู้ป่วยเหล่านี้ขึ้นกับ preload ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ควรได้รับการระงับปวดแบบ general anesthesia หรือ narcotic conduction anesthesia

สำหรับในผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ก็แนะนำให้ระงับปวดระหว่างผ่าตัดเป็น epidural anesthesia อย่างไรก็ตาม การทำ general anesthesia ด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ และการให้ยา thiopental ร่วมกับ succinylcholine, nitrous oxide และ 30% oxygen ก็ได้ผลที่น่าพึงพอใจ

การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจในระยะหลังคลอด (Postpartum Management)

ระยะหลังคลอด (Puerperium)

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในระยะหลังคลอดทันทีนั้น ผู้ป่วยจะมี cardiac output เพิ่มขึ้นมากที่สุด เกิดจากการมีสารน้ำจากภายนอกหลอดเลือดไหลกลับเข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งการเพิ่มของสารน้ำเข้าสู่หลอดเลือด และการลดลงของ peripheral vascular resistance ในระยะนี้นั้น เกินกว่าความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจแล้ว ดังนั้น ในระยะหลังคลอด ผู้ป่วยยิ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งหากผู้ป่วยโรคหัวใจพบภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอด เช่น การตกเลือดหลังคลอด, การติดเชื้อ, ภาวะซีด, และ thromboembolism ยิ่งต้องได้รับการรักษาจากแพทย์สหสาขาอย่างใกล้ชิด ทั้งสูติแพทย์ และอายุรแพทย์ และควรได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ (intensive care unit)

การทำหมัน และการคุมกำเนิด (Sterilization and Contraception)

ในผู้ป่วยรายที่ต้องการทำหมัน หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องอยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหา แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ที่คลอดทางช่องคลอด ก็แนะนำให้ทำหมันหลังจากที่คลอดไปแล้วระยะหนึ่ง เพื่อรอให้ hemodynamic คงที่ โดยจะต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยไม่มีภาวะไข้, ไม่ซีด และสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ

ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ ก็ให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับโรคหัวใจแต่ละโรค ซึ่งจะไม่พูดถึงในบทความนี้

 โรคลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Disease)

โรคที่เกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจส่วนมากนั้น มีสาเหตุมาจากไข้รูห์มาติก (rheumatic fever) ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อยในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นประเทศที่ชุมชนแออัดค่อนข้างน้อย และการเข้าถึงยาปฏิชีวนะค่อนข้างควบคุมได้ดี ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันประเทศไทย โดยมีรายงานว่า มีอุบัติการณ์ของโรคนี้ลดลงจาก 1.13 รายต่อประชากร 1,000 คน ในปีค.ศ.1986 เป็น 0.23-0.38 รายต่อประชากร 1,000 คน(4, 5) ในปีค.ศ.2014 อันเป็นผลมาจากการพัฒนามากขึ้นของสภาวะเศรษฐกิจ และสังคมนั่นเอง

Mitral Stenosis

สาเหตุ

โดยส่วนมากมีสาเหตุมาจาก rheumatic fever ซึ่งทำให้เกิดภาวะ mitral stenosis มากที่สุดในบรรดาโรคลิ้นหัวใจ

พยาธิสรีรวิทยา

ปกติ mitral valve จะมีพื้นที่ผิวประมาณ 4 ตารางเซนติเมตร แต่หากพื้นที่ผิวของ mitral valve น้อยกว่า 2.5 ตารางเซนติเมตรก็จะทำให้เกิดอาการได้ โดยลิ้นหัวใจที่ตีบลงนั้นจะไปขัดขวางการไหลของเลือดจากหัวใจห้องบนซ้ายไปยังห้องล่างซ้าย ซึ่งหากลิ้นหัวใจตีบมากๆ แล้วนั้นก็จะส่งผลให้เกิด left atrial dilatation ทำให้ความดันในหัวใจห้องบนซ้ายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้เกิด pulmonary venous hypertension จนทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา

ในผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมี cardiac output ที่คงที่ เนื่องจากมีการตีบของ mitral valve ดังนั้น ในสภาวะการตั้งครรภ์ที่โดยปกติจะมี preload เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยมี cardiac output ที่เท่าเดิมจากพื้นที่ผิวของ mitral valve ที่จำกัด ก็จะส่งผลให้เกิด หัวใจห้องล่างล้มเหลวจากการพยายามเพิ่ม heart rate เพื่อเพิ่ม cardiac output และเกิดภาวะ pulmonary edema จาก volume overloadได้

