ประวัติภาควิชาวิชาวิสัญญีวิทยา

เดิมภาควิชาวิสัญญีวิทยาเป็นหน่วยวิสัญญีขึ้นกับภาควิชาศัลยศาสตร์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2503 ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ภาควิชาวิสัญญีวิทยาได้แยกตัวออกจากภาควิชาศัลยศาสตร์ มาเป็นภาควิชาที่ขึ้นกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยตรง ซึ่งภาควิชาฯ มีหน้าที่ให้บริการทางด้านวิชาการและการบริการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. ผลิตบัณฑิตแพทย์ให้มีความรู้พื้นฐานทางวิสัญญีวิทยา ตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา
2. ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิสัญญีวิทยา เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ
3. ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และตอบสนองต่อความต้องการของคณะฯ และมหาวิทยาลัย
4. ให้บริการทางวิสัญญีวิทยา และให้บริการระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่
5. ให้บริการทางวิชาการ และให้ความรู้ทางด้านวิสัญญีวิทยาแก่บุคลากรทางการแพทย์ บุคคลที่สนใจ ทั้งภายในคณะฯ มหาวิทยาลัย และองค์กรภายนอก
6. สร้างรายได้ให้คณะแพทยศาสตร์ เพื่อนำมาพัฒนาคณะฯ ให้เจริญก้าวหน้า
7. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และสร้างความรัก สามัคคี ตลอดจนความผูกพันให้เกิดขึ้นในองค์กร

นับตั้งแต่ก่อตั้งภาควิชาฯ จนถึงปัจจุบัน มีหัวหน้าภาควิชาฯ ดังรายนามและช่วงเวลา ดำรงตำแหน่ง ดังต่อไปนี้

1. ผศ.พญ. นารีศรี มหารักขกะ พ.ศ. 2511 – พ.ศ. 2529

2. ผศ.นพ. พิสิฏฐ์ โนตานนท์ รักษาการ พ.ศ. 2515, พ.ศ. 2517 – พ.ศ. 2518
3. ผศ.นพ. ธนา นิพิทสุขการ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2529 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2541
4. ผศ.นพ. อร่าม พงศ์เชี่ยวบุญ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2545
5. ผศ.นพ. ธนา นิพิทสุขการ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2545 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552
6. รศ.นพ. ยอดยิ่ง ปัญจสวัสดิ์วงศ์ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 – 30 กันยายน พ.ศ. 2557
7. รศ.นพ. วรวุธ ลาภพิเศษพันธุ์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – 30 กันยายน พ.ศ. 2561
8. รศ.นพ. ธนู หินทอง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 – 30 กันยายน พ.ศ.2562
9. รศ.พญ. นุชนารถ บุญจึงมงคล 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน

ในด้านการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาวิสัญญีวิทยา ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2507 จนถึงปีการศึกษา 2561 รวมมีแพทย์ประจำบ้าน 293 คน ที่ผ่านการฝึกอบรมจนจบหลักสูตร ในจำนวนนี้ได้รับวุฒิบัตรสาขา วิสัญญีฯ จำนวน 290 คน

การก่อตั้ง  50 ปี ของภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมัยก่อนเมื่อประมาณ 55 ปีก่อน  ในจังหวัดเชียงใหม่ได้มีกระแสเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยในเมืองเชียงใหม่  โดยมีหนังสือพิมพ์ชาวเหนือ สมัยนั้นเป็นหัวหอกในการเรียกร้องต่อรัฐบาลสมัยนั้น   จนกระทั่งรัฐบาลไทยสมัยนั้นได้ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  ซึ่งสังกัดกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข   ให้มีนโยบายจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ขึ้น เพราะสมัยนั้นมีแค่ 2 แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์   ซึ่งทั้งสองแห่งนี้รับนักศึกษาที่จบชั้นเตรียมแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   มาศึกษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาดไทยอีก 4 ปี ก็จบ   ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต เพื่อเป็นการเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนแห่งที่ 3 เกิดขึ้น    มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล)  ได้ให้ ศ.ดร.สตางค์  มงคลสุข แห่งภาควิชาเภสัชศาสตร์ (ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ในรั้วของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)  จัดตั้งโรงเรียนเตรียมแพทย์เชียงใหม่ขึ้น ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปที่ตึกสร้างใหม่ข้างโรงพยาบาลรามาธิบดี   สมัยเมื่อก่อน 50 ปี  ยังไม่มีใครทราบว่าโรงเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่จะตั้งอยู่ที่ใด จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะการเมืองของประเทศเราก็ยังไม่แน่นอน สุดท้ายก็เลือกโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งเดิมเป็นโรงพยาบาลของเทศบาลนครเชียงใหม่ ดังนั้นบริเวณที่ดินของโรงพยาบาลเก่าจึงต้องเช่าที่ดินจากเทศบาลนครเชียงใหม่อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้) เมื่อได้รับนักศึกษาซึ่งคัดเลือกมาจากนักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงสุด 50 คนแรกของนักเรียนที่สอบได้ของมัธยมปีที่ 8 (หรือจบชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2)   มาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ของ ศ.ดร.สตางค์ แล้ว     ได้มีการรับสมัครผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่โรงเรียนแพทย์ใหม่ที่เชียงใหม่ โดยส่งไปฝึกอบรมสาขาวิชาต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกา

เมื่อคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ได้เปิดขึ้นตอนแรกๆ  ยังไม่มีนักศึกษาแพทย์ย้ายมาจากกรุงเทพ แต่ก็มีแพทย์ฝึกหัด (Intern) ขึ้นมาทำงานที่โรงพยาบาลนครเชียงใหม่แล้ว   ต่อมาก็ได้มีนักศึกษาแพทย์เชียงใหม่รุ่นแรกย้ายขึ้นมา  สมัยนั้นภาควิชาเภสัชวิทยา, กายวิภาคศาสตร์ และพยาธิวิทยา ได้อยู่ที่บริเวณเรือนไม้ ด้านตะวันตกของตัวโรงพยาบาล  ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งตึกของคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ปัจจุบันนี้

สำหรับตัวตึกอำนวยการ (เก่า)  ได้ดัดแปลงชั้นล่างเป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอก แผนกต่างๆ และห้องฉุกเฉินซึ่งอยู่ชั้นล่างซีกตะวันตก  ส่วนชั้นบนด้านตะวันออกเป็นห้องประชุมและห้องเล็กเชอร์ใหญ่  ส่วนซีกตะวันออกเป็นห้องคณบดี, ผู้อำนวยการ, ห้องผู้แทนของแพทย์ที่ปรึกษาจาก ม.อิลลินอยส์  พร้อมเจ้าหน้าที่จาก USOM  และตรงกลางตรงข้ามบันไดชั้นที่ 2 เป็นห้องธุรการ  และการเงินการบัญชี ของคณะฯ

ส่วนตึกสูติ นรีเวช ก็อยู่ที่ตึกผดุงครรภ์เก่า  ซึ่งอยู่ซีกตะวันออกของตึกอำนวยการ  ซึ่งมีตึกอายุรกรรมอยู่ข้างหลังไปทางทิศเหนือ (ปัจจุบันเป็นตึกจิตเวช)

