เล่าเรื่องเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน ผ่านมุมมองนักวิเทศสัมพันธ์

พม่า…..เธอเปลี่ยนไปแล้วใช่ไหม?

เรื่องมีอยู่ว่า กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจ้งเรื่องให้ทุกคณะฯ จัดส่งนักวิเทศสัมพันธ์ หรือ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศทั้งหลายทั้งปวงเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำหนดกิจกรรมให้เข้าร่วม2 กิจกรรม กิจกรรมแรก คือโครงการเข้าร่วมการอบรม เรื่องการทำงานในบริบทที่หลากหลายของเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ และกิจกรรมที่สอง คือ โครงการ CMU-ASEAN Academic Connect (CAAC) 1: Myanmar Concern ทั้งสองกิจกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมบุคลากรด้านวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้พร้อมต่อการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน รวมถึงส่งเสริมและแสวงหาช่องทางการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยคิวแรก จัดให้เพื่อนบ้านข้างเคียง ที่เรารู้จักมานานในชื่อ “พม่า” แม้ตอนนี้เธอจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เมียนมาร์” แล้วก็เถอะ

เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ก็จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมแรก คือ การฟังการบรรยายและข้อมูลทางวิชาการทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับงานของเรา และสิ่งมากหลายเกี่ยวกับเธอที่จำเป็นต้องรู้ไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานติดตัว ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะส่งให้เดินทางไปทำกิจกรรมที่สอง คือพบเธอตัวจริงที่ย่างกุ้ง (Yangon)

ประเทศพม่า หรือ เมียนมาร์ คุณคิดว่าเธอเป็นอย่างไรนั่น? คนไทยส่วนหนึ่งน่าจะมองพม่าและรู้จักพม่า โดยผ่านหน้าประวัติศาสตร์ที่เคยเรียนตอนสมัยเด็กๆ ประเภทเสียกรุงหนึ่ง กรุงสอง อะไรทำนองนั้น และอีกส่วนหนึ่ง ถ้าจะพูดให้ทันยุคอีกหน่อย ก็คือการมองผ่านทางผู้ใช้แรงงานชาวพม่า ชาวไทยใหญ่ ไทยน้อย ที่พากันอพยพมาใช้แรงงานกันให้ครึกโครมในบ้านเรา เรียกได้ว่ามากันนับแสนได้เลยทีเดียวในตอนนี้ หรืออีกหลายคนก็มองพม่าผ่านทางสื่อต่างๆ ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการเมืองพม่า จนทำให้เรารู้สึกว่าบ้านเมืองของเขาดูจะวุ่นวายอยู่ไม่ใช่น้อย พม่าในสายตาคนไทยส่วนใหญ่ ขอเน้นว่าส่วนใหญ่ (ไม่ขอกล่าวถึงคนไทยส่วนน้อยผู้มีภูมิรู้มากเกินมาตรฐาน) จึงเห็นเป็นภาพของพม่าแบบเบสิกๆ อาทิ ประเทศกำลังพัฒนา ค่อนข้างยากจน รัฐบาลทหาร นางอองซาน ซูจี แรงงานต่างด้าว สะโหร่ง และทานาคา และที่สำคัญ เราชอบคิดเสมอว่าเราดีกว่าและเจริญกว่า จริงไหม? ……ไม่ตอบ….ก็ไม่เป็นไร…. เพราะเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คิดคล้ายๆกันแหละ เพราะฉะนั้น การมีโอกาสได้ไปเยือนกันถึงถิ่น ได้ไปเห็นภารกิจด้านการศึกษาของเธอ ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะได้รู้จักเธอให้มากขึ้น

มิงกะลาบา…สวัสดีเมียนมาร์ ตอนพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน

เครื่องบินของสายการบินบาร์กัน เที่ยวบินที่ W9 9608 ลงจอดที่สนามบินย่างกุ้งเวลา 18.10 น. (เวลาพม่าช้ากว่าประเทศไทย 30 นาที) เร็วกว่าที่ควรจะเป็นไป 10 นาที กัปตันแอร์บากัน แลนด์ดิ้งด้วยความนุ่มนวล คณะดูงานผ่านการตรวจคนเข้าเมืองแบบสบายๆ ไม่มีปัญหากวนใจ เจ้าหน้าที่ ตม. พม่าก็หน้าตาเหมือนๆกับคนไทย มีบางนางทาแก้มด้วยทานาคา ทำให้ค่อยรู้สึกว่ามาถึงพม่าแล้วจริงๆ มีข่าวแจ้งก่อนเราจะเดินทางมาพม่าว่า อาทิตย์ก่อนฝนตกหนัก และมีน้ำท่วมในเมืองย่างกุ้งด้วย!! แต่วันที่เราเดินทางมาถึง แม้จะครึ้มฟ้าครึ้มฝนไปบ้าง แต่ก็ไม่มีฝนเทกระหน่ำแต่ประการใด เราเห็นย่างกุ้งในปี 2013 ยามค่ำคืนผ่านกระจกรถบัส รายละเอียดไม่ชัด เพราะเริ่มมืดแล้ว แต่ถึงแม้แสงไฟจะไม่มลังเมลืองอะร้าอร่าม สว่างไสวมหัศจรรย์เหมือนบ้านเมืองเรา แต่ย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงในยามค่ำคืนก็ดูมีชีวิตชีวาดี อาหารมื้อแรกที่ต้อนรับคณะของเราที่ย่างกุ้งก็เป็นอาหารไทย!! แถมยังอร่อยดีทุกอย่างเสียด้วย.

Good morning Yangon!! Good morning the Golden Land !!

เริ่มการปฏิบัติภารกิจหลัก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มอบหมาย ได้แก่ การไปเยี่ยมเยือนและศึกษาดูงานสถาบัน 3 แห่งในย่างกุ้ง ได้แก่ Yangon Technological University (YTU), Yangon University of Foreign Languages (YUFL) และแห่งที่สาม คือ สถานทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง

ย่างกุ้งยามเช้าไม่ธรรมดา ในวันทำงานเยี่ยงนี้รถติดมากถึงมากที่สุด การติดอยู่บนรถเป็นชั่วโมงก็ทำให้มีโอกาสสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมไปพลางๆแก้เบื่อ มองจากหน้าต่างรถ ย่างกุ้งโดยทั่วไปดูเหมือนเมืองที่กำลังก่อร่างสร้างตัวใหม่ มีการขุดเจาะ ขุดลอก ก่อสร้าง บนถนนแทบทุกสายที่ผ่านไป ดูอลหม่านด้วยผู้คน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และร้านรวงสองข้างทางที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบเท่าไหร่ ร้านยอดนิยมสุดน่าจะเป็นร้านน้ำชา เพราะมีคนนั่งเสวนาจิบชาแทบจะทุกร้าน ตึกรามบ้านช่องแม้จะค่อนข้างเก่า ขาดการทาสีซ่อมแซม แต่ตัวอาคาร และสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ หรือ อาจเป็นอาคารที่อังกฤษสร้างไว้ บอกได้ว่าสวยงามมาก ไม่ว่าจะผ่านไปตรงไหน มุมไหน เป็นต้องเจอะเจออาคารทรงสวยๆสักหลังหนึ่งบนถนนให้ได้ชื่นชม นี่ถ้าหากวันหนึ่งข้างหน้า สาวย่างกุ้งผู้นี้ลุกขึ้นแต่งเนื้อแต่งตัว ขัดสีฉวีวรรณจนหมดจดสดใส เชื่อได้เลยว่าความสวยงามอลังการของเธอจะต้องฉายชัด และดึงดูดความสนใจแก่ผู้คนอย่างแน่นอน เมื่อวันนั้นมาถึง ไทยแลนด์แดนสยามของเราก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยง ที่จะเสียแชมป์สาวเจ้าเสน่ห์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปโดยไม่ทันตั้งตัว

ที่น่าทึ่ง และดึงดูดความสนใจผู้มาเยือนย่างกุ้ง หรือเมืองใดในพม่าก็ตาม น่าจะได้แก่ “คนพม่า” เราจะมองเห็นภาพผู้ชายนุ่งโสร่ง ภาพผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น อยู่ทั่วไปบนท้องถนน อาจมีบ้างที่คนพม่าบางคนแต่งกายอย่างตะวันตกแบบจัดเต็ม แต่จากที่มองเห็นก็ไม่มากมายเท่าไหร่ ความเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวนี้ สะท้อนถึงวัฒนธรรมเดิมที่ยังคงอยู่ในตัวตนของคนพม่า และความเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมสูงมาก เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจน มีเสน่ห์น่าหลงใหล และน่าชื่นชมอย่างยิ่ง ทำให้รู้สึกถึงการได้มาเยือนพม่า และการได้ยืนอยู่บนแผ่นดินพม่าแล้วจริงๆ

Yangon Technological University (YTU)