นอกจากนั้นการที่มีภาวะ atrial dilatation ก็ส่งผลให้เกิดภาวะ atrial fibrillation ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด thrombus formation ได้ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น ภาวะหลอดเลือดเลี้ยงสมองอุดตันจากก้อนเลือด (embolic stroke) ซึ่งมีรายงานว่า ในมารดาที่เกิดภาวะ embolic stroke หรือมีอาการอื่นๆ ที่ทำให้เกิด hypoxemia ในมารดา เช่น pulmonary edema ก็จะส่งผลให้เกิด fetal encephalopathy ได้

อาการและอาการแสดง

ส่วนมากผู้ป่วยจะมาด้วยอาการหอบเหนื่อย เนื่องมาจาก pulmonary venous hypertension และ pulmonary edema นอกจากนั้นก็อาจมีอาการอ่อนเพลีย, ใจสั่น, ไอเป็นเลือด ซึ่งเป็นอาการของ left-sided heart failure ได้

ผลต่อการตั้งครรภ์

สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะ mitral stenosis นั้นจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการตีบของ mitral valve โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีพื้นที่ผิวของ mitral valve น้อยกว่า 2 ตารางเซนติเมตร ซึ่งมีรายงานว่า สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวถึง 43% และ 20% มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ(6) นอกจากนั้นมีการศึกษาพบว่า ในผู้ป่วยที่มีพื้นที่ผิวของ mitral valve น้อยกว่า 1 ตารางเซนติเมตร จะสัมพันธ์กับการเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (fetal growth restriction)

การรักษา

โดยทั่วไปในผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรจำกัดการทำกิจกรรมต่างๆ โดยลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ โดยหากมีอาการหอบเหนื่อย หรือ functional class ลดลงจาก pulmonary congestion ก็ควรรักษาด้วยยาขับปัสสาวะ และควบคุมอาหารโดยการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น แต่ตรวจพบว่ามีภาวะหัวใจเต้นเร็วเพื่อเพิ่ม cardiac output ก็ควรให้ยากลุ่ม beta-blocker เพื่อลด ventricular response

หากผู้ป่วยมีภาวะ atrial fibrillation อย่างฉับพลัน ควรรักษาด้วยยา verapamil 5-10 มิลลิกรัม ทางหลอดเลือดดำ หรือการทำ electrocardioversion สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่เป็น atrial fibrillation มานาน หรือเรื้อรัง ควรให้ยากลุ่ม digoxin, beta-blocker หรือ calcium-channel blocker เพื่อลด ventricular response ส่วนเรื่องบทบาทของยา anticoagulant เพื่อป้องกันการเกิด thrombus formation ก็แนะนำในผู้ป่วยกลุ่มที่มี atrial fibrillation และผู้ป่วยกลุ่ม severe mitral stenosis แม้ว่าจะไม่มี atrial fibrillation

ในระยะเจ็บครรภ์คลอด และระยะคลอดถือว่าเป็นระยะที่อันตรายต่อสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้มากที่สุด เนื่องจากการเจ็บครรภ์ นอกจากจะทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็วซึ่งสามารถกระตุ้นการเกิดหัวใจล้มเหลวได้แล้วนั้น การเจ็บครรภ์ซึ่งเกิดจากมดลูกบีบตัว จะเพิ่ม cardiac output ได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและ pulmonary edema ได้เช่นกันดังนั้นในระยะเจ็บครรภ์คลอด ผู้ป่วยควรได้รับยาลดการปวดอย่างเหมาะสม ซึ่งการทำ epidural anesthesia เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็ควรทำด้วยความระมัดระวังเกี่ยวกับภาวะ fluid overload ระหว่างการ induction

สำหรับการคลอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แนะนำให้คลอดทางช่องคลอด โดยมีการวางแผนการชักนำการคลอดล่วงหน้า ซึ่งจะต้องมีการปรึกษาแพทย์สหสาขาเพื่อการดูแลกรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะ severe stenosis ร่วมกับมีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ก็ควรพิจารณาใส่ pulmonary catheter เพื่อประเมิน pulmonary capillary wedge pressure อย่างถูกต้อง เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม

Mitral Insufficiency

โดยปกติภาวะนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งจะพบในระดับไม่รุนแรง แต่หากมีการปิดของลิ้นหัวใจที่ไม่พอดีกันระหว่างหัวใจห้องล่างบีบตัว (systole) ก็จะทำให้เกิดภาวะ mitral regurgitation ได้