ส่วนซีกตะวันตกของตึกอำนวยการเป็นตึกศัลยกรรมชาย (ปัจจุบันได้รื้อไปแล้ว กลายเป็นที่ตั้งของตึกคณะพยาบาลศาสตร์)  ถัดมาด้านหลังตึกศัลยกรรมชายเป็นตึกศัลยกรรมหญิง ซึ่งชั้นล่างเป็นที่ทำการของแผนกศัลยศาสตร์ และห้องผ่าตัดศัลย์   ซึ่งมีห้องผ่าตัดใหญ่ 4 ห้อง มีห้องผ่าตัดขนาดกลางสำหรับผ่าตัดไม่ค่อยสะอาด และผ่าตัดเล็กๆ น้อย   ข้างสำนักงานศัลยศาสตร์ มีห้องพักแพทย์และห้องแต่งตัวชายหญิงอยู่ตรงกลาง หน้าห้องพักแพทย์มีห้องธุรการเล็กของห้องผ่าตัด, ห้องส่องกล้อง, ผ่าตัดเล็กๆ อยู่   ถัดไปก็เป็นห้องเล็กๆ ขนาด 2 เตียง ไว้เป็นห้องดูแลหลังผ่าตัดก่อนส่งกลับตึกผู้ป่วย   ต่อมาห้องนี้กลายเป็นห้องพักฟื้น (Recovery Room แห่งแรกในปี พ.ศ.2507) และต่อมาได้มีการขยายห้องผ่าตัดใหญ่ ออกไปทางด้านตะวันตกอีก 2 ห้องใหญ่    ซึ่งต่อมาภายหลังที่มีการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์  ได้มีการเจรจากันกับทางคณะแพทย์หลายครั้งที่จะขอทุบห้องทั้ง 2 นี้    เพื่อขยายตึกของคณะเทคนิคการแพทย์ออกมา   ปัจจุบันตึกศัลยกรรมหญิงก็ได้ปรับปรุงกลายเป็นหอพักผู้ช่วยพยาบาลหญิงไป

หลังจากปี พ.ศ.2508-2509 ได้มีการขยายห้องกักแพทย์ของแผนกศัลยกรรม ออกไปทางทิศตะวันตกจนเกือบถึงหน้าตึกสงฆ์

ส่วนตึกเล็กตรงกลาง (ชั้นเดียว)  ก็เป็นตึกเอ็กซเรย์, ตึก Central Lab และห้องธนาคารเลือด  ส่วนตึกผู้ป่วยพิเศษ 7 ชั้น  อยู่ด้านหลังข้างตึกสงฆ์เป็นตึกผู้ป่วยพิเศษรวม  ทั้งแผนกสูติฯ, ศัลย์, อายุรศาสตร์, กุมารฯ

ระยะเริ่มแรกนี้ คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ยังเป็นคณะแพทย์ที่สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์อยู่  มีสำนักงานติดต่อที่สำนักงานแพทย์เชียงใหม่ อยู่ที่ชั้น 2 ของตึกอำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช   คณะแพทย์เชียงใหม่ได้มีแพทย์ฝึกหัดรุ่นแรกได้ย้ายขึ้นมาปฏิบัติงานที่ โรงพยาบาลแพทย์ใหม่แห่งนี้เป็นรุ่นแรก   ส่วนแผนกศัลยศาสตร์สมัยนั้น มี ศ.นพ.โอกาส  พลางกูร เป็นหัวหน้าแผนก ซึ่งก็ควบรวมรักษาการ หัวหน้าแผนก ตา หู คอ จมูก ไปด้วย    ส่วนวิสัญญีก็เป็นเพียงหน่วยหนึ่งในแผนกศัลย์ และศัลย์ออร์โธปิดิคส์ก็ยังไม่ได้ตั้ง คงอยู่ในแผนกศัลย์ฯ   สมัยนั้นมีวิสัญญีแพทย์อยู่ท่านเดียว คือ อาจารย์หมอ นารีศรี  มหารักขกะ     ผู้ซึ่ง อ.หมอโอกาส  ขอยืมตัวท่านอาจารย์มาจากคณะแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช   ทั้งๆ ที่ อาจารย์เพิ่งกลับมาจากจบการฝึกอบรมจากประเทศออสเตรเลียได้ไม่นาน  ขึ้นมาช่วยงานการเรียนการสอนที่คณะแพทย์เชียงใหม่  ส่วนแพทย์ที่มาช่วยให้ยาสลบก็เป็นแพทย์ฝึกหัด หรือแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ที่หมุนเวียนมาอยู่ด้วย  บางครั้งก็มีพยาบาลห้องผ่าตัดที่ว่างมาช่วยงานวิสัญญีฯ    จนกระทั่งปี 2505 ข้าพเจ้าผู้เขียนได้ขอโอนย้ายมาจากกรมการแพทย์ มาอยู่หน่วยวิสัญญี  ซึ่งขึ้นกับแผนกศัลย์    สมัยนั้น ทำให้หน่วยวิสัญญีฯ  มีอาจารย์แพทย์ 2 ท่าน คือ อาจารย์หมอ นารีศรี มหารักขกะ และข้าพเจ้า   นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกของเชียงใหม่ก็ขึ้นมาอยู่คลินิก (ปีทีที่ 5) พอดี

ห้องผ่าตัดใหญ่นี้ใช้ร่วมกับการผ่าตัดศัลย์, สูติ นรีเวช, ตา หู คอ จมูก และออร์โธปิดิคส์ เพราะสมัยนั้นหัวหน้าแผนกศัลย์ ได้รักษาการหัวหน้าแผนกเหล่านี้ด้วย   ส่วนห้องผ่าตัดเล็ก ข้างห้องหัวหน้าห้องผ่าตัด ใช้เป็นห้องทำ Endoscopy ต่างๆ และรายที่ใช้ดมยาโดยพวก Trilene และผ่าตัดเล็กต่างๆ

        ข้าพเจ้า ผู้เขียนก็ผลัดกันอยู่เวรนอกเวลา คนละวัน ซึ่งที่จริงได้กลับไปนอนที่บ้านคนละคืน เพราะตอนกลางวันทำงานกันตั้งแต่เช้า 8 นาฬิกา  กว่าจะได้กลับบ้านก็เย็นหกโมงกว่า  ทุกคนไม่ได้กลับตรงเวลาสักคน กลางคืนอาจารย์หมอ นารีศรี  ก็ต้องปั่นจักรยาน ผ่านฐานรากของตึกเจ็ดชั้นที่สร้างทิ้งร้างไว้ทุกคืน เพื่อมาห้องผ่าตัด    ส่วนข้าพเจ้าก็ต้องเดินทางผ่านห้องพิเศษที่เก่าทึมอยู่ตรงมุมรั้ว ข้างประตู หน่วยมาเลเรีย เกือบจะทุกคืนเหมือนกัน จนชินเลิกกลัวผี    ต่อมาประมาณกลางปี 2506 หลังจากทาง โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ได้ผลิตนักเรียนพยาบาลจบใหม่ๆ  อ.นารีศรี ก็ได้ติดต่อทาง โรงพยาบาลแมคคอร์มิค   จนได้พยาบาลมาช่วยงานในหน่วยวิสัญญีฯ อีก 2 ท่าน   คือ คุณอุรา     และคุณสุวพันธ์  นับว่า 2 ท่านนี้เป็นพยาบาลวิสัญญีรุ่นแรกของหน่วยวิสัญญีฯ สมัยก่อนๆ เราอาศัยพยาบาลของห้องผ่าตัดที่ว่างงานห้องผ่าตัดมาช่วยงานเป็นบางครั้ง   ต่อมาไม่นานก็ได้ นายนรินทร์ มาช่วยงานเก็บเครื่องไม้ เครื่องมือ  หรือช่วยไปเบิกของใช้ในหน่วยมาอีกคน  และก็ฝึกหัดเขาให้ช่วยงานต่างๆ ของวิสัญญีไปด้วย   ต่อมาก็ส่งเข้าไปเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลในโควตาของดมยา เพื่อจบแล้วจะได้มาช่วยงานในหน่วยวิสัญญีอีก