ขอตัดเข้าสู่โหมดการทำงาน เพราะเรามีเวลาอันน้อยนิดในย่างกุ้ง สถาบันแห่งแรกที่ไปเยือนได้แก่ Yangon Technological University (YTU)ผู้บริหารที่ให้การต้อนรับ คือ Professor Khin Tun Yu, Assistant Director ของ YTU ซึ่งได้บรรยายสรุปในหัวข้อ University Management on Academic and International Affairs โดยเล่าให้ฟังว่า YTU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก่อตั้งมาแล้ว 89 ปี จากการจัดอันดับในพม่า (Myanmar Ranking) จัดอยู่ในอันดับ 2 ของประเทศ มีนักศึกษาประมาณ 5,000 คน บุคลากรประมาณ 380 คน มีการสอนในระดับปริญญาตรี 18 สาขาวิชา ระดับ Postgraduate 10 สาขาวิชา ระดับปริญญาโท 9 สาขาวิชา และระดับปริญญาเอก 3 สาขาวิชา ซึ่งเขาก็มีความพร้อม และอยากจะมีความร่วมมือทางวิชาการ การทำงานวิจัยร่วม และแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างยิ่ง ซึ่งภาระนี้ คณะที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะรับหน้าที่ดำเนินการสานต่อกันต่อไป

รายละเอียดคงไม่กล่าวในที่นี้ เพราะจะกลายเป็นรายงานการประชุม แทนการเล่าเรื่องเพื่อนบ้านผ่านมุมมองนักวิเทศสัมพันธ์

นอกเหนือจากบทบรรยาย และ power point ในห้องประชุม ขอกล่าวถึงสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่

สภาพแวดล้อมและอาคารของ YTU ดูค่อนข้างใหม่ สะอาดเรียบร้อย บรรยากาศค่อนข้างเงียบ คาดว่าเป็นช่วงเรียนหนังสือ เลยไม่มีนักศึกษามาเดินวุ่นวายให้เห็น ห้องประชุมที่รับรองพวกเราก็ใหญ่มาก และสวยมากด้วยเช่นกัน อุปกรณ์ เครื่องเสียงครบพร้อม มิได้ด้อยกว่าของเรา แถมออกจะดีกว่าหน่อยๆด้วยซ้ำ เพราะใหม่กว่า!! อุปกรณ์และเทคโนโลยีในสถาบันการศึกษาของเธอ ดูอลังการงานสร้างมากนะ YTU

การต้อนรับของทาง YTU นับว่าจัดให้แบบเต็มที่ เพราะอาจารย์ของ YTU เกือบยี่สิบคน มาร่วมให้การต้อนรับคณะจาก CMU โดยพร้อมเพรียง บุคลากรของ YTU แต่งตัวเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ผู้บริหารและอาจารย์ทุกท่าน ทั้งหญิงและชาย จะแต่งกายแบบพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายหญิง จะใส่เสื้อแบบพม่าสีขาว ผ้าซิ่นสีน้ำเงินเหมือนกันทุกคน สวยมีสไตล์มากขอบอก (โปรดดูภาพประกอบ) อาจารย์ทุกท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดี เอ่อ..พูดว่าดีมากจะเหมาะกว่า โดยเฉพาะ Professor Khin Tun Yu ต้องน้อมคารวะให้สิบจอก และหันกลับมามองตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องรีบไปฝึกฝนภาษอังกฤษให้ excellence กว่านี้ โดยเร็ว เพราะบุคลากรของประเทศเพื่อนบ้านเราช่างเก่งกาจยิ่งนัก…….เริ่มสำนึกแล้ว สำนึกจริงๆ

แล้วเราก็ได้เห็นนักศึกษาของ YTU เครื่องแบบนักศึกษาหญิงจะเป็นเสื้อสีขาวใส่กับผ้าซิ่น นักศึกษาชายใส่เสื้อกับโสร่ง ดูน่ารักมาก หลายคนหิ้วปิ่นโตอาหารกลางวันมาด้วย พูดถึง “ปิ่นโต” ที่พม่าปิ่นโตจะต้องใช้ของตราหัวม้าลายเท่านั้น จึงจะถือว่าดูดีมีคุณภาพ ปิ่นโตของจีนแดงแม้จะถูกกว่า ก็ไม่ได้รับความนิยม เพราะถือว่าคุณภาพสู้ของไทยแลนด์ไม่ได้ คนพม่าจะล้างปิ่นโตตราหัวม้าลายอย่างระมัดระวัง ไม่ให้สติ๊กเกอร์รูปหัวม้าหลุดออกไป รวมถึงไม่แกะป้ายยี่ห้อที่แขวนไว้ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่า “ที่ชั้นหิ้วเนี่ย ตราหัวม้าลายนะยะ”