สาเหตุ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ mitral regurgitation เรื้อรังนั้น โดยมากมาจาก rheumatic fever, mitral valve prolapse หรือสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายมีการขยายออกมาก จนทำให้ลิ้นหัวใจไม่สามารถปิดได้สนิท (eccentric hypertrophy) เช่น dilated cardiomyopathy เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่พบได้น้อย เช่น การมีหินปูนไปเกาะบริเวณจุดเกาะของ mitral valve หรือเกิดจาก mitral valve vegetation จากภาวะ Libman-Sacks endocarditis ซึ่งสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่เป็น antiphospholipid syndrome หรือ systemic lupus erythematosus (SLE)

ในทางกลับกัน หากภาวะ mitral regurgitation เกิดอย่างฉับพลัน จะมีสาเหตุมาจาก chordae tendineae rupture, papillary muscle infarction หรือ ลิ้นหัวใจทะลุจาก infective endocarditis

พยาธิสรีรวิทยา

เกิดจากการที่หัวใจห้องล่างซ้ายมีการขยายออกแบบ eccentric hypertrophy โดยมากผู้ป่วยที่ปกติ ไม่ได้ตั้งครรภ์จะไม่ค่อยมีอาการ ดังนั้น การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจึงไม่ค่อยจำเป็นนักในผู้ป่วยกลุ่มนี้หากไม่มีภาวะ infective endocarditis ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ mitral regurgitation มักจะมีอาการดีขึ้น เนื่องจาก systemic vascular resistance ลดลง ทำให้การเกิด regurgitation ลดลงจาก hypervolemia ดังนั้นภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะไม่พบในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้

Mitral Valve Prolapse

ภาวะนี้จะวินิจฉัยเมื่อมีพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจ ที่เรียกว่า myxomatous degeneration ซึ่งจะเกิดที่ตัว leaflet, annulus หรือ chordae tendineae และทำให้เกิด mitral insufficiency ได้

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีอาการ แต่จะตรวจพบจากการตรวจร่างกาย หากมีอาการ ก็จะเป็นอาการ ใจสั่น, หอบเหนื่อยเวลาออกแรงมาก เป็นต้น

ผลต่อการตั้งครรภ์

สตรีตั้งครรภ์ที่มี mitral valve prolapse มักไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะ hypervolemia จะช่วยให้ mitral valve ปิดได้ดีขึ้น และในผู้ป่วยที่ไม่มี myxomatous degeneration ก็มีรายงานว่า ผลลัพธ์การตั้งครรภ์ค่อนข้างดี แต่ก็มีรายงานว่าพบการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าคนปกติ 1.2 เท่า(7)

การรักษา

ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการ การใช้ beta-blocker จะช่วยลด sympathetic tone, ลดอาการเจ็บหน้าอก และใจสั่นได้ ส่วนการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันภาวะ infective endocarditis ยังไม่มีความจำเป็น

Aortic Stenosis

สาเหตุ

โดยมากมักเกิดความผิดปกติมาแต่กำเนิด โดยมีลักษณะเป็น congenital bicuspid valve สำหรับสาเหตุจาก rheumatic fever เกิดได้ค่อนข้างน้อย นับตั้งแต่อุบัติการณ์ของ rheumatic heart disease ลดลงนั่นเอง

พยาธิสรีรวิทยา

ลิ้นหัวใจ aortic ปกติจะมีพื้นที่ผิวประมาณ 3-4 ตารางเซนติเมตร และมี pressure gradient น้อยกว่า 5 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งหาก aortic valve มีการตีบจนพื้นที่ผิวลดลงเหลือน้อยกว่า 1 ตารางเซนติเมตร ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายอุดตัน ส่งผลให้ความดันภายในหัวใจห้องล่างซ้ายเพิ่มมากขึ้น และการทำงานหนักขึ้น จนเกิดหัวใจห้องล่างซ้ายโตแบบ concentric และหากเป็นรุนแรงมากขึ้น แรงดันในหัวใจห้องล่างซ้ายในช่วงหัวใจคลายตัวเต็มที่ก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ ejection fraction และ cardiac output ลดลง ทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาได้ เช่น หัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, เจ็บหน้าอก เป็นต้น

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างช้า โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอก, วูบ, และอาการของ left-sided heart failure และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งสามารถถึงแก่ชีวิตได้ โดยมีรายงานว่าหากผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกหลังจากออกแรงมากๆ จะมีชีวิตได้อยู่อีกประมาณ 5 ปี ดังนั้น การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจจึงมีความจำเป็นในผู้ป่วยที่มีอาการ

ผลต่อการตั้งครรภ์

ส่วนมากสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะ aortic stenosis จะมีระดับความรุนแรงของ aortic stenosis เล็กน้อย ถึงปานกลาง เนื่องจาก aortic stenosis ที่รุนแรงมากนั้นส่งผลต่อชีวิตได้ และจะได้รับคำแนะนำว่าไม่ควรตั้งครรภ์ตั้งแต่แรกแล้ว