        ระหว่างปี 2504-2506 หน่วยวิสัญญีฯ ไม่มีแพทย์ประจำบ้านวิสัญญีโดยตรง ต้องอาศัยแพทย์ฝึกหัด หรือแพทย์ประจำบ้าน จากแผนกศัลย์, สูติ นรีเวช  หรือนักศึกษาทันตแพทย์ปีสุดท้าย  หรือ ทันตแพทย์ที่จบใหม่ๆ มาช่วยทำหน้าที่วิสัญญีแพทย์ให้แผนกเรา  เพราะสมัยนั้นพวกเราสนิทสนมกันมาก  ซึ่งก็รวมไปถึง นศพ., นทพ. และ นรพ.  เพราะสมัยนั้นพวกเราเรียนอยู่ใน campus สวนดอกด้วยกันและมีจำนวนไม่มาก จึงไหว้วานช่วยเหลือกันได้ง่าย

        ประมาณต้นปี 2507 อาจารย์หมอเมืองดี ก็กลับมาจากอเมริกา โดยจบ Training จาก OHIO STATE UNIVERSITY ทำให้หน่วยเรามี Staff ดมยา 3 ท่าน   ต่อมาไม่นานก็มี อาจารย์หมอสุมนา  กลับมาจากอเมริกา มาสมทบกับ อาจารย์หมอเมืองดี  แต่ก็อยู่กับเราไม่นานก็ขอย้ายเข้ากรุงเทพฯ  อีกคนคงเหลือ 3 คนเท่าเดิม    ต่อมาไม่นาน อ.หมอนารีศรี ก็ขอย้ายกลับต้นสังกัด โรงพยาบาลศิริราช ตามเดิม เพราะอาจารย์อยากกลับไปอยู่ที่เก่า เพราะจากมานาน  และอาจารย์ก็ไม่ได้โอนย้ายมาเชียงใหม่มาก่อน    ปี 2507 เป็นปีที่หน่วยวิสัญญีรุ่งเรืองที่สุด และพัฒนาเรื่องผู้คน บุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ มากกว่าเดิม  ได้มีการนำเอาเครื่องช่วยหายใจเป็นเครื่อง Bird Mark 4 & Mark 7  มาช่วยในการดมยา  และมี Thermometer ชนิด Electronic  โดยใช้ Probe เป็นตัววัดอุณหภูมิของร่างกายทางหลอดทางเดินอาหาร, ทางกล้ามเนื้อ, ทางผิวหนัง หรือทางทวาร มาใช้สำหรับการให้ยาสลบชนิด Hypothermia หรือในการทำ diagnostic sympathetic nerve block  เพื่อช่วยในการพิจารณาว่าในการรักษาผู้ป่วยที่จะทำการผ่าตัดเอากลุ่มประสาท Lumbar sympathetic ออก จะเป็นการได้ผลหรือไม่ เช่น ผู้ป่วย T.A.O. เป็นต้น  และหน่วยเรายังมีเครื่องตรวจวัดคลื่นสมองระหว่างการผ่าตัดด้วย   นอกจากนี้หน่วยของเรายังมีเครื่องใช้ตรวจหาเกี่ยวกับ Pulmonary Functions ต่างๆ เช่น เครื่องวัด Vitalography  เพื่อหาค่า function  การหายใจโดยปอดของผู้ป่วยนั้นปกติหรือไม่ เช่น การหาค่า E.E.V. เป็นต้น  หรือเครื่องหาค่า M.B.C. ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการหายใจบางโรค ว่าก่อนหรือหลังการให้ยาขยายหลอดลมไปแล้ว ผลการรักษาดีขึ้นหรือไม่  เรามีเครื่องหา Spirography อีกด้วย  ทำให้หน่วยเราต้องรับช่วยเป็นห้อง Lab  ช่วยหาผลต่างๆ จากผู้ป่วยของโรคทางเดินหายใจ   เครื่องมือเหล่านี้ให้ทางแผนกอายุรศาสตร์ หน่วยโรคหายใจ  ขณะนั้นให้แก่หน่วยนั้นด้วย   นอกจากนี้หน่วยของเรายังมีแก๊ส Helium สำหรับช่วยผู้ป่วยที่หายใจตีบมากๆ หายใจเอา O2 เข้าไปไม่ค่อยได้   ทำให้ต้องไปช่วยทางแผนกอายุรศาสตร์ และกุมารฯ ช่วยในการให้การรักษา และช่วยหาค่าของ Lung functions ด้วย

ในปี 2507 นี้ เราก็ได้เริ่มมีฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านวิสัญญี จำนวน 2 คน เป็นครั้งแรก  ซึ่งสมัยนี้ยังไม่มีการสอบวุฒิบัตรสาขาวิสัญญีฯ โดยแพทยสภา   และยังไม่มีราชวิทยาลัยวิสัญญีฯ  มีแต่สมาคมวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย

หลังจากสิ้นปีที่สองแล้ว ท่านทั้งสองก็ลาออกไปฝึกอบรมทางวิสัญญีวิทยาที่อเมริกาต่อ เพื่อสมัครเข้าสอบอเมริกันบอร์ด  เพราะสมัยนั้นแพทย์ที่จบใหม่เกือบจะทั้งหมดสมัครไปทำงานที่ประเทศ U.S.A. เกือบจะทั้งหมด  เพราะมีระบบการฝึกอบรม Internist และ Board Specialty แต่ละสาขา  และที่สำคัญเงินเดือนก็ได้แพงกว่าบ้านเรามาก  แต่ท่านทั้งสองเมื่อจบได้ Board ทางวิสัญญีแล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯ

สมัยก่อนนี้ และสมัยปี 2507 นี้ หน่วยวิสัญญีฯ ยังเป็นผู้ที่พิมพ์ Schedule การผ่าตัดของแต่ละวันอยู่ แผนกศัลย์ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ   ดังนี้การ Set ผ่าตัดที่ห้องผ่าตัดทั้งหมด หน่วยวิสัญญีจะเป็นผู้พิมพ์   ดังนั้นการ Set ผ่าตัดของ Surgeons มักมีปัญหาบ่อยๆ เพราะการขอ Set ผ่าตัดบางราย ผู้มา Set ผ่าตัดกรอกให้ข้อมูลไม่ครบ   โดยเฉพาะการ Investigation ต่างๆ และการตรวจที่สำคัญ หรือผล Lab ไม่ครบ  ทำให้มีปัญหาถกเถียงกันระหว่างดมยา และ Surgeons บ่อยๆ  ทั้งๆ ที่ก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วยเอง  และเราก็มี Case Conference ของแผนกศัลย์ทั้งหมด ทุกบ่ายวันศุกร์ด้วย