จบเรื่องปิ่นโต และการดูงานที่ Yangon Technological University (YTU) ได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันตามธรรมเนียม เชื่อมั่นว่าอีกไม่นาน คงมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันของเรา และเชื่ออีกว่าคงได้เห็นนักศึกษาและบุคลากรจาก YTU มาเดินอยู่ที่ CMU ของเรา และ แอบหวังเล็กๆว่าจะได้กลับมาเยือน YTU อีกสักครั้งโดยอภินันทนาการจาก CMU…

University of Foreign Languages (YUFL)

สถาบันแห่งที่สองที่ไปเยี่ยมเยือนดูงาน ได้แก่ University of Foreign Languages (YUFL) ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยในสังกัด Ministry of Education, Department of Higher Education (lower Myanmar) มุ่งสอนทางด้านภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษารัสเซีย และภาษาไทย โดยเปิดสอนทั้งในระดับ Degree Program และ Diploma Program

การมาศึกษาดูงานที่สถาบันแห่งนี้ ได้รับการต้อนรับอย่างดีเช่นกันจาก Director ของสถาบัน และอาจารย์สาขาภาษาไทย ซึ่งเป็นคนพม่าที่พูดภาษาไทยราวกับเป็นคนไทยเลยกระนั้น….จากข้อมูลที่รับฟัง ก็ดูน่าหวั่นใจสำหรับไทยแลนด์แดนสยามพอสมควร เพราะนอกจากการใช้ภาษาอังกฤษอย่าคล่องแคล่วของคณาจารย์ การมีการเรียนการสอนภาษาที่หลากหลาย ไม่ได้ด้อยไปกว่าบ้านเรา YUFL ยังให้ความสำคัญกับการเรียน-การสอนภาษาไทยเป็นพิเศษ โดยมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยนเรศวรของไทย และดำเนินแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างสถาบัน ให้นักศึกษาปริญญาโทจากนเรศวรไปสอนภาษาไทยที่ YUFL ทุกปีๆละ 2 คน และที่น่าสนใจ พบว่ามีนักศึกษาพม่าสนใจลงเรียนหลักสูตรภาษาไทยถึงสองสามร้อยคน อันแสดงให้เห็นว่า ไม่ช้าไม่นาน เพื่อนบ้านชาว AEC ผู้นี้ของเรา จะมีประชากรที่สามารถใช้ภาษาไทยแบบมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น และรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศของเรามากขึ้นลำดับ เพราะหลักสูตรนี้ ไม่ใส่การอบรมระยะสั้น แต่เป็นการเรียนแบบ full time เป็นเวลา 2 ปีเต็ม ในส่วนของบ้านเรา เริ่มไม่แน่ใจนักว่ามีคนไทยจำนวนเท่าใดในตอนนี้ ที่กำลังสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับพม่า และภาษาของเขาจนแตกฉาน การเดินทางไปเยือน YUFL ครั้งนี้ สอนให้รู้อีกว่า เราควรเตรียมพร้อมด้านภาษาและความรู้เกี่ยวกับบรรดาเพื่อนบ้านทั้งหลายทั้งปวงโดยเร่งด่วน เพราะเขาเริ่มต้นไปแล้ว เมื่อถึงวันที่เข้าร่วมเป็นครอบครัวประชาคมอาเซียนด้วยกัน วันนั้นเราก็ควรรู้จักเขาให้ได้มากเท่าที่เขารู้จักเราด้วยเช่นกัน

จบการฟังบรรยายและหารือในห้องประชุม ได้ข้อสรุปว่า คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันภาษาน่าจะเป็นหน่วยงานหลักที่จะสานต่อกิจกรรมต่างๆ หากคณะอื่นๆ ก็สามารถร่วมทำกิจกรรมได้ ในเรื่องการแลกเปลี่ยน Teaching staff หรือการจ้างสอนภาษา เมื่อ YUFL ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในอนาคต หลังจากนั้น ได้เดินดูห้องเรียน ห้องสมุด และบริเวณอาคารโดยรวม ก่อนจะลาจากกัน ……..เจซูติน บาแด

สถานทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง (The Royal Thai Embassy, Yangon)

ปิดท้ายการศึกษาดูงาน ด้วยการเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง นายพิษณุ สุวรรณะชฎ ซึ่งให้การต้อนรับ และบรรยายให้คณะดูงานฟังในหัวข้อ “Myanmar today: Challenges and Opportunities รวมไปถึงการเลี้ยงอาหารค่ำด้วย