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ภาวะ aortic stenosis นั้นจะทำให้ cardiac output ของผู้ป่วยลดลง ดังนั้น สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้ย่อมได้รับผลกระทบต่อภาวะ cardiac output ที่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ทำให้ preload ลดลงในขณะที่ cardiac output คงที่ เช่น การอุดตันของหลอดเลือด vena cava, การเกิด hypotension จาก regional anesthesia หรือการที่มีการตกเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ, สมอง และมดลูกลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ที่มี aortic stenosis ที่มีพื้นที่ผิวน้อยกว่า 1.5 ตารางเซนติเมตร หรือมี pressure gradient มากกว่า 100 มิลลิเมตรปรอท จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้มาก(6)

การรักษา

ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดงของภาวะ aortic stenosis ก็จะไม่มีการรักษาอื่นๆ นอกจากการติดตามดูแลอาการอย่างใกล้ชิดในช่วงฝากครรภ์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการควรให้จำกัดการทำกิจกรรม และรักษาภาวะติดเชื้อต่างๆ อย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และหากผู้ป่วยมี functional class IV แนะนำให้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หรือทำ valvotomy ผ่าน cardiopulmonary bypass (ไม่แนะนำให้ทำ valvotomy ผ่าน balloon เนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่า)

สำหรับระยะเจ็บครรภ์คลอดและระยะคลอดมีหลักการที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ preload ลดลง และ 2. พยายามประคอง cardiac output ให้คงที่ตลอด เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้น ในผู้ป่วยรายที่มี aortic stenosis ที่รุนแรงอาจมีข้อบ่งชี้ในการใส่ pulmonary artery catheterization เพื่อประเมิน volume status เนื่องจากการแยกระหว่างภาวะ volume overload และ hypovolemia ในผู้ป่วยกลุ่มนี้แยกได้ค่อนข้างยาก โดยต้องพยายามให้ end-diastolic ventricular filling pressure เพียงพอสำหรับการประคับประคอง cardiac output และเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างเพียงพอ

จะเห็นได้ว่าหลักการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะ aortic stenosis นั้น ปริมาณของสารน้ำในร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้นในช่วงระหว่างเจ็บครรภ์คลอดและระยะคลอดนั้นควรเน้นเรื่อง intravascular volume ที่เพียงพอเป็นหลัก เพราะหากผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีลิ้นหัวใจอื่นๆ เช่น mitral valve ทำงานได้อย่างปกติ มักจะไม่เกิดภาวะ pulmonary edema จาก volume overload อยู่แล้ว

ส่วนช่องทางการคลอดแนะนำให้คลอดทางช่องคลอด ร่วมกับใช้หัตถการช่วยคลอด เช่น forceps หรือ vacuum extraction หากไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด และการควบคุมความเจ็บปวด ก็แนะนำให้เป็น epidural anesthesia อย่างระมัดระวัง

Aortic Insufficiency

สาเหตุ

โดยมากเกิดจากภาวะ rheumatic fever นอกจากนั้น โรคทางความผิดปกติของ connective tissue ก็ทำให้เกิดได้ เช่น Marfan syndrome ซึ่งทำให้เกิดการขยายของ aortic root และทำให้เกิด aortic regurgitation ได้ โดยภาวะที่ทำให้เกิด aortic insufficiency ฉับพลันนั้นเกิดได้จาก bacterial endocarditis หรือ aortic dissection นอกจากนั้น ยาลดความอ้วน หรือยาในกลุ่ม ergot-derived dopamine agonist เช่น cabergolineหรือ pergolideก็อาจทำให้เกิดภาวะ aortic หรือ mitral insufficiency ได้

พยาธิสรีรวิทยา

ภาวะนี้ทำให้เลือดไหลย้อนกลับจาก aorta เข้าสู่หัวใจห้องล่างซ้ายในช่วง diastole ซึ่งมักไม่มีอาการ แต่หากเกิดภาวะนี้นานๆ และเรื้อรัง ก็จะทำให้เกิด eccentric left ventricular hypertrophy ได้ และทำให้เกิดอาการ ซึ่งเป็นอาการของ left-sided heart failure ตามมา

อาการและอาการแสดง

หากเกิดอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย, หอบเหนื่อย และมีอาการบวมมากขึ้นอย่างช้าๆ