      สมัยนั้นผู้ป่วยที่มาหาหมอที่โรงพยาบาล มักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักเกือบทั้งนั้น  การผ่าตัดสมัยนั้น ห้องผ่าตัดใหญ่ของเรายังไม่มีเครื่องจี้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (เช่นเครื่องจี้ยี่ห้อ Bovies อย่างปัจจุบัน)  ถ้าจะมีผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าตัดปอดเพื่อทำผ่าตัด Decortication หรือผ่าตัดหลอดอาหารที่เป็นมะเร็ง ก็ต้องไปขอยืมเครื่องจี้ไฟฟ้าจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิคมาใช้  เพราะโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ได้มาจากการบริจาคมาจากอเมริกาที่เหลือใช้จากกองทัพ  เครื่องจี้ของเราที่มีอยู่สมัยนั้นเป็นเครื่องจี้ขนาดเล็ก ใช้ในห้อง E.R. ที่ O.P.D. เท่านั้น   สมัยนั้นการผ่าตัดปอดมักมีการเสียเลือดมาก และเลือดไม่ยอมหยุด  ทำให้เกิดการถ่ายเลือดจำนวนมาก  ธนาคารเลือดของเราก็มีขนาดเล็ก ไม่มีเกร็ดเลือด   หรืออื่นๆ เหมือนสมัยนี้

หน่วยวิสัญญีวิทยา       ได้ก่อตั้งห้องพักฟื้นหลังผ่าตัดเป็นครั้งแรกของโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ เป็นห้องพักฟื้นขนาด 2 เตียง   และมีเครื่องช่วยหายใจยี่ห้อ Bird Mark 7  และ Mark 8 อย่างละเครื่อง  บางครั้งก็ใช้เป็น I.C.U. โดยปริยาย  เพราะก่อนนี้หลังผ่าตัดเสร็จ ดูแลใน OR สักครู่ ก็ส่งกลับ Ward เลย   ต่อมาก็ได้ขยายห้องพักฟื้นไปทางด้านใต้ อยู่ระหว่างตึกศัลยกรรมหญิง  ทับตึกศัลยกรรมชายเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ขนาดความจุ 20 เตียง มีห้องแยกอีก 2 ห้อง  โดยตึกเรือนไม้นี้ใช้เป็นห้อง I.C.U. และห้องพักฟื้น  โดยอยู่คนละด้านกัน เป็น I.C.U. และ R.R. แห่งแรกของโรงพยาบาลนครเชียงใหม่    นอกจากนี้ยังรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการหายใจ จากแผนกอายุรศาสตร์ และแผนกกุมารเวชศาสตร์ด้วย  ทำให้หน่วยวิสัญญีเราต้องเพิ่มจำนวนเครื่องช่วยหายใจมากขึ้น เช่น มีเครื่องช่วยหายใจยี่ห้อ Benet และ Bird เพิ่มขึ้น  และได้เพิ่ม Circuit สำหรับเด็กด้วย    นอกจากนี้ได้มี Oxygen tent สำหรับผู้ใหญ่  ซึ่งใช้ให้ O2 ไปในตัว และมีเครื่อง Croupett สำหรับเด็กเพิ่มขึ้น   รวมทั้งมี Cercuit สำหรับเด็ก (Pediatric) ของเครื่องช่วยหายใจ Bird & Bennet ด้วย

                เป็นที่น่าภูมิใจของโรงพยาบาลและหน่วยวิสัญญี   สมัยนั้นเมื่อตอนเริ่มแรกตั้ง I.C.U. เครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยมีจำนวนไม่พอ และบางส่วนยังสั่งมาไม่ถึง  ทำให้ได้ดัดแปลงใช้เครื่องช่วยหายใจในสัตว์ที่จะใช้ใน Lab. Dog. ของเรา ที่ยังใหม่ ไม่ได้ใช้   และใช้ไฟฟ้าเดินมอเตอร์เอามาดัดแปลงใช้กับผู้ป่วยที่ป่วยโรคบาดทะยัก ที่ส่งมาจากแผนกอายุรศาสตร์   โดยเพิ่ม Filter ที่ใช้กรองน้ำมันและกรองอากาศทั้ง 2 ข้าง ก่อนเข้าผู้ป่วย เพราะเครื่องนี้สามารถกะ Volume  และระยะเวลาหายใจเข้าออกได้  และใช้ Solution พิเศษ สำหรับ lubrioute ลูกสูบ  และมีที่สำหรับเพิ่มและกด percentage ของ O2 ในลมหายใจได้

เพราะเนื่องจากผู้ป่วยชักตลอดเวลา ต้องให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อ D. Tubocurarine v ระงับการชักตลอดเวลาที่ให้การรักษาอยู่ เพราะแรกๆ ก่อนจะใช้เครื่องนี้เราใช้คน คือ แพทย์ฝึกหัด แพทย์ประจำบ้าน และนักศึกษาแพทย์    เข้าเวรผลัดเปลี่ยนกัน 24 ชั่วโมง เพื่อบีบ Ambu Bag  ช่วยหายใจผู้ป่วยตลอดวัน ตลอดคืน  เพราะโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ระยะนั้นยังไม่มีเครื่องช่วยหายใจเหลืออยู่เลย  ทำเช่นนี้อยู่ 2-3 อาทิตย์ จนผู้ป่วยหายและหยุดชัก  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่พวกเราที่ช่วยกันรักษาจนผู้ป่วยบาดทะยักรายนี้หายกลับบ้านได้

นอกจากนี้หน่วยวิสัญญียังได้ส่งเครื่องช่วยหายใจชนิดทำ negative pressure  เพื่อมาใช้แทนเครื่องปอดเทียม ยีห้อ Curias มาเตรียมใช้แทน Ion Lung  แต่ก็ไม่ได้นำไปใช้  คงเก็บไว้ในพิพิทธภัณฑ์เพื่อให้นักศึกษาไว้ศึกษา เพราะเครื่องนี้ใช้ง่าย เคลื่อนที่ไปมาได้ง่าย โดยมีเครื่องปั๊มทำ negative pressure ซึ่งจะต้องต่อสาย Corrugates Tube   จากเครื่องทำ negative pressure ไปยังครอบพลาสติกแข็งที่มีรูตรงกลางข้างบนสำหรับสวมท่อ negative pressure  และครอบพลาสติกนี้จะวางครอบบนอกของผู้ป่วย และปลายทั้งสองข้างจะมีผ้าพลาสติกหนาต่อออกไป คลุมตัวผู้ป่วยที่เหลือทั้งข้างบน และล่าง   เมื่อเครื่องทำงาน มี negative pressure เกิดขึ้น  อกของผู้ป่วยจะขยายออกพองขึ้น  ซึ่งก็หมายความว่าผู้ป่วยหายใจออก เครื่องจะทำเป็นจังหวะๆ ไป เหมือนคนหายใจเข้า-ออก 16-20 ครั้งต่อนาที เท่าที่เราตั้งไว้   ปัจจุบันเครื่องแบบนี้ไม่นิยมใช้กันแล้ว ได้เก็บไว้เป็นพิพิทธภัณฑ์ของภาควิชาฯ อยู่ในห้องพัสดุ