สถานทูตไทยตั้งอยู่บนเหมืองทองคำ!!! คำพูดนี้เป็นของท่านทูต มิได้คิดเองเขียนเองแต่ประการใด เพราะตอนที่รัฐบาลไทยในสมัยนู้นนน ตัดสินใจซื้อที่ดินแห่งนี้ ได้ใช้เงินเป็นหลักหมื่นบาท แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทุกอย่างเปลี่ยนไป ณ บัดนี้ ที่ดินที่มีสถานเอกอัครราชทูตทูตไทยตั้งอยู่พลันกลายเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่านับหมื่นล้าน ซื้อใหม่ก็ไม่ได้แล้ว เพราะแพงได้ใจอย่างยิ่ง

ท่านทูตได้กรุณาเปิดโลกทรรศน์ ใหม่เกี่ยวกับพม่าให้พวกเราได้รับทราบ ท่านได้บอกให้เรา format ความทรงจำความคิดเดิมๆเกี่ยวกับพม่าออกไป เพื่อรับรู้พม่าในความเป็นปัจจุบันว่า Myanmar’s new status in International Community เป็นอย่างไร? พม่าเปลี่ยนไปมากแล้ว มากจนเราต้องคิดใหม่เกี่ยวกับเพื่อนบ้านรายนี้ ก็อย่างที่สังเกตเห็น เมื่อเธอเริ่มเปิดตัวสู่โลกภายนอก ประเทศที่เปี่ยมด้วยทรัพยากรมหาศาล ยังคงมีสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่บริสุทธ์ รวมถึงความเข้มแข็งทางขนบประเพณี และวัฒนธรรม สถานะของพม่าจึงเป็น “ประเทศผู้เลือก” ไม่ใช่ผู้ที่ถูกเลือกอีกต่อไป ทุกประเทศอยากคบพม่า อยากทำความรู้จักและร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ไม่มีใครคิดถึงเรื่องเดิมๆ เช่น รัฐบาลทหาร และความวุ่นวายอีกต่อไป เพราะเธอเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ

ประเทศไทยเพื่อนบ้านใกล้เคียงพม่า หากยังอยากคงความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนบ้านสนิท และคงประโยชน์ร่วมที่เคยมีกันมาก่อน ก็ต้องปรับกระบวนท่าใหม่ โดยมองพม่าใหม่ (New Perception) ให้ถูกต้อง เหมาะสม และทันเวลา มองแบบเชื่อมโยง รู้จักเขา รู้จักเรา รู้ข้อมูลความสัมพันธ์ของเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพม่า และความน่าจะเป็นเกี่ยวกับประเทศของเขาด้วยความเข้าใจในบริบทรวม ศึกษาและมองลึกไปในโครงการร่วมต่างๆ ที่ทำกับนานาประเทศ ว่ามีข้อแม้ ผลประโยชน์ แฝงอย่างไรบ้าง และพวกเขากำลังคิดอย่างไรกันอยู่

ท่านทูตสรุปปิดท้ายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา ที่จะดำรงความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อนบ้านสนิท และความเป็นอาเซียนด้วยกัน คือ การลบ “มายาคติ” ที่มีต่อเพื่อนบ้านรายนี้ เราต้องปรับวิธี และกระบวนการทำงานใหม่ และมองข้ามความเป็นประเทศฉัน ประเทศเธอ เราควรรับรู้ว่า เรา คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรากำลังจะเป็นครอบครัวอาเซียนในสองปีข้างหน้า ไทยอาจมีโอกาสพัฒนาไปก่อนพม่า แต่เธอก็มีโอกาสเรียนรู้หลายสิ่งจากความผิดพลาดของเราเช่นกัน การคบหากันด้วยความจริงใจไม่ใช้ผลประโยชน์นำ จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ที่เราใช้กับอาเซียนด้วยกัน……. พม่าอาจเปลี่ยนไปในบางสิ่ง แต่เชื่อว่าสายสัมพันธ์และความเป็นมิตรระหว่างประเทศเราทั้งสองยังคงเดิม

จะขอจดจำช่วงเวลาที่ดีและมีประโยชน์นี้ไว้ การได้เรียนรู้ระหว่างการเดินทาง จากผู้คนหลากหลายทั้งคนไทยและคนพม่า ที่ย่างกุ้งดินแดนแห่งทองคำ (Yangon, the Golden Land) ช่างเป็นประสบการณ์ล้ำค่าอย่างยิ่ง ดีใจจริงๆที่ได้มาพบเธอ.

โน้ก แซะ ปาเต เปียนโต้ย จ๊ะแม……..ลาก่อน แล้วพบกันใหม่

***********************************************************************