ผลต่อการตั้งครรภ์

ภาวะนี้มักไม่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เนื่องจากการตั้งครรภ์จะทำให้เกิด vascular resistance ที่ลดลง ทำให้ hemodynamic ในผู้ป่วยที่มี aortic insufficiency ดีขึ้น

การรักษา

หากผู้ป่วยมีอาการของหัวใจล้มเหลว แนะนำให้ diuretic และจำกัดการทำกิจกรรม

Pulmonic Stenosis

สาเหตุ

ส่วนมากเกิดจากมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด และสัมพันธ์กับ Fallot tetralogy, Noonan syndrome ส่วน rheumatic fever ก็ทำให้เกิดความผิดปกติได้ แต่จะเกิดใน pulmonic valve น้อยกว่าลิ้นหัวใจอื่นๆ

พยาธิสรีรวิทยา

ภาวะนี้ทำให้เลือดไหลออกจากหัวใจห้องล่างขวาได้ลำบาก ซึ่งหากเป็นรุนแรงก็จะทำให้เกิดการขยายของหัวใจห้องล่างขวา และบนขวา จนทำให้เกิด right-sided heart failure ได้

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการตัวบวมจาก right-sided heart failure ตรวจร่างกายจะพบ systolic ejection murmur ที่ pulmonic valve area และจะดังขึ้นเมื่อหายใจเข้า

ผลต่อการตั้งครรภ์

ปกติการตั้งครรภ์จะทำให้ systemic vascular resistance ลดลง ทำให้มี preload มากขึ้น ซึ่งหากเป็นเพียง mild pulmonic stenosis ร่างกายจะสามารถทนได้ แต่หาก severe pulmonic stenosis ก็จะทำให้เกิด right-sided heart failure และเกิด atrial arrhythmia ได้ นอกจากนั้น มีรายงานว่า สตรีตั้งครรภ์ที่มี pulmonic stenosis จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด 17%, ความดันโลหิตสูง 15%, และมีการเกิด thromboembolism 4%(8)

การรักษา

โดยส่วนมากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักได้รับการผ่าตัดรักษามาตั้งแต่เด็กแล้ว เนื่องจากมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด ส่วนการดูแลรักษาระหว่างเจ็บครรภ์และระยะคลอด คือ การติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกลชิด

จะเห็นได้ว่าการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากการตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของระบบนี้ค่อนข้างมาก และการคลอดบุตรก็ไม่ได้ทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น ดังนั้น ความเข้าใจในสรีรวิทยา และพยาธิสรีรวิทยาของโรคต่างๆ เป็นนสิ่งสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ นอกจากนั้น การร่วมกันดูแลรักษาโดยแพทย์สหสาขาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างดีที่สุดนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1.   Cunningham F, Leveno KJ, Bloom SL, Spong CY, Dashe JS, Hoffman BL, et al. Williams Obstetrics. 24th ed. United States of America: McGraw-Hill Education; 2014.
  2.  Siu SC, Sermer M, Colman JM, Alvarez AN, Mercier LA, Morton BC, et al. Prospective multicenter study of pregnancy outcomes in women with heart disease. Circulation. 2001;104(5):515-21.
  3. Simpson LL. Maternal cardiac disease: update for the clinician. Obstetrics and gynecology. 2012;119(2 Pt 1):345-59.
  4. Pruksakorn S, Sittisombut N, Phornphutkul C, Pruksachatkunakorn C, Good MF, Brandt E. Epidemiological analysis of non-M-typeable group A Streptococcus isolates from a Thai population in northern Thailand. Journal of clinical microbiology. 2000;38(3):1250-4.
  5. Chaikitpinyoa A, Panamontaa M, Wongswadiwata Y, Weraarchakula W, Panamontaa O, Panthongviriyakulb A, et al. Rheumatic and congenital heart diseases among school children of Khon Kaen, Thailand: declining prevalence of rheumatic heart disease. Asian Biomedicine. 2014;8(5):6.
  6. Hameed A, Karaalp IS, Tummala PP, Wani OR, Canetti M, Akhter MW, et al. The effect of valvular heart disease on maternal and fetal outcome of pregnancy. Journal of the American College of Cardiology. 2001;37(3):893-9.
  7. Chen CH, Huang MC, Liu HC, Huang CJ, Lin HC, Kou YR. Increased risk of preterm birth among women with mitral valve prolapse: a nationwide, population-based study. Annals of epidemiology. 2011;21(6):391-8.
  8. Drenthen W, Pieper PG, Roos-Hesselink JW, Schmidt AC, Mulder BJ, van Dijk AP, et al. Non-cardiac complications during pregnancy in women with isolated congenital pulmonary valvar stenosis. Heart. 2006;92(12):1838-43. 
Read More