หน่วยวิสัญญีวิทยา สมัยนั้นยังได้สั่งแก๊ส Ethylene และ Cyclopropane มาใช้ และเพื่อให้แพทย์และนักศึกษาได้รู้จัก และรู้ถึงวิธีใช้และป้องกัน เพราะแก๊สยาสลบทั้งสองชนิดนี้ติดไฟระเบิดได้  แก๊ส Ethylene จะมีกลิ่นเฉพาะเหมือนกลิ่นกระเทียม ตัวถังทาสีแดงเลือดนก  ส่วนสัดส่วนที่ใช้กับออกซิเจนก็ใช้เหมือนกับการใช้แก๊สไนตรัสอ๊อกไซด์    และ action ของมันก็เหมือนกับแก๊สไนตรัสอ๊อกไซด์ แต่ที่ต่างกันคือ แก๊สเอ็ดทิลีนนั้นติดไฟระเบิดได้      ส่วนแก๊สไซโครโปรเปนนั้นบรรจุในท่อทาสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะของตัวเองและหอม เวลาใช้มักทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็เหมาะสำหรับรายที่มีแนวโน้มที่ทำให้ความดันโลหิตตก และชีพจรเต้นช้า    ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยบางรายที่มี Tendency มี B.P. ตกต่ำลง   แต่ก็มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดการติดไฟและระเบิดได้ เมื่อมีการจี้ไฟฟ้า หรือมีประกายไฟฟ้าเกิดขึ้นในห้องผ่าตัด  ดังนั้นเวลาจะใช้ Cyclopropane ต้องใช้น้ำราดพื้นห้องผ่าตัดให้ชุ่ม และเอาผ้าชุบน้ำคลุมเครื่องดมยาสบไว้   ตลอดการดมยาด้วย Cyclopropane   ปัจจุบันแก๊สทั้งสองชนิดนี้ไม่ได้ใช้ในการให้ยาสลบแล้วคงเก็บไว้ในคลังพัสดุของคณะแพทย์ เพื่อเป็นพิพิทธภัณฑ์ให้ นศพ. ได้เรียนเท่านั้น   ส่วนแก๊สในถังไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่ เพราะได้ข่าวว่าได้ปล่อยแก๊สทิ้งไปหมดแล้ว เพราะกลัวระเบิก ? (ระยะเวลาที่ปล่อยแก๊สทิ้งผู้เขียนกำลังอยู่ในต่างประเทศ)

สมัยก่อนเราไม่สามารถทำ Continuous Spinal Block ได้  เพราะไม่มีท่อพลาสติกสอดใส่เข้าไปในช่องไขสันหลังได้   ทางหน่วยวิสัญญี สมัยนั้นได้สั่งซื้อท่อ Vinyl Tube สำหรับทำท่อ Continuous Spinal Anesthesia มาจากอเมริกา  โดยสั่งมาเป็นม้วนๆ เป็น Vinyl Tube สำหรับใช้ทางการแพทย์โดยเฉพาะ  โดยนำมาตัดเป็นท่อนยาวตามต้องการ แล้วสอดใส่ไว้ในท่อหลอดแก้ว ซึ่งทนไฟ  สามารถขอมาจากแผนกสรีรวิทยา ตัดตามความยาวที่ต้องการ แล้วห่อผ้าส่งนึ่งใน Autoclave ของ OR  และขณะเดียวกันก็สั่ง Vinyl Tube ขนาด diameter ต่างๆ เพื่อนำมาทำ Cutdown ของเส้นเลือดดำผู้ป่วย  โดยตัดปลายเข็มขนาดต่างๆ มาเสียบไว้ สำหรับทำ I.V fluid หรือต่อเข้ากับ Hube ของเข็มฉีดยาไว้อีกข้างหนึ่ง  โดยสั่งนึ่งไว้ใน Set ผ่าตัด Cutdown ขนาดต่างๆ เตรียมใช้ได้ทันที

ปัญหาของหน่วยวิสัญญีมีอีกอย่างคือ  สมัยนั้นหาซื้อ Endotracheal Tube ลำบาก  เนื่องจากสมัยนั้นมีบริษัทขายเครื่องมือทางการแพทย์น้อย  สั่งซื้อแต่ละครั้งกว่าจะได้ก็นานไม่พอใช้  ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่ Tube ยางแดงวันๆ เป็นส่วนใหญ่  ไม่มีลูกโป่ง (Cuff) และยางแดงไม่ได้เคลือบ Latex ทำให้เกิดการแพ้ยางแดงบ่อยๆ อาจทำให้ทางเดินหายใจบวมได้   ตอนหลังๆ ถึงมี Endotracheal Tube ยี่ห้อ Rush ของเยอรมันเข้ามาขาย พร้อมมี Cuff ด้วย   และท่อยางแดงก็เคลือบด้วยยาง Latex ซึ่งทำให้เกิดการแพ้ยางแดงน้อยลง   อีกประการสมัยนั้นมีปัญหามาก เพราะบางทีมีแค่ Endotracheal Tube แต่ไม่มี Cuff (หรือลูกโป่งที่ท่อยางแดง)   ทางหน่วยเราจำเป็นต้องทำ Cuff ขึ้นใช้เอง เพื่อใช้กับท่อ Endotracheal Tube และหลอด Tracheostomy Tube    ในรายที่ต้องการช่วยหายใจด้วย Positive pressure  เราหาซื้อในตลาดเครื่องมือแพทย์ก็หายากไม่มีคนสั่งมาขาย ไม่เหมือนสมัยนี้    ซึ่งมี Endotracheal Tube c Cuff หรือ Tracheostomy Tube c Cuff ขนาดต่างๆ เข้ามาขายเยอะแยะ  ดังนั้นสมัยก่อนทางหน่วยวิสัญญีฯ ก็ต้องทำ Cuff ขนาดต่างๆ  โดยใช้ Penrose drain ซึ่งมีขนาดเท่าท่อ Endotracheal Tube ขนาดเบอร์ 28, 30, 32, 34-36 หรือ Tracheostomy ชนิด Silver ขนาดเบอร์ 8, 9, 11, 12 ม.ม.  มาตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 4-5 ซ.ม.   ส่วนหลอดแก้วทนไฟก็หามาจากแผนกสรีรวิทยา มาติดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 6-7 ซ.ม. เสร็จแล้วเอา penrosedrain ขนาดต่างๆ ที่เราตัดเป็นท่อนๆ แล้ว มาครั้งละ 2 ชิ้น  มาสวมทับลงบนหลอดแก้วที่เราเตรียมไว้ แล้ตลบปลายท่อ penrosedrain ที่เราตัดไว้ & ได้สวมซ้อนกันอยู่บนหลอดแก้วของแต่ละอัน ตลบปลายท่อยางอันบนพับขึ้นกลับปลายขึ้น พับขึ้นไปประมาณ 5 ม.ม.  แล้วใช้กระดาษทรายชนิดละเอียด (กระดาษทรายน้ำ) มาตะไบ Penrosedrain ข้างบน & ข้างล่างทั้ง 2 ด้าน   ต่อไปสอดไส้ไก่รถจักรยานซึ่งตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 12-15 ซ.ม.  เอาปลายข้างหนึ่งของมัดสอดใส่ระหว่างปลาย Penrosedrain ทั้งสองสอดเข้าไปลึกประมาณ 3-5 ม.ม. เสร็จแล้วนำยางปะยางในรถจักรยาน  เอาน้ำยางปะมาทาลงบนผิว Penrosedrain ที่ได้เอากระดาษทรายน้ำถูไว้ทั้ง 2 ปลาย แล้วตะหลบปลายของ Penrose อันบน ตะหลบกลับคืน  แล้วนำก้านไม้ขีดไฟยาวประมาณท่อนละ 1.5 ซ.ม. มาประกบ 2 ข้าง ไส้ไก่  โดยประกบบน Penrosedrain แผ่นบน   แล้วเอาหนังยางรัดของมารัดบนปลาย Pencosedrain ทั้งสองข้างให้แน่นพอควร  อีกปลายหนึ่งของไส้ไก่ เอา hub ของเข็มเหล็กฉีดยาเบอร์ 18G   ซึ่งได้ตัดปลายที่คมของเข็มออกทิ้งไปแล้วมาต่อที่ปลายท่อยางไส้ไก่   ซึ่งใช้สำหรับฉีดลมเข้า Cuff ให้โป่ง เสร็จแล้วก็เอาทั้งหมดห่อผ้า แล้วนำไปนึ่งใน Autoclave 120oC นาน 3-4 นาที ก็พอ เสร็จแล้วก็เอาออกมา  นำไปใช้สวม Endotracheal Tube หรือ Tracheostomy Tube ชนิดที่ทำด้วย Silver ขนาดที่ต้องการใช้ได้ต่อไป

        วิธีทำ Cuff ขนาดต่างๆ เอาไว้ใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล  ไม่สามารถซื้อหรือจัดหา Cuff ได้หรือสั่งซื้อที่เขาขายได้ ก็สามารถทำใช้เองดังได้อธิบายมา เพราะผมได้ลองทำใช้เองมาแล้ว และได้ผลดีเป็นการลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้ และไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์

        การทำให้ Tube ที่จะใช้ Sterile หรือฆ่าเชื้อ  สมัยก่อนเราหาซื้อแก๊ส Ethylene มานึ่งยาง หรือพลาสติกไม่ได้เหมือนสมัยนี้  สมัยก่อนพวกยางแดง เช่น พวก Endotracheal Tube เราใช้อบด้วยฟอร์มาลีนนานประมาณ 24 ช.ม.   แล้วปล่อยให้ระเหยในอากาศ หรือใส่ในเครื่อง Aerator ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่า (ถ้ามี)  การใช้ฟอร์มาลีนเป็นวิธีโบราณ แต่ก็ยังใช้ได้ผลดี     ปัจจุบันในประเทศอังกฤษ (U.K) ก็ยังใช้ฆ่าเชื้อ (หรือใช้อบ) ด้วยไอฟอร์มาลดีไฮด์  แล้วใช้เครื่องดูดไอฟอร์มาลีนออก  ก่อนนำไปใช้ เช่น ใช้อบฆ่าเชื้อเครื่องดมยาใหญ่ๆ เป็นต้น   ของเราสมัยก่อนมีแก๊ส Ethylene อบ เราก็ใช้ฟอร์มาลีนอบในตลับอะลูมิเนียม หรือตลับเหล็ก Stainless   แต่พวกยางเมื่อถูกไอฟอร์มาลีนบ่อยๆ มักจะแข็ง  ใช้ท่อยางไม่ได้นาน และ Cuff มักจะเปื่อยยุ่ย    สมัยนี้เรามีตู้อบแก๊ส Ethylene และเครื่อง Aerator ใช้   ดังนั้นพวก plastic หรือยางต่างๆ    เราก็ฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ ทำให้ย่นระยะเวลาเหลือใช้เวลานึ่งนานประมาณ 6-8 ช.ม. ก็เอาไปใช้ได้  การใช้วิธีนึ่งแก๊สที่ใช้นี้ต้องมีเครื่องดูดแก๊สที่ใช้อบแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ในที่ๆ โล่งๆ  และไม่สะสมในบริเวณที่นึ่ง ต้องมีระบบดูดลมและอากาศออกทิ้งไป เพื่อกันการติดไฟ

นอกจากได้ก่อตั้งห้องพักฟื้นหลังผ่าตัดและห้องดูแลผู้ป่วยหนักI.C.U. เป็นแห่งแรกของโรงพยาบาลนครเชียงใหม่แล้ว    เรายังเป็นผู้ supply น้ำแข็งก้อนให้กับแผนกอายุรศาสตร์ และกุมารฯ เพื่อใช้ Cool   ผู้ป่วยที่มีความร้อนในร่างกายขึ้นสูงอีกด้วย เพราะห้อง R.R. & I.C.U.  เรามีเครื่องทำน้ำแข็งก้อนเองอยู่ 2 เครื่อง  ซึ่งได้สั่งซื้อมาจากอเมริกา ภายใต้ความร่วมมือของ USOM     สมัยนั้นเมืองไทยเรายังไม่มีเครื่องผลิตน้ำแข็งแบบนี้ขาย     และปี 2508 เป็นปีที่แพทย์เชียงใหม่ รุ่นที่ 1   จบการศึกษา และได้มีการพระราชทานปริญญาโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่บริเวณปะรำข้างสนามฟุตบอลของคณะแพทยศาสตร์ และได้มีงานเลี้ยงขันโตกดินเนอร์กันกลางแจ้ง    โดยมีการตั้งโตกแบบพื้นเมือง บนพื้นที่ปูด้วยเสื่อ และมีการแจกเสื้อหม้อฮ่อมสีน้ำเงินสะปอนเซอร์   โดยเครื่องดื่มคูรอนซานจากญี่ปุ่นเป็นที่เอิกเกริก    แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ นศพ. เชียงใหม่รุ่นแรกที่จบแล้ว  ขึ้นเครื่องบินเหมาลำไปทำงานเป็นอินเทอร์นที่สหรัฐอเมริกาเสียหมดทั้งรุ่น  เพื่อเข้าระบบ Training ของอเมริกา เป็นอย่างนี้ถึง 2-3 รุ่น    แต่ยังไงก็มีบางท่านที่จบ training ที่กลับมาช่วยงานที่คณะแพทย์เชียงใหม่ บางท่านก็ไปทำงานโรงเรียนแพทย์ที่กรุงเทพฯ

เมื่อตอนต้นปี 2509 หน่วยวิสัญญีได้มีแพทย์ประจำบ้านมาเพิ่มอีก 2 คน รวมทั้งปีที่ 1 และปีที่ 2 มีแพทย์ประจำบ้าน 4 คน  แต่ Staff ดมยาคงมี 2 คนเท่าเดิม   มีแต่อาจารย์หัวหน้าหน่วยเราที่กำลัง active ได้ขอย้ายตัวเองไปอยู่แผนกสรีรวิทยาเสีย ทำให้เหลือผู้เขียนอยู่คนเดียว   หัวหน้าแผนกศัลย์ขณะนั้นก็ต้องขอตัว อาจารย์หมอ นารีศรี  กลับขึ้นมาช่วยงานที่หน่วยวิสัญญีฯ เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยอาจารย์ยอมเสียสละความสุขตัวเองและห่างจากครอบครัว ญาติพี่น้องที่อยู่ในกรุงเทพฯ ย้ายขึ้นมาช่วยคณะแพทย์เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง  และอยู่ยาวจนกระทั่งเกษียณอายุราชการที่เชียงใหม่ นับว่าอาจารย์หมอนารีศรี  ได้เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่อย่างแท้จริง   ขณะนั้นก็ยังถือว่าหน่วยวิสัญญีของเรามี Staff เหลืออยู่ 2 คนเท่าเดิม เหมือนก่อนๆ    สำหรับแพทย์ประจำบ้านของเราเมื่อทำงานครบ 2 ปี คือ อยู่ปีที่ 2 จนครบก็ขอลาออกไปฝึกอบรมที่อเมริกาต่อ คงเหลือแต่แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 อยู่เพียง 2 คนเท่าเดิม ซึ่งก็อยู่ต่อขึ้นปี 2  แล้วก็ได้มีคนหนึ่งได้ขอย้ายตัวเองไป Train ต่อที่คณะแพทย์ขอนแก่น  เนื่องจากได้แต่งงานย้ายตามสามีไปขอนแก่น อีกท่านหนึ่งไม่นานก็ลาออกไปอีกคน และประมาณระหว่างกลางปี 2508-2509 คณะแพทย์เชียงใหม่

ประจวบกลางปี 2510 ผู้เขียนได้ทุนรัฐบาลอังกฤษ ไปฝึกอบรมที่สหราชอาณาจักรบริเตน ใหญ่เป็นเวลา 3 ปี      แต่ต่อมาได้ขยายเวลาต่อให้อีก 4 เดือน    กลับมาทำงานที่ภาควิชาวิสัญญีวิทยา  ปีใหม่ มกราคม 2514  ซึ่งการกลับมาครั้งนี้เหมือนกับกลับมาขึ้นตึกใหม่ 7 ชั้นของคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่พอดี และก็เป็นปีแรกที่หน่วยวิสัญญีฯ  ซึ่งได้ก่อตั้งเป็นแผนกวิสัญญีฯ ได้ไม่กี่ปี ก็เนื่องจากแผนกศัลยศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นภาควิชาศัลยศาสตร์มาก่อน     ต่อมาแผนกวิสัญญีวิทยา ซึ่งสังกัดอยู่ในภาควิชาศัลย์ฯ ก็ได้รับการแต่งตั้งแยกเป็นภาควิชาวิสัญญีวิทยา เมื่อปี 2513 เป็นภาควิชาได้ไม่กี่เดือนก็ได้ย้ายภาควิชาฯ ขึ้นมาอยู่ตึก 7 ชั้น   ซึ่งได้สร้างเสร็จแล้ว เป็นห้องเล็กๆ อยู่ติดกับห้องพักฟื้น และ I.C.U.  ทำให้ทำงานในห้องผ่าตัดและห้องภาควิชาฯ วิ่งไปดูแลผู้ป่วย R.R. และ I.C.U. ได้ง่าย  เพราะมีประตูเปิดถึงกัน และที่สำคัญใกล้กับห้องพักแพทย์ของพวกดมยาและหมอผ่าตัด สังสรรค์กันอยู่ด้วย  โดยมีวงกาแฟฟรี ซึ่งบริการโดยโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ตลอดวัน   ซึ่งก็ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ไม่เสียงาน ดูแลผู้ป่วยได้ตลอดเวลา   และที่สำคัญแพทย์ใน OR ไม่ต้องเสียเงินค่ากาแฟ และเสียเวลาไปดื่มกาแฟข้างนอก   ซึ่งก็เป็นนโยบายที่ดีของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมัยนั้น ซึ่งก็ได้ปฏิบัติกันเรื่อยมา  จนถึงสมัยที่เศรษฐกิจตกต่ำ   ปลายๆ สมัยผู้อำนวยการโรงพยาบาล  ซึ่งมาจากภาควิชา ที่ไม่ใช่ภาควิชาทางคลินิก ได้สั่งห้ามไม่ให้มีบริการนี้ เลยเลิกบริการกาแฟฟรีไป ทำให้ต่างคนต่างซื้อมากินเอง ทำให้ผลพลอยได้อย่างที่กล่าวไว้หมดไปโดยปริยาย

พอถึงปี 2511 ซึ่งต้องขอย้อนกลับไปใหม่  แผนกวิสัญญีฯ ของเราก็ได้มีแพทย์ประจำบ้านมาสมัครเข้าทำงานที่แผนกถึง 5 ท่าน  แต่ก็อยู่แค่ปีเดียวก็ลาออกไปทำงานที่แผนกอื่น  ซึ่งปีถัดมาก็มีแพทย์ประจำบ้านใหม่ปีที่ 1 อีก 2 ท่าน    พอดีปลายปี 2513 ก็ได้มีศิษย์เก่าของเชียงใหม่ ซึ่งจบอเมริกันบอร์ดทางวิสัญญีมาแล้ว ย้ายกลับมาเชียงใหม่ 2 คน คนหนึ่งไปเป็นอาจารย์อายุรศาสตร์ และอีกคนก็ได้มาทำงานที่แผนกวิสัญญีฯ เรา  ทำให้มีอาจารย์อยู่ 3 ตำแหน่ง (จริงๆ เหลือทำงานแค่ 2 คน)    และปี 2513 นี้เอง ที่แผนกวิสัญญีฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นภาควิชาวิสัญญีวิทยา    ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น    ข้าพเจ้าได้เริ่มทำงานต้นเดือนมกราคม 2514 ทำให้ภาควิชาฯ มี Staff ปฏิบัติงานเต็มที่ 3 คน  ถึงแม้จะไม่มีแพทย์ประจำบ้านของภาควิชาเลย   แต่ก็ได้แพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์และแพทย์ฝึกหัด หมุนเวียนมาช่วยงานระหว่าง Elective period ของเขา เป็นเช่นนี้เกือบ 2 ปี    แต่งาน Service ของเราก็ไม่ได้ลดลงกลับมีจำนวนมากขึ้นๆ  ประมาณกลางปี 2515 ภาควิชาเราได้รับเครื่องหาค่า Blood Gasses ยี่ห้อ Radiometer มา 1 เครื่อง   ซึ่งเป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวของคณะแพทย์เชียงใหม่  ทำให้ต้องให้ Service แก่ภาควิชากุมารฯ  และอายุรศาสตร์เมื่อร้องขอ     นอกเหนือจากผู้ป่วยใน R.R.  และ I.C.U.  และใน O.R. ของเราซึ่งต้องทำในรายที่เป็นปัญหา   เครื่องนี้เป็นแบบชนิด Mannual ซึ่งต้อง Plot graph  หาค่า Standard pH ก่อนโดยการ Plot graph ก่อนจะทำการหาค่า pH  จาก Sample  เลือดที่จะหาค่าความเป็นกรดด่างของเลือดผู้ป่วย   รวมทั้ง Standard bicarbonate ที่เครื่องนี้ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็คือ Electrodes รองลงไปก็ pure CO2 แก๊ส และน้ำยา   ปีถัดมาทางแผนกอายุรศาสตร์ก็ได้มีเครื่องหาค่า Blood Gasses ของเขาเอง  โดยใช้ยี่ห้อ A.O.      ซึ่งก็ตามมาคือ ของภาควิชากุมารฯ  กว่า Central lab  จะมีบริการการหาค่า Blood Gasese ในส่วนกลางของโรงพยาบาลก็กินเวลาหลายปี

ปี 2515 ปลายปีผมได้ไปฝึกอบรมทางวิสัญญีฯ ที่ประเทศเดนมาร์คอีก 1 ปี  ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2516 จนถึงต้นปี 2517  ประมาณเดือนเมษายน 2517 ผมถึงได้กลับมา    ปี 2517 ภาควิชาได้มีแพทย์ประจำบ้านใหม่ปีที่ 1 จำนวน 2 คน  และได้รับอาจารย์ใหม่แทนอาจารย์ที่ลาออกไป  อาจารย์ใหม่นี้ก็เป็นศิษย์เก่าเชียงใหม่ เหมือนกัน   โดยแพทย์ภรรยามาอยู่ภาควิชาวิสัญญีฯ ส่วนสามีเป็นอาจารย์ศัลยศาสตร์  ซึ่งอาจารย์แพทย์ผู้นี้เป็นผู้ที่ได้ริเริ่มทำการผ่าตัดหัวใจ  โดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมเป็นชุดแรกของเชียงใหม่   ซึ่งก็ถือว่าเป็นการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด โดยใช้เครื่องช่วยหายใจและปอดเทียมเป็นทีมแรกของคณะแพทย์เชียงใหม่    ซึ่งภาควิชาวิสัญญีก็ได้เริ่มมีการให้ยาสลบในการผ่าตัด Cardio-pulmonary by-pass เป็นแห่งแรกในเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาปี 2518  ได้มีแพทย์ประจำบ้านเป็น 4 ท่าน (แยกเป็นปี 1 จำนวน 2 ท่าน   ปีที่ 2 จำนวน 2 ท่าน)

ปี พ.ศ.2519  เป็นปีที่มีแพทย์ประจำบ้านครบทั้งสามปี เป็นครั้งแรก  แต่จำนวนอาจารย์ยังมี 3 ท่าน เท่าเดิม (จริงๆ แล้ว เหลืออยู่ทำงานเพียง 2 ท่าน   เพราะอีกท่านไปฝึกอบรมต่อที่ประเทศ สหราชอาณาจักรเสียอีก 1 ปี)

ปี พ.ศ.2520  มีแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 อยู่ 1 ท่าน  ส่วนแพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 ซึ่งต่อมาได้สอบวุฒิบัตรวิสัญญีได้แล้ว และได้บรรจุเป็นอาจารย์ของภาควิชาต่อ  แทนอาจารย์ที่ลาออกไป กลับไปทำงานที่อเมริกาอย่างเดิม   ส่วนอาจารย์ที่บรรจุใหม่ และได้วุฒิบัตรวิสัญญีวิทยาจากแพทยสภา เป็นคนแรกของคณะแพทย์เชียงใหม่ได้มาช่วยเป็นอาจารย์ภาควิชาวิสัญญีวิทยา  จนกระทั่งได้แต่งตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่หลายสมัย  ส่วนเพื่อนร่วมรุ่นของท่านก็ได้ไปทำงานต่อในประเทศสหราชอาณาจักร และประเทศอเมริกา  จนตั้งรกรากอยู่ที่นั่น

ตั้งแต่ปี 2521 ภาควิชาวิสัญญีวิทยา เริ่มมีปัญหาอีกเล็กน้อยเพราะตำแหน่งจริงๆ มี Staff 3 ตำแหน่งจริง แต่อยู่ทำงานไม่ครบสักที เพราะท่านหนึ่งยังอยู่ที่ต่างประเทศ  อีกคนหนึ่งก็ทำสองหน้าที่ คือผู้เขียนเองที่รั้งตำแหน่งหัวหน้าภาคฯ แต่ต้องลงไปช่วยงานบริหารของโรงพยาบาลนครเชียงใหม่อีกตำแหน่งหนึ่ง   โดยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล เพราะมีงานด้านบริหารและออกแบบตึกผู้ป่วยที่จะสร้างใหม่คือ ตึกสุจิณโณ และดูแลห้องผ่าตัดที่กำลังปรับปรุงใหม่   รวมถึงการที่จะนำระบบ Computer มาใช้ในหน่วยเวชระเบียนของโรงพยาบาล และอื่นๆ ฯ      ทำให้งานทางภาควิชาฯ ขลุกขลัก  มีงาน Service ที่ O.R. มากขึ้น   ถึงแม้จะมีแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 อยู่ 2 ท่าน  ไม่มีปีที่ 2  และ 3 เลย  ผู้เขียนต้องเดินทางขึ้นลงเชียงใหม่-กรุงเทพฯ บ่อยๆ เพื่อติดต่อราชการ   ทำให้งานทางการดูแลผู้ป่วยใน O.R.ขาดไป  จึงขอออกจากการเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล หลังทำไปได้เกือบ 2 ปี

ปลายปี พ.ศ.2521 มีแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 จำนวน 2 ท่าน ปีที่ 2 จำนวน 1 ท่าน  ซึ่งทั้ง 2 ท่าน ต่อมาได้ขอย้ายไปฝึกอบรมที่แผนกอื่น

ปี 2522 และปี 2523  เริ่มมีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจำนวนมากขึ้น  โดยมีแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 จำนวน 4 ท่าน   ปีที่ 2 จำนวน 2 ท่าน   ปีที่ 3 จำนวน 1 ท่าน   ซึ่งท่านเหล่านี้เมื่อสอบผ่านวุฒิบัตรทางวิสัญญีแพทย์ เกือบทุกท่านได้บรรจุเป็นอาจารย์ของเรา มีบางท่านได้ขอย้ายไปสงขลาและศิริราช  และทำให้ภาควิชาของเรามีจำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้นเป็น 5 ท่าน ในปี 2525 และเพิ่มขึ้นปีละคน  จนถึงมีอาจารย์ จำนวน 8 ท่าน ในปี 2530   และปี 2531 มีอาจารย์ทั้งหมด 12 ท่าน  ทำให้ภาควิชาวิสัญญีวิทยา มีความเป็นปึกแผ่นตั้งแต่นั้นมา

ภาควิชาฯ  ได้มีพัฒนาการด้านวิชาการควบคู่กับงานบริการมาโดยลำดับ     ปี 2534 เริ่มมีการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งนอกจากการให้ยาระงับความรู้สึกแล้ว ภาควิชาฯ ยังรับผิดชอบงานปอดหัวใจเทียม และได้ตั้งเป็นหน่วยปอดหัวใจเทียมในปี พ.ศ. 2540   นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งหน่วยระงับปวดและฝังเข็มในปี พ.ศ.2547   เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง  ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก

ปี 2558 ได้เปิดหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด 2 สาขา พร้อมกับตั้งหน่วยวิสัญญีการระงับความรู้สึก การผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือดใหญ่และทรวงอก  และหน่วยวิสัญญีระงับความรู้สึกผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท

ภาควิชาวิสัญญีวิทยา ได้ให้บริการ ให้การศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์

บุคลากรภายนอกเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary Resuscitation)   แก่บุคลากรภายนอกหน่วยรถกู้ชีพขององค์กรการกุศลต่างๆ เป็นประจำ   นอกจากนี้ยังได้เปิด Pain Clinic แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และ O.P.D. ด้วย

                                          ผู้เขียน    ผศ.นพ.พิสิฏฐ์  โนตานนท์ (เมษายน 2561)